ประเพณีการแต่งงาน

เมื่อหญิงชายมีอายุมากพอสมควรที่จะมีคู่ครอง แยกเรือนออกไปประกอบอาชีพตามลำพังและฝ่ายชายได้ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ในสมัยโบราณบิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้เสาะแสวงหา คู่ครองที่เหมาะสมแก่วงศ์ตระกูลให้แก่บุตรธิดาของตน เพราะเชื่อว่าผู้ใหญ่เป็นผู้ที่มองเห็นการณ์ไกล คู่ครองที่ผู้ใหญ่เลือกให้แก่บุตรธิดานั้นจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนดีแล้วว่าเหมาะสมดี พิธีแต่งงานแบบไทยอยู่ด้วยกันแล้วจะมีความสุขความเจริญ เป็นที่พึงพอใจและเป็นที่ยินยอมของวงศ์ตระกูลทั้งสองฝ่ายแล้ว ในปัจจุบันหญิงชายมีโอกาสพบปะกันมากขึ้น มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกคู่ครองได้อย่างเสรี ดังนั้นบิดามารดาหรือผู้ปกครองจึงไม่ค่อยมีบทบาทในการเลือกคู่ครองให้แก่บุตรธิดาของตน เพียงแต่คอยให้คำแนะนำที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่หรือเชิญผู้ใหญ่ไปสู่ขอคู่ครองให้บุตรตนอยู่เหมือนสมัยโบราณ

ประเพณีการสู่ขอในสมัยโบราณนั้น เมื่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายชายเห็นว่าบุตรีของบ้านใดตระกูลใดเหมาะที่จะเลือกให้เป็นคู่ครองแก่บุตรของตน ก็หาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ หรือผู้ที่มีอายุให้เป็นเถ้าแก่ไปพูดจาทาบทามต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง ซึ่งทางฝ่ายหญิงมักจะขอวันเดือนปีเกิดของฝ่ายชายไว้ เพื่อให้โหรตรวจดูโชคชะตาราศีก่อนว่าจะถูกกันกับบุตรสาวหรือหลานสาวของตนได้หรือไม่ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นอุบายที่ดีเพราะถ้าฝ่ายหญิงรังเกียจในตัวฝ่ายชายจะได้นำเป็นข้ออ้างได้ว่าชะตาไม่ต้องกันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทำให้ไม่ต้องยกบุตรสาว หรือหลานสาวให้แก่คนที่ตนรังเกียจ แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงพึงพอใจในตัวของฝ่ายชายก็จะนัดวันมาฟังว่าจะตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น และอื่นๆ เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วจึงนัดวันหมั้นต่อไป ในสมัยต่อมาสตรีได้รับสิทธิเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง ดังนั้นเมื่อฝ่ายชายมาสู่ขอ พ่อแม่มักจะถามความสมัครใจของบุตรหลานตนเสียก่อนจึงให้คำตอบฝ่ายชาย เมือฝ่ายชายได้รับคำตอบตกลงยินยอมแล้ว จึงให้เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายพูดจาตกลงกำหนดทุนสินสอดทองหมั้นตามสมควรแก่ตระกูลแล้วจึงกำหนดฤกษ์ และวันมาหมั้นต่อไป

วันหมั้น บิดามารดาฝ่ายชายจะให้เถ้าแก่นำขันหมากหมั้นไปให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิง ซึ่งทางฝ่ายหญิงก็จัดหาเถ้าแก่ไว้คอยรับขันหมากหมั้นเช่นกัน ขันหมากหมั้นจะประกอบด้วยขันใส่หมากทั้งผล กับพลูในขันหนึ่ง และอีกขันหนึ่งจะเป็นขันทองหมั้นตามนํ้าหนักที่ตกลงกันไว้ พร้อมทั้งขนมนมเนยตามสมควร ขันหมากหมั้นนี้ในกรณีที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายชอบพอกันก็อาจไม่ต้องมีก็ได้ และในกรณีที่มีเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถแต่งงานกันได้ เช่นฝ่ายชายผิดสัญญาไปแต่งงานกับหญิงอื่น ฝ่ายชายจะต้องยกของหมั้นนั้นให้ฝ่ายหญิง และถ้าฝ่ายหญิงผิดสัญญา ก็ต้องคืนขันหมากและของหมั้นให้ฝ่ายชายไป

หลังจากประกอบการหมั้นแล้ว บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายจะกำหนดวันเดือนที่จะทำการแต่งงานต่อไป ในสมัยโบราณ ฝ่ายชายจะต้องมาจัดปลูกเรือนหอในที่ของฝ่ายหญิงให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันแต่งงาน การปลูกเรือนหอฝ่ายชายจะต้องปรุงตัวไม้มาก่อนให้เรียบร้อย แล้วนำมาปลูกให้เสร็จในวันที่ได้ฤกษ์ดี ทางฝ่ายหญิงจะต้องเลี้ยงดูผู้ที่มาช่วยปลูกเรือนหอด้วย หรือจะช่วยออกเงินบ้างตามแต่จะตกลงกัน

พิธีแต่งงาน
เมื่อปลูกเรือนหอเสร็จแล้ว ก่อนถึงวันฤกษ์แต่งงานหรือที่เรียกว่าวันสุกดิบ บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวจะนำผ้าไหว้ และขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาว ขันหมากที่ฝ่ายชายนำไปนั้นมี ๒ อย่างคือขันหมากเอก ซึ่งประกอบด้วยขันใส่ข้าวสาร หมากทั้งลูก พลูจีบจัดเรียงรอบปากขัน มีฉัตรระย้าปักเป็นยอด ตั้งขันไปบนพานแว่นฟ้า มีเตียบสำหรับใส่หมูต้ม หมากพลู ห่อหมก ขนมจีน มีฝาปิด แล้วหุ้มด้วยผ้าแพร ผ้าลาย ผ้าเกี้ยว หรือผ้าไหม จะใช้เตียบกี่คู่แล้วแต่จะตกลงกัน นอกจากนี้ยังมีต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าวอ่อน พานใส่เหล้า และถั่วงาอีกด้วย ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือขันหมากโทหรือขันหมากเลว มีขนม ส้ม กล้วย ผลไม้ จะมีมากน้อยตามแต่จะตกลงกัน แต่ต้องเป็นจำนวนคู่เสมอ

ในตอนเย็นของวันสุกดิบจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ที่เรือนหอ เจ้าบ่าวแต่งตัวเต็มยศไปกับเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อฟังพระสวดมนต์ พระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดนี้ส่วนมากนิมนต์มาเป็นจำนวนคู่ คือ ๘ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง โดยฝ่ายเจ้าบ่าวนิมนต์มาครึ่งหนึ่ง เจ้าสาวนิมนต์อีกครึ่งหนึ่งเมื่อพระสวดจบแล้ว บิดามารดาฝ่ายเจ้าสาวจึงนำเจ้าสาวออกมาให้นั่งใกล้ๆ กับเจ้าบ่าวโดยมีเถ้าแก่ฝ่ายหญิงนั่งคั่นกลาง ประธานสงฆ์ที่มาสวดมนต์สวมมงคลแฝดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว แล้วเพื่อนเจ้าบ่าวนั่งเรียงต่อจากเจ้าบ่าวฝ่ายหนึ่ง เพื่อนเจ้าสาวก็นั่งเรียงต่อจากเจ้าสาวอีกฝ่ายหนึ่ง พระสงฆ์สวดชยันโตพร้อมกัน แล้วประธานสงฆ์ในที่นั้นก็ซัดนํ้าพระพุทธมนต์ให้เปียกทั่วกันทั้งพวกเจ้าบ่าวเจ้าสาว บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็เบียดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าไปใกล้ชิดกันจนบางครั้งเถ้าแก่ที่นั่งอยู่ตรงกลางต้องถอยออกมา เจ้าบ่าว \ เจ้าสาวเข้าไปนั่งชิดกันจึงเสร็จพิธีรดนํ้า คืนนั้นเจ้าบ่าวจะต้องนอนเฝ้าหอหนึ่งคืน

ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันฤกษ์แต่งงาน เวลาเช้าบ่าวสาวตักบาตรพระสงฆ์ที่มาสวดมนต์ร่วมขันเดียวกัน ตักด้วยทัพพีเดียวกัน หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว บ่าวสาวถวายเครื่องไทยทาน และจตุปัจจัยเสร็จแล้ว บิดามารดาฝ่ายเจ้าสาวจึงให้จัดของคาวสำรับหนึ่ง ของหวานสำรับหนึ่งไปให้บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าว เหมือนเป็นสัญญาณว่าเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วให้ยกขบวนขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาวได้

การแห่ขันหมากทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเลือกสรรชายหญิงที่มี่รูปร่างหมดจด แต่งตัวตามตระกูล ยกทุนสินสอด (ใส่พาน) พานผ้าไหว้ ขันหมาก โดยจัดขบวนขันหมากดังนี้คือ มีฆ้องนำขันหมากหรือบางที่ก็มีเครื่องมโหรี หรือเครื่องดีดสีตีเป่าไปด้วย บางทีไปเงียบๆ ก็มี ต่อไปก็เป็นพานสินสอด ผ้าไหว้ ขันหมากเอกซึ่งทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องหาหญิงรุ่นสาวหน้าตาหมดจดสวยงาม แต่งตัวสมตระกูลยกไป ต่อจากขันหมากเอกจะเป็นเตียบซึ่งเจ้าภาพจะต้องจัดหญิงที่มีตระกูลมีสามีแล้วยกไปเป็นคู่ ๆ กัน ต่อจากเตียบเป็นพานผ้าไหว้ แล้วถึงเป็นขันหมากเลวซึ่งผู้ยกเป็นชาย เมื่อถึงบ้านฝ่ายเจ้าสาวทางบ้านเจ้าสาวจะตีฆ้องต้อนรับแล้วจัดผู้ใหญ่ให้นำเด็กแต่งตัวถือขันพานรองมีหมากพลูลงไปรับ เชิญขันหมากขึ้นบนเรือนหอ เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวออกมารับขันหมาก เชิญสามีภรรยาผู้มีตระกูลแต่งตัวเต็มยศ สตรีนุ่งจีบห่มผ้า ห่มนอน คลุมทั้ง ๒ บ่ามารับเปิดเตียบเป็นคู่ๆ เสร็จแล้วเถ้าแก่ฝ่ายหญิงยกเตียบกับขันใส่เหล้า มะพร้าวอ่อนและพานผ้าไหว้ผีเข้าไปไว้ในเรือน บิดามารดาฝ่ายหญิงเซ่นบอกผีปู่ย่าตายายตามประเพณีแล้ว เถ้า
แก่ฝ่ายชายเรียกทุนสินสอดจากฝ่ายหญิงมากองทุนกันตรวจนับ แล้วผู้ใหญ่จะให้เงินเถาบ้าง เงินสลึงบ้าง เฟื้องบ้าง ให้เป็นเศษเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเคล็ดให้ทุนทรัพย์นั้นงอกงามมีความเจริญมั่งคั่งสืบต่อไป เถ้าแก่ฝ่ายหญิงจึงนำเงินนั้นมารวมเคล้าด้วยถั่ว งา แป้ง และนํ้ามันหอมแล้วกอบให้บิดามารดาฝ่ายหญิงไว้เมื่อเคล้าเงินทุนเสร็จแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดสำรับสำหรับเลี้ยงเถ้าแก่ และผู้ที่ยกสินสอดผ้าไหว้ แล้วจัดสิ่งของต่างๆ เช่น เงิน ให้แก่ผู้ยกขันหมากเอก พานผ้าไหว้ ขันสินสอดและเถ้าแก่ตามสมควร โดยเฉพาะผู้ที่ยกขันสินสอดจะต้องให้เงินชั่งหนึ่งเป็นธรรมเนียม เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดแบ่งขนมขันหมากออกเป็น ๒ ส่วน มอบให้ฝ่ายเจ้าบ่าวนำกลับไปส่วนหนึ่งเป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้า

เวลาบ่าย เจ้าบ่าวกับเพื่อนก็จะกลับมายังบ้านเจ้าสาวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว บิดามารดาของเจ้าสาวจะให้ผู้ใหญ่พาเด็กแต่งตัวถือพานหมากเชิญเจ้าบ่าว ซึ่งเจ้าบ่าวจะต้องบำเหน็จให้แก่เด็กที่มาเชิญตามสมควร เช่น ๔ บาทบ้าง ๘ บาทบ้าง แล้วผู้ใหญ่ก็พาเด็กกลับขึ้นบ้านไป เจ้าบ่าวกับพวกตามขึ้นไปทีหลัง พวกเจ้าสาวจะถือผ้าแพรบ้าง สร้อย หรือเข็มขัดนากบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง คอยกั้นเป็นระยะๆ ไป ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องถามว่าประตูอะไร ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องว่าประตูเงิน ประตูทองตามลำดับ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเสียเงินให้แก่ฝ่ายเจ้าสาวที่มากั้นประตูตามประเพณี เสร็จแล้วฝ่ายเจ้าสาวยกพานหมาก และนํ้าชา มาเลี้ยงพวกเจ้าบ่าว เวลาเย็นพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เจ้าบ่าวจะต้องนั่งฟังคนเดียว เมื่อพระสวดมนต์จบแล้วพักรออยู่ก่อน เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวพาเจ้าสาวออกมานั่งซ้ายมือของเจ้าบ่าวในม่านกั้นที่ทำเป็นที่สำหรับรดนํ้า แล้วผู้ที่มีบรรดาศักดิ์หรือผู้ที่บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวเชิญมาเป็นประธานในพิธีสวมมงคลแฝดให้แก่บ่าวสาว แล้วท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย รดนํ้าพระพุทธมนต์แก่คู่บ่าวสาวด้วยสังข์ เรียกว่ารดนํ้าสังข์ ให้ศีลให้พร พระสงฆ์สวดชยันโตอีก ครั้งหนึ่ง บางครั้งเมื่อพระสงฆ์สวดมนต์เสร็จแล้วก็กลับเลยไม่อยู่จนถึงพิธีรดนํ้า เมื่อรดนํ้าเสร็จแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องออกมาผลัดผ้านุ่งตามประเพณีเดิม เจ้าบ่าวจะต้องขอดเงินไว้กับชายผ้านุ่งตามสมควร เด็กฝ่ายเจ้าสาวต้องมารับไปซักตากเก็บไว้ ถ้าหากเจ้าบ่าวไม่ขอดเงินไว้ที่ชายพกผ้านั้นเด็กก็ไม่ต้องคืนให้เจ้าบ่าว แล้วจึงเลี้ยงดูแขกตามสมควร เมื่อแขกกลับไปแล้ว บิดามารดาเจ้าสาวเชิญเจ้าบ่าวเข้าไปในเรือน เอาผ้าขาว ๔ ศอกปูลงกลางเรือน ยกเตียบกับขวดเหล้า มะพร้าวอ่อน ผ้าไหว้ผีวางบนผ้าขาว เจ้าบ่าวจุดเทียนแฝดคู่ ๑ ธูปคู่ ๑ แล้วเถ้าแก่นำเจ้าสาวมาไหว้ผีปู่ย่าตายายพร้อมกับเจ้าบ่าวโดยให้เจ้าบ่าวยกมือขวาขึ้นมือหนึ่ง เจ้าสาวยกมือซ้ายขึ้นประนมประสานกับมือขวาของเจ้าบ่าว กราบลงพร้อมกัน ๓ ครั้ง เสร็จแล้วคู่บ่าวสาวจึงออกไปนำผ้าไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ตามลำดับ โดยญาติผู้ใหญ่และบิดามารดาเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะให้ศีลให้พรและเงินทองแก่บ่าวสาวตามสมควร

พิธีปูที่นอนและพิธีเรียงหมอน
เมื่อได้ฤกษ์ดีเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวก็จะจัดแจงที่นอนหมอนมุ้งที่เตรียมไว้ เชิญผู้ใหญ่ที่มีตระกูลทั้งสามีภรรยาซึ่งแต่งงานอยู่กินมายืนยาวและมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตสมรส ชำระกายให้สะอาดแล้วเข้าไปปูที่นอน โดยเอาฟักเขียวผลหนึ่ง หม้อใหม่ใส่นํ้าหม้อหนึ่ง พานถั่วงาที่เหลือจากเคล้าเงินสินสอดและหินบดยา นำไปวางไว้ข้างที่นอน ซึ่งเป็นการอวยพรว่า ขอให้คู่บ่าวสาวมีนํ้าใจใสสะอาด อยู่เย็นเป็นสุข เหมือนฟักและนํ้า ให้มีใจหนักแน่นเหมือนศิลา และมีความเจริญงอกงามเหมือนถั่วงา แล้วเถ้าแก่วางหมอนหนุนศีรษะเรียงกันให้หญิงนอนซ้าย ชายนอนขวา ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปูที่นอนจะนอนก่อนเป็นสังเขปแล้ว ให้ศีลให้พรตามสมควร

พิธีส่งตัว
พิธีส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าวในเรือนหอนั้นต้องหาฤกษ์ยามอีกทีหนึ่ง บางครั้งอาจทำในคืนวันแต่งงานเลยก็ได้ เริ่มทำพิธีโดยมารดาของเจ้าสาวนำเจ้าสาวมาส่งให้แก่เจ้าบ่าวที่เรือนหอ แล้วแนะนำสั่งสอนให้เจ้าสาวเคารพนบนอบและยำเกรงเจ้าบ่าว เถ้าแก่ให้เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวแล้วพาคลานเลยเข้าไป ในม่าน เจ้าบ่าวทำความเคารพเถ้าแก่ แล้วเถ้าแก่จึงให้เจ้าบ่าวยื่นมือเข้าไปในม่าน ให้เจ้าสาวยื่นมือมาจับ เกี่ยวกันไว้ เป็นการแสดงว่าได้ยกทั้งสองให้เป็นสิทธิ์ขาดแก่กัน เสร็จแล้วเถ้าแก่สอนให้เจ้าสาวกราบหมอนเจ้าบ่าว แล้วให้นอนลงที่ด้านของเจ้าสาวก่อน เพื่อเป็นเคล็ดให้เจ้าบ่าวมีความยำเกรงเจ้าสาวและสอนให้เจ้าสาวกราบเท้าเจ้าบ่าวก่อนนอนทุกคืน เพื่อเป็นศรีและเป็นความเจริญต่อเจ้าสาวเอง เมื่อสอนเจ้าสาวเสร็จแล้วก็ไปสอนเจ้าบ่าวที่นั่งอยู่นอกม่านโดยฝากฝังเจ้าสาวไว้แก่เจ้าบ่าว เป็นอันเสร็จพิธี

การแต่งงานในสมัยปัจจุบัน
ปัจจุบันประเพณีการแต่งงานได้จัดรวบรัดให้เสร็จสิ้นในวันเดียวตามแต่สะดวกของแต่ละคน บิดามารดาหรือผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายได้ให้อิสระเสรีแก่บุตรหลานของตนอย่างเต็มที่ ดังนั้นหญิงชายที่จะแต่งงานกันจึงมีโอกาสศึกษาอุปนิสัยใจคอกันพอสมควรก่อนที่จะตัดสินใจ เมื่อหญิงชายคู่ใดตกลงใจที่จะแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายชายจะบอกแก่ผู้ปกครองของตนเพื่อให้ไปสู่ขอต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของหญิงคนรัก เมื่อตกลงกันแล้วก็จะกำหนดวันหมั้นหมายและหาฤกษ์แต่งงานต่อไป

พิธีหมั้น
พิธีหมั้นในปัจจุบันไม่นิยมการหมั้นด้วยทองเหมือนสมัยโบราณ แต่นิยมหมั้นด้วยแหวนเพชรตามแต่จะตกลงกันตามฐานะว่าต้องการเพชรหนักสักเท่าไร หรือตามแต่ฝ่ายชายจะหาให้ ฤกษ์หมั้นและฤกษ์ แต่งงานบางรายทำในวันเดียวกัน คือหมั้นตอนเช้าและแต่งงานในตอนบ่าย การหมั้นในปัจจุบันไม่ต้องมีขันหมากหมั้นแต่บางรายที่ยังถือตามประเพณีโบราณอยู่ก็จัดขันหมากหมั้นตามสมควรไม่เต็มที่เหมือน ในสมัยโบราณ โดยมีขันหมากขันหนึ่ง และพานใส่แหวนหมั้นพานหนึ่งเท่านั้น เมื่อได้ฤกษ์หมั้นเถ้าแก่ หรือบิดามารดาฝ่ายหญิงจะนำหญิงที่จะรับหมั้นเข้าไปยังห้องพิธีแล้วบิดามารดาหรือเถ้าแก่ฝ่ายชายจะหยิบแหวนจากพานแหวนหมั้นส่งให้ฝ่ายชายสวมลงบนนิ้วนางข้างซ้ายของฝ่ายหญิง เป็นอันเสร็จพิธี และหญิงที่รับหมั้นแล้วจะต้องสวมแหวนนี้ไว้เสมอ

พิธีแต่งงาน
เมื่อถึงกำหนดฤกษ์ดีเป็นวันแต่งงาน ฝ่ายชายจะพากันไปยังบ้านของเจ้าสาวในตอนเช้า เพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์และตักบาตรร่วมกับฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งคล้ายคลึงกับประเพณีโบราณ เพียงแต่เจ้าสาวต้องออกมาฟังพระสวดมนต์พร้อมกับเจ้าบ่าวเท่านั้น และเมื่อพระสวดมนต์เสร็จแล้ว บ่าวสาวถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เสร็จแล้วประธานสงฆ์ในที่นั้น ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และอวยพรแก่คู่บ่าวสาว เป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์ในตอนเช้า ต่อจากนั้นถ้ามีการยกขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะกลับไปยกขันหมากมายังบ้านของเจ้าสาว แต่จัดขันหมากไม่เต็มที่อย่างโบราณโดยจะมีเฉพาะขันหมากเอก ผ้าไหว้เท่านั้น ส่วนขันหมากเลวมักไม่มีหรือมีบ้างพอสังเขป เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว ผู้ใหญ่นำเด็กแต่งตัวถือพานหมาก มาเชิญเจ้าบ่าวเข้าบ้าน และต้องผ่านการกั้นประตูต่างๆ ตามอย่างโบราณ เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวตรวจสินสอด และทำพิธีเคล้าเงินทุนแล้ว จึงให้บ่าวสาวทำพิธีไหว้ผีปู่ย่าตายาย แล้วญาติผู้ใหญ่รดน้ำและคู่บ่าวสาวไหว้ญาติผู้ใหญ่เป็นเสร็จพิธีนับว่าเป็นพิธีภายในครอบครัว

แต่ในปัจจุบันมีแปลกออกไปอีกคือบ่าวสาวจะต้องมีฤกษ์รดนํ้าในตอนบ่ายอีกเพื่อให้ญาติและผู้ที่เคารพนับถือมารดนํ้าอวยพรอีกด้วย เสร็จแล้วจึงเป็นการเลี้ยงอาหารแก่ญาติมิตรและผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน

พิธีส่งตัว
เมื่อเลี้ยงอาหารแก่แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานแล้ว เมื่อถึงฤกษ์ส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องกลับไปทำพิธีส่งตัวที่เรือนหอ ส่วนมากในปัจจุบันไม่มีการสร้างเรือนหอแต่จะอยู่บ้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก่อน โดยปกติมักจะเป็นบ้านฝ่ายเจ้าสาว ในพิธีส่งตัวก็มีการปูที่นอนโดยเชิญผู้มีตระกูลที่อยู่กินกันมายืนยาวมาเป็นผู้ปูที่นอนและนอนเอาฤกษ์เอาชัย แล้วทำพิธีเรียงหมอนตามแบบโบราณ แต่ในพิธีนี้ไม่มีหม้อน้ำ หินบดยาและฟักฺ จะมีก็แต่ถั่วงา และดอกไม้เท่านั้น (แต่บางคู่ก็ไม่มีเลยแม้แต่อย่างเดียว) เสร็จแล้วเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวสอนวิธีครองเรือนให้แก่คู่บ่าวสาวเป็นอันเสร็จพิธีส่งตัวเพียงเท่านั้น

พิธีสมรสหมู่
เมื่อกล่าวถึงประเพณีการแต่งงานแล้ว สิ่งที่จะเว้นเสียมิได้คือเรื่องพิธีสมรสหมู่ซึ่งเริ่มมีมาตั้ง แต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยคู่สมรสแบ่งเบาในภาระด้านการเงินในทางที่ถูกที่ควร

การสมรสหมู่เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ที่ทำเนียบสามัคคีชัย หรือทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน ต่อมาคุณหญิงสุนาวินวิวัฒน์ นายกสโมสรวัฒนธรรมหญิง ได้จัดขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ มีคู่สมรสเข้าทำการสมรส ๖ คู่ โดยมีจอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นประธาน สวมมงคล และพลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒน์ เป็นประธานถอดมงคล

การสมรสหมู่นี้ได้จัดติดต่อกันมาโดยมีสโมสรวัฒนธรรมหญิงเป็นผู้ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
๑. เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมไทย
๒. เพื่อให้คู่สมรสเป็นที่ถูกต้องตามกฎหมายและประเพณีนิยม
๓. เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเรื่องการประหยัดในทางที่ถูกที่ควร
๔. เพื่อให้หนุ่มสาวที่บรรลุนิติภาวะแล้วแต่ไม่สามารถครองเรือนได้ตามประเพณีนิยมสมรักตามประเพณี

ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมในพิธีสมรสหมู่ต้องยื่นความจำนงและปฏิบัติตามระเบียบของสโมสรวัฒนธรรมหญิง ซึ่งจะประกาศรับสมัครในราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ก่อนวันทำพิธีสมรส จะมีการอบรมคู่บ่าวสาวก่อน เช่น อบรมให้รู้จักปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านการอนามัยและการครองเรือน เป็นต้น ในวันนี้ทางคณะกรรมการได้แจกบัตรเชิญให้คู่บ่าวสาวไปเชิญแขกของตนเองอีกด้วย

การแต่งกาย เจ้าบ่าวแต่งชุดสากล หรือเครื่องแบบ เจ้าสาวแต่งชุดไทยเรือนต้น

พิธีสมรส ก่อนเวลาประธานในพิธีมาถึง เจ้าหน้าที่จะเรียกคู่บ่าวสาวเข้าไปนั่งประจำที่โดยจัดไว้เป็นคู่ๆ เมื่อประธานในพิธีมาถึงแล้ว พิธีกรจะนำคู่บ่าวสาวกราบพระที่โต๊ะบูชาทีละคู่จนหมด ประธานในพิธีรดน้ำ ให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาว หลังจากนั้น เชิญญาติและแขกของคู่บ่าวสาวแต่ละคู่รดนํ้าต่อไปจนหมดทุกคู่ เสร็จพิธีแล้ว คู่บ่าวสาวรับเงินก้นถุงจากประธานในพิธี เสร็จแล้วเลี้ยงนํ้าชาคู่สมรสและแขกที่มาร่วมงานเป็นเสร็จพิธี

ประเพณีการแต่งงานไม่ว่าจะเป็นประเพณีการแต่งงานที่จัดในรูปใด แบบใดหรือของชาติใดก็ตาม แสดงให้เห็นความมีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติมาแต่โบราณ โดยเฉพาะประเพณีไทยได้แสดงถึงวัฒนธรรมและความเป็นเอกลักษณ์ของไทยแต่โบราณให้ประจักษ์ชัด และนับว่าเป็นนิมิตอันดีที่เราได้มีการฟื้นฟูประเพณีโบราณขึ้นมา และได้ย่นย่อตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปเสียบ้างให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน พิธีการส่วนใหญ่ดำเนินตามแบบแผนโบราณเพื่อจะได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อไป

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีปลูกบ้านสร้างเรือน

ประเพณี
ประเพณีไทยเป็นเครื่องแสดงถึงวิถีชีวิตและจิตใจของคนไทยตั้งแต่อดีตสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นมรดกทางด้านความประพฤติปฏิบัติของบรรพบุรุษที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จัดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม โดยที่ชาติไทยต้องอยู่ร่วมและติดต่อกับชาติต่างๆ ทั้งตะวันตกและตะวันออก จึงต่างรับเอาวัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างของกันและกันไว้ เนื่องจากไทยเป็นชาติที่รู้จักประสานประโยชน์ จึงรับเอาสิ่งที่ดีงามของคนอื่นมาดัดแปลงให้เข้ากับของตน ขณะเดียวกัน สิ่งใดที่เป็นของตนและคิดว่าดี งามอยู่แล้วก็รักษาให้คงอยู่และปรับปรุงสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมชาติอื่นได้ เช่น วันปีใหม่ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีนั้น เป็นวัฒนธรรมสากลที่ทั่วโลกยอมรับ แต่ไทยสามารถนำวัฒนธรรมของตนเองเข้าไปผสมผสาน ทำให้มีความหมายและมีความสำคัญในแบบของเราเองยิ่งขึ้น เช่น มีการทำบุญตักบาตร การส่งบัตรอวยพรซึ่งเป็นของต่างชาติ ก็นำเอาโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน แบบไทยๆ อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยทั่วไปยึดถือ คือ พระรัตนตรัย ให้ช่วยดลบันดาลให้ผู้รับบัตรประสบแต่ความสุข ความเจริญในด้านต่างๆ เป็นต้น

ประเพณีจึงเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ได้กำหนดขึ้นเป็นแบบแผน สังคมไทยได้ยึดถือและปฏิบัติ สืบต่อกันมาไม่ขาดสายเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าขนบธรรมเนียม

ถ้าพิจารณาดูประเพณีต่างๆ ของไทยที่ประพฤติปฏิบัติกันสืบมา ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ลัทธิพราหมณ์ ความเชื่อ การอาชีพ ค่านิยม การกระทำตามบรรพบุรุษที่ได้ปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนไม่รู้ถึงเหตุผลก็มี การติดต่อกับประเทศต่างๆ เป็นผลให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ฉะนั้นพอจะแบ่งประเพณีได้ดังนี้

ประเพณีส่วนบุคคลหรือประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ได้แก่ ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทย เช่นการทำขวัญเด็กแรกเกิด (ทำขวัญ ๓ วัน) ทำขวัญเดือน-โกนผมไฟ โกนจุก บวชนาค แต่งงาน พิธีศพ ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ สวดมนต์ ไหว้พระ เลี้ยงพระในโอกาสต่างๆ ทำบุญบ้าน ทำบุญวันเกิด เป็นต้น ประเพณีต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกี่ยวกันกับการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย

ประเพณีปลูกบ้านสร้างเรือน
มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค บ้านเรือนเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ สมัยก่อนคนเรายังไม่เจริญจะหาที่พักพิงอาศัยเพื่อกันแดดกันฝนและสัตว์ร้ายตามใต้ร่มไม้ หรือเพิงผาก่อน ปลูกบ้านต่อมาก็เข้าอาศัยอยู่ตามถํ้า และเมื่อคนรู้จักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ก็หาวัสดุง่ายๆ มาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย เช่นไม่ไผ่ หญ้าคา ใบพลวง เป็นต้น และเมื่อมนุษย์สามารถคิดค้นทางวิทยาการสมัยใหม่ได้แล้ว จึงใช้วัสดุใหม่ ๆ ที่คิดค้นได้มาใช้ในการก่อสร้างแทน เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก ปูนซีเมนต์ เซลโลกรีต ฯลฯ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติเช่นที่ดินและป่าไม้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการปลูกบ้านสร้างเรือนจึงนิยมสร้างด้วยไม้ มีพิธีและขั้นตอนในการสร้างเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยด้วย จึงกลายเป็นประเพณีการปลูกบ้านสร้างเรือนมาจนทุกวันนี้

ลักษณะเรือนไทยสมัยโบราณส่วนมากจะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านข้างมีระเบียงยกใต้ถุนสูง ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มเมื่อถึงหน้านํ้า น้ำจะท่วมถึง หรือแม้แต่ในบริเวณที่นํ้าท่วมไม่ถึงก็ยังนิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย นอกจากนี้ยังอาศัยใต้ถุนเรือนเป็นที่ประกอบกิจการต่างๆ เช่น ทอผ้า ปั่นฝ้าย ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นคนไทยมีนิสัยถือ “หัว” ไม่ชอบให้ใครมากลํ้ากราย ถือว่าอัปรีย์จัญไร จึงนิยมปลูกเรือนชั้นเดียว

การปลูกเรือนนิยมปลูกตามตะวัน คือหันข้างเรือนไปทางทิศใต้และทิศเหนือ จึงจะเป็นมงคล อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าจำเป็นเพราะเนื้อที่แคบหรืออย่างไรก็ให้ปลูกเฉียงตะวันเอาไว้ ไม่นิยมปลูกบ้านขวางตะวันคือหันข้างเรือนไปทางทิศตะวันตกและตะวันออก ถือว่าไม่ดีคนอยู่จะไม่มีความสุข ไม่ได้รับลมตามฤดูกาล และอีกอย่างหนึ่งคือในสมัยโบราณส่วนมากมักไม่สร้างบ้านหันหน้าไปทางถนน

รูปบ้านไทยเป็นบ้านแบบสำเร็จรูปปรุงแต่งเครื่องเรือนทุกชิ้นไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกตาม ภาษาช่างว่า “เรือนเครื่องสับ”คือไม้ที่ใช้จะต้องเลื่อย สับไส แต่งคู่กับ “เรือนเครื่องผูก” คือ ใช้ตอก ผูก ยึด ตรึง ซึ่งโครงสร้างใช้ไม้ไผ่กับจากเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ในหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ถึงบ้านไทยที่ทำไว้สำเร็จแล้วก่อนจะนำมาปลูกว่า

“ให้ขุดหลุมระดับชักปักเสาหมอ    เอาเครื่องเรือนมารอไว้ที่นั่น
ตีสิบเอ็ดใกล้รุ่งฤกษ์สำคัญ        ก็ทำขวัญเสาเสร็จเจ็ดนาที
แล้วให้ลั่นฆ้องหึ่งโห่กระหนํ่า    ยกเสาใส่ซ้ำประจำที่
สับขื่อพรึงติดสนิทดี            ตะปูดียกเสาดั้งตั้งขึ้นไว้
ใส่เต้าจึงเข้าแปลานพลัน        เอาจันทันเข้าไปรับกับอกไก่
พาดกลอนผ่อนมุงกันยุ่งไป        จั่วใส่เข้าฝาเช็ดหน้าอึง
บ้างเจาะถากถุ้งเถียงเสียงเอะอะ    เกะกะกบไสไชเหล็กจึ้ง
บ้างผ่าฟันสนั่นอึงคะนึง        วันหนึ่งแล้วเสร็จสำเร็จการ”

การสร้างเรือนแบบสำเร็จรูปนี้สะดวกในการสร้างคือสร้างเสร็จภายในวันเดียว และรื้อถอนได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วย เป็นการประหยัดเวลา แสดงถึงความกลมเกลียวสามัคคีและความมีจิตใจ โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อต่อกันของคนไทยในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

ประเพณีการปลูกบ้านสร้างเรือนของไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับแบบแผนมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา พอจะสรุปขั้นตอนได้ดังนี้

๑. พื้นที่ที่จะปลูกเรือน
ในสมัยโบราณมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้จับจองเป็นที่ทำกินและเป็นที่อยู่อาศัยได้ตามความต้องการ ดังนั้นเมื่อเวลาจะเลือกที่อยู่อาศัยจึงต้องตรวจดูบริเวณที่จะสร้างที่อยู่อาศัยเสียก่อนว่าที่ดินเป็นโขดเป็นเนินปลวก มีหลักตอ หรือขอนไม้ หรืออะไรที่เกะกะซึ่งจมฝังดินอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็จัดการถอนทิ้งและปราบดินไว้เรียบ นับว่าคนสมัยก่อนมีความรอบคอบเป็นอันมาก เพราะหากมีหลักตอจมค้างอยู่ในดินถ้าไม่เอาออกเสีย เมื่อทำการปลูกสร้างบ้านเรือนคร่อมสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกะกะพื้นที่ “ล่องถุน” ไม่สะดวกในการใช้ประโยชน์ใดๆ ซึ่งมีคำโบราณกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า “อย่าปลูกเรือนคร่อมตอ”

นอกจากการตรวจดูพื้นที่แล้วยังมีวิธีชิมรสดินดูว่า ดินในที่จะปลูกบ้านเรือนนั้นเป็นอย่างไร โดยการขุดหลุมลึกราววาเศษ เอาใบตองปูไว้ใต้ก้นหลุม ข้างบนนั้นมีหญ้าคาที่สดและสะอาดกองหนึ่ง ทิ้งไว้สักคืนหนึ่งจนไอดินจับเป็นเหื่ออยู่ที่หน้าใบตอง เมื่อเอาเหื่อนั้นมาชิมดูจะสามารถทำนายได้ว่าที่ดินที่จะปลูกบ้านเรือนนั้นดีหรือไม่ เช่น

ถ้าดินมีรสเปรี้ยว เรียกว่า “ที่ส้ม” อยู่แล้วมีทุกข์ภัยไข้เจ็บไม่ดี
ถ้าดินมีรสหวาน ที่นั้นเป็นมัธยมปานกลาง อยู่ได้ปานกลาง อยู่ได้สบายดี
ถ้าดินมีรสจืด ที่นั้นเป็นสิริมงคล อยู่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์เป็นภัย
ถ้าดินมีรสเค็ม จะอยู่ไม่เป็นมงคล

นอกจากวิธีการชิมรสดินแล้วยังมีวิธีการดมดินอีก โดยการขุดดินขึ้นมาดมดูก็จะสามารถทายได้ ตามกลิ่นของดิน เช่น

ถ้าดินมีกลิ่นหอมดังดอกบัวหรือดอกสารภี เรียกกันว่า “ที่พราหมณ์” ที่นั้นจะเป็นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะดี

ถ้าดินมีกลิ่นหอมดังดอกพิกุล เรียกว่า “สัตภูมิ” ก็นับว่าเป็นที่ดี จะอยู่เป็นสุข ปราศจากทุกข์ภัยไข้เจ็บ

ถ้าดินมีกลิ่นหอมเย็นหรือหอมเป็นดอกไม้อื่น ก็ยังนับว่าดีเหมือนกัน ถ้าดินมีกลิ่นเผ็ดหรือมีกลิ่นเหม็นไม่ดี นับว่าชื่อไม่เป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่จะใช้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่พักอาศัย

นอกจากวิธีดังกล่าวแล้วคนสมัยก่อนยังมีวิธีดูปริมณฑลโดยรอบของพื้นที่ที่จะปลูกเรือนด้วย เช่น

ถ้าที่มีเป็นรูปกลมดังดวงจันทร์ รูปดังมะนาวตัด รูปดุจเรือสำเภา หรือรูปสี่เหลี่ยม นับว่าดี

ถ้าที่มีรูปเป็นสี่เหลี่ยมซึ่งมีด้านหนึ่งเป็นเส้นตรง แต่อีกสองด้านกว้างหรือมุมหนึ่งตัด หรือมุมหนึ่งย่อเข้ามา ไม่ดี

ถ้าที่มีรูปเป็นสี่เหลี่ยมแต่ด้านหนึ่งมีมุมสองข้างย่อเข้ามาตรงกลางแหลมยื่นออกไปหรือตรงกลาง ด้านหนึ่งย่อเข้ามาเหมือนรูปกางเกง ถือว่าที่นั้นดี ผู้อยู่จะมีความสุข มีลาภ

ถ้าพื้นที่เป็นชายธงหรือสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ถือว่าไม่ดี ผู้อยู่จะมีทุกข์ภัย

นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ที่อื่นๆ อีก เช่น การเสี่ยงทาย ถ้าจะดูพื้นที่ปลูกเรือนให้จัดข้าว ๓ กระทง คือ ข้าวขาวกระทง ๑ ข้าวแดงกระทง ๑ และข้าวดำกระทง ๑ แล้วเอาไปวางไว้ตรงกลางที่ที่จะทำการปลูกบ้านเพื่อให้กากิน

ถ้ากากินข้าวขาว        ทำนายว่าที่นั้นดีนัก
ถ้ากากินข้าวดำ        ทำนายว่าอย่าอยู่เลยมิดี
ถ้ากากินข้าวแดง        ทำนายว่าที่นั้นเลวไม่ดี

อีกวิธีหนึ่ง ให้ขุดหลุมลึกประมาณ ๒ ศอก แล้วเอาไม้ไผ่สีสุกที่ยังสดอยู่มาหนึ่งปล้อง ตัดเอาปล้องไว้แล้วเอาด้ายดิบมาทำไส้ใช้นํ้ามันมะพร้าวเป็นเชื้อ เอากระบอกไม้นี้ไปตั้งลงในหลุมแล้วจุดตามไฟไว้วันกับคืนหนึ่งอย่าให้มีใครมาถูกต้อง ถึงเวลากำหนดให้เปิดดู ถ้านํ้ามันพร่องไม่ดีอย่าใช้เป็นที่ปลูกบ้านอยู่

คตินิยมและความเชื่อในการเลือกหาและพิจารณาที่ดินเพื่อการปลูกบ้านสร้างเรือนดังกล่าวมานี้ ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยปริยาย เพราะปัจจุบันไม่สามารถจะหาพื้นที่สำหรับปลูกบ้านให้ถูกต้องตามตำราได้ และราคาที่ดินก็มีราคาสูงมากจนทำให้ไม่สามารถหาซื้อได้ตามต้องการ

๒. การเตรียมตัดไม้มาทำเสาเรือน
เมื่อเลือกพื้นที่ปลูกบ้านได้ตามต้องการและทำความสะอาด คือการถอนหลักหรือตอที่ขวางอยู่หมดไปแล้ว จึงเตรียมการจัดหาเสาเรือนต่อไป

เสาเรือนไทยนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ทนแดด ทนฝน มีลำต้นขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ไม้เนื้อแข็งที่นิยมใช้ทำเสานี้คือไม้เต็ง และไม้รัง ส่วนไม้สักนั้นใช้บ้างแต่ไม่มากเพราะถ้าจะให้มีความแกร่งแข็งแรงพอ ลำต้นก็ใหญ่เกินไปกว่าจะเอามาทำเสา และถ้าต้นขนาดพอดีทำเสาก็เนื้อยังอ่อนอยู่จึงไม่นิยม ยังมีไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นอีก แต่ไม่นิยมนำมาทำเพราะชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ไม้กะเบา ไม้พยอม ไม้ซาก ไม้มะค่า ฯลฯ มีไม้เนื้อแข็งอีกชนิดหนึ่งไม่นิยมนำมาทำเสาเรือนคือไม้ตะเคียน เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่มีชันหรือนํ้ามันในเนื้อไม้มาก เมื่อทำเป็นเสาเรือนนํ้ามันจะตกออกมาให้เห็น คนสมัยโบราณถือกันว่าเป็นอัปมงคล มักเกิดอาเพศต่างๆ อยู่ไม่เป็นสุข แม้แต่ในป่าก็ไม่มีผู้ใดกล้า หรืออยากตัด เชื่อกันว่ามีนางไม้ หรือนางตะเคียนดุร้าย อาจทำอันตรายให้โทษแก่คนที่ไปตัดให้ได้รับความเดือดร้อนและถึงตายได้

เสาเรือนไทยแต่ก่อนนั้นเจ้าของเรือนมักไปหาและตัดมาจากป่าเอง การไปหาและตัดเสา จะต้องเลือกเดือนด้วยว่าจะเข้าไปตัดไม้ได้หรือไม่ ดังมีตำรากล่าวว่า
เดือนห้า        ตัดเสาเร่าทุกข์โศกนัก
เดือนหก        ตัดเสาดีมีข้าวของมาก
เดือนเจ็ด        ตัดเสามิดีจะตาย
เดือนแปด        ตัดเสาจะมีวัวควายมาก
เดือนเก้า        ตัดเสาจะมีข้าวปลา
เดือนสิบ        ตัดเสาจะไข้เจ็บแก่ตน
เดือนสิบเอ็ด    ตัดเสาจะตีด่ากัน
เดือนสิบสอง    ตัดเสาดีชอบกันโดยธรรม
เดือนอ้าย        ตัดเสาจะมีข้าคนมาก
เดือนยี่        ตัดเสาดีมีพรรณข้าวของมาก
เดือนสาม        ตัดเสาไม่ดีไฟจะไหม้เรือน
เดือนสี่        ตัดเสาดีอยู่เย็นใจ

บางตำราห้ามตัดเสาตั้งแต่เดือนห้าถึงเดือนสิบสอง ตัดได้ระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือนสี่ ทั้งนี้ คนในสมัยก่อนถือว่าระหว่างเดือนห้าถึงเดือนสิบสองนี้เป็นระยะเวลาที่ไม้ “บวช” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะระหว่างนี้เป็นช่วงฤดูฝน การเข้าไปในป่าพื้นดินชื้นแฉะอาจจะทำให้เกิดเป็นไข้ป่า และไม่สะดวกในการชักลากไม้ที่ตัด สู้ทำในระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือนสี่ไม่ได้เพราะระยะนี้พื้นดินแห้งทำงานได้อย่างสะดวกและไม่มีความไข้เจ็บ

การเข้าป่าหาไม้มาทำเสาเรือน เจ้าของบ้านบางคนไม่สู้ชำนาญนัก ก็จะชวนคนที่มีความชำนาญในการเลือกและดูไม้ไปด้วย และต้องชวนกันไปหลายๆ คน เพื่อช่วยกันตัดและชักลากออกมาจากป่า เมื่อเข้าไปถึงในป่าผู้ที่ชำนาญในการเลือกไม้ก็จะออกไปเที่ยวเสาะหาไม้ที่มีลักษณะดีที่จะทำเสาเรือนได้ แล้วทำเครื่องหมายไว้ เช่น บากไว้ตรงใกล้โคนต้นไม้ หรือเอาใบไม้ใบใหญ่ใส่ไว้ในรอยเพื่อเป็นเครื่องหมาย

ลักษณะไม้ที่ดีและไม่ดีมีกล่าวไว้ในตำรา เช่น
๑. เสาที่มีโคนและปลายเท่ากัน เรียกว่า “เสาตัวผู้” ใช้ทำเสาเรือนจะอยู่สบายดีพอคุ้มตัว
๒. เสาที่มีโคนใหญ่ปลายเล็ก เรียกว่า “เสาตัวเมีย” เป็นเสาที่มีลักษณะดีมาก ใช้ทำเสาเรือน ผู้อยู่จะมีโชคและชื่อเสียงมาก
๓. เสาที่มีโคนเล็กกลางป่องและปลายเล็ก เรียกว่า “เสาปีศาจ” เป็นเสาลักษณะร้าย ไม่ควรนำมาทำเสาเรือนหรือเสาสิ่งปลูกสร้างจะทำให้คนอยู่มีแต่ทุกข์
๔. เสาที่มีลักษณะโคนเล็กปลายใหญ่ ก็เป็นเสาลักษณะร้ายเช่นกัน เรียกว่า “เสายักขิณี” ถ้าใช้ทำเสาเรือนจะทำให้คนอยู่ตายหรือได้รับความเดือดร้อน

นอกจากการพิจารณาลักษณะส่วนใหญ่ของเสาแล้ว คนสมัยโบราณยังพิจารณาตำหนิของเสาที่จะนำมาทำเป็นเสาเรือนอีกด้วย ตามตำรากล่าวถึงตำหนิร้ายของเสาไว้ว่า

“เป็ดไซ้” คือ เสาที่มีตาอยู่ตรงโคนเสมอกับพื้นดิน เป็ดชอบไปจิกไซ้ ทำให้เป็นร่องเป็นรู เปียกชื้น ทำให้ผุกร่อน และมดปลวกเข้าไปอาศัยทำรัง

“ไก่ตอด” คือ เสาที่มีตาอยู่เหนือโคนขึ้นมาประมาณหนึ่งคืบ เป็นที่ที่ไก่ชอบไปจิกหาอาหาร ทำให้เปียกชุ่ม

“หมูสี” คือ เสาที่มีตาอยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไปประมาณศอกหนึ่ง หมูชอบเอาสีข้างมาสีตรงนั้นเสมอ จนเสาคอด ถ้าถูกหมูไปสีบ่อยๆ ก็จะทำให้เรือนสั่นคลอน

“สลักรอด” คือ เสาที่มีตาอยู่ตรงที่จะต้องเจาะรูเพื่อสอดรอด ถ้ามีตาตรงนี้จะเจาะยากมาท เพราะตาไม้แข็งมากไม่สะดวกที่จะเจาะ

“แบกรอด” คือ เสาที่มีตาอยู่ใต้ที่จะต้องเจาะรูเพื่อสอดรอดเข้าไปเหนือตาไม้ก็ไม่ดีเช่นกัน

“ตาเรียงหมอน และตานางนอนเหนือเตียง” คือ เสาที่เป็นตาอยู่ตรงตำแหน่งที่จะต้องพาดพรึง ถ้ามีตาตรงนี้จะทำให้เข้าพรึงประกอบไม้ไม่สนิท ส่วนตานางนอนเหนือเตียงนั้น ตาไม้อยู่เหนือตาเรียงหมอนขึ้นไปทำให้ฝาเรือนไม่สนิท

“ตานางเรียงเข้าห้อง” คือ เสาที่มีตาไม้อยู่ตรงกึ่งกลางความสูงของห้อง ทำให้เข้าฝาเรือนไม่สนิท

เกี่ยวกับลักษณะตาไม้นี้มีตำรากล่าวถึงจำนวนตาไม้ที่เป็นมงคลไว้ว่า
ถ้าเสามีตาเดียว ชื่อ “กุมลักษณ์ หรือกำลังพล” ท่านว่าทำเสาดี อยู่ดีกินดี จะเป็นใหญ่แก่ท่านทั้งหลาย
ถ้าเสามี ๓ ตา ชื่อ “ชนะศัตรู” เป็นเสาดี อยู่เป็นสุข
ถ้าเสามี ๕ ตา ชื่อ “ศุภลักษณ์” อยู่ดีมีความสุขมากมีทรัพย์สินเพิ่มพูน
ถ้าเสามี ๗ ตา ชื่อ “คชรักษ์” เป็นเสาดีมาก นำมาทำเสาเรือนจะบังเกิดช้างม้า ข้าคน และวัวควาย

ถ้าเสาไม่มีตาหรือรูตลอดลำ ชื่อว่า “ปลอดภัย” เป็นเสาดี อยู่เป็นสุข ถ้าเสามีตาเล็กๆ อย่างนมหนูตลอดลำ ชื่อว่า “ดาวเรือง” ก็จัดว่าเป็นเสาดี

เสาที่เป็นอัปมงคล คือ
เสาที่มีตา ๒ ตา ชื่อ “พุมสัตว์ หรือชุมฉวัก” ท่านว่าร้ายนักอย่านำมาทำเสาเรือน
เสาที่มีตา ๔ ตา ชื่อ “จักรทด” เป็นเสาร้าย
เสาที่มีตา ๖ ตา ชื่อ “นิราศรัก” หรือบางทีเรียกว่า “โภคลักษณ์” ท่านว่าร้ายนัก
เสาที่มีตา ๘ ตา ชื่อ “สลักกา หรือ กาฬลักษณ์” เป็นเสากาลกิณี
เสาที่มีตา ๙ ตา ชื่อ “ทุกข์สัตว์” ท่านว่าร้ายมากมักมีเหตุต่างๆ
เสาที่มีรูรองไส้กลวงตลอดต้น ชื่อ “โปร่งฟ้า” ท่านว่าไม่ดี อย่าเอามาทำเสาเรือนเพราะสู้ทานกำลังเรือนได้ไม่นาน
เสาที่มีรูทั่วไปทั้งต้น ชื่อ “โพรงรัง” ก็จัดว่าเป็นเสาไม่ดีเช่นกัน

แต่ในกรณีที่หาเสามาไม่ต้องกับลักษณะที่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้เสาที่มีลักษณะไม่ดี ก็มีวิธีแก้เคล็ดให้เสาร้ายเป็นเสาดีได้คือ ให้เจาะตัดเอาตาร้ายนั้นออกทิ้งแล้วเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาด ๑ จันทน์ ๑ ขี้วัวแดง ๑ นํ้าผึ้งรวง ๑ อย่างละเท่าๆ กันบดเข้าด้วยกัน ทำเป็นยาปิดเข้าที่ตาเสาร้ายให้กลายเป็นดีได้

เมื่อผู้ชำนาญในการเลือกเสาได้เลือกเสาและทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นไม้ที่จะต้องตัดทำเสาแล้ว ผู้ที่มาด้วยจะทำการตัดเสา และการตัดเสานี้ก็ต้องตัดให้เสาล้มลงในทิศทางที่เป็นมงคลอีกด้วย ดังมีตำรากล่าวไว้ว่า
ตัดเสาล้มทิศบูรพา    (ทิศตะวันออก)            มีวัวควายมาก
ตัดเสาล้มทิศอาคเนย์    (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)    ไฟจะไหม้
ตัดเสาล้มทิศทักษิณ    (ทิศใต้)                เร่งจ่ายของ
ตัดเสาล้มทิศหรดี    (ทิศตะวันตกเฉียงใต้)        จะมีข้าวของมาก
ตัดเสาล้มทิศประจิม    (ทิศตะวันตก)            ผู้หญิงจะให้โทษ
ตัดเสาล้มทิศพายัพ    (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)    จะอยู่มิดี
ตัดเสาล้มทิศอุดร    (ทิศเหนือ)                จะเกิดทะเลาะกัน
ตัดเสาล้มทิศอีสาน    (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)    จะเกิดลาภทุกประการและจะมั่งมี

นอกจากนี้คนสมัยก่อนยังมีความเชื่อว่าการตัดไม้มาสร้างเรือนหรือที่อยู่อาศัยนี้ต้องตัดมาจากป่าเดียวกัน เพราะถ้านำไม้ต่างป่าหรือหลายป่ามาสร้างบ้านเรือนแล้วเชื่อกันว่าเทวดาหรือนางไม้ที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้จะเกิดผิดพวกทะเลาะกันทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนนั้นไม่มีความสุข

เมื่อได้ไม้ที่จะทำเสาและพื้นตามที่ต้องการแล้วจึงตัดรวมกันไว้และชักลากนำออกมาจากป่า

๓. การปลูกเรือน
ก่อนที่จะทำการปลูกสร้างบ้านเรือนต้องเลือกหรือกำหนด วัน เดือน เสียก่อน เพราะการเลือกวัน เดือน ปี ที่จะทำการปลูกบ้านสร้างเรือนนี้เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณการแล้ว และได้มีผู้เขียนเป็นตำรับตำราไว้ต่อๆ กันมา เช่น การเลือกกำหนดเดือนที่ดีและเป็นสิริมงคล ในการปลูกเรือน ในเรื่อง “เรือนไทยวรรณนา” ของจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ วารสารบ้านฉบับมีนาคม ๒๕๒๐ ว่า

“ปลูกเรือนเดือนห้า        ทุกข์เท่าฟ้ามาถึงตน
เดือนนี้มิเป็นผล            อันตรายจะบีฑา
ปลูกเรือนเดือนหก        ลาภอิ่มอกต่างภาษา
สิ่งสินจะพูนมา            สรรพทรัพย์ก็เนืองนอง
ปลูกเรือนในเดือนเจ็ด        เสียบำเหน็จสิ้นทั้งผอง
ทรัพย์สินอันตนครอง        เสียทั่วตัวจะร้ายไฟ
ปลูกเรือนในเดือนแปด        จะร้อนแรดทุรนใจ
สิ่งสินตนใดใด            จะเก็บไว้บ่มิคง
ปลูกเรือนในเดือนเก้า        ยศศักดิ์เจ้าก็มั่นคง
สิ่งสินอันจำนงค์            สรรพทรัพย์ก็เพิ่มมา
ปลูกเรือนในเดือนสิบ        จะฉิบหายต้องขื่อคา
ทั้งพยาธิจะบีฑา            อันตรายมาปะปน
ปลูกเรือนในเดือนสิบเอ็ด    อันความเท็จจะใส่ตน
เดือนนี้จะมีผล            จะเกิดภัยอันตราย
ปลูกเรือนในเดือนสิบสอง    เงินทองย่อมเหลือหลาย
ช้างม้าและวัวควาย        มีทั้งทาสและทาสี
ปลูกเรือนในเดือนอ้าย        ย่อมจะได้เป็นเศรษฐี
สิ่งสินจักพูนมี            เพราะเดือนนี้ต้องเป็นผล
ปลูกเรือนในเดือนยี่        ฤกษ์เดือนนี้ก็โสภณ
ข้าศึกและแสนผล        อาจกันตนและศัตรู
ปลูกเรือนในเดือนสาม        ภัยติดตามดูอดสู
ครั้นเมื่อถึงฤดู            ย่อมเกิดภัยอันตราย
ปลูกเรือนในเดือนสี่        เดือนนี้ดีสุขสบาย
ทุกข์โศกโรคสูญหาย        ความสบายจักพูนมา”

การเลือกวันในการปลูกบ้านมีตำรากล่าวไว้ดังนี้
ปลูกเรือนวันอาทิตย์        จะเกิดทุกข์และอุบาทว์
ปลูกเรือนวันจันทร์        ทำแล้วสองเดือนจะได้ลาภผ้าผ่อนแพรพรรณและของขาวเหลือง
ปลูกเรือนวันอังคาร        ทำแล้วสามวันจะเกิดความเจ็บไข้และไฟจะไหม้
ปลูกเรือนวันพุธ            จะได้ลาภผ้าผ่อนอันดี
ปลูกเรือนวันพฤหัส        จะมีความสุขสำราญ ทำแล้วห้าเดือนจะได้
ลาภมาก
ปลูกเรือนวันศุกร์            ความทุกข์และสุขถึง ทำแล้วสามเดือนจะได้ลาภหน่อยหนึ่ง
ปลูกเรือนวันเสาร์        จะเกิดโรคพยาธิ เลือดจะตกยางจะออก ทำแล้วสามเดือนจะเจ็บไข้ได้ยาก

เมื่อเลือกวันเดือนปีที่จะปลูกบ้านได้แล้ว ก็เริ่มลงมือปลูกบ้าน ซึ่งก่อนจะลงมือปลูกบ้านสร้างเรือนจะต้องแผ้วถางพื้นที่ให้เตียนเสียก่อน จึงถมปราบหรือเกลี่ยพื้นที่ให้เรียบ แล้วจึงทำการขุดหลุมลงเสาต่อไป

การที่จะกะว่าจะขุดหลุมเพื่อลงเสาตรงไหน ระยะจะห่างกันมากน้อยเท่าใดนั้นต้องอาศัยขนาดของไม้พรึงเป็นหลัก กล่าวคือ นำเอาไม้พรึงทางด้านสกัดหัวและท้ายเรือนคู่หนึ่ง ด้านข้างเรือน อีกคู่หนึ่งมาวางทาบลงบนพื้นดินที่กำหนดจะสร้างเรือน วางไม้พรึงให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมตามขนาดของตัว เรือนเพื่อกำหนดรูปร่างให้รู้ว่าตัวเรือนจะวางอย่างไร และตรงไหน เพื่อให้เข้ากับขนาดพื้นที่และเพื่อดูทิศทางลมและการหลบแดด เมื่อเข้ารูปดีแล้วก็จัดแบ่งไม้พรึงออกเป็นห้องขนาดเท่าๆ กัน แล้วทำเครื่องหมายไว้บนสันพรึง เหลาไม้ไผ่ให้ยาวประมาณ ๗-๘ นิ้วทำเป็นหมุดไม้ (หมุดไม้นี้เรียกตามภาษาช่างไม้ว่า “ฉะมบ”) นำไปปักตามที่หมายแบ่งห้องและตามมุมที่ไม้พรึงบรรจบกันโดยปักหมุดไม้นี้ ไว้ในรอบในของไม้พรึงเรียกว่า “ปักฉะมบ” ตำแหน่งที่ปักฉะมบไว้เป็นที่หมายกำหนดว่าเป็นศูนย์กลางของเสาเรือนแต่ละต้น

เมื่อปักฉะมบแล้วจึงลงมือขุดหลุม คนไทยโบราณมีความเชื่อว่า ถ้าขุดหลุมลงเสาเรือนไปถูกจัดที่นาครักษาพื้นที่นั้นๆ จะเกิดโทษ ในสมัยโบราณมีตำราดูนาคเพื่อขุดหลุมลงเสาเรือนกล่าวไว้ว่า

“สิทธิการิยะ ถ้าผู้ใดจะทำการขุดหลุมลงเสาเอกโท ให้ดูทิศตามนาคประจำเดือน ดังนี้

เดือน ๔,๕,๖ หัวนาคอยู่ทิศประจิม หางนาคอยู่ทิศบูรพา ท้องอยู่ทิศทักษิณ หลังอยู่ทิศอุดร ให้ขุดดิน “บ้าน” ทางทิศทักษิณก่อน เอามูลดินไว้ทิศบูรพาปลายเสาเอาไว้ทักษิณแลหรดีต่อกัน เสาเอก ต้นทิศอาคเนย์ เอาผ้าสีเหลืองนุ่งห่มเสาเอกโท

เดือน ๗,๘,๙ หัวนาคอยู่ทิศอุดร หางอยู่ทิศทักษิณ ท้องอยู่ทิศประจิม หลังอยู่ทิศบูรพา ให้ขุดดินทางทิศประจิม เอามูลดินไว้ทิศทักษิณ ปลายเสาไว้ทิศประจิมแลพายัพต่อกัน เอาเสาเอกต้นทิศหรดี เอาผ้าสีขาวนุ่งห่มเสาเอก โท

เดือน ๑๐,๑๑,๑๒ หัวนาคอยู่ทิศบูรพา หางอยู่ทางทิศประจิม ท้องอยู่ทิศอุดร หลังอยู่ทิศทักษิณ ให้ขุดดินทางทิศอุดรก่อน เอามูลดินไว้ทิศประจิม ปลายเสาไว้ทิศอุดร แลทิศอิสานต่อกัน เสาเอกต้นทิศพายัพ เอาผ้าสีน้ำเงินแก่นุ่งห่มเสา เอก โท

เดือน ๑,๒,๓ หัวนาคอยู่ทิศทักษิณ หางอยู่ทิศอุดร ท้องอยู่ทิศบูรพา หลังอยู่ทิศประจิม ให้ขุดดินทางทิศบูรพาก่อน เอามูลดินไว้ทิศอุดร ปลายเสาไว้ทิศบูรพาแลอาคเนย์ต่อกัน เสาเอกต้นทิศอีสานเอา
ผ้าลายนุ่งห่มเสาเอก โท”

การขุดหลุมลงเสานี้มีพยากรณ์ไว้ว่า
อย่าขุดให้ถูกหัวนาค        เจ้าเรือนจะตายก่อน
ถ้าขุดถูกหางนาค        เจ้าเรือนจะพลัดพรากจากลูกเมีย
ถ้าขุดถูกหลังนาค        บุตรภรรยาข้าทาสจะหนีหาย
ถ้าขุดถูกท้องนาค        จะอยู่เย็นเป็นสุข จะมีลาภและมีทรัพย์สินมาก

นอกจากนี้ยังกำหนดอีกว่า
การขุดดินต้องขุดทางทิศที่ต้องท้องนาคก่อนจึงจะเป็นมงคล
การเอามูลดินที่ขุดนั้นต้องเอากองไว้ทางหางนาคเสมอ

หลุมลงเสาเอกจะต้องอยู่ระหว่างทิศท้องนาคต่อกับทางขวาของทิศท้องนาคเสมอ เมื่อจะขุดหลุมต้องมีการบูชานาคด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีบูชานาคมีตำรากล่าวไว้ดังนี้คือ
เดือน ๔, ๕, ๖ ให้เอาผ้าเหลือง ข้าวตอกดอกไม้ ธูปและเทียน เครื่องกระยาบวชบูชานาค
เดือน ๑๐,๑๑,๑๒ ให้เอาผ้าแดง ข้าวตอกดอกไม้ ธูป และเทียนเครื่องกระยาบวชบูชานาค
เดือน ๑, ๒, ๓ ให้เอาผ้าขาว ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องกระยาบวชบูชานาค

และถ้าจะให้เป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น เมื่อจะขุดหลุมลงเสาแรกให้หาเครื่องบัตรพลีบูชานาคเสียก่อนแล้วจึงลงมือขุด นอกจากนี้ยังได้เอาไม้ราชพฤกษ์หรือไม้อินทนิลมาทำด้ามเสียม และผู้ที่จะทำการลงมือขุด หลุมในคราวแรกนี้ได้หาคนที่ชื่อนายอิน นายพรหม นายชัย หรือนายแก้ว มาเป็นผู้ขุด การขุดหลุมนี้กำหนดความกว้างของหลุมไว้ว่าให้กว้างจากจุดศูนย์กลางด้านละ ๑ ฝ่ามือ มีความลึกหลุมละ ๑ ช่วงแขน โดยกำหนดให้ผู้ขุดเอียงหน้าแนบลงกับพื้นแล้วหย่อนแขนลงจนสุดแขน เมื่อขุดหลุมแรกแล้วจึงทำไม้อันหนึ่งมีลักษณะคล้ายไม้กางเขน ขนาดกว้างยาวเท่ากับความกว้างและความลึกของหลุมแรก เพื่อสอบทาน ขนาดของหลุมต่อๆ ไป

ในการขุดหลุมนอกจากจะมีมูลดินแล้วยังมีสิ่งของอื่นที่จะพบในหลุมอีกด้วย คนสมัยโบราณเป็นคนละเอียดและช่างสังเกตจึงได้มีคำทำนายและวิธีแก้เคล็ดเมื่อขุดพบสิ่งของต่างๆ ในหลุมที่จะฝังเสาไว้ดังนี้

ถ้าขุดหลุมพบไม้ทรางให้นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้วเอาน้ำมนต์รดหลุมจึงจะดี

ถ้าขุดหลุมพบกระดูก ให้เอานํ้าสรงแก้วแหวนเงินทองมารดหลุมจึงจะดี

ถ้าขุดพบอิฐและดินขี้หนู ให้เอานํ้าผึ้งรดหลุมจึงจะดี

ถ้าขุดหลุมพบเหล็ก ให้เอาดอกบัวหลวง หญ้าแพรกประพรมน้ำล้างเท้าพระรดหลุม จึงจะดีแล

ถ้าขุดหลุมพบดินเป็นสีทอง จะได้ข้าวนํ้า โภชนาหารบริบูรณ์พูลเกิด

ถ้าขุดหลุมพบเงิน จะเกิดทรัพย์สมบัติมาก

ถ้าขุดหลุมพบตะกั่ว จะมีบริวารบริษัทมาก

ถ้าขุดพบถ่านไฟ กระเบื้อง จะเกิดถ้อยความไม่ดี

ถ้าขุดพบกรวดทราย จะอยู่เป็นสุขสำราญ

ถ้าขุดพบมีดพร้า จะเกิดทรัพย์สมบัติเงินทองบริบูรณ์

ถ้าขุดหลุมพบทองแดง จะเกิดถ้อยความไม่ดี

ถ้าขุดพบตอไม้ จะพลัดพรากจากเรือน

เมื่อเตรียมการขุดหลุมสำหรับลงเสาเรือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงหาฤกษ์ยกเสาเรือนต่อไป ส่วนมากฤกษ์ยกเสาเรือนเป็นฤกษ์ในตอนเช้า เริ่มโดยการทำบัตรพลี โดยปลูกศาลเพียงตาตั้งสังเวยกรุงพาลี พระภูมิเจ้าที่ และเทวดาต่างๆ ที่เชื่อถือกันว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ในที่จะทำการปลูกเรือน ถ้าไม่เซ่นสรวงบอกเล่าเก้าสิบให้รู้ หรือแสดงความเคารพก่อนอาจจะบันดาลให้เกิดเดือดร้อนหรืออุปสรรคต่างๆ ได้ เมื่อทำบัตรพลีบวงสรวงแล้ว จึงเริ่มพิธียกเสา

การจัดเสาเรือนให้เลือกเสาให้ได้ขนาดกันเป็นคู่ คือเสาห้องคู่หนึ่ง เสาแรกคู่หนึ่ง รวม ๔ ต้น ยกมาวางไว้บนขาหยั่ง แล้วเขียนชื่อ พรหม เพชร สุข สตรี มอบให้สาวพรหมจารี นำไปวางไว้บนเสาแต่ละต้น แล้วผูกผ้าสีกำกับไว้คือ

เสาที่ชื่อพรหม     ให้เอาผ้าขาวพัน     จัดเป็นเสาห้อง
เสาที่ชื่อเพชร     ให้เอาผ้าแดงพัน     จัดเป็นเสาแรก
เสาที่ชื่อสุข        ให้เอาผ้าดำพัน        จัดเป็นคู่เสาแรก
เสาที่ชื่อสตรี    ให้เอาผ้าเหลืองพัน     จัดเป็นคู่เสาห้อง

เมื่อจัดเสาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็แต่งตัวเสาเตรียมไว้เพื่อจะยกลงหลุมต่อไปโดยนำผ้าแดงผืนหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส บนผ้าลงเลขยันต์กันภัย เรียกว่า “ยันต์ ๘ ทิศ” ผ้าทุกผืนเจาะรูตรงกลางผืนผ้า และนำผ้ายันต์สีแดงผืนหนึ่งวางสวมลงในหัวเทียนเสาทุกต้น แล้วนำผ้ายันต์สีขาววางทับบนผ้ายันต์สีแดงโดยวางให้ทะแยงมุมกับผ้ายันต์สีแดงอีกทีหนึ่ง เชื่อกันว่า ผ้ายันต์สีแดงและสีขาวที่อยู่บนหัวเสาของเสาทุกต้นนี้จะเป็นเครื่องป้องกันเสนียดจัญไรและภัยพิบัติอื่นๆ ได้
ส่วนเสาที่เป็นเสาแรก ซึ่งคัดเลือกไว้เป็นเสาเอกนั้นนอกจากจะมีผ้ายันต์ทับหัวเสาดังกล่าวมาแล้ว ยังมีใบตอง ๕ ใบ ใบราชพฤกษ์ ๕ ใบ หน่อกล้วย ๑ หน่อ (มีใบ ๓ ใบ) ต้นอ้อย ๑ ต้น ผูกติดไว้กับปลายเสาให้แน่นแล้วจัดหาผ้าสวยๆ เช่น ผ้าแพร ผ้าดอก หรือผ้าลาย นำมาห่อหุ้มเสาอีกทีหนึ่ง สมมติว่า นุ่งห่มผ้าให้ นอกจากนี้ถ้ามีสร้อย แหวน เข็มขัด นาก ทอง หรือเงิน ก็นำมาห้อยผูกประดับเสาด้วยก็ได้ เมื่อแต่งตัวเสาเรือนพร้อมแล้วจะต้องทำการประสาทนามพญาไม้ประจำเสาและเครื่องเรือนแต่ละสิ่งให้เป็นมงคลสืบไปแก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย ดังมีกล่าวไว้ในตำราว่า

“ศรีสถาพร บวรวิไลย์ในโลกเลิศ ขออัญเชิญเทพเจ้าผู้ประเสริฐมเหสักข์ อันเป็นที่พึ่งพำนัก นรากร เชิญช่วยทรงอนุสรณ์ประสาทผล ให้บังเกิดสวัสดิ์มงมงคลที่เคหา ขอองค์จอมจักรวาทีไกรลาศโลก จงมาช่วยประสิทธิ์อมรโชคมหาชัย แล้วปราสาทนามพญาไม้ไว้ให้สบสมควร เป็นที่เกษมสานด์ ภิรมย์บำรุงรัก

เสาหนึ่งประจักษ์ ชื่อพรหมพิทักษ์ฦๅสาย เสาสองเฉิดฉาย ชื่อนารายณ์เรืองภพ เสาสามงามลพชื่อจบพระนคร เสาสี่บวร ชื่อสุวรรณขวัญเมือง เสาห้าลือเลื่อง ชื่อเรืองราหุล เสาหกสมบุญ ชื่อเจ้าคุณพระคลัง เสาเจ็ดร้อยชั่ง ชื่อบังโพยภัยเสาแปดนั้นไซร้ชื่อชัยมงคล รอดหนึ่งเป็นต้น ชื่อประจญมารา รอดสองโสภา ชื่อมหาโภคทรัพย์ รอดสามงามสรรพชื่อดับถ้อยความ รอดสี่มีนาม ชื่อห้ามทุกข์ร้อน พรึงรีเรียงหมอน ชื่อสุนทรพิทักษ์ พรึงรีมีศักดิ์ ชื่อพระลักษมณ์จำลอง พรึงสกัดทั้งสอง ชื่อห้องไสยาสน์ ขื่อหนึ่งสะอาด ชื่อมาศนพคุณ ขื่อสองสมบุญ ชื่อเจ้าคุณอัมพร ขื่อสามงามงอน ชื่อมังกรล่อแก้ว ขื่อสี่ดีแล้วชื่อแคล้วศัตรู ดั้งยืนทั้งคู่ชื่อธนูจำนง ดั้งสามงามทรง ชื่อณรงค์เรืองชัย คุ้มเสนียดจัญไร โพยภัยไม่มี ให้นามตามที่ประสิทธิทุกอัน”

การประสาทนามพญาไม้ประจำเสาและไม้เครื่องเรือนนี้ ผู้ทำพิธีจะเขียนชื่อพญาไม้กำกับไว้บนหัวเสาทุกต้น เมื่อประสาทนามพญาไม้เสร็จแล้วจึงเริ่มทำพิธีทำขวัญเสาต่อไป

ในบทบรรยายการทำขวัญเสาในตอนแรก กล่าวชมสัตว์ป่านานาชนิด แล้วเชิญขวัญเสาเข้ามาอยู่ในเรือนที่ปลูกสร้างใหม่กล่าวไว้ว่า

“……..เชิญขวัญเจ้าพญาไม้ทั้งหลายเอ่ย อย่าหลงเชยนั้นไม่สม อย่าหลงชมนั้นไม่ชอบ ผิดระบอบโบราณไป เชิญขวัญเจ้าพญาไม้จงมาสิงสู่อยู่ในเคหสถาน เชยชมศฤงคารบริวารรอบเรียง ดับคั่งเคียง เสียงผู้คน งามเหลือล้นดูลํ้าเลิศ สุดประเสริฐสารพัด โภคสมบัติอันบวร เครื่องบรรจถรณ์ที่ปูลาด สุดสะอาดอันเอกเอี่ยม เสื่อพรมเจียมงามบรรจง พร้อมอลงการไปด้วยเครื่องหอมประดิษฐ์ประดับสิ่งสินทรัพย์นับหมื่นพันทั้งหิรัญนพรัตน์ โภคสมบัติแสนเสบย เชิญขวัญเจ้าพญาไม้ทั้งหลายเอ่ย จงมาเป็นสุขในเคหสถาน ให้สำราญสำเร็จกิจ ดุจถ้อยคำข้าพเจ้าประสิทธิ์โหราจารย์ บัดนี้เวลากาลจวนฤกษ์ยาม จงชวนกันกระทำตามประเพณี เอาแป้งหอมนํ้ามันดีมาจี้เจิมเฉลิมเขา เอานํ้ามนต์ประพรมเสาเอายันต์ปิด เจ้าจงเร็วไว กันฟ้ากันไฟโพยภัยทั้งหลาย จวนฤกษ์พรรณราย วุ่นวายแต่งตัวเสา เอามงคลแจกทั่ว ตามอย่างธรรมเนียมเอะอะตระเตรียมพร้อมพรั่ง ตั้งใจประคองเสาเข้าไว้ คอยท่าท่านผู้ใหญ่บัญชา พอได้ฤกษ์เวลาปลูกกล้วยเป็นทอง ท่านจึงให้ลั่นฆ้องเข้าเป็นสำคัญ โห่เลื่อนลั่นขึ้นสามลา”

พร้อมกับการทำขวัญเสาเรือนนี้ตามประเพณีโบราณยังทำขวัญจั่วด้วย โดยผู้ที่ทำพิธีเจิมหน้าจั่ว เป็น ๕ จุดด้วยแป้งกระแจะลดหลั่นกันเป็นรูปหน้าจั่ว เรียกว่าพระเจ้า ๕ พระองค์ แล้วหาผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๔ นิ้ว ยาว ๕ นิ้ว สีขาวผืนหนึ่ง โดยเอาผ้าแดงซ้อนทับบนผ้าสีขาวร้อยด้ายดิบผูกติดไว้กับพรหมใต้ที่เจิมแป้งกระแจะผ้าคู่นี้ภาษาช่างไม้เรียกว่า “ผ้าหน้าพรหม” การผูกผ้าหน้าพรหมนี้ผูกกันเฉพาะจั่วแผงหน้าและหลังของด้านสกัดเรือนเท่านั้น และผูกติดไว้จนกว่าจะเปื่อยขาดไปเอง บางครั้งเมื่อเวลายกจั่วขึ้นตั้งบนปลายเสา ตัวนายช่างที่ทำเรือนจะทำนํ้ามนต์ธรณีสารประพรมหน้าจั่ว แล้วเอาน้ำมนต์มาประพรมด้ามขวาน และศีรษะตนเองด้วย ถือว่าเป็นการปัดเสนียดจัญไร ต่อจากนั้นเอาด้ามขวานกระทุ้งหน้าจั่วพร้อมกับเสกคาถาอาคมประจุขาดสามคาบแล้วเอาด้ามขวานกระทุ้งลงที่กระดานลูกฟัก กรุหน้าพรหมแผ่นบนให้แตกออกเป็นทางยาว แล้วจึงกลับเอาเข้าติดใหม่ว่าคาถาประสาน ๓ คาบ จึงยกจั่วขึ้นติดบนปลายเสา การทำเช่นนี้เรียกว่า “กระทุ้งหน้าพรหม” เชื่อกันว่าการทำเช่นนี้เป็นการเอาเคล็ด ทำให้ผู้อยู่อาศัยในเรือนมีความสุขความเจริญ

ขณะที่ทำพิธีกระทุ้งหน้าพรหมนี้ เจ้าของเรือนจะต้องจัดตั้งขันข้าวบูชาครู มีเงินเป็นค่ากำนัล ๖ สลึง ผ้าขาวผืนหนึ่ง ขันล้างหน้าสำรับหนึ่ง เป็นของบูชาครู เมื่อเสร็จพิธีแล้วสิ่งของเหล่านี้ก็ตกเป็นของนายช่างผู้ทำการปลูกบ้านต่อไป

เมื่อเสร็จพิธีทำขวัญเสา ทำขวัญจั่ว และยกเสาเอกเรียบร้อยแล้ว จึงนำเสาอื่นๆ ลงหลุมต่อไปแล้ว จึงนำเครื่องเรือนที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วขึ้นวางประกอบเป็นตัวเรือนต่อไปโดยมีคติความเชื่อเรื่องการเจาะช่องประตูหน้าต่างเรือนอยู่ด้วย คือ

“ถ้าจะทำประตูท้าวพญากว้าง ๗ ฝ่าตีน ประตูกุฎีและเรือนพราหมณ์กว้าง ๕ ฝ่าตีน ประตูราษฎรทั้งปวงกว้าง ๓ ฝ่าตีน ประตู ๓ ชั่วฝ่าตีน ชื่อมัทราช ถ้ากว้างกว่านั้นไฟจะไหม้แล”
และ “เรือนหลังหนึ่งอย่าทำหน้าต่าง ๙ แห่ง ท่านว่าทวารทั้ง ๙ มิดี และให้ทำหน้าต่างจำนวนคี่จึงจะดีแล”

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นอันมาก ดังนั้นการปลูกบ้านจึงเปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านโครงสร้าง รูปแบบและวัสดุที่ใช้ ดังจะเห็นได้ในปัจจุบันนี้ว่า แบบบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นบ้านแบบตะวันตกแทบทั้งสิ้น และเรือนไทยเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นับวันจะหมดไปหาดูได้ยาก เรือนไทยเดิมที่จะพบเห็นในสมัยปัจจุบันคือ เรือนไทยเดิมแบบประยุกต์ ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุในการก่อสร้างคือไม้ ในปัจจุบันราคาสูงมาก และช่างฝีมือในการปลูกบ้านแบบเรือนไทยเดิมมีน้อยมากจนแทบจะหาไม่ได้ จึงทำให้มีผู้นิยมหันไปใช้วัสดุอย่างอื่นในการปลูกบ้านแทนไม้

ส่วนพิธีต่างๆ ที่เนื่องในการปลูกบ้านนั้น เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจบังคับ จึงจำต้องตัดพิธีการต่างๆ ออกไปบ้าง คงเหลือแต่พิธีสำคัญบางประการไว้ เช่น พิธียกเสาเอกเป็นต้น แต่กระนั้นก็ยังตัดขั้นตอนต่างๆ ออกไปจนเกือบหมด คงเหลือแต่พิธีตอนยกเสาเอกลงหลุมเท่านั้น

ที่มา:กรมศิลปากร

มารยาทการนั่งที่ควรปฏิบัติ

การนั่ง
การนั่งเป็นกิริยามารยาทของไทยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงออกถึงลักษณะบางประการของวัฒนธรรมไทย ในสมัยที่ยังไม่มีเก้าอี้ใช้นั้น เรามีแบบฉบับการนั่งกับพื้นมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเริ่มติดต่อกับประเทศตะวันตก จึงยอมรับวัฒนธรรมและความเจริญทางวัตถุของประเทศเหล่านั้นเข้ามาใช้ เก้าอี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาใช้การใช้ครั้งแรกยังใช้กันไม่ค่อยถูก มารยาทในการนั่งถึงกับต้องออกประกาศวิธีการนั่งดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จนเกิดเป็นแบบฉบับของการนั่งต่อมา แม้ว่าการนั่งเก้าอี้จะเป็นอารยธรรมของตะวันตกแต่คนไทยสามารถคงไว้ซึ่งลักษณะของความเป็นไทยไว้ได้ กล่าวคือ จะนั่งอย่างสุภาพตามแบบฉบับของคนไทย ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่การนั่งก็แสดงออกถึงความอ่อนน้อม เคารพยกย่อง เป็นต้น นับว่าเป็นมารยาทอันดีงามที่สามารถจะนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส ทุกชาติ ทุกสังคมของโลก เป็นมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ให้ จึงควรที่เราทุกคนควรถือปฏิบัติสืบต่อไป

มารยาทในการนั่งที่ควรปฏิบัติจำแนกตามประเภทของการนั่งดังนี้คือ

๑. การนั่งเก้าอี้ ควรนั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าชิด เข่าชิด มือวางบนหน้าขา ไม่ควรนั่งเขย่าขา ไขว่ห้าง หรือนั่งโยกเก้าอี้เอนไปมา โดยเฉพาะสตรี ควรระมัดระวังเรื่องเครื่องแต่งกายไม่ควรให้ประเจิดประเจ้อ

การนั่งเก้าอี้ถ้านั่งตามลำพัง ควรนั่งตามมารยาทการนั่งเก้าอี้ ถ้ามีท้าวแขน ก็วางมือพาดบนท้าวแขนได้

ในกรณีนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ ควรนั่งน้อมตัวลงเล็กน้อย มือวางประสานไว้บนหน้าขา ถ้ามีอาวุโสมาก ควรนั่งลงศอก กล่าวคือ น้อมตัวลงเงยหน้าเล็กน้อย วางแขนทั้ง ๒ ลงบนหน้าขาให้ข้อศอกวางอยู่บนตัก มือที่ประสานกันลํ้าออกมาจากปลายเข่าเล็กน้อย

๒. นั่งกับพื้น เป็นกิริยามารยาทที่คนไทยได้ปฏิบัติกันมานานแล้ว และสามารถใช้ได้ในโอกาสต่างๆ เช่น ฟังพระเทศน์ ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ นั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ นั่งประชุมกับพื้น เป็นต้น

ก. การนั่งพับเพียบ เป็นกิริยาอาการนั่งที่นิยมกันมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นกิริยาที่สุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่มารยาทของคนไทยซึ่งมักใช้ปฏิบัติกันทั้งทางโลกและทางธรรม การนั่งพับเพียบนี้นั่งพับขาทั้งสองราบลงกับพื้น หันปลายเท้าไปด้านหลัง จะพับขาทั้งสองไปทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้ตามถนัด ไม่ควรหันปลายเท้าไปยังปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถาน การนั่งพับเพียบนี้นิยมนั่งตัวตรงไม่เอนหน้า หรือเอนหลัง ผู้ชายนิยมนั่งแยกหัวเข่าทั้งสองออกห่างกันประมาณ ๑ คืบ ส่วนผู้หญิงนิยมให้หัวเข่าทั้งสองแนบชิดกัน ถ้าเป็นการนั่งตามลำพัง ไม่ต้องนั่งเก็บปลายเท้า มือวางไว้บนตักหรือจะท้าวแขนก็ได้แต่ไม่ควรเอาท้องแขนไว้ข้างหน้า ให้ปลายมืออยู่ข้างหน้า ผู้ชายไม่ควรนั่งท้าวแขนเพราะจะดูเป็นผู้หญิงไป แต่นั่งปล่อยแขนได้ ถ้าเป็นการนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ นั่งเช่นเดียวกับนั่งตามลำพังแต่เก็บปลายเท้า น้อมตัวลงเล็กน้อย มือประสานไว้บนตัก แต่ถ้าผู้ใหญ่มีอาวุโสมากควรนั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าน้อมตัวลงตํ่าเงยหน้าเล็กน้อย วางส่วนแขนลงบนหน้าขาข้างเดียว มืออีกข้างอยูใกล้ๆ ถ้าจะวางส่วนแขนทั้งสองลงบนหน้าขา มือประสานกัน การวางศอกลงกับพื้นนั้นเป็นกิริยาอาการของการหมอบ

ข. การนั่งคุกเข่า นั่งตัวตรง วางก้นลงบนส้นเท้า ปลายเท้าตั้ง มือทั้งสองประสานหรือจะวางควํ่าลงบนหน้าขาได้ ถ้าเป็นหญิงจะนั่งคุกเข่าให้ปลายเท้าราบกับพื้นได้ ใช้ในโอกาสกราบพระพุทธรูป พระ สงฆ์ เป็นการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หรือนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ และอื่นๆ ตามที่เห็นควร

นอกจากนี้ยังมีมารยาทอื่นๆ ที่ปฏิบัติกันในสังคมอีก เช่นการรักษาความสะอาด จะเห็นได้ว่าในเรื่องนี้ได้มีการขอร้องให้ร่วมมือกันรักษาความสะอาดกันมาช้านาน แม้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้มีประกาศห้ามทิ้งซากศพสัตว์ลงในแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากต้องใช้นํ้าในการอุปโภคและบริโภค ประกอบกับในระยะนั้นมีชาวต่างประเทศเข้ามากรุงเทพฯ มากขึ้นจะทำให้ชาวต่างประเทศรังเกียจ ซึ่งเป็นผลให้เสื่อมเสียเกียรติของชาติได้ ดังจะเห็นได้จากประกาศทรงตักเตือน ไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในนํ้าว่า

“มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลราษฎรทั้งปวง ให้รู้ทั่วหน้ากันว่า บัดนี้ได้ทราบข่าวคนนอกประเทศแลคนนอกกรุงฯ เป็นลาวแลเขมร แลชาวหัวเมือง ดอน ใช้น้ำบ่ออื่นๆ หลายพวก ย่อมติเตียนว่าชาวกรุงเทพฯ นี้ทำโสมมนักลงในแม่น้ำลำคลอง ด้วยทิ้งซากศพสัตว์ตายให้ลอยไปๆ มาๆ น่าเกลียดน่าชัง แล้วก็ใช้กิน แลอาบนํ้าอยู่เป็นนิจ เป็นน่ารังเกียจเสียเกียรติยศพระมหานคร

เพราะเหตุฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดฯ สั่งสอนเตือนสติมาว่า แต่นี้ไปห้ามมิให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งทิ้งสุนัขตาย แมวตาย แลซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อยทั้งปวงเป็นอันขาด ขอให้คิดอ่านใช้สอยจ้างวานใครๆ เอาไปทิ้งเสียที่ป่าช้าดังซากศพคนนั้นเถิด ถัดบ้านเรือนอยู่ที่ริมนํ้าจะเอาไปป่าช้ายาก ก็ให้ฝังเสียในดินในโคลนให้ลับลี้ไป อย่าให้ลอยไปลอยมาในนํ้าได้ แลการซึ่งทิ้งซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในนํ้าให้ลอยขึ้นลอยลงอยู่ดังนี้ คิดดูโดยละเอียดก็เห็นเป็นที่รังเกียจแก่คนที่ได้อาศัยใช้นํ้าอยู่ทั้งสิ้นด้วยกัน พระสงฆ์ สามเณร เป็นพระสมณะ  ชาวนอกกรุงเทพฯ คือเมืองลาวแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง แลชาวราษฎร ชาวนอกกรุงฯ เมื่อมีเหตุต้องลงมายังกรุงเทพฯ นี้แล้วก็รังเกียจติเตียนว่าเพราะต้องใช้นํ้าไม่สะอาด จึงเป็นโรคต่างๆ ไม่เป็นสุขเหมือนอยู่นอกกรุงฯ ถึงคนนอกประเทศคือ ฝรั่ง อังกฤษ จีนแขกทั้งปวงซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ก็ติเตียนดังนั้นอยู่โดยมาก…ถ้าผู้ใดไม่ฟังพระบรมราโชวาท เดือนสติมาดังนี้แล้ว ยังขืนทำมักง่ายอยู่ดังเก่า ก็จะให้นายอำเภอสืบชาวบ้านใกล้เคียงเป็นพยานชำระเอาตัวไม่เอื้อเฟื้อมักง่ายทำให้โสโครกนั้นมาตระเวนประกาศห้ามผู้อื่นต่อไป”

จะเห็นได้ว่าการทำสกปรก ทิ้งซากสัตว์ ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลอื่นๆ ลงในแม่นํ้าลำคลอง หรือตามถนนหนทาง เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง จึงควรที่จะช่วยกันรักษามารยาท เพื่อสุขภาพของส่วนรวม ดังจะเห็นมีการประกาศให้ช่วยกันรักษาความสะอาดอยู่เสมอ จนบางสมัยต้องใช้วิธีบังคับ เช่น สมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้จับผู้ที่ทิ้งขยะมูลฝอยตามท้องถนน เป็นต้น ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) มีการชักชวนให้ประชาชนร่วมมือกันรักษาความสะอาด ดังจะเห็นได้จากคำขวัญของกรุงเทพมหานครว่า “อย่าทำบ้านเมืองสกปรกนะคะ” “ความสะอาดของบ้านเมืองคือของขวัญที่ประชาชนมอบให้แผ่นดิน” “กวาดไม่รู้จักหมด ถ้าไม่งดทิ้งขยะ” “ทิ้งขยะไม่เลือกที่ หมดราศีไปทั้งเมือง” เป็นต้น คำขวัญเหล่านี้จะพบทั่วไปในบริเวณต่างๆ ของกรุงเทพฯ

การรักษาความสะอาดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนไทยควรช่วยกันรักษา จะเห็นได้ว่าคนบางคนมักง่าย เห็นแก่ตัว เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน เช่น คนที่เดินกินอ้อยแล้วทิ้งชานอ้อยไว้ตามถนนหนทาง บางคนกวาดขยะมูลฝอยจากภายในบ้านเอามาทิ้งไว้ตามถนน ปัญหาเหล่านี้จะพบเห็นมากจึงควรที่จะแก้ไขให้ประชาชนช่วยกันรักษามารยาทเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม อันเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง โดยอย่ามักง่าย ช่วยกันเก็บช่วยกันทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง บ้านเมืองก็จะสะอาด สุขภาพของคนก็จะดีไปด้วย

กิริยามารยาทต่างๆ ที่ปฏิบัติกันในสังคมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่แสดงออกถึง นิสัยใจคอ บุคลิกลักษณะ ตลอดจนความมีชาติตระกูลได้ ดังคำพังเพยได้กล่าวว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล”

ที่มา:กรมศิลปากร

มารยาทในการยืน

การยืน การยืนมีอยู่หลายลักษณะ นอกจากการยืนตรงแล้ว การยืนด้วยอาการอ่อนน้อมก็ถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง ต่อบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นการให้เกียรติมากน้อยตามกาลเทศะมารยาทการยืน

โดยลักษณะธรรมชาติ การยืน คือ การทิ้งนํ้าหนักตัวลงบนขาและฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ลำตัวตั้งตามแนวรูปกระดูกสันหลัง ศีรษะและลำคอค้อมมาข้างหน้าเล็กน้อย เรียกว่า ยืนตามสบาย

มารยาทในการยืนที่ปฏิบัติกันโดยทั่วๆ ไป พอจะสังเขปได้ดังนี้

๑. การยืนให้ถูกสุขอนามัย ขาทั้งสองชิดกันตั้งแต่ต้นขาจรดส้นเท้า ปลายขาทั้งสองแบะห่างกันพองาม ลำตัวยืด ตั้งแต่หน้าท้องและทรวงอกเกือบเป็นระดับเดียวกัน ทิ้งไหล่ผายไปข้างหลังเล็กน้อย ไม่ยกหัวไหล่ ศีรษะเงย แขนทั้งสองห้อยแนบกับลำตัว โดยเบนข้อศอกห่างจากลำตัวเล็กน้อย ฝ่ามือ และปลายนิ้วเหยียดห้อยตามสบายแต่ไม่เกร็ง

๒. การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่หรือพระสงฆ์ โดยทั่วไปต้องยืนสำรวม กล่าวคือ ยืนเฉียงไปทางซ้าย หรือขวาของผู้ใหญ่ ยืนตรง ขาทั้งสองชิดกัน ถ้าเป็นชายยืนปลายเท้าห่างกันประมาณหนึ่งคืบ หญิงยืนให้ปลายเท้าทั้งสองชิดกัน แขนแนบข้างตัวทั้งสองข้าง ไม่เกร็ง หรือจะประสานมือ หรือประกบมือก็ได้

การประสานมือหรือประสานนิ้ว คือการสอดนิ้วมือเข้าหากันทั้งสองข้าง ไม่หงายมือหรือควํ่ามือจนเกินไป ยกมือที่ประสานขึ้นเกือบถึงระดับเอว และไม่ห้อยตํ่าระหว่างใต้ท้องน้อย ไม่กางข้อศอกและ ไม่บีบข้อศอก

การประกบมือ คือการหงายมือข้างหนึ่ง และควํ่ามือข้างหนึ่ง เช่น มือซ้ายหงาย มือขวาควํ่าหรือ มือขวาหงาย มือซ้ายควํ่า ตามความถนัดของแต่ละบุคคล ยกมือที่ประกบกันขึ้นเกือบถึงระดับเอวและไม่ทิ้งตํ่าลงจนอยู่ระหว่างใต้ท้องน้อย ไม่กางหรือบีบข้อศอกจนเกินไป

การยืนประสานมือ หรือการยืนประกบมือ เป็นลักษณะการยืนสำรวมต่อหน้าผู้ใหญ่ พระสงฆ์ หรือยืนสำรวมกายต่อพระพักตร์ หรือยืนเพื่อฟังโอวาท

๓. การยืนถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระมเหสี ถ้าเป็นการยืนในแถว ให้ปฏิบัติตามระเบียบแถวหรือตามคำสั่งผู้ควบคุมแถว เช่น ยืนตรง หรือยืนถวายคำนับ ถ้ายืนถวายความเคารพตามลำพัง

ชาย ถ้าสวมหมวกเครื่องแบบให้ยืนตรงแล้วทำวันทยหัตถ์ ถ้าไม่ได้สวมหมวกให้ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านแล้วถวายคำนับโดยก้มศีรษะ และส่วนไหล่ลงช้าๆ ต่ำพอควร (อย่าผงกศีรษะเร็วเกินไป) กระทำครั้งเดียวแล้วยืนตรง ถ้าสวมหมวกอื่นที่ไมใช่เครื่องแบบ ต้องถอดหมวกก่อนถวายคำนับ

หญิง ถวายความเคารพแบบย่อเข่าหรือเรียกว่า ถอนสายบัว กล่าวคือ หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน ยืนตรง เท้าชิด ชักขาข้างใดข้างหนึ่งไปทางข้างหลังโดยวาดปลายเท้าไปทางอีกด้านหนึ่งของขาที่ยืน ทำพร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ ยกมือทั้งสองวางประสานกันบนหน้าขาข้างที่ย่อตํ่าลง (ถ้าไม่ได้ยกของ) ก้มศีรษะต่ำลงเล็กน้อยเงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักขาข้างที่ไขว้กลับที่เดิมและตั้งเข่าตรง

๔. ยืนเมื่อได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือเพลงเคารพ แม้กำลังเดิน หรือนั่งอยู่ให้หยุดกระทำ ยืนขึ้นอย่างสุภาพและระวังตรง จนกว่าเพลงจะจบ ถ้าเป็นการบรรเลงที่ปรากฏพระองค์ ต้องถวายความเคารพเมื่อเห็นพระองค์ครั้งหนึ่งก่อน และถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่งเมื่อเพลงจบ สิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่งขณะยืนแสดงความเคารพ คือบีบนิ้ว หักมือ แคะ แกะ เกา ฯลฯ ต้องระมัดระวัง อย่าให้มีขึ้นได้เป็นอันขาด

๕. ยืนรับใช้ที่โต๊ะอาหารแบบไม่เป็นพิธีการ ยืนที่โต๊ะสำรองอาหารไม่ไกลจากโต๊ะอาหารที่แขกนั่งมากนัก ยืนตรงหรือยืนมือประสาน แล้วแต่ถนัด (ไม่ควรยืนกอดอก หรือมือไขว้หลัง หรือยืนโดยใช้ฝ่ามือยันฝาผนัง หรือท้าวขอบโต๊ะ) หากผู้รับใช้อยู่ในเครื่องแบบ ยืนทางเบื้องหลังห่างจากผู้นั่งพอสมควร และยืนเป็นระยะรอบโต๊ะอาหาร คอยสังเกตแขกเสมอเมื่อแขกต้องการจะเรียกใช้

๖. การยืนรับใช้ที่โต๊ะอาหารแบบพิธีการ หรือยืนรับใช้ในที่ประชุม ทั้งชายและหญิงยืนในอาการสงบ ทิ้งแขนทั้งสองข้างแนบลำตัวตามสบาย หรือจะประสานมือไว้ข้างหน้าก็ได้ แต่อย่าไขว้มือไว้ข้างหลังหรือกอดอก (เว้นระเบียบของทางราชการทหาร ให้ยืนกอดอก หรือไขว้แขนสองข้างไว้ข้างหลัง แยกขาไปทางข้างเล็กน้อย) อย่ายืนห่างจากผู้นั่งประชุมไกลเกินไป เพราะเวลาเรียกจะฟัง ไม่ถนัด

ที่มา:กรมศิลปากร

มารยาทในการเดิน

การเดิน  ตามปกติทุกคนจะเดินตามถนัดของตนที่ได้รับการ,ฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของแต่ละคน แต่การเดินที่ถูกต้องควรเดินอย่างสุภาพ หลังตรงช่วงก้าวไม่ยาวหรือสั้นเกินไป ไม่ควรขย่มตัวเวลาเดิน แกว่งแขนพองาม ถ้าเป็นผู้หญิงควรระมัดระวังเรื่องสะโพก ไม่ยักย้ายจนดูน่าเกลียด

มีการเดินอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า เดินเข่า คือนั่งคุกเข่า ตัวตรง ปลายเท้าตั้งหรือทอดราบกับพื้นก็ได้แล้วแต่ถนัด มืออยู่ข้างตัว ยกเข่าขวา-ซ้ายไปข้างหน้าหรือถอยหลังดุจใช้เท้าก้าวเดิน ช่วงก้าวพองาม ไม่ควรก้าวยาวเกินไป แขนแกว่งพองามเช่นเดียวกับการเดิน การเดินเข่านี้ใช้ในโอกาสเดินผ่านผู้ใหญ่ที่อาวุโส หรือในกรณีอื่นๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป

มารยาทในการเดินที่ปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคลนั้นแบ่งออกได้ดังนี้

๑. ปฏิบัติต่อคนธรรมดาสามัญ

ก. การเดินกับผู้ใหญ่หรือเดินตามผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือเดินเยื้องไปทางซ้ายหรือขวา ข้างหลังผู้ใหญ่ ห่างประมาณ ๑-๒ ฟุต พยายามอย่าทิ้งระยะห่างมาก เพราะจะไม่สะดวกต่อการสนทนาและซักถามของผู้ใหญ่ ควรเดินในลักษณะนอบน้อม ถ้าเดินในระยะใกล้ควรประสานมือไว้ข้างหน้า ถ้าผู้ใหญ่หันมาพูดด้วย ควรน้อมตัวน้อยๆ และตอบทุกคำถามอย่างชัดเจนและอ่อนหวาน

ข. เดินสวนกับผู้ใหญ่ ควรเดินค้อมตัว (เดินย่อเข่า ค้อมส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปเล็กน้อย มือแนบข้างลำตัว) การเดินค้อมตัวจะมากน้อยควรพิจารณาความมีอาวุโสของผู้ใหญ่ ถ้าเป็นทางเดินแคบๆ หรือบริเวณบันได ควรหยุดยืนให้ผู้ใหญ่ผ่านไปก่อน

ค. เดินผ่านผู้ใหญ่ เมื่อพบผู้ใหญ่ยืนอยู่ ควรเดินค้อมตัวลงเล็กน้อย ถ้าผู้ใหญ่นั่งอยู่บนเถ้าอี้ควรปฏิบัติดังนี้

ถ้าอาวุโสไม่มาก เดินเข้าใกล้พอควรแล้วเดินค้อมตัวลงเล็กน้อย ถ้ารู้จักมักคุ้นกับผู้ใหญ่ควรยกมือไหว้

ถ้าอาวุโสมาก ทรุดตัวลงเดินเข่า ถ้าสถานที่ไม่เหมาะสมใช้ย่อตัวก้มเดินผ่าน

ถ้าอาวุโสมาก หรือมีฐานันดรศักดิ์สูง ควรทรุดตัวลงคุกเข่าไหว้หรือกราบ คลานลงมือผ่านไป ถ้าสถานที่ไม่เหมาะสมกับตัวก้มเดินผ่าน ถ้าผู้ใหญ่ซักถาม นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าหันหน้าหาผู้ใหญ่ มือประสานไว้บนตัก เมื่อพูดคุยเสร็จแล้ว ไหว้หรือกราบอีกครั้งหนึ่งจึงคลานลงมือผ่านไปจนพ้นระยะผู้ใหญ่ ดึงตัวลุกขึ้น ไม่ต้องหันมาไหว้อีก ในกรณีที่ผู้ใหญ่มีฐานันดรศักดิ์สูงจะรู้จักหรือไม่รู้จัก ควรทำความเคารพก่อนผ่านเสมอ

ถ้าผู้ใหญ่นั่งราบกับพื้นควรปฏิบัติดังนี้

ถ้ามีอาวุโสไม่มาก เดินเข้าไปใกล้พอควร คุกเข่าแล้วยกมือไหว้(ถ้าไม่รู้จักมักคุ้น ไม่ต้องไหว้) เดินเข่าผ่านไปโดยค้อมส่วนบนลงเล็กน้อย แขนทั้งสองอยู่บริเวณหน้าขาไม่แกว่ง (ถ้าจะแกว่งก็แกว่งพองาม) ถ้าผู้ใหญ่ทักทาย หันการเดินผ่านพระสงฆ์หน้าไปทางผู้ใหญ่นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า เมื่อพูดคุยเสร็จแล้วยกมือ ไหว้อีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินเข่าออกไป เมื่อพ้นผู้ใหญ่จึงยันตัวลุกขึ้นเดินต่อไป

ถ้ามีอาวุโสมากหรือมีฐานันดรศักดิ์สูง เดินเข้าไปได้ระยะหนึ่งจึงเดินเข่าเข้าไปใกล้พอสมควร นั่งพับเพียบกราบด้วยวิธีตั้งมือกับพื้นหนึ่งครั้ง (จะรู้จักหรือไม่ ก็ควรทำความเคารพก่อนผ่านเสมอ)ยันตัวลุกขึ้นแล้วใช้วิธีคลานลงมือ ผ่านไประยะห่างพอควรจึงใช้วิธีเดินเข่าต่อไป ห่างพอสมควรแล้วจึงลุกขึ้นเดิน

ง. เดินเข้าสู่ที่ชุมนุมชน เข้าสู่ที่ชุมนุมชนที่นั่งเก้าอี้ เดินอย่างสุภาพ เมื่อผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อน ควรก้มตัวจะมากน้อยสุดแต่ความมีอาวุโส ข้อควรระวังคืออย่าให้เสื้อผ้าและร่างกายของเราไปกระทบผู้อื่น ไม่ควรทำเสียงดัง ด้วยการลากเก้าอี้ หรือโยกย้ายเก้าอี้ ถ้ากำหนดที่นั่งเฉพาะควรนั่งที่ที่จัดเฉพาะของตน

เข้าสู่ชุมนุมชนที่นั่งกับพื้น เดินอย่างสุภาพ ก้มตัวลงเล็กน้อย ถ้าผ่านผู้ที่มีอาวุโสมากควรใช้วิธีเดินเข่า เมือเดินผ่านไปแล้ว ยืดตัวเดินอย่างธรรมดา ระวังอย่าให้เสื้อผ้าและร่างกายไปกระทบผู้อื่น

๒. ปฏิบัติต่อพระสงฆ์

ก. การเดินตามพระสงฆ์ ตามมารยาทแล้วควรเดินทางเบื้องหลังพระสงฆ์เยื้องไปทางซ้ายของท่านทิ้งระยะห่างจากท่านประมาณ ๒-๓ ก้าว ในระหว่างนี้ไม่ควรแสดงความเคารพทักทายผู้อื่น

ข. การเดินสวนทางกับพระสงฆ์ ควรหลีกชิดข้างทางซ้ายมือของพระสงฆ์ ยืนตรงหรือนั่ง (พิจารณาตามความเหมาะสม) หันหน้ามาทางพระสงฆ์ มือประสานไว้ข้างหน้า เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมา ถึงเฉพาะหน้าควรยกมือไหว้ ถ้าท่านพูดด้วยควรประนมมือพูดกับท่าน (เฉพาะพระเถระ) ถ้าท่านไม่ได้พูดด้วย เมื่อไหว้แล้ว มือประสานไว้ดังเดิมจนกว่าพระสงฆ์จะเดินผ่านไป

ค. การหลีกทางให้พระสงฆ์ จัดว่าเป็นมัคคทานซึ่งแปลว่า การให้ทาง ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง ถ้ารู้ว่าพระสงฆ์เดินมาข้างหลังควรหลีกทางให้ด้วยการชิดข้างทางซ้ายมือของพระสงฆ์ ยืนตรงหรือนั่ง (พิจารณาความเหมาะสม) หันหน้ามาทางพระสงฆ์ มือประสานไว้ข้างหน้าเมื่อท่านเดิน ผ่านควรยกมือไหว้ ถ้าท่านพูดด้วย ประนมมือพูดกับท่าน (เฉพาะพระเถระ)

ง. การเดินผ่านพระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์ยืนอยู่ ก่อนผ่านควรยกมือไหว้ แล้วเดินผ่านด้วยกิริยานอบน้อม ผู้ชายค้อมตัวลงเล็กน้อย ผู้หญิงย่อเข่าและค้อมตัว เมื่อผ่านแล้วทำความเคารพอีกครั้งหนึ่ง ถ้าพระสงฆ์นั่งอยู่ ทั้งชายและหญิงใช้วิธีคลานลงมือก่อนเข้าไปใกล้พระสงฆ์ เมื่อถึงพระสงฆ์ แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วคลานลงมือผ่านออกไป

จ. ถ้าเดินไปพบพระสงฆ์ขณะยืนอยู่ ฆราวาสชายหญิงควรหยุดนั่งลง ถ้าพื้นสะอาดควรนั่งพับเพียบ ถ้าไม่สะอาดควรนั่งกระหย่ง น้อมตัวยกมือไหว้ ถ้าท่านพูดด้วยประนมมือพูดกับท่าน เมื่อจะแยกทางไป ควรหลีกไปทางด้านซ้ายพระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์ยืนอยู่กลางแจ้งมีเงาปรากฏอยู่ฆราวาสชายหญิง พึงหลีกเลี่ยงการเหยียบเงาของพระสงฆ์ด้วย

๓. ปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ พระมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์

ก. เดินนำเสด็จฯ ถ้าเป็นการนำเสด็จฯ แบบพิธีการนั้นเดินไปข้างหน้าพระองค์ในระยะห่างพอควรทางด้านซ้ายของพระองค์ท่านเพื่อฟังพระราชกระแสรับสั่งได้ถนัด เดินในลักษณะเอียงตัวมาทางขวาเล็กน้อย หันมาทางพระองค์ท่าน เพื่อจะได้สังเกตพระองค์ท่าน หากมีพระประสงค์ประทับยืนก็จะได้หยุดได้ทันท่วงที เดินค้อมร่างส่วนบนเล็กน้อย มือประสานยกขึ้นเหนือแนวเข็มขัดเล็กน้อย ถ้ามีการปูลาดพระบาท ผู้นำเสด็จฯ จะต้องเดินนอกลาดพระบาท ห้ามเหยียบเป็นอันขาด เมื่อถึงที่ประทับ ผู้นำเสด็จฯ เดินเลยไปแล้วหันมาถวายความเคารพทางที่ประทับ (เป็นการกราบบังคับทูลให้ทรงทราบว่าถึงที่ประทับแล้ว) ผู้นำเสด็จฯ ถอยออกถวายความเคารพครั้งหนึ่ง และก่อนจะนั่งที่ต้องถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการนำเสด็จฯ อย่างไม่เป็นพิธีการ ไม่ปูลาดพระบาท ผู้นำเสด็จฯ จะเดินทางซ้ายไม่ชิดและไม่ห่างพระองค์จนเกินไป คืออยู่ในระยะพอจะได้ยินพระราชกระแสรับสั่ง

ข. การเดินตามเสด็จฯ ทั้งชายหญิงเดินเบื้องหลังทางขวาของพระองค์ท่าน ในระยะห่างพอควร มองตรงเสมอ ไม่ยิ้ม ทักทาย หัวเราะ แม้กระทั่งทำความเคารพผู้อื่น ไม่ควรเดินข้ามปูลาดพระบาทไปมาขณะตามเสด็จฯ เว้นแต่พระองค์จะมีปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้าทางเบื้องซ้ายและรับของจากผู้ทูนเกล้าฯ ถวาย ผู้ตามเสด็จฯ ต้องอ้อมข้ามลาดพระบาทไปทางขวาและรับของที่ทูนเกล้าฯ ถวายจากพระหัตถ์

ค. การเดินในที่ที่พระมหากษัตริย์ หรือพระมเหสีประทับอยู่

ตามประเพณีไทยไม่สมควรเดินผ่านหน้าหรือหลังที่ประทับเป็นอันขาด ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เช่น เดินไปทำหน้าที่การงาน กวาดเช็ดพื้น ยกของ เลื่อนของขึ้นลงจากเมรุหน้าที่ประทับ

การเดินผ่านหน้าหรือหลังที่ประทับนั้น ลุกจากที่นั่งถวายความเคารพ เดินอย่างสุภาพในระยะห่างพอควร เมื่อผ่านที่ประทับถวายความเคารพและเมื่อผ่านไปแล้วถวายความเคารพ

การเดินเข้านั่งเก้าอี้บริเวณที่ประทับ เมื่อเดินถึงบริเวณที่ประทับหันหน้าตรงพระองค์ท่านแล้วถวายความเคารพ เดินอย่างสุภาพไปยังที่นั่ง ก่อนจะนั่งถวายความเคารพ

ทำกิจธุระจำเป็น ลุกจากที่นั่งถวายความเคารพ เดินไปยังที่ทำกิจธุระ ถวายความเคารพ การทำกิจธุระจะคุกเข่า ย่อเข่า หรือหมอบแล้วแต่กรณี เช่น กวาดพื้นหรือหยิบของต้องหมอบโดยใช้แขนซ้ายยันพื้น มือขวาทำกิจธุระ การยกหรือเลื่อนของนั่งคุกเข่าหรือย่อเข่า เป็นต้น เมื่อทำกิจธุระแล้ว ลุกขึ้นถอยหลัง ๑ ก้าว ถวายความเคารพ เดินถอยหลัง ๓ ก้าว ถวายความเคารพแล้วเดินกลับที่ ก่อนจะนั่งที่ถวายความเคารพ

การเดินขึ้นลงเมรุหน้าที่ประทับ ลุกจากที่นั่งถวายความเคารพ เมื่อจะผ่านที่ประทับ ถวายความเคารพ เมื่อลงจากเมรุถึงพื้นแล้วถวายความเคารพ เมื่อผ่านที่ประทับขึ้นบนพลับพลาแล้วถวายความเคารพ ก่อนนั่งถวายความเคารพ

ที่มา:กรมศิลปากร

มารยาทในการกราบไหว้

ในปัจจุบันได้มีตำราเกี่ยวกับกิริยามารยาทของไทยมากมาย เพื่อให้อนุชนได้ศึกษา เช่นมารยาทไทย ของ ม.ล.ปีย์ มาลากุล เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากิริยามารยาทของไทยการกราบไหว้ได้มีการวางกฎเกณฑ์ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรมาหลายยุคหลายสมัย จนก่อให้เกิดเป็นแบบฉบับปฏิบัติกันสืบต่อๆ มา ดังจะศึกษาได้จากตำราต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การกราบไหว้ เป็นกิริยามารยาทอีกอย่างหนึ่งที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยที่แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพยกย่องให้เกียรติผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่คนไทยปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นมารยาทที่ดีอันจะนำความเจริญความมีสิริมงคลมาสู่ผู้ประพฤติปฏิบัติ

การกราบไหว้เป็นวิธีแสดงความเคารพของคนไทยเมื่อเวลาพบปะ หรือให้สิ่งของเงินทองกัน แต่จะใช้วิธีใดนั้นต้องพิจารณาเหตุการณ์ สถานที่และเวลาว่าควรจะกราบหรือไหว้

การประนมมือเป็นเบื้องต้นของการกราบไหว้ มาจากคำว่า “อัญชลี” ซึ่งหมายถึง การกระพุ่มมือไว้ที่ทรวงอก ให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน ปลายนิ้วมือตั้งขึ้น นิ้วมือทั้งสองข้างทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน อย่าให้เหลื่อมลํ้ากัน ข้อศอกทั้งสองแนบชิดกับชายโครง

การกราบ มาจากคำว่า “อภิวาท” คือ การหมอบลงที่พื้นพร้อมกับกระพุ่มมือ หรือพร้อมกับการประนมมือ หรือได้แก่การประนมมือยกขึ้นจรดหน้า แล้วจรดหรือลดมือลงที่พื้นพร้อมด้วยหน้าลงกราบ แบ่งวิธีปฏิบัติตามประเภทของบุคคลที่ควรเคารพ คือ

๑. กราบพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์ แบมือหรือควํ่ามือลงกับพื้น ไม่ตั้งมือเหมือนกราบบุคคล การกราบพระที่ถูกต้อง คือ กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ให้ส่วนทั้ง ๕ สัมผัสพื้น เข่าทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ และหน้าผาก ยกเว้นสถานที่ไม่เหมาะสมหรือไม่อำนวยให้ก้มลงกราบได้เช่น ในท้องถนน ยานพาหนะ ก็ใช้วิธีไหว้อย่างนอบน้อมให้นิ้วหัวแม่มือจรดหน้าผาก หรืออาจใช้วิธีกราบอีกแบบหนึ่งที่ผู้หญิงนิยมใช้กัน คือ กราบแบบเทพธิดา ด้วยการหมอบเก็บเท้า ข้อศอกทั้งสองวางกับพื้นตลอดครึ่งแขนพนมมือตั้งเหนือพื้นก้มศีรษะไปหามือจนหน้าผากจรดนิ้วหัวแม่มือแล้วควํ่ามือลงกับพื้น ก้มศีรษะลงให้หน้าผากสัมผัสพื้นแล้วกลับรวบมือพนมอีก ก้มลงกราบ ๓ ครั้งติดต่อกัน หรืออาจยันตัวขึ้นนั่งตรงก่อนแล้วกราบใหม่ ทำจนครบ ๓ ครั้งก็ได้ ในปัจจุบันการรับศีล ฟังเทศน์ บางแห่งใช้นั่งเก้าอี้ การกราบจึงต้องดัดแปลงให้เหมาะสม

๒. กราบบิดา มารดา ครูอาจารย์ บุคคลทั่วไปและกราบศพ ใช้การกราบแบบนั่งพับเพียบเก็บเท้า ก้มตัวลงหมอบเอี้ยวตัวให้ข้อศอกแนบกับพื้นตลอดถึงมือ พนมมือตั้งขึ้น ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดมือ ไม่ต้องแบราบและกราบเพียงครั้งเดียว

การไหว้มาจากคำว่า “วันทา” หรือ “นมัสการ” คือการยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผาก ก้มศีรษะลงเล็กน้อยให้ลำตัวอ่อนลงนิดๆ จะได้ไม่แข็งกระด้าง

การไหว้ แบ่งวิธีปฏิบัติตามประเภทของบุคคลที่เคารพ คือ
๑. ไหว้พระ ยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผาก ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว
๒. ไหว้บิดา มารดา ครูอาจารย์ ยกมือประนมจรดส่วนกลางของหน้า ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก
๓. ไหว้ผู้ที่เคารพทั่วไป ยกมือประนมจรดส่วนล่างของหน้า ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง เมื่อผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่แล้วผู้ใหญ่ควรจะรับไหว้ เว้นแต่พระภิกษุ เพราะมีวินัยห้ามไว้ แต่ภิกษุรับไหว้กันเองได้

มารยาทอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากการปรับปรุง และวางระเบียบเกี่ยวกับภาษา เพื่อให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจในการพูดหรือใช้ภาษาของตน ได้มีคำใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “สวัสดี” ใช้กล่าวในโอกาสแรกที่พบกัน คำนี้พุระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นคนบัญญัติขึ้น ทางราชการออกประกาศให้ใช้คำนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ กำชับให้ข้าราชการทุกคนกล่าวคำ “สวัสดี” ต่อกัน ในโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวัน และให้ช่วยแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ในครอบครัวของตนให้รู้จักกล่าวคำ “สวัสดี” เช่นเดียวกัน

ธรรมเนียมแต่ก่อนของไทยเมื่อพบปะกันก็ทักทายกัน เช่นทักว่า “สบายดีหรือ” “ไปไหน” “กินข้าวหรือยัง” ถ้าพบกันบ่อยๆ ก็ต้องคิดหาคำทักที่แปลกออกไป จึงเป็นการลำบาก คำว่า “สวัสดี” จึงเป็นคำที่เหมาะ เพราะใช้ในทุกโอกาสและเวลา และใช้กันแพร่หลายทั่วไป ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

“สวัสดี” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากสุ + อสฺติ สุ แปลว่า ดี งาม ง่ายและอสฺติ แปลว่า มี รวมความว่า มีความดี ความงาม ความง่าย(สะดวก) ฉะนั้นคำว่า สวัสดีที่นิยมใช้กันอยู่แปลว่า ความสะดวก แต่พิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า “สวัสดี” ให้ความรู้สึกที่ซาบซึ้งมากกว่าความสะดวกมากนัก

ที่มา:กรมศิลปากร

กิริยามารยาทของคนไทย

กิริยามารยาท
กิริยามารยาทของคนไทยเป็นเรื่องของการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือของตนเองที่สังคมไทยยอมรับแล้วว่าเป็นสิ่งควรยึดถือปฏิบัติ ถ้าใครไม่กระทำตามก็จะได้รับการตำหนิติเตียนว่าไร้จรรยามารยาท สิ่งเหล่านี้ได้แก่อิริยาบถทั้ง ๔ (เดิน ยืน นั่ง นอน) รวมถึงการพูดจา การสมาคม การแสดงความเคารพ เป็นต้น

กิริยามารยาทของไทยเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแสดงออกทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี บ่งบอกถึง ความเป็นไทย และถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติประการหนึ่ง มารยาทไทยแม้ว่าจะมีการรับเอาอารยธรรมจากตะวันตกเข้ามา แต่เราก็สามารถทำให้ดูอ่อนช้อย นุ่มนวลแบบไทยๆ ได้ เช่น การนั่งเก้าอี้ ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่นั่งเท้าชิด มือวางประสานไว้บนตัก ถ้ามีอาวุโสมากก็นั่งลงศอก เป็นต้น ชี้ให้เห็นถึงสังคมไทยถือระบบอาวุโส ผู้น้อยนับถือผู้ใหญ่ เป็นต้น

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ได้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในด้านต่างๆ ของสมัยอยุธยาสืบต่อมาอย่างเคร่งครัด จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับขณะทรงผนวชได้รู้จักชาวต่างประเทศและเข้ากับราษฎรได้อย่างดี ทำให้รู้ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศใกล้เคียง เมื่อเสวยราชย์จึงดำเนินนโยบายไม่แข็งกร้าวกับชาวต่างประเทศอีกต่อไปเหมือนกับรัชกาลก่อนๆ ทำให้อิทธิพลตะวันตกได้เข้ามาและมีส่วนทำให้พระองค์ต้องเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงกิริยามารยาทด้วยการนำอารยธรรมของฝรั่งเข้ามา เช่น การนั่งเก้าอี้ ในสมัยก่อนใช้วิธีการนั่งกับพื้น ต่อมาเมื่อมีเก้าอี้ใช้จึงได้ทำตามฝรั่ง “เมื่อในราชสำนักเลิกหมอบเฝ้า เริ่มใช้เก้าอี้ใหม่ๆ ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ ๔ ต้องมีประกาศพระบรมราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยให้ใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ ส่วนขาให้ห้อยลงไป คนไทยก็เปลี่ยนจากนั่งพับเพียบและขัดสมาธิบนเก้าอี้มาเป็นนั่งอย่างถูกต้องเรียบร้อยบนเก้าอี้”

ส่วนกิริยาอาการอื่นๆ ทรงเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ทรงเริ่มปฏิบัติกับชาวต่างประเทศก่อน โดยยอมให้ชาวต่างประเทศทำความเคารพตามแบบของตน เช่น การโค้งคำนับ แทนการกราบไหว้ ถ้าเป็นชาวจีนก็อาจลุกขึ้นยืนกุ๋ย (Kowtow) เคารพตามอย่างจีนเคารพพระเจ้าแผ่นดินจีน ถ้าเป็นแขกหรือฝรั่ง จะเคารพอย่างไทยหรือยืนเปิดหมวก ก้มศีรษะ ยกมือเคารพอย่างแขก อย่างฝรั่งตามจารีตของตน และยืนเข้าเฝ้าแทนการหมอบคลาน จากหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยในต่างประเทศได้กล่าวว่า “อนึ่งตามพระราชประเพณีการเข้าเฝ้าในขณะนั้น ผู้เข้าเฝ้าจะต้องถอดเกือก และกระบี่ทิ้งไว้ข้างนอก แล้วหมอบกราบเข้าไปในท้องพระโรง คลานไปอยู่ตามลำดับตำแหน่งของตน เซอร์จอน เบาริ่ง (Sir John Bowring) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวและการไปนั่งอยู่ในที่แถวหลังๆ จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดินของตน จึงเรียกร้องขอให้ไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่ต้องถอดกระบี่ ไม่ต้องคลาน ไม่ต้องหมอบ และต้องได้นั่งแถวหน้าอีกด้วยในเวลาเข้าเฝ้า พระจอมเกล้าฯ ก็ไม่ขัด และยังจูงมือเซอร์จอน เบาริง (Sir John Bowring) เข้าไปในท้องพระโรงเป็นการ ส่วนตัวก่อนเข้าเฝ้า ให้เลือกดูเองว่าอยากจะนั่งที่ตรงไหน พอถึงวันเฝ้า เซอร์จอน เบาริง (Sir John Bowling) ก็เดินเข้าไปอย่างโอ่อ่าไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่ถอดกระบี่ ตรงเข้าไปนั่งตรงที่ๆ ตนเลือกไว้ แถวที่ทัดเทียมกันกับเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ทำให้เซอร์จอน เบาริงพอใจเป็นอันมาก มิหนำซ้ำตอนเลิกเข้าเฝ้ายังมีรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ ห้องชั้นในของพระองค์อีก นั่งเก้าอี้ คุยกัน และทรงรินเหล้าให้ เซอร์จอน เบาริง ดื่มด้วยพระองค์เอง”

นอกจากนี้ยังนำอารยธรรมของฝรั่งมาใช้เช่น การจับมือสั่น (Shake hands) ด้วยการที่พระองค์ทรงพระราชทานพระหัตถ์ให้เจ้ากาวิโลรส (เจ้าประเทศราชผู้ครองนครเชียงใหม่) ซึ่งมาเข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมทูลลากลับ จากนั้นก็ได้ใช้เป็นธรรมเนียมแพร่หลายในเมืองไทย นอกจากนี้ยังโปรดให้บรรดาทูตและขุนนางผู้ใหญ่นั่งร่วมโต๊ะเสวยอาหารด้วย นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ไทยเสวยอาหารร่วมกับขุนนาง เป็นต้น

การที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมบางอย่างนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศเริ่มมีสัมพันธภาพต่อไทยดีขึ้น

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่งในวันเสด็จออกมหาสมาคม ในพระที่นั่งอมรินทรวันิจฉัย ด้วยพระราชทานบรมราชานุญาตให้พวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าด้วย เรื่องนี้ในเวลานั้นก็ไม่มีใครเห็นเป็นการแปลกประหลาดนัก เพราะเป็นแต่มีฝรั่งสัก ๑๐ คนเข้าไปยืนเฝ้าอยู่ข้างหลังแถวที่ขุนนางหมอบ แต่การนั้นมีผลมาก เพราะฝรั่งเหล่านั้นพากันเขียนบอกข่าวออกไปถึงนานาประเทศว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง ผิดกับพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์อื่นๆ ทางตะวันออก ฝรั่งตามต่างประเทศพากันพิศวง เริ่มเกิดไมตรีจิตต่อประเทศสยามผิดกว่าแต่ก่อน แม้ด้วยทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าที่ถือว่าเป็นการเคารพอย่างยิ่งของไทยนั้น เป็นธรรมเนียมที่กดขี่ผู้น้อยเพื่อยกย่องผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ทรงเห็นว่าจะมีประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด จึงทรงเปลี่ยนอิริยาบถจากหมอบคลานเป็น ยืน เป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ ทรงให้เหตุผลว่า เมืองใด ประเทศใดจะเจริญได้ด้วยการที่ผู้ใหญ่ต้องไม่กดขี่ผู้น้อย ทรงเห็นตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ได้เลิกธรรมเนียมการกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลาน กราบไหว้ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์ และประเทศเหล่านั้นก็มีแต่ความเจริญสืบมา

อีกประการหนึ่งไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น การหมอบคลานอยู่กับพื้นทำให้พวกฝรั่ง แขกเมืองที่เข้ามาเฝ้าเดินกรายศีรษะเข้ามายืนคํ้าเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยที่กำลังเฝ้าอยู่ จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีนี้เสีย เป็นยืนเฝ้าหรือนั่งเก้าอี้เฝ้าแทน และใช้ถวายคำนับตามแบบตะวันตก

ประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าได้ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยในวันนั้น ขณะที่เสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนหมอบเฝ้าอยู่เต็มท้องพระโรง เมื่อเสร็จพระราชพิธี เสนาบดีกราบบังคมทูลถวายราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีแล้วก็โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและถวายความเคารพ ด้วยการโค้งศีรษะคำนับแทน เมื่ออ่านประกาศจบ บรรดาผู้ที่หมอบเฝ้าอยู่กราบถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง แล้วยืนขึ้นพร้อมกันจำเพาะตรงที่หมอบอยู่นั้น เมื่อยืนขึ้นพร้อมกันแล้วก้มศีรษะถวายคำนับพร้อม กัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยยืนตรงอยู่เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ได้ทรงประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่และประกาศเป็นพระราชบัญญัติเข้าเฝ้า เมื่อปีระกา เบญจศก ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖

พระราชบัญญัติ
ข้อ ๑. ว่าพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระที่นั่งฤๅที่เสด็จออกแห่งใดๆ ก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มศีรษะถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินไปยืนที่ตำแหน่งของตนเฝ้า เมื่อไปถึงที่ยืนเฝ้าแล้วให้ก้มศีรษะถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง แล้วยืนให้เรียบร้อยเป็นปกติ ห้ามมิให้เดินไปเดินมาแลยืนหันหน้าหันหลัง ในเวลาที่เสด็จออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลังแลท้าวเอว แลเอามือไปท้าวผนังแลเสา ฤๅที่ต่างๆ แลสูบบุหรี่หัวเราะพูดกันเสียงดังต่อหน้าพระที่นั่ง ให้ยืนให้เรียบร้อยเป็นลำดับตามบรรดาศักดิ์ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ถ้ามีกิจราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วให้เดินออกมาจากที่เฝ้า ยืนตรงหน้าพระที่นั่งก้มศีรษะถวายคำนับแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วให้ก้มศีรษะลงถวายคำนับ จึงให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวายหนังสือ ฤๅสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งพอสมควรก้มศีรษะลงถวายคำนับก่อน จึงถวายของนั้นต่อพระหัตถ์ ถ้าถวายของนั้นเสร็จ แล้วให้เดินถอยหลัง ถ้าเป็นที่ใกล้ให้ถอย ๓ ก้าว ฤๅ ๕ ก้าวพอสมควร ถ้าเป็นที่ไกลให้ถอยหลังออกมา ๗ ก้าว กลับหน้าเดินไปยืนตามที่ ถ้าจะมีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใดที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ก้มศีรษะถวายคำนับแล้วจึงรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการกราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้วก็ให้ก้มศีรษะลงถวายคำนับ อนึ่ง พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสด็จออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการ โปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่งจึงนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้น แลนั่งบนเก้าอี้ ฤๅนั่งที่แห่งใดๆ ตามชอบใจในเวลาที่เสด็จออกต่อหน้าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เป็นปกติ ห้ามมิให้ยกเท้าขึ้นบนเก้าอี้แลไขว่ห้างเหยียดเท้าตะแคงตัว ทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาที่นั่งเป็นปกติเป็นอันขาด เมื่อเวลาเสด็จขึ้นก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน แต่แขกเมืองประเทศราช เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้ทำกิริยาคารวะตามเพศ บ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ยืนจึงยืนได้

ข้อ ๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกประทับอยู่ที่แห่งใดๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเล็กซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสด็จออกประทับอยู่ช้าหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเล็กที่ยืนเฝ้าอยู่นั้น นั่งลงในที่แห่งใดๆ เป็นอันขาด เว้นไว้แต่ที่เป็นกำบังลับพระเนตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงนั่งได้ แลในเวลาที่เสด็จออกทรงประทับอยู่ ณ ที่แห่งใดๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเล็กยืนเฝ้าอยู่ในที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ภายหลังที่มิได้มีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านหน้าพระที่นั่งแลเดินผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้น ให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตามตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน เว้นไว้แต่ผู้ที่จะรับพระบรมราชโองการจึงเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้

ข้อ ๓. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎร ชายหญิงที่จะมาคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ดี จะทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาถึงหน้าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสด็จ พระราชดำเนินอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มศีรษะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่ง มิให้ยืน ดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินบนชานเรือน บนหน้าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรจะนั่ง จะยืน ถ้าทรงม้า ทรงรถ ไม่มีกระบวนนำกระบวนตามเสด็จพระราชดำเนิน ผู้ซึ่งอยู่บนชานเรือน แลบนที่สูงไม่ทันรู้ว่าเสด็จพระราชดำเนินแต่พอแลเห็นว่าเป็นรถพระที่นั่ง ฤๅม้าพระที่นั่งก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ ห้ามมิให้นั่ง มิให้หมอบเป็นอันขาด แลในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅทรง พระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดมาในทางสถลมารค ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปบนหลังม้าฤๅไปบนรถ พบปะกระบวน นำเสด็จพระราชดำเนิน ก็ให้หยุดม้าหยุดรถริมทาง ถ้าเสด็จพระราชดำเนินมาถึงตรงหน้าแล้ว ให้ถอดหมวกก้มศีรษะ ถวายคำนับอยู่บนรถ บนหลังม้า ไม่ต้องลงจากรถ จากหลังม้า ต่อเสด็จพระราชดำเนินไปสิ้นกระบวนเสด็จแล้ว จึ่งให้ออกเดินรถ เดินม้าต่อไป ถ้าเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิงที่อยู่แพ อยู่เรือนริมนํ้าให้ยืนขึ้นก้มศีรษะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือพบกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเรือเล็กยืนไม่ได้ก็ให้ถอดหมวกก้มศีรษะถวายคำนับในเรือ ไม่ต้องยืน ถ้าเป็นเรือใหญ่ควรจะยืนได้ ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับตามธรรมเนียม

ข้อ ๔. ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤาจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใดก็ดี ถ้าพบท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่ได้ทำคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่ยืนเหมือนกับนั่งเหมือนกับหมอบ ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มศีรษะเหมือนกับกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น ถ้าผู้หญิงจะไปเฝ้าแลพบท่านผู้ใหญ่ไม่ต้องเปิดหมวก เป็นแต่ก้มศีรษะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้ แลผู้คนข้าทาสที่ใช้การงานอยูในบ้านเรือนนั้นก็อย่าให้ท่านผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนายบังคับ ให้ข้าทาสหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาส ใช้ยืน ใช้เดิน ตามพระราชบัญญัติซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวร ให้กระทำตามพระราชบัญญัติประกาศนี้จงทุกประการ ประกาศมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ คํ่า ปีระกา เบญจศก

พร้อมกันนี้ก็โปรดให้บรรดาผู้เข้าเฝ้าแต่งกายโดยสวมรองเท้า ถุงเท้าด้วย เพื่อป้องกันมิให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น และอนุโลมให้เข้ากับประเพณีนิยมของชาวตะวันตก

ประเพณีการเข้าเฝ้านั้นเลิกได้ยากกว่าการแต่งกายและการไว้ผม ในระยะแรกนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขประเพณีเป็น ๒ อย่างด้วยกัน คือ

๑. การเข้าเฝ้าแบบไทย หรือการเข้าเฝ้าแบบเดิมใช้ในเวลาเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง ตามปกติ หรือเข้าเฝ้าในที่อื่น อันมิได้กำหนดให้เฝ้าอย่างใหม่ ให้ใช้ประเพณีหมอบคลานเฝ้าอยู่กับพื้น และแต่งกายโดยไม่สวมถุงเท้ารองเท้าตามเดิม

๒. การเข้าเฝ้าแบบใหม่ หรือการเข้าเฝ้าอย่างฝรั่ง ใช้ในโอกาสเสด็จออกรับแขกเมือง หรือในงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งใช้วิธียืนเฝ้าและถวายคำนับอย่างฝรั่ง หากโปรดให้นั่งก็จะนั่งเก้าอี้ด้วยกันหมด การแต่งกายก็ให้ใช้เครื่องแบบหรือเสื้อนอกเปิดอก ผูกผ้าผูกคอ และใส่ถุงเท้า รองเท้า อย่างฝรั่ง เพียงแต่ยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบเดิมอยู่เท่านั้น

ต่อมาเมื่อการเข้าเฝ้าแบบใหม่ได้เป็นที่ทราบและนิยมปฏิบัติกันแพร่หลายแล้ว ก็โปรดให้เลิกเข้าเฝ้าแบบเดิม และใช้การเข้าเฝ้าแบบใหม่เป็นแบบฉบับของบ้านเมืองสืบต่อมาจนทุกวันนี้

แม้ว่าจะมีประกาศให้ยืนเข้าเฝ้าแทนการหมอบคลานแล้วก็ตาม แต่การหมอบคลานยังคงมีปฏิบัติกันอยู่ เพราะคนไทยยังไม่ทิ้งนิสัยที่ผู้น้อยต้องอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เช่น การหมอบกราบพระมหากษัตริย์ การคลานยกของให้ผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้มีมารยาทจึงควรทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร และควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานที่

กิริยามารยาทของคนไทยมีลักษณะที่อ่อนช้อยนุ่มนวลมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และยังมีวิธีการสอน การอบรมกิริยามารยาทในรูปแบบต่างๆ ดังจะเห็นได้จากคำกลอนในสุภาษิตสอนสตรี คำกลอนสวัสดิรักษาของสุนทรภู่ หรือกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

“อนึ่งเขละอย่าถ่มเมื่อลมพัด        ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา        ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน        อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ        จงคำนับสุริยันพระจันทร ”
สวัสดีรักษา หน้า ๖-๗

“เมื่อจะจรนอนเดินดำเนินนั่ง    จงระวังในจิตขนิษฐา
อย่าเหม่อเมินเดินให้ดีมีอาฌา    แม้นพลั้งพลาดบาทาจะอายคน
เห็นผู้ใหญ่ฤๅใครเขานั่งแน่น        อย่าไกวแขนปัดเช่นไม่เห็นหน
ค่อยวอนว่าข้าขอจรดล        นั่นแลคนจึงจะมีปรานีนาง
แม้นสมรจะไปนอนทเรือนไหน    อย่าหลับไหลลืมกายจนสายสาง
ใครเห็นเข้าเขาจะเล่านินทานาง    ความกระจ่างออกกระจายเพราะกายตัว”
สุภาษิตสอนสตรี หน้า ๔๙-๕๑

สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคแรกระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗ เป็นยุคที่รัฐบาลในสมัยนั้นพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติ ได้กำหนดเป็นระเบียบหรือแนวทางในการสร้างชาติดังได้กล่าวมาแล้ว ในเรื่องจรรยามารยาทได้ออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ เช่นออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมซึ่งประชาชนชาวไทย ต้องปฏิบัติตามฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๘๔)และฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๕)ทั้ง ๓ ฉบับมีใจความคล้ายคลึงกัน ดังนี้

“มาตรา ๓ บุคคลทุกคนจักต้องรักษาจรรยามารยาทอันดีงามในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
๑. ไม่ก่อให้เกิดเสียงอื้อฉาวโดยใช่เหตุ หรือใช้วาจาเสียดสี หรือลามกหยาบคาย หรือแสดงกิริยาวาจาเป็นเชิงเสียดสีเย้ยหยัน ผู้ที่ปฏิบัติตนในทางเชิดชูหรือส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ
๒. ไม่ใช้กำลังเบียดเสียดยื้อแย่งในที่ชุมนุมชน เช่น ในการโดยสารยานพาหนะ การเข้าซื้อบัตรผ่านประตูหรือเข้าประตูสถานที่สำหรับมหรสพ เป็นต้น
๓. ไม่ก่อความรำคาญ ด้วยการห้อมล้อม หรือกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุสมควร
๔. ไม่ก่อให้เกิดความปฏิกูล หรือขีดเขียนในที่อันไม่ควรทำ
๕. ไม่อาบนํ้าตามถนนหลวงอันเป็นที่ชุมนุมชน
๖. ไม่นั่ง นอน หรือยืนบนราวสะพาน
๗. ไม่นั่ง หรือนอนบนทางเท้า

มาตรา ๔ ในการปฏิบัติต่อบ้านเรือน บุคคลทุกคนจักต้องรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
๑. ไม่ตากผ้าหรือสิ่งอื่นให้รุงรังอย่างอุจาด
๒. ไม่ขีดเขียน หรือปิดข้อความหรือภาพอันอุจาด
๓. ไม่ปล่อยให้สิ่งของมีลักษณะรุงรัง
๔. ไม่ทำส้วมและที่สำหรับทิ้งมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอันมีลักษณะอุจาด

มาตรา ๖ บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ
๑. เคารพธงชาติเวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกาทุกวัน พร้อมกัน
๒. เคารพธงชาติ ธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ เมื่อชักขึ้นหรือลงประจำสถานที่ราชการ เมื่อเชิญมาตามทางราชการหรืออยู่กับที่ประจำแถวหรือหน่วยทหาร ยุวชนทหาร หรือลูกเสือ
๓. เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการในงานสังคมหรือในโรงมหรสพ

มาตรา ๗ ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน คนไทยจักไม่ต้องขอสิ่งใด ๆ จากคนต่างด้าว อันจะส่อให้เขาดูหมิ่น

มาตรา ๘ คนไทยจักต้องมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพโดยขะมักเขม้น และเอาใจใส่ แสดงกิริยาวาจาอันสุภาพ ในการติดต่อกับลูกจ้าง ผู้ว่าจ้างและผู้โดยสารยวดยานพาหนะ”

ที่มา:กรมศิลปากร

วิธีและมารยาทในการกินของไทย

วิธีกินอาหารของคนไทย
ธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณบริโภคอาหารด้วยวิธีนั่งราบลงบนเสื่อหรือพรมนิยมจัดกับข้าวใส่ถาดเป็นสำรับ ข้าวสุกและขันน้ำจะวางไว้ข้างตัว วิธีกินอาหารของคนไทยแต่เดิมใช้มือเป็นพื้น เพิ่งจะมาใช้ช้อน หรือช้อนส้อม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “เรื่องใช้ช้อนส้อมนั้น หม่อมฉันนึกได้ถึงหนหลัง ครั้งกินอาหารจัดใส่จานเชิงเรียงไว้บนโต๊ะ (โตก) เงิน มีช้อนอันหนึ่งกับ ส้อมสองง่ามอันหนึ่งวางไว้ในจานเชิงใบหนึ่งที่ในสำรับเสมอ ถ้าสำรับเลี้ยงพระมีช้อนหอยมุกอันเดียว ไม่เห็นมีส้อม ช้อนนั้นคงสำหรับตักแกง หรือของเหลวอย่างอื่น แต่ส้อมสำหรับจิ้มอะไรเพราะกับข้าวที่อยู่ในจาน ก็อาจจะหยิบได้ด้วยมือทั้งนั้น คิดดูเห็นว่า เห็นจะใช้ส้อมเมื่อประสงค์จะแยกกับข้าวออกเป็นหลายชิ้น เอามือซ้ายถือส้อมแทงอาหารไว้กับที่ เอามือขวาฉีกอาหารออกไปเป็นอีกชิ้นหนึ่ง คือใช้ส้อมมิให้มือซ้ายเปื้อนเท่านั้น ที่ว่าฝรั่งเพิ่งใช้มีดช้อนส้อมนั้น หม่อมฉันเคยเห็นหนังฉายเรื่องหนึ่ง เขาทำเรื่องครั้งพระเจ้าเฮนรีที่๘ อาหารไทยประเทศอังกฤษ เห็นจะราวเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ ก็ยังกินด้วยมือ ถ้าว่าถึงเมือง ไทยนี้ ยังจำได้ว่าเพิ่งใช้มีดช้อนส้อมอย่างฝรั่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากประพาสเมืองสิงคโปร์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เริ่มตั้งโต๊ะเสวยที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีเจ้านายบางพระองค์เอาพระหัตถ์ซ้ายถือส้อมปักแทงชิ้นอาหารให้ทะลุรึงไว้กับจานเอาพระหัตถ์ขวาถือมีดหั่นเป็น อาหารชิ้นน้อยๆ เรียกเยาะกันว่า “แผลงศร” ก็เห็นจะมาแต่ลักษณะใช้ช้อนส้อมสองง่ามนั่นเอง….”

ในระยะแรกๆ ที่เจ้านายไทยหันมาใช้ช้อนส้อมแทนมือและนั่งโต๊ะกินอาหารนั้น เป็นสิ่งยุ่งยากใจมาก เพราะความไม่เคยชินจนกลายเป็นเรื่องตลกขบขันไป ดังปรากฏในโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ว่า

ที่เสวยเคยอยู่แล้ว    หมดจด
ใช้ซ่อมมีดช้อยชด    แช่มช้า
ลางองค์สั่นดดดด    พลัดพลาด
จับเชือดไม่ถูกถ้า        เงือดเงื้อเถือไถลฯ

กินเป็นเล่นซ่อมช้อน    พัลวัน
ที่ไม่เป็นดูขัน        ขัดข้อง
อยู่วังท่านเคยฉัน    มือเปิบ
นั่งโต๊ะจับจดจ้อง        บอกถ้าป่าจริงฯ

มารยาทในการกินของไทย
ค่านิยมของสังคมไทยแต่โบราณ ได้วางระเบียบการกินอาหารไว้ว่า ภายในครอบครัวนั้นสามีเป็นผู้กินอาหารก่อนแต่ลำพังคนเดียว ต่อเมื่ออิ่มแล้ว ภรรยาจึงเข้านั่งกิน และหลังจากมารดาแล้วจึงจะถึงเวรพวกลูกๆ ซึ่งมีสำรับของตนต่างหาก ไม่ว่าจะมีสัก ๑๐ หรือ ๑๕ คน ในหลังคาเดียวกันอาหารที่เหลือจากสำรับเหล่านั้น ก็จะแจกจ่ายให้บ่าวไพร่ไป ผู้ที่มีหน้าที่ในการปรุงรสอาหาร และจัดสำรับกับข้าวคาวหวานได้แก่สตรี รวมทั้งมีหน้าที่พิเศษในการปรนนิบัติสามี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีวรรณกรรมหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นภาระหน้าที่ของสตรีในการปรนนิบัติสามี ซึ่งต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เช่น

“เจ้าพี่สี่โมงเช้า            ดูกับเข้าแลของหวาน
เสร็จเจ้าเอามากราน        หมอบพัดวีพี่เกษมสันต์
สี่โมงเช้าพี่หย้อม            ดูการ
เครื่องเข้าเล่าของหวาน    แต่งไว้
เสร็จเจ้าเข้ามากราน        กรายแซ่
โบกปัดพัดวีให้            พี่นี้สำราญฯ
เพลาห้าโมงเช้า            เรียมกินเข้าเจ้ามาคัล
ว่องไวใช้สอยขยัน        หานางใดไม่เหมือนเลย
ห้าโมงยามเมื่อเช้า        เชยอร
กินเข้าชมนวลสมร        หมอบเฝ้า
ว่องไวใช้สอยสอน        นางอื่น
หาสตรีเปรียบเจ้า        ห่อนได้เหมือนเลยฯ”

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สตรีก็ยังคงถือเป็นหน้าที่ในการปรนนิบัติสามีเรื่องอาหารการกินดังปรากฏในเสภาเรืองขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิมพิลาไลยนางศรีประจันได้สอนนางพิมเมื่อจะส่งตัวเข้าหอว่า
“…………………………….        แม่วิตกอยู่ด้วยเจ้าจะเลี้ยงผัว
ฉวยขุกคำทำผิดแม่คิดกลัว        อย่าทำชั่วชั้นเชิงให้ชายชัง
เนื้อเย็นจะเป็นซึ่งแม่เรือน        ทำให้เหมือนแม่สอนมาแต่หลัง
เข้านอกออกในให้ระวัง        ลุกนั่งนอบนบแก่สามี”

และตอนนางอัปสรสอนนางสร้อยฟ้า ผู้เป็นลูกเมื่อจะส่งตัวลงมายังกรุงศรีอยุธยาว่า
“ต้องเอาใจสามีทุกวี่วัน    ให้ผัวนั้นเมตตาอย่าจืดจาง
จงเคารพนบนอบต่อสามี    กิริยาพาทีอย่าอางขนาง
จะยั่วยวนฤๅว่ามีที่ระคาง    ไว้ให้ว่างคนผู้อยู่ที่ลับ
สังเกตดูอย่างไรชอบใจผัว    ทั้งกินอยู่สิ้นทั่วทุกสิ่งสรรพ
ทำให้ได้อย่าให้ต้องบังคับ    เป็นแม่เรือนเขาจึงนับว่าดีจริง
อันเป็นเมียจะให้ชอบใจผัว    สิ่งสำคัญนั้นก็ตัวของผู้หญิง
ทำให้ผัวถูกใจไม่มีทิ้ง        ยังอีกสิ่งก็อาหารตระการใจ
ถ้ารู้จักประกอบให้ชอบลิ้น    ถึงแก่สิ้นเพราพริ้งไม่ทิ้งได้
คงต้องง้อขอกินทุกวันไป    จงใส่ใจจัดหาสารพัน”

นอกจากนี้ สตรีไทยยังได้รับอบรมสั่งสอนให้เป็นผู้ที่รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะมารยาทในการกินข้าว สตรีไทยจะต้องเคร่งครัดมาก ในสมัยที่คนไทยยังกินข้าวด้วยมือ บรรพชนได้กำหนดมารยาทในการกินไว้ดังนี้ การเปิบข้าวแต่ละคำเข้าปาก ควรเป็นคำขนาดพอดีอย่าให้โตคับปาก ค่อยๆ ปั้นข้าวด้วยปลายนิ้วมือ (นิ้วมือเปื้อนได้เพียงข้อเดียวเท่านั้น) อย่าให้ข้าวร่วงพรูลงมา เมื่อใส่ปาก ก้างปลา เปลือก หรือเมล็ด เศษอาหารควรวางที่ขอบจานให้เรียบร้อย พยายามอย่าให้ข้าวเลอะปากจาน (มีกำหนดให้เปื้อนได้เพียงขอบจานในเท่านั้น) การกินควรแบ่งทีละส่วนไม่ให้เลอะเทอะจนน่าเกลียด หมั่นกวาดและเกลี่ยข้าวในจานให้น่าดู เวลาซดนํ้าแกงไม่ควรมีเสียงดัง หรือดูดมือดัง “รวบ” เป็นอันขาด

ปัจจุบันมารยาทในการกินอาหาร พอจะกล่าวได้โดยทั่วไปดังนี้ ต้องไม่ทำเสียงดังจากกิริยาต่างๆ ในการกิน เช่น เคี้ยวอาหาร ซดน้ำแกง กวาดตักอาหารจากจานชาม หรือดื่มนํ้าเสียงดัง ไม่ควรกินคำโตเกินไป และอ้าปากเคี้ยว ไม่ควรกินมูมมาม ควรนั่งตัวตรงขณะกิน ต้องกินพร้อมคนอื่น ไม่กินเร็วหรือช้าเกินไป ขณะกินอาหารไม่ควรเขย่าขาหรือเคาะโต๊ะ ไม่ควรเอียงจานข้าวตักอาหาร ไม่เคาะช้อนส้อมเสียงดัง ควรให้เงียบที่สุด อิ่มแล้วควรรวบช้อนส้อมไว้ตรงกลางจาน ฯลฯ

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเภทอาหารไทย

อาหารการกินของคนไทยโดยทั่วไป นอกจากจะมีข้าวและปลาแล้วยังมีอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผัก ผลไมต่างๆ อีกมากมาย ธรรมเนียมการประกอบอาหารของคนไทยนั้น มีลักษณะเด่นในเรื่องความพิถีพิถันและประณีตบรรจงมาก สามารถคิดค้นวิธีปรุงอาหาร วิธีประดิษฐ์ประดอยผักและผลไม้ให้มีความสวยงามน่ากิน อาหารที่คนไทยบริโภคในวันหนึ่งๆ พอจะแบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท คือกับข้าวหรือของคาว ของหวาน ผักและผลไม้ เครื่องดื่ม ของว่างหรือของกินเล่นหรืออาหารว่าง

๑. กับข้าว หรือ ของคาว
กับข้าวหรือของคาวหรือกับ หมายถึงของกินที่กินพร้อมกับข้าว เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางอาหาร กับข้าวไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ ผักและผลไม้ สังฆราช ปาลเลกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงกับข้าวของไทยว่ามีอยู่ ๒ ชนิด คือ กับข้าวจีนและกับข้าวไทย “คนจีนนั้นทำกับข้าวเกือบจะไม่ใช้เกลือ และเครื่องเทศเลย ลางครั้งยังแถมเติมนํ้าตาลลงในกับข้าวเสียอีก ทำให้มีรสหวานปะแล่ม มีมันมาก และมักจะจืดชืด ยกเว้นกับข้าวจำพวกปลา หอย และผักเค็ม ซึ่งคนจีนจะต้องทำเข้าสำรับด้วยเสมอ กับข้าวไทยนั้นตรงกันข้ามมีรสฉุนและเผ็ด นํ้าแกงที่โปรดที่สุด คือ กะหรี่

กับข้าวของไทย แบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ
ก. ต้มหรือแกง เช่น แกงเผ็ด แกงจืด ต้มยำ ฯลฯ
ข. ผัด ยำ พล่า
ค. เครื่องเคียง เช่น ทอดมัน ห่อหมก ปลาเค็ม ฯลฯ
ง. เครื่องจิ้ม เช่น หลน และนํ้าพริกชนิดต่างๆ

การประกอบอาหารคาวหวานรวมทั้งกิจการบ้านเรือน โบราณถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของสตรีไทยทุกคน ดังมีคำกล่าวในเชิงจำแนกสตรีออกไปหลายประเภทตามความประพฤติ เช่น แม่ผู้หญิงแม่ผู้หยัง แม่กระชังก้นรั่ว แม่ขนครัวลงล่าง แม่ย่างม้าเหาะ แม่เราะรอบรั้ว แม่ซุกหัวต่างหมอน แม่นอนลาดพาด ฯลฯ

สตรีบางคนมีความสามารถในการปรุงอาหารคาวหวานได้รสดี เป็นที่ถูกใจของสมาชิกในครอบครัวหรือผู้บริโภค เรียกว่ามี “เสน่ห์ปลายจวัก” ยิ่งถ้าการปรุงอาหารเป็นที่ถูกใจสามีด้วยแล้ว สามีจะรักมากเรียกว่า “เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย” และจากคุณสมบัติพิเศษข้อนี้ สตรีไทยจึงมักจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็น “แม่ศรีเรือน”

ชนิดของกับข้าวและฝีมือการประกอบอาหารของสตรีไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ชมฝีพระหัตถ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด)ว่ามีฝีพระหัตถ์ในการปรุงเครื่องเสวยเป็นเลิศ ดังปรากฏในกาพย์ว่า

แกงไก่มัศหมั่นเนื้อ        นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน            เฉียบร้อน
ชายใดบริโภคภุญช์        พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน        อกให้หวนแสวง

แกงมัศหมั่นไก่
มัศหมั่นแกงแก้วตา        หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง        แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา

ยำใหญ่
ยำใหญ่ใส่สารพัด        วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยนํ้าปลา            ญี่ปุ่นลํ้ายํ้ายวนใจ
ฯลฯ

ฝีมือการปรุงอาหารของสตรีไทย
การปรุงอาหารคาวหวาน ถือว่าเป็นเสน่ห์ประจำตัวและเป็นหน้าที่โดยตรงของสตรีไทย เด็กผู้หญิงไทยมักจะได้รับการฝึกอบรมให้เป็นแม่บ้านที่ดีหรือเป็น “แม่ศรีเรือน” เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เกี่ยวกับการปรุงอาหารคาวหวาน สตรีชั้นสูงส่วนใหญ่จะมีความรู้ความสามารถและฝีมือประณีตกว่าสตรีสามัญชน ทั้งนี้เพราะสตรีสามัญชนไม่ได้รับการฝึกอบรมจากสังคมชั้นสูงเช่นสาวชาววัง ดังปรากฏว่าในงานสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้านายฝ่ายหญิงหลายพระองค์ก็ได้เป็นผู้อำนวยการในการปรุงอาหารเลี้ยงที่โรงทาน เป็นต้นว่าเจ้าครอกใหญ่ อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง กรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุพาโลกมหาราช ดังข้อความว่า “การครั้งนั้น โปรดให้ตั้งโรงฉ้อทาน ที่หน้าวัดมหาธาตุ เจ้าครอกใหญ่อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง ตั้งโรง ๑ ที่ท่าพระ พระเจ้าน้องนางเธอ ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่า กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ตั้งโรง ๑ ที่โรงรองงาน”

ฝีมือการประกอบอาหารของสตรีชั้นสูงหรือชาววังโดยทั่วไปนั้นมีทั้งความประณีตและได้รสดี จนมีคำกล่าวกันติดปากว่า “ฝีมือชาววัง” “กับข้าวชาววัง” อย่างเช่นฝีมือของพระนางจันท์เทวี เมื่อครั้งปลอมเป็นแม่ครัวเข้าไปตามหาพระสังข์ในเมืองท้าวสามล พระนางได้ปรุงอาหารถวายพระสังข์ จนเป็นที่ชื่นชอบของพระสังข์ว่า “นางต้มแกงแต่งเครื่องเวลาไร ชอบพระทัยลูกรักหนักหนา”

ส่วนฝีมือการประกอบอาหารคาวหวานของสตรีสามัญชนนั้น จะปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นส่วนใหญ่ เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นภาพการปรุงอาหารของสตรีชาวบ้านได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นฝีมือของนางศรีประจันและนางพิม ตลอดจนบ่าวไพร่ เมื่อคราวเตรียมอาหารคาวหวานจะไปทำบุญที่วัดว่า
“บ่าวไพรทำขนมประสมปั้น        ชุบแป้งทอดน้ำมันอยู่ฉ่าฉ่า
เฮ้ยไฟร้อนนักชักฟืนรา            อีคงควักตักมาว่าเกรียมดี
วางไว้ตามชะมดแลกงเกียน        ฟั่นเทียนเรียงไว้อย่าให้บี้
ขนมกรุบขนมกรอบเห็นชอบที    คลุกนํ้าตาลพริบพรีใส่ที่ไว้
ข้าวเม่ากวนแป้งนวลชุบทอด    เอาไม้แยงแทงหลอดใส่ยอดไข่
มะพร้าวนํ้าตาลหวานไส้ใน        สุกแทงขึ้นไว้ไอ้ลูกโคน”

ฝีมือการปรุงอาหารคาวหวานของนางศรีประจันอีกตอนหนึ่ง เมื่อคราวเตรียมของให้พลายแก้ว ไปทัพว่า
“กวนขนมกละแมแซ่เซงไป        มะพร้าวปอกไว้ต่อยแตกฉ่า
กระต่ายขูดครูดแคะแกะกะลา    คั้นกะทิกะทะฉ่าเทลงไป
เอาแป้งมาขยำแล้วซ้ำกรอง        นํ้าตาลใส่ลงในท้องกะทะใหญ่
เหลวเหลวกวนง่ายสบายใจ        เร่งไฟคนเคี่ยวเหนียวเข้าทุกที”

๒. ของหวานหรือขนมของไทย มีหลายชนิด ส่วนใหญ่จะมีเครื่องประกอบ ๕ อย่างคือ แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งข้าวเหนียว มะพร้าว นํ้าตาล ไข่และถั่ว พอจะจำแนกออกได้ดังนี้คือ
ก. ประเภทต้ม เช่น ถั่วดำต้มนํ้าตาล กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวเปียกลำไย ข. ประเภทนึ่ง เช่น ขนมกล้วย ขนมตาล สังขยา
ค. ประเภทอบ เช่น ขนมหม้อแกง ขนมกลีบลำดวน ขนมผิง
ง. ประเภทกวน เช่น กล้วยกวน ทุเรียนกวน มังคุดกวน
จ. ประเภทลอยแก้ว เช่น ส้มลอยแก้ว วุ้นนํ้าเชื่อม สามแซ่
ฉ. ประเภทลวก เช่น ลูกชุบ ไข่แมงดา ทองหยอด
ช. บระเภทเชื่อม เช่น ลูกตาลเชื่อม กล้วยเชื่อม มันเชื่อม
ฌ. ประเภทปิ้ง เช่น กล้วยปิ้ง กล้วยเผา ข้าวเหนียวปิ้ง
ญ. ประเภทเบ็ดเตล็ด เช่น ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวนํ้ากะทิทุเรียน ข้าวยาคู ขนมเหนียว ข้าวตอกตั้ง ข้าวเม่าบด ขนมเบื้อง แป้งจี่ มะพร้าวแก้ว

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมของหวาน ไว้อย่างน่ารับประทานว่า

สังขยา
สังขยาหน้าตั้งไข่            ข้าวเหนียวใส่สีโสกแสดง
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง        แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ

ซาหริ่ม
ซาหริ่มลิ้มหวานลํ้า        แทรกใส่นํ้ากะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ            ได้เสพย์หริ่มพิมเสนโรย

ขนมบัวลอย
บัวลอยเล่ห์บัวงาม        คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล        สถนนุชดุจประทุม

ขนมฝอยทอง
ฝอยทองเป็นยองใย        เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์    เย็บชุนใช้ไหมทองจีนฯ

๓. ผักและผลไม้
ผักและผลไม้เป็นอาหารที่ได้จากพืชและผลผลิตของพืช ซึ่งคนไทยนิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะผัก เป็นส่วนประกอบเครื่องปรุงของอาหารคาวแทบทุกชนิด ผักอาจจัดจำพวกตามส่วนที่กินได้ดังต่อไปนี้
๑. ส่วนที่เป็นราก ตามหลักพฤกษศาสตร์ เช่น มันเทศ มันแกว หัวผักกาด หัวแครอต หัวบัว
๒. ส่วนที่เป็นรากหัว ซึ่งเป็นแหล่งเก็บอาหารของพืช เช่น มันฝรั่ง เผือก ๓. ส่วนที่เป็นแง่ง เช่น ขิง ข่า
๔. ส่วนที่เป็นลำต้น เช่น หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง
๕. ส่วนที่เป็นก้าน เช่น ก้านดอกกระเทียม ก้านดอกกุยช่าย ก้านเซลเลอรี่ ก้านกะหลํ่าดอก
๖. ส่วนที่กำลังผลิ เช่น ถั่วงอก
๗. ส่วนที่เป็นหัวงอกต่อไป เช่น หัวหอม หัวกระเทียม
๘. ส่วนที่เป็นใบ เช่นผักกาด ใบตำลึง
๙. ส่วนที่เป็นดอกอ่อน เช่น กะหลํ่าดอก กะหลํ่าเขียว หรือหัวปลี
๑๐. ส่วนที่เป็นเมล็ดพันธุ์อ่อน เช่น ถั่วลันเตา ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะพร้าวอ่อน จาวตาลอ่อน
๑๑. ส่วนที่เป็นเมล็ดพันธุ์แก่ เช่น ถั่วต่างๆ มะพร้าวแก่
๑๒. ส่วนที่เป็นผลอ่อน เข่น มะเขือยาว แตงกวา ข้าวโพด
๑๓. ส่วนที่เป็นผลแก่ เช่น แตงโม มะเขือเทศ พริก
๑๔. พืชที่กินได้ทั้งต้น เช่น เห็ดต่างๆ ที่กินได้ ไข่นํ้า สาหร่ายทะเล

ผลไม้
ประเทศไทยอุดมไปด้วยผลไม้นานาชนิด ในสมัยโบราณชาวป่า ชาวเขา หรือฤๅษีชีไพรผู้บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผลไม้ เพราะผลไม้ ให้วิตามินเละเกลือแร่มาก มูลเหตุที่มนุษย์สามารถเลือกกินผลไม้ชนิดต่างๆ ได้นั้น เข้าใจว่าคงจะเห็นสัตว์ป่ากินก่อน เมื่อเห็นว่าสัตว์กินได้และไม่เป็นอันตรายแล้ว มนุษย์จึงกินตาม ผลไม้บางชนิดมีตลอดปีและราคาไม่แพง บางชนิดให้วิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะขามป้อม ผลไม้บางชนิดมีตามฤดูกาล มักจะมีราคาแพงแต่ให้คุณค่าทางอาหารน้อย เช่น ทุเรียน ลำไย องุ่น เป็นต้น

คนไทยพิถีพิถันและมีความประณีตในเรื่องการกินมาก โดยเฉพาะเรื่องการกินพืชผักหรือผลไม้ คนไทยสามารถนำมาแกะสลักหรือฉลุให้เป็นลวดลายได้สวยงามมาก จนบางครั้งแทบไม่อยากจะกิน เพราะความเสียดาย ลักษณะเด่นเช่นนี้ได้กลายมาเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของไทย ที่สืบต่อกันมา ฝีมือการประดิษฐกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นหน้าที่และบทบาทของสตรีไทยโดยเฉพาะ ทั้งนี้รวมทั้งการร้อยดอกไม้ การเย็บปักถักร้อย การปักม่าน การทำเครื่องสำอาง ตลอดจนการทำอบรํ่า น้ำปรุง การทำบุหงา ฯลฯ

หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือการประดิษฐกรรมของสตรีไทย มักจะปรากฏในวรรณกรรมเรื่องต่าง ๆ เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน อิเหนา สังข์ทอง เป็นต้น

ในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง พระนางจันท์เทวี มเหสีท้าวยศวิมล ได้แกงฟักถวายพระสังข์เพื่อให้พระสังข์รู้เรื่องราวว่าพระนางมิใช่วิเสทคนครัว แต่เป็นมารดามาเที่ยวตามหา พระนางสามารถประดิษฐ์ฟักให้เป็นเรื่องราวชีวิตของพระนางกับพระสังข์ได้เป็นเลิศ ดังปรากฏความตอนนั้นว่า
“นางต้มแกงแต่งเครื่องเวลาไร    ชอบพระทัยลูกรักนักหนา
สมหวังดังจิตที่คิดมา            กัลยาจะแกล้งแกงฟัก
จึงหยิบยกมาตั้งนั่งฝาน        เอาวางไว้ในจานแล้วเจียนจัก
แกะเป็นรูปขององค์นงลักษณ์    เมื่ออยู่กับผัวรักที่ในวัง”

ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็ปรากฏมีข้อความกล่าวถึงฝีมือการแกะสลักผลไม้ของสตรีไว้หลายตอนเช่น นางพิมพิลาไลยได้แกะสลักผลไม้เพื่อเตรียมตัวจะไปวัดว่า
“บ้างเอามะละกอมาผ่าจัก        ช่วยกันแกะสลักเป็นหนักหนา
แล้วย้อมสีงดงามอร่ามตา        ประดับประดาเป็นที่สิขรินทร์
แกะเป็นราชสีห์สิงห์อัด        เหยียบหยัดยืนอยู่ดูเฉิดฉิน
แกะเป็นเทพนมพรหมินทร์        พระอินทร์ถือแก้วแล้วเหาะมา ”

ฝีมือการแกะสลักของนางพิมพิลาไลยนับว่าเป็นเลิศจนคนชมกันมาก

รูปสัตว์หยัดย่องตละเป็น         ดูเด่นเห็นสะอาดดังวาดเขียน
เขาช่างแกะสลักจักเจียน        ทั้งการเปรียญต่างชมขรมไป ”

ผลไม้ไทยในวรรณคดี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมผลไม้ไว้อย่างไพเราะ ชวนรับประทานมาก เริ่มต้นด้วยลูกชิด หรือลูกตาลว่า

ผลชิดแช่อิ่มโอ้            เอมใจ
หอมชื่นกลืนหวานใน        อกชู้
รื่นรื่นรสรมย์ใด            ฤๅดุจ นี้แม่
หวานเลิศเหลือรู้รู้        แต่เนื้อนงพาล ฯ

ผลชิดแช่อิ่มอบ            หอมตระหลบลํ้าเหลือหวาน
รสไหนไม่เปรียบปาน        หวานเหลือแล้วแก้วกลอยใจ

ลูกตาลหรือจาวตาล
ตาลเฉาะเหมาะใจจริง     รสเย็นยิ่งยิ่งเย็นใจ
คิดความยามพิสมัย        หมายเหมือนจริงยิ่งอยากเห็น

ลูกจาก
ผลจากเจ้าลอยแก้ว         บอกความแล้วจากจำเป็น
จากชํ้านํ้าตากระเด็น        เป็นทุกข์ท่าหน้านวลแตง

๔. เครื่องดื่ม (ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์)
เครื่องดื่มของคนไทยมีหลายชนิด บางชนิดทำจากส่วนต่างๆ ของพืช บางชนิดทำจากผลไม้ เช่น นํ้าหวานสกัดจากผลไม้และนํ้าเชื่อมที่ผสมนํ้าเชื้อกลิ่นต่างๆ นํ้ามะพร้าวอ่อน นํ้าตาลสด น้ำอ้อย น้ำเต้าหู้ นํ้าผลไม้คั้น นํ้าใบบัวบก ฯลฯ ตลอดจนน้ำอัฐบาลที่ใช้สำหรับพระฉันในยามวิกาล
นอกจากนี้ ชาและกาแฟ ก็จัดเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมของคนไทย โดยเฉพาะกาแฟ หรือข้าวแฝ่ เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยชอบกันมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้ว

๕. ของว่างหรือของกินเล่นหรืออาหารว่าง
ของว่าง หมายถึงของกินในเวลาที่ไม่ใช่เวลากินข้าว เช่น ข้าวตังหน้าตั้ง จันอับ ถั่ว ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องว่างไว้หลายอย่าง เริ่มต้นด้วยโคลงห่อกาพย์เรื่องข้าวต้มว่า
เข้าต้มอมรสเปรี้ยว        เค็มปน
เนื้อนกนุ่มระคน            ผักเคล้า
ร้อนร้อนตักหลายหน        ห่อนเบื่อ
รสหลากหลากรสเร้า        เร่งให้ใฝ่กินฯ

ข้าวต้มอมรสเปรี้ยว        ดีจริงเจียวเปรี้ยวเค็มปน
เนื้อนกนุ่มระคน            ปนผักเคล้ารสเข้าที

เข้าต้มเนื้อโคกลั้ว        ปนถั่วเขียวกลมเกลียวดี
มันเทศวิเศษมี            รสโอชาแสนน่ากิน

ของว่างประเภทข้าวต้มมีหลายชนิดแล้วแต่ว่าจะปรุงเป็นข้าวต้มอะไร ในบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวเป็นข้าวต้มนกกับข้าวต้มเนื้อโค โดยเฉพาะข้าวต้มเนื้อโค มีความหอมเอร็ดอร่อยมาก ถ้าได้ปนถั่วเขียวลงไปด้วย

อาหารว่างชนิดอื่นในพระราชนิพนธ์ยกมาเฉพาะบางอย่างดังนี้
สาคูเม็ดใหญ่กลม        แทนเข้าต้มสมถวิล
รสยวนชวนให้กิน        สิ้นทั้งหมดรสเหลือแหลม
ขนมจีบเจ้าช่างทำ        ทั้งน้ำพริกมะมาดแกม
มะเฟืองเป็นเครื่องแกล้ม    รสเหน็บแนมแช่มชูกัน
ขนมเบื้องญวนใหม่        ประกอบไส้วิเศษสรร
ทอดกรอบชอบกินมัน        เคี้ยวกรอบกรอบชวนชอบใจ

พระราชนิพนธ์เห่ชมของว่างนี้ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถในการปรุงอาหารการกินได้หลายรูปแบบ ทำให้ไม่ซ้ำซากจนน่าเบื่อ อาหารว่างทุกอย่างที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสาคู ขนมจีบ ข้าวตัง หรือแม้กระทั่งข้าวมันส้มตำ

ของกินอีก ๒ อย่างที่ควรจะกล่าวถึง และน่าจะจัดเป็นของว่างหรือของกินเล่นได้คือ ข้าวแช่และข้าวหมาก

ข้าวแช่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้าวเจือนํ้าดอกไม้สด เป็นอาหารที่มีมาแต่โบราณ นิยมทำถวายพระและเลี้ยงกันเนื่องในวันตรุษสงกรานต์ เชื่อกันว่าข้าวแช่เป็นอาหารชาวรามัญ นำเข้ามาเผยแพร่ในไทยที่ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแห่งแรก

ข้าวหมาก เป็นอาหารชนิดหนึ่งมีมาแต่โบราณ ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่งหมักกับแป้งเชื้อ อันที่จริงแล้วควรจะเรียกว่า ข้าวหมัก จึงจะถูก ซึ่งตรงความหมายดี เป็นที่น่าเสียดายที่เราเรียกเพี้ยนเป็นข้าวหมากไป

ยังมีของกินอีกอย่างหนึ่งที่แปลกไปจากของกินชนิดอื่นๆ คือ ไม่ได้กินเพื่อความอิ่มหนำสำราญหรือกินเพื่อความอยู่รอด แต่เป็นการกินตามความนิยมของสังคมสิ่งนั้นคือ การกินหมาก หรือเคี้ยวหมาก

การกินหมากหรือเคี้ยวหมาก เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ซึ่งคนไทยได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แม้จะได้รับการบังคับให้เลิกกินในสมัย “ไทยเชื่อผู้นำ” ก็ตาม ปัจจุบันการกินหมากก็ยังคงเป็นที่นิยมของคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นเก่าอยู่ แต่อีกไม่นานการกินหมากหรือเคี้ยวหมาก ก็อาจจะหมดไปจากความนิยมของคนไทย เนื่องจากคนรุ่นเก่าค่อยๆ หมดไป

บรรพบุรุษของไทยได้ถือ “การกินหมาก” เป็นธรรมเนียมของทุกครัวเรือน เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ผู้ว่าราชการคลังในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวถึงเรื่องการกินหมากของคนไทยว่า “เรื่องหมากนี้มีประเภทแลข้อความที่จะกล่าวบรรยายได้เล่มสมุดกว่า เพราะนับถือเข้ามาเป็นเครื่องเคี้ยวสำหรับประดับชั้นยศบรรดาศักดิ์เสียแล้ว ใช้เคี้ยวทั่วไปทั้งชายหญิง จะไม่เคี้ยวอยู่บ้างก็มีน้อยตัว ที่มักจะเก๋เป็นอย่างฝรั่ง หรือวิงเวียนยันไม่เป็นที่ชอบใจ หรือที่เห็นเป็นการเปรอะเปื้อนไปบ้างก็มี ถ้าจะเทียบดูแล้ว ชาวเราผู้ที่ไม่เคี้ยวหมาก หมื่นคนจะมีสักคนหนึ่ง….”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่ชมการเจียนหมากพลูรวมทั้งการจัดบุหรี่ และนํ้าอบปรุงไว้อย่างไพเราะว่า
“หวนเห็นหีบหมากเจ้า        จัดเจียน มาแม่
พลูจีบต่อยอดเนียน        น่าเคี้ยว
กลี่กล่องกระวานเขียน        มือยี่ ปุ่นเอย
บุหรี่ใส่กล่องเงี้ยว        ลอบให้เหลือหาญฯ
หมากเจียนเจ้างามปลอด    พลูต่อยอดน่าเอ็นดู
กระวานอีกกานพลู        บุหรี่ให้ใจเหลือหาญ”

ธรรมเนียมการต้อนรับแขกด้วยหมากพลู
มีคำกลอนพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่บทหนึ่ง (บทละครเรื่องพระร่วง) ที่แสดงให้เห็นอุปนิสัยใจคอของคนไทยในเรื่องการต้อนรับแขกว่า

“เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ”

การต้อนรับแขก ถือเป็นภาระหน้าที่ของสตรีหรือแม่บ้าน ที่จะต้องต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่แขกผู้มาเยือน การต้อนรับดี ย่อมจะเป็นศรีแก่ครอบครัวและวงศ์ตระกูล มีข้อตำหนิสตรีที่ไม่รู้จักต้อนรับแขก ดังปรากฏใน “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิต ชิโนรส ว่า
“แขกมาหาสู่     เกรงเปลืองหมากพลู     ทานทัดขัดคำ
ดูตาผัวพลาง     ให้ข้างฤๅยำ     แยบยลกลทำ ขับแขกจากสถาน

หมากพลูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการต้อนรับแขก รองลงมาเป็นเรื่องอาหารการกิน ตลอดจนเรื่องที่พักอาศัย ในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนมีอยู่หลายตอนที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เช่น

ตอนสมเด็จพระพันวษาให้ขุนช้างนำตำรวจไปตามพลายแก้วที่บ้านนางศรีประจัน นางศรีประจัน ต้อนรับด้วยหมากพลูว่า“….รับตำรวจนั้นขึ้นเคหา เชิญนายนั่งข้างบนสนทนา กินหมากเถิดขาตามแต่มี….”

พลายแก้วเตือนนางพิมพิลาไลย ให้เตรียมเลี้ยงดูแขกเมื่อคราวที่ขุนช้างและตำรวจมาเยือนที่บ้านว่า
“ฟังคำผัวว่าอย่าร้องไห้    ตำรวจเขาได้มาถึงบ้าน
ข้าวปลาหาทำอย่ารำคาญ    เขาอดจะประจานให้เจ็บใจ”

แต่ก่อนที่จะถึงเวลากินข้าว เจ้าของบ้านจะต้องรับแขกด้วยหมากพลูเสียก่อน
“………………………..        ย่างขึ้นหอพิมพิลาไลย
หย่อนก้นบนเสื่อทั้งสามรา    เรียกพานหมากมาหาช้าไม่
นางพิมหยิบพานรำคาญใจ    ไม่ออกไปเสือกสอดลอดประตู”

นอกจากนี้ในการเดินทางไกลไปทำกิจต่างๆ อาหารการกินและหมากพลู เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมไปให้พร้อม นางศรีมาลาได้เตรียมจัดหมากพลูและของใช้ของกินในระหว่างการเดินทางให้ขุนแผนกับพลายงามว่า
“ว่าพลางเจียนหมากแล้วจีบพลู         บุหรี่มีในตู้เอาแก้มัด
เย็บกระทงประจงเจียนฝาชี            ใส่หมากพลูบุหรี่ที่นางจัด
ทั้งของกินระหว่างทางอัตคัด            ใส่ขวดอัดผูกผ้าตราประทับ”

อาหารตามฤดูกาล
โดยปกติ ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ผู้คนสามารถหาอาหารต่างๆ ได้ตามแหล่งอาหาร ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น ๔ แหล่งใหญ่ด้วยกันคือ
๑. อาหารที่ผลิตได้เองหรือตามเรือกสวนไร่นา
๒. อาหารที่หาซื้อจากตลาดหรือร้านค้า
๓. อาหารที่หาได้ตามป่าหรือ “ของป่า”
๔. อาหารที่ได้จากการแลกเปลี่ยน หรือให้ซึ่งกันและกัน

อาหารบางอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดปีและอาจหาหรือซื้อได้ตามแหล่งอาหารต่างๆ แต่บางอย่างมีเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น

อาหารการกินของคนไทย ๔ ภาค
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า อาหารเป็นสิ่งสำคัญเและจำเป็นที่สุดของมนุษย์ทุกเชื้อชาติ แต่แบบแผนในการกินอาหารของคนในแต่ละสังคมมักจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นสภาพทาง ภูมิศาสตร์ สภาพทางเศรษฐกิจ ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณี ของคนในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนทำให้เกิด “ข้อควร
ประพฤติปฏิบัติ” และ “ข้อห้าม” ในเรื่องอาหารการกิน ความแตกต่างเรื่องอาหารการกินของคนไทยทั้ง ๔ ภาค กล่าวโดยสังเขปดังนี้คือ

ภาคเหนือ
สภาพภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของภาคเหนือเป็นป่าเขา มีที่ราบอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสายต่างๆ สภาพ ภูมิอากาศของภาคเหนือมี ๓ ฤดู คล้ายภาคอื่น ต่างกันบ้างที่หน้าหนาวจะหนาวกว่าและหน้าร้อนจะร้อนไม่มาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พืชผักผลไม้ของภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ คนไทยภาคเหนือมีอาชีพหลักทางการเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ผลผลิตที่นับว่าทำรายได้ให้ชาวเหนือมาก คือการทำสวน เมี่ยงและใบชาอย่างหนึ่งกับการทำสวนลำไยอีกอย่างหนึ่ง ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญของชาวเหนือ ได้แก่ การทำหนังพอง และแหนมหรือชิ้นส้ม
อาหารภาคเหนือ
อาหารพื้นเมืองชาวเหนือ
ชาวเหนือนิยมกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก แบ่งอาหารออกเป็น ๓ มื้อ อาหารมื้อเช้า เรียกข้าวเช้า กับข้าว มีจำพวกนํ้าพริกต่างๆ เช่นน้ำพริกอ่องแกล้มด้วยผักสด อาหารกลางวัน เรียกข้าวตอน กับข้าวประกอบด้วยอาหารจำพวกเนื้อ เช่น เนื้อแดงปิ้งหรือจิ๊น (ชิ้น) ปิ้ง รวมทั้งขนมจีนน้ำเงี้ยว

อาหารเย็น เรียก ข้าวแลง กับข้าวประกอบด้วยแกงและนํ้าพริกต่างๆ เช่นแกงแค นํ้าพริกอ่อง นํ้าพริกปลาร้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องจิ้มนํ้าพริกชนิดหนึ่ง เรียก นํ้าหนิง คือเอาหนังวัวที่เคี่ยวให้ข้น แล้วทำเป็นแผ่นนำไปผิงไฟให้สุกใช้เป็นเครื่องจิ้มนํ้าพริก อาหารคาวหวานของเมืองเหนือแบ่งออกได้เป็น

อาหารคาว เช่น แกงแค แกงหน่อไม้สดกับข้าวโพด แกงอ่อมเนื้อ แกงชะอม (แกงผักหละ) แกงขนุนอ่อน (แกงมะหนุน) แกงผักกูดกับหมู แกงยอดตำลึงกับปลาย่าง (แกงผักแคบใส่ปลาแห้ง) แกงฟักทอง (แกงมะฟัก) แกงยอดตำลึง (แกงผักแคบ) แกงยอดฟักทอง แกงหน่อไม้ดอง (แกงหน่อไม้ส้ม) แกงคูน (แกงตูน) แกงฮังเล ไก่ต้มข่า นํ้าเงี้ยว แกงต้มยำปลาช่อน แกงเลียงบวบ (แกงมะนอย) แกงผักกาดจอ  แกงโฮะ แกงมะระ (แกงมะห่อย) ยำไข่มด น้ำพริกแดง นํ้าพริกอ่อง นํ้าพริกหนุ่ม นํ้าพริกปลา ข้าวซอย ฯลฯ

ของหวาน เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ข้าวเหนียวเปี่ยง ข้าวตอกตั้ง ขนมจ๊อก (ขนมเทียน) ลูกท้อทรงเครื่อง นํ้าบ่าเกี๋ยง ขนมไข่เหี้ย (ขนมไข่หงส์) ขนมอี่ตุย (ซาลาเปาทอด) ข้าวควบ (ข้าวเกรียบว่าว) ขนมฮางเผิ้ง (ขนมรังผึ้ง) ขนมข้าวตอกเต๋ก (ขนมข้าวตอกอัด) ข้าวแต๋น (ขนมนางเล็ด)

ผลไม้ ผลไม้ของชาวเหนือจะได้กินตามฤดูกาล เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ลูกท้อ

ของว่าง
ของว่างที่สำคัญของชาวเหนือนิยมกินหลังอาหาร คือเมี่ยง (เมี่ยงคือ ใบชานึ่งแล้วเอาหมักจนมีรสเปรี้ยวหรือฝาด ใช้อมกับเกลือเวลาหลังอาหาร มีประโยชน์ช่วยในการย่อยอาหาร และแก้ง่วงนอน)

อาหารเนื่องในประเพณีเมืองเหนือ
ประเพณีการทำบุญและชีวิตประจำวันของชาวเหนือมักจะเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาอย่างสมํ่าเสมอตลอดปี จะมีประเพณีเกี่ยวกับผีสางก็เฉพาะแต่ในเดือน ๗-๘-๙ เหนือ (ตรงกับเดือน ๕-๖-๗ ใต้) เท่านั้น อาหารการกินในงานบุญหรือในพิธีกรรมต่างๆ มักจะเป็นอาหารพื้นเมือง ชาวบ้านนิยมจัดอาหารคาวหวาน ขนม ข้าวต้มใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เรียกว่า “ทานขันข้าว” อาหารเนื่องในประเพณีการทำบุญต่างๆ ของชาวเหนือพอกล่าวเป็นตัวอย่างได้ ดังนี้

ประเพณีดำหัว สิ่งที่นำไป “ดำหัว” ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และผู้มีอุปการคุณ มักจะมีผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย มะปราง แตงกวา มะพร้าวอ่อน หมากพลู บุหรี่ ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฯลฯ ผู้ที่ไปดำหัว ก็จะได้รับการต้อนรับจากเจ้าของบ้านด้วยอาหารการกิน และสุรากับแกล้ม

ประเพณีเข้าอินทขีล (การสักการบูชาเสาหลักเมือง) มีเครื่องเซ่นสังเวย ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารพื้นเมืองแล้ว ยังมีอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ซึ่งฆ่าสังเวยเป็นตัวๆ เช่น หมู วัว ควาย ไก่ เป็นต้น

ประเพณีแฮกนา (ทำเมื่อมีการหว่านกล้าและเมื่อกล้ามีอายุครบ ๑ เดือนแล้ว) มีการปลูกปะรำพิธี ภายในปะรำมีกระทงใส่อาหารคาวหวาน หมาก พลู บุหรี่ กล้วย อ้อย เมี่ยง เพื่อบูชาพระแม่โพสพ ผู้ให้กำเนิดข้าว นอกนั้นยังมีเหล้า ๑ ไห ไก่ต้ม ๑ คู่ สำหรับบวงสรวงเทวดาอารักษ์

ประเพณีทานข้าวสลากหรือกิ๋นก๋วยสลาก (ประเพณีทานสลากภัตต์) อาหารสำหรับจัดเตรียม ได้แก่ ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้าวต้ม ห่อหมก (ห่อนึ่ง) ชิ้นปิ้ง (เนื้อทอด) เนื้อเค็ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียน สีย้อมผ้า ผลไม้ และเครื่องใช้สอยต่างๆ ฯลฯ
อาหารอีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน มีสภาพภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาล้อมรอบ โครงสร้างของแผ่นดินส่วนมากเป็นหินทราย ดินทราย ซึ่งไม่สามารถเก็บนํ้าไว้ได้ เป็นเหตุให้สภาพพื้นดินแห้งแล้ง อาชีพของชาวอีสานส่วนใหญ่ ได้แก่การทำนา รองลงมาคือ การเลี้ยงสัตว์

อาหารพื้นเมืองของชาวอีสาน
ชาวอีสานนิยมกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับชาวเหนือ แบ่งอาหารออกเป็น ๓ มื้อ อาหารเช้าเรียกข้าวเช้า อาหารกลางวันเรียกข้าวเพล และอาหารเย็นเรียกข้าวแลง แหล่งที่มาของอาหารของชาวอีสาน พอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ แห่งคือ อาหารที่หาซื้อได้จากร้านค้าหรือตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประจำวันของคนในเมือง หรือชาวเมือง เช่นส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ ต้มยำ ปลาทูทอด นาพริกป่น อีกแหล่งหนึ่งคือ อาหารที่ได้จากธรรมชาติตามท้องไร่ท้องนาหรือในป่าส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารของชาวชนบท เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง กิ้งก่า ฯลฯ

อาหารอีสานในฮีตสิบสอง
ฮีตสิบสอง (ฮีต : จารีต) หรือประเพณีสิบสองเดือน เป็นจารีตประเพณีที่ชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน แม้ปัจจุบันสภาพสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม แต่ความยึดมั่นในฮีตสิบสองของชาวอีสานก็ยังมั่นคงอยู่เสมอมา ชาวอีสานที่ไปทำงานถิ่นอื่นเมื่อถึง “งานบุญ” ก็มักจะกลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อร่วมงานบุญกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เสร็จงานบุญแล้วต่างก็แยกย้ายกัน ไปทำงานตามเดิม อาหารการกินในงานบุญแต่ละครั้ง นอกจากจะมีอาหารพื้นเมืองเช่น ลาบ ก้อย แกงป่า แกงไก่ ป่นปลา แจ่ว (นํ้าพริก) ส้มตำ ฯลฯ แล้ว ยังมีอาหารที่ใช้เฉพาะงานบุญ เช่นในงานบุญ ข้าวจี่เดือนสาม จะมีข้าวจี่เป็นอาหารสำคัญ (ข้าวจี่ คือข้าวเหนียวที่สุกแล้วเคล้ากับเกลือปั้นเป็นก้อน ปิ้งไฟจนเหลืองกรอบ นิยมทาด้วยไข่ที่ตีแตกแล้วทำให้มีรสชาติมากขึ้น) งานบุญบั้งไฟ มีลาบเนื้อ ปลาปิ้ง ข้าวหมาก และงานบุญข้าวประดับดิน มีขนมจีน หมากพลู บุหรี่ ขนมข้าวเหนียวแดง ขนมเทียน เป็นต้น

ภาคใต้
ภาคใต้ มีสภาพภูมิประเทศทั่วไปเป็นภูเขา ทะเล และป่า สภาพภูมิอากาศมีฝนตกชุกตลอดปี อากาศชุ่มชื้น อาชีพหลักที่สำคัญของชาวภาคใต้ คือการประมง ทำสวนยาง ทำเหมืองแร่ ทำนาเกลือ และสวนผลไม้
อาหารภาคใต้
อาหารพื้นเมืองของชาวใต้
ชาวใต้หรือชาวภาคใต้กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กับข้าวมักจะเป็นแกงเสียส่วนใหญ่และมีรสจัด เช่น เผ็ด ร้อน เปรี้ยว เค็ม แกงที่นับว่าขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักของคนภาคอื่นมากจนถือเป็นสัญลักษณ์ของชาวใต้คือ แกงส้ม แกงไตปลา (ภาษาพื้นเมืองว่า แกงพุงปลา) อาหารคาวหวานของชาวใต้มีมากหลายชนิดพอจะจำแนกออกได้ เช่น

อาหารคาว แกงไตปลา (แกงพุงปลา) แกงส้ม แกงคั่ว แกงเคยปลา แกงเลียง แกงขี้ดี แกงเผ็ด ผัดเผ็ดลูกตอ ฯลฯ

ของหวาน ขนมพอง ขนมลา ขนมดีซำ ขนมจือจุน ขนมปาดา

ผลไม้    ตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน เงาะ ลางสาด มะม่วงหิมพานต์ จำปาดะ ขนุน ลูกหยี

อาหารเนื่องในประเพณีภาคใต้
อาหารการกินของภาคใต้นับว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก และราคาไม่แพงจนเกินไป ประชาชนจากภาคอื่นๆ (โดยเฉพาะภาคอีสาน) จึงนิยมไปหางานทำกันที่ภาคใต้ เช่น เป็นกรรมกรทำเหมืองแร่ ทำสวนยาง เป็นต้น ประเพณีสำคัญต่างๆ ของภาคใต้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องในศาสนาและการบวงสรวง วิญญาณบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีชักพระหรือลากพระ ประเพณีชิงเปรตหรือตั้งเปรต เป็นต้น อาหารการกินเฉพาะในพิธีดังกล่าวมีดังนี้ คือ

ประเพณีชักพระหรือลากพระ มีอาหารสำคัญคือ ต้ม (ข้าวต้ม) การทำต้มของชาวพื้นเมืองมีวิธีการทำต่างๆ กัน คือทำต้มด้วยข้าวเหนียว แล้วห่อด้วยใบกะพ้อ บางทีห่อด้วยใบตาลโตนด หรือใบมะพร้าวในงานประเพณีนี้ชาวบ้านจะทำต้มไปทำบุญกันที่วัด

ประเพณีชิงเปรตหรือตั้งเปรต เป็นประเพณีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ อาหารสำคัญและมีความหมายในประเพณีนี้คือ พองหรือเหนียวพอง (เป็นรูปสี่เหลี่ยม) ลา (เป็นแผ่นโตคล้ายแห) ขนมบ้า ขนมดีซำ (สมมติเป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย)

ภาคกลาง
ภาคกลาง เป็นภาคที่มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสม มีประชาชนมากกว่าภาคอื่นๆ สภาพทั่วไป เกี่ยวกับการดำรงชีวิตและการทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่นํ้าบางปะกง อาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนในภาคนี้ ได้แก่ การกสิกรรม ทำนา ทำสวน การประมง และการอุตสาหกรรมต่างๆ
อาหารภาคกลาง
อาหารพื้นเมืองของคนภาคกลาง
อาหารของคนภาคกลางมีมากมายหลายชนิด ดังเช่น

อาหารคาว
แกงเขียวหวานไก่ แกงเผ็ดเนื้อ แกงส้มมะรุม แกงฉู่ฉี่ปลา แกงมัสมั่น ผัดเผ็ดใบกะเพรา ผัดขิง ผัดวุ้นเส้น ผัดเปรี้ยวหวาน แพนงเนื้อ น้ำพริกปลาทู ทอดมันปลา ยำต่างๆ ฯลฯ

อาหารหวาน ขนมถ้วยฟู ขนมเปียกปูน ขนมหม้อแกง ขนมตะโก้ ขนมตาล ขนมกง ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทับทิมกรอบ วุ้นต่างๆ ข้าวเกรียบปากหม้อ ฯลฯ

ผลไม้    องุ่น ชมพู่ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน พุทรา เงาะ ทุเรียน แตงโม มะละกอ กระท้อน ฝรั่ง ฯลฯ

อาหารเนื่องในประเพณีภาคกลาง
ประเพณีต่างๆ ของภาคกลางมีมากมายจะกล่าวเฉพาะประเพณีสำคัญๆ ที่มีอาหารแตกต่างไปจากประเพณีอื่น ดังนี้
ประเพณีวันสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่อย่างหนึ่ง อาหารสำคัญในประเพณีนี้ คือข้าวเหนียว แดง กะละแม และข้าวแช่ โดยเฉพาะข้าวแช่ เชื่อว่าชาวมอญเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่

เทศกาลสารท อาหารสำคัญในงานเทศกาลนี้คือ กระยาสารท โดยใช้ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา มะพร้าว น้ำอ้อย (นํ้าตาล) เคี่ยวให้เข้ากัน นิยมนำกระยาสารทไปถวายพระแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

เทศกาลออกพรรษา อาหารสำคัญในเทศกาลนี้คือ ข้าวต้มลูกโยน (ทำด้วยข้าวเหนียว) ข้าวปัด

นอกจากนี้ ในงานมงคลต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด แต่งงาน อาหารสำคัญที่ใช้ในงานดังกล่าว มีขนมถ้วยฟู ขนมชั้น ฝอยทอง ทองหยิบ

ความเชื่อเรื่องอาหารของคนไทย
สังคมที่มีวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมประเพณีต่างกัน ย่อมมีบริโภคนิสัยที่ต่างกัน เช่น คนยุโรปนิยมกินขนมปัง คนเอเชียนิยมกินข้าว ชาวมุสลิมไม่กินหมู ชาวฮินดูไม่กินเนื้อวัว ในประเทศไทย สภาพภูมิศาสตร์และความเชื่อในขนบประเพณีพื้นบ้าน มิอิทธิพลทำให้คนไทยในแต่ละถิ่นกินอาหารต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเชื่อ” ทำให้เกิดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในการกินอาหารขึ้น จนกลายเป็นประเพณีนิยมสืบมา เช่น

ความเชื่อเรื่องอาหารของคนภาคเหนือ
อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ห้ามมิให้หญิงมีครรภ์หรือเด็กกินจะทำให้คลอดยากหรือบางชนิดทำให้สมองทึบ ฟันผุ เป็นตานขโมย เป็นต้น

อาหารประเภทข้าว เผือก และมัน มีความเชื่อว่าถ้าคนเป็นแผลและรับประทานอาหารประเภทข้าวเหนียวจะทำให้เป็นหนอง หรือถ้ารับประทานเผือกจะทำให้เป็นโรคเรื้อน

อาหารประเภทผัก ผลไม้ เชื่อกันว่าถ้าหญิงมีครรภ์รับประทานผักชะอม ตำลึงหรือสะเดาจะทำให้มีอาการวิงเวียนและอาจถึงตายได้ หรือห้ามไม่ให้เด็กกินมะนาวเพราะจะทำให้กระดูกเปราะ ส่วนผลไม้ทุกชนิดเมื่อรับประทานแล้วจะทำลายฤทธิ์ยาทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ หรืออาจทำให้เกิดผลด้านอื่นอกเช่น ถ้าให้หญิงมีครรภ์กินกล้วยแฝดจะทำให้เกิดลูกแฝด หรือผลไม้บางอย่างเมื่อกินไปแล้ว ทำให้เสาะท้อง เป็นต้น

ความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วแม้ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางวิทยาการและทางการแพทย์อย่างกว้างขวางก็ตาม แต่คนทั่วไปก็ยังเชื่อตามคนโบราณ ควบคู่ไปกับวิทยาการสมัยใหม่ด้วย

ความเชื่อเรื่องอาหารของคนภาคอีสาน
อาหารแสลงหลังคลอด        เหตุผล
ผักชะอม                    กลัวไม่มีน้ำนม
ผักตำลึง                    กลัวว่ามดลูกจะลอยขึ้น
ฟักแฟง                    กลัวแผลช่องคลอดหายช้า
ฟักทอง                    กลัวชัก
แตงกวา                    คางแข็ง
มะเขือพวง                    กลัวปวดศีรษะเป็นไข้
มะเขือยาว                    วิงเวียน
ผักชี                        ตกเลือด
ต้นหอม                    ผิดสำแดง
ใบยี่หร่า                    ทำให้แน่นหน้าอก
มะรุม                    หมดสติ
ผักสดใบเขียวทุกอย่าง            อาเจียน
หน่อไม้ดอง                หน้ามืด
ฯลฯ

ความเชื่อเรื่องอาหารของคนแม่นํ้าแม่กลอง
อาหารแสลงสำหรับผู้ป่วย
หน่อไม้ดอง ของดอง กล้วย ข้าวเหนียว อาหารทะเล แกงเผ็ด เนื้อ นํ้าแข็ง ละมุด มะพร้าว อาหารรสจัด ขนุน หมู ไก่(ตัวผู้)

อาหารที่งดระหว่างตั้งครรภ์
ของเผ็ด เนื้อสัตว์ ของดอง หน่อไม้ ต้นหอม กระเทียม อาหารรสจัด

ความเชื่อเรื่องอาหารของคนภาคใต้
อาหารที่งดหลังคลอด
ปลาที่มีมันมาก ปลาที่คาวจัด อาหารหมักดองทุกชนิด อาหารที่มักจะงดระหว่างเจ็บป่วย (เช่น ขนมจีน ข้าวเหนียว) ผลไม้แทบทุกชนิด ละมุด ขนุน หน่อไม้

ที่มา:กรมศิลปากร

อาหารการกินของคนไทย

การกินอยู่
“การกิน” โดยความหมายทั่วไป หมายถึงการเอาสิ่งที่เป็นอาหารเข้าไปในปาก เพื่อให้กระบวนการย่อยอาหารต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนอาหารเหล่านี้ให้เป็นสารเคมีที่มีประโยชน์สำหรับให้ร่างกายเจริญเติบโต “การอยู่” หมายถึงการทรงสภาพความมีชีวิตอยู่ได้ การกินอยู่จึงหมายถึง การกินอาหารเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้

หากพิจารณาปัจจัยสี่ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค จะเห็นได้ว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุด มนุษย์ต้องการอาหารนับตั้งแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนกระทั่งคลอดออกมามีชีวิต และถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คือตาย และแม้กระทั่งตายไปแล้ว ญาติพี่น้องหรือลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ก็ยังต้องเซ่นสรวงบูชา ใส่บาตรไปให้กิน จนกลายเป็นประเพณีต่างๆ สืบทอดกันมา เช่น ประเพณีชิงเปรต (ภาคใต้) และประเพณีบุญข้าวประดับดิน (ภาคอีสาน) เป็นต้น

มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ และกินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กล่าวได้ว่าการเดินทางร่อนเร่นั้นมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการหาแหล่งอาหาร การกินและความอยู่รอดปลอดกัย ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้จักตั้งหลักแหล่งแล้วก็เรียนรู้การหาอาหารมากิน เช่น เรียนรู้วิธีจับสัตว์ไว้กินเนื้อ และกินผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ จนกระทั่งการหาอาหาร การกิน การกินอยู่จึงวิวัฒนากากลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ในสังคม

อาหารการกินของคนไทย
ประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ราษฎรส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่และการประมง อาหารการกินที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทย ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับผลผลิตของแต่ละอาชีพ อาหารที่จัดว่ามีความสำคัญควบคู่กับความเป็นอยู่ของชาวไทยตลอดมาข้าวสวย ได้แก่ ข้าวและปลา ในสมัยสุโขทัย มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว…” ปัจจุบันนี้ ข้าวและปลา ก็ยังคงครองความสำคัญอยู่ สำหรับชีวิตคนไทยจนมีการพูดติดปากว่า “ข้าวปลาอาหาร” “กับข้าวกับปลา” เป็นต้น

ข้าว
ข้าว เป็นอาหารหลักของคนไทย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ข้าว” ไว้ว่า “เมล็ดของพืชจำพวกหญ้าที่ใช้เป็นอาหารสำคัญ ปลูกกันในประเทศร้อน โดยมาก (โบราณใช้ว่า เข้า) มีชนิดใหญ่สองชนิด คือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว และข้าวสองชนิดนี้ เรียกชื่อต่างๆ กันตามลักษณะอีกมากมาย เช่น ข้าวปิ่นทอง ข้าวเหนียวกัญญา” ในสมัยโบราณ ได้แบ่งชนิดหรือพันธุ์ของข้าวออกไปตามลักษณะฤดูกาล เช่น ข้าวสามเดือนทันสารท ข้าวกลางปี สี่เดือนสุก ข้าวหนักหรือข้าวนาปี ข้าวนาสวนและข้าวนาทุ่งหรือข้าวนาเมือง ส่วนปัจจุบันได้จำแนกข้าวที่ปลูกกันได้ในประเทศไทยออกเป็น ๓ ประเภท ตามสภาวะของนํ้าในการเจริญเติบโต คือ ข้าวไร่ ข้าวสวน ข้าวนาเมือง และแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด ตามลักษณะของเมล็ดคือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว

ข้าวเจ้า เป็นข้าวที่มีเนื้อเมล็ดใส หุงแล้วเมล็ดจะร่วนสวยและไม่ติดกัน เป็นอาหารหลักของชาวไทยภาคกลางและภาคใต้ ส่วนข้าวเหนียวเป็นข้าวที่มีเนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน เป็นอาหารหลักของชาวไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คนไทยภาคกลางและภาคใต้นิยมใช้ข้าวเหนียวทำขนมต่างๆ และทำเหล้าโรง เกี่ยวกับความแตกต่างใน เรื่องการกินข้าวเจ้าและข้าวเหนียวของคนไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย ไว้ว่า “หม่อมฉันไปพบเค้าเงื่อนเมื่อไปมณฑลพายัพครั้งแรก เวลานั้นต้องเดินทางด้วยใช้ช้างม้าเป็นพาหนะและต้องมีลูกหาบขนของเมื่อถึงที่พักแรม หม่อมฉันสังเกตเห็นพวกลูกหาบพากันตั้งเตานึ่งข้าวเหนียวใส่กล่องสานสำหรับตะพายทุกวัน แต่เวลาเช้าหามีใครนึ่งข้าวเหนียวอย่างเราหุงข้าวเจ้าไม่ หม่อมฉันถามเขาบอกว่า นึ่งข้าวเวลาเย็นวันละครั้งเดียวก็พอกินในวันหน้าตลอดวัน ถามต่อไปว่า เหตุใดจึงชอบกินข้าวเหนียว เขาบอกว่ากินข้าวเหนียวหิวช้ากว่ากินข้าวเจ้า ได้ความเพียงนี้ ไม่ได้สืบสาวกระแสความต่อไป พิเคราะห์คำที่เรียกว่าข้าวเหนียว เป็นคำของชาวใต้หมายความว่า เหนอะหนะเท่านั้น ในมณฑลพายัพ ดูเหมือนเขาเรียกกันแต่ว่า “ข้าว” ถ้าคำว่าข้าวเจ้า หมายความว่า ข้าวพระยาเสวยก็น่าจะเรียกกันในมณฑลพายัพก่อน เพราะผู้ดีไม่ต้องทำการหนัก กินได้วันละหลายเวลา จึงเรียกข้าวพรรค์นี้ว่าข้าวผู้ดี ที่ทูลมานี้โดยเดา ถ้าจะหาหลักฐานต่อไป จะต้องหาคนชาวมณฑลพายัพมาไล่เลียง เสียดายที่พระราชชายาสิ้นพระชนม์เสีย หาไม่มีจดหมายไปทูลถาม ก็จะได้ความละเอียด….”

อย่างไรก็ตาม แม้ราษฎรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกินข้าวเหนียวกัน แต่มีอยู่ไม่น้อยที่กินข้าวเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคนในเมืองหรือคนในตัวอำเภอ ตัวจังหวัด และดูเหมือนข้าวเจ้าจะถูกเตรียมไว้ต้อนรับแขกเมืองที่กินข้าวเหนียวไม่เป็น ด้วยเหตุนี้ ข้าวเจ้าจึงมีความสำคัญมากสำหรับคนไทยสมดังที่กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้ความหมายของคำว่าข้าวเจ้าไว้ว่า “ข้าวเจ้านี้จะว่าไปก็เป็นเจ้า เป็นใหญ่แก่ข้าวทั้งหลาย ในการที่เป็นคุณแก่มนุษย์ทั้งปวง หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง ข้าวเจ้าเป็นเชื้อชีวิตของมนุษยโลกมากกว่าข้าวอย่างอื่นทั้งหมด และเป็นกำลังอันใหญ่ อันเดียวแห่งความเป็นไปในชีวิตของชาวชมพูทวีปเรานี้ เมื่อจะคิดไปก็เป็นของคู่กันกับชีวิตมนุษย์ สำหรับอาศัยซึ่งกันและกัน ราวกะนํ้ากับปลาข้าวเหนียว

ในกระบวนการกินข้าวเหนียวด้วยกัน ได้มีผู้เปรียบเทียบระหว่างคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ประเด็นหนึ่งว่า คนภาคเหนือถือเรื่องการแต่งตัวเพื่อความสวยความงามเป็นใหญ่ แต่คนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเรื่องการกินเพื่อความอยู่รอดเป็นใหญ่ ดังมีคำกล่าวเป็นภาษาพื้นเมืองของแต่ละถิ่นว่า
ภาคเหนือ    
ตุ๊กบ่ได้กิ๋น            บ่มีไผต๋ามไฟส่องต๊อง
ตุ๊กบ่ได้เอ้ได้ย่อง        ชาวบ้านเปิ้นแคน
หมายความว่า
ทุกข์ไม่ได้กิน                ไม่มีใครเอาไฟส่องท้องดู
ทุกข์ไม่ได้โก้ได้เก๋(แต่งตัวสวย)     ชาวบ้านเขาดูแคลน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า            ฤๅเฮือนพอมีลี้อยู่
ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ในท้อง        นอนลี้อยู่บ่เป็น
หมายความว่า    
ทุกข์ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่        ฝาเรือนพอมีแอบซ่อนอยู่ได้
ทุกข์ไม่มีข้าวอยู่ในท้อง    นอนหลบอยู่ไม่เป็น

ที่มา:กรมศิลปากร