ประเพณีการห้ามราษฎรดูเจ้าชีวิต

Socail Like & Share

ในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้าพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางสถลมารคและชลมารค ห้ามราษฎรอยู่ใกล้ชิดหนทาง ถ้าราษฎรเดินยืน เยี่ยมหน้าต่าง เยี่ยมประตูที่ใกล้ทางเสด็จพระราชดำเนิน ม้านำริ้วแลเจ้าพนักงานในเรือประตูหน้า ประตูหลัง ในเรือดั้ง ในเรือพระที่นั่งก็เอากระสุนยิง เป็นกฎหมายเก่าที่ใช้กันต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปรับปรุงประเพณีการห้ามราษฎรดูเจ้าชีวิตกฎหมายข้อนี้ใหม่ กล่าวคือ มีราษฎรถูกกระสุนยิงลูกตาแตกได้รับทุกขเวทนาสาหัส จึงตราพระราชบัญญัติห้ามเจ้าพนักงานเอากระสุนยิงราษฎรต่อไป ให้เงือดเงื้อพอให้รู้ว่าห้ามดังกล่าวแล้ว ราษฎรก็จะกลัวไปเอง ถ้าเห็นคน ทำกิริยาไม่เคารพหรือไม่เรียบร้อยก็โบกมือให้รู้บ้าง หรือเพียงแต่ยกกระสุนขึ้นเงือดเงื้อเท่านั้นราษฎรก็กลัวลานแล้ว

ธรรมเนียมนี้ใช้กันสืบมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติห้ามกระสุนยิงราษฎร แต่ก็ยังมีราษฎรที่ถูกกระสุนอีก อาจเป็นเพราะผู้เข้ารับหน้าที่ใหม่ไม่รู้ว่าได้มีประกาศห้าม หรือเป็นด้วยเจ้าพนักงานคะนองใจคะนองมือบ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ประกาศว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปทางสถลมารค ทางชลมารค ก็อย่าให้กรมเมือง นายอำเภอ และกรมไพร่หลวงที่ไปนั่งกองจุกช่องล้อมวงไล่ราษฎร
ชาวบ้านไปไกลเลย แลอย่าให้ปิดประตูบ้าน แลประตูโรง ประตูร้าน ประตูเรือน ประตูแพ ประตูหน้าถังเสียดังแต่ก่อน ให้ราษฎรเจ้าของบ้านเป็นผู้ใหญ่ในบ้านในเรือน ออกมาคอยเฝ้ารับเสด็จถวายบังคมให้ทอดพระเนตรเห็น ถ้าทรงรู้จักจะได้ทรงทักทายปราศรัยบ้างตามสมควรให้ได้ความยินดี นับเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมพระบารมี และพระองค์ยังสามารถไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรได้ ประเพณีการให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมัยที่ประเทศต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์รอบบ้านเมืองเพื่อรักษาความอยู่รอดของชาติ จึงมุ่งนโยบายพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปตามแบบตะวันตกในหลายๆ ด้าน เลิกคตินิยมที่จะเจริญรอยตามกรุงศรีอยุธยาอย่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุคใหม่เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่าง เช่น ประเพณีห้ามประชาชนดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินดังได้กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนี้พระองค์ยังเสด็จประพาสพระนครเพื่อให้ราษฎรเข้าเฝ้าซึ่งเป็นผลให้ทรงทราบกิจการบ้านเมืองตลอดจนความเป็นอยู่ของราษฎร ในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์มักจะอยู่แต่ในพระราชวังจะเสด็จออกจากพระราชวังต่อเมื่อถวายผ้าพระกฐิน การกระทำของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการล้มเลิกธรรมเนียมเก่าโดยสิ้นเชิงดังปรากฏหลักฐานในหนังสือแผ่นดินพระจอมเกล้า ที่นายแอ็บบ๊อต โลว์ มอฟแฟ็ท เขียนไว้ว่า “ส่วนทางประเทศสยาม พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกจากพระราชวังเพียงปีละครั้งเดียว คือตอนเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิวัติขนบธรรมเนียมประเพณีนี้เสียสิ้นเชิง โดยได้เสด็จไปไหนต่อไหนอยู่เรื่อยๆ และในบางโอกาสก็เป็นการเสด็จประพาสต้น

พระองค์ยังทรงเห็นความสำคัญของการอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรจึงเปิดโอกาสให้ราษฎรตีกลองร้องฎีกาซึ่งสามารถร้องทุกข์ต่อพระองค์ได้ เป็นผลให้ราษฎรได้รับความเป็นธรรม บรรเทาการกดขี่ข่มเหงจากผู้ใช้อำนาจเกินขอบเขต พระองค์ถึงกับทรงออกรับฎีกาด้วยพระองค์เอง โปรดให้เลิกระเบียบเฆี่ยนผู้ถวายฎีกา แต่พระราชทานรางวัลให้แก่ราษฎรผู้ถวายฎีกาเป็นเงินคนละ ๑ สลึง ถ้าชำระได้ความตามสัตย์แล้วก็จะพระราชทานเพิ่มให้อีก ๑ สลึง

ที่มา:กรมศิลปากร