ประเพณีการเชื่อถือผีสางเทวดา

Socail Like & Share

ผีไม่ได้หมายความถึง คนที่ตายไปแล้ว แต่หมายถึงผู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤทธิ์อำนาจอาจบันดาลอะไรให้ผิดไปจากปกติได้ ผีแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ผีที่ดี ที่ให้คุณไม่ให้ร้ายต่อใคร เว้นเสียแต่คนจะไปทำให้โกรธ ผีประเภทนี้ ได้แก่ ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ รุกขเทวดา เป็นต้น ส่วนอีกประเภท คือ ผีร้ายคอยให้ร้ายและซ้ำเติมมนุษย์อยู่เสมอ เช่น ผีปีศาจต่างๆประเพณีแห่นางแมว

ในสมัยโบราณคนเราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การประกอบอาชีพก็อาศัยธรรมชาติขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ซึ่งต้องประสบกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอยู่เสมอๆ เช่นนํ้าท่วม ลมพายุ ฝนแล้ง ฯลฯ ทำให้เกิดความเชื่อว่าในธรรมชาติเหล่านี้มีผีหรือเทวดาประจำอยู่และสามารถดลบันดาลสิ่งดีและสิ่งร้ายให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นในชีวิตประจำวันของคนในสมัยโบราณ จะต้องมีประเพณีการยึดถือหรือการเซ่นสรวงผีสางเทวดาเสมอ เช่น ในบางท้องถิ่นที่เป็นช่องทางป่า หรือเป็นชะง่อนผา หรือคุ้งนํ้าใหญ่เงียบสงัด หรือตามใต้ต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นตะเคียน ต้นกร่าง ฯลฯ มักจะมีคนสร้างศาลไว้เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาหรือผีที่รักษาที่เหล่านั้นด้วย เพื่อผู้คนสัญจรไปมากราบไหว้บูชาเพื่อสวัสดิภาพในการเดินทางและความมีสิริมงคลแก่ตนเอง บรรดาผีหรือเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามศาลเหล่านี้ ถ้าหากมีผู้ใดไม่เคารพยำเกรงจะดลบันดาลให้ได้รับอันตรายต่างๆ ได้

นอกจากนี้ยังมีผีหรือเทวดาที่อยู่ประจำรักษาหมู่บ้าน หรือรักษาบ้านที่เราเรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งคนจะต้องจัดตั้งศาลไว้ให้ตามปากทางเข้าหมู่บ้าน หรือยกเป็นศาลตั้งไว้ในบริเวณบ้าน เมื่อมีงานอะไรก็เซ่นไหว้เพื่อให้งานที่จะทำบรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่นสะดวกไม่มีอุปสรรค
นอกจากผีประจำหมู่บ้านแล้ว เมืองต่างๆ ยังมีผีหรือเทวดาประจำรักษาเมืองด้วย เมืองที่สำคัญๆ มักจะสร้างศาลหลักเมืองให้เป็นที่สถิตของเทวดารักษาเมืองเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้นในการที่มีงานสำคัญๆ หรือประเพณีสำคัญๆ ก็ต้องมีการเซ่นสรวงหรือบวงสรวง

ที่จริงในชีวิตประจำวันของคนไทยมีการเกี่ยวข้องกับผีสางเทวดามาตั้งแต่แรกเกิด คือ ในประเพณีการเกิด ถือกันว่าในระหว่างที่สตรีตั้งครรภ์นั้นจะต้องเสี่ยงอันตรายต่างๆ ทำให้ใจคอไม่สบาย ขวัญไม่ดี ต้องหาของป้องกัน เช่น แขวนตะกรุด พิสมร เป็นต้น เมื่อคลอดแล้วบนเรือนต้องมีผ้ายันต์ สายสิญจน์ ใบหนาดเสียบไว้ ส่วนใต้ถุนเรือนจะต้องนำหนามพุทรา หนามมะขามเทศหรือหนามไผ่มาสะไว้ เพื่อป้องกันผีมารบกวน ก่อนที่สตรีคลอดลูกจะเข้าอยู่ไฟ ต้องเซ่นไหว้แม่ก้อนเส้าเตาไฟซึ่งถือว่าเป็นเทวดารักษาเตาไฟเสียก่อน

ส่วนเด็กที่เกิดมาใหม่ จะมีแม่ซื้อประจำวันของเด็กติดมาด้วย แม่ซื้อนี้เชื่อกันว่าเป็นผีมีลักษณะแตกต่างกันตามวัน นอกจากแม่ซื้อประจำวันแล้วยังมีแม่ซื้ออีก คือแม่ซื้อกลางหน แม่ซื้อเมืองบน และแม่ซื้อใต้ที่นอน เวลาเด็กหลับหรือเด็กไม่สบาย แม่ซื้อจะมาหยอกล้อรบกวนเด็ก เพราะคนสมัยโบราณ เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดต้องถูกผีปั้นมาก่อน และเมื่อมาเกิดแล้วหน้าตาน่ารัก ผีก็จะชอบและมาเอาเด็กไปทำให้เด็กตาย ฉะนั้น เมื่อเด็กเกิดจึงต้องทำพิธีเพื่อหลอกผีไม่ให้มาเอาเด็กไปได้ เช่น ประเพณีการร่อนกระด้งที่ใส่เด็ก พร้อมกับพูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครมารับเอาไปเน้อ’’’ และจะมีคนตอบรับว่า “ลูกของฉันเอง” พร้อมกับรับเด็กไป ซึ่งเป็นการแสดงให้ผีเห็นว่า ผีไม่มีสิทธิที่จะมาเอาเด็กไปได้และ เมื่อเด็กเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย ก็จะถือว่าแม่ซื้อมารบกวน มาหลอกล้อทำให้เด็กสะดุ้งผวา ต้องทำพิธีเซ่นแม่ซื้อ โดยนำเอาข้าวสุกปากหม้อมาปั้นเป็นก้อนสี่ก้อน คลุกปูนแดงก้อนหนึ่งเรียกว่า “ข้าวแดง” คลุกขมิ้นก้อนหนึ่งเรียกว่า “ข้าวเหลือง”คลุกมินหม้อก้อนหนึ่งเรียกว่า “ข้าวดำ” อีกก้อนหนึ่งเป็นสีขาว เรียกว่า“ข้าวขาว” วางลงไว้ในจานหรือในกระทง เมื่อทำพิธีจะหยิบข้าวมาวนที่ตัวเด็กก้อนละ ๓ ครั้งแล้วกล่าวฟาดเคราะห์ว่า

“แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อใต้ที่นอน มารับเอาก้อนข้าวของลูกไป โรคร้ายไข้ร้อนไปให้หมด วู้” เมื่อกล่าวจบแล้วจึงเอาข้าวขาว เหลือง แดง โยนข้ามหลังคาบ้านไปส่วนข้าวดำนั้นให้โยนลงใต้ถุนเรือน เชื่อกันว่าทำเช่นนี้แล้วเด็กจะหายป่วยไข้ได้

ประเพณีการนับถือผีบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่จะมีนับถือกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมากเป็นบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เรียกรวมกันว่า ผี ปู่ย่า (ทางภาคเหนือ) หรือ ผีตายาย (ทางภาคอีสาน) ส่วนในภาคกลางเรียกผีปูย่าตายายหรือผีบรรพบุรุษ เมื่อบุตรหลานผู้ใดแต่งงานจะต้องมีการจัดหาผ้าไหว้ คือ ผ้าขาว ๑ สำรับ และอาหารคาวหวานอย่างละสำรับเพื่อใช้ไหว้ผีบรรพบุรุษด้วย ในจังหวัดภาคเหนือ ถ้าหนุ่มสาวคู่ใดทำผิดประเพณี เช่น จับมือถือแขนกันหรือลักลอบได้เสียกันก่อนที่จะทำพิธีแต่งงาน ถือว่าผิดผีต้องทำการขอขมาต่อผีปู่ย่าตามประเพณี เรียกว่า “เสียผี” ฝ่ายชายจะต้องเสียค่าไหว้ผีตามแต่ทางฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง

ในประเพณีการปลูกบ้านสร้างเรือนก็แสดงออกถึงการนับถือผีสางเทวดาอย่างเห็นได้ชัดคือ การเข้าป่าหาไม้มาปลูกบ้าน จะต้องหาไม้มาจากป่าเดียวกันเพราะถ้าหากเอาไม้ต่างป่ามาจะทำให้นางไม้ที่ประจำอยู่ตามต้นไม้ที่นำมาปลูกบ้านเกิดทะเลาะวิวาทกันทำให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านอยู่ไม่เป็นสุข หรือการเลือกไม้ต้องไม่เลือกไม้ตะเคียนมาทำบ้านเพราะเชื่อกันว่าในไม้ตะเคียนมีนางไม้ที่เรียกว่า นางตะเคียนสิงอยู่ เมื่อนำมาทำบ้านเรือนนางตะเคียนจะให้โทษแก่เจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังมีพิธีทำบัตรพลีโดยการปลูกศาลเพียงตา ตั้งสังเวยกรุงพาลีพระภูมิเจ้าที่ เทวดาต่างๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางในที่ที่จะปลูกเรือน เพื่อเป็นการแสดงคารวะและบอกเล่าเก้าสิบให้เจ้าที่เจ้าทางได้รู้ก่อน และที่หัวเสาเอก จะมีผ้ายันต์ปิดทับเอาไว้ด้วยเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจและเสนียดจัญไร และมีการทำขวัญเสาเรียกขวัญพญาไม้ที่นำมาทำเสาเอกให้มาอยู่ที่เสาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของเรือน

นอกจากประเพณีดังกล่าวแล้วยังมีประเพณีตามฤดูกาลอีก เช่น ประเพณีการทำขวัญข้าว ประเพณีคูณลานในทางภาคอีสาน เป็นต้น หรือถ้าฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็จะ มีประเพณีแห่นางแมว ขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งรวมทั้งประเพณีการแห่บั้งไฟในภาคอีสานด้วย ประเพณีที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นประเพณีเนื่องในการเชื่อถือผีสางเทวดาผู้รักษาผลิตผลในทางเกษตรกรรมทั้งสิ้น

ส่วนในภาคเหนือจะมีประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาเหมือนกัน เช่น ประเพณีการทำบุญสืบชาตาบ้าน สืบชาตาเมือง และสืบชาตาคน

ยังมีผีสางเทวดาอีกอย่างหนึ่งที่คนนิยมนับถือกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ คือ “พระภูมิเจ้าที่” ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าบ้านแทบทุกบ้านจะต้องมี “ศาลพระภูมิ” ประจำเพื่อรักษาและคุ้มครองปกบ้องภัยอันตรายต่างๆ แก่คนในบ้าน พระภูมิคนโดยทั่วๆ ไปจะเรียกชื่อว่า ชัยมงคล ตัวพระภูมิทำด้วยไม้หรือที่เรียกกัน ว่า “เจว็ด” ตั้งอยู่ภายในศาล ต่อมาความนิยมนับถือเทวดาอื่นเพิ่มขึ้นมีคนมาดัดแปลงปั้นรูป พระพรหม ประดิษฐานอยู่ในศาลทำนองเดียวกับศาลพระภูมิ เคารพนับถือทำนองเดียวกับศาลพระภูมิ เรียกพระพรหมนี้ว่า “ท้าวมหาพรหม” ศาลพระภูมิหรือศาลท้าวมหาพรหมนี้บางแห่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ตามที่มีคนมาบนบานไว้ จะต้องมีการแก้บนตามที่ได้ให้สัญญา กับพระภูมิเจ้าที่ด้วย ถ้าหากไม่ทำตามที่ได้บนบานไว้ พระภูมิเจ้าที่จะพิโรธและจะบันดาลภัยพิบัติต่างๆ ให้แก่ผู้ที่บนบานไว้ได้ บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตก็มี

นอกจากการเชื่อถือผีในประเพณีต่างๆ แล้ว ในชนบทโดยเฉพาะในภาคอีสาน ความเชื่อเรื่องผี ปีศาจ และเทวดายังมีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป เช่น ในงานบุญข้าวประดับดินเป็นการทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เช่นเดียวกับทางภาคใต้ที่มีประเพณีชิงเปรต ในเดือนสิบเป็นต้น

ในกรณีที่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยและรักษาไม่หายในภาคอีสาน จะลงความเห็นว่าผีมาทำร้ายให้เจ็บไข้ได้ป่วยจะมีการหาหมอผีเก่งๆ มาไล่ผีให้ออกไปจากร่างคนเจ็บด้วยกรรมวิธีต่างๆ บางครั้งคนเจ็บถึงตายก็มี

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเชื่อถือผีสางเทวดาแล้ว ก็ควรจะกล่าวถึงการเชื่อถือโชคลางและความฝันควบคู่กันไปด้วย เพราะความฝันและโชคลางนี้คนไทยเชื่อถือกันมานาน จนกระทั่งมีผู้เขียนเป็นตำราทำนายฝันไว้บ้าง และในหนังสือวรรณคดีของไทยก็ได้กล่าวถึงเรื่องความฝันและโชคทางไว้มากเช่น กัน เช่น เสภาเรื่องขุนข้างขุนแผนซึ่งสันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น จะขอยกตัวอย่างเรื่องความฝันก่อน เช่น ตอนกำเนิดพลายแก้ว(ขุนแผน) กล่าวไว้ว่า

“มาจะกล่าวถึงนางทองประศรี     นอนด้วยสามีในเรือนใหญ่
นิมิตฝันนั้นว่าท้าวสหัสนัยน์        ถือแหวนเพชรเม็ดใหญ่เหาะดั้นมา
ครั้นถึงจึงยื่นแหวนนั้นให้        นางรับแหวนไว้ด้วยหรรษา
แสงเพชรส่องวาบปลาบเข้าตา     ตื่นผวาค้นทั่วปลุกผัวพลัน
ฝันว่าได้ธำมรงค์วงวิเศษ        ของโกสีย์ตรีเนตรอันเฉิดฉาย
เพชรรัตน์อร่ามงามเพริศพราย    บรรยายว่าเป็นสิ่งมิ่งมงคล
จะมีครรภ์ลูกนั้นจะเป็นชาย        ดังทหารนารายณ์มาปฏิสนธิ

กล้าหาญการณรงค์คงทน        ฤทธิรณปราบทั่วทั้งแดนไตร”

อีกตอนหนึ่งคือตอนที่ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง นางวันทองฝันว่าไฟไหม้ในมุ้งและไหม้ขุนช้างทั้งตัวขุนแผนได้ทำนายฝันว่า

“เจ้าฝันว่าไฟฟอนฟูกหมอนม่าน    จะมีท่านผู้อื่นเอามาให้
อันซึ่งว่าครวญครํ่ารํ่าพิไร        จะเกลียดไกลคนชั่วที่มัวเมา
ฝันว่าร้องไห้จะได้ชม            ของรักตกตมจะคืนเข้า
ที่ร้อนโรคโศกร้างจะบางเบา        มิตรเก่าจะประคองวันทองน้อย”

อีกตอนหนึ่งคือตอนที่ขุนข้างตามหานางวันทอง โดยกราบทูลสมเด็จพระพันวษาว่าขุนแผนเป็นกบฏทำให้สมเด็จพระพันวษาโปรดให้จมื่นศรีสรรักษ์ และจมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพ มีขุนเพชรอินทรา กับขุนรามอินทราเป็นปีกซ้ายปีกขวา และก่อนออกเดินทางภรรยาขุนเพชรอินทราฝันว่าถูกฟันตัวขาด เป็นสองท่อนและภรรยาขุนรามอินทราฝันว่าฟันหักสามซี่ ซึ่งเป็นฝันร้ายและในที่สุดขุนเพชรอินทราและขุนรามอินทราก็ตาย เป็นต้น

โชคลาง
โชคลางเป็นความเชื่อถือของคน เกิดตามลักษณะอาการของความสังหรณ์ต่างๆ และคนในสมัยโบราณก็เป็นคนช่างสังเกตช่างจดจำ ทำให้ความเชื่อถือโชคลางยังคงเป็นที่เชื่อถือกันมาทุกวันนี้ ตัวอย่างการเชื่อถือโชคลาง เช่น ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงตอนที่ขุนรามอินทราลาภรรยา เพื่อยกทัพไปจับขุนแผน ขณะที่ลงบันไดบ้านปรากฏว่าบันไดหักซึ่งถือว่าเป็นลางร้าย ดังกลอนที่ว่า

“บันไดไหวยวบหักสวบมา        ห้าขั้นสะบั้นลงจมดิน
อัศจรรย์หวั่นไหวข้างในจิต        ครั้งนี้ชีวิตจะสูญสิ้น
จะตายจากพรากเจ้าผู้เพื่อนกิน     ผินหน้าดูเมียยิ่งเสียใจ”

และตอนขุนเพชรอินทราลาภรรยาว่า
“เมียยกมือไหว้แลไปดู        ไม่เห็นหัวผัวอยู่แต่เพียงบ่า
ตกใจวิ่งไปแล้วโศกา        พ่อฟังเมียว่าอย่าเพ่อไป”

และตอนที่พลายงามถูกขุนช้างลวงไปฆ่า นางวันทองก็ได้พบกับลางสังหรณ์หลายประการ เช่น กลอนที่ว่า
“คิ้วกระเหม่นเป็นลางแต่กลางวัน           ให้หวั่นหวั่นหวิวหวิวหิวหาวนอน
พอม่อยหลับคลับคล้ายเห็นพลายน้อย    ขุนช้างถอยทับไว้ด้วยไม้ขอน”

“พอแมลงมุมอุ้มไข่ไต่ตีอก        นางผงกเงี่ยฟังดังผึงผึง
ประหลาดลางหมางจิตคิดคะนึง    รำลึกถึงลูกชายเจ้าพลายงาม”

ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความฝัน โชคลางและการเชื่อถือผีสางเทวดา ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ความเชื่อเหล่านี้ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบันและผู้ที่เชื่อถือเรื่องเหล่านี้ก็มิใช่แต่ชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีแล้วก็ยังมีความเชื่อถืออยู่และอาจจะเชื่อถือมากกว่าชาวบ้านธรรมดาเสียอีก ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะคนในปัจจุบันไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากตัวเอง และมักจะประสบกับปัญหาด้านต่างๆ มากมาย จึงต้องหันหน้าเข้าพึ่งผีสาง เทวดาโชคลาง และการทรงเจ้าเข้าผีเป็นเครื่องปลอบใจ อย่างไรก็ตามแม้ว่าความเชื่อถือเรื่องผีสาง เทวดาโชคลางและความฝันต่างๆ จะนับว่าเป็นความคิดที่ล้าสมัยเป็นความเชื่อที่งมงาย แต่ก็นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยที่ยึดถือสืบทอดกันเป็นประเพณีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และการเชื่อถือ ผีสางเทวดาในประเพณีบางประเพณี ก็สมควรจะอนุรักษ์หรือฟื้นฟูไว้ให้คงอยู่ต่อไป

ที่มา:กรมศิลปากร