พิธีอุปสมบท

Socail Like & Share

การบวชพระที่เรียกว่า อุปสมบท นั้น เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนมานานแล้ว ถือกันเคร่งครัดมาก ตามประเพณีของชาวไทยเรากำหนดว่าชายไทยที่มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปนั้นควรอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ที่ต้องกำหนดอายุเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะและเป็นผู้ใหญ่มีใจคอหนักแน่น อดทนต่อความหิวอุปสมบทกระหายได้ และเห็นประโยชน์แห่งการบวช ซึ่งเดิมก็เพื่อจะทำตนให้ปราศจาก กังวลห่วงใยให้พ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุก่อทกุข์ และปฏิบัติเพื่อสุขประโยชน์แห่งผู้อื่นได้เต็มที่ แต่ต่อมาก็มีธรรมเนียมว่า ถ้าได้บวชเรียนแล้วจึงจะยินดีในการมีครอบครัวครองเหย้าเรือน ผู้ใหญ่ในตระกูลจึงจัด ให้บวชบ้าง ตัวสมัครบวชเองบ้าง

ก่อนบวชนั้นต้องมีการเตรียมตัว กล่าวคือ

๑. การบวชประมาณ ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน ต้องนำลูกหลานที่จะบวชไปฝากอยู่กับพระเพื่อศึกษาเล่าเรียนขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ให้เรียบร้อยก่อนจะถึงวันบวช

๒. เตรียมเครื่องอัฏฐบริขาร ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็ม รัดประคด หม้อกรองนํ้า รวม ๘ อย่างไว้ให้ครบ

๓. เตรียมเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นบางอย่างสำหรับผู้บวช เช่น เสื่อ หมอน ขันนํ้า ชามข้าว ฯลฯ เพราะเท่ากับแยกครัวไปอยู่อีกแผนกหนึ่ง

๔. จัดเครื่องสักการะ ซึ่งได้แก่ดอกไม้ ธูป เทียน ไว้ ๓ ชุด สำหรับการแสดงความเคารพต่อพระอุปัชฌายาจารย์และพระอันดับ เวลาขอเข้าบรรพซาอุปสมบทชุดหนึ่ง เวลาขอไตรสรณคมน์และศีลชุดหนึ่ง เวลาเข้าขอนิสัยอีกชุดหนึ่ง สำหรับชุดสุดท้ายนี้เรียกว่าธูปเทียนขอนิสัย โดยมากทำเป็นพิเศษ เป็นกระทงและมีกรวยครอบ เรียกว่า กรวยพระอุปัชฌาย์ ภายในกระทงนั้นใส่หมากบ้าง เมี่ยงบ้าง ดอกไม้บ้าง ตามความนิยมในท้องถิ่นนั้นๆ

เมื่อใกล้จะถึงวันบวช มีธรรมเนียมว่า ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปกราบไหว้ขออโหสิกรรมแก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ฯลฯ

ก่อนจะบวชหนึ่งวัน เรียกว่าวันสุกดิบหรือวันเป็นนาค มักมีการสวดฺมนต์เพื่อฉลองนาค ฉลองผ้าไตร และทำขวัญเย็นหรือคํ่า หรือทำขวัญเช้าแล้วบวชเลยก็ได้ การทำขวัญนาคก็เพื่อปลุกปลอบใจนาค  และเจ้าภาพให้ชื่นบาน ทั้งเป็นการซ้อมความเข้าใจกับนาคว่า การบวชมีประโยชน์อย่างไรบ้าง และเมื่อบวชแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร เท่ากับเป็นการนำทางให้นาครู้เพื่อจะได้เลือกเดินไว้เป็นเบื้องต้น

ผู้ที่จะเป็นนาค ต้องโกนผม คิ้ว หนวด แต่งตัวตามธรรมเนียมไทย เช่น นุ่งเยียรบับ สวมเสื้อครุย ฯลฯ แล้วเข้าไปนั่งในที่สำหรับทำพิธีทำขวัญ ซึ่งจะมีบายศรี แว่นเวียนเทียน บาตร ผ้าไตร (การแต่งผ้าไตรนั้นมีดอกไม้สดร้อยผูกโครงไม้ตามรูปผ้าไตร มีอุบะห้อยรอบคลุมผ้าไตรอยู่) และบริขารต่างๆ

ในระหว่างพิธีนี้ บรรดาญาติผู้ใหญ่ แขกเหรื่อมิตรสหายจะมาร่วมชุมนุมอนุโมทนาด้วยอย่างคับคั่ง นั่งรายรอบนาคผู้จะบวช หมอทำขวัญก็จะเริ่มพิธีทำขวัญนาค ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการทำขวัญนาค เชลยศักดิ์เพียงเล็กน้อยดังนี้

ทำขวัญนาคเชลยศักดิ์

ท่านวัดถนนแต่ง
“(ลา ๑)
๏โย พุทฺโธ อันว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์อันทรงพระคุณสามสิบประการ พระคุณนามเบื้องต้นเป็นประธานคือ พระอรหัง สนฺนิสินฺโน พระองค์ทรงสถิตนั่งเหนือรัตนบัลลังก์อันวิจิตร อันเกิดกับบุญฤทธิ์บารมี วรโพธิมเล ในควงไม้ศรีมหาโพธิพฤกษมณฑล มารํ สเสนํ ยังพระยามาร แลพวกพลมารให้แพ้พ่ายหน่ายหนี ด้วยพระสมติงศบารมีที่สร้างสมพระองค์ใด ตํ ปณมามิ พุทฺธํ ข้าขอน้อมเศียรศิโรตม์ไหว้วันทนียบูชา ด้วยกายวาจามโนจำนงพระองค์นั้น อยํ ธมฺโม อนึ่งพระนวโลกุตรธรรมเจ้าเก้าประการ สิบทั้งพระปริยัติเป็นปริโยสานอย่างยิ่ง นิยฺยานิโก จะนำสรรพมนุษย์ ชายหญิงให้เสวยสุข ดับชาติชราพยาธิมรณทุกข์ให้สิ้นโศก เข้าสู่ศิวังคะปาโมกข์วิมานเมือง ตํ ปณมามิ ธมฺมิ ข้าขอถวายทศนัขประนมเนื่องน้อมเศียร ต่างสุวรรณบุษบงประจงเจียนแจ่มจำรัส สํโฆ อนึ่ง อัษฎางคอริยสงฆ์บรรพษัทสาวกเวไนย วิสุทฺโธ ทรงศีลผ่องใสวิสุทธิเสวก สนฺตินฺทฺริโย สำรวมอินทรีย์ เอี่ยมเอกสงบงาม ย่อมประพฤติต้องตามพุทธบัญญัติ วรทกฺขิเณยฺโย ควรจะนำมาซึ่งศรัทธาโสมนัส สนองผล แห่งอมรเมืองบนแลมนุษย์ ตํ ปณมามิ สํฆํ ข้าขอน้อมกายมนินทรียอิทธิอุทิศถวายกายบูชา เป็นข้าในพระไตรรัตน์ ด้วยเดชะความสัตย์ที่ถือมั่น จงมาคุ้มครองป้องกันสรรพภัยจัญไรรอน ขจัดเสีย ซึ่งอกุศลนิวรณ์ห้ามมรรคผล ข้าพเจ้าจะขอกล่าวสารพุทธภาษิตมงคล แก่พ่อนาคผู้แสวงผลในบรรพชา ขอพระเดชพระคุณจงตกแต่งซึ่งวาจาข้าพเจ้าให้ประสิทธิ์ จะอวยสรรพพรอุทิศประการใดสิ้น เหมือนโอษฐ์องค์อมรินทร์โกสีย์ ประสิทธิ์พระพรให้พระผุสดีจอมนาง พระพรนั้นไม่เสื่อมสร่างสูญหาย ข้าพเจ้าจะอวยพรทั้งหลาย ขอให้เหมือนฉะนั้น แล้วจะขออัญเชิญเทพเทวัญทุกขั้นฟ้า มีพระอิศวรเจ้าโลกาเป็นประธาน ทรงโคอุศุภราชเป็นพระยานอย่างยิ่ง เชิญพระขันธกุมารมิ่งโอรสราช ทรงมยุรเป็นพาหนะอาสน์อุดมดี เชิญพระบรมจักรกฤษณ์ฤทธิเรืองศรี ทรงครุฑโบกบินเวหาเหิน ไม่มีผู้จะล่วงเกิน ประมาทหมิ่น เชิญองค์อมรินทร์เจ้าเวชยันต์ พระเวศุกรรมกับพระมาตลี เทพยเจ้าในจักรราศีทุกแหล่งหล้า พระอาทิตย์เทวาอันเรืองเดช อันทรงยานรัตนประเวศเที่ยวเวียนวง ขอเชิญมาช่วยชูดำรงเป็นพิธีกรรม มารับเอาอานิสงส์ในบรรพชากรรมที่เกิดผล ให้เจริญทิพยโสภณพูลสวัสดิ์ แล้วจงมีจิตโสมนัสศรัทธาด้วยช่วยแนะนำนิเทศ ขอมอบเครื่องกุศลเหตุแก่หมู่ญาติของพ่อนาค ซึ่งล้มตายหายจากไปทนทุกข์ ให้ได้เสวยทิพยสุขบำบัดบาป ด้วยส่วนกุศลผลลาภที่อนุโมทนา……”

เมื่อถึงวันบวช ผู้บวรระต้องไปให้ถึงวัดตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้กับพระอุปัชฌาย์ การแห่นาคไปวัดเป็นเครื่องหมายให้สาธุชนทั้งหลายทราบว่า ลูกหลานของเขาบวชวันนี้ บรรดาญาติมิตรจะมาร่วมเข้าพิธีแห่อย่างปิติยินดีและเต็มใจ ขบวนแห่ก็จะจัดกันอย่างเต็มศรัทธา เต็มความสามารถสมแก่ฐานะของเจ้าภาพและของนาคนั้นๆ เมื่อแห่ไปถึงวัดแล้ว ตามธรรมเนียมต้องแห่เวียนโบสถ์อีก ๓ รอบ เรียกว่า ทำทักษิณาวรรต คือเวียนขวา เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าที่ประทับเป็นประธานอยู่ในอุโบสถ

ก่อนจะเข้าภายในอุโบสถ ต้องจุดธุปเทียนบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงความเคารพหน้าโบสถ์เสียก่อน ธรรมเนียมกราบพระจะต้องให้ตรงหน้าพระเสมอ แต่ที่ตรงหน้าพระนั้นมีเสมาตั้งอยู่หน้าโบสถ์จึงต้องกราบไหว้บูชาตรงเสมา เลยนิยมเรียกขานกันว่า “วันทาเสมา” แท้จริงเป็นการกราบไหว้พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นประธานในโบสถ์นั่นเอง

ตอนจะเข้าโบสถ์นี้ถือกันเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งว่า ญาติจูงนาคเข้าไป เรียกว่า จูงนาคเขาโบสถ์ (ถ้าพ่อแม่จูง แม่ต้องอยู่ขวา พ่ออยู่ซ้าย) มีความหมายว่า ยกลูกหลานเข้าไปมอบถวายพระรัตนตรัยด้วยความศรัทธา อีกนัยหนึ่งว่า นาคจูงญาติเข้าโบสถ์เพื่อให้ได้ถึงพระ ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ความปรารถนาของเจ้าภาพ

เมื่อนาคเข้าโบสถ์เรียบร้อยแล้ว ต้องจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยอีกวาระหนึ่ง แล้วกราบบิดา มารดาหรือเจ้าภาพเป็นการกราบครั้งสุดท้าย รับผ้าไตรจากบิดามารดาหรือเจ้าภาพ นาคอุ้มไตรประนมมือเดินเข่าเข้าไปนั่งท่ามกลางสงฆ์ เพื่อขอบรรพชาต่อพระอุปัชฌาย์ ตอนนี้จะเป็นพิธีทางศาสนา เช่น การสวด ขานนาคต่างๆ ตามที่ได้เตรียมฝึกซ้อมไว้แล้วเป็นลำดับๆ ไปจนสิ้นอุปสัมปทากรรม แล้วพระอุปัชฌาย์จะบอก ‘‘อนุศาสน์” คือสอนพระบวชใหม่ให้รู้ว่าเมื่อบวชเป็นพระแล้วควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร อันเป็นกิจเบื้องต้น

ตอนนี้ ญาติโยมเตรียมถวายเครื่องสักการะแก่พระอุปัชฌายะ พระกรรมวาจาจารย์ซึ่งเรียกว่า คู่สวด และพระอันดับ สำหรับพระบวชใหม่ก็ออกไปรับเครื่องสักการะที่บรรดาญาติมิตรนำมาถวาย เสร็จเรียบร้อยแล้วกลับเข้าไปนั่งที่ท้ายพระอันดับ ขณะที่สงฆ์สวดอนุโมทนาและให้พร พระบวชใหม่ก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลในการบวชให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วตามประเพณี เมื่อรินน้ำหมดแล้วก็ประนมมือรับพรจนกว่าจะสวดจบเป็นเสร็จพิธี

จากนั้น บางรายก็มีการฉลองพระบวชใหม่ บางรายก็ไม่มี ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ การบวชในบวรพุทธศาสนาของชาวไทยเรา ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณกาลและตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนมากนิยมบวชกันเป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งเรียกว้า ๑ พรรษา คือเริ่มระยะตั้งแต่กลางเดือน ๘ จนถึงกลางเดือน ๑๑ เมื่อบวชแล้วก็รับองค์กฐินด้วย ซึ่งนับว่าได้ผลานิสงส์สูงมาก การบวชอย่างอื่นๆ เช่น บวชสะเดาะเคราะห์ บวชแก้บน บวชให้คนตาย ฯลฯ จะบวชกี่วันก็ได้ไม่กำหนด

แต่อย่างไรก็ตาม การบวชพระจะตัดพิธีต่างๆ ของชาวบ้านออก ทำแต่เพียงพิธีทางศาสนาที่มีไว้ในวินัยบัญญัติเท่านั้น ไม่ต้องมีการแห่นาค ทำขวัญนาค และทักษิณาวัฏรอบโบสถ์ก็ได้

ที่มา:กรมศิลปากร