เครื่องถมไทย

Socail Like & Share

การถมก็คือการสลักลวดลายลงบนภาชนะที่ต้องการจะถม แล้วเอาตัวยาที่จะถมซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและทองแดง ถมลงล่องของลวดลายนั้น แล้วขัดให้ผิวเรียบ ตัวยาที่ถมเป็นสีดำถ้าเอาเงินมาทำเป็นภาชนะ สีเงินกับสีเครื่องถมดำก็จะตัดกันเป็นลวดลายสวยงาม ถมที่มีชื่อได้แก่ถมที่ทำจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกกันว่าถมนคร

อย่างไรก็ตาม เครื่องถมไทยนั้น อย่างน้อยก็มีใช้มาแล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพานนั้น ก็ใช้มาแล้วในสมัยนั้นเช่นกัน พานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นั้น เป็นพานแว่นผ้า พานแว่นฟ้าคือพานที่ประดับกระจก และโดยมากซ้อนกันสองลูก จดหมายเหตุราชทูตไทยไปเฝ้าโปป ณ กรุงโรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชสาส์น ราชสาส์น….ม้วนบรรจุไว้ในผอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่…ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง หีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการ…ตรีทูตเชิญของถวายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์….มีถุงเข้มขาบพื้นเขียวหุ้ม ๑ ถุง ตั้งบนพานถมตะทองสำหรับถวายโปป….”

ตามจดหมายเหตุฉบับนี้แสดงว่าพานนั้นเราใช้เป็นของสูงมานานแล้ว และทำให้เรารู้ว่านอกจากพานถมเงินแล้ว ยังมีถมทอง ถมตะทอง ลงยาราชาวดีอีกด้วย เรื่องเหล่านี้เห็นจะต้องพูดเสียในคราวนี้ด้วย

ถมเงินนั้นได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น ส่วนถมทอง ก็เนื่องมาจากถมเงินนั้นเอง คือเมื่อถมเงินแล้ว เนื้อเงินยังขาวอยู่ ช่างก็เอาทองมาทาลงบนเนื้อเงินนั้นอีกทีหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรทองจึงจะติดอยู่กับเนื้อเงินนั้น ไม่ใช่วิสัยที่จะพูดในที่นี้ ยกให้เป็นเครื่องของช่างเขาโดยเฉพาะ

ยังมีคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า “ถมตะทอง” คำนี้ว่าเป็นคำพูดของพวกช่าง ความจริงคือถมแต้มทอง ถมตะทองนั้นก็ถมเงินนั่นเอง แต่มีทองแต้มระบายไว้เป็นแห่งๆ เช่น ถ้าถมนั้นมีลายเป็นเถาไม้ ก็อาจจะระบายเฉพาะดอกไม้ให้เป็นสีทองเป็นแห่งๆ ได้ระยะกัน

อีกคำหนึ่งคือ “ลงยาราชาวดี” คำนี้หมายความว่า ลงน้ำยาทองให้เป็นสีฟ้านั่นเอง “ราชาวดี” ว่าเป็นคำมาจากเปอร์เชีย และการลงยาราชาวดีว่าได้มาจากเปอร์เชียก่อน

เมื่อพูดถึงพานแล้ว ถ้าไม่พูดถึงพานสำหรับรองรับรัฐธรรมนูญแล้วก็เห็นจะไม่สมบูรณ์ท่านที่เคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเห็นว่าบนนั้นมีพานแว่นฟ้าสองชั้นมีภาพสมุดข่อยวางอยู่บนพานนั้น แสดงว่าเป็นสมุดที่จารึกรัฐธรรมนูญ ซึ่งของจริงก็วางไว้บนพานแว่นฟ้าเช่นเดียวกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี