การเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่

Socail Like & Share

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม ๑ คํ่า เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถือเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปีบัตรอวยพร

“โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่า ฤดูเหมันต์คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมหคือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสาน คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น ๑ มาแต่เดือนอ้าย”

ต่อมาได้ถือวันขึ้น ๑ คํ่าเดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ และยึดถือกันสืบมาจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 9 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย

เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ ต่างก็ถือเอาวันที่ 9 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้ว ก็ควรจะใช้วันที่ 9 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นปี เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่างๆ จึงกำหนดให้ถือเอาวันที่ 9 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา เป็นผลให้ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขาดไป ๓ เดือน และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติให้ทางราชการ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หยุดงานที่เคยทำประจำ ๒ วัน คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม วันสิ้นปีเก่าและวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

ปัจจุบันในวันขึ้นปีใหม่ได้มีการทำบุญตักบาตร ณ ท้องสนามหลวง หรือทำบุญที่วัดใกล้บ้านของตน ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น กระบี่กระบอง สะบ้า ช่วงชัย ฯลฯ กลางคืนมีมหรสพต่างๆ ได้แก่ โขน ลิเก ลำตัด ภาพยนตร์ ฯลฯ

ธรรมเนียมไทยแต่เดิมมาก่อนวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั่วบริเวณ เหมือนวันสาธารณสุขในปัจจุบัน และตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามตามกำลังความสามารถ

ในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากทำบุญตักบาตรหรือทำกุศลอื่นๆ ตามอัธยาศัยแล้ว ผู้น้อยก็นิยมไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรท่านให้เกิดความสวัสดิมงคลแก่ตนเองสืบไป การรดนํ้าควรใช้น้ำอบไทย จัดหาผ้านุ่งผ้าห่ม ข้าวของเครื่องใช้ตามสมควรใส่พานนำไปมอบแก่ท่าน เมื่อท่านให้ศีลให้พรแล้ว ก็จะเลี้ยงดูเราตามความสามารถเช่นกัน

ประเพณีใหม่ที่เข้ามาในหมู่คนไทยในโอกาสนี้คือ การส่งบัตรอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตร ที่สนิทสนมกัน เป็นการแสดงออกแห่งไมตรีจิตระหว่างกัน นับเป็นความเจริญทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง

ที่มา:กรมศิลปากร