การเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม ๑ คํ่า เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถือเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปีบัตรอวยพร

“โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่า ฤดูเหมันต์คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมหคือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสาน คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น ๑ มาแต่เดือนอ้าย”

ต่อมาได้ถือวันขึ้น ๑ คํ่าเดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ และยึดถือกันสืบมาจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 9 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย

เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ ต่างก็ถือเอาวันที่ 9 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้ว ก็ควรจะใช้วันที่ 9 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นปี เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่างๆ จึงกำหนดให้ถือเอาวันที่ 9 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา เป็นผลให้ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขาดไป ๓ เดือน และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติให้ทางราชการ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หยุดงานที่เคยทำประจำ ๒ วัน คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม วันสิ้นปีเก่าและวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

ปัจจุบันในวันขึ้นปีใหม่ได้มีการทำบุญตักบาตร ณ ท้องสนามหลวง หรือทำบุญที่วัดใกล้บ้านของตน ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น กระบี่กระบอง สะบ้า ช่วงชัย ฯลฯ กลางคืนมีมหรสพต่างๆ ได้แก่ โขน ลิเก ลำตัด ภาพยนตร์ ฯลฯ

ธรรมเนียมไทยแต่เดิมมาก่อนวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั่วบริเวณ เหมือนวันสาธารณสุขในปัจจุบัน และตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามตามกำลังความสามารถ

ในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากทำบุญตักบาตรหรือทำกุศลอื่นๆ ตามอัธยาศัยแล้ว ผู้น้อยก็นิยมไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรท่านให้เกิดความสวัสดิมงคลแก่ตนเองสืบไป การรดนํ้าควรใช้น้ำอบไทย จัดหาผ้านุ่งผ้าห่ม ข้าวของเครื่องใช้ตามสมควรใส่พานนำไปมอบแก่ท่าน เมื่อท่านให้ศีลให้พรแล้ว ก็จะเลี้ยงดูเราตามความสามารถเช่นกัน

ประเพณีใหม่ที่เข้ามาในหมู่คนไทยในโอกาสนี้คือ การส่งบัตรอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตร ที่สนิทสนมกัน เป็นการแสดงออกแห่งไมตรีจิตระหว่างกัน นับเป็นความเจริญทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีการหมอบคลานเข้าเฝ้า

สมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณีต่างๆ ได้แก่

ประเพณีการเข้าเฝ้า ได้เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้ามาเป็นยืนเฝ้าหรือนั่งเก้าอี้แทน และถวายความเคารพด้วยการคำนับแทนการหมอบกราบดังได้กล่าวแล้วในเรื่องกิริยามารยาท แต่พวกข้าราชการฝ่ายในยังใช้การเข้าเฝ้าประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าอยู่ ด้วยเหตุผล คือ “เมื่อเปลี่ยนแปลงประเพณี การเข้าเฝ้าของพวกผู้ชายผ่านพ้นไปได้แล้ว รัชกาลที่ ๕ ทรงปรารภกับท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ถึงการที่จะปฏิวัติการหมอบเฝ้าของฝ่ายในบรรดานางที่นุ่งจีบ ห่มแพรสไบเฉียงอยู่ให้ทันสมัยบ้าง โดยวิธีการเปลี่ยนแปลงการหมอบเข้าเฝ้าของพวกผู้หญิงเสียใหม่

เรื่องนี้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้ถวายความเห็นว่า การปฏิวัติประเพณีเข้าเฝ้าของสตรี โดยจะเลิกวิธีหมอบเข้าเฝ้าด้วยการขึ้นไปนั่งเก้าอี้แบบผู้ชายที่ปฏิวัติไปแล้วนั้น ออกจะเป็นการรวดเร็วมากเกินไป ค่าที่ฝ่ายในได้ถวายความจงรักภักดีต่อพระองศ์เป็นประเพณีแบบแผนที่ดีงาม และเคร่งครัด ซึ่งเจ้าคุณเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรลงไปด้วยวิธีการหักด้ามพร้าด้วยเข่า จึงทูลขอให้ในหลวงระงับแผนการปฏิวัติเรื่องนี้เสีย หากเป็นการเหมาะสมกาลเวลาใดแล้ว เจ้าคุณก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำสตรีไทยในเรื่องนี้เอง

คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ การหมอบเข้าเฝ้าจึงยังไม่หมดสิ้นไปเสียทีเดียว

ที่มา:กรมศิลปากร

ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของข้าราชการฝ่ายใน

เป็นพระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่งที่เป็นการล้มเลิกธรรมเนียมเดิม ด้วยการที่พระองค์ทรงยินยอมให้เจ้านายฝ่ายในที่ไม่ประสงค์จะอยู่ในวังอีกต่อไป ให้กราบบังคมรัชกาลที่5ทูลได้โดยตรง พระองค์ทรงอนุญาตให้ลาออกได้

“มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว……แก่เจ้าจอมอยู่งานชั้นใน ชั้นกลาง ชั้นนอกทั้งปวง เว้นแต่เจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกเธอและหม่อมพนักงานทุกตำแหน่ง แลจอมเจ้าเฒ่าแก่ แลท่านเฒ่าแก่ และนางรำบำเรอทั้งปวงทุกคน

ด้วยบัดนี้ไม่ทรงหวงแหนท่านผู้ใดผู้หนึ่งไว้ในราชการดังการข่มเหงกักขังดอก ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงตามสมัครแลเห็นแก่ตระกูลและความชอบชองท่านทั้งปวงจึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงพระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปีแลเครื่องยศบรรดาศักดิ์โดยสมควร บัดนี้ท่านทั้งปวงก็ทำราชการมานานแล้ว ใครๆ ไม่สบายจะใคร่กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการไปอยู่วังเจ้า บ้านขุนนาง บ้านบิดามารดา จะมีลูกมีผัวให้สบายประการใดก็อย่าให้กลัวความผิดเลย ให้กราบทูลถวายบังคมลาโดยตรงแล้วถวายเครื่องยศคืนแล้ว ก็จะโปรดให้ไปตามปรารถนาโดยสะดวก ไม่กักขังไว้ แลผู้ที่จะเป็นผัวนั้นไม่ให้มีความผิดแก่ตัวผู้นั้น ห้ามแต่อย่าให้สนสื่อหาชู้หาผัวแต่ตัวยังอยู่ในราชการด้วยอุบายทางใดทางหนึ่ง ก่อนกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นอันขาดทีเดียว เป็นดังนั้นจะเสียพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินไป เมื่อไปอยู่นอกพระราชวังแล้วถ้าเป็นคนมีตระกูลอยู่ ไปอยู่กับบิดามารดาญาติพี่น้องหรือเป็นนางห้ามเจ้านายที่ทรงพระกรุณาให้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ๆ หรือเป็นภรรยาข้าราชการที่มีศักดินามากก็จะพระราชทานเบี้ยหวัดอยู่บ้างโดยสมควร….

แต่เจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกเธอจะโปรดให้ออกนอกราชการไปมีผัวไม่ได้จะเสียพระเกียรติยศพระเจ้าลูกเธอไป เมื่อจะใคร่ออกนอกราชการเพียงจะอยู่กับพระเจ้าลูกเธอ ไม่มีผัวก็จะทรงพระกรุณาโปรด…..

นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงส่งเสริมฐานะและสิทธิของสตรีให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ได้ทรงแก้ไขกฎหมายที่สตรีเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ให้ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น เช่น ในการหย่าร้าง กฎหมายเดิมผู้ชายมีสิทธิฟ้องหย่าได้แต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ได้ทรงแก้เป็นให้สตรีมีสิทธิฟ้องหย่าได้ด้วย

จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีที่คิดว่าล้าสมัยหรือส่อให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซงกิจการบ้านเมืองให้เหมาะกับกาลสมัยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ชาติไทยอยู่รอดและดำรงเอกราชมาจนทุกวันนี้

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคที่ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางเพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมขณะนั้น พระองค์เสด็จประพาสต่างประเทศบ่อยครั้งเป็นผลให้พบเห็นวัฒนธรรมของชาติต่างๆ และนำสิ่งที่ดีงามมาปรับปรุงประเทศในด้านต่างๆ นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยที่เสด็จประพาสถึงต่างประเทศ เพราะในสมัยโบราณมีประเพณีห้ามมิให้กษัตริย์และพระราชวงศ์เสด็จต่างประเทศเว้นแต่จะไปในราชการสงคราม

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีการห้ามราษฎรดูเจ้าชีวิต

ในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้าพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางสถลมารคและชลมารค ห้ามราษฎรอยู่ใกล้ชิดหนทาง ถ้าราษฎรเดินยืน เยี่ยมหน้าต่าง เยี่ยมประตูที่ใกล้ทางเสด็จพระราชดำเนิน ม้านำริ้วแลเจ้าพนักงานในเรือประตูหน้า ประตูหลัง ในเรือดั้ง ในเรือพระที่นั่งก็เอากระสุนยิง เป็นกฎหมายเก่าที่ใช้กันต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปรับปรุงประเพณีการห้ามราษฎรดูเจ้าชีวิตกฎหมายข้อนี้ใหม่ กล่าวคือ มีราษฎรถูกกระสุนยิงลูกตาแตกได้รับทุกขเวทนาสาหัส จึงตราพระราชบัญญัติห้ามเจ้าพนักงานเอากระสุนยิงราษฎรต่อไป ให้เงือดเงื้อพอให้รู้ว่าห้ามดังกล่าวแล้ว ราษฎรก็จะกลัวไปเอง ถ้าเห็นคน ทำกิริยาไม่เคารพหรือไม่เรียบร้อยก็โบกมือให้รู้บ้าง หรือเพียงแต่ยกกระสุนขึ้นเงือดเงื้อเท่านั้นราษฎรก็กลัวลานแล้ว

ธรรมเนียมนี้ใช้กันสืบมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติห้ามกระสุนยิงราษฎร แต่ก็ยังมีราษฎรที่ถูกกระสุนอีก อาจเป็นเพราะผู้เข้ารับหน้าที่ใหม่ไม่รู้ว่าได้มีประกาศห้าม หรือเป็นด้วยเจ้าพนักงานคะนองใจคะนองมือบ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ประกาศว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปทางสถลมารค ทางชลมารค ก็อย่าให้กรมเมือง นายอำเภอ และกรมไพร่หลวงที่ไปนั่งกองจุกช่องล้อมวงไล่ราษฎร
ชาวบ้านไปไกลเลย แลอย่าให้ปิดประตูบ้าน แลประตูโรง ประตูร้าน ประตูเรือน ประตูแพ ประตูหน้าถังเสียดังแต่ก่อน ให้ราษฎรเจ้าของบ้านเป็นผู้ใหญ่ในบ้านในเรือน ออกมาคอยเฝ้ารับเสด็จถวายบังคมให้ทอดพระเนตรเห็น ถ้าทรงรู้จักจะได้ทรงทักทายปราศรัยบ้างตามสมควรให้ได้ความยินดี นับเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมพระบารมี และพระองค์ยังสามารถไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรได้ ประเพณีการให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมัยที่ประเทศต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์รอบบ้านเมืองเพื่อรักษาความอยู่รอดของชาติ จึงมุ่งนโยบายพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปตามแบบตะวันตกในหลายๆ ด้าน เลิกคตินิยมที่จะเจริญรอยตามกรุงศรีอยุธยาอย่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุคใหม่เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่าง เช่น ประเพณีห้ามประชาชนดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินดังได้กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนี้พระองค์ยังเสด็จประพาสพระนครเพื่อให้ราษฎรเข้าเฝ้าซึ่งเป็นผลให้ทรงทราบกิจการบ้านเมืองตลอดจนความเป็นอยู่ของราษฎร ในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์มักจะอยู่แต่ในพระราชวังจะเสด็จออกจากพระราชวังต่อเมื่อถวายผ้าพระกฐิน การกระทำของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการล้มเลิกธรรมเนียมเก่าโดยสิ้นเชิงดังปรากฏหลักฐานในหนังสือแผ่นดินพระจอมเกล้า ที่นายแอ็บบ๊อต โลว์ มอฟแฟ็ท เขียนไว้ว่า “ส่วนทางประเทศสยาม พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกจากพระราชวังเพียงปีละครั้งเดียว คือตอนเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิวัติขนบธรรมเนียมประเพณีนี้เสียสิ้นเชิง โดยได้เสด็จไปไหนต่อไหนอยู่เรื่อยๆ และในบางโอกาสก็เป็นการเสด็จประพาสต้น

พระองค์ยังทรงเห็นความสำคัญของการอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรจึงเปิดโอกาสให้ราษฎรตีกลองร้องฎีกาซึ่งสามารถร้องทุกข์ต่อพระองค์ได้ เป็นผลให้ราษฎรได้รับความเป็นธรรม บรรเทาการกดขี่ข่มเหงจากผู้ใช้อำนาจเกินขอบเขต พระองค์ถึงกับทรงออกรับฎีกาด้วยพระองค์เอง โปรดให้เลิกระเบียบเฆี่ยนผู้ถวายฎีกา แต่พระราชทานรางวัลให้แก่ราษฎรผู้ถวายฎีกาเป็นเงินคนละ ๑ สลึง ถ้าชำระได้ความตามสัตย์แล้วก็จะพระราชทานเพิ่มให้อีก ๑ สลึง

ที่มา:กรมศิลปากร

การเล่นสักวา

ประเพณีส่วนประชุมชนหรือส่วนรวม
ประเพณีส่วนชุมชน หรือส่วนรวมได้แก่ประเพณีที่คนในสังคมนิยมทำร่วมกัน เช่น ประเพณีในเทศกาลต่างๆ วันนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญวันตรุษสารท สงกรานต์ เข้าพรรษา ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ลอยกระทง วันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา เป็นต้น

ประเพณีในส่วนรวมที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อๆ กันมานั้นการเล่นสักวา จะเห็นได้ว่ามีทั้งส่วนที่เป็นความเชื่อเดิม ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกสะสมปนเปกันไป

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้พยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาแทบทั้งสิ้น จึงได้ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งยังรวบรวมผู้รอบรู้และชำนาญการพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ให้กำหนดระเบียบแบบแผนไว้สำหรับปฏิบัติ จัดทำในกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น จึงได้เกิดแบบฉบับที่ปฏิบัติกันสืบมาจนทุกวันนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ประเพณีบางอย่างจะมีลักษณะทั้งของพราหมณ์และของพุทธศาสนา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในสมัยโบราณ พราหมณ์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิรอบรู้และเชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ พราหมณ์จึงมีตำแหน่งในหน้าที่ราชการเรื่อยมา สำหรับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงชุบเลี้ยงพราหมณ์ไว้ในตำแหน่งราชการและทรงเคารพนับถือพิธีกรรมต่างๆ ของพราหมณ์อยู่ไม่น้อย สักขีพยานที่ปรากฏได้แก่ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีมาตั้งแต่แรกสร้างกรุง จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพราหมณ์ผู้รู้พระเวทกำลังจะหมดไปเหลือแต่ผู้สืบสกุลโดยกำเนิดเท่านั้น การประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ในชั้นหลังจึง เป็นเพียงทำตามอย่างที่เคยทำกันมาไม่เป็นแก่นสารเหมือนเดิมแต่ครั้นจะเลิกหมดก็ไม่ควร เพราะเป็นขนบประเพณีพิธีกรรมของบ้านเมืองมาช้านานแล้ว จึงทรงนำพิธีสงฆ์เข้าร่วมกับพิธีพราหมณ์ด้วยทุกพิธี เป็นผลให้ศาสนาพราหมณ์กับพุทธศาสนามีอิทธิพลอยู่ในสังคมไทย เช่น พิธีต่างๆ มักมีพิธีพราหมณ์เข้าไปร่วมด้วยเสมอ จนยากที่จะแยกจากกันได้ เช่น การปลูกบ้าน พิธีแรกนาขวัญ เป็นต้น อีกประการหนึ่งศาสนาพุทธไม่ปฏิเสธในสิ่งปลีกย่อยของพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุว่า ศาสนาพุทธมุ่งการกระทำเป็นใหญ่และผู้ปฏิบัติตามศาสนาพราหมณ์มีเจตนาบริสุทธิ์ปฏิบัติด้วยความสบายใจ ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงปฏิบัติพิธีพราหมณ์โดยไม่รู้สึกว่าเป็นพุทธหรือพราหมณ์ เช่น พิธีลอยกระทง การตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ฟื้นฟูและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณีต่างๆ ดังเช่น

การเล่นสักวา เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของผู้ดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า มักนิยมเล่นในฤดูน้ำมากราวๆ เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เป็นเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พวกผู้มีบรรดาศักดิ์มักจะพาบริวารซึ่งเป็นนักร้องทั้งต้นบทและลูกคู่ลงเรือไปเที่ยว

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ การเล่นสักวาได้รับการฟื้นฟูและนิยมเล่นกันมากตั้งแต่รัชกาล ที่ ๑ ตลอดเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถึงกับโปรดให้ขุดคลองมหานาค (ซึ่งเป็นคลองที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาด้วย) เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมเล่นดอกสร้อยสักวากันตามฤดูกาล ความนิยมเล่นสักวาเริ่มลดลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะหันไปนิยมปี่พาทย์กันมาก เข้าใจว่าเพราะพระราชทานอนุญาตให้ใครๆ เล่นละครผู้หญิงได้ (ไม่ห้ามดังแต่ก่อน) ผู้มีบรรดาศักดิ์เล่นปี่พาทย์และละครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักวา  ต่อมาคนไทยในสมัยนี้หันไปนิยมแล่นแอ่วลาวกันมากจนถึงกับมีประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว

“…..ก็การบัดนี้เห็นแปลกไปนัก ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัว คือปี่พาทย์มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวและละครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่ง ทุกตำบล ทั้งผู้ชายผู้หญิง จนท่านที่มีปี่พาทย์มโหรีไม่มีผู้ใดหา ต้องบอกขายเครื่องปี่พาทย์มโหรี ในที่มีงานโกนจุก บวชนาคก็หาลาวแคนเล่นเสียหมดทุกแห่ง…การที่เป็นอย่างนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สู้งามไม่สู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย…เพราะฉะนั้นทรงพระราชวิตกอยู่ โปรดให้ขออ้อนวอนแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงที่คิดถึงพระเดชพระคุณจริงๆ ให้งดการเล่นลาวแคนเสีย อย่าหามาดูแลฟังแลอย่าให้เล่นเองเลย ลองดูสักปีหนึ่งสองปี การเล่นต่างๆ อย่างเก่าของไทย คือละคร ฟ้อนรำ ปี่พาทย์ มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวแลอะไรๆ ที่เคยเล่น มาแต่ก่อน เอามาเล่นเอามากู้ขึ้นบ้างอย่าให้สูญ….”

จะเห็นได้ว่าการเล่นสักวาได้ซบเซาไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามที่จะฟื้นฟู ในที่สุดสักวากลับมาฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีกวีผู้เชี่ยวชาญหลายคน เช่น คุณพุ่ม หรือบุษบาท่าเรือจ้าง หลวงจักรปาณี ขุนนิพนธ์พจนาตถ์ เป็นต้น ต่อมาวรรณคดีประเภทร้อยแก้วได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ สิ่งบันเทิงและการละเล่นอื่นๆ ได้เข้ามาแทนที่ประกอบกับความเจริญทางวัตถุ มีการถมคลองสร้างถนน ทำให้การเล่นสักวาเสื่อมความนิยมไป แต่ก็จะเห็นได้ว่ามีบางพวกบางกลุ่มได้พยายามรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมประเภทนี้ไว้ เช่น มีการแสดงทางโทรทัศน์ มีการสัมมนาและจัดนิทรรศการ เป็นต้น

ที่มา:กรมศิลปากร

พิธีศพ

มีพิธีต่างๆ เกี่ยวกับศพดังต่อไปนี้
บอกหนทาง
ผู้ที่นอนป่วยหนักกำลังจะสิ้นใจ แต่หูตายังไม่ดับหรือมีอาการดิ้นทุรนทุราย บุตรธิดาหรือญาติผู้ใหญ่จะจัดดอกไม้ธูปเทียนบรรจุในกรวยใบตองให้ผู้ป่วยหนักถือประนมมือไว้ บางทานก็รีบนิมนต์พระ
สงฆ์มาสวดหรือนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ใกล้ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยหนักระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย จะได้ตายอย่างสงบ ทั้งนี้ก็ด้วยมีเรื่องเล่ากันมาว่า มีนายพรานผู้หนึ่งได้ประกอบปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาตลอด ครั้นป่วยหนักใกล้จะสิ้นใจ หลับตาลงก็เห็นแต่สัตว์นานาชนิดที่เคยฆ่ามาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา จึงบอกบุตรชายซึ่งบวชเป็นพระภิกษุและกำลังพยาบาลอยู่ใกล้ๆ ขอให้ช่วย พระภิกษุบุตรชาย ซึ่งบอกว่าโยมได้ประกอบกรรมไว้มาก จึงจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือบิดา แล้วบอกว่า “โยมจงดูดอกไม้ ธูปเทียนเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยเถิด” นายพรานผู้บิดาก็ทำตาม ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธามีจิตเป็นกุศล ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้ยึดถือสืบต่อกันมา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งครั้งสุดท้าย บางท่านแนะนำให้ผู้ป่วยหนักกล่าวคำว่า “พระอรหัง ๆ” หรือ “พุทโธๆ” ถ้าผู้ป่วยหนักกล่าวไม่ได้ ผู้พยาบาลหรือญาติผู้ใหญ่ก็จะกล่าวดังๆ ให้ผู้ป่วยได้ยิน เพื่อจะได้ภาวนาและยึดพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เป็นการบรรเทาทุกขเวทนาให้ทุเลาลง หากผู้ที่ป่วยหนักตายในขณะนั้นก็ถือว่าได้ไปเกิดในสวรรค์ ดังนั้น เวลาที่จะมัดศพ เขาจึงจัดกรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือเพื่อที่จะได้ไปไหว้พระจุฬามณีในสวรรค์อีกด้วยพิธีศพ

ในสมัยโบราณ เมื่อผู้ป่วยหนักสิ้นลมหายใจลงแล้ว ถือกันว่าจิตหยั่งลงสู่ภวังค์ยังไม่ตายสนิท ทุกคนต้องอยู่ไนความเงียบ เพราะเกรงดวงจิตจะไม่แน่วแน่ นอกจากนั้นเขาจะใช้เทียนขี้ผึ้งหนักบาทหนึ่ง มีไส้ ๗ อัน จุดตามไว้จนเทียนไหม้หมดเล่ม จึงจะถือว่าตายแน่

อาบน้ำศพ
การอาบนํ้าศพเป็นเรื่องที่ลูกหลานควรทำกันเองเพื่อไม่ให้เป็นที่บัดสีแกศพ เมื่อสนมหรือสปเหร่อมา ก็เพียงแต่ตราสังและห่อศพเท่านั้น ถ้าเป็นการตายชนิดตายโหง เช่น ฆ่าตัวตาย ตกต้นไม้ตาย หรือตกนํ้าตาย ฯลฯ ไม่มีการอาบนํ้าศพผู้ตาย ไม่ตราสัง ถ้าป่วยเจ็บเป็นโรคตายตามปกติจึงมีการอาบน้ำศพ

การอาบน้ำศพนี้ ลัทธิพราหมณ์ถือว่าเพื่อล้างบาปให้ผู้ตาย และน้ำในแม่น้ำอจิรวดีล้างบาปได้ จึงไปตักเอามาล้างบาปให้แก่ผู้ที่ป่วยหนักใกล้จะตายหรือเมื่อตายแล้ว ทางแขกถือว่าการอาบน้ำทาแป้งแต่งตัวให้ศพอย่างหมดจดนั้น เมื่อไปเกิดในชาติใด จะได้มีรูปร่างสวยสดงดงาม เพราะฉะนั้นเวลาอาบน้ำศพ เขาจึงขัดสี รีดท้อง ชำระสิ่งโสโครกออกให้หมด ส่วนชาวไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาก็มีการอาบนํ้าและชำระศพให้สะอาดเช่นกัน การอาบนํ้าศพต้องอาบด้วยนํ้าร้อน (ซึ่งต้มด้วยหม้อ) เสียก่อน แล้วจึงอาบด้วยนํ้าเย็นชะล้างให้สะอาดหมดจด แล้วเอาขมิ้นสด มะกรูดคั้น เอานํ้าทาทั่วไปตามร่างกาย ตลอดฝ่าเท้า บางรายทานํ้าหอม กระแจะและเครื่องหอมอื่นๆ ตามแต่จะหาได้ด้วย บางทีลูกหลานของผู้ตายจะเอาผ้าขาวสี่เหลี่ยมโตขนาดผ้าเช็ดหน้าซับที่หน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า พิมพ์รูปหน้าและรอยเท้าของผู้ตายเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นของขลังต่อไป

ในการอาบนํ้าศพนั้น ตามคติโบราณของพุทธศาสนิกชนให้ระลึกด้วยคำอันเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทยว่า อิทัง มะตะกะสะรีรัง อุทะกัง วิยะ สิญจิตัง อะโหสิ กัมมัง แปลความว่า ขอให้เวรกรรมที่ผู้ตายกับเราที่ได้ก่อกรรมทำกันไว้นี้ จงเป็นอโหสิกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรมเหมือนนํ้าที่รดลงตรงศพนี้เถิด

รดน้ำศพ
หลังจากที่อาบนํ้าและแต่งตัวศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยกศพขึ้นนอนบนเตียงที่จัดเตรียมไว้ ควรคลุมศพด้วยผ้าแพรแล้วหาผ้าสวยๆ มาคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันอุจาดตา แบมือขวาศพยื่นออกไปนอกเตียง หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้าสถานที่ไม่อำนวยจะหันศีรษะไปทางทิศอื่นที่เหมาะสมกับสถานที่ก็ได้ หาหมอนเล็กๆ สำหรับรองมือศพหนึ่งใบ และจัดภาชนะสำหรับรองนํ้าที่รดด้วยนํ้ารดศพใช้นํ้าหอมไทย หลังจากแขกผู้มีเกียรติและญาติมิตรรดนํ้าเสร็จแล้ว ก็เตรียมศพใส่โลงเพื่อสวด
พระอภิธรรมในเวลากลางคืนต่อไป ผู้ที่รดนํ้าศพนั้นควรจะกล่าวคำอันเป็นคตินิยมของพุทธศาสนิกชน จะว่าเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย หรือจะกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ว่า

“อิทัง มะตะกะสะรีรัง อุทะกัง วิยะ สิญจิตัง อะโหสิ กัมมัง” คำแปล “ขอให้เวรกรรมที่ผู้ตายกับเรา ที่ได้ก่อกรรมทำกันไว้นี้ จงเป็นอโหสิกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรมกัน เหมือนนํ้าที่รดลงตรงศพนี้เถิด”

อนึ่ง เวลาไหว้ศพ ตามคติโบราณท่านให้กล่าวว่า “เอวัง มะยา มะริตัพพัง” แปลว่า “ไม่ใช่ตายแต่เขา แม้แต่เราก็ต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน”

แต่งตัวศพ    
ก. หวีผมศพ
การหวีผมศพ ต้องหวีไม่ให้เหมือนกับคนธรรมดาสามัญ ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกันมา มักไม่เหมือนกัน บางท่านว่า ต้องหวี ๓ หนเท่านั้น บางท่านก็ว่า ต้องหวีผมกลับไปข้างหน้าซีกหนึ่ง หวีไปข้างหลังอีกซีกหนึ่ง การที่หวีไปข้างหน้าและข้างหลังนี้ อธิบายว่า หวีสำหรับคนตายครึ่งหนึ่ง และหวีสำหรับคนที่เกิดครึ่งหนึ่ง เมื่อหวีผมศพเสร็จแล้วต้องหักหวีออกเป็น ๒ ท่อน แล้วขว้างทิ้งไป บางท้องที่หักหวีออกเป็น ๓ ท่อน แล้วกล่าวคำว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหวีลงอย่างเดียว ห้ามหวีขึ้นอย่างเด็ดขาด เมื่อหวีแล้วหักหวีออกเป็น ๒ ท่อนแล้วทิ้งเลย

อนึ่ง การหวีผมศพนี้ บางท่านว่าควรให้ลูกชายคนโตเป็นผู้หวี แต่ถ้าไม่มีก็ให้ทายาทของผู้ตายเป็นผู้หวีก็ได้

ข. นุ่งผ้าและสวมเสื้อศพ
การนุ่งผ้าและสวมเสื้อศพนั้น ต้องนุ่งห่มเป็นพิเศษมิให้เหมือนกับคนธรรมดาสามัญ ใช้ผ้าขาวนุ่งชั้นแรก เอาชายพกไปไว้ข้างหลัง แล้วเอาเสื้อสวมทับอีกขั้นหนึ่ง เอาทางด้านหน้าที่มีดุมไว้ข้างหน้าแบบคนธรรมดา แล้วใช้เข็มเย็บเนาเป็นตะเข็บตั้งแต่แขนไปหาเอวทั้งสองข้าง การที่ต้องแต่งตัวศพไม่ให้เหมือนกับคนธรรมดานั้นกล่าวกันว่า สำหรับแต่งตัวให้คนที่ตายแล้ว เสร็จแล้วใช้เสื้อผ้านุ่งทับอีกขั้นหนึ่ง นุ่งผ้าและสวมเสื้อตามปกติแบบคนเป็น คือ เอาด้านดุมไว้ข้างหน้า ถ้าใช้ผ้านุ่งก็เอาชายพกไว้ข้างหน้า หมายความว่า เเต่งตัวสำหรับไปเกิดใหม่ การที่นุ่งผ้าและสวมเสื้อแก่ศพกลับกันกับคนธรรมดาสามัญ นั้นบางท่านอธิบายว่า ที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้เป็นข้อพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาย่อมเกิดทิฐิและตายด้วยทิฐิ มีอวิชชาปิดหน้าปิดหลัง มีตัณหาเกี่ยวพันกันประดุจดังเรียวไม้ไผ่

อนึ่ง การนุ่งผ้าและสวมเสื้อแก่ศพนั้น บางทีก็ใช้ผ้าธรรมดาที่นุ่งห่มกัน ไม่ใช้ผ้าขาวแบบแต่ก่อน ในปัจจุบัน หลังจากที่อาบนํ้าและชำระศพจนสะอาดแล้ว ก็แต่งตัวนุ่งผ้าและสวมเสื้ออย่างปกติเพียงชั้นเดียว แล้วนำศพไปวางนอนบนเตียง เพื่อเตรียมรดนํ้าต่อไป

ค. เงินใส่ปากศพ
การนำเงินใส่ปากศพ แต่ก่อนใช้เงินพดด้วงหรือเงินเหรียญบาท ถ้าเป็นคนมั่งมีอาจใช้ของมีค่า เช่น แหวนทอง ก็ได้ ห่อผ้าขาวผูกเชือกให้หางเชือกยาวออกมานอกปาก เพราะเวลาเผาจะได้ดึงออกได้ แล้วเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นเครื่องรางแล้วแต่จะยึดถือกัน การใส่จะใช้เงินหรือทองก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ราคาทองแพงมากคงไม่มีใครใส่

กล่าวกันว่า เงินที่ใส่ปากศพ เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำศพไปเผา ผู้เขียนเข้าใจว่าใส่ไว้ให้สัปเหร่อเพื่อเป็นสินน้ำใจนอกเหนือจากค่าจ้าง เพราะศพที่เก็บไว้ในสมัยก่อนบางทีเมื่อจะเผา เขาไม่ได้เคลื่อนศพมาเผาได้เลย เขาจะรูดเนื้อออก เหลือแต่กระดูกห่อไปเผา เพราะฉะนั้นควรมีรางวัลที่สัปเหร่อจัดการกับศพให้ และในสมัยก่อน เงิน ๑ บาทก็มีค่ามาก อีกประการหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ตายจะได้เอาทรัพย์นั้นติดตัวไปใช้สอยในเมืองผี

โดยนัยแล้ว การเอาเงินใส่ปากให้ เพื่อเป็นทางพิจารณาว่า บรรดาทรัพย์สมบัติที่ผู้ตายสะสมไว้ แม้จะมากสักเพียงไร ครั้นตายแล้วก็ทิ้งหมด เขาใส่ปากไปให้แต่เพียงบาทเดียวยังเอาไปไม่ได้ ต้องตกเป็นของผู้อื่นไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่อย่าลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ยอมตนเป็นทาสของเงิน จนกระทั่งขวนขวายหาทรัพย์มาในทางไม่สุจริตแล้วก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น สิ่งที่จะติดตัวไปได้มีแต่กรรมที่ตนทำไว้ คือ บุญกับบาปที่ติดตัวไปประดุจเงา อันจะส่งผลให้ได้รับสุขหรือทุกข์ตามกำลังที่ตนได้กระทำไว้

ง. หมากใส่ปากศพ
หมากใส่ปากศพ ผู้ตายที่กินหมาก เมื่อใส่เงินบาทลงไปแล้ว ถ้าผู้ตายมีฟันพอเคี้ยวได้ก็ใส่หมากเจียนคำหนึ่งกับพลูจีบหนึ่ง หักใส่ลงไปด้วยกัน ถ้าคนแก่ที่ตายมีฟันไม่สมบูรณ์ ก็ใช้หมากตำละเอียดคำหนึ่งใส่ปากไว้ ทั้งนี้ก็เพราะผู้ตายเคยชอบอย่างไรก็ใส่ปากให้พอเป็นธรรมเนียมเท่านั้น

จ. ปิดหน้าศพ หรือปิดปากปิดตาศพ
เมื่อตราสังศพเสร็จแล้ว สมัยก่อนสัปเหร่อจะนำขี้ผึ้งชนิดขี้ผึ้งแข็งมาแผ่ออกเป็นแผ่นกว้างยาวขนาดใบหน้าของศพ แผ่ปิดหน้าดังปิดด้วยหน้ากาก บางทีก็ปิดเฉพาะที่ตาและปาก ถ้าเป็นคนมั่งมี บางคนใช้ทองคำแผ่เป็นหน้ากากปิดหน้า เมื่อเผาแล้วก็เอาทองนี้สร้างพระเป็นการกุศล บางทีใช้ปิดด้วยทองคำเปลวปนขี้ผึ้ง คงจะย่อมาจากการปิดด้วยแผ่นทองคำตามฐานะของเจ้าภาพ พิธีนี้ทำกันแต่บางราย ไม่ได้ทำกันทั่วไป การที่ใช้ขี้ผึ้งหรือทองคำปิดหน้าศพนี้ กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันความอุจาด เพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลง อ้าปากลิ้นแลบออกมา จึงได้มีทองและขี้ผึ้งปิดไว้

ถ้ากล่าวเป็นปัญหาธรรมแสดงว่า ตากับปากนี้เป็นช่องทางให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ตาเห็นรูป  ทำให้เกิดกำหนัด หลงรัก หลงชัง เป็นเหตุให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ส่วนปากนั้นพูดปด ล่อลวง ส่อเสียดยุยง พูดคำหยาบ ด่าแช่ง และคำเพ้อเจ้อ จึงปิดมันเสีย อย่าให้อศุลกรรมเหล่านี้เข้ามา ทางตาทางปากได้ ใช่จะสังวรแต่ตาแต่ปากเท่านี้ แม้อายตนะทั้ง ๖ ก็ควรสังวรเช่นเดียวกัน

ฉ.กรวยดอกไม้ธูปเทียน
กรวยดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้ธูปเทียนนี้ ประกอบด้วย ธูป ๑ ดอก เทียน ๑ ดอก ดอกไม้ ๑ ช่อ หรือจะใช้ดอกบัว ๑ ดอกก็ได้ ใส่ในกรวยใบตองให้ศพประนมมือถือไว้ การที่ให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนนี้ก็เพื่อจะได้ถือไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตราสัง
เป็นวิธีการมัดศพคนตายแล้ว ซึ่งลูกหลานและผู้ใกล้ชิดมักจะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจดเสียก่อน ต่อจากนั้นก็มัดและห่อศพ การมัดศพนั้นใช้ด้ายดิบเส้นโตขนาดนิ้วก้อยมัดเป็น ๓ เปลาะหรือ ๓ บ่วง เปลาะแรกเอาเชือกทำบ่วงสวมคอ บ่วงที่ ๒ รัดรอบหัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้างให้ประนมไว้ที่หน้าอก บ่วงที่ ๓ รัดรอบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันซึ่งเรียกกันว่า “ตราสัง” การที่มัดเช่นนี้เพื่อกันไม่ให้ศพเบ่งขยายดันโลงทั้งสองข้างให้แตกหรือแยกออก ทำให้น้ำเหลืองรั่วไหลออกมา

เหตุที่ทำบ่วงผูกไว้เป็น ๓ บ่วงนั้น มีความหมายผูกเป็นคาถาว่า “ปุตโต คีวัง ธะนัง ปาเท ภริยา หัตเถ” ดังโคลงโลกนิติ บทที่ ๑๓๙
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว        พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ        หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ        รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้        จึ่งพ้นสงสาร

บางท่านใช้กลับกันว่า “ปุตโต คีวัง ธะนัง หัตเถ ภริยา ปาเท” ปุตโต คีวัง (คีเว ก็มี) ห่วงลูกผูกคอ (ลูกเป็นห่วงผูกคอ) ธะนัง หัตเถ ห่วงทรัพย์ผูกมือ (ทรัพย์เป็นห่วงผูกมือ) ภริยา ปาเท ห่วงคู่ผูกเท้า (ภริยา-สามี เป็นห่วงผูกเท้า) แล้วเอากรวยบรรจุดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือ สมัยก่อนกินหมากพลูก็มีหมากพลูด้วย

เสร็จแล้วห่อด้วยผ้าขาวยาวสองทบ ห่อตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้าให้มิดทั้งตัว ชายผ้าทั้งสองอยู่ทางศีรษะสำหรับขมวดเป็นก้นหอย มัดตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาเป็นเปลาะๆ ด้วยด้ายดิบโตขนาดนิ้วมือ เพื่อกันไม่ให้ขาดเวลาที่ศพเบ่งขึ้น แล้วมารัดกับชายผ้าที่ขมวดเป็นก้นหอยบนศีรษะให้แน่น แล้วเหลือชายเส้นด้ายที่มัดนั้นปล่อยออกมานอกโลงพอควร เพื่อผูกผ้าโยงให้พระบังสุกุลจะได้แล่นเข้าไปถึงตัว

อธิบายเหตุตราสังชนิดปริศนาธรรมว่า ห่วง ๓ อย่างนี้ ย่อมผูกมัดสัตว์โลกไม่ให้หลุดพันจากห้วงแห่งสังสารวัฏ ต่อเมื่อตัดบ่วงเหล่านี้ขาดจึงจะพ้นทุกข์ได้

โลงและการเบิกโลง

ก.โลง คือ ที่บรรจุศพ ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีเลื่อยใช้ ช่างจะนำไม้ทั้งท่อนมาขุดทำเป็นราง แล้วใช้ไม้อุดหัวอุดท้ายอีกทีหนึ่ง ต่อมามีเลื่อยใช้แล้ว จึงได้เลื่อยไม้ออกเป็นแผ่นกระดานแล้วใช้ไม้หลายแผ่นประกอบกันเป็นโลง เรียกว่า หีบศพ ไม้ที่นำมาใช้ในการต่อโลง ได้แก่ไม้งิ้ว หรือไม้อุโลก ใช้ต่อโลงสำหรับผู้ที่ป่วยตายตามปกติ ส่วนศพที่ตายไม่บริสุทธิ์ เช่น ตายโหง มักจะบรรจุโลงที่ต่อด้วยไม้สัก มีคำพูดเด็กๆ ที่มักจะร้องเล่นกันว่า “ผีตายโหงไว้โลงไม้สัก” การที่นิยมโลงไม้สักนั้น ก็คงจะมุ่ง ประโยชน์ที่ทนทานและแข็งแรง ถ้าจะเอาลงฝังดินก็ไม่ผุง่าย แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้โลงไม้สักหรือโลงไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งมีผู้ต่อสำเร็จไว้ขายตามร้านทั่วๆ ไป นับว่าสะดวกดี

ข. การเบิกโลง เมื่อเจ้าภาพจัดหาโลงศพมาแล้ว สัปเหร่อจะเป็นผู้ทำพิธีเบิกโลงตามธรรมเนียม คือ เอาไม้ไผ่มาเกรียกโตขนาดเท่านิ้วก้อย เกรียกหนึ่งผ่าปลายข้างหนึ่งไว้สำหรับไว้คาบกับปากโลง แล้วผ่าปลายอีกข้างหนึ่งสำหรับคาบด้ายสายสิญจน์ ไม้ไผ่ดังกล่าวใช้ ๘ อัน เรียกว่าไม้ปากกา ทางเจ้าภาพต้องจัดหากระทงเล็กๆ สำหรับใส่กุ้งพล่าปลายำ ๘ กระทง หรือจะใช้อาหารอย่างอื่นตามท้องถิ่นก็ได้ มีเทียนเล่มเล็กๆ ๙ เล่ม (สำหรับทำนํ้ามนต์ ๑ เล่ม ใช้ติดปากโลงอีก ๘ เล่ม) ด้าสายสิญจน์ ๑ กลุ่ม นํ้าสำหรับทำนํ้ามนต์ ๑ ขัน กับเงินอีก ๖ สลึง สัปเหร่อคนหนึ่งจะใช้ไม้ปากกาที่เตรียมไว้คีบเข้ากับปากโลงเคียงกับไม้ปากกานั้นจนครบ ๘ กระทง แล้วจุดเทียนที่ติดปากโลงทั้ง ๘ เล่ม สัปเหร่ออีกคนหนึ่งจะตั้งพิธีทำนํ้ามนต์ธรณีสารว่าคาถา “สีโรเม พุทฺธเทวญฺจ….ปสิทธิเม” เมื่อเสร็จก็วักน้ำมนต์ในขันขึ้นเสยผม ๓ ครั้ง แล้วหยิบขันนํ้ามนต์ไปพรมที่โลงพร้อมทั้งวักนํ้ามนต์ในขันเสยผมไปด้วย สัปเหร่อ คนหนึ่งจะหยิบเทียนที่จุดปากโลงเล่มหนึ่งมาจุดด้ายสายสิญจน์ระหว่างช่องปากกานั้นให้ไหม้ขาดจากกันทุกช่อง เว้นไว้แต่ช่องด้านสกัดด้านหนึ่งซึ่งจะกำหนดให้ เช่น หัวโลง แล้วสัปเหร่อคนที่พรมน้ำมนต์เสร็จแล้วนั้น ในมือถือพร้าโต้มากดลงที่ด้ายสายสิญจน์ระหว่างกลางโลง ปากบริกรรมคาถาว่า “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ สงฺฆํ ปจฺจกฺขามิ” ๓ ครั้ง แล้วก็ร้องถามขึ้นว่า “โลงของใคร” เจ้าภาพต้องร้องตอบไปว่า เป็นโลงของผู้นั้น (ออกชื่อผู้ตาย) สัปเหร่อผู้ถือพร้าโต้ก็จะสับด้ายสายสิญจน์ลงกับปากโลง ๓ ที โดยสับลงตรงกลางก่อน แล้วสับข้างซ้ายและข้างขวา กะระยะให้ห่างกันประมาณหนึ่งนิ้ว สับให้ด้ายสายสิญจน์ขาด แล้วล้มปากกาและเทียนที่จุดไว้ปากโลงลงในโลงให้หมด โยนกระทงกุ้งพล่า ปลายำทิ้งไป ก็เป็นอันเสร็จพิธีเบิกโลง

เครื่องประกอบโลง
โลงที่จะบรรจุศพ เมื่อทำการเบิกโลงเสร็จแล้ว จะต้องมีสิ่งประกอบดังนี้

ก. ฟากหรือเฝือก ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดกว้างประมาณ ๕ เซ็นติเมตร ยาวพอขนาดที่จะนำลงโลงได้ จำนวน ๗ อัน เกลาข้อและลบเหลี่ยมพอเรียบๆ กักด้วยหวายให้เรียงติดกันเป็นผืน เอาทางผิวไม้ขึ้นข้างบน แล้วมัดติดกันกับกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งวางขวางทำเป็นหมอนเท่าขนาดความกว้างของโลงเป็น ๓ ระยะ เพื่อกันมิให้ศพวางลงกับพื้นโลง และเพื่อให้เกิดช่องว่างสำหรับบรรจุเครื่องซับนํ้าเหลืองข้างใต้ฟากหรือเฝือกนั้นได้ การที่โบราณให้มีการวางเฝือกนี้เพื่อประโยชน์ ๒ ประการ คือ เวลาจะยกศพออกจากโลงย่อมสะดวก และเวลาเผาไฟจะได้ลอดขึ้นตามซี่เฝือกนั้น ทำให้เผาศพไหม้ได้รวดเร็ว ในปัจจุบันโลงศพนี้จีนต่อขายตามร้าน ฟากหรือเฝือกใช้ไม้นอก ความกว้างราว ๓ เซ็นติเมตร ตีตะปูติด กับไม้หมอนห่างๆ เพียง ๔ ซี่บ้าง ๕ ซี่บ้าง ไม่เป็นกำหนดแน่นอน แล้วแต่ทางร้านจะกำหนดขึ้นเอง ส่วนศพอนาถาไม่มีเงินจะซื้อโลง ก่อนจะนำไปเผาหรือฝังสดๆ สัปเหร่อจะใช้ผ้าห่มนอนห่อพันศพเข้าแล้วห่อด้วยเฝือกไม้ไผ่ ๗ ซี่อีกทีหนึ่ง แล้วหามไปวัดโดยไม่ต้องใช้โลง จึงมีคำพูดติดปากมาแต่โบราณว่า  “ไม่พ้นนอนเฝือก ๗ ซี่” ซึ่งมีความหมายว่า “ถึงจะถือเนื้อไว้ตัวว่าเป็นคนมั่งมี มียศอำนาจวาสนาอย่างไรก็ตาม ก็คงไม่พ้นนอนเฝือก ๗ ซี่ไปได้ คือ หลังจากที่ตายไปแล้ว ถึงจะยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องนอนเฝือก ๗ ซี่ ที่รองก้นโลงเหมือนกัน

ข. ใบตองตานี ๓ ยอด เมื่อวางเฝือกหรือฟากลงไปในโลงแล้ว ต้องหาใบตองตานี ๓ ยอด มาวางลงบนเฝือกหรือฟาก แล้วปูเสื่อหรือที่นอนลงบนใบตองอีกทีหนึ่ง ให้มีพร้อมทั้งหมอนหนุน แล้วยกศพวางตะแคงในโลง พร้อมทั้งบรรจุเครื่องซับนํ้าเหลืองและเครื่องดับกลิ่นเหม็น เช่น ปูนขาว ใบชา ขมิ้นผง ใบสาเก ใบฝรั่ง ใบบัวหลวง เถ้าแกลบ กระดาษฟาง เป็นต้น บางท้องที่ใช้ผลฝรั่งสุกวางไว้บนโลง เพราะเชื่อว่าฝรั่งสุกสามารถดูดกลิ่นเหม็นเข้าไปไว้ได้

การที่ต้องปูใบตองตานีไว้ก็เพื่อรองรับนํ้าเหลืองไม่ให้ไหลตกไปถึงก้นโลงได้ง่าย การที่ต้องใช้ยอดตอง ๓ ยอดนั้น ยังไม่พบอธิบายว่าเพื่ออะไร บางท่านอธิบายว่า การที่ปูใบตอง ๓ ยอด ต้องปูตามยาว ๒ ข้างๆ ละยอด และปูทาบตรงกลางอีกยอดหนึ่ง ก็พอดีกับพื้นที่ของโลง ถ้าจะใช้ใบตองน้อยกว่านี้ก็จะไม่พอกับพื้นที่ หรือถ้ามากกว่านี้ก็จะมากไป เกินความจำเป็น อนึ่ง การที่ต้องตัดใบตองไม่ไว้หูนั้นก็ด้วยเกรงว่า เมื่อตัดไว้หูแล้วจะเหลือหางของใบตองสั้นกว่าความยาวของโลงจะปิดพื้นที่ว่างในโลงไม่มิดนั่นเอง

ค. บันไดวางหลังโลง ใช้ไม่ไผ่จักออกแล้วนำมาผูกให้เหมือนขั้นบันได ขนาดความยาวและความกว้างเท่ากับปากโลง ส่วนการทำขั้นบันได บางท่านว่ามี ๓ ขั้น ถ้าจะอธิบายเป็นปัญหาธรรม ก็หมายถึง ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ บางตำราว่าเกี่ยวกับปริศนาธรรม คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อันเป็นเรื่องของชีวิตที่ตกอยูในอนิจจลักษณะ ซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดไม่ รู้ขาด ดุจคนขึ้นบันไดฉะนั้น การทำขั้นบันได บางท่านว่าต้องทำ ๔ ขั้น ดังที่มีคำพูดติดปากว่า “ขั้นคู่บันไดผี ขั้นคี่บันไดคน” ดังนี้ การจักไม่ไผ่เป็น ๔ ขั้น เรียกว่า บันไดผีนี้ กล่าวกันว่าเพื่อให้ผู้ตายพาดขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การทำบันได ๔ ขั้น ยังไม่พบที่มา น่าจะหมายถึง อริยสัจ ๔ ซึ่งจะเป็นทางหรือบันไดให้หลุดพ้นจากภพทั้งสาม ในปัจจุบันสัปเหร่อบางวัดก็ไม่ทำบันได วางหลังโลงกันแล้ว คงใช้เครื่องประกอบโลงเพียง ๒ อย่าง คือ ฟากหรือเฝือก และใบตองตานี ๓ ยอดเท่านั้น ส่วนบางแห่งทำบันไดไว้ปากหีบศพข้างในก็มี

ตั้งศพ
เมื่อบรรจุศพลงในโลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะตั้งศพไว้ที่บ้านเพื่อบำเพ็ญกุศลก่อนก็ดี จะนำไปตั้งก่ออิฐถือปูนไว้หรือฝังไว้ก็ดี หรือจะนำไปตั้งบนเชิงตะกอนเพื่อเตรียมเผาก็ดี ถือกันว่าต้องหันศีรษะศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ แต่ถ้าไม่สามารถตั้งศพให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกได้ ก็ให้หันศีรษะของศพไปทางทิศใต้ แต่ไม่ตั้งหันศีรษะศพไปทางตะวันออกหรือทิศเหนือ การที่ต้องหันศีรษะศพไปทางทิศตะวันตกนี้ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งพระอิศวรประกอบพิธีโกนจุกพระพิเนต (พระพิฆเณศ) ไม่ได้เชิญพระอังคารมาร่วมในพิธี พระอังคารโกรธ บันดาลให้มีดไปตัดเศียรพระพิเนตไปทิ้งในแม่นํ้า พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้พระเพชฉลูกรรม์ (พระวิศวกรรม) ไปเอาศีรษะมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ที่นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกมาต่อ ปรากฏว่าไปพบช้างนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จึงตัดหัวช้างมาถวายพระอิศวร พระพิเนตจึงมีเศียรเป็นช้าง

ดังนั้น คนเราจึงไม่นิยมหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แม้แต่ทิศใต้ก็ไม่นิยมเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นเสนียดจัญไร การตั้งศพจึงต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้ามีความจำเป็นจะตั้งหันศพไปทางทิศตะวันตกไม่ได้ ก็ให้หันศีรษะไปทางทิศใต้

ตามไฟหน้าศพ
คนที่สิ้นลมหายใจแล้ว เขาจะใช้ผ้าคลุมตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าให้มิดไม่ให้เห็นหน้าตา ผู้ที่ตาย ในตอนบ่ายหรือเย็นซึ่งบรรจุศพไม่ทันในวันนั้น หรือบรรจุลงโลงแล้วตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เขาจะตามไฟศพไว้ทางปลายเท้า ในสมัยก่อนไฟที่จุดใช้กะลามะพร้าวพร้อมทั้งเนื้อซีกหนึ่ง ใส่น้ำมันมะพร้าวบางทีใส่เกลือด้วย ใช้นมไม้ทองหลางร้อยด้ายดิบเป็นไส้ มีภาชนะบรรจุข้าวเปลือกรองรับตะเกียงกะลามะพร้าวอีกทีหนึ่ง คงจะรองรับไว้เพื่อไม่ให้กะลาที่ตั้งโคลงเคลง น้ำมันอาจหกได้ บางตำราแถมหม้อใส่น้ำ ๓ หม้อ ไม้ฟาก ๓ อัน ตั้งและวางไว้ด้วย นอกจากนํ้ามันมะพร้าว จะใช้น้ำมันละหุ่งและนํ้ามันปลาก็ได้ ความประสงค์ต้องการใช้นํ้ามันมะพร้าวมากกว่าอย่างอื่น เพราะนํ้ามันมะพร้าวไม่มีควัน ส่วนที่ใช้อย่างอื่น คงเป็นเรื่องที่สะดวกอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น ในการจัดพระศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เอาขันใส่ข้าวสารปักแว่นติดเทียนไว้แทน แต่เทียนไม่ต้องจุดไฟเพราะมีไฟอื่นแล้ว

ทางภาคอีสานใช้ด้ายดิบเป็นไส้ ฟั่นเป็นเกลียวแล้วทำเป็นตีนกาวางลงกลางภาชนะหรือเอาไส้หญ้าปล้องแทนด้ายดิบก็มี แต่ใช้วางข้างหัวโลง จะวางตรงไหนก็ได้ไม่กำหนด ภาชนะที่ตามไฟของภาคนี้ นอกจากใช้กะลามะพร้าวแล้ว ที่ใช้เปลือกลูกตุมกาหรือกระบอกไม้ไผ่ก็มี ชนบทบางท้องที่ใช้ถ้วยแก้ว โคม หรือตะเกียงสุดแต่สะดวก การตามไฟหน้าศพนี้ทำเป็นประเพณีอยู่หลายชาติ เช่น จีน อินเดีย ก็มีตามไฟเช่นเดียวกัน ในชั้นต้นคงจะใช้กิ่งไม้ใบไม้แห้งสุมเป็นกองจุดไว้ในบริเวณบ้านแล้วจึงมาถึงขั้นใช้ใต้ ใช้น้ำมันจนมาใช้ไฟฟ้า ไฟที่จุดตามไว้นี้ต้องระวังไม่ให้ดับ ถ้าดับต้องจุดใหม่ทันที

เหตุที่ต้องตามไฟหน้าศพ ในชั้นเดิมคงจะเกิดความหวาดกลัว พอตกกลางคืนมืด ผู้ที่เฝ้าศพคงจะเกิดกลัวผีจึงต้องจุดไฟไว้ให้สว่าง ถ้าจะอธิบายชนิดปริศนาธรรมก็ว่า มนุษย์นั้นมี ๔ จำพวก พวกที่หนึ่ง มาสว่างไปสว่าง คือพวกที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เลื่อมใสนับถือประพฤติและปฏิบัติตนในทางที่ชอบตามคำสั่งสอนของพระศาสนา คนจำพวกนี้รุ่งเรืองทั้งภพนี้และภพหน้า จึงได้ชื่อว่ามาสว่างไปสว่าง

พวกที่สองมาสว่างไปมืด คือพวกที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา อันนับว่าพบแสงสว่างแล้วแต่ไม่เลื่อมใส ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ ประพฤติกาย วาจา ใจ ทุจริต เมื่อละจากโลกนี้ก็จะต้อง ไปสู่ทุคติ จึงได้ชื่อว่า มาสว่างไปมืด

พวกที่สาม มามืดไปสว่าง คือคนจำพวกที่เกิดมาในพวกมิจฉาทิฐิ ไม่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ตนกลับเป็นคนสัมมาทิฐินับถือพระพุทธศาสนา ประพฤติและปฏิบัติตนในทางที่ชอบ คนจำพวกนี้ได้ชื่อว่ามามืดไปสว่าง

พวกที่สี่ มามืดไปมืด คือคนจำพวกที่เกิดมาในพวกมิจฉาทิฐิ ทั้งตนก็เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบ คนจำพวกนี้เรียกว่า มามืดไปมืด

อีกนัยหนึ่งเป็นปัญหาธรรมเตือนสติผู้ยังมีชีวิตอยู่ ให้ดำเนินชีวิตไปในทางสว่าง คนจะเกิดมาสว่างหรือมืดก็ดี ขอให้ไปสว่าง คือเกิดมาแล้วให้รู้จักบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ประพฤติกาย วาจา ใจ ในทางสัมมาปฏิบัติ

การที่โบราณใช้มะพร้าวซีกเติมน้ำมันมะพร้าว บางทีใส่เกลือด้วย เป็นตะเกียงตั้งไว้บนภาชนะ บรรจุข้าวเปลือก เป็นปัญหาธรรมว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นของบริสุทธิ์ ไม่มีควัน ดุจคนที่ปราศจากกิเลส ส่วนเกลือเปรียบด้วยบาปอกุศลเป็นคนละอย่าง ปนเคล้าเข้ากันไม่ได้ เปรียบบุญบาปเหมือนนํ้ามันกับน้ำ ย่อมเข้ากันไม่ได้ เช่นเดียวกับการทำบาปๆ ก็ส่งผลให้เป็นทุกข์ ทำบุญๆ ก็ส่งผลให้เป็นสุข บุญและบาปย่อมผลัดเปลี่ยนกันให้ผลวนเวียนอยู่ตามที่ตนได้กระทำไว้ การที่บรรจุข้าวเปลือกไว้ในภาชนะ แสดงปัญหาธรรมว่า ใครหว่านข้าวกล้าลงในนาแล้ว ข้าวกล้าย่อมจะงอกขึ้นเป็นต้นข้าว จะได้ผลดีเลวอย่างไรย่อมแล้วแต่ชนิดของพันธุ์ข้าว และพื้นที่นานั้นๆ ข้าวจะไม่กลายเป็นต้นหญ้าได้ฉันใด ถ้าทำบุญไว้บุญจะส่งผลให้ที่จะกลายเป็นบาปย่อมไม่ได้ฉันนั้น

สวดศพ
ในระหว่างที่เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านหรือที่วัดในเวลากลางคืน จะมีพระภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า “สำรับหนึ่ง” มาสวดพระอภิธรรมหน้าศพ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. หรือ ๑๙.๓๐ น. แล้วแต่เจ้าภาพจะกำหนด ก่อนสวดเจ้าภาพต้องจุดธูปเทียน เสร็จแล้วอาราธนาศีล พระภิกษุผู้อาวุโสในจำนวน ๔ รูป เป็นผู้ให้ศีล เมื่อรับศีลจบแล้ว จึงตั้งต้นสวดพระอภิธรรมต่อไป นิยมสวด ๔ จบบางแห่งสวดเพียง ๓ จบก็มี พระภิกษุที่สวดพระอภิธรรมกำหนด ๔ รูปนั้น แต่เดิมเนื่องจากต้องการให้สะดวกแก่เจ้าภาพที่ระถวายสังฆทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น ถ้านิมนต์พระจำนวนหลายรูปก็จะไม่สะดวกแก่เจ้าภาพ จึงเลยถือกันมาจนบัดนี้ว่า พระสวดศพต้อง ๔ รูป

การที่มีสวดพระอภิธรรมหน้าศพนั้น ประสงค์จะสวดให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อพิจารณาในมรณสติกรรมฐาน ว่าเกิดมาเป็นสังขารร่างกายแล้ว ก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด ซึ่งทุกคนจะหลีกเลี่ยงหาได้ไม่ ถ้าคิดได้เช่นนี้ก็จะเป็นเครื่องดับความวิปโยคอาลัยรักผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้บ้าง อีกประการหนึ่ง การสวดพระอภิธรรม กล่าวกันว่า เหมือนได้สร้างพระอภิธรรมฉลองคุณมารดาตามประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ จึงนิยมสวดพระอภิธรรมมากกว่าสวดอย่างอื่น

เซ่นศพ
เมื่อมีผู้ตายลง ระหว่าง ๓ วัน นับตั้งแต่วันตายเป็นต้นไป ผู้ที่เป็นเจ้าภาพหรือลูกหลานจะต้องจัดหาข้าว นํ้า พร้อมทั้งกับข้าวใส่สำรับแล้วนำไปตั้งไว้ข้างโลงศพวันละ ๒ เวลา คือ เวลาเช้า และเวลาเย็น เพื่อเป็นการเซ่นศพ เวลาที่จะเซ่นให้ใช้มือเคาะข้างโลง ๓ ครั้ง บอกศพให้รับประทานอาหาร ถ้าผู้ตายเป็นพ่อ ก็ร้องบอกว่า “พ่อกินอาหาร” ถ้าเป็นปู่ก็ร้องว่า “ปู่กินอาหาร” ถ้าเป็นญาติที่เคยเรียก อย่างไรก็บอกอย่างนั้นทุกคราวไป อาหารที่ตั้งเซ่นศพให้ตั้งไว้นานประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงจะยกกลับได้

การเซ่นศพนี้ ถือว่า “สิ่งใดมีอยู่ก็ย่อมคงอยู่และจะมีอยู่ต่อไป” ในทำนองเดียวกันแม้ว่าผู้ตายจะตายไปแล้วก็ตาม ขณะที่มีชีวิตอยู่เคยกินอย่างไร เมื่อตายไปแล้วก็คงต้องกินอยู่อย่างนั้น เป็นคติทางไสยศาสตร์
ที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาล การเซ่นศพไม่ใช่มีแต่เฉพาะของไทยแม้ชาวต่างประเทศก็มี พวกฝรั่งอธิบายว่าที่ต้องเซ่นศพเพราะเกรงผีจะโกรธ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องเซ่นศพนี้ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวไทยทั่วไป

นำศพออกจากบ้าน
เมื่อจะยกศพลงจากเรือนเพื่อนำไปวัดหรือนำไปยังสถานที่เก็บศพตามประเพณี มีวิธิปฏิบัติดังนี้

ก. ไม่หามศพลอดขื่อ ในสมัยโบราณถือกันว่า ผู้ป่วยนอนตายอยู่ที่ห้องไหน ก็จะตั้งศพบำเพ็ญกุศลในห้องนั้น ไม่ยอมย้ายศพจากห้องที่ตายไปไว้ห้องอื่นเหมือนอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ การยกศพมีข้อห้ามอยู่หลายประการ เช่น เมื่อยกศพออกจากห้องไปก็ไม่ให้หามลอดขื่อ แต่จะไปออกประตูอีกห้องหนึ่งเพื่อให้พ้นขื่อ บ้านโบราณที่เป็นฝากระดานลูกปะกน ต้องเปิดฝาปะกนออกกระแบะหนึ่งเพื่อยกศพออกทางนั้น มายังระเบียงแล้วหามออกนอกชาน ลงบันไดไปวัดเลยก็มี การที่ห้ามหามศพลอดขื่อนี้ บ้านแต่ก่อนทำขื่อเตี้ย ถ้าหากหามศพลอดขื่อ ศีรษะของผู้ยกหีบศพอาจจะไปถูกขื่อเข้า จึงต้องห้าม และถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ข. ชักฟากสามซี่ตีหม้อน้ำสามใบ ข้อนี้เป็นปริศนาธรรมฟากสามซี่ได้แก่ชาติ การเกิดต้องอาศัยภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ส่วนหม้อน้ำ ๓ ใบนั้น ได้แก่ วัยทั้งสาม คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย เหตุด้วยสัตว์โลกมีเกิดมาจะต้องแตกดับไปในวัยทั้งสาม จะคงอยู่ตลอดไปหาได้ไม่ จึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

ค. ประตูป่า ก่อนที่จะนำศพออกจากบ้านต้องทำประตูป่า คือ เอากิ่งไม้สองกิ่งมาปักไว้บนประตูที่จะนำศพออก ผูกปลายจรดกัน เมื่อยกศพออกไปแล้ว ให้ถอนกิ่งไม้ทิ้งเสีย การที่ต้องทำประตูป่านี้ ก็เพื่อจะไม่ให้ผีกลับมาเรือนได้อีก เพราะเวลาที่ยกศพผ่านไปแล้ว กิ่งไม้ถูกถอนทิ้ง เวลาผีจะกลับมาบ้านเดิมไม่เห็นกิ่งไม้เป็นที่สังเกตก็จะเลยไปที่อื่น ไม่มารบกวนผู้ที่อยู่ต่อไปอีก เรื่องประตูป่านี้บางท่านอธิบายเป็นปัญหาธรรมว่า ประตูป่าช้าใครไปแล้วไม่ได้กลับมาเห็นญาติอีก

ง. ซัดข้าวสาร ขณะที่ยกศพเคลื่อนออกจากบ้านจะไปวัด ต้องซัดข้าวสาร บางทีก็ซัดเกลือด้วย เวลาซัดให้ว่าคาถา “คจฺฉ อมุมฺหิ พุทฺธปัต” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ตายไปผุดไปเกิด จะได้ไม่มารบกวนศพในบ้าน

จ. ไม้ขีดทางที่ไป เวลายกศพจะต้องมีคนคอยขีดทาง เห็นจะทำเครื่องหมายให้คนที่จะตามไปภายหลังได้สังเกตและตามไปหาที่ไว้ศพได้ถูกต้อง เพราะในสมัยโบราณมักจะนำไปไว้ในป่าหรือป่าช้าที่ลึกมาก อยู่ไกลจากบ้านเกรงจะหลงกัน จึงขีดทางทำเครื่องหมายไว้

ฉ. ห้ามไม่ให้หามศพข้ามน้ำข้ามสวน การห้ามข้อนี้ไม่เกี่ยวกับลัทธิหรือศาสนาเลย แต่ที่โบราณเขาห้ามเนื่องจากเจ้าของนาหรือสวนรังเกียจในการที่นำศพผ่านเข้าไปในเขตที่ดินของเขา หรืออีกอย่างหนึ่งก็เกรงว่าจะไปเหยียบต้นข้าวและต้นไม้เขาตาย ครั้นนานเข้าไม่มีใครทราบความเดิมก็เลยถือเป็นประเพณีกันต่อๆ มา อีกอย่างหนึ่งศพก็ถือว่าเป็นอัปมงคล เมื่อผ่านเข้าไปในที่ดินของใครที่ดินนั้นก็จะพลอยเป็นอัปมงคลไปด้วย เขาจึงห้าม

ช. โปรยข้าวตอก เวลาที่หามศพไปตามทาง ต้องจัดให้มีคนโปรยข้าวตอกไปตลอดทางบางรายโปรยข้าวสารแทน ทั้งนี้เป็นปัญหาธรรมว่า ข้าวตอกไม่งอกได้ฉันใด ผู้ที่ตายแล้วก็คงฉันนั้น บางท่านอธิบายว่า ข้อนี้ถือเป็นเคล็ดเพื่อป้องกันมิให้ผีมารบกวนคนที่อยู่บ้าน

วันเผาศพ
การกำหนดวันเผาศพนั้นไม่เหมือนกับการกำหนดวันทำบุญอื่นๆ เพราะมีข้อห้ามไว้ว่าข้างขึ้น ห้ามเผาคู่ ข้างแรมห้ามเผาคี่ ถือเป็นอัปมงคล เรียกว่า “ผีเผาคน” ส่วนข้างขึ้นเผาคี่เรียกว่า “คนเผาผี” โบราณถือกันมาก การนับวันคู่และวันคี่ ให้นับดังนี้คือ ข้างขึ้น นับตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๕ ส่วนข้างแรมนับตั้ง แต่ ๑๖ ถึง ๓๐ ดังนั้น วันแรม ๑ คํ่า จึงเป็นเลข ๑๖ ถือเป็นวันคู่ วันแรม ๒ คํ่า เป็นเลข ๑๗ ถือเป็นวัน คี่ เพื่อให้จดจำได้ง่าย คนโบราณจึงพูดว่า “ข้างขึ้นเผาคี่- ข้างแรมเผาคู่”

การกำหนดวันเผาดังกล่าวข้างต้นนี้ อธิบายเป็นปัญหาธรรมว่า การที่เผาวันคี่ ก็เนื่องมาจากความตายเป็นของเฉพาะตัว ไม่มีใครจะมาตายแทนกันได้ จนมีคำพูดติดปากกันมาว่า “มาคนเดียวไปคนเดียว” ดังนี้เป็นต้น นอกจากการห้ามเผาวันคู่วันคี่แล้ว วันศุกร์ วันพฤหัสบดี และวันพระ โบราณก็ห้าม เพราะวันศุกร์เป็นวันมงคล ไม่ควรทำให้เป็นอวมงคล ถือว่า “เผาผีวันศุกร์ให้ทุกข์แก่ญาติ” ที่ถือเช่นนี้ท่านผู้รู้บางคนอธิบายว่า ในวันศุกร์สัปเหร่อคงจะหยุดงาน ถ้าจะเผาก็คงไม่มีใครทำหน้าที่ให้ จึงงด วันพฤหัสบดีโบราณถือเป็นวันครู ไม่ควรเผาศพ ส่วนวันพระ เป็นวันที่ต้องถือศีล ถ้าเผาในวันนั้นอาจทำให้สัตว์อื่นที่อยู่ในศพต้องพลอยถูกเผาเสียชีวิตไปด้วย ต่อมาในปัจจุบันไม่ค่อยถือกันแล้ว เพราะถือความสะดวกเป็นใหญ่ เผาวันไหนก็ได้ ขอให้สะดวกก็แล้วกัน อีกประการหนึ่ง วัดบางวัดหาวันว่างได้ยากจึงต้องเผาตามวันที่เจ้าภาพสะดวกที่สุด

เวียนศพก่อนเผา
ก่อนจะเผาศพ เรามักจะตั้งศพทำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนาก่อน โดยตั้งศพสวดพระอภิธรรม ๑ คืน รุ่งขึ้นในวันเผาจะมีเลี้ยงพระและเทศน์ เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีต่างๆ ทางศาสนาแล้วถึงเวลาเผา จะยกศพจากที่ตั้งบนศาลามาเวียนรอบเชิงตะกอน ๓ รอบ โดยเวียนไปทางซ้ายมีลูกหลานและญาติสนิทเท่านั้นที่เดินตามศพ แขกไม่จำเป็นต้องเดินตามด้วย เมื่อเวียนครบ ๓ รอบแล้วจึงยกขึ้นสู่เชิงตะกอน

การวนสามรอบนั้น เปรียบเหมือนทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือตกอยู่ในไตรวัฏฏ์ อันมีกรรม กิเลส และวิบาก ซึ่งเป็นเหตุและผลของกันและกัน มนุษย์เกิดมาแล้วย่อมมีกรรม คือ การกระทำ ได้แก่ ทำ พูด คิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม) ดี ชั่ว เป็นกิเลส สุขทุกข์ คือผลที่ได้รับเป็นวิบาก ถ้าทำดี พูดดี คิดดี ผลที่ได้รับคือความสุข ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ผลที่ได้รับคือความทุกข์ คนตายที่เรากำลังเดินตามการเวียนอยู่นั้น บางทีเราเรียกว่า สิ้นกรรม คือ หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิดแล้ว ส่วนคนที่ยังเดินตามศพยังต้องทำ ต้องพูด ต้องคิดต่อไป ฉะนั้นการเวียนศพสามรอบจึงหมายถึง กรรม กิเลส และวิบาก อันเป็นทางดำเนินชีวิตแห่งมนุษย์ที่เวียนวนไปไม่มีที่สิ้นสุด

ล้างหน้าศพ
เวลาก่อนที่จะเริ่มเผาศพ สัปเหร่อจะเอามะพร้าวมาผลหนึ่งกระเทาะเปลือกเตรียมไว้ พอถึงเวลาเผาจึงต่อยเอาน้ำมะพร้าวรดลงที่หน้าศพในโลง ส่วนเนื้อมะพร้าวนั้น โยนลงไปยังบริเวณใกล้ๆ เชิงตะกอนที่เผาศพ เล่ากันว่าใครได้กินจะแก้นอนกัดฟันได้ แท้จริงอย่างไรไม่ปรากฏ นํ้ามะพร้าวเป็นนํ้าที่สะอาดบริสุทธิ์ มีเครื่องห่อหุ้มหลายชั้น อธิบายปริศนาธรรมว่า สิ่งที่สะอาดเท่านั้นจึงจะกำจัดสิ่งที่โสโครกได้ เท่ากับเอากุศลกรรมล้างอกุศลกรรม สิ่งสกปรกจะล้างสิ่งสกปรกด้วยกันไม่ได้ฉันใดจะให้อกุศลกรรมล้างอกุศลกรรมย่อมไม่ได้ฉันนั้น

เดินสามหาบ
เมื่อเผาศพแล้ว รุ่งขึ้นเวลาเช้าจัดสามหาบไปยังที่เผาศพ สามหาบคือของถวายพระ ในหาบหนึ่งๆ มีหม้อข้าว หม้อแกง เชิงกราน (สมัยนี้ไม่มีจะเปลี่ยนเป็นอั้งโล่ก็ได้) ในหม้อบรรจุข้าวสาร, พริก, หอม, กระเทียม, กะปิ, กุ้งแห้ง ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องเสบียงกรังอยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง ส่วนสาแหรกอีกข้างหนึ่งมีอาหารคาวหวาน บรรจุเหมือนกันทั้งสามหาบ แล้วให้ลูกหลานหรือญาติ ๓ คน หาบคนละหาบ คนถือผ้าไตรอีก ๓ คน เดินนำหน้าหาบคนละไตร ครบ ๓ ไตร เดินเวียนกองฟอนทาง ซ้ายคนละ ๓ รอบ เวลาเดินให้กู่อย่างชาวสวนหรือชาวป่า กู่ว่า “วู้ๆ” คนละ ๓ ครั้ง คนข้างหน้ากู่ คนข้างหลังก็รับกู่กันทุกคน เดินเวียน ๓ รอบแล้วเจ้าพนักงานก็รับไปตั้งที่อาสนสงฆ์ แล้วเจ้าภาพเอาผ้าไตรไปทอดที่กองฟอน นิมนต์พระสงฆ์ ๓ รูป มาชักบังสุกุล เสร็จแล้วถวายของในหาบ พระสงฆ์สวด ยถาสัพพี เจ้าภาพกรวดนํ้าอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย ส่วนพิธีของหลวงการเดินสามหาบนั้น เมื่อเวียน ๓ รอบแล้ว นำสามหาบมาที่อาสนสงฆ์ นิมนต์ท่านฉันในที่นั้น เมื่อฉันเสร็จ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จการ ทำกันเป็น ๒ อย่างดังนี้ ส่วนที่ชาวบ้านทำกันมักถวายสามหาบให้พระไปฉันที่กุฏิ เวลาหาบไปกุฏิพระห้ามคนหาบเหลียวหลัง

ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าชาวบ้านคนใดมีประเพณีสามหาบ ที่มีอยู่บ้างก็เป็นพิธีของหลวง และใช้ปิ่นโตแทนสาแหรก สมัยก่อนเผาศพกันนอกเมือง พระสงฆ์ไปปลงอสุภ ชาวบ้านจึงนำของไปทำบุญถวายพระสงฆ์ในที่นั้น และที่กู่ก็เพื่อให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะหนทางเป็นป่ามองไม่ค่อยเห็นกัน จึงต้องกู่เรียกกันเพื่อไม่ให้หลงทาง

อธิบายปริศนาธรรมว่า การเดินรอบกองฟอน ๓ รอบนั้น เปรียบดังว่า ตราบใดที่คนเรายังไม่บรรลุถึงอมตธรรมแล้ว ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ส่วนการกู่เรียกว่า “วู้ๆ” นั้นแสดงว่า ไม่รู้ว่าผู้ตายไปเกิด ไปอยู่ ณ ที่ไหน จึงได้กู่เรียกให้รู้ว่าตนได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แล้ว

แปรรูปและเก็บอัฐิ
หลังจากที่เผาศพเสร็จแล้ว ในวันรุ่งขึ้นจะมีการแปรรูปอัฐิ คือ ครั้งแรกแต่งรูปกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าเป็นคนตาย แล้วนิมนต์พระมาชักบังสุกุลตาย เสร็จแล้วเกลี่ยกองกระดูก จัดทำรูปคนขึ้นใหม่แบบเดิม แต่ให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วนิมนต์พระชักบังสุกุลเป็นอีกครั้งหนึ่ง เจ้าภาพบางคนเอาแก้วแหวนเงินทองโปรยลงไปบนกองกระดูกแล้วประพรมด้วยนํ้าหอมก็มี แล้วจึงนิมนต์พระชักผ้าบังสุกุลเป็นอีกทีหนึ่ง

หลังจากที่พระบังสุกุลเสร็จแล้ว ก็เก็บกระดูกไปใส่ในโกศบูชาบ้าง นำไปบรรจุใส่ในเจดีย์บ้าง บางรายเจ้าภาพเอาส่วนที่เหลือจากที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ห่อผ้าขาวเอาไปลอยในน้ำที่จะพัดพาไปได้ เช่น ในทะเล เป็นต้น ตามแต่เจ้าภาพหรือลูกหลานจะตกลงกัน เมื่อบุตรธิดาหรือญาติมิตรมีความระลึกถึงจะได้ไปยังที่นั้น แล้วบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายตามความกตัญญูกตเวทีที่พึงกระทำกันมาเป็นเวลาช้านาน

ไว้ทุกข์
ประเพณีการไว้ทุกข์ปรากฏว่ามีทุกชาติทกภาษา แต่วิธีปฏิบัติแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละชาติ สำหรับการไว้ทุกข์ของคนไทยนั้น เริ่มไว้ทุกข์นับตั้งแต่วันตายเป็นต้นไป ญาติและผู้มาร่วมงานจะไว้ทุกข์ให้แก่ผู้ตาย เพื่อแสดงถึงความเศร้าโศกอาลัยรักผู้ที่จากไป ในสมัยโบราณสีผ้าที่ไว้ทุกข์ คือ สีขาว กล่าวกันว่า คงได้รับแบบอย่างมาจากจีน ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นสีดำ เพราะได้รับแบบอย่างมาจากประเทศตะวันตก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพิ่มสีไว้ทุกข์ขึ้นอีก คือ สิกุหร่า สีนกพิราบ และสีนํ้าเงิน เข้าใจว่าสีดังกล่าวนี้ไทยเราคงจะคิดขึ้นเอง การแต่งกายไว้ทุกข์ ในสมัยปัจจุบัน แต่งตามประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการไว้ทุกข์ในงานศพ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ กำหนดไว้ว่า
“(๑) ชาย
ก. แต่งเครื่องแบบ ให้ใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งดำ ขนาดกว้างระหว่าง ๑-๑๐ เซนติเมตร พันแขนซ้ายเบื้องบน
ข. แต่งกายสุภาพตามรัฐนิยม ให้ใช้เสื้อขาว กางเกงขายาวขาว (ถ้าเป็นคอแบะให้ใช้เสื้อเชิ้ตขาว ผ้าผูกคอดำเงื่อนกะลาสี) รองเท้าหนังดำ ถุงเท้าดำ และใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งดำขนาดกว้างระหว่าง ๑-๑0 เซนติเมตร พันแขนซ้ายเบื้องบน
(๒) หญิง แต่งกายสุภาพตามรัฐนิยม ให้ใช้เครื่องดำล้วน”

การกำหนดการไว้ทุกข์ของคนไทย นิยมไว้ทุกข์ ๑๕, ๕๐ และ ๑๐๐ วัน ไม่เกิน ๑ ปี แต่ถ้าหากเผาในระหว่างนี้ก็ออกทุกข์ได้ แต่คนไทยในชนบทส่วนมากไม่ไว้ทุกข์ เพราะถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือย

ทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วันศพ
ประเพณีการทำบุญเนื่องในงานศพ มีดังนี้
เมื่อจัดการนำศพลงหีบเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเป็นการทำบุญ ๗ วัน (สัตตมวาร) การทำบุญควรนิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์เย็น และถวายอาหารบิณฑบาตเช้า เช่น ถ้าผู้นั้นถึงแก่กรรมวันอาทิตย์ ควรนิมนต์พระมาสวดเย็นวันเสาร์ (ถ้าจะมีกงเต๊กก็เริ่มมีแต่วันเสาร์ด้วย) แล้วฉันเช้าหรือฉันเพลในวันอาทิตย์ หรือจะทำอย่างถวายสังฆทานก็ได้เมื่อพระฉันแล้วตอนบ่ายมีพระธรรมเทศนาตอนเย็นบังสุกุล ตอนคํ่ามีสวดพระอภิธรรม แต่การทำบุญเช่นนี้ไม่เหมาะสำหรับสมัยนี้ เพราะเปลืองทรัพย์และเหน็ดเหนื่อยมาก ผู้คนไม่สู้จะพรักพร้อมเหมือนแต่ก่อน จึงทำบุญแต่เพียงวันเดียวเป็นส่วนมาก ที่จริงการทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันตายเป็นของเกิดใหม่ เป็นประเพณีของจีนและญวน เพิ่งมีในรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการทำกงเต๊ก ครั้งงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ของเดิมของไทยเป็นการทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันปลงศพ เพราะแต่ก่อนเขาไม่นิยมเก็บศพไว้ในบ้านนานๆ โดยมากไม่เกิน ๓ วัน ถ้าเอาศพไว้ที่วัดก็มักทำบุญ ๗ วันที่วัด ถ้าเผาก่อน ๗ วันก็ทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันเผา ส่วนทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ไม่มี แต่คนไทยเอามาปนเข้ากับเรื่องทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันตาย ซึ่งเป็นคติของจีนและญวน

ตามประเพณีจีนและญวน ญาติของผู้ที่ถึงแก่กรรมจะทำบุญหน้าศพทุกวัน นับตั้งแต่วันที่ถึงแก่กรรมไปจนครบ ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้ว ต่อไปจะทำบุญ ๗ วันครั้งหนึ่งไปอีก ๗ ครั้ง ครบ ๕๐ วัน แล้วหยุดงานพิธีไปจนถึงทำบุญร้อยวัน เหตุที่จีนและญวนทำบุญอุทิศให้ผู้ตายทุกวันทุกระยะเช่นนี้ถือว่า เป็นการช่วยอุดหนุนจุนเจือบุญให้แก่ผู้ตาย จึงเป็นต้นแบบที่ทำบุญหน้าศพ ซึ่งเรียกว่า สัตตมวาร ปัญญาสมวาร และศตมวาร คือทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน

การทำบุญ ๕๐ วัน ทำเมื่อครบ ๗ ของ ๗ คือ ๔๙ วัน ต้องทำบุญให้ตรงกับวันที่ถึงแก่กรรม เหมือนเมื่อทำบุญ ๗ วัน จึงจะนับว่าเป็นการทำบุญ ๕๐ วัน คือ ถึงแก่กรรมวันอะไร ก็เลี้ยงพระในวันนั้น เช่น ถึงแก่กรรมวันอาทิตย์ก็ทำบุญเลี้ยงพระให้ตรงกับวันอาทิตย์ การทำบุญมีสวดมนต์เย็น ฉันเช้า มีเทศน์บังสุกุล และสวดพระอภิธรรม นอกจากงานเลี้ยงพระแล้ว จะตัดงานอื่นให้ย่นย่อตามกำลังทรัพย์ กำลังคนก็แล้วแต่เจ้าภาพจะพิจารณาตามสมควร

การทำบุญ ๑๐๐ วัน นับตั้งแต่วันถึงแก่กรรม เป็นการทำบุญคล้าย ๗ วัน และ ๕๐ วัน แต่มักจะทำเป็นงานใหญ่กว่า บางรายกำหนดปลงศพในวันครบ ๑๐๐ วัน หรือจะปลงศพก่อน ๑๐๐ วันก็เพราะเมื่อเสร็จการปลงศพแล้ว จะได้ทำบุญอัฐิในการทำบุญ ๗ วัน ภายหลังปลงศพรวมกับการทำบุญ ๑๐๐ วัน เป็นงานเดียวกัน ถ้ายังไม่ทำการปลงศพ ก็ต้องทำบุญ ๑๐๐ วันก่อนแล้วจึงปลงศพ

ที่มา:กรมศิลปากร

การทำบุญตักบาตร

การทำบุญตักบาตรถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของไทย อาจทำเป็นประจำทุกวัน ทำเป็นบางครั้งบางคราว หรือทำในโอกาสวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา สารท วันขึ้นปีใหม่ หรืออาจทำในกรณีพิเศษ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น ตักบาตร ทำบุญตักบาตรคือ การนำข้าวและกับใส่ในบาตรและพระสงฆ์หรือสามเณร มักนิยมมีทั้งของคาวของหวานคู่กันไปด้วย บางคนก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนด้วย

การทำบุญตักบาตรไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์แต่อย่างใด ทำตามความสมัครใจ ตามกำลังศรัทธา ตลอดจนตามฐานะและกำลังทรัพย์ โดยไม่เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ ของที่ตักบาตรไม่จำเป็นต้องมีมากมายจนเกินกำลังความสามารถของตน ของที่นำมามักจะเป็นของที่เราเตรียมไว้สำหรับรับประทานอยู่แล้ว และแบ่งเอามาใส่บาตร แต่ต้องมีคุณภาพดีและเป็นส่วนที่ดี เช่น ข้าว ก็ควรเป็นข้าวปากหม้อ กับข้าวก็ควรตักแบ่งไว้ก่อน นอกจากนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องใส่บาตรกับพระสงฆ์สามเณรให้มากรูป ใส่เพียง ๑ รูป หรือมากกว่านี้แล้วแต่กำลังทรัพย์และความศรัทธา การทำบุญตักบาตรไม่ควร เฉพาะเจาะจงจะใส่บาตรพระรูปนั้นรูปนี้ เมื่อพระภิกษุรูปใดผ่านมาก็ตั้งใจใส่บาตรแก่พระภิกษุรูปนั้น และรูปอื่นๆ ต่อไป

การทำบุญตักบาตรมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มูลเหตุของการตักบาตรมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัยและคัมภีร์ปฐมสมโพธิว่า

เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ไต้ตรัสรู้ เสด็จประทับอยู่ที่สวนมะม่วง ตำบลอนุปิยะ หรือที่เรียกกันว่า อนุปิยอัมพวัน แคว้นมคธ ชั่วเวลา ๗ วัน พระพุทธองค์เสด็จจาริกภิกขาจาร (บิณฑบาต) ผ่านกรุงราชคฤห์ ราชธานีของพระเจ้าพิมพิสาร ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตครั้งแรกก็พากันนำอาหารมาใส่บาตรเป็นอันมาก นับแต่นั้นจึงถือเป็นธรรมเนียมต่อมา อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด (ราชายตนะ) มีพ่อค้า ๒ นายชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร ซึ่งเป็นมูลเหตุการตักบาตรอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อจะใส่บาตรนิยมตั้งจิตอธิษฐานก่อน โดยถือขันข้าวด้วยมือทั้งสอง นั่งกระหย่งยกขันข้าวขึ้น เสมอหน้าผาก กล่าวคำอธิษฐานว่า “สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ” แปลว่า “ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสฯ” ในครั้งโบราณมักเติมคำว่า “นิพพานะปัจจะโย โหตุ” ต่อท้าย แปลว่า ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ลุกขึ้นยืน มือซ้ายถือขันข้าว มือขวาจับทัพพี (หรือตามถนัด) ตักข้าวให้เต็มทัพพี บรรจงใส่ให้ตรงบาตร ส่วนกับข้าวนั้นบางคนก็ใส่ไปในบาตรด้วย (ส่วนมากเป็นของแห้ง และบรรจุไว้เรียบร้อยแล้ว) บางคนก็วางบนฝาบาตร และลูกศิษย์ก็จะหยิบใส่ย่ามหรือใส่ปิ่นโตต่อไป ถ้ามีดอกไม้ ธูป เทียน ผู้ชายนิยมส่งดอกไม้ธูปเทียนถวายกับมือพระ ผู้หญิงวางบนฝาบาตร

เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว ถ้ามีโต๊ะรองอาหาร หรือมีรถยนตร์จอดอยู่นิยมวางขันข้าวบนโต๊ะหรือรถยนตร์ ยืนตรงน้อมตัวไหว้ ถ้าไม่มีโต๊ะ นิยมนั่งกระหย่งวางขันข้าวข้างตัว ยกมือไหว้ พร้อมทั้งควรกล่าวคำอธิษฐานว่า
นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ฯ
(สรณะอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อเทอญ)

แม้การใส่บาตรพระรูปต่อๆ ไป ก็นิยมปฏิบัติในการใส่บาตรและแสดงความเคารพด้วยการไหว้ดังกล่าวแล้วทุกครั้ง จนสิ้นสุดการใส่บาตร
มีข้อสังเกตว่า วิธีการใส่บาตรนี้ ผู้ใส่ต้องยืนใส่บาตรและแสดงอาการคารวะต่อพระสงฆ์สามเณร ไม่นิยมสวมรองเท้าใส่บาตร ยกเว้นผู้ที่สวมรองเท้าชนิดหุ้มส้นที่เป็นที่ยอมรับในวงสังคมว่าสุภาพเรียบร้อยอยู่แล้ว การแต่งกายควรแต่งให้เรียบร้อยและสุภาพ การที่นิยมยืนใส่บาตรนั้น เพราะพระสงฆ์ท่านยืนรับ และการจะให้ท่านน้อมตัวลงรับบาตร (ในกรณีที่นั่งใส่บาตร) จะไม่เป็นการสุภาพและไม่สะดวกกับพระท่านเอง อีกประการหนึ่ง มีข้อบัญญัติไว้ในระเบียบวินัยของพระภิกษุว่า กิริยายืนนี้เป็นการแสดงความเคารพกัน เช่น พระภิกษุผู้น้อยย่อมยืนรับพระเถระผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความคารวะ ถ้าภิกษุยืนรับบาตร และผู้ใส่บาตรนั่งใส่เท่ากับภิกษุแสดงอาการคารวะต่อผู้ใส่ ดูไม่งามและไม่เหมาะสมนัก ยกเว้นผู้มีโรคภัยบางอย่างที่ไม่สามารถยืนใส่บาตรได้ อาจนั่งใส่บาตรได้ และการที่สมควรถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร เพราะพระสงฆ์ (บางองค์) ไม่ได้ใส่รองเท้าอยู่แล้ว และยังมีบัญญัติไว้ในระเบียบวินัยของสงฆ์อีกว่า ผู้อ่อนพรรษากว่าไม่ควรสวมรองเท้าเข้าใกล้พระเถระผู้มิได้สวม

ข้อควรระวังในการใส่บาตร คือพยายามอย่าให้เมล็ดข้าวหล่นออกมานอกบาตร อย่าใช้ทัพพีเคาะขอบบาตร อย่าแสดงอาการตระหนี่กลัวข้าวสุกจะหมดเวลาตัก อย่าชวนพระสนทนา อย่าถามพระหลังจากใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้วนิยมกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุคลไปให้แก่บรรพบุรุษด้วย ชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนานิยมใส่บาตรเป็นประเพณีสืบมา และสมควรที่จะช่วยกันรักษาประเพณีนี้สืบไป เพราะพระสงฆ์สามเณรท่านดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการที่ผู้อื่นนำปัจจัย ๔ มาถวายคำว่า ภิกขุ แปลว่า ผู้ขอ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร และพระสงฆ์ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรอยู่แล้ว นอกจากนี้พระสงฆ์ยังเป็นผู้สั่งสอนและดำรงหลักธรรมคำสอนแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชาวพุทธจึงควรใส่บาตรเพื่อบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่ต่อไป

การทำบุญนั้น ถือหลักว่า ผู้ทำควรทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ปัจจัยที่ถวายควรบริสุทธิ์ และภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์ ถือว่าได้ผลานิสงส์มาก เชื่อกันว่าการทำบุญจะส่งผลให้มีความสุขความเจริญรุ่ง เรืองในภายหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลในด้านจิตใจขณะที่ทำอยู่ด้วย นับได้ว่าให้ประโยชน์ทั้งตัวผู้ใส่ พระสงฆ์ และพระพุทธศาสนา

ที่มา:กรมศิลปากร

พิธีอุปสมบท

การบวชพระที่เรียกว่า อุปสมบท นั้น เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนมานานแล้ว ถือกันเคร่งครัดมาก ตามประเพณีของชาวไทยเรากำหนดว่าชายไทยที่มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปนั้นควรอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ที่ต้องกำหนดอายุเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะและเป็นผู้ใหญ่มีใจคอหนักแน่น อดทนต่อความหิวอุปสมบทกระหายได้ และเห็นประโยชน์แห่งการบวช ซึ่งเดิมก็เพื่อจะทำตนให้ปราศจาก กังวลห่วงใยให้พ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุก่อทกุข์ และปฏิบัติเพื่อสุขประโยชน์แห่งผู้อื่นได้เต็มที่ แต่ต่อมาก็มีธรรมเนียมว่า ถ้าได้บวชเรียนแล้วจึงจะยินดีในการมีครอบครัวครองเหย้าเรือน ผู้ใหญ่ในตระกูลจึงจัด ให้บวชบ้าง ตัวสมัครบวชเองบ้าง

ก่อนบวชนั้นต้องมีการเตรียมตัว กล่าวคือ

๑. การบวชประมาณ ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน ต้องนำลูกหลานที่จะบวชไปฝากอยู่กับพระเพื่อศึกษาเล่าเรียนขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ให้เรียบร้อยก่อนจะถึงวันบวช

๒. เตรียมเครื่องอัฏฐบริขาร ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็ม รัดประคด หม้อกรองนํ้า รวม ๘ อย่างไว้ให้ครบ

๓. เตรียมเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นบางอย่างสำหรับผู้บวช เช่น เสื่อ หมอน ขันนํ้า ชามข้าว ฯลฯ เพราะเท่ากับแยกครัวไปอยู่อีกแผนกหนึ่ง

๔. จัดเครื่องสักการะ ซึ่งได้แก่ดอกไม้ ธูป เทียน ไว้ ๓ ชุด สำหรับการแสดงความเคารพต่อพระอุปัชฌายาจารย์และพระอันดับ เวลาขอเข้าบรรพซาอุปสมบทชุดหนึ่ง เวลาขอไตรสรณคมน์และศีลชุดหนึ่ง เวลาเข้าขอนิสัยอีกชุดหนึ่ง สำหรับชุดสุดท้ายนี้เรียกว่าธูปเทียนขอนิสัย โดยมากทำเป็นพิเศษ เป็นกระทงและมีกรวยครอบ เรียกว่า กรวยพระอุปัชฌาย์ ภายในกระทงนั้นใส่หมากบ้าง เมี่ยงบ้าง ดอกไม้บ้าง ตามความนิยมในท้องถิ่นนั้นๆ

เมื่อใกล้จะถึงวันบวช มีธรรมเนียมว่า ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปกราบไหว้ขออโหสิกรรมแก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ฯลฯ

ก่อนจะบวชหนึ่งวัน เรียกว่าวันสุกดิบหรือวันเป็นนาค มักมีการสวดฺมนต์เพื่อฉลองนาค ฉลองผ้าไตร และทำขวัญเย็นหรือคํ่า หรือทำขวัญเช้าแล้วบวชเลยก็ได้ การทำขวัญนาคก็เพื่อปลุกปลอบใจนาค  และเจ้าภาพให้ชื่นบาน ทั้งเป็นการซ้อมความเข้าใจกับนาคว่า การบวชมีประโยชน์อย่างไรบ้าง และเมื่อบวชแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร เท่ากับเป็นการนำทางให้นาครู้เพื่อจะได้เลือกเดินไว้เป็นเบื้องต้น

ผู้ที่จะเป็นนาค ต้องโกนผม คิ้ว หนวด แต่งตัวตามธรรมเนียมไทย เช่น นุ่งเยียรบับ สวมเสื้อครุย ฯลฯ แล้วเข้าไปนั่งในที่สำหรับทำพิธีทำขวัญ ซึ่งจะมีบายศรี แว่นเวียนเทียน บาตร ผ้าไตร (การแต่งผ้าไตรนั้นมีดอกไม้สดร้อยผูกโครงไม้ตามรูปผ้าไตร มีอุบะห้อยรอบคลุมผ้าไตรอยู่) และบริขารต่างๆ

ในระหว่างพิธีนี้ บรรดาญาติผู้ใหญ่ แขกเหรื่อมิตรสหายจะมาร่วมชุมนุมอนุโมทนาด้วยอย่างคับคั่ง นั่งรายรอบนาคผู้จะบวช หมอทำขวัญก็จะเริ่มพิธีทำขวัญนาค ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการทำขวัญนาค เชลยศักดิ์เพียงเล็กน้อยดังนี้

ทำขวัญนาคเชลยศักดิ์
ท่านวัดถนนแต่ง
“(ลา ๑)
๏โย พุทฺโธ อันว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์อันทรงพระคุณสามสิบประการ พระคุณนามเบื้องต้นเป็นประธานคือ พระอรหัง สนฺนิสินฺโน พระองค์ทรงสถิตนั่งเหนือรัตนบัลลังก์อันวิจิตร อันเกิดกับบุญฤทธิ์บารมี วรโพธิมเล ในควงไม้ศรีมหาโพธิพฤกษมณฑล มารํ สเสนํ ยังพระยามาร แลพวกพลมารให้แพ้พ่ายหน่ายหนี ด้วยพระสมติงศบารมีที่สร้างสมพระองค์ใด ตํ ปณมามิ พุทฺธํ ข้าขอน้อมเศียรศิโรตม์ไหว้วันทนียบูชา ด้วยกายวาจามโนจำนงพระองค์นั้น อยํ ธมฺโม อนึ่งพระนวโลกุตรธรรมเจ้าเก้าประการ สิบทั้งพระปริยัติเป็นปริโยสานอย่างยิ่ง นิยฺยานิโก จะนำสรรพมนุษย์ ชายหญิงให้เสวยสุข ดับชาติชราพยาธิมรณทุกข์ให้สิ้นโศก เข้าสู่ศิวังคะปาโมกข์วิมานเมือง ตํ ปณมามิ ธมฺมิ ข้าขอถวายทศนัขประนมเนื่องน้อมเศียร ต่างสุวรรณบุษบงประจงเจียนแจ่มจำรัส สํโฆ อนึ่ง อัษฎางคอริยสงฆ์บรรพษัทสาวกเวไนย วิสุทฺโธ ทรงศีลผ่องใสวิสุทธิเสวก สนฺตินฺทฺริโย สำรวมอินทรีย์ เอี่ยมเอกสงบงาม ย่อมประพฤติต้องตามพุทธบัญญัติ วรทกฺขิเณยฺโย ควรจะนำมาซึ่งศรัทธาโสมนัส สนองผล แห่งอมรเมืองบนแลมนุษย์ ตํ ปณมามิ สํฆํ ข้าขอน้อมกายมนินทรียอิทธิอุทิศถวายกายบูชา เป็นข้าในพระไตรรัตน์ ด้วยเดชะความสัตย์ที่ถือมั่น จงมาคุ้มครองป้องกันสรรพภัยจัญไรรอน ขจัดเสีย ซึ่งอกุศลนิวรณ์ห้ามมรรคผล ข้าพเจ้าจะขอกล่าวสารพุทธภาษิตมงคล แก่พ่อนาคผู้แสวงผลในบรรพชา ขอพระเดชพระคุณจงตกแต่งซึ่งวาจาข้าพเจ้าให้ประสิทธิ์ จะอวยสรรพพรอุทิศประการใดสิ้น เหมือนโอษฐ์องค์อมรินทร์โกสีย์ ประสิทธิ์พระพรให้พระผุสดีจอมนาง พระพรนั้นไม่เสื่อมสร่างสูญหาย ข้าพเจ้าจะอวยพรทั้งหลาย ขอให้เหมือนฉะนั้น แล้วจะขออัญเชิญเทพเทวัญทุกขั้นฟ้า มีพระอิศวรเจ้าโลกาเป็นประธาน ทรงโคอุศุภราชเป็นพระยานอย่างยิ่ง เชิญพระขันธกุมารมิ่งโอรสราช ทรงมยุรเป็นพาหนะอาสน์อุดมดี เชิญพระบรมจักรกฤษณ์ฤทธิเรืองศรี ทรงครุฑโบกบินเวหาเหิน ไม่มีผู้จะล่วงเกิน ประมาทหมิ่น เชิญองค์อมรินทร์เจ้าเวชยันต์ พระเวศุกรรมกับพระมาตลี เทพยเจ้าในจักรราศีทุกแหล่งหล้า พระอาทิตย์เทวาอันเรืองเดช อันทรงยานรัตนประเวศเที่ยวเวียนวง ขอเชิญมาช่วยชูดำรงเป็นพิธีกรรม มารับเอาอานิสงส์ในบรรพชากรรมที่เกิดผล ให้เจริญทิพยโสภณพูลสวัสดิ์ แล้วจงมีจิตโสมนัสศรัทธาด้วยช่วยแนะนำนิเทศ ขอมอบเครื่องกุศลเหตุแก่หมู่ญาติของพ่อนาค ซึ่งล้มตายหายจากไปทนทุกข์ ให้ได้เสวยทิพยสุขบำบัดบาป ด้วยส่วนกุศลผลลาภที่อนุโมทนา……”

เมื่อถึงวันบวช ผู้บวรระต้องไปให้ถึงวัดตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้กับพระอุปัชฌาย์ การแห่นาคไปวัดเป็นเครื่องหมายให้สาธุชนทั้งหลายทราบว่า ลูกหลานของเขาบวชวันนี้ บรรดาญาติมิตรจะมาร่วมเข้าพิธีแห่อย่างปิติยินดีและเต็มใจ ขบวนแห่ก็จะจัดกันอย่างเต็มศรัทธา เต็มความสามารถสมแก่ฐานะของเจ้าภาพและของนาคนั้นๆ เมื่อแห่ไปถึงวัดแล้ว ตามธรรมเนียมต้องแห่เวียนโบสถ์อีก ๓ รอบ เรียกว่า ทำทักษิณาวรรต คือเวียนขวา เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าที่ประทับเป็นประธานอยู่ในอุโบสถ

ก่อนจะเข้าภายในอุโบสถ ต้องจุดธุปเทียนบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงความเคารพหน้าโบสถ์เสียก่อน ธรรมเนียมกราบพระจะต้องให้ตรงหน้าพระเสมอ แต่ที่ตรงหน้าพระนั้นมีเสมาตั้งอยู่หน้าโบสถ์จึงต้องกราบไหว้บูชาตรงเสมา เลยนิยมเรียกขานกันว่า “วันทาเสมา” แท้จริงเป็นการกราบไหว้พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นประธานในโบสถ์นั่นเอง

ตอนจะเข้าโบสถ์นี้ถือกันเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งว่า ญาติจูงนาคเข้าไป เรียกว่า จูงนาคเขาโบสถ์ (ถ้าพ่อแม่จูง แม่ต้องอยู่ขวา พ่ออยู่ซ้าย) มีความหมายว่า ยกลูกหลานเข้าไปมอบถวายพระรัตนตรัยด้วยความศรัทธา อีกนัยหนึ่งว่า นาคจูงญาติเข้าโบสถ์เพื่อให้ได้ถึงพระ ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ความปรารถนาของเจ้าภาพ

เมื่อนาคเข้าโบสถ์เรียบร้อยแล้ว ต้องจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยอีกวาระหนึ่ง แล้วกราบบิดา มารดาหรือเจ้าภาพเป็นการกราบครั้งสุดท้าย รับผ้าไตรจากบิดามารดาหรือเจ้าภาพ นาคอุ้มไตรประนมมือเดินเข่าเข้าไปนั่งท่ามกลางสงฆ์ เพื่อขอบรรพชาต่อพระอุปัชฌาย์ ตอนนี้จะเป็นพิธีทางศาสนา เช่น การสวด ขานนาคต่างๆ ตามที่ได้เตรียมฝึกซ้อมไว้แล้วเป็นลำดับๆ ไปจนสิ้นอุปสัมปทากรรม แล้วพระอุปัชฌาย์จะบอก ‘‘อนุศาสน์” คือสอนพระบวชใหม่ให้รู้ว่าเมื่อบวชเป็นพระแล้วควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร อันเป็นกิจเบื้องต้น

ตอนนี้ ญาติโยมเตรียมถวายเครื่องสักการะแก่พระอุปัชฌายะ พระกรรมวาจาจารย์ซึ่งเรียกว่า คู่สวด และพระอันดับ สำหรับพระบวชใหม่ก็ออกไปรับเครื่องสักการะที่บรรดาญาติมิตรนำมาถวาย เสร็จเรียบร้อยแล้วกลับเข้าไปนั่งที่ท้ายพระอันดับ ขณะที่สงฆ์สวดอนุโมทนาและให้พร พระบวชใหม่ก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลในการบวชให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วตามประเพณี เมื่อรินน้ำหมดแล้วก็ประนมมือรับพรจนกว่าจะสวดจบเป็นเสร็จพิธี

จากนั้น บางรายก็มีการฉลองพระบวชใหม่ บางรายก็ไม่มี ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ การบวชในบวรพุทธศาสนาของชาวไทยเรา ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณกาลและตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนมากนิยมบวชกันเป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งเรียกว้า ๑ พรรษา คือเริ่มระยะตั้งแต่กลางเดือน ๘ จนถึงกลางเดือน ๑๑ เมื่อบวชแล้วก็รับองค์กฐินด้วย ซึ่งนับว่าได้ผลานิสงส์สูงมาก การบวชอย่างอื่นๆ เช่น บวชสะเดาะเคราะห์ บวชแก้บน บวชให้คนตาย ฯลฯ จะบวชกี่วันก็ได้ไม่กำหนด

แต่อย่างไรก็ตาม การบวชพระจะตัดพิธีต่างๆ ของชาวบ้านออก ทำแต่เพียงพิธีทางศาสนาที่มีไว้ในวินัยบัญญัติเท่านั้น ไม่ต้องมีการแห่นาค ทำขวัญนาค และทักษิณาวัฏรอบโบสถ์ก็ได้

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีเนื่องในการเกิดและเลี้ยงลูก

ถ้าประเพณีหมายถึงแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อๆ มาอย่างไม่ขาดตอน ประเพณีก็ต้องมีเหตุมีผลอยู่ในตัวเองแล้ว จึงทำให้ประเพณียังคงเป็นประเพณีอยู่จนทุกวันนี้ ประเพณีเนื่องในการเกิดก็เช่นเดียวกัน ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องมีประเพณีนี้เกิดขึ้นเล่า การคลอดลูกสำหรับการจะตอบปัญหาให้เห็นกันชัดๆ นั้น มีหนทางกระทำได้อยู่ทางเดียวเท่านั้น คือการเดา หรือจะกล่าวให้เป็นศิลปและศาสตร์ก็ต้องว่าคาดคะเน สันนิษฐาน หรือสมมุติฐาน ในที่นี้จะขอชี้เหตุอันจะเป็นผลต่อไปไว้สัก ๓ ประการ

ประการที่ ๑ เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจจะเกิดแก่หญิงมีครรภ์

ประการที่ ๒ เพื่อให้คลอดง่าย ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ให้กำเนิดทารก

ประการที่ ๓ เพื่อคุ้มครองปกป้องเด็กทารกที่คลอด ให้มีชีวิตรอดอยู่เป็นผู้เป็นคนต่อไป

เหตุทั้ง ๓ ประการนี้ ก็มีเค้าเงื่อนมาจากความเชื่อทางลัทธิและศาสนา ซึ่งถ้าได้สืบสาวราวเรื่องของลัทธิความเชื่อจะเห็นได้ว่าความเชื่อดังกล่าวซึ่งมีต้นเค้ามาจากความไม่รู้นั่นเองเป็นเบื้องแรก ขั้นต่อมาก็เป็นความกลัว ขณะเดียวกันถ้ามีสถานการณ์อื่นๆ เข้ามาสอดแทรกหรือส่งเสริมขึ้นอีกความกลัวจะพัฒนาไปสู่การดิ้นรนเพื่อความปลอดภัยตามวิสัยของผู้ที่รักชีวิต จึงทำให้เกิดการแสวงหาที่พึ่งที่ยึดถือขึ้น ตอนนี้เองการบนบานสานกล่าว การวิงวอนขอพร ขอความคุ้มครองก็ตามมา จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ที่มีจิตใจกล้าแข็ง มีความคิดสุขุมลึกซึ้งกระทำตัวเป็นผู้ชี้แนะ ซึ่งจะเป็นหมอผีหรือเป็นศาสดาก็ตามที ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันและกัน ถ้าการชี้แนะนั้นเป็นผลก็เลื่องลืออื้ออึงกันไป ความเชื่อถือก็เกิดขึ้นแผ่ขยายไปไกลแบบตื่นข่าวตื่นมงคล เปรียบเหมือนว่าการกระทำใดๆ ให้แพร่ไปยังชนหมู่มากก็ย่อมได้ผลบ้าง เสียผลบ้าง แต่ก็ธรรมดาอีกนั่นแหละที่คนเราย่อมมีทั้งจำได้กับลืมง่าย สลับกันไป เมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน สิ่งเก่าๆ ก็ยกเลิกไป ส่วนที่ยังเป็นความรู้พอใช้ประโยชน์ได้ก็คงจะตกค้างอยู่ เพราะมีผู้นำไปใช้แพร่หลายกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อปฏิสนธิถือกำเนิดนี้ เมื่อเริ่มต้นก็เริ่มด้วยความรื่นรมย์ จึงทำให้ผู้คนลืมนึกกันไปถึงเรื่องความเจ็บปวด ความทุรนทุราย หรือแม้แต่ความไม่ปลอดภัยในภายหลังอันจะเกิดแก่ผู้ให้กำเนิด

ดังนั้น เพียงชั่วเวลาไม่นานนัก ความรู้แขนงนี้จึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู และยังคงมีอยู่สืบทอดกันต่อไป จนกลายเป็นประเพณีในที่สุด

ประเพณีเนื่องในการเกิดย่อมผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ทั้งยังมีอุปสรรคอื่นๆ อีกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้ประเพณีเหล่านี้ไม่เหมือนกัน อุปสรรคนั้นๆ ได้แก่การคมนาคม การสื่อสาร ความใกล้ไกล ศูนย์อิทธิพล ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญของประเพณีนี้ก็หนีไม่พ้นข้อห้ามที่กำหนดให้ละเว้นกับข้อพึงปฏิบัติที่ต้องกระทำอย่างเพิกเฉยไม่ได้เลย ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงสังเขปเท่านั้น

ตามธรรมดาแล้ว ครอบครัวอันประกอบด้วยคู่ผัวตัวเมีย ย่อมจะก่อให้เกิดบุตรธิดาเป็นการสืบพันธุ์ของมนุษยชาติไม่ให้เสื่อมสูญ และเมื่อก่อนจะตั้งครรภ์ ก็มักจะมีอาการต่างๆ มาเตือน เช่น ฝันอย่าง แปลก หญิงมีอาการแพ้ท้อง อยากกินของเปรี้ยว หรือมีความอยากอาหารที่ผิดธรรมชาติ จนมีคำกล่าวเป็นคติไว้ว่า ถ้ามารดาอยากกินเนื้อสัตว์ของสดคาว ผู้มาเกิดมาจากสัตว์นรก อยากกินนํ้าผึ้งนํ้าหวาน เทวดามาจุติ อยากกินดิน พรหมมาเกิด อยากกินของเผ็ดร้อน มนุษย์ด้วยกันมาเกิด อยากกินผลไม้ เดียรัจฉานมาเกิด และเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์ไปแล้ว มารดาผู้ให้กำเนิดมักจะเล่าสู่กันฟังเมื่อกล่าวพาด พิงถึงเลือดเนื้อเชื้อไขอันเป็นประสบการณ์ของตน และกล่าวอย่างสนุกสนานทีเดียว ถึงแม้ขณะนี้ก็ยังเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่า “เมื่อฉันท้องเจ้า…แหมมันอยากกินไก่ อยากจนไม่รู้จะทำอะไรถูก เรียกว่าพอ
ได้ยินไก่ขันเอ้กละแกเอ๋ย ฉันงี้นํ้าลายสอเลย….” และยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมาย บางทีอาการอย่างนี้ไม่เกิดแก่ผู้หญิงคนใดแต่ไปเกิดกับฝ่ายผู้ชายซึ่งเป็นสามี เช่นมีอาการปวดเมื่อยแข้งขา กล่าวกันว่าเด็กมันมาเกาะจะขอไปเกิดเป็นลูก เลยแพ้ท้องแทนเมีย

ทีนี้พอรู้ตัวว่ามีครรภ์เท่านั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ก็บอกกล่าวสั่งการกันยกใหญ่ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและข้อปฏิบัติ เช่นว่า อย่าไปข้ามเชือกผูกม้า (สายบังเหียน) เดี๋ยวจะท้องเกินกำหนด ซึ่งปกติคนท้องเก้าเดือน หรือในวรรณคดีต่างๆ ของไทยจะเกินไปอีกเดือนก็พออนุโลมตามได้ว่าท้องปกติ ห้ามไปงานศพเพราะวิญญาณผู้ตายจะเข้ามาซ้อนวิญญาณของเด็กในท้อง แต่ถ้าจำเป็นต้องไปจริงๆ ก็เอาเข็ม หรือเข็มกลัด กลัดชายพกหรือชายเสื้อเอาไว้ ห้ามไปเยี่ยมหน้าดูเขาคลอดลูก เพราะเด็กมันอายกันไม่กล้าออกมา ทำให้คนที่กำลังจะคลอดลูกคลอดไม่ออก อย่าไปฟังพระสวดญัตติ จะคลอดลูกยาก อย่าไปฟังสวดภาณยักษ์ จะแท้งลูก อย่านั่งนอนคาประตู จะออกลูกยาก อย่ายืนรีรอตามขั้นบันได นี่ก็คลอดยากเหมือนกัน ห้ามเย็บปากที่นอนซึ่งยัดนุ่นไว้แล้ว ห้ามตอกตรึงตะปูหรือหมุด และเวลาท้องแก่อย่าไปนั่งนอนโคนไผ่ ประเดี๋ยวใบไผ่ปลิวมาถูกท้อง ท้องจะแตกตายเสียเปล่า อย่าอาบนํ้าตอนตะวันชิงพลบ ถ้าดึกก็ดึกเสียเลยจึงค่อยอาบ เวลาจะอาบก็จุดเทียนกลั้นใจจุ่มนํ้าเสียก่อน มิฉะนั้นจะแฝดนํ้า เวลามีจันทรคราสหรือสุริยคราสอย่าไปยืนดู ประเดี๋ยวเด็กออกมาปากแหว่งหูแหว่ง ฯลฯ ที่ว่านี้เป็นข้อห้าม ซึ่งผู้มีอาวุโสมักจะบอกกล่าวแก่คนที่มีครรภ์

ส่วนที่แนะนำให้ปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์ ก็มีอยู่หลายประการ เช่นว่า “นี่แน่ะ ตะกรุดหลวงพ่อ…คล้องเอาไว้” หรือจะเอาพิสมรก็ดี เรียกว่าไปเที่ยวเสาะแสวงหากันมาให้สวมใส่ไม่ว่าจะเครื่องรางหรือของขลัง อย่างไหนใครว่าดีนำกันมาคล้อง นอกจากนี้ก็มีการแนะนำให้ทำงานออกกำลังให้ท้องหลวมจะได้คลอดง่าย แนะให้นอนตะแคงอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะคลอด ให้ดื่มนํ้ามะพร้าวอ่อน ให้เอาดอกบัวบูชา พระมาต้มกิน ได้ดอกบัวที่นาคถือเข้าโบสถ์ตอนอุปสมบทยิ่งดีจะทำให้คลอดง่าย เด็กจะมีผิวพรรณผุดผ่อง กินกล้วยเสกที่พระอาจารย์ปลุกเสกให้ หรือไปลอดท้องช้างบ้าง ให้หมอตำแยมาโกยท้องก็ได้(บาง ตำราว่าฝืนท้องไม่ให้เด็กดํ่าลงตํ่า) บางคนลองเสี่ยงทายดูว่าลูกจะเป็นหญิงหรือชาย ก็ไปเด็ดใบไม้ดอกไม้มาดู ถ้าเด็ดดอกไม้ก็เป็นหญิง เด็ดใบไม้ก็เป็นชาย หรือจะลองให้เด็กเล็กเหยียบท้องดูก็ได้ ถ้าเป็นเด็กต่างเพศกัน เด็กจะเหยียบด้วยเท้าข้างเดียว เพราะว่าเด็กมันเกรงกัน จะลองดูสะดือควํ่าหงายก็ไม่ยาก สะดือควํ่าก็ผู้ชาย สะดือหงายก็ผู้หญิง เรื่องการทำนายทายทักเพศของทารก บางทีก็ดูเอาจากหน้าตาผิวพรรณของผู้จะเป็นแม่ เช่น หน้าตาสดสวยมีน้ำนวลขึ้นก็ว่าลูกเป็นหญิง ถ้าหน้าตาดูไม่ได้ มีฝ้าจับหน้าเขรอะ ว่าลูกเป็นชาย อย่างนี้เป็นต้น บ้างก็หายาทาท้องเอาไว้ท้องจะได้ไม่คราก (น้ำปูนใส ใส่ฝาละมีฝนด้วยเปลือกลูกมะตูมตากแห้ง) ทั้งหมดนี้มักจะเป็นคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่บอกแก่ผู้ตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะมีน้อยหรือมากไปกว่านี้ก็แล้วแต่ท้องถิ่นแต่ละที่ไป

พอใกล้กำหนดจะคลอด ผู้เป็นสามีต้องไปตัดฟืนไม้สะแกหรือไม้มะขามมากองไว้เพื่อให้ภรรยาอยู่ ไฟ ตอนตัดไม้ฟืนก็มีข้อเสี่ยงทายอยู่ด้วย ถ้าท่อนพืนยาวจะได้ลูกชายแต่ถ้าท่อนสั้นต้องได้ลูกหญิง แต่อย่างไรก็ดี การกำหนดเพศชายหญิงของทารกมีมาแต่เริ่มปฏิสนธิแล้ว จะแปรเปลี่ยนแก้ไขในภายหลังหาได้ไม่

ครั้นถึงเวลาคลอดจริงๆ ต้องหาทิศทางที่เหมาะสม แม่หันศีรษะไปทางเหนือ ลูกคลอดลงใต้ก็สะดวกดี หรือจะดูไก่ไข่ก็ได้ ไก่หันหัวไปทางไหนให้หันหัวไปตามไก่ก็คลอดง่ายเหมือนกัน แต่อย่าลืมต้องไหว้พระภูมิเจ้าที่จุดธูปขอขมาลาโทษท่านเสียก่อน ไหนๆ จะมาคลอดลูกก่อมลทินไว้ในภูมิที่ของท่านอีกแล้ว ท่านจะได้ช่วยขจัดปัดเป่าภยันตรายต่างๆ ให้ด้วย หมอตำแยเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อหมอมาก็ต้องจัดขันข้าวสารใส่หมาก พลู ธูปเทียน เงินติดเทียนตามธรรมเนียม จัดอย่างละสามให้เป็นคี่เข้าไว้แต่กล้วยเอาหวีเดียว สามหวีถ้าจะไม่หมด สามผลก็ดูน้อยไป หาคนมาหนุนหลังด้วยจะได้คอยช่วยคัดท้องไม่ให้เด็กดิ้น ถ้าหนุนต่ำไปจะหนุนบนปากโอ่งก็ได้ ถือหัวตะไคร้เอาไว้ ถ้าหากเป็นลมจะได้ขยี้ให้ดม

การคลอดถ้าล่าช้าไปกว่าปกติ ก็ต้องใช้อุปเท่ห์เล่ห์กลแก้ไข บางทีผู้คลอดร้องด่าผัว ก็ทำนํ้าสะเดาะ เอานํ้าราดหัวแม่เท้าผัวสาดขึ้นหลังคาแล้วรองไว้ ทำสลับกันไปสามครั้ง ครั้งสุดท้ายเอามาเป่าเสกด้วยเวทมนตร์รดหัวบ้าง ให้ดื่มบ้าง ทำจนกว่าจะคลอดนั่นแหละ พอเด็กเริ่มโผล่ศีรษะ หมอตำแยก็เอาเกลือตัวผู้เลือกที่มีแง่มีคมกรีดฝีเย็บให้ขาด พร้อมกับข่มท้องให้ลูกทะลักออกมา

เด็กที่คลอดลงมาถึงพื้น เรียกว่าตกฟาก หมอตำแยรีบเอาผ้าห่อทันที มีเคล็ดเหมือนกันว่าเป็นหญิงหรือชายก็ตาม แม่หมอต้องคว้าเครื่องเพศของทารกเอาไว้ก่อน เพื่อให้มีลักษณะงดงามเมื่อโตขึ้น เวลาที่ตกฟากมักจะจดจำกันไว้สำหรับดูชะตาราศีในภายหน้า แต่การกะเวลาไม่ค่อยแน่นัก มักจะประมาณกันเป็นพื้น ฟังเสียงไก่ขันบ้าง ดูดวงตะวันบ้าง ตามแต่จะเห็นกันว่า มีอะไรเป็นที่สังเกตชัด ซึ่งก็มีคติอยู่อย่างว่าคนมีบุญเลือกที่เลือกเวลาจะมาเกิด ถ้าไม่ทำให้ฉุกละหุกโกลาหลเห็นทีมีบุญโข ส่วนหมอตำแย ก็จะควํ่าเด็ก ล้วงควักเอาเมือกออกจากปากเด็ก แล้วจัดการให้ร้องอุแว้

เมื่อเด็กคลอดแล้วผู้หนุนหลังต้องข่มท้องแม่เด็กไว้ให้แน่นป้องกันรกบิน แล้วจัดการให้รกออก ถ้ารอนานประมาณ ๕ นาทีรกไม่ออก ให้คนคลอดลุกนั่งยองๆ ใช้หมอนทุบหลัง ถ้ายังไม่ออกก็แยงจมูกหรือยอนลำคอด้วยมวนพลู เพื่อให้ไอจามจนรกออกมาได้ จากนั้นก็จะเอานํ้าส้มมะขามกับเกลือ ขนาดชามโอให้กินขับเลือดร้าย แล้วนอนรอการอยู่ไฟต่อไป

ตอนนี้หมอตำแยจะตัดสายสะดือ หลังจากที่เด็กร้องอุแว้ๆ หากมีปัญหาถามว่า ถ้าเด็กไม่ร้องจะทำอย่างไร ตอนที่ควักเมือกออกจากปากเด็ก ไม่มีอะไรอุดปากอุดคออยู่เด็กก็น่าจะร้อง มิฉะนั้นอาจจะสำลักนํ้าครํ่า แต่ถ้าเด็กยังไม่ร้องก็ต้องตบก้นเบาๆ ลองดูอีก หากยังไม่ร้องก็ต้องลองเป็นครั้งสุดท้าย คือรอให้รกออกเสียก่อน ใช้เหล็กหรือหัวเสียมเผาไฟให้แดงเอาไปนาบเข้ากับรกเพื่อให้ร้อนไปถึงเด็ก คราวนี้คิดว่าเด็กร้องแน่ๆ แต่ถ้ายังไม่ร้อง ก็หมายความว่าเด็กตายแล้ว ถ้าเด็กร้องก็ต้องทำพิธีตัดรกต่อไป โดยมัดรกเป็นสองเปราะด้วยด้ายดิบแล้วใช้ผิวไม้รวกตัด วิธีตัดใช้ก้อนดินรองต่างเขียง เถือไปเถือมา ผิวไม้รวกมีความคมพอประมาณ ไม่นานสายสะดือก็ขาด จากนั้นก็เอาเด็กอาบนํ้า จะวางบนหน้าแข้งของหมอตำแยโดยหันหัวเด็กไปทางปลายเท้าหรือจะแช่ในอ่างก็ได้ ถ้าแช่ในอ่างมักจะใส่ของมีค่าลงไป เป็นการรับขวัญ เช่น เงินทอง สายสร้อย เป็นต้น พออาบน้ำเสร็จ ญาติจะอุ้มเด็กทั้งเบาะไปหน้าบันได ชานเรือน เอาเท้าแจะดิน ๓ แจะ แล้วนำมาเข้าพิธีร่อนกระด้ง ทำสามครั้ง ปากก็พูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ” ซึ่งมักจัดหาหญิงที่เลี้ยงลูกง่ายมาคอยขานรับว่า “ลูกฉันเองๆ” ผู้ขานรับนี้เรียกว่าแม่ยก แล้วตัวแม่ยกก็ให้เงินแก่หมอตำแยพอเป็นพิธีแล้วรับเด็กมา เด็กคลอดใหม่ยังไม่ให้กินอะไร ถ้าหิวก็กินแต่ขี้แมลงสาบเผาไฟผสมเกลือนิดหน่อยแช่นํ้าผึ้งในถ้วยเล็กๆ แล้วห้อยชายผ้าผืนเล็กๆ เชื่อมต่อปากเด็กกับของในถ้วยให้เด็กดูดกินเป็นยาขับขี้เทา สังเกตดูตัวเด็กหากมีปานมีไฝมักจะ ใช้แหวนทองกลั้นใจครอบ เพื่อไม่ให้ขยายใหญ่หรือโตตามตัว เวลาเด็กโตขึ้นจะดูน่าเกลียด

ฝ่ายแม่เด็กที่นอนรอการอยู่ไฟ ก็ต้องรอให้พ่อเด็กทอดเตาไฟเสร็จก่อน การทอดเตาไฟต้องหาดูวันดี ถ้าไม่มีวันดีระยะนั้นก็ต้องอยู่เตาเชิงกรานไปก่อน ใช้ฟืนวันละ ๓ ดุ้น อยู่ ๓ วัน การอยู่ไฟต้องมีพิธีดับพิษไฟ ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาผู้รู้มาจัดทำให้ สำหรับการอยู่ไฟนั้นให้ทำจนครบวันคี่มี ๗ วัน ๙ วัน เรื่อยไปจนถึง ๒๙ วันก็มี ที่ถือเช่นนี้เพราะว่าวันคู่ลูกถี่ วันคี่ลูกห่าง แม่เด็กก่อนนอนกระดานไฟต้องให้หมอตำแยทำการเยียวยารักษาร่างกายเสียก่อนจึงนอนนุ่งผ้าเตี่ยว เอาสำลีชุบปูนแดงผสมเหล้าปิดสะดือนอนอยู่ไฟไปจนครบ ระหว่างนี้ห้ามคนที่มาเยี่ยมพูดจาเกี่ยวกับเรื่องร้อน เรื่องหนาว เรื่องเป็นโน่นเป็นนี่ในทางไม่ดีอย่างเด็ดขาด เพราะเกรงคนไข้จะเสียขวัญ หลังจากนั้นก็จะนั่งถ่าน นาบหม้อเกลือ พยาบาลตัวไปด้วย ส่วนในด้านความเชื่อก็มีการสะหนามใต้ถุนเรือน ปักเฉลวกันผีควบคู่กันไปด้วย

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเด็กยังมีเรื่องฝังรกและสายสะดือที่ตัดออก โดยเอาไปล้างนํ้าให้สะอาดก่อน หาหม้อตาลมาใส่ เอาเกลือโรยข้างบน พอเด็กคลอด ๓ วันแล้ว ค่อยเอาไปฝัง แต่จะเก็บไว้ ๓ เดือนก็ได้ ถ้าเก็บก็เอาหม้อตาลไปวางไว้ใกล้ไฟที่เด็กนอนไฟอยู่ เพื่อให้แห้งไปด้วย การฝังรกให้ถือหม้อสลับมือกันไปจนตลอดทางเด็กจะได้ถนัดสองมือ สถานที่ฝังต้องดูให้ต้องโฉลกกับวันเกิดหรือปีเกิดของเด็ก ในระยะเวลาที่สายสะดือของเด็กยังไม่หลุด เวลาอาบน้ำต้องคอยระวังอย่าให้หลุดในนํ้า เพราะเชื่อว่าเด็กจะตกนํ้าตาย เมื่อสายสะดือหลุดแล้วเก็บไว้ในอับ โรยขมิ้นเก็บไว้ แล้วบดละเอียดคลุกข้าวให้กินเป็นยา หรือถ้าเด็กมีน้องเกิดตามมาอีก เอาสะดือของเด็กทั้งสองบดผสมกันแบ่งกันกิน จะทำให้พี่น้องสามัคคีกลมเกลียวกันดี ขณะอาบนํ้าดัดแขนดัดขาจะทำให้แขนอ่อนขาตรง ถ้าเด็กชายถุงอัณฑะหย่อนยานให้ใช้มะเขือเปราะลูกเล็กๆ มาซุกไว้ที่ถุงอันฑะ แล้วบอกว่าให้เหี่ยวเหมือนลูกมะเขือตากแดดแล้วเอามะเขือไปตาก ทำให้ครบสามวัน ถ้ายังไม่หด ก็ใช้ช้อนตักใส่ร่องกระดาน ปากก็ว่าตักทิ้งไปเสียบ้าง สำหรับเด็กหญิงถ้าของลับเปิดอ้า ปิดไม่สนิท ก็ใช้อุ้งมือยันขึ้นไปแม่ก็ใช้น้ำนมหยอด ซึ่งวิธีนี้ยังมีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับแม่ซื้อที่เป็นผีคอยรังแกเด็กซึ่งต้องทำพิธีไล่เรียกว่าทิ้งข้าวแม่ซื้อ ใช้ข้าวสุกปากหม้อปั้นเป็นก้อนสี่ปั้น ทำปั้นละสี มีสีขาว (สีเดิมของข้าว) สีแดง (ผสมปูนแดง) สีเหลือง (ผสมขมิ้น) สีดำ (ผสมมินหม้อ) ให้กล่าวคำฟาดเคราะห์ พร้อมทั้งวนข้าวรอบตัวเด็กทีละก้อน คำกล่าวมีดังนี้ “แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อใต้ที่นอน มารับเอาก้อนข้าวของลูกไป โรคภัยไข้เจ็บ ไปให้หมด วู้” คำกล่าวนี้มีผิดกันไปบ้าง กล่าวแล้วขว้างข้าวข้ามหลังคาเรือนไปทีละก้อนจนครบ ๓ ก้อน ส่วนก้อนสีดำขว้างลงใต้ถุนหรือโยนไปยังพื้นดินตรงไหนก็ได้ แต่บางแห่งเชื่อผิดกันไป เช่นว่าเด็กเล็กพลัดตกหกล้ม เด็กไม่เป็นอะไร เพราะแม่ซื้อรับไว้ บางทีว่ามาเล่นกับเด็กเวลาหลับ ทำให้เด็กยิ้มแย้มได้

เมื่อเด็กคลอดครบสามวัน นับว่ารอดมาตอนหนึ่งแล้ว ก็มีการทำขวัญ จัดเครื่องบัตรพลี ทำบายศรีปากชาม มีการผูกขวัญโดยให้ผู้เลี้ยงลูกง่ายเป็นผู้ผูกขวัญ เมื่อเด็กอายุครบเดือนกับวัน จะจัดพิธีโกนผมไฟจนเกลี้ยง หรือจะเหลือไว้หย่อมตรงกลางเรียกว่าผมโก๊ะ ผมจุก หรือไว้สองข้างเรียกผมแกละก็ทำได้ เพื่อแก้เคล็ดเพราะเด็กเจ็บป่วยบ่อย เสร็จพิธีโกนผมไฟก็มาถึงพิธีลงอู่ มีการจัดเตรียมฟัก หินบด แมว ลงไปในอู่ด้วย มีธัญญาหารใส่ไถ้เล็ก ๆ รวมอยู่ด้วย เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ส่วนฟัก หิน แมว ก็ให้คติว่า “เย็นเหมือนฟัก หนักเหมือนแฟง อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า เฝ้าเรือนเหมือนแมวคราว”

ระยะนี้เด็กก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีการคืบ คลาน ยงโย่ยงหยก มีดอกไม้ (ฟัน) ขึ้น ห้ามเด็กเล่นดอกไม้เกรงว่าเด็กจะเล่นอุจจาระ ห้ามดูกระจกฟันจะเกขึ้นแซมกันไม่สวย เด็กจะมีการตั้งไข่ (ยืน)  ระยะที่เด็กยงโย่ยงหยกแล้วก้มดูใต้ขาตัวเองมองลอดไปข้างหลังก็ว่าเด็กดูน้อง (ที่จะเกิดตามมา) เมื่อเด็กจะควํ่าจะเดินก็ห้ามคนช่วย เพราะกลัวว่าโตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้ เด็กเล่นน้ำลายก็ว่าฝนจะตกเด็กหัดพูดถ้าพูดได้เร็วก็ว่าปากเบา หากพูดได้ช้าก็ว่าปากหนัก

การตั้งชื่อเด็กมักตั้งชื่อให้น่าเกลียดหรือเป็นชื่อสัตว์ หมู หมา กา ไก่ เพราะจะทำให้ผีเกลียด มิฉะนั้นเด็กมักไม่รอดเพราะผีมาเอาตัวไปอยู่ด้วย เด็กเจ็บป่วยก็กวาดยา พ่นยา เอายาที่เหลือหรือมินหม้อเจิมหน้าผาก เพื่อไม่ให้ผีจำได้ เด็กอ้วนท้วนก็ไม่ให้ทัก จะชมกันก็ว่าเจ้าเนื้อจริง หรือจํ้ามํ่าจริง เด็กหน้าตาเข้าที ก็ว่าน่าเกลียด เพราะถ้าพูดความจริงก็เกรงผีจะนิยมชมชอบไปด้วย พอเด็กเริ่มโต โดยเฉพาะเด็กชาย ก็มักจะหาขุนเพ็ดห้อยเอวให้ หรือไม่ก็ผูกเบี้ยจั่น ถ้าเป็นเด็กหญิงก็ผูกจับปิ้ง ซึ่งนัยว่าเป็นประเพณีที่กลายมาจากของดั้งเดิมมากแล้ว

แม่เด็กเมื่อก่อนจะออกกระดานไฟ ต้องเข้ากระโจมอบไอนํ้าประคบตัวไปด้วย อันนี้ก็เป็นการเยียวยาซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้มดลูกแห้งเร็ว ไม่เป็นโรคกระบังลมเคลื่อน และยังมีการกล่อมมดลูกอีกด้วย ส่วนกรรมวิธีอื่นๆ เกี่ยวกับแม่ ถ้าจะทำต่อไปก็เพื่อบำรุงกำลังสร้างน้ำนมเพื่อไว้เลี้ยงเด็กซึ่งคลอดออกมาแล้วนั้นเอง

การคลอดบุตรในสมัยโบราณดังกล่าวแล้ว ชาวไทยได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานค่อยๆ เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมบ้าง ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิรูปการปกครองตลอดจนวิทยาการสมัยใหม่ โดยว่าจ้างชาวต่างประเทศให้เข้ามาช่วยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่นๆ ขึ้น ว่าจ้างแพทย์ชาวต่างประเทศเข้ามารักษาแบบใหม่ ยกเลิกการอยู่ไฟแบบโบราณ ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ทรงริเริ่มเป็นพระองค์แรก และเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั่วไปตั้งแต่นั้นมา การคลอดบุตรก็ปฏิบัติตามแบบสมัยใหม่สืบต่อมาจนปัจจุบันนี้ กล่าวคือ ถ้าหากเริ่มมีครรภ์ ก็ต้องไปปรึกษาแพทย์หรือฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน แล้วให้แพทย์แนะนำและจัดการคลอดให้ ซึ่งสะดวกสบายและถูกหลักการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้การคลอดตลอดจนการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดมีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตน้อยมาก เพราะแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับเป็นวิวัฒนาการที่ยอมรับกันทั่วโลก

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีการเชื่อถือผีสางเทวดา

ผีไม่ได้หมายความถึง คนที่ตายไปแล้ว แต่หมายถึงผู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤทธิ์อำนาจอาจบันดาลอะไรให้ผิดไปจากปกติได้ ผีแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ผีที่ดี ที่ให้คุณไม่ให้ร้ายต่อใคร เว้นเสียแต่คนจะไปทำให้โกรธ ผีประเภทนี้ ได้แก่ ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ รุกขเทวดา เป็นต้น ส่วนอีกประเภท คือ ผีร้ายคอยให้ร้ายและซ้ำเติมมนุษย์อยู่เสมอ เช่น ผีปีศาจต่างๆประเพณีแห่นางแมว

ในสมัยโบราณคนเราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การประกอบอาชีพก็อาศัยธรรมชาติขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ซึ่งต้องประสบกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอยู่เสมอๆ เช่นนํ้าท่วม ลมพายุ ฝนแล้ง ฯลฯ ทำให้เกิดความเชื่อว่าในธรรมชาติเหล่านี้มีผีหรือเทวดาประจำอยู่และสามารถดลบันดาลสิ่งดีและสิ่งร้ายให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นในชีวิตประจำวันของคนในสมัยโบราณ จะต้องมีประเพณีการยึดถือหรือการเซ่นสรวงผีสางเทวดาเสมอ เช่น ในบางท้องถิ่นที่เป็นช่องทางป่า หรือเป็นชะง่อนผา หรือคุ้งนํ้าใหญ่เงียบสงัด หรือตามใต้ต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นตะเคียน ต้นกร่าง ฯลฯ มักจะมีคนสร้างศาลไว้เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาหรือผีที่รักษาที่เหล่านั้นด้วย เพื่อผู้คนสัญจรไปมากราบไหว้บูชาเพื่อสวัสดิภาพในการเดินทางและความมีสิริมงคลแก่ตนเอง บรรดาผีหรือเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามศาลเหล่านี้ ถ้าหากมีผู้ใดไม่เคารพยำเกรงจะดลบันดาลให้ได้รับอันตรายต่างๆ ได้

นอกจากนี้ยังมีผีหรือเทวดาที่อยู่ประจำรักษาหมู่บ้าน หรือรักษาบ้านที่เราเรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งคนจะต้องจัดตั้งศาลไว้ให้ตามปากทางเข้าหมู่บ้าน หรือยกเป็นศาลตั้งไว้ในบริเวณบ้าน เมื่อมีงานอะไรก็เซ่นไหว้เพื่อให้งานที่จะทำบรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่นสะดวกไม่มีอุปสรรค
นอกจากผีประจำหมู่บ้านแล้ว เมืองต่างๆ ยังมีผีหรือเทวดาประจำรักษาเมืองด้วย เมืองที่สำคัญๆ มักจะสร้างศาลหลักเมืองให้เป็นที่สถิตของเทวดารักษาเมืองเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้นในการที่มีงานสำคัญๆ หรือประเพณีสำคัญๆ ก็ต้องมีการเซ่นสรวงหรือบวงสรวง

ที่จริงในชีวิตประจำวันของคนไทยมีการเกี่ยวข้องกับผีสางเทวดามาตั้งแต่แรกเกิด คือ ในประเพณีการเกิด ถือกันว่าในระหว่างที่สตรีตั้งครรภ์นั้นจะต้องเสี่ยงอันตรายต่างๆ ทำให้ใจคอไม่สบาย ขวัญไม่ดี ต้องหาของป้องกัน เช่น แขวนตะกรุด พิสมร เป็นต้น เมื่อคลอดแล้วบนเรือนต้องมีผ้ายันต์ สายสิญจน์ ใบหนาดเสียบไว้ ส่วนใต้ถุนเรือนจะต้องนำหนามพุทรา หนามมะขามเทศหรือหนามไผ่มาสะไว้ เพื่อป้องกันผีมารบกวน ก่อนที่สตรีคลอดลูกจะเข้าอยู่ไฟ ต้องเซ่นไหว้แม่ก้อนเส้าเตาไฟซึ่งถือว่าเป็นเทวดารักษาเตาไฟเสียก่อน

ส่วนเด็กที่เกิดมาใหม่ จะมีแม่ซื้อประจำวันของเด็กติดมาด้วย แม่ซื้อนี้เชื่อกันว่าเป็นผีมีลักษณะแตกต่างกันตามวัน นอกจากแม่ซื้อประจำวันแล้วยังมีแม่ซื้ออีก คือแม่ซื้อกลางหน แม่ซื้อเมืองบน และแม่ซื้อใต้ที่นอน เวลาเด็กหลับหรือเด็กไม่สบาย แม่ซื้อจะมาหยอกล้อรบกวนเด็ก เพราะคนสมัยโบราณ เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดต้องถูกผีปั้นมาก่อน และเมื่อมาเกิดแล้วหน้าตาน่ารัก ผีก็จะชอบและมาเอาเด็กไปทำให้เด็กตาย ฉะนั้น เมื่อเด็กเกิดจึงต้องทำพิธีเพื่อหลอกผีไม่ให้มาเอาเด็กไปได้ เช่น ประเพณีการร่อนกระด้งที่ใส่เด็ก พร้อมกับพูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครมารับเอาไปเน้อ’’’ และจะมีคนตอบรับว่า “ลูกของฉันเอง” พร้อมกับรับเด็กไป ซึ่งเป็นการแสดงให้ผีเห็นว่า ผีไม่มีสิทธิที่จะมาเอาเด็กไปได้และ เมื่อเด็กเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย ก็จะถือว่าแม่ซื้อมารบกวน มาหลอกล้อทำให้เด็กสะดุ้งผวา ต้องทำพิธีเซ่นแม่ซื้อ โดยนำเอาข้าวสุกปากหม้อมาปั้นเป็นก้อนสี่ก้อน คลุกปูนแดงก้อนหนึ่งเรียกว่า “ข้าวแดง” คลุกขมิ้นก้อนหนึ่งเรียกว่า “ข้าวเหลือง”คลุกมินหม้อก้อนหนึ่งเรียกว่า “ข้าวดำ” อีกก้อนหนึ่งเป็นสีขาว เรียกว่า“ข้าวขาว” วางลงไว้ในจานหรือในกระทง เมื่อทำพิธีจะหยิบข้าวมาวนที่ตัวเด็กก้อนละ ๓ ครั้งแล้วกล่าวฟาดเคราะห์ว่า

“แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อใต้ที่นอน มารับเอาก้อนข้าวของลูกไป โรคร้ายไข้ร้อนไปให้หมด วู้” เมื่อกล่าวจบแล้วจึงเอาข้าวขาว เหลือง แดง โยนข้ามหลังคาบ้านไปส่วนข้าวดำนั้นให้โยนลงใต้ถุนเรือน เชื่อกันว่าทำเช่นนี้แล้วเด็กจะหายป่วยไข้ได้

ประเพณีการนับถือผีบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่จะมีนับถือกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมากเป็นบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เรียกรวมกันว่า ผี ปู่ย่า (ทางภาคเหนือ) หรือ ผีตายาย (ทางภาคอีสาน) ส่วนในภาคกลางเรียกผีปูย่าตายายหรือผีบรรพบุรุษ เมื่อบุตรหลานผู้ใดแต่งงานจะต้องมีการจัดหาผ้าไหว้ คือ ผ้าขาว ๑ สำรับ และอาหารคาวหวานอย่างละสำรับเพื่อใช้ไหว้ผีบรรพบุรุษด้วย ในจังหวัดภาคเหนือ ถ้าหนุ่มสาวคู่ใดทำผิดประเพณี เช่น จับมือถือแขนกันหรือลักลอบได้เสียกันก่อนที่จะทำพิธีแต่งงาน ถือว่าผิดผีต้องทำการขอขมาต่อผีปู่ย่าตามประเพณี เรียกว่า “เสียผี” ฝ่ายชายจะต้องเสียค่าไหว้ผีตามแต่ทางฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง

ในประเพณีการปลูกบ้านสร้างเรือนก็แสดงออกถึงการนับถือผีสางเทวดาอย่างเห็นได้ชัดคือ การเข้าป่าหาไม้มาปลูกบ้าน จะต้องหาไม้มาจากป่าเดียวกันเพราะถ้าหากเอาไม้ต่างป่ามาจะทำให้นางไม้ที่ประจำอยู่ตามต้นไม้ที่นำมาปลูกบ้านเกิดทะเลาะวิวาทกันทำให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านอยู่ไม่เป็นสุข หรือการเลือกไม้ต้องไม่เลือกไม้ตะเคียนมาทำบ้านเพราะเชื่อกันว่าในไม้ตะเคียนมีนางไม้ที่เรียกว่า นางตะเคียนสิงอยู่ เมื่อนำมาทำบ้านเรือนนางตะเคียนจะให้โทษแก่เจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังมีพิธีทำบัตรพลีโดยการปลูกศาลเพียงตา ตั้งสังเวยกรุงพาลีพระภูมิเจ้าที่ เทวดาต่างๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางในที่ที่จะปลูกเรือน เพื่อเป็นการแสดงคารวะและบอกเล่าเก้าสิบให้เจ้าที่เจ้าทางได้รู้ก่อน และที่หัวเสาเอก จะมีผ้ายันต์ปิดทับเอาไว้ด้วยเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจและเสนียดจัญไร และมีการทำขวัญเสาเรียกขวัญพญาไม้ที่นำมาทำเสาเอกให้มาอยู่ที่เสาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของเรือน

นอกจากประเพณีดังกล่าวแล้วยังมีประเพณีตามฤดูกาลอีก เช่น ประเพณีการทำขวัญข้าว ประเพณีคูณลานในทางภาคอีสาน เป็นต้น หรือถ้าฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็จะ มีประเพณีแห่นางแมว ขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งรวมทั้งประเพณีการแห่บั้งไฟในภาคอีสานด้วย ประเพณีที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นประเพณีเนื่องในการเชื่อถือผีสางเทวดาผู้รักษาผลิตผลในทางเกษตรกรรมทั้งสิ้น

ส่วนในภาคเหนือจะมีประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาเหมือนกัน เช่น ประเพณีการทำบุญสืบชาตาบ้าน สืบชาตาเมือง และสืบชาตาคน

ยังมีผีสางเทวดาอีกอย่างหนึ่งที่คนนิยมนับถือกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ คือ “พระภูมิเจ้าที่” ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าบ้านแทบทุกบ้านจะต้องมี “ศาลพระภูมิ” ประจำเพื่อรักษาและคุ้มครองปกบ้องภัยอันตรายต่างๆ แก่คนในบ้าน พระภูมิคนโดยทั่วๆ ไปจะเรียกชื่อว่า ชัยมงคล ตัวพระภูมิทำด้วยไม้หรือที่เรียกกัน ว่า “เจว็ด” ตั้งอยู่ภายในศาล ต่อมาความนิยมนับถือเทวดาอื่นเพิ่มขึ้นมีคนมาดัดแปลงปั้นรูป พระพรหม ประดิษฐานอยู่ในศาลทำนองเดียวกับศาลพระภูมิ เคารพนับถือทำนองเดียวกับศาลพระภูมิ เรียกพระพรหมนี้ว่า “ท้าวมหาพรหม” ศาลพระภูมิหรือศาลท้าวมหาพรหมนี้บางแห่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ตามที่มีคนมาบนบานไว้ จะต้องมีการแก้บนตามที่ได้ให้สัญญา กับพระภูมิเจ้าที่ด้วย ถ้าหากไม่ทำตามที่ได้บนบานไว้ พระภูมิเจ้าที่จะพิโรธและจะบันดาลภัยพิบัติต่างๆ ให้แก่ผู้ที่บนบานไว้ได้ บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตก็มี

นอกจากการเชื่อถือผีในประเพณีต่างๆ แล้ว ในชนบทโดยเฉพาะในภาคอีสาน ความเชื่อเรื่องผี ปีศาจ และเทวดายังมีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป เช่น ในงานบุญข้าวประดับดินเป็นการทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เช่นเดียวกับทางภาคใต้ที่มีประเพณีชิงเปรต ในเดือนสิบเป็นต้น

ในกรณีที่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยและรักษาไม่หายในภาคอีสาน จะลงความเห็นว่าผีมาทำร้ายให้เจ็บไข้ได้ป่วยจะมีการหาหมอผีเก่งๆ มาไล่ผีให้ออกไปจากร่างคนเจ็บด้วยกรรมวิธีต่างๆ บางครั้งคนเจ็บถึงตายก็มี

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเชื่อถือผีสางเทวดาแล้ว ก็ควรจะกล่าวถึงการเชื่อถือโชคลางและความฝันควบคู่กันไปด้วย เพราะความฝันและโชคลางนี้คนไทยเชื่อถือกันมานาน จนกระทั่งมีผู้เขียนเป็นตำราทำนายฝันไว้บ้าง และในหนังสือวรรณคดีของไทยก็ได้กล่าวถึงเรื่องความฝันและโชคทางไว้มากเช่น กัน เช่น เสภาเรื่องขุนข้างขุนแผนซึ่งสันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น จะขอยกตัวอย่างเรื่องความฝันก่อน เช่น ตอนกำเนิดพลายแก้ว(ขุนแผน) กล่าวไว้ว่า

“มาจะกล่าวถึงนางทองประศรี     นอนด้วยสามีในเรือนใหญ่
นิมิตฝันนั้นว่าท้าวสหัสนัยน์        ถือแหวนเพชรเม็ดใหญ่เหาะดั้นมา
ครั้นถึงจึงยื่นแหวนนั้นให้        นางรับแหวนไว้ด้วยหรรษา
แสงเพชรส่องวาบปลาบเข้าตา     ตื่นผวาค้นทั่วปลุกผัวพลัน
ฝันว่าได้ธำมรงค์วงวิเศษ        ของโกสีย์ตรีเนตรอันเฉิดฉาย
เพชรรัตน์อร่ามงามเพริศพราย    บรรยายว่าเป็นสิ่งมิ่งมงคล
จะมีครรภ์ลูกนั้นจะเป็นชาย        ดังทหารนารายณ์มาปฏิสนธิ
กล้าหาญการณรงค์คงทน        ฤทธิรณปราบทั่วทั้งแดนไตร”

อีกตอนหนึ่งคือตอนที่ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง นางวันทองฝันว่าไฟไหม้ในมุ้งและไหม้ขุนช้างทั้งตัวขุนแผนได้ทำนายฝันว่า

“เจ้าฝันว่าไฟฟอนฟูกหมอนม่าน    จะมีท่านผู้อื่นเอามาให้
อันซึ่งว่าครวญครํ่ารํ่าพิไร        จะเกลียดไกลคนชั่วที่มัวเมา
ฝันว่าร้องไห้จะได้ชม            ของรักตกตมจะคืนเข้า
ที่ร้อนโรคโศกร้างจะบางเบา        มิตรเก่าจะประคองวันทองน้อย”

อีกตอนหนึ่งคือตอนที่ขุนข้างตามหานางวันทอง โดยกราบทูลสมเด็จพระพันวษาว่าขุนแผนเป็นกบฏทำให้สมเด็จพระพันวษาโปรดให้จมื่นศรีสรรักษ์ และจมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพ มีขุนเพชรอินทรา กับขุนรามอินทราเป็นปีกซ้ายปีกขวา และก่อนออกเดินทางภรรยาขุนเพชรอินทราฝันว่าถูกฟันตัวขาด เป็นสองท่อนและภรรยาขุนรามอินทราฝันว่าฟันหักสามซี่ ซึ่งเป็นฝันร้ายและในที่สุดขุนเพชรอินทราและขุนรามอินทราก็ตาย เป็นต้น

โชคลาง
โชคลางเป็นความเชื่อถือของคน เกิดตามลักษณะอาการของความสังหรณ์ต่างๆ และคนในสมัยโบราณก็เป็นคนช่างสังเกตช่างจดจำ ทำให้ความเชื่อถือโชคลางยังคงเป็นที่เชื่อถือกันมาทุกวันนี้ ตัวอย่างการเชื่อถือโชคลาง เช่น ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงตอนที่ขุนรามอินทราลาภรรยา เพื่อยกทัพไปจับขุนแผน ขณะที่ลงบันไดบ้านปรากฏว่าบันไดหักซึ่งถือว่าเป็นลางร้าย ดังกลอนที่ว่า

“บันไดไหวยวบหักสวบมา        ห้าขั้นสะบั้นลงจมดิน
อัศจรรย์หวั่นไหวข้างในจิต        ครั้งนี้ชีวิตจะสูญสิ้น
จะตายจากพรากเจ้าผู้เพื่อนกิน     ผินหน้าดูเมียยิ่งเสียใจ”

และตอนขุนเพชรอินทราลาภรรยาว่า
“เมียยกมือไหว้แลไปดู        ไม่เห็นหัวผัวอยู่แต่เพียงบ่า
ตกใจวิ่งไปแล้วโศกา        พ่อฟังเมียว่าอย่าเพ่อไป”

และตอนที่พลายงามถูกขุนช้างลวงไปฆ่า นางวันทองก็ได้พบกับลางสังหรณ์หลายประการ เช่น กลอนที่ว่า
“คิ้วกระเหม่นเป็นลางแต่กลางวัน           ให้หวั่นหวั่นหวิวหวิวหิวหาวนอน
พอม่อยหลับคลับคล้ายเห็นพลายน้อย    ขุนช้างถอยทับไว้ด้วยไม้ขอน”

“พอแมลงมุมอุ้มไข่ไต่ตีอก        นางผงกเงี่ยฟังดังผึงผึง
ประหลาดลางหมางจิตคิดคะนึง    รำลึกถึงลูกชายเจ้าพลายงาม”

ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความฝัน โชคลางและการเชื่อถือผีสางเทวดา ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ความเชื่อเหล่านี้ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบันและผู้ที่เชื่อถือเรื่องเหล่านี้ก็มิใช่แต่ชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีแล้วก็ยังมีความเชื่อถืออยู่และอาจจะเชื่อถือมากกว่าชาวบ้านธรรมดาเสียอีก ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะคนในปัจจุบันไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากตัวเอง และมักจะประสบกับปัญหาด้านต่างๆ มากมาย จึงต้องหันหน้าเข้าพึ่งผีสาง เทวดาโชคลาง และการทรงเจ้าเข้าผีเป็นเครื่องปลอบใจ อย่างไรก็ตามแม้ว่าความเชื่อถือเรื่องผีสาง เทวดาโชคลางและความฝันต่างๆ จะนับว่าเป็นความคิดที่ล้าสมัยเป็นความเชื่อที่งมงาย แต่ก็นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยที่ยึดถือสืบทอดกันเป็นประเพณีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และการเชื่อถือ ผีสางเทวดาในประเพณีบางประเพณี ก็สมควรจะอนุรักษ์หรือฟื้นฟูไว้ให้คงอยู่ต่อไป

ที่มา:กรมศิลปากร