การทำบุญตักบาตร

การทำบุญตักบาตรถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของไทย อาจทำเป็นประจำทุกวัน ทำเป็นบางครั้งบางคราว หรือทำในโอกาสวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา สารท วันขึ้นปีใหม่ หรืออาจทำในกรณีพิเศษ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น ตักบาตร ทำบุญตักบาตรคือ การนำข้าวและกับใส่ในบาตรและพระสงฆ์หรือสามเณร มักนิยมมีทั้งของคาวของหวานคู่กันไปด้วย บางคนก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนด้วย

การทำบุญตักบาตรไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์แต่อย่างใด ทำตามความสมัครใจ ตามกำลังศรัทธา ตลอดจนตามฐานะและกำลังทรัพย์ โดยไม่เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ ของที่ตักบาตรไม่จำเป็นต้องมีมากมายจนเกินกำลังความสามารถของตน ของที่นำมามักจะเป็นของที่เราเตรียมไว้สำหรับรับประทานอยู่แล้ว และแบ่งเอามาใส่บาตร แต่ต้องมีคุณภาพดีและเป็นส่วนที่ดี เช่น ข้าว ก็ควรเป็นข้าวปากหม้อ กับข้าวก็ควรตักแบ่งไว้ก่อน นอกจากนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องใส่บาตรกับพระสงฆ์สามเณรให้มากรูป ใส่เพียง ๑ รูป หรือมากกว่านี้แล้วแต่กำลังทรัพย์และความศรัทธา การทำบุญตักบาตรไม่ควร เฉพาะเจาะจงจะใส่บาตรพระรูปนั้นรูปนี้ เมื่อพระภิกษุรูปใดผ่านมาก็ตั้งใจใส่บาตรแก่พระภิกษุรูปนั้น และรูปอื่นๆ ต่อไป

การทำบุญตักบาตรมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มูลเหตุของการตักบาตรมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัยและคัมภีร์ปฐมสมโพธิว่า

เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ไต้ตรัสรู้ เสด็จประทับอยู่ที่สวนมะม่วง ตำบลอนุปิยะ หรือที่เรียกกันว่า อนุปิยอัมพวัน แคว้นมคธ ชั่วเวลา ๗ วัน พระพุทธองค์เสด็จจาริกภิกขาจาร (บิณฑบาต) ผ่านกรุงราชคฤห์ ราชธานีของพระเจ้าพิมพิสาร ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตครั้งแรกก็พากันนำอาหารมาใส่บาตรเป็นอันมาก นับแต่นั้นจึงถือเป็นธรรมเนียมต่อมา อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด (ราชายตนะ) มีพ่อค้า ๒ นายชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร ซึ่งเป็นมูลเหตุการตักบาตรอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อจะใส่บาตรนิยมตั้งจิตอธิษฐานก่อน โดยถือขันข้าวด้วยมือทั้งสอง นั่งกระหย่งยกขันข้าวขึ้น เสมอหน้าผาก กล่าวคำอธิษฐานว่า “สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ” แปลว่า “ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสฯ” ในครั้งโบราณมักเติมคำว่า “นิพพานะปัจจะโย โหตุ” ต่อท้าย แปลว่า ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ลุกขึ้นยืน มือซ้ายถือขันข้าว มือขวาจับทัพพี (หรือตามถนัด) ตักข้าวให้เต็มทัพพี บรรจงใส่ให้ตรงบาตร ส่วนกับข้าวนั้นบางคนก็ใส่ไปในบาตรด้วย (ส่วนมากเป็นของแห้ง และบรรจุไว้เรียบร้อยแล้ว) บางคนก็วางบนฝาบาตร และลูกศิษย์ก็จะหยิบใส่ย่ามหรือใส่ปิ่นโตต่อไป ถ้ามีดอกไม้ ธูป เทียน ผู้ชายนิยมส่งดอกไม้ธูปเทียนถวายกับมือพระ ผู้หญิงวางบนฝาบาตร

เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว ถ้ามีโต๊ะรองอาหาร หรือมีรถยนตร์จอดอยู่นิยมวางขันข้าวบนโต๊ะหรือรถยนตร์ ยืนตรงน้อมตัวไหว้ ถ้าไม่มีโต๊ะ นิยมนั่งกระหย่งวางขันข้าวข้างตัว ยกมือไหว้ พร้อมทั้งควรกล่าวคำอธิษฐานว่า
นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ฯ
(สรณะอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อเทอญ)

แม้การใส่บาตรพระรูปต่อๆ ไป ก็นิยมปฏิบัติในการใส่บาตรและแสดงความเคารพด้วยการไหว้ดังกล่าวแล้วทุกครั้ง จนสิ้นสุดการใส่บาตร
มีข้อสังเกตว่า วิธีการใส่บาตรนี้ ผู้ใส่ต้องยืนใส่บาตรและแสดงอาการคารวะต่อพระสงฆ์สามเณร ไม่นิยมสวมรองเท้าใส่บาตร ยกเว้นผู้ที่สวมรองเท้าชนิดหุ้มส้นที่เป็นที่ยอมรับในวงสังคมว่าสุภาพเรียบร้อยอยู่แล้ว การแต่งกายควรแต่งให้เรียบร้อยและสุภาพ การที่นิยมยืนใส่บาตรนั้น เพราะพระสงฆ์ท่านยืนรับ และการจะให้ท่านน้อมตัวลงรับบาตร (ในกรณีที่นั่งใส่บาตร) จะไม่เป็นการสุภาพและไม่สะดวกกับพระท่านเอง อีกประการหนึ่ง มีข้อบัญญัติไว้ในระเบียบวินัยของพระภิกษุว่า กิริยายืนนี้เป็นการแสดงความเคารพกัน เช่น พระภิกษุผู้น้อยย่อมยืนรับพระเถระผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความคารวะ ถ้าภิกษุยืนรับบาตร และผู้ใส่บาตรนั่งใส่เท่ากับภิกษุแสดงอาการคารวะต่อผู้ใส่ ดูไม่งามและไม่เหมาะสมนัก ยกเว้นผู้มีโรคภัยบางอย่างที่ไม่สามารถยืนใส่บาตรได้ อาจนั่งใส่บาตรได้ และการที่สมควรถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร เพราะพระสงฆ์ (บางองค์) ไม่ได้ใส่รองเท้าอยู่แล้ว และยังมีบัญญัติไว้ในระเบียบวินัยของสงฆ์อีกว่า ผู้อ่อนพรรษากว่าไม่ควรสวมรองเท้าเข้าใกล้พระเถระผู้มิได้สวม

ข้อควรระวังในการใส่บาตร คือพยายามอย่าให้เมล็ดข้าวหล่นออกมานอกบาตร อย่าใช้ทัพพีเคาะขอบบาตร อย่าแสดงอาการตระหนี่กลัวข้าวสุกจะหมดเวลาตัก อย่าชวนพระสนทนา อย่าถามพระหลังจากใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้วนิยมกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุคลไปให้แก่บรรพบุรุษด้วย ชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนานิยมใส่บาตรเป็นประเพณีสืบมา และสมควรที่จะช่วยกันรักษาประเพณีนี้สืบไป เพราะพระสงฆ์สามเณรท่านดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการที่ผู้อื่นนำปัจจัย ๔ มาถวายคำว่า ภิกขุ แปลว่า ผู้ขอ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร และพระสงฆ์ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรอยู่แล้ว นอกจากนี้พระสงฆ์ยังเป็นผู้สั่งสอนและดำรงหลักธรรมคำสอนแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชาวพุทธจึงควรใส่บาตรเพื่อบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่ต่อไป

การทำบุญนั้น ถือหลักว่า ผู้ทำควรทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ปัจจัยที่ถวายควรบริสุทธิ์ และภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์ ถือว่าได้ผลานิสงส์มาก เชื่อกันว่าการทำบุญจะส่งผลให้มีความสุขความเจริญรุ่ง เรืองในภายหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลในด้านจิตใจขณะที่ทำอยู่ด้วย นับได้ว่าให้ประโยชน์ทั้งตัวผู้ใส่ พระสงฆ์ และพระพุทธศาสนา

ที่มา:กรมศิลปากร