ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของข้าราชการฝ่ายใน

Socail Like & Share

เป็นพระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่งที่เป็นการล้มเลิกธรรมเนียมเดิม ด้วยการที่พระองค์ทรงยินยอมให้เจ้านายฝ่ายในที่ไม่ประสงค์จะอยู่ในวังอีกต่อไป ให้กราบบังคมรัชกาลที่5ทูลได้โดยตรง พระองค์ทรงอนุญาตให้ลาออกได้

“มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว……แก่เจ้าจอมอยู่งานชั้นใน ชั้นกลาง ชั้นนอกทั้งปวง เว้นแต่เจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกเธอและหม่อมพนักงานทุกตำแหน่ง แลจอมเจ้าเฒ่าแก่ แลท่านเฒ่าแก่ และนางรำบำเรอทั้งปวงทุกคน

ด้วยบัดนี้ไม่ทรงหวงแหนท่านผู้ใดผู้หนึ่งไว้ในราชการดังการข่มเหงกักขังดอก ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงตามสมัครแลเห็นแก่ตระกูลและความชอบชองท่านทั้งปวงจึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงพระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปีแลเครื่องยศบรรดาศักดิ์โดยสมควร บัดนี้ท่านทั้งปวงก็ทำราชการมานานแล้ว ใครๆ ไม่สบายจะใคร่กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการไปอยู่วังเจ้า บ้านขุนนาง บ้านบิดามารดา จะมีลูกมีผัวให้สบายประการใดก็อย่าให้กลัวความผิดเลย ให้กราบทูลถวายบังคมลาโดยตรงแล้วถวายเครื่องยศคืนแล้ว ก็จะโปรดให้ไปตามปรารถนาโดยสะดวก ไม่กักขังไว้ แลผู้ที่จะเป็นผัวนั้นไม่ให้มีความผิดแก่ตัวผู้นั้น ห้ามแต่อย่าให้สนสื่อหาชู้หาผัวแต่ตัวยังอยู่ในราชการด้วยอุบายทางใดทางหนึ่ง ก่อนกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นอันขาดทีเดียว เป็นดังนั้นจะเสียพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินไป เมื่อไปอยู่นอกพระราชวังแล้วถ้าเป็นคนมีตระกูลอยู่ ไปอยู่กับบิดามารดาญาติพี่น้องหรือเป็นนางห้ามเจ้านายที่ทรงพระกรุณาให้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ๆ หรือเป็นภรรยาข้าราชการที่มีศักดินามากก็จะพระราชทานเบี้ยหวัดอยู่บ้างโดยสมควร….

แต่เจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกเธอจะโปรดให้ออกนอกราชการไปมีผัวไม่ได้จะเสียพระเกียรติยศพระเจ้าลูกเธอไป เมื่อจะใคร่ออกนอกราชการเพียงจะอยู่กับพระเจ้าลูกเธอ ไม่มีผัวก็จะทรงพระกรุณาโปรด…..

นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงส่งเสริมฐานะและสิทธิของสตรีให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ได้ทรงแก้ไขกฎหมายที่สตรีเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ให้ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น เช่น ในการหย่าร้าง กฎหมายเดิมผู้ชายมีสิทธิฟ้องหย่าได้แต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ได้ทรงแก้เป็นให้สตรีมีสิทธิฟ้องหย่าได้ด้วย

จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีที่คิดว่าล้าสมัยหรือส่อให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซงกิจการบ้านเมืองให้เหมาะกับกาลสมัยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ชาติไทยอยู่รอดและดำรงเอกราชมาจนทุกวันนี้

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคที่ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางเพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมขณะนั้น พระองค์เสด็จประพาสต่างประเทศบ่อยครั้งเป็นผลให้พบเห็นวัฒนธรรมของชาติต่างๆ และนำสิ่งที่ดีงามมาปรับปรุงประเทศในด้านต่างๆ นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยที่เสด็จประพาสถึงต่างประเทศ เพราะในสมัยโบราณมีประเพณีห้ามมิให้กษัตริย์และพระราชวงศ์เสด็จต่างประเทศเว้นแต่จะไปในราชการสงคราม

ที่มา:กรมศิลปากร