ประเพณีเนื่องในการเกิดและเลี้ยงลูก

Socail Like & Share

ถ้าประเพณีหมายถึงแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อๆ มาอย่างไม่ขาดตอน ประเพณีก็ต้องมีเหตุมีผลอยู่ในตัวเองแล้ว จึงทำให้ประเพณียังคงเป็นประเพณีอยู่จนทุกวันนี้ ประเพณีเนื่องในการเกิดก็เช่นเดียวกัน ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องมีประเพณีนี้เกิดขึ้นเล่า การคลอดลูกสำหรับการจะตอบปัญหาให้เห็นกันชัดๆ นั้น มีหนทางกระทำได้อยู่ทางเดียวเท่านั้น คือการเดา หรือจะกล่าวให้เป็นศิลปและศาสตร์ก็ต้องว่าคาดคะเน สันนิษฐาน หรือสมมุติฐาน ในที่นี้จะขอชี้เหตุอันจะเป็นผลต่อไปไว้สัก ๓ ประการ

ประการที่ ๑ เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจจะเกิดแก่หญิงมีครรภ์

ประการที่ ๒ เพื่อให้คลอดง่าย ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ให้กำเนิดทารก

ประการที่ ๓ เพื่อคุ้มครองปกป้องเด็กทารกที่คลอด ให้มีชีวิตรอดอยู่เป็นผู้เป็นคนต่อไป

เหตุทั้ง ๓ ประการนี้ ก็มีเค้าเงื่อนมาจากความเชื่อทางลัทธิและศาสนา ซึ่งถ้าได้สืบสาวราวเรื่องของลัทธิความเชื่อจะเห็นได้ว่าความเชื่อดังกล่าวซึ่งมีต้นเค้ามาจากความไม่รู้นั่นเองเป็นเบื้องแรก ขั้นต่อมาก็เป็นความกลัว ขณะเดียวกันถ้ามีสถานการณ์อื่นๆ เข้ามาสอดแทรกหรือส่งเสริมขึ้นอีกความกลัวจะพัฒนาไปสู่การดิ้นรนเพื่อความปลอดภัยตามวิสัยของผู้ที่รักชีวิต จึงทำให้เกิดการแสวงหาที่พึ่งที่ยึดถือขึ้น ตอนนี้เองการบนบานสานกล่าว การวิงวอนขอพร ขอความคุ้มครองก็ตามมา จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ที่มีจิตใจกล้าแข็ง มีความคิดสุขุมลึกซึ้งกระทำตัวเป็นผู้ชี้แนะ ซึ่งจะเป็นหมอผีหรือเป็นศาสดาก็ตามที ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันและกัน ถ้าการชี้แนะนั้นเป็นผลก็เลื่องลืออื้ออึงกันไป ความเชื่อถือก็เกิดขึ้นแผ่ขยายไปไกลแบบตื่นข่าวตื่นมงคล เปรียบเหมือนว่าการกระทำใดๆ ให้แพร่ไปยังชนหมู่มากก็ย่อมได้ผลบ้าง เสียผลบ้าง แต่ก็ธรรมดาอีกนั่นแหละที่คนเราย่อมมีทั้งจำได้กับลืมง่าย สลับกันไป เมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน สิ่งเก่าๆ ก็ยกเลิกไป ส่วนที่ยังเป็นความรู้พอใช้ประโยชน์ได้ก็คงจะตกค้างอยู่ เพราะมีผู้นำไปใช้แพร่หลายกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อปฏิสนธิถือกำเนิดนี้ เมื่อเริ่มต้นก็เริ่มด้วยความรื่นรมย์ จึงทำให้ผู้คนลืมนึกกันไปถึงเรื่องความเจ็บปวด ความทุรนทุราย หรือแม้แต่ความไม่ปลอดภัยในภายหลังอันจะเกิดแก่ผู้ให้กำเนิด

ดังนั้น เพียงชั่วเวลาไม่นานนัก ความรู้แขนงนี้จึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู และยังคงมีอยู่สืบทอดกันต่อไป จนกลายเป็นประเพณีในที่สุด

ประเพณีเนื่องในการเกิดย่อมผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ทั้งยังมีอุปสรรคอื่นๆ อีกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้ประเพณีเหล่านี้ไม่เหมือนกัน อุปสรรคนั้นๆ ได้แก่การคมนาคม การสื่อสาร ความใกล้ไกล ศูนย์อิทธิพล ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญของประเพณีนี้ก็หนีไม่พ้นข้อห้ามที่กำหนดให้ละเว้นกับข้อพึงปฏิบัติที่ต้องกระทำอย่างเพิกเฉยไม่ได้เลย ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงสังเขปเท่านั้น

ตามธรรมดาแล้ว ครอบครัวอันประกอบด้วยคู่ผัวตัวเมีย ย่อมจะก่อให้เกิดบุตรธิดาเป็นการสืบพันธุ์ของมนุษยชาติไม่ให้เสื่อมสูญ และเมื่อก่อนจะตั้งครรภ์ ก็มักจะมีอาการต่างๆ มาเตือน เช่น ฝันอย่าง แปลก หญิงมีอาการแพ้ท้อง อยากกินของเปรี้ยว หรือมีความอยากอาหารที่ผิดธรรมชาติ จนมีคำกล่าวเป็นคติไว้ว่า ถ้ามารดาอยากกินเนื้อสัตว์ของสดคาว ผู้มาเกิดมาจากสัตว์นรก อยากกินนํ้าผึ้งนํ้าหวาน เทวดามาจุติ อยากกินดิน พรหมมาเกิด อยากกินของเผ็ดร้อน มนุษย์ด้วยกันมาเกิด อยากกินผลไม้ เดียรัจฉานมาเกิด และเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์ไปแล้ว มารดาผู้ให้กำเนิดมักจะเล่าสู่กันฟังเมื่อกล่าวพาด พิงถึงเลือดเนื้อเชื้อไขอันเป็นประสบการณ์ของตน และกล่าวอย่างสนุกสนานทีเดียว ถึงแม้ขณะนี้ก็ยังเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่า “เมื่อฉันท้องเจ้า…แหมมันอยากกินไก่ อยากจนไม่รู้จะทำอะไรถูก เรียกว่าพอ
ได้ยินไก่ขันเอ้กละแกเอ๋ย ฉันงี้นํ้าลายสอเลย….” และยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมาย บางทีอาการอย่างนี้ไม่เกิดแก่ผู้หญิงคนใดแต่ไปเกิดกับฝ่ายผู้ชายซึ่งเป็นสามี เช่นมีอาการปวดเมื่อยแข้งขา กล่าวกันว่าเด็กมันมาเกาะจะขอไปเกิดเป็นลูก เลยแพ้ท้องแทนเมีย

ทีนี้พอรู้ตัวว่ามีครรภ์เท่านั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ก็บอกกล่าวสั่งการกันยกใหญ่ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและข้อปฏิบัติ เช่นว่า อย่าไปข้ามเชือกผูกม้า (สายบังเหียน) เดี๋ยวจะท้องเกินกำหนด ซึ่งปกติคนท้องเก้าเดือน หรือในวรรณคดีต่างๆ ของไทยจะเกินไปอีกเดือนก็พออนุโลมตามได้ว่าท้องปกติ ห้ามไปงานศพเพราะวิญญาณผู้ตายจะเข้ามาซ้อนวิญญาณของเด็กในท้อง แต่ถ้าจำเป็นต้องไปจริงๆ ก็เอาเข็ม หรือเข็มกลัด กลัดชายพกหรือชายเสื้อเอาไว้ ห้ามไปเยี่ยมหน้าดูเขาคลอดลูก เพราะเด็กมันอายกันไม่กล้าออกมา ทำให้คนที่กำลังจะคลอดลูกคลอดไม่ออก อย่าไปฟังพระสวดญัตติ จะคลอดลูกยาก อย่าไปฟังสวดภาณยักษ์ จะแท้งลูก อย่านั่งนอนคาประตู จะออกลูกยาก อย่ายืนรีรอตามขั้นบันได นี่ก็คลอดยากเหมือนกัน ห้ามเย็บปากที่นอนซึ่งยัดนุ่นไว้แล้ว ห้ามตอกตรึงตะปูหรือหมุด และเวลาท้องแก่อย่าไปนั่งนอนโคนไผ่ ประเดี๋ยวใบไผ่ปลิวมาถูกท้อง ท้องจะแตกตายเสียเปล่า อย่าอาบนํ้าตอนตะวันชิงพลบ ถ้าดึกก็ดึกเสียเลยจึงค่อยอาบ เวลาจะอาบก็จุดเทียนกลั้นใจจุ่มนํ้าเสียก่อน มิฉะนั้นจะแฝดนํ้า เวลามีจันทรคราสหรือสุริยคราสอย่าไปยืนดู ประเดี๋ยวเด็กออกมาปากแหว่งหูแหว่ง ฯลฯ ที่ว่านี้เป็นข้อห้าม ซึ่งผู้มีอาวุโสมักจะบอกกล่าวแก่คนที่มีครรภ์

ส่วนที่แนะนำให้ปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์ ก็มีอยู่หลายประการ เช่นว่า “นี่แน่ะ ตะกรุดหลวงพ่อ…คล้องเอาไว้” หรือจะเอาพิสมรก็ดี เรียกว่าไปเที่ยวเสาะแสวงหากันมาให้สวมใส่ไม่ว่าจะเครื่องรางหรือของขลัง อย่างไหนใครว่าดีนำกันมาคล้อง นอกจากนี้ก็มีการแนะนำให้ทำงานออกกำลังให้ท้องหลวมจะได้คลอดง่าย แนะให้นอนตะแคงอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะคลอด ให้ดื่มนํ้ามะพร้าวอ่อน ให้เอาดอกบัวบูชา พระมาต้มกิน ได้ดอกบัวที่นาคถือเข้าโบสถ์ตอนอุปสมบทยิ่งดีจะทำให้คลอดง่าย เด็กจะมีผิวพรรณผุดผ่อง กินกล้วยเสกที่พระอาจารย์ปลุกเสกให้ หรือไปลอดท้องช้างบ้าง ให้หมอตำแยมาโกยท้องก็ได้(บาง ตำราว่าฝืนท้องไม่ให้เด็กดํ่าลงตํ่า) บางคนลองเสี่ยงทายดูว่าลูกจะเป็นหญิงหรือชาย ก็ไปเด็ดใบไม้ดอกไม้มาดู ถ้าเด็ดดอกไม้ก็เป็นหญิง เด็ดใบไม้ก็เป็นชาย หรือจะลองให้เด็กเล็กเหยียบท้องดูก็ได้ ถ้าเป็นเด็กต่างเพศกัน เด็กจะเหยียบด้วยเท้าข้างเดียว เพราะว่าเด็กมันเกรงกัน จะลองดูสะดือควํ่าหงายก็ไม่ยาก สะดือควํ่าก็ผู้ชาย สะดือหงายก็ผู้หญิง เรื่องการทำนายทายทักเพศของทารก บางทีก็ดูเอาจากหน้าตาผิวพรรณของผู้จะเป็นแม่ เช่น หน้าตาสดสวยมีน้ำนวลขึ้นก็ว่าลูกเป็นหญิง ถ้าหน้าตาดูไม่ได้ มีฝ้าจับหน้าเขรอะ ว่าลูกเป็นชาย อย่างนี้เป็นต้น บ้างก็หายาทาท้องเอาไว้ท้องจะได้ไม่คราก (น้ำปูนใส ใส่ฝาละมีฝนด้วยเปลือกลูกมะตูมตากแห้ง) ทั้งหมดนี้มักจะเป็นคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่บอกแก่ผู้ตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะมีน้อยหรือมากไปกว่านี้ก็แล้วแต่ท้องถิ่นแต่ละที่ไป

พอใกล้กำหนดจะคลอด ผู้เป็นสามีต้องไปตัดฟืนไม้สะแกหรือไม้มะขามมากองไว้เพื่อให้ภรรยาอยู่ ไฟ ตอนตัดไม้ฟืนก็มีข้อเสี่ยงทายอยู่ด้วย ถ้าท่อนพืนยาวจะได้ลูกชายแต่ถ้าท่อนสั้นต้องได้ลูกหญิง แต่อย่างไรก็ดี การกำหนดเพศชายหญิงของทารกมีมาแต่เริ่มปฏิสนธิแล้ว จะแปรเปลี่ยนแก้ไขในภายหลังหาได้ไม่

ครั้นถึงเวลาคลอดจริงๆ ต้องหาทิศทางที่เหมาะสม แม่หันศีรษะไปทางเหนือ ลูกคลอดลงใต้ก็สะดวกดี หรือจะดูไก่ไข่ก็ได้ ไก่หันหัวไปทางไหนให้หันหัวไปตามไก่ก็คลอดง่ายเหมือนกัน แต่อย่าลืมต้องไหว้พระภูมิเจ้าที่จุดธูปขอขมาลาโทษท่านเสียก่อน ไหนๆ จะมาคลอดลูกก่อมลทินไว้ในภูมิที่ของท่านอีกแล้ว ท่านจะได้ช่วยขจัดปัดเป่าภยันตรายต่างๆ ให้ด้วย หมอตำแยเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อหมอมาก็ต้องจัดขันข้าวสารใส่หมาก พลู ธูปเทียน เงินติดเทียนตามธรรมเนียม จัดอย่างละสามให้เป็นคี่เข้าไว้แต่กล้วยเอาหวีเดียว สามหวีถ้าจะไม่หมด สามผลก็ดูน้อยไป หาคนมาหนุนหลังด้วยจะได้คอยช่วยคัดท้องไม่ให้เด็กดิ้น ถ้าหนุนต่ำไปจะหนุนบนปากโอ่งก็ได้ ถือหัวตะไคร้เอาไว้ ถ้าหากเป็นลมจะได้ขยี้ให้ดม

การคลอดถ้าล่าช้าไปกว่าปกติ ก็ต้องใช้อุปเท่ห์เล่ห์กลแก้ไข บางทีผู้คลอดร้องด่าผัว ก็ทำนํ้าสะเดาะ เอานํ้าราดหัวแม่เท้าผัวสาดขึ้นหลังคาแล้วรองไว้ ทำสลับกันไปสามครั้ง ครั้งสุดท้ายเอามาเป่าเสกด้วยเวทมนตร์รดหัวบ้าง ให้ดื่มบ้าง ทำจนกว่าจะคลอดนั่นแหละ พอเด็กเริ่มโผล่ศีรษะ หมอตำแยก็เอาเกลือตัวผู้เลือกที่มีแง่มีคมกรีดฝีเย็บให้ขาด พร้อมกับข่มท้องให้ลูกทะลักออกมา

เด็กที่คลอดลงมาถึงพื้น เรียกว่าตกฟาก หมอตำแยรีบเอาผ้าห่อทันที มีเคล็ดเหมือนกันว่าเป็นหญิงหรือชายก็ตาม แม่หมอต้องคว้าเครื่องเพศของทารกเอาไว้ก่อน เพื่อให้มีลักษณะงดงามเมื่อโตขึ้น เวลาที่ตกฟากมักจะจดจำกันไว้สำหรับดูชะตาราศีในภายหน้า แต่การกะเวลาไม่ค่อยแน่นัก มักจะประมาณกันเป็นพื้น ฟังเสียงไก่ขันบ้าง ดูดวงตะวันบ้าง ตามแต่จะเห็นกันว่า มีอะไรเป็นที่สังเกตชัด ซึ่งก็มีคติอยู่อย่างว่าคนมีบุญเลือกที่เลือกเวลาจะมาเกิด ถ้าไม่ทำให้ฉุกละหุกโกลาหลเห็นทีมีบุญโข ส่วนหมอตำแย ก็จะควํ่าเด็ก ล้วงควักเอาเมือกออกจากปากเด็ก แล้วจัดการให้ร้องอุแว้

เมื่อเด็กคลอดแล้วผู้หนุนหลังต้องข่มท้องแม่เด็กไว้ให้แน่นป้องกันรกบิน แล้วจัดการให้รกออก ถ้ารอนานประมาณ ๕ นาทีรกไม่ออก ให้คนคลอดลุกนั่งยองๆ ใช้หมอนทุบหลัง ถ้ายังไม่ออกก็แยงจมูกหรือยอนลำคอด้วยมวนพลู เพื่อให้ไอจามจนรกออกมาได้ จากนั้นก็จะเอานํ้าส้มมะขามกับเกลือ ขนาดชามโอให้กินขับเลือดร้าย แล้วนอนรอการอยู่ไฟต่อไป

ตอนนี้หมอตำแยจะตัดสายสะดือ หลังจากที่เด็กร้องอุแว้ๆ หากมีปัญหาถามว่า ถ้าเด็กไม่ร้องจะทำอย่างไร ตอนที่ควักเมือกออกจากปากเด็ก ไม่มีอะไรอุดปากอุดคออยู่เด็กก็น่าจะร้อง มิฉะนั้นอาจจะสำลักนํ้าครํ่า แต่ถ้าเด็กยังไม่ร้องก็ต้องตบก้นเบาๆ ลองดูอีก หากยังไม่ร้องก็ต้องลองเป็นครั้งสุดท้าย คือรอให้รกออกเสียก่อน ใช้เหล็กหรือหัวเสียมเผาไฟให้แดงเอาไปนาบเข้ากับรกเพื่อให้ร้อนไปถึงเด็ก คราวนี้คิดว่าเด็กร้องแน่ๆ แต่ถ้ายังไม่ร้อง ก็หมายความว่าเด็กตายแล้ว ถ้าเด็กร้องก็ต้องทำพิธีตัดรกต่อไป โดยมัดรกเป็นสองเปราะด้วยด้ายดิบแล้วใช้ผิวไม้รวกตัด วิธีตัดใช้ก้อนดินรองต่างเขียง เถือไปเถือมา ผิวไม้รวกมีความคมพอประมาณ ไม่นานสายสะดือก็ขาด จากนั้นก็เอาเด็กอาบนํ้า จะวางบนหน้าแข้งของหมอตำแยโดยหันหัวเด็กไปทางปลายเท้าหรือจะแช่ในอ่างก็ได้ ถ้าแช่ในอ่างมักจะใส่ของมีค่าลงไป เป็นการรับขวัญ เช่น เงินทอง สายสร้อย เป็นต้น พออาบน้ำเสร็จ ญาติจะอุ้มเด็กทั้งเบาะไปหน้าบันได ชานเรือน เอาเท้าแจะดิน ๓ แจะ แล้วนำมาเข้าพิธีร่อนกระด้ง ทำสามครั้ง ปากก็พูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ” ซึ่งมักจัดหาหญิงที่เลี้ยงลูกง่ายมาคอยขานรับว่า “ลูกฉันเองๆ” ผู้ขานรับนี้เรียกว่าแม่ยก แล้วตัวแม่ยกก็ให้เงินแก่หมอตำแยพอเป็นพิธีแล้วรับเด็กมา เด็กคลอดใหม่ยังไม่ให้กินอะไร ถ้าหิวก็กินแต่ขี้แมลงสาบเผาไฟผสมเกลือนิดหน่อยแช่นํ้าผึ้งในถ้วยเล็กๆ แล้วห้อยชายผ้าผืนเล็กๆ เชื่อมต่อปากเด็กกับของในถ้วยให้เด็กดูดกินเป็นยาขับขี้เทา สังเกตดูตัวเด็กหากมีปานมีไฝมักจะ ใช้แหวนทองกลั้นใจครอบ เพื่อไม่ให้ขยายใหญ่หรือโตตามตัว เวลาเด็กโตขึ้นจะดูน่าเกลียด

ฝ่ายแม่เด็กที่นอนรอการอยู่ไฟ ก็ต้องรอให้พ่อเด็กทอดเตาไฟเสร็จก่อน การทอดเตาไฟต้องหาดูวันดี ถ้าไม่มีวันดีระยะนั้นก็ต้องอยู่เตาเชิงกรานไปก่อน ใช้ฟืนวันละ ๓ ดุ้น อยู่ ๓ วัน การอยู่ไฟต้องมีพิธีดับพิษไฟ ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาผู้รู้มาจัดทำให้ สำหรับการอยู่ไฟนั้นให้ทำจนครบวันคี่มี ๗ วัน ๙ วัน เรื่อยไปจนถึง ๒๙ วันก็มี ที่ถือเช่นนี้เพราะว่าวันคู่ลูกถี่ วันคี่ลูกห่าง แม่เด็กก่อนนอนกระดานไฟต้องให้หมอตำแยทำการเยียวยารักษาร่างกายเสียก่อนจึงนอนนุ่งผ้าเตี่ยว เอาสำลีชุบปูนแดงผสมเหล้าปิดสะดือนอนอยู่ไฟไปจนครบ ระหว่างนี้ห้ามคนที่มาเยี่ยมพูดจาเกี่ยวกับเรื่องร้อน เรื่องหนาว เรื่องเป็นโน่นเป็นนี่ในทางไม่ดีอย่างเด็ดขาด เพราะเกรงคนไข้จะเสียขวัญ หลังจากนั้นก็จะนั่งถ่าน นาบหม้อเกลือ พยาบาลตัวไปด้วย ส่วนในด้านความเชื่อก็มีการสะหนามใต้ถุนเรือน ปักเฉลวกันผีควบคู่กันไปด้วย

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเด็กยังมีเรื่องฝังรกและสายสะดือที่ตัดออก โดยเอาไปล้างนํ้าให้สะอาดก่อน หาหม้อตาลมาใส่ เอาเกลือโรยข้างบน พอเด็กคลอด ๓ วันแล้ว ค่อยเอาไปฝัง แต่จะเก็บไว้ ๓ เดือนก็ได้ ถ้าเก็บก็เอาหม้อตาลไปวางไว้ใกล้ไฟที่เด็กนอนไฟอยู่ เพื่อให้แห้งไปด้วย การฝังรกให้ถือหม้อสลับมือกันไปจนตลอดทางเด็กจะได้ถนัดสองมือ สถานที่ฝังต้องดูให้ต้องโฉลกกับวันเกิดหรือปีเกิดของเด็ก ในระยะเวลาที่สายสะดือของเด็กยังไม่หลุด เวลาอาบน้ำต้องคอยระวังอย่าให้หลุดในนํ้า เพราะเชื่อว่าเด็กจะตกนํ้าตาย เมื่อสายสะดือหลุดแล้วเก็บไว้ในอับ โรยขมิ้นเก็บไว้ แล้วบดละเอียดคลุกข้าวให้กินเป็นยา หรือถ้าเด็กมีน้องเกิดตามมาอีก เอาสะดือของเด็กทั้งสองบดผสมกันแบ่งกันกิน จะทำให้พี่น้องสามัคคีกลมเกลียวกันดี ขณะอาบนํ้าดัดแขนดัดขาจะทำให้แขนอ่อนขาตรง ถ้าเด็กชายถุงอัณฑะหย่อนยานให้ใช้มะเขือเปราะลูกเล็กๆ มาซุกไว้ที่ถุงอันฑะ แล้วบอกว่าให้เหี่ยวเหมือนลูกมะเขือตากแดดแล้วเอามะเขือไปตาก ทำให้ครบสามวัน ถ้ายังไม่หด ก็ใช้ช้อนตักใส่ร่องกระดาน ปากก็ว่าตักทิ้งไปเสียบ้าง สำหรับเด็กหญิงถ้าของลับเปิดอ้า ปิดไม่สนิท ก็ใช้อุ้งมือยันขึ้นไปแม่ก็ใช้น้ำนมหยอด ซึ่งวิธีนี้ยังมีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับแม่ซื้อที่เป็นผีคอยรังแกเด็กซึ่งต้องทำพิธีไล่เรียกว่าทิ้งข้าวแม่ซื้อ ใช้ข้าวสุกปากหม้อปั้นเป็นก้อนสี่ปั้น ทำปั้นละสี มีสีขาว (สีเดิมของข้าว) สีแดง (ผสมปูนแดง) สีเหลือง (ผสมขมิ้น) สีดำ (ผสมมินหม้อ) ให้กล่าวคำฟาดเคราะห์ พร้อมทั้งวนข้าวรอบตัวเด็กทีละก้อน คำกล่าวมีดังนี้ “แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อใต้ที่นอน มารับเอาก้อนข้าวของลูกไป โรคภัยไข้เจ็บ ไปให้หมด วู้” คำกล่าวนี้มีผิดกันไปบ้าง กล่าวแล้วขว้างข้าวข้ามหลังคาเรือนไปทีละก้อนจนครบ ๓ ก้อน ส่วนก้อนสีดำขว้างลงใต้ถุนหรือโยนไปยังพื้นดินตรงไหนก็ได้ แต่บางแห่งเชื่อผิดกันไป เช่นว่าเด็กเล็กพลัดตกหกล้ม เด็กไม่เป็นอะไร เพราะแม่ซื้อรับไว้ บางทีว่ามาเล่นกับเด็กเวลาหลับ ทำให้เด็กยิ้มแย้มได้

เมื่อเด็กคลอดครบสามวัน นับว่ารอดมาตอนหนึ่งแล้ว ก็มีการทำขวัญ จัดเครื่องบัตรพลี ทำบายศรีปากชาม มีการผูกขวัญโดยให้ผู้เลี้ยงลูกง่ายเป็นผู้ผูกขวัญ เมื่อเด็กอายุครบเดือนกับวัน จะจัดพิธีโกนผมไฟจนเกลี้ยง หรือจะเหลือไว้หย่อมตรงกลางเรียกว่าผมโก๊ะ ผมจุก หรือไว้สองข้างเรียกผมแกละก็ทำได้ เพื่อแก้เคล็ดเพราะเด็กเจ็บป่วยบ่อย เสร็จพิธีโกนผมไฟก็มาถึงพิธีลงอู่ มีการจัดเตรียมฟัก หินบด แมว ลงไปในอู่ด้วย มีธัญญาหารใส่ไถ้เล็ก ๆ รวมอยู่ด้วย เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ส่วนฟัก หิน แมว ก็ให้คติว่า “เย็นเหมือนฟัก หนักเหมือนแฟง อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า เฝ้าเรือนเหมือนแมวคราว”

ระยะนี้เด็กก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีการคืบ คลาน ยงโย่ยงหยก มีดอกไม้ (ฟัน) ขึ้น ห้ามเด็กเล่นดอกไม้เกรงว่าเด็กจะเล่นอุจจาระ ห้ามดูกระจกฟันจะเกขึ้นแซมกันไม่สวย เด็กจะมีการตั้งไข่ (ยืน)  ระยะที่เด็กยงโย่ยงหยกแล้วก้มดูใต้ขาตัวเองมองลอดไปข้างหลังก็ว่าเด็กดูน้อง (ที่จะเกิดตามมา) เมื่อเด็กจะควํ่าจะเดินก็ห้ามคนช่วย เพราะกลัวว่าโตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้ เด็กเล่นน้ำลายก็ว่าฝนจะตกเด็กหัดพูดถ้าพูดได้เร็วก็ว่าปากเบา หากพูดได้ช้าก็ว่าปากหนัก

การตั้งชื่อเด็กมักตั้งชื่อให้น่าเกลียดหรือเป็นชื่อสัตว์ หมู หมา กา ไก่ เพราะจะทำให้ผีเกลียด มิฉะนั้นเด็กมักไม่รอดเพราะผีมาเอาตัวไปอยู่ด้วย เด็กเจ็บป่วยก็กวาดยา พ่นยา เอายาที่เหลือหรือมินหม้อเจิมหน้าผาก เพื่อไม่ให้ผีจำได้ เด็กอ้วนท้วนก็ไม่ให้ทัก จะชมกันก็ว่าเจ้าเนื้อจริง หรือจํ้ามํ่าจริง เด็กหน้าตาเข้าที ก็ว่าน่าเกลียด เพราะถ้าพูดความจริงก็เกรงผีจะนิยมชมชอบไปด้วย พอเด็กเริ่มโต โดยเฉพาะเด็กชาย ก็มักจะหาขุนเพ็ดห้อยเอวให้ หรือไม่ก็ผูกเบี้ยจั่น ถ้าเป็นเด็กหญิงก็ผูกจับปิ้ง ซึ่งนัยว่าเป็นประเพณีที่กลายมาจากของดั้งเดิมมากแล้ว

แม่เด็กเมื่อก่อนจะออกกระดานไฟ ต้องเข้ากระโจมอบไอนํ้าประคบตัวไปด้วย อันนี้ก็เป็นการเยียวยาซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้มดลูกแห้งเร็ว ไม่เป็นโรคกระบังลมเคลื่อน และยังมีการกล่อมมดลูกอีกด้วย ส่วนกรรมวิธีอื่นๆ เกี่ยวกับแม่ ถ้าจะทำต่อไปก็เพื่อบำรุงกำลังสร้างน้ำนมเพื่อไว้เลี้ยงเด็กซึ่งคลอดออกมาแล้วนั้นเอง

การคลอดบุตรในสมัยโบราณดังกล่าวแล้ว ชาวไทยได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานค่อยๆ เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมบ้าง ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิรูปการปกครองตลอดจนวิทยาการสมัยใหม่ โดยว่าจ้างชาวต่างประเทศให้เข้ามาช่วยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่นๆ ขึ้น ว่าจ้างแพทย์ชาวต่างประเทศเข้ามารักษาแบบใหม่ ยกเลิกการอยู่ไฟแบบโบราณ ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ทรงริเริ่มเป็นพระองค์แรก และเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั่วไปตั้งแต่นั้นมา การคลอดบุตรก็ปฏิบัติตามแบบสมัยใหม่สืบต่อมาจนปัจจุบันนี้ กล่าวคือ ถ้าหากเริ่มมีครรภ์ ก็ต้องไปปรึกษาแพทย์หรือฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน แล้วให้แพทย์แนะนำและจัดการคลอดให้ ซึ่งสะดวกสบายและถูกหลักการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้การคลอดตลอดจนการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดมีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตน้อยมาก เพราะแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับเป็นวิวัฒนาการที่ยอมรับกันทั่วโลก

ที่มา:กรมศิลปากร