การเล่นสักวา

ประเพณีส่วนประชุมชนหรือส่วนรวม
ประเพณีส่วนชุมชน หรือส่วนรวมได้แก่ประเพณีที่คนในสังคมนิยมทำร่วมกัน เช่น ประเพณีในเทศกาลต่างๆ วันนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญวันตรุษสารท สงกรานต์ เข้าพรรษา ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ลอยกระทง วันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา เป็นต้น

ประเพณีในส่วนรวมที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อๆ กันมานั้นการเล่นสักวา จะเห็นได้ว่ามีทั้งส่วนที่เป็นความเชื่อเดิม ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกสะสมปนเปกันไป

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้พยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาแทบทั้งสิ้น จึงได้ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งยังรวบรวมผู้รอบรู้และชำนาญการพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ให้กำหนดระเบียบแบบแผนไว้สำหรับปฏิบัติ จัดทำในกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น จึงได้เกิดแบบฉบับที่ปฏิบัติกันสืบมาจนทุกวันนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ประเพณีบางอย่างจะมีลักษณะทั้งของพราหมณ์และของพุทธศาสนา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในสมัยโบราณ พราหมณ์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิรอบรู้และเชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ พราหมณ์จึงมีตำแหน่งในหน้าที่ราชการเรื่อยมา สำหรับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงชุบเลี้ยงพราหมณ์ไว้ในตำแหน่งราชการและทรงเคารพนับถือพิธีกรรมต่างๆ ของพราหมณ์อยู่ไม่น้อย สักขีพยานที่ปรากฏได้แก่ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีมาตั้งแต่แรกสร้างกรุง จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพราหมณ์ผู้รู้พระเวทกำลังจะหมดไปเหลือแต่ผู้สืบสกุลโดยกำเนิดเท่านั้น การประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ในชั้นหลังจึง เป็นเพียงทำตามอย่างที่เคยทำกันมาไม่เป็นแก่นสารเหมือนเดิมแต่ครั้นจะเลิกหมดก็ไม่ควร เพราะเป็นขนบประเพณีพิธีกรรมของบ้านเมืองมาช้านานแล้ว จึงทรงนำพิธีสงฆ์เข้าร่วมกับพิธีพราหมณ์ด้วยทุกพิธี เป็นผลให้ศาสนาพราหมณ์กับพุทธศาสนามีอิทธิพลอยู่ในสังคมไทย เช่น พิธีต่างๆ มักมีพิธีพราหมณ์เข้าไปร่วมด้วยเสมอ จนยากที่จะแยกจากกันได้ เช่น การปลูกบ้าน พิธีแรกนาขวัญ เป็นต้น อีกประการหนึ่งศาสนาพุทธไม่ปฏิเสธในสิ่งปลีกย่อยของพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุว่า ศาสนาพุทธมุ่งการกระทำเป็นใหญ่และผู้ปฏิบัติตามศาสนาพราหมณ์มีเจตนาบริสุทธิ์ปฏิบัติด้วยความสบายใจ ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงปฏิบัติพิธีพราหมณ์โดยไม่รู้สึกว่าเป็นพุทธหรือพราหมณ์ เช่น พิธีลอยกระทง การตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ฟื้นฟูและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณีต่างๆ ดังเช่น

การเล่นสักวา เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของผู้ดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า มักนิยมเล่นในฤดูน้ำมากราวๆ เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เป็นเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พวกผู้มีบรรดาศักดิ์มักจะพาบริวารซึ่งเป็นนักร้องทั้งต้นบทและลูกคู่ลงเรือไปเที่ยว

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ การเล่นสักวาได้รับการฟื้นฟูและนิยมเล่นกันมากตั้งแต่รัชกาล ที่ ๑ ตลอดเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถึงกับโปรดให้ขุดคลองมหานาค (ซึ่งเป็นคลองที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาด้วย) เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมเล่นดอกสร้อยสักวากันตามฤดูกาล ความนิยมเล่นสักวาเริ่มลดลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะหันไปนิยมปี่พาทย์กันมาก เข้าใจว่าเพราะพระราชทานอนุญาตให้ใครๆ เล่นละครผู้หญิงได้ (ไม่ห้ามดังแต่ก่อน) ผู้มีบรรดาศักดิ์เล่นปี่พาทย์และละครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักวา  ต่อมาคนไทยในสมัยนี้หันไปนิยมแล่นแอ่วลาวกันมากจนถึงกับมีประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว

“…..ก็การบัดนี้เห็นแปลกไปนัก ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัว คือปี่พาทย์มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวและละครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่ง ทุกตำบล ทั้งผู้ชายผู้หญิง จนท่านที่มีปี่พาทย์มโหรีไม่มีผู้ใดหา ต้องบอกขายเครื่องปี่พาทย์มโหรี ในที่มีงานโกนจุก บวชนาคก็หาลาวแคนเล่นเสียหมดทุกแห่ง…การที่เป็นอย่างนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สู้งามไม่สู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย…เพราะฉะนั้นทรงพระราชวิตกอยู่ โปรดให้ขออ้อนวอนแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงที่คิดถึงพระเดชพระคุณจริงๆ ให้งดการเล่นลาวแคนเสีย อย่าหามาดูแลฟังแลอย่าให้เล่นเองเลย ลองดูสักปีหนึ่งสองปี การเล่นต่างๆ อย่างเก่าของไทย คือละคร ฟ้อนรำ ปี่พาทย์ มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวแลอะไรๆ ที่เคยเล่น มาแต่ก่อน เอามาเล่นเอามากู้ขึ้นบ้างอย่าให้สูญ….”

จะเห็นได้ว่าการเล่นสักวาได้ซบเซาไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามที่จะฟื้นฟู ในที่สุดสักวากลับมาฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีกวีผู้เชี่ยวชาญหลายคน เช่น คุณพุ่ม หรือบุษบาท่าเรือจ้าง หลวงจักรปาณี ขุนนิพนธ์พจนาตถ์ เป็นต้น ต่อมาวรรณคดีประเภทร้อยแก้วได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ สิ่งบันเทิงและการละเล่นอื่นๆ ได้เข้ามาแทนที่ประกอบกับความเจริญทางวัตถุ มีการถมคลองสร้างถนน ทำให้การเล่นสักวาเสื่อมความนิยมไป แต่ก็จะเห็นได้ว่ามีบางพวกบางกลุ่มได้พยายามรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมประเภทนี้ไว้ เช่น มีการแสดงทางโทรทัศน์ มีการสัมมนาและจัดนิทรรศการ เป็นต้น

ที่มา:กรมศิลปากร