การเดินจงกรมมีผลดีอย่างไร

เดินจงกรมประโยชน์การเดินจงกรม ประโยชน์การฝึกสมาธิ ความสามารถของสมาธิ
การเดินจงกรมมีผลดีอย่างไร
จงกรม แปลว่า อิริยาบถในการเจริญกรรมฐาน จะเดินมากน้อยตามแต่ต้องการเมื่อจิตสงบบ้างไม่สงบบ้าง ไม่ควรเดินให้เกิน ๑ ชั่วโมง การเดินจงกรมเมื่อเดินได้ดี ถูกต้องย่อมได้อานิสงส์คือ ผลดีถึง ๕ ประการ (จาก พระไตรปิฎก เล่ม ๓๓) คือ

๑. เดินได้ทน ข้อนี้เป็นจริง ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน จะเห็นด้วยตนเองว่า เขาจะไม่กลัวต่อการเดินทางไกล คงจะเป็นเพราะฝึกเดินอยู่เสมอ คือว่าเป็นการฝึกเดินโดยไม่รู้ตัว

๒. ทำงานได้มาก มีพระอาจารย์เจ้าสำนัก วิปัสสนากรรมฐานองค์หนึ่งทำงานได้มากและอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ในวันหนึ่งๆ มีการสอบอารมณ์กรรมฐานศิษย์ในตอนเย็น สอนนักธรรมในเวลากลางวัน และควบคุมงานบูรณะซ่อมแซมวัดไปด้วย เมื่อมีคนเป็นห่วงในสุขภาพของท่าน ท่านกลับตอบอย่างถ่อมตนว่า เมื่อกำลังพอมีอยู่ก็ทำไป เข้าหลักที่ว่านักกรรมฐานนั้น กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำงานมาก

๓. บำบัดโรคบางอย่างได้ บาลีใช้คำว่า อปฺปาพาโธ แปลว่า ไม่ค่อยเจ็บไข้ คือร่างกายแข็งแรง โรคบางอย่างหายไปได้ด้วย

๔. อาหารย่อยง่าย บาลีว่า ปริณตโภชี การเดินจงกรมเป็นยาช่วยย่อยอาหารด้วย จึงควรเดินจงกรมหลังรับประทานอาหารด้วยถ้ามีโอกาส

๕. สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน การเดินจงกรมเป็นการปลูกสติและสมาธิ เมื่อเดินจงกรมได้ดี สติสมาธิก็เป็นไปด้วยดี ดังนั้นจึงควรเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิ

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

สาเหตุการฝึกสมาธิแล้วเสียสติ

มิจฉาทิฏฐิโทษการฝึกผิด มิจฉาทิฏฐิ สัพมาทิฏฐิสาเหตุที่ผู้ฝึกสมาธิวิปัสสนาเป็นโรคประสาทหรือเสียสติ เป็นเพราะ
๑. ฝึกไม่ถูกวิธี และพยายามจะให้ได้ผลดี
๒. ฝึกบ่อยครั้งเกินไป หรือฝึกนานเกินควร
๓. เกิดความกลัวหรือตกใจมากขณะจิตเริ่มสงบ
๔. ผู้ฝึกสมาธิเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตอยู่ก่อนแล้ว
วิธีแก้ไข
๑. ฝึกผิดวิธีและพยายามจะให้ได้ผลดี ควรเลือกวิธีที่เหมาะกับจิตและนิสัยของตน วิธีที่เหมาะกับคนทั่วไปคือ วิธีกำหนดลมหายใจ ควรมีครูที่ดีควบคุมใกล้ชิดจนเข้าใจและทำถูกต้อง จึงไปฝึกตามลำพังตนเอง การฝึกไม่ถูกวิธี เช่นที่ตั้งจิตไม่เหมาะกับตน การดำเนินการฝึกไม่ทำตามขั้นตอน ฝึกข้ามขั้นทำให้ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่พยายามจะเร่งให้ได้ผลเร็ว เป็นความโลภ อยากมีอยากได้โดยไร้เหตุผล และทำให้เกิดความเครียดทางจิต จึงเป็นโรคประสาทหรือเสียสติได้

๒. การฝึกบ่อยครั้งเกินไป โดยธรรมดาการฝึก อย่างเคร่งครัดวันหนึ่งท่านให้ฝึกไม่เกิน ๓ ครั้ง และครั้งหนึ่งให้ห่างกันมากกว่า ๓ ชั่วโมง ถ้าฝึกมากเกินไป จะเกิดความเครียด ส่วนการฝึกแบบสบายๆ คือจัดลมหายใจแบบสบาย มีสติรู้ลมโดยไม่ต้องภาวนา ดังนี้ทำได้ตลอดไปทั้งในยามว่างหรือระหว่างทำงาน ระหว่างฟังวิทยุก็ทำได้ไม่เคร่งเครียด เผลอไปก็ทำใหม่ได้เรื่อยๆ บางท่านให้ภาวนา “พุท-โธ” ไปเรื่อยๆ ได้ตลอดเวลา หรือนึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน บ้างนึกถึงความไม่สะอาด ความไม่น่ารักของร่างกายบ้าง เหล่านี้ก็นับว่าดี ลองทำดู วิธีใดที่ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านก็ใช้วิธีนั้น หรือวิธีใดมากระทบใจก็ใช้วิธีนั้น

การฝึกครั้งหนึ่งอย่าเคร่งครัดนานก็ให้โทษการฝึกตอนต้นๆ จิตสงบลงบ้าง แล้วอย่าไปคิดอย่างอื่นอีก ต้องคอยแก้ให้จิตสงบๆ ใหม่สลับกันไป ดังนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ควรฝึกนานกว่า ๑ ชั่วโมง ถ้าฝึกนานไป จะให้โทษมากกว่าให้คุณ นอกจากจิตเป็นสมาธิติดต่อกันไปสงบและเพลินไปเรื่อย ก็ฝึกนานกว่า ๑ ชั่วโมงได้

อย่าฝืนฝึกสมาธิวิปัสสนาจนเกินขอบเขตที่จะทนได้ ถ้าง่วงมากหรือเพลียมากฝืนไม่ไหวก็พักเสีย หรือนอนให้สบายเสียก่อนจะดีกว่าพยายามรวมสติอยู่กับลมสบาย ไม่คิดว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดให้มั่นว่าการฝึกสมาธิ วิปัสสนาเป็นการทำความดีเป็นบุญ ผลที่ได้รับต้องดีแน่ คิดว่าฝึกเพื่อให้เกิดความสบาย ไม่เร่งรีบจะเอาผลให้ทันใจ และหมั่นทำไม่ลดละ การฝึกจิตจะต้องปล่อยวาง ในเรื่องความรู้และเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจทุกอย่าง สนใจอยู่เฉพาะลมหายใจและมีสติรู้ลม ดูลมด้วยจิตอยู่เสมอ

๓. ความกลัวความตกใจ ให้หมั่นพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการเกิดดับอยู่เสมอไม่มีการหยุดยั้งแม้แต่เพียงขณะเดียว ความกลัวความตกใจอาจมีเพราะคนหรือเสียง หรือเกิด ภาพทางใจ(คือนิมิต)ขณะที่จิตสงบสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงมาร หรือสิ่งหลอกลวง ขัดขวางความดีของเรา ทำร้ายอะไรเราไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไปไม่ยั่งยืน ควบคุมจิตใจให้ปกติไว้ ทางที่ดีควรรู้วิธีใช้อำนาจจิตอำนาจคุณพระ ป้องกันอันตราย ก่อนนั่งสมาสิทุกครั้ง ดังนี้จะเป็นการป้องกันที่ดี การปฏิบัติต่อนิมิต หรือการแก้นิมิตดูวิทยาศาสตร์ทางใจฉบับส่องโลก หน้า ๒๕๗

๔. ผู้ฝึกสมาธิวิปัสสนาเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตมาก่อนแล้ว หรือเป็นหลังจากฝึกไม่ถูกวิธี แก้โดยให้หยุดฝึกไปก่อนระยะหนึ่ง หาสิ่งที่เพลิดเพลินอย่างอื่นแทนให้หายจากโรคประสาทดีแล้ว จึงฝึกใหม่ และถ้ามีการรักษาด้วยยาด้วยพลังจิตช่วยด้วยก็จะทำให้ได้ผลดี ถ้าโรคประสาทนั้นเกิดเพราะความเสียใจเป็นเหตุก็แก้ความเสียใจ (ดูหลักแก้ความเสียใจในฉบับเปิดโลกหน้า ๔๑๐)

ตามที่กล่าวมานี้รวบรวมจากพระไตรปิฎก จากท่านผู้รู้ จากพระอาจารย์ในดงและจากประสบการณ์ที่เคยฝึกศิษย์มานานกว่า ๒๕ ปี รายละเอียดการฝึกสมาธิ วิปัสสนาและการใช้อำนาจจิตเพื่อประโยชน์ต่างๆ มีใน วิทยาศาสตร์ทางใจ ฉบับยอดคน ฉบับเปิดโลก และฉบับส่องโลก ส่วนการรักษาต่างๆ ด้วยพลังจิตและยา มีในแพทย์สามแผนนำสมัย

ในเรื่องพิจารณากายให้เป็นของไม่สะอาด ไม่ใช่ตัวตนนั้น มีวิธีพิจารณาหลายวิธี กล่าวไว้หลายแห่งในพระไตรปิฎก ควรนำมาสรุปรวมกันให้เห็นจริงทุกแง่ทุกมุมที่เหมาะจะให้ตนรังเกียจ ขยะแขยง และเห็นเป็นความว่างเปล่า จนจิตปล่อยวางข้ามพ้นรูปกายทั้งปวงได้ จิตจึงจะเป็นอิสระมีปัญญาแหลมคมจัด ละทิ้งความเห็นผิดในกาม แล้วจึงจะวางจิตได้ เช่น พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาธาตุ ๔ พิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ เพ่งพินิจ โดยความเป็นธาตุโดยความเป็นอายตนะและโดยความเป็นปฏิจจสมุปบาท พิจารณาโดยแยบคายให้เห็นว่า ร่างกายกำลังเน่าเปื่อย กำลังไหวเคลื่อนอยู่เป็นนิจ ร่างกายมีการเกิดดับอยู่เสมอ ร่างกายเต็มไปด้วยหลุม อุจจาระปัสสาวะ ร่างกายมีนํ้าเน่ามีของเสียไหลออกมาตลอดเวลา ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (มีบรรยายลักษณะของอนิจจังไว้ ๑๐ ประการ ลักษณะทุกข์ ๒๕ ประการ และลักษณะอนัตตา ๕ประการ รวมเป็น ๔๐ ประการ บางแห่งเรียกว่า โต ๔๐)

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ หน้า ๒๕๓ กล่าวถึงพระอานนท์ทำความเพียรตลอดคืน ใช้เวลาส่วนมากในการพิจารณากาย ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ยึดมั่นเป็นพระอรหันต์ไปสู่ที่ประชุมทำสังคายนาในตอนเช้า

มีพระพุทธพจน์กล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่ามิจฉาทิฏฐิ”

มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ให้ผลในทางชั่วทางบาป ทำให้ตกต่ำ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ มีใจความว่า “เพราะยึดมั่นในรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ” จึงควรที่จะหมั่นพิจารณาให้เห็นรูปกายตามความเป็นจริงให้เห็นชัดแจ้งด้วยสมาธิ ด้วยญาณ ให้จงได้ รูปไม่มี คือก้าวล่วงรูป เพิกถอนรูปได้ด้วยเหตุ ๒ คือ การพิจารณาและโดยเจริญอรูปฌาน ๔ อย่าง

จากพระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ อานันทสูตร ที่ ๔ มีใจความว่า พระวังคีสะ บวชใหม่ๆ มีความกระสันเกิดขึ้น ความกำหนัดยินดีรบกวน เพราะเห็นหญิงแต่งตัวสวยงามหลายคนเที่ยวเดินดูกุฏิพระในวันก่อน ขอให้พระอานนท์บอกวิธีดับราคะ พระอานนท์กล่าวว่า “จิตของท่านรุ่มร้อนเพราะสัญญาวิปลาส ท่านจงละเว้นนิมิตอันสวยงามอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะเสีย ท่านจงเห็นสังขารทั้งหลายโดยความปรวนแปร โดยความเป็นทุกข์ และ
อย่าเห็นโดยความเป็นตัวตน    เจริญอสุภะกัมมัฏฐานให้เป็นจิตมีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นด้วยดีเถิด ท่านจงมีกายคตาสติ ท่านจงเป็นผู้มากด้วยความหน่าย ไม่ติดในกามย่อมกำจัดความกระวนกระวายใจเสียได้” ต่อมาไม่นานพระวังคีสะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระอาจารย์วัน อ. สว่างแดนดิน จ. สกลนคร ให้อุบายในการฝึกจิตสั้นๆ ว่า “เมื่อฝึกไม่ได้ผลก็ให้ปลอบใจ เมื่อปลอบใจแล้วก็ไม่ได้ผลอีกให้ใช้วิธีขู่”

กามคุณ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ มหาทุกขกขันธสูตร มีใจความว่า “กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ที่น่าปรารถนาน่าพอใจน่ารักประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ความสุข ความโสมนัส ที่บังเกิดเพราะอาศัยความงามความเปล่งปลั่งนี้เป็นคุณของรูป”

การเห็นคุณของรูปดังกล่าวเป็นการเห็นผิดจากความเป็นจริง เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ตรงตามพระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ มีใจความว่า “เพราะยึดมั่นในรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ” จึงควรที่จะหมั่นพิจารณาให้เห็นรูป ตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งที่สกปรกน่ารังเกียจน่าสะอิดสะเอียน

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ อลคัททูปมสูตร กล่าวว่า “โทษแห่งกาม เปรียบด้วยงูพิษ”

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ นิวาปสูตร กล่าวว่า “กามคุณคือเหยื่อที่ทำให้สัตว์มัวเมา”

มิจฉาทิฏฐิมีโทษร้ายแรงและให้โทษยาวนานไปได้หลายชาติจนกว่าจะมีความเห็นถูกต้อง พระพุทธองค์ จึงทรงกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่ามิจฉาทิฏฐิ”

อนัตตริยกรรม หรือ กรรมหนัก ๕ อย่าง ได้แก่ การฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าบิดามารดา เป็นต้น ล้วนให้ผลตกนรกในชาติถัดไป รับโทษหมดแล้วก็เป็นอันหมดไป แต่มิจฉาทิฏฐิให้ผลมาก ให้ผลยาวนาน และให้ผลแก่คนจำนวนมากมาย มีแต่พระอริยคือจากพระโสดาถึงพระอรหันต์เท่านั้นที่ละความยึดมั่นในรูปดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ มีใจความว่า “เพราะยึดมั่นรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ” ก็ เกศา โลมา นขา ทันตา” ที่หลงชอบใจอยู่ติดใจอยู่นั้นก็ล้วนเป็นซากศพ ตามที่อธิบายในเรื่องพิจารณากายและที่หลงใหลชอบใจมากนั้น พระอาจารย์ผู้มีสมาธิสูงหลายท่านสอนว่า “หนัง” เป็นสิ่งให้ชอบใจติดใจมากที่สุด ทั้งๆ ที่หนังก็คือซากศพที่ทยอยปลิวออกไปในอากาศตลอดเวลา เพราะถูกตัวชีวิตที่ตายทยอยดันออกมา ที่เห็นผิวหนังอยู่นั้นก็เห็นอยู่เดี๋ยวเดียวก็ปลิวไปในอากาศ เห็นแล้วชอบใจถูกใจและเห็นว่าสวยงามนั่นแหละคือความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิพิจารณาให้ดีให้รอบคอบจะได้รู้ตัวว่าเราเห็นผิด เห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง รายละเอียดในการพิจารณากาย ให้เห็นตามความเป็นจริงให้เห็นเป็นไม่งาม เต็มไปด้วยซากศพนั้นได้อธิบายไว้โดยละเอียดในหนังสือยอด อัศจรรย์และธุดงค์ เมื่อฝึกสมาธิมากขึ้น พิจารณามากขึ้น ก็ถึงขั้น “เห็นสักว่าเห็น” เห็นโดยไม่มีความหมาย เห็นเป็นกลาง ไม่เห็นว่างาม ไม่เห็นว่าสวย ไม่เห็นว่าสกปรก น่าเกลียด ถ้าเห็นว่างามก็เกิดชอบใจ นั้นคือเกิดโลภะหรือราคะ ถ้าเห็นว่าสกปรกน่ารังเกียจไม่ชอบใจก็เป็นโทสะ ที่เกิดโลภะโทสะขึ้นได้ก็เพราะมีโมหะคือความไม่รู้ (อวิชชา) ไม่รู้ความจริง หรือโง่นั่นเอง จึงยึดมั่นรูปหรือเกิดมิจฉาทิฏฐินั่นเอง พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ จึงกล่าวว่า “เพราะยึดมั่นรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ’’ มิจฉาทิฏฐิ ให้โทษร้ายแรงจึงทรงกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่ามิจฉาทิฏฐิ”

จงตรวจสอบตนเอง เมื่อเห็นกายของคนยังมี การชอบใจ เห็นว่างามน่ารัก เห็นรูปคนที่แบนอยู่ในกระดาษก็สร้างในใจ เห็นเป็นทรวดทรงน่าดู นั่นคือ สอบตกเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ในคำสอนและบทสวดมนต์ใจความว่า “รูปกาย เรานี้เป็นเพียงธาตุ ๔ มาประชุมกันขึ้นไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา” ให้ล่วงพ้นรูปกายไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในรูป ให้มีความเบื่อหน่ายในรูปเห็นรูปตามความเป็นจริง คือ เกิดความเห็นถูกเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) อันจะทำให้เกิดผลตามแนวของพระธรรมที่กล่าวไว้เป็นคำถามคำตอบ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๙๑ มีใจความดังนี้

ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) มีประโยชน์อย่างไร ? มีประโยชน์ทำให้เบื่อหน่าย

ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร ? มีประโยชย์ ทำให้คลายกำหนัด (อันทำให้มีจิตน้อมไปเพื่อความดับทุกข์คือนิพพาน)

ความคลายกำหนัดมีประโยชน์อย่างไร ? มีประโยชน์ทำให้หลุดพ้น (หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงที่ เรียกว่า “วิมุตติ”)

ความหลุดพ้นมีประโยชน์อะไร ? มีประโยชน์ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน

นิพพานเล่ามีประโยชน์อย่างไร ? เธอไม่อาจเพื่อเอาที่สุดของปัญหาได้ (ซึ่งหมายถึงนิพพานนั้นละเอียดอ่อน รู้ได้เฉพาะตนและผู้มีฌานอันประเสริฐ จะหยั่งรู้ได้)

ในเรื่องไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นอะไรแน่ ในอริยสัจ ๔ มี ใจความตอนหนึ่งว่า กล่าวโดยย่อทุกข์ทั้งปวงเกิดจาก อุปาทานขันธ์ ๕ (ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ในพระไตรปิฎก เล่ม ๖ หน้า ๒๔ มีกล่าวว่า “อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์” ในพระไตรปิฎกและในบทสวดมนต์แปล มีใจความใน ธชัคคะสูตร ความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิดความกลัวจะไม่พึงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิด ความกลัวจะไม่พึงมีแก่ท่าน     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายมาระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่อย่างนี้ ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าจักไม่มีแล” นี่ก็หมายถึงให้ยึดมั่นถือมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เชื่อมั่นจึงจะได้รับผลดี ไม่ถือมั่น ก็ย่อมไม่ได้ผล พระหรือของขลัง คาถา อาคม ถ้าไม่ถือมั่นก็ไม่เกิดผลดี ถึงคราวจะต้องยึดมั่น ถือมั่นก็ต้องยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ยึดติด หรือหลงใหล ธรรมมะมีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง ต้องพิจารณาด้วยจิตเป็นสมาธิ ทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ระดับ พระโสดาบันก็ไม่ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ได้โดยเด็ดขาดได้โดยแน่นอน การไม่ยึดมั่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำให้การสอนได้ผลไม่ดีพอ เช่น อนุบุพพีกถาให้สอนตามลำดับจากง่ายไปหายาก คือทาน ศีล เรื่องเทวดา โทษความต่ำทรามของกาม อานิสงส์ในการออกจากกาม แล้วจึงสอนอริยสัจ ๔ พระพุทธองค์ ก็ทรงสอนเช่นนี้แต่ในสมัยใหม่ไม่สามารถทำให้เชื่อเรื่องเทวดาและโทษของกามทั้งหลาย จึงได้หลงติดไม่กลัวบาปกรรม สอนวิปัสสนาไม่ทำตามขั้นในมหาสติปัฏฐานสูตรโดยสอนข้าม ส่วนมากจะข้าม ๒ ข้อ คือ หายใจ (ระงับกายสังขาร) และให้เห็นการเกิดดับของรูปก่อน จะพิจารณานาม

ได้กล่าวมาแล้วว่า พิจารณาความตายก็เห็นอสุภะไปด้วยคือเห็นความสกปรก ไม่สะอาดไปด้วย บางแห่งก็เรียกรวมว่า พิจารณากาย หรือการเจริญกายคตาสติ อันเป็นเหตุให้ละความพอใจในรูปและยังเป็นเหตุให้เกิด สมาธิวิปัสสนาจนถึงขั้นเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ คือ ถึงนิพพาน ดังมีหลักฐานในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ กายคตาสติสูตร กล่าวว่า “กายคตาสติเจริญให้มากอยู่เนืองๆ ด้วยความเพียรย่อมทำให้ละความดำริพล่าน เสียได้” มีอานิสงส์ ๑๐ ประการ คือ

๑. กายคตาสติ ทำให้อดทน อดกลั้นต่อความ ยินดีและไม่ยินดีได้
๒. อดกลั้น อดทนต่อภัยและความหวาดกลัวได้
๓. อดทนต่อความหนาวร้อน ความหิว และอดทนต่อเหลือบยุงได้ ฯ
๔. ได้ฌาน ๔ ไม่ยาก ไม่ลำบาก
๕. กายคตาสติ ทำให้แสดงฤทธิ์ได้อเนกประการ
๖. มีหูทิพย์
๗. รู้ใจสัตว์หรือบุคคลอื่นได้
๘. ระลึกชาติได้
๙. มองเห็นหมู่สัตว์กำลังเกิดและดับ
๑๐. กายคตาสติทำให้เข้าใจถึงเจโตวิมุตติและ ปัญญาวิมุตติ (คือเข้าถึงนิพพาน)

พิจารณากาย หรือพิจารณาความตายและอสุภะ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นธัมมะที่ต้องพิจารณาเนืองนิจ ทุกลมหายใจเข้าออก

พระพุทธเจ้าเคยทรงยืนยันกับพระสารีบุตรว่า “ตถาคตให้เวลาล่วงไปด้วยสุญญตาวิหาร” ซึ่งหมายความว่า ทำจิตให้อยู่ในความว่าง (ว่างจากตัวตน)ตลอดเวลาเป็นคำสอนเน้นว่าต้องมีธรรมมะประจำจิต อยู่ตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งพระโมคคัลลาถามพระสารีบุตรว่า“อาวุโส วันนี้ผิวกายของท่านผ่องใสนัก ท่านอยู่ในธรรมวิหารใด” พระสารีบุตรตอบว่า “อาวุโส เราอยู่ในวิหาร กายคตาสติ” “ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา” นอกจากมีการสนใจตั้งใจฟัง ฟังด้วยความเคารพ ฟังด้วยความศรัทธา แล้วเรื่องที่อ่านที่ฟังต้องถูกต้องครบถ้วนตรงตามความเป็นจริงด้วยจึงเกิดปัญญาขั้นต้น (รู้จริง) ถ้าพิจารณาไปด้วยก็ได้ปัญญา ขั้นเห็นจริง ถ้าฟังด้วยพิจารณาด้วย และทำสมาธิด้วย จึงจะได้ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง ตามขั้นของสมาธิ เช่น การเกิดดับของรูปกาย ก็ต้องรู้ตามความจริงว่าตัวชีวิต (เซลล์) ในกายเกิดตายทุกขณะจิตจึงนับว่าตรงตามความเป็นจริง รู้จริง แล้วจึงพิจารณาให้เห็นจริง และทำสมาธิพิจารณา จึงเห็นแจ้ง

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลได้รับทุกข์เดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ อย่าประมาท จงละความพอใจในรูปเสีย”

การพิจารณากายให้ได้ผลดี ให้ได้ผลเร็วก็ต้อง นำธรรมมะข้ออื่นมาประกอบการพิจารณา เช่น นำหัวข้อธรรมมะที่พระพุทธองค์กล่าวไว้เกี่ยวกับกาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าทรงสอนว่า กายเรากำลังเน่าเปื่อยทุกขณะ กายเราเต็มไปด้วยหลุมฝังศพ กายเต็มไปด้วยขี้เยี่ยว กายเต็มไปด้วยของสกปรก ทุกจุดในร่างกายมีการไหวเคลื่อนตลอดเวลา กายเต็มไปด้วยแผลเน่า ร่างกายมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอก กายมีการแตกสลาย ปลิวพลัดพรากออกไปตลอดเวลา ซึ่งได้อธิบายละเอียดเป็นข้อๆ ไว้แล้ว ตลอดถึงกายเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา นั้นอย่างไร การพิจารณากายมีผลประโยชน์คือมีอานิสงส์ถึง ๑๐ ประการ และยังเป็นธรรมะที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกให้รู้จริง เห็นจริงและเห็นแจ้งขึ้นโดยลำดับ พระอาจารย์ผู้มีสมาธิสูงหลายท่านจึงพูดเน้นพูดยํ้าให้พิจารณากายเสียก่อน ดังคำสอนของพระอาจารย์มั่นว่า “กายเป็นเครื่องก่อเหตุ ตาเห็นรูป ทำให้ใจกำเริบ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ ทำใจให้สงบได้ พึงทำให้มาก พิจารณาไม่ถอยทีเดียว    ”

อาจินไตย ๔ (สิ่งที่ไม่ควรคิด)
๑. วิสัยแห่งพระพุทธเจ้า
๒. วิสัยแห่งฌาน หรือวิสัยของผู้เข้าฌาน
๓. ผลแห่งกรรม
๔. ความคิดของชาวโลก
๕. อย่างนี้ไม่ควรคิด เพราะถ้าครุ่นคิดเข้าต้องกลายเป็นคนบ้าคลั่ง
(จาก สารัตถทีปนี ภาค ๑ หน้า ๑๔๐)

สิ่งที่ควรคิด
๑. ตนเองก็มีทุกข์ มีแก่เจ็บตาย ยังจะแสวงหาสิ่งที่แก่เจ็บตาย มีทุกข์มีโลภโกรธหลง ผนวกเข้ามาอีก ได้โอกาสก็จะถูกโลภโกรธหลงแสดงออกให้ทุกข์หนักขึ้นอีก
๒. ผิวหนังที่โปร่งพรุน มีของโสโครกไหลออกตลอด เวลาที่หลงรักหลงชอบเป็นเพราะ ตาหูจมูกของเราไม่ดีพอ จึงไม่เห็นเหมือนตาหูจมูกที่เป็นทิพย์ สู้กล้องขยายหรือตาแร้งจมูกมดก็ไม่ได้ จึงเห็นผิดเพี้ยนไป

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

แก่นคำสอนของอาจารย์ผู้มีสมาธิสูง

อาจารย์มั่น

ธรรมในพระพุทธศาสนาละเอียดอ่อนลึกซึ้งมาก บุคคลทั่วไปจะเข้าใจแจ่มชัดหรือรู้เห็นชัดแจ้งได้ ก็ต่อเมื่อฝึกจิตให้มีปัญญามากพอ ปัญญาจะมากเพียงใดก็อยู่ที่สมาธิจะดีเพียงใดตรงกับพระธรรมที่ว่าสมาธิเป็น เหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ปัญญาน้อยก็เข้าใจพระธรรมน้อย เป็นแต่เพียงการจำได้ต่อเมื่อสมาธิดีขึ้นจึงเข้าใจชัดขึ้นโดยลำดับ พระอาจารย์มั่นสอนว่า มนุษย์มีกายสมบัติ วจีสมบัติ และมโนสมบัติ จะสร้างสมบัติภายนอกคือ ทรัพย์สินเงินทองก็ได้ จะสร้างสมบัติภายในคือมรรคผล นิพพานธรรมวิเศษก็ได้ ไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนมีวาสนาน้อย เมื่อทำกุศลคือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา บางพวกทำน้อยก็ไปสู่สวรรค์ บางพวกขยันและทำจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีหนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัย…. กายเป็นเครื่องก่อเหตุ
(ตาเห็นรูปทำให้ใจกำเริบ) จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อนจะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้พึงทำให้มาก พิจารณาไม่ถอยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏส่วนไหนของกายก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น

อุบายแห่งวิปัสสนา คือ ก้าวเข้าสงบจิต (เจริญสมถะ) แล้วถอยออกจากสมาธิมาพิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียวหรือสงบจิตอย่างเดียว     ให้มีสติพิจารณาในที่ทุกสถาน ทุกกาล ทุกเมื่อ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน ทำ พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอ แล้วพิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนหรือกระจายเป็นธาตุดินนํ้าลมไฟให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ……ถ้าใครกลัวตายเพราะความเด็ดเดี่ยวพากเพียร ผู้นั้นจะต้องกลับมาตายอีกหลายภพหลายชาติ กลับหลังมาหาทุกข์อีก ท่านเอง (อาจารย์มั่น) ทำความเพียรสลบไปถึง ๓ หน เพราะความเพียรกล้าเวทนาทับถมยังไม่เห็นตาย นี่ทำความเพียรยังไม่ถึงขั้นสลบไสลเลยทำไมจึงกลัวตายกันนักหนาเล่า    ผู้เคยกลัวผีก็หายกลัวด้วยวิธีฝืนใจเข้าไปเยี่ยมป่าช้า ผู้เคยกลัวสัตว์ร้ายมีเสือ เป็นต้น ก็หายกลัวด้วยวิธีฝืนใจไปอยู่ที่เปลี่ยวอันเป็นที่น่ากลัว ผู้เห็นแก่ปากท้องชอบโลเลในอาหารปัจจัยก็บรรเทาหรือหายเสียได้ด้วยการผ่อนอาหารหรือลดอาหาร (ตามกำลังที่จะทำได้) อาหารบางชนิดเป็นคุณต่อร่างกาย แต่กลับเป็นภัยแก่จิตใจ ก็พยายามตัดต้นเหตุ    คนหัวดื้อต้องมีสิ่งที่แข็งๆ คอยคัดบาง จึงจะอ่อน เช่น เสือ เป็นต้น พอเป็นคู่ทรมานกันได้ คนกลัวเสือก็ต้องเอาเสือเป็นครูดีกว่าอาจารย์ที่ตนไม่กลัว กลัวผีก็ควรเอาผีเป็นครูคู่ทรมาน สิ่งที่แข็งๆ ช่วยให้ได้สมาธิขั้นสูงได้เร็วนั้น ผู้เขียนรู้และพบเห็นมาก มี ๔ อย่าง คือ

ประการแรก พบเสือในป่ารู้ดีว่าถ้าหนีตายแน่ๆ ถ้านั่งสมาธิปล่อยวางหมดก็จะรอด ส่วนมากเมื่อพบเสือก็ลงนั่งสมาธิ ไม่ยอมลืมตา สมาธิถอยก็เข้าใหม่ซํ้าซาก ตัวอย่างพบเสือแล้วนั่งสมาธิประมาณตอน ๔ ทุ่ม ไป หยุดทำสมาธิจนรุ่งขึ้นประมาณ ๓ โมงเช้า จึงออกจากสมาธิ นี่แหละคือการทำเป็นวะสี และได้สมาธิขั้นสูง

ประการที่ ๒ ตายแล้วฟื้น ป่วยจวนตายก็เกิดการปล่อยวาง ได้สมาธิขั้นกลางขั้นสูง ก็มีตัวอย่างหลายท่าน

ประการที่ ๓ ตายหรือสลบแล้วฟื้น ตอนสลบไปนั้นมีวิญญาณหรือเทวดามาสอนวิชาให้ได้สมาธิดี เมื่อฟื้นก็กลายเป็นหมอดูหมอนวด เป็นผู้ได้ไปเห็นนรกสวรรค์ ได้สมาธิดีเปลี่ยนแปลงนิสสัยใจคอไปจากเดิมมาก

ประการที่ ๔ ได้แก่ท่านผู้หลงติดอยู่ในถํ้าลึก หาทางออกไม่ได้ ก็นั่งสมาธิให้ตายกลับได้แสงสว่างออกจากถํ้าได้ บางท่านอดอาหารก็ได้สมาธิดี

พระอาจารย์มั่นว่า นักปฏิบัติทำไมจึงกลัวตายนัก ยิ่งกว่าฆราวาสที่ไม่เคยได้รับการอบรมมา ทำไมปล่อยใจให้กิเลสย่ำยีหลอกหลอน จนกลายเป็นสิ้นคิดไปได้ไม่นำสติปัญญาออกมาใช้เพื่อขับไล่กิเลสอันต้มตุ๋นที่ซ่องสุมอยู่ในหัวใจ…..ธุดงค์เป็นคุณธรรมที่สูงอย่างลึกลับ ยาก
ที่เราจะทราบได้ตามความจริงของธุดงค์แต่ละข้อ (จะรู้เห็นได้เมื่อปฏิบัติจริงจังเด็ดเดี่ยว)

พระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี สอนว่า สมาธิขั้นต้นให้พิจารณากายเสียก่อน ส่วนเวทนา และจิตพิจารณาโดยใช้สมาธิขั้นกลางหรือขั้นสูงประกอบกัน สำหรับตัวท่าน (พระมหาบัว) เมื่อสมาธิติดขัดก้าวขึ้นไปไม่ได้ก็ใช้การผ่อนอาหารให้น้อยลงนับว่าได้ผลดีทุกครั้ง

พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนเป็นเรื่องที่ดีที่ถูกทั้งนั้น การฝึกสมาธิทรงสอนสมถะวิธีให้ ๔๐ วิธี ก็ล้วนดีและถูกทั้งนั้น จะฝึกวิธีใดจึงได้ผลดีก็จะต้องพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับจริตนิสสัยของตน พระอาจารย์หลวงปูหล้า ภูก้อจ้อ อ. คำชะอี มุกดาหาร สอนว่า “กัมมัฏฐานแต่ละอย่าง แต่ละอย่างส่งต่อถึงพระนิพพานได้ทั้งนั้น และต้องขึ้นอยู่กับปัญญาสัมปยุต เพราะไม่ได้กล่าวตู่ว่า กัมมัฏฐานนั้นนี้ต่ำสูง ต่ำหรือสูงขึ้นอยู่กับปัญญาเป็นนายหน้า…เห็นไตรลักษณ์ นั้น
เห็นกลมกลืนกันในขณะเดียว คล้ายเชือกสามเกลียว ไม่บัญญัติว่าอยู่คนละขณะ มีผู้เข้าใจผิดว่า สมถะไปถึงนิพพานไม่ได้ นั้นเป็นสมาธิแบบโยคี ที่ยึดติดในอัตตา ไม่ใช่สมถะแบบพุทธะ

พระอาจารย์ในดงลึกฝึกให้ไม่กลัวตาย เมื่อไม่กลัวตายเสียอย่างเดียว ความกลัวอย่างอื่นๆ ก็ไม่กลัวทั้งนั้น

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สอนว่า เราเป็นผู้ติด และเป็นผู้แพ้ต่อมาร คือจิตสังขารมาเป็นเวลายาวนาน เบนห่างไปจากบุญ คือ ทาน ศีล และภาวนา ถึงเวลาแล้วที่จะรวมกำลังจิตผู้รู้ให้เต็มที่ฮึดขึ้นสู้ฮึดขึ้นผละออก จากสิ่งที่ติดข้องอยู่ทั้งปวงเสียที ใครเล่าจะรู้ว่าพรุ่งนี้เป็นวันตาย….วิธีดับบาปดับกรรม ดับความชั่วทั้งหลาย ดับภัยดับเวร จะล้างบาปล้างกรรม ล้างภัยล้างเวรทั้งหลายนั้นไม่มีวิธีอื่นนอกจากเรานั่งสมาธิ เมื่อ นั่งสมาธิจนจิตเป็นหนึ่งแล้ว เป็นจิตอันเดียวแล้ว บาปกรรมทั้งหลาย มันก็ไม่มี ภัยเวรทั้งหลายมันไม่มี ความชั่วทั้งหลายมันก็ไม่มี มีแต่ความสุขนะซิ …..สุขเพราะเหตุใด สุขเพราะใจสงบ ทุกข์เพราะเหตุใด เพราะเหตุใจไม่สงบ มันไปก่อกรรมก่อเวรไม่หมดสักที กรรมเก่าก็ไม่หมดกรรมใหม่ก็เติมเรื่อยไป มันจะหมดสักทีเรอะ ฯ

อาจารย์ ก. เขาสวนหลวง ราชบุรี สอนว่า เราผ่อนตามความสุขเวทนา หลงรสอร่อยของสุขเวทนานั้น ขั้นสัมผัสก็มากแล้ว ขั้นเนื้อหนังรูปธรรมนามธรรมที่เป็นความรู้สึกขึ้นมาก็ยังหลงอีก มันหลงหลายซับหลาย
ซ้อนพัวพันอยู่อย่างเหนียวแน่น ….สัญญา (ความจำ)ก่อเรื่องอยู่อย่างลึกสับ แล้วก็ปรุงต่อไปอีก……เราต้องศึกษาเข้าข้างใน ไม่ใช่ศึกษาตัวหนังสือหรือคำพูด เป็นการศึกษาเรื่องจิตล้วนๆ ขณะที่ทรงตัวเป็นปกติหรืออยู่ในความว่าง เป็นความว่างที่ไม่เกี่ยวเกาะ….ทำอย่างไรจิตจึงจะไม่เกี่ยวเกาะ ไม่เพลิดเพลินไปกับอารมณ์กับความปรุง ไม่เพลินไปกับความนึกคิดที่เหลวไหลไร้ประโยชน์ ? ต้องมีสิ่งที่ให้จิตกำหนดรู้ฝึกขั้นต้น กำหนดรู้กาย หรือลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นหลัก
จับลิงคือจิตผูกไว้กับสติกับลม….การกำหนดลมนี้ต้องทำติตต่อทุกลมหายใจเข้าออกทุกอริยาบถ เผลอไปก็กลับมารู้ใหม่ไม่ว่าจะทำอะไร      พอรู้เห็นอย่างไร แม้จะเป็นความเห็นถูกต้องก็ยังเป็นอันตรายถ้าไปยึดถือ ที่ไปยึดถือความเห็นถูกความเห็นผิดเหล่านี้ ก็เกิดมาจากความยืดถือตัวตน…..การผลัดเปลี่ยนอิริยาบทให้พอเหมาะพอดีช่วยให้จิตปกติหรือมีความสงบ การออกกำลังกายก็จำเป็น….สงบระงับมากเกินไปก็ถอนหายใจยาวๆ แรงๆ เป็นการปลุกให้ใจตื่นตัวขึ้นมา      เครื่องตื่นของจิต อาจตื่นอยู่ด้วยสติ ตื่นอยู่ด้วยความรู้และอย่างสูง ตื่นอยู่ด้วยฌานความรู้แจ้ง…..ความชั่วมันมีเสน่ห์ในตัวมัน ทำให้ติดใจ อยากอะไร คิดอะไร สับสนอลหม่านไปหมด….หมั่นพิจารณาถึงความตายความเสื่อมสิ้นไปทุกลมหายใจเข้าออก  มันจึงจะหดกลับไม่ยื่นไปเอาอะไร…..พิจารณากายให้เห็นเป็นธาตุไม่ใช่ตัวตน รู้จริงด้วยจิต จะต้องมีความกลัวความเบื่อหน่าย ความสลด สังเวช จึงเรียกว่า รู้จริง ยิ่งรู้มากยิ่งสงบเสงี่ยมเจียมตัว นั่นแหละคือธรรมะ

ลองหันกลับไปดูการปฏิบัติของสายพระอาจารย์ มั่น มีตารางปฏิบัติประจำวันจะเหมือนคำสอนของพระอาจารย์ในดง คือนั่งสมาธิไม่เกินวันละ ๓ ครั้ง ครั้งหนึ่งเว้นระยะห่างกันเกิน ๓ ชั่วโมง สมาธิขั้นต้นต้อง พิจารณากายให้จบทุกขั้นตอนก่อน การพิจารณาจิตคือ เวทนาเป็นต้น พิจารณาเมื่อได้สมาธิขั้นกลางเสียก่อน ใช้สมาธิขั้นกลางอย่างเดียว หรือใช้ทั้งสมาธิขั้นกลางและขั้นสูง ประกอบกันพิจารณาเวทนาและจิต (ดูคำสอนของพระอาจารย์มั่นและคำสอนของพระอาจารย์มหาบัว) สายพระอาจารย์มั่นเดินธุดงค์กันมาก ดูการปฏิบัติก็คล้ายอาจารย์ในดงลึก จึงน่าจะได้พบพระอาจารย์ในดง และเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ในดงตามข่าวที่ทราบมา

สำหรับการเดินจงกรม พระอาจารย์ในดงมีทำทางเดินจงกรมขึ้นน้อยแห่ง มักจะพาเดินในป่าตามธรรมชาติและการฝึกที่หนักไปทางวิปัสสนาในดงก็สอน ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน สิงห์บุรี เดิมท่านฝึกแบบอานาปานสติ (สมถะ) ครั้นอายุ ๔๕ ปี ไปเรียนกับหลวงปูโลกอุดร ที่เขาใหญ่ เปลี่ยนจาก อานาปานสติ มาฝึกแบบ “ยุบหนอพองหนอ” เรียนจบฌาน ใน ๓ เดือนท่านก็ปิดเรื่องไปเรียนกับใครที่ไหนตามอาจารย์อื่นๆ ปฏิบัติ แต่ล่วงมา ๒๐ ปี ท่านจึงเปิดเผยว่าไป เรียนที่ไหน จะเห็นว่า พระอาจารย์ในดงก็สอนทั้งแบบสมถะ (หนักไปทางสมาธิถึงฌานแล้วจึงหนักไปทางวิปัสสนา) และสอนทั้งแบบวิปัสสนา คือสมาธิพอประมาณ หนักไปทางวิปัสสนา พิจารณาให้ดีฝึกสมาธิ พอประมาณนั้นอย่างน้อยก็จบอุปจาระสมาธิ (สมาธิขั้นกลาง) ก่อน จึงจะเริ่มฝึกหนักไปทางวิปัสสนา นี่เป็นคำตอบพระอาจารย์พุทธทาสเมื่อผู้เขียนถามว่า จะฝึกสมาธิถึงขั้นใดจึงจะเริ่มฝึกวิปัสสนา (ฝึกหนักไปทางวิปัสสนา) ได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด (ไม่เป็นวิปัสสนึก)

กล่าวโดยสรุป จะให้ฝึกได้จบสมาธิขั้นกลาง ภายใน ๓ เดือน ต้องฝึกตาม “หลักสำคัญในการฝึก จิต” ของพระอาจารย์ในดง ๗ ประการ และหลักสูตรการฝึกสมาธิในดง ๕ ข้อ ซึ่งเป็นหลักสูตรโดยย่อ ทั้งต้องพิจารณาความตายและอสุภะทุกลมหายใจเข้าออก คือตลอดเวลา ส่วนการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และการแผ่เมตตาในบางเวลาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เรื่องสำคัญมากที่จะช่วยให้ควบคุมการปฏิบัติก็คือ มีตารางกำหนดข้อปฏิบัติประจำวันซึ่งเรียกว่า ข้อวัตรปฏิบัติ หรือ กิจประจำวัน บอกเวลาใดทำอะไรบ้างในรอบหนึ่งวันตามตัวอย่างกิจประจำวันของพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ฝั้น ที่กล่าวแล้ว การที่กล้ากล่าวว่า ปฏิบัติดังกล่าวจะได้ผลจบสมาธิขั้นกลางนั้นเป็นด้วย ผู้เขียนเองได้ปฏิบัติได้ผลจริงมาแล้ว ทั้งๆ ที่ปฏิบัติบกพร่องย่อหย่อนไปบ้าง แต่ที่สำคัญคือสถานที่ฝึกจะต้องเป็นป่าเขาที่สงบสงัดไกลหมู่บ้าน อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ หลวงพ่อจรัญฝึกเพียง ๓ เดือนก็จบฌาน ซึ่งเป็น หลักสูตรที่ฝึก ๓ ปี บุญบารมีได้เกิดเป็นคน ก็มีสมาธิขั้นต้นโดยกำเนิดแล้ว และสามารถที่จะเรียนรู้ในการทำสมาธิให้ถูกต้องและสามารถวัดสมาธิด้วยตนเองว่า ได้สมาธิขั้นใดระดับใดแล้ว จะฝึกให้ดีขึ้นทำอย่างไรต่อไป ในด้านการใช้พลังคุณพระพลังจิตก็สามารถเรียนรู้การส่งพลังจิตออกไปดับพิษน้ำร้อนหรือนํ้ามันกำลังเดือดให้คนเอามือล้วงได้ ตักกินได้ในขณะกำลังเดือด หรือกอบโซ่ที่เผาไฟจนแดงขึ้นได้ เมื่อส่งพลังออกได้ดังนี้แล้ว ก็เรียนรู้และสามารถรักษาโรคที่ฝรั่งรักษาไม่ได้ไม่ มียารักษาหลายอย่างก็รักษาได้ผลดีได้ผลเร็ว เช่น สามารถรักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็ง วัณโรคที่ดื้อยาบางประเภท โรคเบาหวาน โรคหืด โรคไซนัส โรคพิษสุนัขบ้า ที่มีอาการแล้ว โรคทอนซิลอักเสบ โรคไวรัสบี โรคเรื้อนกวางที่เล็บที่ขาชนิดแห้ง โรคต่อมลูกหมากโต โรคนิ่วฯลฯ เป็นต้น ตั้งแต่การฝึกสมาธิถูกต้องวัดสมาธิได้เองจนถึงรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีได้ผลเร็วที่กล่าวมาแล้วนี้สอนให้ทำได้จริงภายใน ๑ วัน (หนึ่งวัน) ที่กล้ายืนยันดังนี้ก็เพราะได้สอนติดต่อมากว่า ๓๕ ปี แล้ว ได้ผลให้เรียนรู้ได้ ทำได้ในหนึ่งวันตลอดมา ส่วนการรักษาโรคต่างๆ ก็ได้ ทำจริงรักษาได้จริงมากว่า ๔๐ ปี แล้ว ความรู้เกือบทั้งหมดพระอาจารย์ผู้เป็นศิษย์ในดงเป็นผู้สอน (ศิษย์ ในดงหมายถึงผู้มีบุญที่จะฝึกจนถึงเหาะได้ ล่องหนหายตัวได้)

ที่มา:ชม สุคันธรัต

วิธีฝึกสมาธิวิปัสสนาให้ได้ผลดีได้ผลเร็ว

สมาธิการฝึกจิตตามคำสอนตามแนวทางของพระอาจารย์ในดงลึก จะทดลองหรือพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และตรงกับพระไตรปิฎกครบถ้วน โดยนำเอาคำสอนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมกันมาปฏิบัติร่วมกัน เพราะคำสอนที่จะให้ได้ผลดีโดยลำดับจากต่ำไปสูงสุด ถึงนิพพานได้แท้จริงนั้นมีธรรม ๓๗ ประการ เรียกว่า “โพธปักขิยธรรม” ซึ่งมี ๗ หมวด เช่น อิทธิบาท ๔ (คุณธรรมช่วยให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง) พละ ๕ (ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง) โพชฌงค์ ๗ (ธรรมเครื่องตรัสรู้) ล้วนนำมาประกอบกันให้ถึงนิพพาน จะได้กล่าวให้เข้าใจง่าย ฝึกได้ผลเร็วดังต่อไปนี้

สมาธิ คือ “การตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว” จึงต้องหาจุดที่ตั้งมั่นของจิตโดยหายใจแรงๆ ดูหลายครั้ง สังเกตดูว่าลมหายใจกระทบที่ตรงไหนไวและแรงกว่า บริเวณใกล้เคียง ถ้าคนจมูกงุ้มลงมาลมกระทบที่ปลาย จมูกก่อน คือกระทบไวกระทบเร็วก่อนที่อื่น กระทบแรงกว่าที่อื่นก็ให้ตั้งจิตคอยรับรู้อยู่ที่ปลายจมูก ถือเป็นที่ตั้งมั่นของจิต ถ้าเป็นคนริมฝีปากบนเชิดขึ้น หายใจแรงๆ ลมจะกระทบไวกระทบแรงที่ริมฝีปากบน ก็ให้ตั้งจิตคอยรับรู้อยู่ที่ริมฝีปากบน คนไทยโดยทั่วไปจมูกไม่งุ้ม ริมฝีปากไม่เชิดขึ้น พระอาจารย์ในดงให้ตั้งจิตตรงรูจมูกทั้ง ๒ ข้าง ไปรวมเป็นรูเดียวกันที่ดั้งจมูก ซึ่งจะสังเกตได้ว่าลมหายใจเข้าไปกระทบที่รูดั้งจมูกซึ่งเป็นรูกลมรูเดียว ถ้าหายใจแรงดูจะกระทบที่รูดั้งจมูก สังเกตดูว่า กระทบไว กระทบแรงที่ส่วนบนส่วนซ้ายหรือขวาหรือกลางๆ ของ ส่วนบน รู้สึกแรงหรือไวที่ใดตรงดั้งจมูกก็ให้ตั้งจิตไว้มั่นตรงนั้น เสมือนเสาเข็มที่ตอกไว้จะเกิดการเห็นภาพคน ภาพสัตว์ภาพต้นไม้ก็ไม่เอาจิตออกไปดูภาพเหล่านั้น จะเกิดการเห็นก็ไม่สนใจ ให้ตั้งจิตมั่นอยู่ที่เดิม ภาพนั้นก็จะหายไปเอง เราไม่มีหน้าที่ไปดู ถ้าจิตย้ายไปดูหรือไปสนใจเข้าสมาธิก็จะถอย เมื่อได้ที่ตั้งของจิตแล้ว ต่อไปให้หา ลมสบาย โดยหายใจยาวขึ้นบ้าง สั้นลงบ้าง หายใจแรงขึ้นบ้าง หายใจเบาลงบ้าง ปรับปรุงดูและสังเกตว่าลมหายใจแบบใดที่สบายที่สุดก็ให้หายใจด้วยลมสบาย ซึ่งเป็นลมหายใจที่ทำให้เกิดสมาธิ ให้จำลมสบายๆ นี้ไว้ เมื่อฝึกสมาธิครั้งหลังก็ให้ใช้ลมหายใจที่สบายนี้

พระพุทธเจ้าสอนว่า “ความสุขสบายเป็นเหตุ ให้เกิดสมาธิ” นั่นคือ สมาธิเกิดขึ้นจากความสบาย เปรียบเหมือนเราไปเดินดูดอกไม้งามมีกลิ่นหอมสีสวยถูกใจ ในบริเวณสวนหลายไร่ล้วนเป็นดอกไม้ที่สวยงามถูกใจ ก็ทำให้เพลิดเพลิน หรือนั่นคือความสบายหรือความสุข จึงชอบใจลืมคิดถึงบ้านเรือนผู้คนหรือสิ่งอื่นๆ ไม่เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่นึกรักชังใคร เพราะเพลินและเป็นสุขอยู่ความพยาบาทก็ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี ความลังเลก็ไม่มี นั่นคือ นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นธรรมกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ก็เบาบางลงมากจึงทำให้เกิดสมาธิที่ดี เพราะตามพระไตรปิฎกเมื่อนิวรณ์หมดก็ได้สมาธิ (ความมั่นคงแน่วแน่) ขั้นสูง คือได้ถึงขั้นฌาน ถ้าสมาธิก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง ความสุขสบายจะเพิ่มมากขึ้นจนถึงฌาน ๔ ก็มีความสุขสูงสุด

ความเพลินความสบายหรือความสุขที่เกิดขึ้น เพราะจัดให้ลมสบายไปได้นั้นจะเกิดความอยากหรือความโลภ จะให้สบายมากขึ้นอีกก็พยายามจัดลมหายใจให้สบายมากขึ้น จึงทำให้สมาธิถอยหรือไม่เป็นสมาธิ เพราะเหตุว่าความโลภเกิดขึ้น โลภจะให้ได้ผลดีเร็วๆ วิธีที่ถูกคือต้องไม่จัดให้ดีขึ้นโดยเจตนา เป็นหน้าที่ของจิต ที่จะจัดให้ลมสบายขึ้น สมาธิดีขึ้นเอง

ขอให้ฟังเหตุผลว่าจิตสามารถจัดให้สมาธิดีขึ้นได้อย่างไร ? เรามีร่างกายคือรูป และมีจิตใจคือนาม กายของเราที่ต้องทำงานอย่างมีระเบียบให้กายดำรงอยู่ได้ เช่น หัวใจต้องเต้นประมาณนาทีละ ๗๒ ครั้ง ถ้าเต้นมากเกินไปเช่นนาทีละ ๑๑๐ ครั้งก็เป็นไข้ เต้นต่ำกว่า ๔๐ ครั้ง ก็เป็นลม ปอดก็ช่วยให้หายใจนาทีหนึ่งประมาณ ๒๐ ครั้ง ตับมีหน้าที่ทำนํ้าย่อยส่งไปย่อยอาหาร การทำงานของอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่กินอาหารย่อยแปลงให้เป็นเลือด เลี้ยงร่างกายและขับถ่ายของเสียออกจากกายนั้น ก็คือ การควบคุมการทำงานภายในกายของจิต จิตหวังดีต่อกาย จิตไม่มีตัวตนแต่เป็นธรรมชาติรู้ จึงรู้ควบคุมกายให้เป็นปกติสุข แต่ตัวกายนั้นต้องการเครื่องแต่งกาย ต้องการอาหารที่อยู่เครื่องนุ่งห่มวิทยุ ทีวี รถยนต์ ฯ จิตก็ทำหน้าที่ช่วยคิดช่วยหา แม้การหาความสุขทางโลกทางธรรมจิตก็ทำหน้าที่ช่วยคิดช่วยหา ในการฝึกสมาธิเพื่อความสุขทางธรรมก็ช่วยเหลือเพื่อให้สมประสงค์ โดยช่วยให้มีการหายใจเบาลงแต่สบายมากขึ้น หายใจน้อยครั้งลงแต่สบายมากขึ้นหรือนั่นคือมีความสุขทางธรรมมากขึ้น เราต้องคล้อยตามจิต ทำตามจิต หรืออนุโลมตามจิตไม่ใช่จัดเอาเองเพราะจะเป็นตัณหาความอยากหรือความโลภ เมื่อคล้อยตามจิตก็จะมีการหายใจเบาลงน้อยครั้งลง แต่มีความสบายมากขึ้น ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนว่าวที่ติดลมแล้ว คือจิตสงบสบาย เมื่อมีลมพัดแรงขึ้นก็หย่อนเชือกว่าวตามลมคล้อยตามลม ว่าวก็ขึ้นสูงขึ้นคล้ายกับสมาธิ หรือความสบายความสุขจะดีขึ้นตามการจัดการช่วยเหลือของจิต ขอให้พิจารณาความลึกซึ้งของการทำงานของจิตที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ

ร่างกายของเราประกอบขึ้นด้วยเซลล์ที่มีชีวิต ซึ่งพระพุทธเจัาเรียกว่า “ชีวิตรูป” คือรูปกายที่มีชีวิต กระดูกเนื้อหนังตับไตอวัยวะต่างๆ ก็ประกอบด้วยเซลล์ ที่ตัวเล็กมากดูด้วยตาไม่เห็นต้องใช้กล้องขยายขนาดใหญ่ จึงจะเห็นได้ เซลล์มีชีวิตจึงต้องกินอาหาร เติบโต สืบพันธุ์ถ่ายออกและตาย เซลล์ทั่วร่างกายมีอยู่ประมาณห้าหมื่นล้านตัว ลองพิจารณาดูลูกหมูและลูกหมา มันมีลูกมากถึง ๑๐ ตัว ก็มีบางตัวโตมาก บางตัวเล็กมาก เพราะกินอาหารหรือนมได้น้อย แย่งสู้เขาไม่ได้ ถ้าจิต ไม่ควบคุมให้เซลล์กินอาหารเท่าๆ กัน แขนข้างหนึ่งก็โตไม่เท่าอีกข้างหนึ่ง ตาข้างหนึ่งก็จะเล็กข้างหนึ่งโต ที่โตได้ส่วนกันก็เพราะจิตเป็นผู้ควบคุม ทั้งห้าหมื่นล้านตัว จิตจึงหวังดีช่วยเหลือกายได้อย่างน่าพิศวง เมื่อเราฝึกสมาธิจิตก็ช่วยปรับลมหายใจให้เบาสบายขึ้นโดยลำดับ เราก็ตามคอยหายใจคล้อยตามจิต เปรียบเหมือนว่าวที่ติดลมแล้ว เมื่อลมแรงขึ้นก็หย่อนตามลมให้ขึ้นสูงไปอีก เราจัดลมหายใจสบายได้แล้วต่อไปจึงต้องคล้อยตามที่จิตจัดให้ไม่ใช่จัดเอง จัดเองจะกลายเป็นความอยากหรือตัณหา สมาธิก็เสียไป นี่เป็นหลักสำคัญมากต้องพิจารณาให้ดี เมื่อสมาธิสูงขึ้นลมหายใจจะเบาจะยาวขึ้น แต่ความสบายความสุขก็มากขึ้น นั่นคือการหายใจจะน้อยครั้งลงในหนึ่งนาที คนธรรมดาหายใจเข้านาทีหนึ่งประมาณ ๒๐ ครั้ง ให้ลองนับการหายใจคนที่หลับแม้กำลัง หลับสนิทมีเสียงกรนก็หายใจเข้าประมาณนาทีละ ๒๐ ครั้ง เท่ากับคนที่ตื่นและนั่งอยู่ แต่พอให้ตั้งใจทำสมาธิ การหายใจเข้าจะลดลง เกือบทุกคนหายใจเข้านาทีละ ๑๒ ครั้ง แต่มีความสบายเพราะจิตเป็นสมาธิ เมื่อทำสมาธิให้ดีขึ้น การหายใจจะเบาและยาวขึ้น แต่สบายมากขึ้น คอยนับการหายใจเข้าว่ากี่ครั้งโดยการดูความกระเพื่อมของหน้าอก แต่เมื่อสมาธิก้าวหน้าดีขึ้นอีกการหายใจเข้า เหลือเพียงนาทีละ ๕ ครั้ง เราจะสังเกตดูไม่เห็นความกระเพื่อม ต้องเอาสำลีเล็กๆ มาจ่อที่จมูกจะเห็นสำลีไหวเข้าเมื่อหายใจเข้า เมื่อสมาธิก้าวหน้าดีขึ้นอีก การหายใจเข้าก็ลดลง จนเหลือหายใจเข้าเพียงนาทีละ ๒ ครั้ง ก็นับว่าได้สมาธิถึงขั้นกลาง หรืออุปจาระสมาธิ จิตจะแยกออกจากกาย จึงทำให้รู้สึกว่าไม่มีกาย มีแต่จิตที่มีสติ รู้ตัวอยู่ หูจึงไม่ได้ยินเสียงรอบๆ ตัว หรือเรียกว่า หูดับ สมาธิขั้นกลางจะละเอียดประณีตขึ้น จนจวนจะเข้าฌาน (สมาธิขั้นสูง) จะพบแสง “โอภาส” เป็นแสงกว้างใหญ่มากปิดบังโลกทั้งโลก กายของเราเองก็ถูกปิดบังหมด แต่ยังรู้ชัดว่ามีแต่จิตนิ่งอยู่กลางแสงโอภาสมีความสุขมาก เพราะนิวรณ์ ๕ เกือบหมดสิ้นแล้ว ใจนึกสงสัยมาก เพราะไม่เห็นมีกาย คิดเอาว่าน่าจะเป็นพระอริยะ ขั้นพระโสดาหรือพระอรหันต์ คนจำนวนมากได้ขั้นนี้แล้วจะหลงผิดเข้าใจผิด เลยทำตัวปฏิบัติตัวผิดไปจากเดิม กินข้าวคนเดียวไม่ยอมให้ผู้อื่นกินด้วยขั้นนี้ต้องระวังมาก ได้เคยสอบถามพระอาจารย์ในดงท่านตอบว่า นั่นคือ แสงโอภาส เมื่อสมาธิดีขึ้นอีกก็ทิ้งแสงโอภาสแล้วก็เข้าสู่ “ฌาน” แสงโอภาสจะไม่เหมือนแสงใดๆ ในโลก ฌานที่ได้นี้ นิวรณ์ ๕ หมดแล้วแต่ยังเป็นฌานโลกีย์ รักษาไว้ไม่ดีก็เสื่อมได้ รายละเอียดยิ่งกว่านี้อ่านได้จากหนังสือ วิทยาศาสตร์ทางใจฉบับเปิดโลก ฉบับส่องโลกและฉบับส่องจักรวาล

สมาธิขั้นกลาง ก็มีความสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง ผู้ที่ตั้งใจฝึกอย่างจริงจังตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะสำเร็จถึงสมาธิขั้นกลางได้ภายใน ๓ เดือน โดยปฏิบัติตาม “หลักสำคัญในการ ฝึกจิต” ซึ่งรวบรวมจากคำสอนของพระอาจารย์ในดงลึก มี ๗ ข้อ

หลักสำคัญในการฝึกจิต ๗ ประการ

๑. หายใจด้วยลมสบาย เดินลมให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เป็นหลักสำคัญช่วยไห้สมาธิก้าวหน้าดีขึ้น ถ้าสมาธิไม่ก้าวหน้าดีขึ้น ยังมีการคิดโน่นคิดนี่ คือมีความฟุ้งซ่านมาแทรกก็ให้พิจารณาถึงความตายและอสุภะ คือ การพิจารณาทางวิปัสสนา เมื่อพิจารณาทางวิปัสสนาพอควรแล้วจิตก็สงบลง จึงเริ่มทำสมาธิต่อไปสลับกันไปดังนี้

๒. การนั่งสมาธิตามแบบนั้น ถ้าจิตสงบบ้าง ฟุ้งซ่านไปบ้าง จิตทรงตัวให้รู้สึกสบายปลอดโปร่งได้เพียงสั้นๆ นั่นคือ ควบคุมจิตให้สงบสุขอยู่ได้ไม่นาน สลับกับความคิดนอกเรื่องไปต่างๆ ดังนี้ให้ฝึกจิตไม่เกิน ๑ ชั่วโมงก็พักเสีย การทนฝึกเกิน ๑ ชั่วโมงไปจะได้ประโยชน์น้อยและมีโทษเจือปนมาก ถ้าจิตสงบสุขดีต่อเนื่องได้นานจึงฝึกเกิน ๑ ชั่วโมงได้ และไม่ควรเลิกฝึก จนกว่าจะเข้าใจ ชำนาญในการเข้าออกจากสมาธิที่ดีนั้น

๓. เมื่อนั่งสมาธิไปครั้งหนึ่งเสร็จแล้วจะต้องพัก ไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง จึงจะเริ่มฝึกครั้งที่ ๒ ได้ และวันหนึ่งหรือในรอบ ๒๔ ชั่วโมง ไม่ควรฝึกเกิน ๓ ครั้ง ถ้ามีเวลาว่างหรือในระยะที่พักการนั่งสมาธินั้น ควรกำหนด และพิจารณาทางวิปัสสนา คือพิจารณาถึงความตายและอสุภะ

๔. การฝึกสมาธิควรนั่งสมาธิติดต่อทุกวัน แม้จะฝึกเพียงวันละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๒๐ หรือ ๓๐ นาที ฝึกทุกวันจะได้ผลดีกว่าฝึกวันละหลายครั้งหรือฝึกครั้งหนึ่งนานๆ แต่ฝึกติดต่อไปบ้าง หยุดฝึกบ้าง เป็นบางวัน หรือหลายวัน เพราะการทำๆ หยุดๆ ก็คือความประมาทนั่นเอง และยังเป็นการขาดสัจจะความจริงจัง เด็ดเดี่ยวด้วย

๕. ฝึกในสถานที่เหมาะและเวลาที่เหมาะ จะได้ผลเร็วกว่าการฝึกในสถานที่หรือเวลาที่ไม่เหมาะ สถานที่เหมาะคือมีความสงบ ไม่มีห่วงกังวลว่าจะมีคน หรือมีอะไรมารบกวน เวลาที่เหมาะสมคือระหว่างจิตใจปลอดโปร่ง ร่างกายสดชื่น ไม่เหนื่อยอ่อน มีหลายอาจารย์ที่ฝึกได้ผลดี ได้ผลเร็ว ด้วยการฝึกสมาธิตอนตี ๓ ทุกวันไม่ให้ขาด เพราะเป็นเวลาที่ท้องว่าง ไม่มีการย่อยอาหาร ร่างกายได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว และมีความเงียบสงบก็นับว่าดี จึงทำให้ฝึกได้ผลก้าวหน้าเร็ว และถ้าเส้นทางติดต่อทางจิตของพระอาจารย์ในดงผ่านมาใกล้จะส่งพลังให้ได้สมาธิดี

๖. เมื่อจิตผ่านความสงบสุขเพลินจนเผลอตัว ลืมกายมารู้สึกมีแต่จิตลอยนิ่งอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีกาย ไม่ได้ยินอะไร ไม่มีทุกสิ่งในโลก เป็นระดับสมาธิขั้นกลาง (อุปจารสมาธิ) ขั้นนี้พยายามดำรงสมาธิไว้ให้นานที่สุด เมื่อสมาธิถอยเข้ามาสู่สมาธิอีกซํ้าซากจนชำนาญในการเข้าออก บางทีต้องทำติดต่อตลอดคืนหรือ ๒ วันเต็ม ห้ามหยุดพักก่อนที่จะชำนาญในการเข้าออก ถ้ารีบพักก่อนจะทำให้นั่งสมาธิถึงสมาธิขั้นกลางได้ยาก เท่าที่พบเห็นมาผู้หยุดพักผ่อนก่อนได้ความชำนาญ สมาธิจะถอยหลัง ทำถึงขั้นนั้นไม่ได้อีก เป็นเวลา ๑๐ ปี ๓๐ ปี ก็มีหลายราย

๗. การกำหนดหรือพิจารณาทางวิปัสสนา ที่จริงการฝึกสมาธิวิปัสสนาก็ฝึกไปพร้อมๆ กัน พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ การเอาจิตจดจ่อแนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เป็นสมาธิ (สมถะ) การรับรู้หรือพิจารณาว่าลมหายใจเบาหนัก เย็นร้อน ลมหายใจสั้นยาว ลมหายใจสบายไม่สบาย เป็น วิปัสสนาระดับต้น ส่วนวิปัสสนาที่แท้จริงก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ เช่นการพิจารณาความตายและอสุภะ เป็นวิปัสสนาที่สำคัญมาก ต้องพิจารณาตลอดเวลาที่จิตไม่สงบนอกจากการนั่งสมาธิแล้วก็ “เดินจงกรม” สลับ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมเป็นการฝึกจิตและออกกำลัง ไปด้วยในตัว การเดินจงกรมมีอานิสงส์ (ประโยชน์) ๕ อย่างประโยชน์ที่สำคัญคือ สมาธิที่เกิดจากจงกรม จะอยู่ได้นาน
ในการฝึกแบบต่อเนื่องให้ได้ผลเร็วมีท่านอาจารย์บางสำนักให้ภาวนา พุทโธ ไว้ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำงาน จะพูด จะคุยกัน หรือเวลายืนเดินนั่งนอนก็ภาวนาได้เรื่อยไป เมื่อชำนาญและทำได้ดีมีสติกำกับอยู่ก็จะมีสติรู้พุทโธ ไปเอง โดยไม่ตั้งใจภาวนา และรู้ลมที่หายใจเข้าออกไปด้วย นี่คือจิตเป็นสมาธินั่นเอง ผู้มีสติรู้เป็นสมาธิดังนี้จะทำอะไรก็ได้ผลดีกว่าจิตธรรมดามาก ขณะภาวนา พุทโธ ก็นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า (พุทธานุสสติ)

เมตตา เป็นธัมมะที่สำคัญที่จะละเว้นไม่ได้ ควรแผ่เมตตาก่อนนั่งสมาธิและหลังจากนั่งสมาธิและในโอกาสอื่นที่ว่าง

มีหลักฐานในพระไตรปิฎกคือ“อารักขกัมมัฏฐาน ๔” เป็นธรรมที่ช่วยรักษาจิตให้เป็นกัมมัฏฐาน คือให้สมาธิวิปัสสนาทรงตัวอยู่ กล่าวไว้ว่า ควรเจริญเป็นนิตย์ มี ๔ ประการ คือ

๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้คนและสัตว์ เป็นสุขทั่วหน้า
๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นไม่งาม น่ารังเกียจ
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแน่นอน
กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์

วิธีปฏิบัติเมื่อกราบพระ เมื่อสวดมนต์ เมื่อเกิดความกลัวก็ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

การแผ่เมตตานั้นให้ทำก่อนนั่งสมาธิ หลังจากนั่งสมาธิ และในโอกาสอื่นๆ

การนึกถึงความตายย่อมเห็นอสุภะไปด้วยในตัว การพิจารณาถึงความตายจึงเป็นธรรมที่ต้องพิจารณาตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระอภิธรรมสังคิณีมาติกาตอนหนึ่งมีใจความว่า การพิจารณาถึงความตาย (มรณธรรม) ทำให้อารมณ์น้อยลง ไม่ทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไป อารมณ์จะฟุ้งซ่านไปก็เพราะเหตุที่ได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง เป็นต้น เมื่อมีมรณธรรมเป็นอารมณ์อยู่ในสันดานแล้ว บุคคลผู้นั้นก็มีความยินดีน้อยจัดเป็นผู้ไม่ประมาท ในเรื่องความไม่ประมาท พระพุทธองค์ทรงตรัสถามภิกษุว่า ท่านทั้งหลายคิดถึงความตายวันละเท่าใด ? ภิกษุองค์หนึ่งทูลว่า คิดถึงความตายเมื่อเวลาไปบิณฑบาต พระพุทธองค์ทรงติเตียนว่ายังมีความประมาทอยู่ ภิกษุอีกองค์หนึ่งทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงความตายในเวลาฉันจังหันว่า เรายังไม่กลืนอาหารลงในลำคอก็จะตายเสียได้ในระหว่างที่จะกลืนอาหารลงไป พระองค์ตรัสติเตียนว่ายังมีความประมาทมากอยู่ ภิกษุองค์หนึ่งทูลว่าคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าและทุกลมหายใจออก พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญว่า ดูก่อนภิกษุผู้เห็นภัยในชาติ ถ้าท่านปรารถนาจะยังความยินดีให้น้อยลงไม่ฟุ้งซ่าน จงบังเกิดความสังเวชสลดใจได้ ศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ อันเป็นเครื่องป้องกันสรรพภัย ทั้งปวงอันจะบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายทั้งภายในแลภายนอก เมื่อพิจารณาถึงความตายและอสุภะทุกลมหายใจเข้าออกจนชินและติดแล้วก็จะมีการรู้ติดตาติดใจมั่นคง แม้กำลังพูดกำลังทำอะไรก็มีสติรู้เห็นความตาย และอสุภะของกายอยู่ตลอดเวลาจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

กล่าวโดยสรุปจะให้สมาธิก้าวหน้าขึ้นสู่ขั้นกลางได้ภายใน ๓ เดือน ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด ตามหลักสูตรการฝึกสมาธิในดง ๕ ข้อ คือ

๑. กินยาซ่อมแซมร่างกายและรักษาโรคในกาย รักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง มีการออกกำลังกายเป็นประจำ ถือศีลเท่าที่จะทำได้ บำเพ็ญทานคือทำบุญตามกำลังทรัพย์

๒. ฝึกอยู่ป่าช้า จากป่าช้าที่น่ากลัวน้อยและป่าช้าที่น่ากลัวมากขึ้น และฝึกสมาธิในป่าช้าที่หนีไม่ได้ เช่น ที่เกาะผีใกล้เกาะสีชัง

๓. ฝึกสมาธิในป่าทึบห่างจากหมู่บ้านจากป่าที่มีสัตว์ร้ายได้แก่มีเสือช้างและสัตว์ร้ายโดยการเดินป่าธุดงค์ หลายคนแล้วลดเหลือ ๒ คน แล้วเดินธุดงค์ไปฝึกคนเดียว มีอาจารย์ชำนาญในการอยู่ป่าควบคุมแนะนำ ตะล่อมให้ได้สมาธิ แต่หลีกเลี่ยงไม่ใช้การ “ทางจิต” จะทำให้ เคยตัว

๔. ให้เลี้ยงผี (เลี้ยงวิญญาณ) ใช้วิญญาณทำงาน ได้แล้วนำไปปล่อยเสีย การอยู่ป่าช้าเพื่อให้พบวิญญาณของผู้ตายมาร้องขอส่วนบุญและเลี้ยงผีด้วยก็ให้รู้เห็นชัดแจ้งว่าตายแล้วไม่สูญ จะต้องรับกรรมที่ตนทำไว้ ทำให้กลัวบาปด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริง ทั้งผีและเทวดาในป่า ซึ่งเป็นธรรมที่ควรกล่าวก่อนคือ ควรกล่าวก่อนที่จะสอนธรรมระดับสูงซึ่งเรียกว่า “อนุบุพพีกถา” ใจความว่าให้สอนจากง่ายไปยาก คือสอนเรื่อง ทาน ศีล เรื่องเทวดา โทษความต่ำทรามความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อเห็นจิตสงบดีแล้ว จึงประกาศ “อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” การละเว้นไม่สอนเรื่องเทวดาจึงเป็นการสอนข้ามขั้นที่สำคัญ เพราะทำให้มั่นใจว่าตายแล้วไม่สูญ

๕. สอนให้ใช้อำนาจคุณพระอำนาจจิตตามขั้นของสมาธิ เพื่อให้เชื่อเลื่อมใสในคุณพระและเพื่อประโยชน์ที่สำคัญยิ่งคือเข้าใจเห็นแจ้งชัดในธรรมระดับสูงสุด คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นธัมมะลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจได้ด้วยการอธิบาย จะต้องให้ปฏิบัติด้วยตนเอง คือเมื่อเริ่มได้สมาธิขั้นกลาง ก็ให้ทำใบไม้เป็นตัวสัตว์ เริ่มจากง่ายคือทำใบมะขามเป็นตัวแตน เมื่อเป็นตัวแตนอยู่ไม่เกิน ๗ วันก็จะกลับจากตัวแตนเป็นใบไม้ เมื่อเรียนจบขั้นกลางแล้วก็ให้เดินลอดภูเขาไปมาได้ ทำให้รู้ เห็นชัดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนคนไม่เคยกินเกลือจะอธิบายว่า เค็มคืออย่างไร ก็ไม่เข้าใจ ต้องให้เขากินเกลือเองถึงจะเข้าใจ วิธีใช้พลังจิตทำใบไม้เป็นตัวสัตว์ วิธีระลึกชาติ วิธีใช้พลังจิตให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้อธิบายไว้โดยละเอียดตั้งแต่การยกครูจนจบมีกล่าวไว้ในฉบับส่องจักรวาลแล้ว ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามหลักสูตร การฝึก ๕ ข้อที่กล่าวมานี้ นอกจากหลักสูตรการฝึกทั้ง ๕ ข้อ ขอให้ทำตามหลักสำคัญในการฝึกจิต ๗ ประการ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พร้อมด้วยพิจารณาถึงความตาย และอสุภะตลอดเวลา มีการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และแผ่เมตตา ซึ่งเป็นธรรมช่วยรักษาจิตให้มีกรรมฐาน ในบางโอกาส แต่ที่สำคัญคือให้มีตารางกำหนดเวลาใด ทำอะไรแน่นอน จึงจะมีหวังถึงสมาธิขั้นกลางภายใน ๓ เดือน ตัวอย่างตารางกำหนดเวลาตามประวัติของพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์ฝั้น คือ

ประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ รวบรวมโดยพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด จ. อุดรธานี (เป็นหนังสือพิมพ์แจกเป็นธรรมทานเล่มหนา พิมพ์หลายครั้ง) ใจความตอนหนึ่งว่า

ข้อวัตรประจำองค์ท่านในปัจฉิมวัย
๑. หลังจังหันแล้ว (ฉันหนเดียว) เข้าทางจงกรม จวนเที่ยงพัก
๒. หลังพัก เข้าที่ทำสมาธิ รวมชั่วโมงครึ่ง
๓. ลงเดินจงกรม บ่าย ๔ โมง กวาดลานวัด หรือที่พักแล้วสรงนํ้า
๔. เข้าทางจงกรม
๕. หนึ่งถึงสองทุ่ม เข้าที่ทำสมาธิ
๖. ปกติจำวัดราว ๕ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ทำสมาธิ

ประวัติพระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิง มกราคม ๒๕๒๑ ตอนหนึ่งมีใจความว่า

กิจประจำวัน
เวลาตี ๓ ออกล้างหน้าไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิ จนถึงตี ๕ ลงเดินจงกรมจนสว่างแล้วปัดกวาดลานวัด

๖.๓๐ น. ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน
๙.๐๐ น. หลังจากฉันเช้า (ฉันหนเดียว) ลงเดินจงกรมจนถึง ๑๑.๐๐ น. ท่านจึงขึ้นพัก
เวลา ๑๓ น. เศษ รับแขก ถ้าไม่มีแขกท่านก็ลงเดินจงกรมจนถึง ๑๕ น. ลงฉันน้ำร้อนและเภสัชร่วมกับภิกษุสามเณร แล้วปัดกวาดลานวัด แล้วสรงน้ำ หลังจากสรงน้ำท่าน จะลงเดินจงกรมไปจนมืดจึงทำวัตรสวดมนต์
๑๙.๓๐ น. หรือ ๒๐ น. พระอาจารย์ ออกจากห้องมาอบรมพระเณร และแก้ปัญหาที่สงสัยจนถึงเวลาประมาณ ๒๒ น. (บางวันถึง ๒๔ น.) ต่อจากนั้นพระเณรเข้าปฏิบัตินวดเส้นถวาย ท่านบอกเลิกแล้วเข้าห้อง นั่งสมาธิ (เวลา ๓.๐๐ น. เป็นเวลาออกล้างหน้า นั่งสมาธิเป็นประจำ)

ประวัติของพระอาจารย์ผู้มีสมาธิสูงในสายพระอาจารย์ในดงและสายอาจารย์อื่นๆ ก็ล้วนแต่ได้ฝึกสมาธิวิปัสสนาจริงจัง กล้าหาญ ไม่กลัวตาย ตัวอย่างศิษย์นอกดงที่เอาจริงจังเด็ดขาดได้แก่ พระเดชพระคุณ หลวงพ่อจรัญ จิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ. สิงหบุรี ฝึกหลักสูตรศิษย์นอกดงจบฌานกับหลวงปู่ในดง ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลา ๓ ปี แต่หลวงพ่อจรัญเรียนจบเพียง ๓ เดือน ดังนั้นการที่จะฝึกให้ได้สมาธิขั้นกลางภายใน ๓ เดือน ก็เป็นไปได้ถ้าเอาจริงตามที่พระพุทธองค์สอน ดังกล่าวมาแล้ว

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

สาเหตุที่ฝึกสมาธิวิปัสสนาได้ผลน้อย

สมาธิ

คำบรรยายที่วัดเขมา
๑. ความเข้าใจเรื่องศีล มีการสอนว่า การฝึกสมาธิจะต้องถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ก่อนจึงจะฝึกสมาธิได้ผล คนจำนวนมากเข้าใจกันอย่างนั้นทำให้ไม่สนใจจะฝึก ไม่สนใจจะเข้าวัดเพราะยังติดในสุขทางโลกอยู่มาก ความจริงจะถือศีลให้บริสุทธิ์ทั้ง ๕ ข้อ หรือจะถือได้เป็นบางข้อก็ฝึกสมาธิวิปัสสนาได้ผล ทั้งนี้แล้วแต่จะได้ผลในระดับใด เพราะธัมมะไม่ประกอบด้วยกาลเวลา คือไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ขณะทำสมาธินั้นศีลก็ครบ ๒๒๗ อยู่ เพราะไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ทำชั่วทางกายและวาจาย่อม จะฝึกได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะธัมมะไม่ประกอบด้วยกาลเวลาทำดีเมื่อใดก็ย่อมได้ผลดีตามส่วน เมื่อฝึกสมาธิได้ผลบ้างเห็นประโยชน์ของสมาธิแล้ว เขาก็เต็มใจถือศีลเพิ่มขึ้นดีขึ้นเอง

๒. การสอนสมาธิวิปัสสนา ส่วนมากจะสอนข้ามขั้น เป็นการฝ่าฝืนคำสอนของพระพุทธองค์ ในเรื่องการแสดงธรรมสอนว่า ให้ธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม) แสดงไปโดยลำดับจากง่ายไปยาก ไม่ข้ามขั้น สอนไม่เสียดสีทับถมผู้อื่น สอนโดยไม่ยกย่องตนเอง, สอนโดยไม่หวังลาภผลฯ เป็นต้น ในการสอนสมาธิวิปัสสนาได เน้นและมุ่งให้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ มีการพิจารณา กาย, เวทนา, จิต และธรรม. หรือโดยสรุปคือ พิจารณาเรื่องกายกับจิต แต่สอนพิจารณากายยังไม่จบก็ให้พิจารณาจิต จึงเป็นการสอนไม่เป็นไปตามลำดับ คือ ในมหาสติปัฏฐาน ๔ กายให้พิจารณา ๓ ลำดับ คือ
๑. หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ หายใจออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้
๒. ระงับกายสังขาร คือระงับลมหายใจให้ละเอียดให้เบาลงจนไม่ต้องหายใจทางจมูก ซึ่งเป็นระดับฌาน ๔
๓. เห็นการเกิดขึ้นและการดับ (ความเสื่อม)ในกายทั้งภายในและภายนอกของกายตน

ส่วนมากจะสอนข้ามลำดับ ไม่สอนลำดับที่ ๒ และ ที่ ๓ แล้วข้ามไปสอนจิต คือ เวทนา เป็นต้น ความจริงลำดับที่ ๓ ระงับลมหายใจ และลำดับ ๔ เห็นการเกิดดับในกายทั้งภายในภายนอกนั้นมีความสำคัญมาก สามารถละกามฉันทะ และละนิวรณ์ ๕ ได้ โดยลำดับจนถึงหมดนิวรณ์ ๕ ก็ได้สมาธิถึงขั้นสูงคือขั้นฌานตรงตามพระไตรปิฎก ละนิวรณ์ ๕ ได้ชั่วระยะหนึ่งก็ได้ฌานชั่วระยะนั้น เพราะเป็นการเห็นกายตามความเป็นจริง เป็นเหตุในเรื่องปัญญาสอนเน้นเฉพาะให้พิจารณาไปจะเกิดปัญญาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๓. สอนซํ้าซากอยู่เพียงระดับต้นไม่สอนในระดับสูงขึ้นตัวอย่างการพิจารณากายซึ่งมีความสำคัญมาก มีอานิสงส์ถึง ๑๐ อย่าง ข้อสุดท้ายให้ได้ปัญญาวิมุติ และเจโตวิมุติ ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ให้พิจารณากาย ให้เห็นเป็นไม่งาม สกปรกน่ารังเกียจ น่าสะอิดสะเอียน แต่ที่สอนกันส่วนมากจะสอนให้พิจารณาอาการ ๓๒ เกศา โลมา ฯ และพิจารณาซากศพแล้วน้อมมาสู่ตนว่าต่อไป จะเป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นเวลาข้างหน้า อนาคตกาล แต่ที่จะต้องสอนระดับต่อไปซึ่งเป็นปัจจุบันธรรมนั้นไม่สอน หรือสอนน้อย

หลวงปู่แหวนสอนให้พิจารณาปัจจุบันธรรม ตามพระอภิธรรมเน้นไว้ กล่าวคือ หลวงปู่แหวนสอนว่า “อดีตคือธรรมเมา อนาคตคือธรรมเมา ปัจจุบันคือ ธัมโม”

๔. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นบาปเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งในการฝึกสมาธิวิปัสสนาที่บาปมาก คือการสอนขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ตำหนิการฝึกแบบสมถะคือสมาธิและการใช้พลังจิตว่าเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ถูก หรือได้ผลช้า ไม่ใช่ทางตรงต่อนิพพาน เป็นการอ้อมค้อมโดยไม่จำเป็น ชักจูงให้ฝึกวิปัสสนากันมาก พยายามยํ้าพยายามเน้นให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นจุดหมายของวิปัสสนา คนสมัยใหม่สมัย วิทยาศาสตร์เจริญจะเข้าใจได้ยากมาก โดยเฉพาะเรื่อง “อนัตตา” ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตนไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ความไม่เที่ยงไม่จริงจังเป็นเพียงธาตุ ๔ มาประกอบกันอยู่ชั่วคราว เป็น อนิจจัง จะเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนยากมาก จำเป็นต้องให้มีการทดลองด้วยตนเองจึงจะเข้าใจลึกซึ้งได้ พระอาจารย์ในดงให้ฝึกสมาธิเมื่อเริ่มขึ้นสมาธิขั้นกลางก็สอนให้ทำใบไม้เป็นตัวสัตว์มีชีวิต วิธีเริ่มที่ง่ายคือ ให้ทำใบมะขามเป็นตัวแตน เอาใบมะขามใส่ในบาตร ใช้พลังจิตพลังสมาธิภาวนาพร้อมด้วยนึกภาพตัวแตนตลอดเวลา ใบมะขามจะเริ่มวิ่งวนแล้วกลายเป็นตัวแตน ลักษณะเหมือนตัวแตนจริงทุกอย่าง แต่มีอายุไม่เกิน ๗ วัน ก็กลายเป็นใบไม้ตามเดิม ซึ่งจะรู้เห็นอนิจจังและอนัตตาชัดเจนลึกซึ้งและมั่นใจ เมื่อได้ถึงสมาธิขั้นสูง พระอาจารย์จะให้เดินลอดภูเขาไปมา ทำให้รู้เห็นอนัตตา ได้แจ่มชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งคนและสัตว์ไม่ใช่ตัวตน จะอธิบายจะพูดให้เข้าใจยากนัก จึงมีภาษิตสอนว่า “ของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้นั้นไม่จริง” คนไม่เคยกินเค็มเราจะอธิบายว่าเค็มเป็นอย่างไรก็เข้าใจแจ่มแจ้งไม่ได้

พระอาจารย์ในดงจะสอนยํ้ามากว่า การใช้พลังจิตพลังคุณพระเป็นวิชาผ่าน เป็นวิชาเด็กเล่น ไม่ให้ยึดติด

ประโยชน่ไนการใช้พลังจิตดังกล่าวโดยย่อคือ

๑. เป็นวิธีวัดขั้นของสมาธิได้แม่นยำว่าได้สมาธิขั้นใดแล้ว เป็นการรู้ชัดทั้งศิษย์และอาจารย์ ถ้าให้อาจารย์ตรวจเองก็รู้เฉพาะอาจารย์

๒. เป็นวิธีทำให้เข้าใจธัมมะขั้นสูงคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แจ่มแจ้งดังที่กล่าวมาแล้ว

๓. ช่วยให้รู้วิธีใช้พลังจิต พลังคุณพระ เพื่อประโยชน์ต่างๆ ได้ เช่น ใช้พลังจิตในการรักษาโรคต่างๆ ของตนเองและผู้อื่น ใช้พลังจิตในการช่วยความจำช่วยให้เรียนเก่ง ใช้พลังช่วยให้การทำงานในการประกอบอาชีพให้ได้ผลดีหรือได้ร่ำรวยได้ด้วยอำนาจของพลังจิตพลังสมาธิ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากในปัจจุบัน สมดังมีคำสอนว่า “ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ทุกอย่าง”หรือ “ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมทำการงานทุกอย่างได้สำเร็จ” ซึ่งต้องใช้พลังจิตอันเกิดจากสมาธินั่นเอง

การฝึกสมาธิโดยถูกต้องจนได้ฌานเห็นคนเป็นโครงกระดูก ตัวอย่างเช่น พระภิกษุที่กล่าวไว้ในพระวิสุทธิมรรค เห็นคนเป็นโครงกระดูกดับกามฉันทะได้ก็เห็นได้ว่าความสุขขนาดนั้นก็พอแล้วไม่ต้องต่อไปถึงนิพพาน พระพุทธองค์ตำหนิว่าเป็นการปฏิบัติผิด เพราะมีคำสอนว่าไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม เมื่อเป็นกุศลธรรมต้องฝึกต่อไปจนถึงที่สุด ไม่ให้ยึดติดอยู่เช่นนั้น ใช้พลังจิตมีประโยชน์โดยย่อ ๓ ประการ ที่กล่าวมาแล้ว ถ้าไปยึดติดก็ผิดให้โทษ แต่ไม่ยึดติดก็มีแต่คุณประโยชน์มาก
๔. ในเรื่องปัญญาซึ่งจำเป็นต้องมีทุกขั้นตอน การมีการสอนในขั้นตอนการฝึกสมาธิวิปัสสนาว่าต้องใช้ปัญญาไม่ยกหมวดธรรมว่าด้วยวิธีสร้างปัญญามาประกอบ ซึ่งมี ๓ ขั้นตอน บางโอกาสยกมากล่าวก็อธิบายได้ถูกเพียงครึ่งเดียว เช่น การสร้างปัญญาขั้นที่ ๑ เกิดจากการฟัง มักจะยํ้าแต่เรื่องฟัง เช่น ตั้งใจฟัง ฟังโดยเคารพ แต่ไม่กล่าวถึงคำสอน ข้อเขียนที่สอนนั้นต้องถูกต้องตรงตามความจริง

ขอยกตัวอย่างการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเราเอาถังสูงประมาณ ๒ ศอก เอาอุจจาระใส่ลงไปหนา ๑ คืบ เอาอาหารที่ดีที่ชอบที่อร่อยใส่ทับอุจจาระจนเต็มถังให้คนตักกิน คนไม่รู้ว่ามีอุจจาระข้างล่างก็กินได้อร่อย แต่คนที่รู้ว่ามีอุจจาระอยู่ข้างล่างเขาจะไม่กล้ากิน เขาจะรังเกียจ คนที่เราหลงรักติดใจ ถ้าพิจารณาเห็นพร้อมกันทั้งภายนอกภายในก็เห็นอุจจาระหลายกองในท้อง ลองถ่ายยาดูจะถ่ายมากหลายครั้ง นอกจากอุจจาระของคนยังมีขี้เยี่ยวของตัวชีวิตหรือตัวเซลล์อยู่ทั่วไปในกาย ตัวชีวิตที่ตายจำนวนมากมายก็มีอยู่ทั่วไปในกายล้วนเป็น ซากศพ เป็นของเน่าเหม็น เมื่อครั้งผมไปฝึกภาคทะเล กับพระอาจารย์จนถึงประเทศญี่ปุ่น พักที่เกาหลี ริมฝั่งทะเลจะมีหมอของเกาหลีมาตรวจ ใครไม่มีโรคจึงออกบัตรให้ขึ้นฝั่งได้ คนมีโรคไม่ให้ขึ้นฝั่ง เขาให้โก้งโค้งก้น เอาเหล็กสเตนเลสแหย่เข้าช่องทวารประมาณลึก ๑ นิ้ว หมุนเหล็กแล้วส่องกล้องดู ไม่มีเชื้อโรคจึงออกบัตรให้ขึ้นฝั่งได้ แสดงว่ารูก้นตื้นๆ ก็มีคราบอุจจาระจับอยู่หนา และมีเชื้อโรคอยู่ด้วย ส่วนผู้หญิงเลือดระดูไหลไม่หยุดถึง ๓ วัน ช่องคลอดจึงมีเลือดเน่าจับอยู่หนา ให้ดูนํ้าประปาที่ใสสะอาด ท่อประปา ๔ หุนจะตันภายใน ๑๐ ปี เพราะตะกอนในนํ้าประปาจับเป็นหินปูนจนเต็ม เลือด น้ำกามของชายและหญิงซึ่งไม่ใสเหมือนนํ้าประปาจึงจับคราบอยู่ในช่องเพศ ช่องทวารหนักของชายและหญิง หนาและขรุขระ มีกลิ่นเหม็น ความเมาในกามจึงไม่รู้สึกขรุขระ ถ้าเห็นด้วยจิต เห็นด้วยกล้องขยายจะน่าขยะแขยงสะอิดสะเอียนมาก จะเห็นจะชอบเป็นส่วนๆ ก็ให้พิจารณาเห็นทั้งข้างนอกและข้างในพร้อมกัน เมื่อเห็นข้างนอกข้างในข้างบนข้างล่างในขณะเดียวกันนี่แหละ เห็นตามความเป็นจริง

เห็นแบบโลกีย์ คือเห็นเป็นส่วนๆ เพียงภายนอก จึงยินดี อยากเห็นอยากได้ เช่นเห็นผิวว่าสวย เห็นหน้า ตะโพก นม ดูเต่งตึงสวยงามเพราะเกิดปรุงแต่งให้ผิดไปจากความจริง

เห็นแบบโลกุตรธรรม คือเห็นตามความเป็นจริง เห็นตัวทั่วพร้อม เห็นทั้งข้างนอก เห็นทั้งข้างใน เห็นทั้งข้างบน เห็นทั้งข้างล่าง เห็นพร้อมกันหมดทั้งข้างนอก ในบนล่าง พร้อมกับความเป็นไปด้วย เห็นการเกิด การ ดับ ทั้งภายในภายนอก ขั้นแรกให้พิจารณาเห็นบางส่วน แล้วจึงเห็นเป็นส่วนรวม รู้ตามความเป็นจริงของกาย คือกายประกอบด้วยตัวชีวิตในพระไตรปิฎก เรียกว่า “ชีวิตรูป” ในภาษาแพทย์เรียกว่า ตัวชีวิต หรือ เซลล์ เป็นสิ่งมีชีวิต จึงมีการกินอาหาร เคลื่อนไหว ถ่ายออก สืบพันธุ์ และตายเน่าเปื่อย ตลอดเวลา ที่ยังออกมานอกกายไม่ทันก็มีมาก กายจึงคล้ายหลุมฝังศพของตัวชีวิต เต็มไปด้วยขี้เยี่ยวของตัวชีวิต ตัวตายและขี้เยี่ยวผ่านมาทางรูขนที่ยังไม่พ้นรูขน ก็ยังเต็มรูขนอยู่ จึงทรงกล่าวว่าร่างกายเต็มไปด้วยแผลเน่า รูขนจึงเป็นแผลเน่าขนาดเล็ก ก็มีอยู่ทั่วร่างกาย เพราะรูขนมีอยู่ถึง ๙ หมื่นรู ดังปรากฏอยู่ในพระวิสุทธิมรรค แต่ฝรั่งคำนวณว่ามี ๙ หมื่น ๙ พันรู มองดูหน้าว่าสวย ความจริงก็เต็มไปด้วยรูแผลเน่า และยังมีช่องใหญ่ระบายสิ่งโสโครกและตัวชีวิตที่ตาย ออกจากรูทวาร ๗ รู คือ ตาสอง รูจมูกสอง รูหูสอง และรูปากอีกหนึ่ง ผิวหน้าก็คือตัวชีวิตที่ตายถูกขับออก ซึ่งเรียกว่า หนังกำพร้า ทุกแห่งทุกจุดในร่างกายหรือผิวหนังที่หลงรักหลงชอบก็คือตัวชีวิตที่ตาย ที่ถูกธาตุลมขับออกมา นั่นคือตัวซากศพของเซลล์หรือตัวชีวิตถูกขับออกมา ทยอยออกมา และทยอยปลิวไปในอากาศตลอดเวลา ตัวชีวิตมีในกายถึง ๕ หมื่นล้านตัว จึงมีการตายนาทีละหลายแสน เมื่อเทียบกับยุงตัวใหญ่ เห็นด้วยตาได้ อายุเพียง ๗ วันก็ตาย ตัวชีวิตเล็กมากต้องใช้กล้องขยายอย่างดีดูจึงเห็นเกิดมาไม่ถึงหนึ่งวันก็ตายในพระไตรปิฎก มีบรรยายรายละเอียดไว้มาก เช่น กายเต็มไปด้วยตัวชีวิต (ชีวิตรูป) มีการเคลื่อนไหว การเกิดการตาย มีการพลัดพรากปลิวออกจากร่างกายตลอดเวลา ดังนั้นผิวหนังที่หลงชอบหลงรัก หลงคิดว่าสวย นั่นคือหนังกำพร้าหรือซากศพของตัวชีวิตซึ่งเห็นได้เดี๋ยวเดียวก็ปลิวไปในอากาศ หมด เพราะตัวชีวิตที่ตายอยู่ชั้นในทยอยดันออกมาอย่างต่อเนื่อง การแต่งเติมด้วยเครื่องสำอางทาพอกไว้บางๆ ก็ลวงให้หลงยิ่งขึ้น พิจารณาจากศีรษะลงมา ผมส่วนที่โผล่ออกมาจากหนังศีรษะ จะตัดก็ไม่เจ็บเพราะเป็นเส้นผมที่ตายส่วนขนก็เช่นเดียวกับผมคือส่วนที่โผล่ออกมาให้เห็นก็คือซากศพของขน (โลมา) ส่วนเล็บที่โผล่ออกมาก็คือ ซากศพของเล็บ (นขา) ฟันส่วนผิวนอกก็เป็นส่วนที่ตาย เวลากรอฟันตอนแรกก็ไม่เจ็บไม่เสียวเพราะเป็นส่วนที่ตาย พอกรอลึกไปหน่อยก็เจ็บก็เสียวเพราะยังไม่ตายทั้งตัวฟันและประสาทฟัน จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ให้พิจารณา “เกศา โลมา นขา ทันตา ตะโจ,, (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) เป็นส่วนกายภายนอกที่มองเห็นได้หลงชอบใจว่าสวยงามที่จริงคือหลงชอบซากศพ เมื่อเทียบกับคนตายเป็นซากศพแล้วจะตบแต่งทาแป้งเสริมสวยอย่างไร เราก็ไม่ชอบไม่รักและยังรังเกียจไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากจับ หรือกอดจูบ แต่ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง ที่เห็นนั้น ก็ล้วนเป็นซากศพตามความเป็นจริง แต่กลับเห็นว่าสวยงามน่ารักน่าดู นั่นคือไม่เห็นตามความเป็นจริง เป็น “มิจฉาทิฎฐ” ซึ่งมีโทษมาก มีโทษหนัก ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่า มิจฉาทิฏฐิ” ทั้งนี้เพราะเป็นต้นเหตุให้ทำความผิดทำบาป มีผลมีโทษไม่สิ้นสุด ซํ้าซากยาวนาน หลายชาติจนกว่าจะมีความเห็นถูกเห็นชอบ (สัมมาทิฎฐิ) อนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก ได้แก่ การฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพระอรหันต์ เป็นต้น เมื่อให้โทษแล้วก็จบสิ้นไม่ซํ้าซาก

คนส่วนมากขาดสติในมหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งให้เห็นตามความเป็นจริง เห็นรูปกายไม่งาม สกปรกน่า รังเกียจน่าสะอิดสะเอียน แม้แต่รูปคนในแผ่นกระดาษ ซึ่งมีสีบางๆ แบนอยู่ยังเห็นเป็นรูปทรงกว้างยาวนูนขึ้นได้ เกิดชอบใจขึ้นได้ อยากดูอยากได้นี่ก็เป็นการเห็นผิด ยึดมั่นในรูปกาย ยิ่งเป็นตัวคนจริงยังมีท่าทางชวนให้หลงชอบหลงรักดังกล่าวมาแล้ว แม้แต่พระในสมัยพุทธกาล ฝึกจนเห็นคนเป็นเพียงโครงกระดูก ไม่เกิดชอบใจติดใจ มีความสุขทางใจมากพอจึงพอใจไม่ฝึกให้ดียิ่งขึ้นก็ถูก พระพุทธเจ้าตำหนิ ถ้าเราหมั่นพิจารณาโครงกระดูกจริง หรือภาพโครงกระดูกจนเห็นทางจิตชัดขึ้นได้ก็ย่อมเห็นคนที่แต่งเติมสวยงามนั้นมีโครงกระดูกในกายโดยตลอด น่ากลัวน่าเกลียด ไม่นึกรักไม่นึกชอบไม่เกิดความใคร่ หรือระงับกามฉันทะซึ่งเป็นนิวรณ์ ๕ เครื่องขัดขวาง ความสำเร็จที่สำคัญได้ ตัดความหลงผิดหลงชอบหลงรักในรูปกายเสียได้ แม้เห็นรูปเห็นกายก็สักว่าเห็น ไม่เกิดความหมายอะไร ทำให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ชอบ ไม่รักไม่หลง จิตก็จะเป็นกลางตั้งมั่น มีแต่เมตตาเยือกเย็นสุขุมช่วยให้สมาธิก้าวหน้าสูงขึ้นโดยลำดับ

ขอให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญ

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

การตรวจ และรักษาโรคด้วยพลังจิต

พลังจิต1การรักษาโรคด้วยอำนาจจิต มีการใช้ยาประกอบกับกำลังงานจิตบ้าง ใช้การนวดการจับเส้นโลหิต เส้นประสาทประกอบอำนาจจิตบ้าง ใช้กำลังงานจิตโดยตรงบ้าง จึงไม่น่าจะมีข้อสงสัยว่าเป็นไปไม่ได้เพราะข้าพเจ้าก็รับที่จะพิสูจน์ทดลองให้เห็นจริงอยู่แล้ว โปรดฟังคำพูดอย่าได้เข้าใจผิดหรือเล่าลือกันไปว่าข้าพเจ้าประกาศตัวเป็นหมอรักษาโรคหรือประกาศว่าพร้อมที่จะรักษาโรค ถ้าขืนเล่าลือกันเช่นนั้นอาจจะเป็นภัยอันใหญ่หลวงแก่ข้าพเจ้าเพราะความอิจฉาและกลัวผู้อื่นจะดีกว่า โปรด เข้าใจแต่เพียงว่า ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อการค้นคว้าทดลอง ข้าพเจ้ายินดีจะรับใช้พิสูจน์ ทดลองและตอบปัญหาให้เห็นจริงว่า โรคที่ว่ารักษาไม่หายนั้นมีหลายอย่างที่รักษาได้ด้วยการลงทุนน้อย แต่หายได้เร็ว

วิธีตรวจโรคด้วยอำนาจจิต
๑. ใช้อำนาจจิตขั้นต้นประกอบกับอำนาจคุณพระ
๒. ใช้อำนาจจิตขั้นสูงและขั้นกลาง

การใช้อำนาจจิตขั้นต้นตรวจโรค
อาศัยการจับ การสัมผัสและการใช้เครื่องมือตรวจอย่างอื่นประกอบกับทำจิตให้นิ่ง ให้สงบเพื่อตัดสินอาการต่างๆ ว่าสรุปรวมเป็นโรคอะไรแน่ หรือรู้ว่าเป็นอะไรแน่แล้วก็ให้รู้รายละเอียดอย่างอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น จะรักษาให้หายด้วยวิธีใดเป็นต้น

การใช้อำนาจจิตขั้นกลางและขั้นสูง
วิธีนี้กระทำโดยการสร้างภาพขึ้น ซึ่งเรียกว่า มโนภาพ เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิขั้นกลางก็จะมีมโนภาพที่ชัดเจนขึ้น ครั้นถึงสมาธิขั้นสูง ก็ยิ่งได้ภาพที่ชัดเจน และถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง การสร้างภาพขึ้นนี้ มีวิธีดำเนินการ หลายวิธีเป็นต้นว่า

๑. ทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วย้ายจิตไปบริเวณที่เจ็บป่วย ตาคงหลับอยู่ แล้วสร้างภาพใหม่ขึ้นแทนส่วนนั้น เช่นเจ็บป่วยที่แขนก็สร้างภาพแขน หรือนึกภาพแขนนั้นขึ้นให้เห็นภาพทางใจซ้อนทับแขนจริง หรืออยู่ ประมาณที่แขนจริงนั้น แล้วพิจารณาอาการ

๒. เมื่อได้เห็นรูปร่างของคนเจ็บป่วย พอจำได้ทั้งรูปร่างและบริเวณเจ็บป่วยแล้ว ก็กลับบ้านไปทำการตรวจสอบด้วยการนั่งสมาธิ ส่วนมากนิยมทำเวลาดึกสงัด เพื่อให้ได้ผลแน่นอน ซึ่งมีวิธีการทำได้หลายอย่าง เช่น

ก. ทำนํ้ามนต์และเพ่งดูที่นํ้ามนต์บ้าง เพื่อให้เกิดภาพขึ้นเองโดยไม่ต้องใช้นํ้าบ้าง ซึ่งเรียกกันว่านั่งเทียนบ้าง, ยกเมฆบ้าง จะอย่างไรก็ตามคงใช้หลักอย่างเดียวกัน คือทำจิตให้สงบให้นิ่งแล้วสร้างภาพทางใจขึ้น

ข. ใช้กระจกเงาแผ่นเล็กถือไว้ที่มืออธิษฐาน ให้ภาพส่วนที่เจ็บไข้ของคนนั้น มาปรากฏแล้วหลับตาภาวนาให้ปรากฏภาพ แล้วตรวจภายใน และบริเวณที่เจ็บป่วย

๓. ใช้วิธีอธิษฐานประกอบอำนาจจิต เช่น เอาก้นเทียนจี้, นิ้วจี้, ถ้าเป็นโรคตรงใดให้ร้อนหรือให้เสียว เป็นต้น หรือใช้วิธีเรียกให้ปรากฏอาการออกมา จูงใจหรือบังคับให้เห็นโรคนั้นขึ้นให้ชัดเจนๆ

๔. ลองใช้รักษาด้วยอำนาจจิตดู หรือลองเพ่งด้วยจิตดู เช่นลองรดน้ำมนต์ดูโรคบางอย่างก็จะปรากฏอาการขึ้นเป็นต้นเช่นโรคที่ถูกของหรือมีวิญญาณมาแทรก

ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อมีการคาบเกี่ยวไม่แน่ว่าจะเป็นอะไรก็ตัดสินเอาทางที่จะเป็นไปได้ใกล้เคียงที่สุดแล้วลองรักษาดูด้วยอำนาจจิต เพราะบางโรคก็รักษาให้เห็น ผลดี ในชั่วเวลาเพียง ๑๕ นาที ๒๐ นาที บางอย่างก็ เห็นผลชัดในระยะ ๓ วัน ๗ วัน

เพื่อให้เข้าใจง่าย ข้าพเจ้าจะได้ยกตัวอย่างการตรวจรักษาพร้อมด้วยวิจารณ์ข้อดีข้อบกพร่อง ในการรักษาตามแผนปัจจุบัน และการรักษาด้วยอำนาจจิตเป็นเรื่องๆ ไป

วิธีรักษาโรคด้วยอำนาจจิต
มีวิธีดำเนินการต่างๆ กันไปแล้วแต่อาจารย์ที่ค้นพบ และถ่ายวิชาให้ แต่ก็คงมีหลักสำคัญเหมือนกัน คือทำจิตให้สงบแล้วย้ายจิตไปยังบริเวณที่เจ็บป่วยหรือถ้าชำนาญขึ้นก็ตั้งจิตลงตรงที่เจ็บป่วยเลยทีเดียว แล้วถ่ายอำนาจจิตลงไปอย่างต่อเนื่อง วิธีดำเนินการก็เป็นไปตามหลักทั่วๆ ไปดังนี้คือ

๑. ตรวจสาเหตุและชนิดของโรค ตรวจอาการ เป็นไปของโรค เรื่องนี้ต้องรอบคอบและอาศัยความรู้ความชำนาญตลอดจนความรู้อื่นๆ ประกอบตามที่กล่าวมาแล้ว

๒. รักษาด้วยอำนาจจิตโดยตรง คือส่งอำนาจจิต ไปยังที่เจ็บป่วยโดยตรง หรือจูงให้คนไข้มีอำนาจจิต รักษาตัวเอง

๓. ถ่ายทอดอำนาจจิตลงสู่วัตถุอื่นหรือยา แล้วนำไปใช้รักษาโรค

๔. รักษาด้วยการสร้างรูปหรือสร้างภาพขึ้นแทน เช่น ใช้สร้างภาพทางใจดังที่กล่าวมาแล้วในวิธีตรวจโรคด้วยอำนาจจิตแล้วทำการรักษาไปยังบริเวณที่เป็นโรค หรือปั้นหุ่นแทนตัวกำหนดบริเวณที่เกิดโรค แล้วรักษา ต่อหุ่นแทนรักษาที่ตัวคนไข้ วิธีนี้ใช้รักษาทางไกลโดยไม่ต้องรักษาที่ตัวคนไข้โดยตรง หรือรักษาอยู่ใกล้คนไข้ แต่ไม่ส่งอำนาจจิตไปยังตัวคนไข้โดยตรง

๕. ใช้อำนาจจิตผสมกับวิธีอื่นๆ

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

สอนวิชารูดโซ่ลุยไฟครบถ้วนแบบเก่า

จะได้สอนวิชารูดโซ่ลุยไฟตามที่เรียนมาจากอาจารย์ ปลื้ม อาจารย์ไปล่ ซึ่งมีคำภาวนาเพียงสั้นๆ บทเดียวแต่ดับพิษร้อนได้ผลดีเช่นเดียวกัน

ก่อนที่จะทำการรูดโซ่ลุยไฟให้จัดพานบูชาดังนี้
พานที่ ๑ ใส่ดอกไม้ธูปเทียนและเงินบูชาครู ๖ บาท ใช้เทียน ๓ เล่ม บูชาครูโดยจุดธูป มือขวาถือธูปที่จุด พร้อมกับมือทั้งสองข้างยกพานที่มีค่าครูขึ้นกล่าวคำบูชา และอาราธนา ทำเหมือนกันทุกวิชา

พานที่ ๒ ใส่ใบพลู ๗ ใบ, ข้าวสาร ๑ กำมือ, ปูนแดงประมาณขนาดหัวแม่มือหรือโตกว่าบ้าง ปูนนี้ใช้ปูนที่ยังไม่ปนสีเสียดและอาจเอาปูนนี้ใส่บนใบพลูอีก ๑ ใบ, เหล้าขาว ๑ ขวด วางไว้นอกพาน เวลาปลุกเสกเอามือแตะบนใบพลู ข้าวสารและปูน เวลาภาวนาก็นึกภาพสิ่งที่จะเสกในพาน

ขันใส่นํ้า ๑ ใบ สำหรับทำนํ้ามนต์, โดยเอามือทั้งสองแตะข้างขันนํ้าทั้งสองข้างเพื่อให้รู้ขนาดผิวนํ้าที่จะส่งพลังจิตลงไปมือขวาใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจับเทียนขี้ผึ้งแท้หนัก ๑ บาทที่จุดไฟไว้แล้วเพื่อให้นํ้าตาเทียนหยดลงนํ้าในขันให้กลายสภาพเป็นนํ้ามนต์ จะเสกของในพานก่อนหรือทำนํ้ามนต์ก่อนการเสกของในพานก็ได้ เทียนทำนํ้ามนต์เอาเทียนในพานที่ ๑

วิธีภาวนาเสกของในพานหรือทำนํ้ามนต์ให้ภาวนา ปล่อยพลังจิตลงโดยหลับตานึกภาพของที่จะเสก แล้วภาวนา ด้วยวิธีคาบผสมอัดใจ พอเริ่มเหนื่อยก็ภาวนาเป็นสมาธิสลับกันไป

เมื่อเสกของในพานและทำนํ้ามนต์เสร็จแล้วให้ อาโซ่เหล็กขนาด ๖ หุน หรือ ๔ หุน ยาวประมาณ ๑ เมตร เอาปลายข้างหนึ่งยาวประมาณครึ่งหนึ่งคือยาวครึ่งเมตร ขดลงบนเตาไฟที่มีถ่านไฟติดดีแล้ว โซ่ที่เหลืออีกครึ่งเมตรห้อยอยู่นอกเตาไฟมีห่วงร้อยที่ปลายเพื่อจับยกโซ่ขึ้นจากเตา

ผู้ที่เรียนทำครั้งแรกควรใช้ถ่านไฟไม่มากและโซ่เหล็กก็ใช้ขนาดเล็กเสียก่อน เริ่มต้นโดยอาราธนาคุณพระและครูอาจารย์มาช่วยดับพิษร้อนของโซ่เหล็กให้หมดไป ต่อไปเริ่มทำการดับพิษร้อนของโซ่เหล็กโดย
พนมมือว่านะโมสามจบแล้วภาวนาบทสำรวมเรียกมนต์ ๓ จบ ว่าดังนี้

“วุทธิจุดติ ไวยะปัดตา อัปปะมานะ สำปาเทถะ”
ต่อไปภาวนาคาถาป้องกันว่าดังนี้

“พุทโธล้อม ธัมโมป้อม สังโฆกัน ท้าวเวสสุวรรณโน พุทโธกัน ปิอัดถะโข สุวันโน จะมหาราชา สุวันนะภูมิเมตตา ยักขะเสดถามันหิเก พุทธังกันอิติชาติกัน สวาหะ ธัมมังกันอิติชาติกันสวาหะ สังฆังกันอติชาติ กันสวาหะ”
(ใช้กันได้สารพัด สวดมนต์ก่อนนอนก็ได้ กันได้สารพัด คุณไสยทำไม่ได้เลย ดีนักแล..)
(ภูมิ อ่านว่า พูม, ชาติ – อ่านว่า “ชา-ต”)

ก่อนภาวนาบทคาถาป้องกันให้ทำสมาธิรวมจิตไปที่มุมห้องด้านซ้ายข้างหน้า ภาวนาจบแล้ว, ตั้งจิตลากแทนสายสิญจ์มาหยุดที่มุมห้องด้านขวา ภาวนาอีก ๑ จบ, แล้วรวมจิตลากเป็นสายสิญจ์ไปมุมห้องด้านหลังทางขวา ภาวนา ๑ จบ, แล้วตั้งจิตลากเป็นสายสิญจ์ไปหยุดที่มุมห้องด้านหลังทางซ้าย ภาวนาอีก ๑ จบ, แล้วตั้งจิตลากเป็นสายสิญจ์ (ใช้กระแสจิตแทนสายสิญจ์) ไปบรรจบมุมซ้ายด้านหน้า ถ้าไม่ทำในห้องก็ทำโดยกำหนดขอบเขตเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายห้อง

เมื่อภาวนาบทป้องกันเสร็จแล้วก็เริ่มดับพิษร้อนของโซ่ในเตาไฟ โดยรวมจิตไว้ที่ขดโซ่ที่อยู่ในเตาไปตรงกึ่งกลางขดโซ่หลับตานึกถึงภาพของโซ่ที่ขดอยู่ตลอดเวลา ภาวนาครั้งละหนึ่งบท บท ๖ ให้ภาวนาหลายจบแล้วจึงภาวนาบทที่ ๗ อีกหลายจบ แล้วภาวนาบทที่ ๘, บทที่ ๙ และ บทที่ ๑๐ อีกบทละหลายจบ (๓ หรือ ๗ จบ) การภาวนาให้ใช้วิธีอัดลมหายใจไว้ (ภาวนาเป็นคาบ) ภาวนาประมาณ ๑ จบ หรือ ๒ จบ แล้วเป่าลมไปยังโซ่ในเตาพร้อมกับภาวนาอีก ๑ จบ แล้วหายใจเข้าอัดลมไว้ ภาวนาแล้วเป่าลมออกเช่นเดิมอีกซํ้าๆ กันถ้ารู้สึกเริ่มเหนื่อยก็ภาวนาเป็นสมาธิไม่ต้องอัดลมสลับกันดังที่กล่าว ในวิชาทำนํ้ามันเป็นยาจบบทที่ ๑๐ แล้ว ยังไม่แน่ว่าดับพิษร้อนหมดก็เริ่มภาวนาบทที่ ๖ ถึงบทที่ ๑๐ อีก ดูว่าถ่านในเตาซึ่งสีดำนั้นติดไฟจนแดงหมดแล้ว จึงตรวจสอบว่าหมดพิษร้อนหรือยังโดยเอาใบพลูในพานมา ๑ ใบ จุ่มลงในนํ้ามนต์แล้วเอาไปวางบนโซ่ในเตาไฟ ถ้าใบพลูเหี่ยวและไหม้เป็นรู้ใหญ่แสดงว่ายังไม่หมดพิษร้อนให้ส่งพลังจิตโดยภาวนาบทที่ ๖ ถึง ๑๐ เช่นเดิมอีก แล้วเอาใบพลูในพานจุ่มนํ้ามนต์มาวางบนโซ่ในเตาไฟอีก ถ้าใบพลูเหี่ยวไปไม่ไหม้เป็นรูใหญ่หรือไหม้เป็นรูเล็กๆ ก็แสดงว่าดับพิษหมดแล้ว ยกปลายโซ่ที่อยู่นอกเตาเอาโซ่ออกมานอกเตา ถือให้ห้อยลงหรือแขวนไว้ แล้วภาวนาคาถาบทที่ ๙ โดยหายใจเข้าอัดลมไว้พร้อมกับภาวนา ๑ จบ แล้วเป่าออกไปยังโซ่ที่เผาแดง ภาวนาอีก ๑ จบ (ซึ่งเรียกว่าภาวนาเป็น ๑ คาบ) ภาวนาบทที่ ๙ นี้ไว้ตลอดเวลา จิตรวมอยู่ที่โซ่เผาไฟนั้น เอานิ้วหรือฝ่ามือเข้าใกล้โซ่ที่เผาไฟไม่รู้สึกร้อนจัดก็เอานิ้วหรือฝ่ามือแตะโซ่ที่ร้อนนั้น และรีบเอามือออกมา ถ้าแตะไปรู้สึกร้อนเล็กน้อย เมื่อเอามือออกมาก็ไม่รู้สึกร้อนที่นิ้วมือ ต่อไปเอาฝ่ามือลูบโซ่ดูโดยแบฝ่ามือการลูบลงดังนี้อาจารย์ท่านเรียกว่า “รูดโซ่” ลองรูดดู ๒ หรือ ๓ หน ต่อไปก็เอาฝ่ามือทั้ง ๒ ชิดกัน กอบโซ่จากปลายขึ้นสูงประมาณ ๑ คืบ แล้วรีบปล่อยลง อย่าเอามือแตะโซ่ไว้นาน และอย่าเอามือกำโซ่ไว้ เวลากอบโซ่ขึ้นก็รีบปล่อย เพราะการฝึกครั้งแรกๆ สมาธิยังไม่ดีพอที่จะถูกโซ่ร้อนได้นาน จะให้ถูกได้นานหรือกอบโซ่ที่ร้อนแดงไว้ได้นานจะต้องฝึกสมาธิให้ได้ถึงสมาธิขั้นกลางเสียก่อน

เมื่อยกโซ่ร้อนแดงขึ้นจากเตาแล้วก็ให้เอาหน้าไปใกล้ ๆ โซ่ประมาณ ๑ คืบ ภาวนาคาถาบทที่ ๙ เป็นคาบ เป่าไปที่โซ่ตลอดเวลาระหว่างที่จะแตะหรือกอบขึ้นก็ภาวนาไว้เรื่อยๆ ให้ผู้อื่นที่ไม่ได้เรียนวิชานี้มาแตะโซ่กอบโซ่ดูก็ได้ไม่อันตรายอะไร ผู้เรียนวิชานี้ก็เป่าดับพิษด้วย บทที่ ๙ ไว้ตลอดเวลาระหว่างทดลอง

ต่อไปจะ สูบวิชา กลับให้เอาเหล้าในขวดมาอมเล็กน้อย ภาวนาคาถาบทที่ ๑๑ หนึ่งจบพ่นเป็นฝอยไป ใส่โซ่ส่วนที่เผาไฟนั้นแล้วสูบลมเข้าทางปากดังวู๊บ พอพ่นเหล้าออกก็สูบลมเข้าต่อเนื่องกัน ทำดังนี้ ๓ ครั้ง โซ่จะรู้สึกร้อนมีพิษร้อนเอานี้วไปแตะก็ทำให้นิ้วพองได้

ในการที่รูดโซ่หรือกอบโซ่ขึ้นถ้าทำทีแรกยังนึกกลัวก็ใช้ปูนและนํ้ามนต์ที่เสกไว้แล้วทาฝ่ามือเสียก่อน จึงรูดโซ่หรือกอบโซ่เมื่อทำได้และเข้าใจดีแล้วก็ไม่ต้องทาด้วยปูนหรือนํ้ามนต์

ในการลุยไฟ จัดของจัดพานและเสกเหมือนการรูดโซ่ต่อไปทำกรอบให้สูงขึ้นจากดินเพื่อไม่ให้ถ่านกระจาย กว้างประมาณ ๑ ศอก ยาวประมาณ ๑ วา เอาถ่านที่เผาไฟในเตาใหญ่ที่ติดไฟดีแล้วมาเทลงในกรอบ ซึ่งกว้างประมาณ ๑ ศอก ยาวประมาณ ๑ วาให้เต็มกรอบแล้วเอาไม้ทุบให้เรียบแล้วดับพิษร้อนด้วยบทที่ ๖ ถึงบทที่ ๑๐ เช่นเดียวกับการดับพิษโซ่ การทดสอบว่า ดับพิษหมดแล้วก็ทำเช่นเดียวกับการดับพิษโซ่เหล็ก ก่อนจะเดินลุยไฟครั้งแรก ยังนึกกลัวอยู่บ้างก็ใช้ปูนและนํ้ามนต์ทาเท้าทั้ง ๒ ข้าง โดยทาจากส้นเท้าขึ้นไปตามฝ่าเท้าถึงปลายเท้า แล้วเดินไปบนถ่านก้าวไปเร็วๆ อย่าเหยียบไว้นาน ถ้าจะย่ำเท้าบ้างก็รีบยกเท้าเร็วๆ ภาวนาบทที่ ๘ ในเมื่อยังไม่เคยชินและสมาธิยังไม่ดีพอ
เมื่อไฟไหม้จะวิ่งฝ่าไฟไปก็ใช้นํ้าลายบ้วนใส่มือ เสกด้วยคาถาบทที่ ๘ ถ้าเร่งด่วนก็เสกเป็นคาบ ๑ ครั้ง แล้วเอานํ้าลายที่เสกทาศีรษะและทาฝ่าเท้าจากส้นเท้าไปปลายเท้าทั้ง ๒ ข้าง แล้วลุยไฟออกไป โดยหายใจลึกๆ อัดลมไว้พร้อมกับภาวนาบทที่ ๘ ถ้าไม่มีเวลาเสกต้องรีบวิ่งออกไปก็ไม่ต้องปลุกเสกใช้อัดลมหายใจไว้ ภาวนาถี่ๆ พร้อมกับวิ่งฝ่าไฟออกไป

ข้อห้าม วิชารูดโซ่ลุยไฟของอาจารย์ปลื้ม อาจารย์ ไปล่ นี้ ห้ามไม่ให้กินข้าวเย็นปนข้าวร้อน (ข้าวค้างคืน อย่าเอามาปนกับข้าวที่หุงใหม่กิน)

ผู้เรียนแล้ว ๓ ปี จึงครอบให้เป็นครูผู้อื่น

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

ดับพิษร้อน และตรวจรักษาโรคด้วยพลังจิต

สอนเต็มแบบ ตามพระอาจารย์ในดงสอน สอนการทำนํ้ามันรักษาโรค และดับพิษร้อน (ของหลวงตาดำ – อาจารย์ชาญณรงค์)

ดับพิษร้อน ขณะนํ้ามันกำลังเดือดเอามือล้วงได้ หรือเอาช้อนตักขึ้นอมพ่นรักษาโรคได้ รู้สึกเพียงอุ่นๆ เท่านั้น ไม่มีอันตราย คนจะเอามือล้วงหรือตักอมก็ได้ ตักกินได้ไม่มีอันตราย

การเตรียมของ นํ้ามันมะพร้าวแท้ ๑ ขวดใหญ่ (ขวดเบียร์ใหญ่หรือขวดแม่โขง)ไพลปอกเปลือกฝานเป็นแว่นไว้ ๕ แว่น ขมิ้นอ้อยปอกเปลือกฝานเป็นแว่นไว้ ๔ แว่น ใบพลู ๓ ใบ กระทะใบเล็กสำหรับเคี่ยวนํ้ามัน เตาไฟใช้ถ่านหรือเตานํ้ามันก๊าด

ไพลแว่นที่ ๑ ลงอักษรขอมตัว นะ โดยหายใจเข้า อัดลมหายใจไว้เริ่มเขียนตัว นะ พร้อมกับภาวนาในใจว่า “นะ กาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ” เมื่อว่าจบก็ให้เขียนจบพอดี ถ้าเขียนไม่เสร็จพอดีกับภาวนาจบ เรียกว่า “อักขระวิบัติ” ต้องเขียนใหม่ หรือเขียนทับอักษรตัว นะ ตัวเก่าก็ได้ พร้อมกับภาวนาให้จบพอดีกับเขียนเสร็จ
ไพลแว่นที่ ๒ ลงอักษรขอมคำว่า โม
ไพลแว่นที่ ๓ ลงอักษรขอมคำว่า พุท
ไพลแว่นที่ ๔ ลงอักษรขอมคำว่า ธา
ไพลแว่นที่ ๕ ลงอักษรขอมคำว่า ยะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๑ ลงอักษรขอมคำว่า นะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๒ ลงอักษรขอมคำว่า มะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๓ ลงอักษรขอมคำว่า พะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๔ ลงอักษรขอมคำว่า ทะ
ใบพลูใบที่ ๑ ลงอักษรขอมคำว่า ปะติรูปัง
ใบพลูใบที่ ๒ และใบที่ ๓ ลงอักษรขอมคำว่า ปะติรูปัง เหมือนใบที่ ๑
อักษรขอม
การเขียนอักษรขอมลงไปให้ภาวนาเป็นคำๆ ไปดังนี้
การลงไพล
ไพลแว่นที่ ๑ ว่า “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ”
ไพลแว่นที่ ๒ ว่า “โมกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น โม”
ไพลแว่นท ๓ ว่า    “พุทกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น พุท”
ไพลแว่นที่ ๔ ว่า    “ทากาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ทา”
ไพลแว่นที่ ๕ ว่า    “ยะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ยะ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๑ ว่า “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๒ ว่า    “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น มะ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๓ ว่า    “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น พะ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๔ ว่า “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ทะ”

พลูใบที่ ๑ เขียน ปะติรูปัง โดยภาวนาเขียนทีละคำดังนี้

“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ปะ”
“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ติ”
“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น รู”
“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ปัง”

พลูใบที่ ๒ และใบที่ ๓ เขียนและภาวนาเหมือน ใบที่ ๑

ที่ก้นกะทะด้านในที่จะใส่นํ้ามันลงไปให้เขียนอักษรขอมลง ๓ บรรทัด คือ บรรทัดที่๑ เขียนคำว่า นะโม พุทธายะ เขียนพร้อมกับภาวนาเป็นคำๆ ไป เหมือนเขียนลงไพล

ที่ก้นกะทะบรรทัดที่ ๒ เขียนอักษรขอมคำ “นะ มะ พะ ทะ” เขียนพร้อมกับภาวนาเป็นคำๆ ไป เหมือนเขียนลงขมิ้นอ้อย

ที่ก้นกะทะบรรทัดที่ ๓ เขียนอักษรขอมคำว่า “ปะติรูปัง” เขียนพร้อมกับภาวนาเป็นคำๆ ไปเหมือน เขียนลงใบพลู

ตัวอักษรขอม นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ และปะติรูปัง เขียนอย่างไรดูที่อธิบาย วิธีเขียนไว้นี้ก็ละเอียดพอจะเข้าใจดีและทำได้แล้ว หากผู้ใดจะต้องการให้แน่ใจกว่านี้อีกก็ควรไปถามพระ หรือ อาจารย์อื่นที่เคยลงอักษรขอมในของหรือในผ้ายันต์ ถ้าจะทำใส่กะทะใหญ่กะทะใบบัวก็เพิ่มนํ้ามันและตัวยาขึ้นตามส่วนคือนํ้ามันหนึ่งขวดต่อไพล ๕ แว่น ขมิ้นอ้อย ๔ แว่น ใบพลู ๓ ใบ

ลำดับในการทำนํ้ามันเป็นยาและดับพิษร้อน
๑. จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน พร้อมกับเงินค่าบูชา ครู ๖ บาท แล้วกราบพระและจุดธูปเทียนบูชาครู ภาวนาในใจว่า “ข้าพเจ้าขอสักการบูชาต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูอาจารย์ มีหลวงตาดำ อาจารย์ชาญณรงค์ ขอให้มาช่วยทำน้ำมัน ให้เป็นยา และดับพิษร้อนของนํ้ามันให้หมดไป เมื่อนํ้ามันถกปากถกมืออย่าให้ร้อนอย่าให้มีอันตราย”

๒. เมื่อเขียนอักษรขอมลงที่ไพล ขมิ้นอ้อย ใบพลู และลงที่ก้นกะทะ ตามที่กล่าวมาแล้ว

๓. เอา ไพล ขมิ้นอ้อย ใบพลู ลงในกะทะแล้ว เทนํ้ามันมะพร้าวลงในกะทะ

๔. ว่า “นะโม…” สามจบ แล้วว่า “พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมังสะระณังคัจฉามิ สังฆังสะระณังคัจฉามิ”

๕. ภาวนา “สัคเค กาเม จะรูเป คีริสิขะ ระตะเฎ จันตะลิเข วิมาเน ทีเปรัฐเถ จะคาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิเขตเตภุมมาจายันตุเทวาชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคาติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโวเม สุณันตุ ธัมมัสสะวะนะกาโล อยัมภะทันตา” (บทนี้พระจะสวดก่อนสวดมนต์ในพิธีต่างๆ อยู่เสมอ)

๖. อัญเชิญว่าดังนี้ “ข้าพเจ้าขออาราธนา คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูอาจารย์ ขอให้มาช่วยทำนํ้ามันนี้ให้เป็นยา และช่วยดับพิษร้อนให้หมดไป ขอเชิญธาตุน้ำ ธาตุลม มาช่วยดับพิษร้อนทั้งหลายให้สูญสิ้นไป”

๗. ยกกะทะนํ้ามันขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟเพียงอ่อนๆ ถ้าใช้ถ่านก็ใช้เตาเล็กใส่ถ่านแต่น้อย แล้วเสกนํ้ามันในกะทะให้เป็นยาหายใจอัดลมไว้แล้วพนมมือ ก้มหน้าลง ห่างนํ้ามันประมาณ ๑ ฟุตแล้วว่า“สมุหะ คัมภีรัง อะโจระ ภะยัง อะเสสะโต โสภคะวา พุทโธหยุด ธัมโมหยุด สังโฆหยุด โรคภัยทั้งหลายจงหยุด หยุดด้วยนะโมพุทธายะ” ว่าประมาณ ๒ จบแล้วเป่าลงไปที่นํ้ามัน เวลาเป่าให้ว่าอีก ๑ จบ (ว่าในใจ) ต่อไปสูดลมหายใจเข้าว่า และเป่าอย่างเดิมให้ครบ ๗ ครั้ง จิตนึกภาพนํ้ามันและตั้งจิตไว้ตรงกลางนํ้ามัน ปล่อยกระแสจิตลงไป น้ำมันร้อนขึ้นมากแล้วก็เริ่มภาวนา ว่าบทดับพิษร้อน โดยสูดลมหายใจเข้าอัดไว้ ภาวนาในใจว่า

“มะอะอุ นะมะพะทะ สะกะพะจะ” ว่าประมาณ ๕ จบ หรือ ๗ จบ แล้วเป่าลงไป เวลาเป่าภาวนาอีก ๑ จบ ต่อไปก็สูดลมเข้าภาวนาและเป่าอย่างเดิมอีกเรื่อยๆ ไป จนน้ำมันเริ่มเดือดจิตนึกภาพน้ำมันและตั้งใจปล่อยกระแสจิตลงไปที่นํ้ามันตลอดเวลา ถ้าเริ่มจะเหนื่อยก็ภาวนาเป็นสมาธิ คือไม่ต้องอัดลมไว้หายเหนื่อยดีแล้ว ก็ภาวนาด้วยวิธีอัดลมอีกหลายครั้ง

เมื่อนํ้ามันเริ่มเดือด จะลองเอานิ้วจุ่มลงตรงไหนก็ตั้งจิตนึกถึงตรงนั้น สูดลมหายใจเข้า อัดลมไว้ หลับตา ภาวนาคาถาดับพิษร้อน ๓ จบ แล้วเป่าลงตรงที่จะเอานิ้วจุ่ม พร้อมด้วยว่าคาถาบทดับพิษร้อนอีก ๑ จบ ต่อไปสูดลมหายใจอัดลมไว้ เอานิ้วชี้ ชี้เข้าใกล้น้ำมันเกือบจะแตะนํ้ามันภาวนาว่า “นะโมพุทธายะ” แล้วเอานิ้วชี้แตะลงในนํ้ามันพร้อมกับภาวนาว่า “ปะติรูปัง” ยกนิ้วขึ้นดู ถ้ารู้สึกอุ่นๆ เวลาแตะนํ้ามันเมื่อยกนิ้วขึ้นมาก็หายร้อนหายอุ่น ก็เป็นอันว่าดับพิษร้อนได้ผลดีแล้ว ต่อไปให้หายใจเข้าอัดลมไว้เอานิ้วเตรียมจุ่มซํ้าอีกว่า “นะโมพุทธายะ” เวลาจุ่มว่า “ปะติรูปัง” จุ่มให้ลึกลงไปประมาณกึ่งกลางนิ้ว เมื่อยกมาไม่ร้อนก็ใช้ได้

การตักนํ้ามันขึ้นอม ทำเหมือนการเอานิ้วจุ่มครั้งแรกคือ จะตักตรงไหนก็ว่าบทดับพิษร้อนเป่าลงไป ช้อนที่จะตักควรใช้ช้อนกระเบื้อง ถ้าไม่มีใช้ซ้อนสังกะสีเคลือบล้างให้สะอาดเวลาจะตักสูดลมเข้าอัดไว้ว่า “นะโม- พุทธายะ” แล้วตักนํ้ามันมาเล็กน้อย ขณะเทใส่ปากให้ภาวนาว่า “ปะติรูปัง” แล้วพ่นนํ้ามันออกมา เมื่อไม่ร้อน เพียงอุ่นๆ ครั้งหลังก็ตักนํ้ามันมากขึ้น

การทำครั้งแรกไม่ชำนาญเมื่อนํ้ามันเริ่มเดือด ให้ลดไฟเหลือน้อยๆ ถ้าเป็นถ่านก็ตักถ่านออกให้เหลือแต่น้อย จะได้มีเวลาดับพิษร้อนได้นานพอควร ถ้าเวลาเอามือจุ่มทดลองรู้สึกร้อนมากยกนิ้วขึ้นก็ร้อนเผ่าๆ ร้อน ตุบตุบก็ยังดับพิษร้อนไม่ลง ต้องภาวนาดับพิษร้อนใหม่อีกหลายๆ ครั้ง

ข้อควรระวัง เมื่อเครื่องยาในกะทะเริ่มเหลืองจัด จะแห้งและเกิดความร้อนภายในกะทะ มีควันในกะทะขึ้นบ้าง ให้เลิกทดสอบเอามือจุ่ม หรือตักอมเพราะดับพิษร้อนระยะนี้จะดับยากสำหรับผู้ฝึกใหม่ ธรรมชาติของนํ้ามันถ้าไฟร้อนจัดเกินไปจะเกิดร้อนจัดในกะทะ และมีเปลวไฟลุกขึ้นในกะทะเหมือนที่เห็นตามร้านอาหารเขาผัดผักบุ้งไฟแดง ผู้ฝึกดับพิษร้อนใหม่ๆ พอนํ้ามันเริ่มจะเดือดจึงควรราไฟให้มีความร้อนแต่น้อยๆ ก่อนเมื่อเครื่องยาเริ่มเหลืองก็ยกกะทะลง

นํ้ามันที่กำลังเดือด ถ้าตักใส่ปากพ่นลงตรงที่เจ็บปวด หรือที่เป็นฝีมักจะได้ผลดีกว่าเอานํ้ามันที่เย็นแล้ว ทานํ้ามันที่เย็นแล้วจะเสกให้เป็นยาอีกหลายครั้ง หรือหลายวันยิ่งดี การเสกก็ใช้อัดใจภาวนาคาถาหลายจบ
แล้วเป่าลงพร้อมด้วยภาวนาคาถาด้วย อย่าลืมนึกภาพนํ้ามันตั้งจิตให้ดิ่งลงไปสู่นํ้ามันเสมอ

การปล่อยกระแสจิตลงนั้น ถ้าเหนื่อยก็จะปล่อยกระแสจิตลงได้ผลน้อย ดังนั้นเวลาเอาน้ำมันตั้งไฟอยู่ หรือนํ้ามันที่เย็นแล้วเมื่อเสกหรือภาวนาแล้วเป่าหลายที เริ่มเหนื่อยก็ให้ภาวนาโดยหายใจเข้าออกเบาๆ สบายๆ แบบทำสมาธิ ไม่ต้องอัดลมหายใจไว้นึกภาพนํ้ามันและตั้งจิตดิ่งลงไปในนํ้ามัน ทำแบบนี้ไม่เหนื่อยเพราะไม่ได้อัดลมหายใจไว้เป็นการพักให้หายเหนื่อยไปในตัว แต่ก็ยังเสกหรือปล่อยกระแสจิตลงไป วิธีนี้เรียกว่า ภาวนา เป็นสมาธิ พอหายเหนื่อยแล้วก็เริ่มใช้วิธีอัดลมหายใจ ภาวนาแล้วเป่า เพราะเป็นวิธีที่ปล่อยกระแสจิตได้ดี แล้วก็ภาวนาเป็นสมาธิสลับกันไป

การเป่ารักษาโรค การเป่าดับพิษร้อนให้แก่คนถูกน้ำร้อนลวกไฟไหม้ ก็อาศัยการเป่าโดยนึกภาพ และปล่อยกระแสจิตลงไปคล้ายการเสกนํ้ามัน นํ้ามันที่ทำไว้นั้นใช้ทาแก้ฟกบวมเจ็บปวด ทาตุ่มคันที่เป็นแผลเป็น นํ้าเหลือง นํ้าหนอง ควรเก็บน้ำมันพร้อมกับเครื่องยาที่ใส่กะทะแช่กันไว้นานเข้า นํ้ามันจะมีสีเขียวๆ ถ้าใช้น้ำมันมะพร้าวแท้เคี่ยวเอง ปลุกเสกไว้หลายหนจะได้ผลดี นํ้ามันมะพร้าวที่ขายส่วนมากปนนํ้ามันนุ่น หรือนํ้ามันอื่น ใช้มะพร้าวเสียปนจึงนำมาใช้ไม่ค่อยได้ผล

ถ้าจะให้ใช้ได้ผลดีขึ้นใช้ใส่แผลธรรมดาแผลเรื้อรังมานานใช้รักษาคนถูกนํ้าร้อนลวกไฟไหม้ได้ด้วย ให้เอาไพลหนัก ๕ บาท ขมิ้นอ้อยหนัก ๕ บาท บอระเพ็ดทั้งเถา และใบพลูหนัก ๑๐ บาท ทั้ง ๓ อย่างนี้ตำแหลกพอควร หรือจะหั่นบางๆ ก็ได้ เอาพิมเสนหนัก ๒ สลึง ใส่รวมกันลงไปแล้วเอานํ้ามันที่เสกแล้วซึ่งมีไพล, ขมิ้นอ้อยและ ใบพลูอยู่ด้วยประมาณ ๓ ขวดใหญ่เทปนลงไปใส่กะทะ ยกตั้งไฟเคี่ยวพอตัวยาเหลืองก็ยกลงเก็บไว้ใช้จะปลุกเสกไว้หลายๆ ครั้งอีกยิ่งดี หรือจะมีตัวยาอื่นที่ได้ผลดีมาผสมนํ้ามันที่เสกแล้วก็ได้ผลดีตามต้องการยิ่งขึ้น เช่น นํ้ามันเลียงผาชนิดแท้ ว่านที่มีกำลังในการรักษาดีเป็นต้น

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

การใช้พลังจิตขับปรอทเข้าไปรักษาโรค

ปรอท

ใช้พลังคุณพระอย่างเดียว หรือพลังตนเองช่วยขับปรอทเข้าไปรักษาโรคต่างๆ
จัดพานบูชาครู มีดอกไม้, ธูป ๓ ดอก เทียนขาว หนัก ๑ บาท ๒ เล่ม (ไม่มีเทียนขาวก็ใช้เทียนเหลืองได้) เงินบูชาครู ๑๒ บาท
พระอาจารย์ที่ใช้ปรอทรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีกว่า ๓๐ ปี และสอนศิษย์ให้ทำได้ไว้หลายคนคือ พระอาจารย์ หลวงพ่อรอด หรือเรียกกันว่า “หลวงพ่อรอดเสือ” ตามประวัติว่า สมัยรัชกาลที่ ๑ หรือ สมัยต้นกรุงเทพฯ ต่อจากสมัยกรุงธนบุรี หลวงพ่อรอดเป็นผู้สร้าง “วัดประดู่ โรงธรรม” ใหม่ แทนวัดประดู่โรงธรรมเก่าและเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ภายหลังเรียกว่า “วัดประดู่ทรงธรรม” หลวงพ่อรอดองค์นี้เล่าลือกันว่าเป็นพระยอดเยี่ยมในด้านวิชาอาคม มีชื่อเสียงโด่งดังในการใช้ปรอทรักษาโรคต่างๆ สอนศิษย์ไว้มาก อาจารย์ทรัพย์เป็นศิษย์โดยตรงของหลวงพ่อรอด ได้สอนวิชาใช้ปรอทรักษาโรคให้อาจารย์เสงี่ยม จิตตานนท์ ถนนธรรมเกษร ซอย ๔ อ.เมือง นครสวรรค์ อาจารย์เสงี่ยมสอนวิชาปรอทรักษาโรค ให้แก่ผู้เขียน (พ.อ.ชม) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ผู้เขียน ใช้ปรอทที่ไม่มีพิษรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ มาจนถึงปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้เรียนวิธีใส่ปรอทวิธีฆ่าพิษปรอทจากพระอาจารย์ในดง เมื่อเชื่อมั่นว่าฆ่าพิษปรอทหมดแล้วจึงได้ทดลองกินปรอทที่ฆ่าพิษแล้ว หลายครั้ง กินปรอทที่ฆ่าพิษแล้วครั้งละหนัก ๑ บาท, ๒ บาท, ๓ บาท และหนัก ๔ บาท ไม่มีพิษแต่กลับไปช่วยรักษาโรคต่างๆ ในกะเพาะลำไส้ให้หายได้เร็วขึ้น ตั้งแต่หลวงพ่อรอดใช้ปรอทรักษาได้ผลเร็วมาเป็นเวลา ๓๐ ปี และผู้เขียนก็ใช้ปรอทรักษาโรคมาอีกกว่า ๓๐ ปี รักษาคนไข้มามากกว่า ๒๐๐ คน ก็ได้ผลดี ไม่มีโทษไม่มี พิษได้สอนให้ศิษย์ใช้ปรอทรักษาโรคมามากกว่า ๓๐๐คน ในปัจจุบันก็ยังใช้ปรอทรักษาโรคและสอนให้ผู้สนใจรักษาด้วยปรอททุกคนโดยไม่คิดค่าสอน ติดตามผลมากว่า ๓๐ ปี ไม่พบโทษของปรอท ตามที่ทดลองรักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็งได้ผลดีใช้เวลาไม่เกิน ๕ วัน อาการจะดีขึ้นมาก คือใน ๕ วัน ผลคือ นอนหลับได้ยาว อ่อนเพลียน้อยลง กินอาหารได้มากขึ้นความปวดหายไปวิธีได้ผลดีที่สุด คือ ใช้รักษาด้วยปรอทและยาประกอบการใช้พลังจิต ได้พยายามค้นคว้าทดลองรักษาโรคที่ฝรั่งยังไม่มียารักษาได้ผลดีอีกหลายโรค มีรายละเอียดวิธีรักษาวิธีใช้ยาและใช้พลังคุณพระพลังจิตประกอบกับยา พร้อมระยะเวลา ในการรักษาโดยเฉลี่ยจากการรักษาโรคต่างๆ เป็นเวลายาวนานจึงกล้าบอกได้ว่าโรคอะไรรักษาให้หายได้ในระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้เฉลี่ยได้ใกล้เคียงมากในระยะเวลาเท่าใด จากผลการรักษาของอาจารย์แผนโบราณที่รักษาได้ผลดีจริงๆ ดังปรากฏอยู่ใน “แพทย์ ๓ แผนนำสมัย” เล่มแรกและเล่มที่ ๒ อธิบายวิธีรักษาเอดส์ มะเร็ง เบาหวาน, หืด, ไซนัส, พิษสุนัขบ้า, นิ่วในไตและในดี, ต่อมลูกหมากโต ไวรัส เชื้อราแบบแห้งที่ดื้อยา ทอนซิลอักเสบ ริดสีดวงทวารและลำไส้ กระดูกหักและอื่นๆ อีก หลายอย่าง ได้บอกวิธีรักษาทุกรูปแบบและครบบอกของแสลง วิธีปฏิบัติตน, การออกกำลังกายที่พอเหมาะกับโรค การสะกดจิต และวิธีใช้พลังจิตรักษาตนเอง การไล่ผี การตอนของที่ถูกกระทำทางไสยศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้น สงสัยถามได้ อยากจะเรียนก็สอนให้

การจัดพานบูชาครูปรอท แบบง่าย
ในพานมีดอกไม้, ธูป ๓ ดอก, เทียนหนัก ๑ บาท ๒ เล่ม เงินบูชาครู ๑๒ บาท ปรอทหนักประมาณ ๒ บาทจุดเทียนธูปบูชาพระ แล้วอัญเชิญเหมือนวิชารูดโซ่ลุยไฟแบบลัด แล้วเอานํ้ามนต์ทาฝ่ามือคนไข้ เทปรอทลงที่ฝ่ามือ โดยธรรมดาเทปรอทลงที่ฝ่ามือซ้ายของคนไข้ ตาเพ่งที่ปรอทภาวนา “คาถาปลุก” ๑ จบ พร้อมกับเอาหัวแม่มือขวาถูปรอท ฝ่ามือซ้ายของผู้รักษารองฝ่ามือซ้ายของคนไข้

คาถาปลุก ว่าดังนี้ “อมเพ็ชชะคงคง พระพุทธัง คงหนัง พระธัมมังคงเนื้อ พระสังฆังคงกระดูก พระพุทโธแว พระธัมโมแหว พระสังโฆแวะ”

ต่อไปอัญเชิญคุณพระ คุณครูอาจารย์ ให้มาใส่ปรอท ทั้งนี้เพื่อให้ศิษย์เห็นว่า คุณพระ คุณครูอาจารย์ ก็สามารถมาช่วยรักษาโรคได้จริง ให้ทำจิตเป็นสมาธิ แล้วภาวนาว่าดังนี้

“ข้าขออาราธนา คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูอาจารย์ มีหลวงตาดำ อาจารย์ชาญณรงค์ หลวงพ่อรอด เป็นต้น ขอให้มาช่วยใส่ปรอทรักษาคนไข้ ณ บัดนี้ด้วยเถิด” ขณะว่าก็เอาหัวแม่มือขยี้ปรอทที่ฝ่ามือคนไข้เรื่อยไปโดยไม่ต้องภาวนาคาถา อะไรและไม่ต้องเป่า อาจจะเอามือขยี้ปรอทไปเรื่อยๆ หรือจะอธิบายให้รู้ว่าคุณพระ คุณครูอาจารย์มาช่วยได้เป็นต้น ปรอทจะเข้าไปในตัวคนไข้ เป็นปรอทที่มีพลังแล่นไปหาโรค รักษาโรคตามเจตนาที่ตั้งไว้ ที่เหลืออยู่ในฝ่ามือคนไข้เรียกว่า “ขี้ปรอท” ยังใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เมื่อ ศิษย์เห็นแน่ชัดว่าคุณพระช่วยใส่ปรอทได้จริง ต่อไปก็ใส่ปรอทเข้าตัวคนไข้ด้วยพลังจิตพลังสมาธิของตนเป็นหลัก มีพลังคุณพระร่วมด้วย

การรักษาโรคโดยอาราธนาคุณพระมาช่วยดังกล่าวนั้นเป็นเพียงทำเพื่อสอนศิษย์ได้รู้เห็นว่าอำนาจคุณพระช่วยได้ ในการรักษาคนไข้ไปตามปกติ คือการใช้ทั้งพลังคุณพระ และพลังสมาธิของตน เมื่อเทปรอท ใส่มือคนไข้แล้ว เอาหัวแม่มือขวาขยี้ปรอทพร้อมกับ
ภาวนา “บทคาถาปลุก” คือ “อมเพชชะคงๆ………….พระสังโฆแวะ”
ต่อไปจึงภาวนาบทรักษาโรค

“สมุหะคัมภีรัง อโจระพยัง อะเสสะโต โสภะคะวา พุทโธหยุด ธัมโมหยุด สังโฆหยุด โรคภัยทั้งหลายจงหยุด หยุดด้วยนะโมพุทธายะ”

ในระหว่างที่ภาวนาคาถารักษาโรค และอัดลมหายใจไว้ ก็ใช้หัวแม่มือขยี้ปรอทให้เข้าตัวคนไข้ และแล่นไปรักษาบริเวณที่เป็นโรคหรือมีอาการเจ็บปวด แล้วเป่าลงไปที่ปรอทพร้อมกับภาวนาบทคาถาเรียกเข้าว่า “นขา โลมา ตโจ” ประมาณ ๓ หรือ ๔ จบ ต่อไปหายใจเข้าอัดลมไว้ ภาวนาคาถารักษาโรคอีกบทหนึ่ง คือ “สมิจจะ สังโฆศิษตัง สโมหะนัยยะ พุทธังละลาย ธัมมัง ละลาย สังฆังสูญหาย โรคทั้งหลายหายด้วย นะมะ- พะทะ” หัวแม่มือก็ขยี้ปรอทและเป่าลงพร้อมกับภาวนา พระคาถาเรียกเข้า ว่า “นขา โลมา ตะโจ” ๓ หรือ ๔ จบ

ถ้าจะใช้คาถาบทอื่นอีกก็ทำเช่นเดียวกันจะใช้คาถาอะไรก็ตามจะต้องมีบท “สมุหะคัมภีรัง…………..”ด้วยเสมอ ถือเป็นคาถาหลักของพระอาจารย์ในดง

เมื่อปรอทศักดิ์สิทธิ์เข้าตัวคนไข้จะมีขี้ปรอทละเอียดเหมือนแป้งฝุ่นบนฝ่ามือคนไข้ ต้องคอยเอานิ้วปาดขี้ปรอทมาใส่ลงในถ้วยน้ำมนต์เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ขี้ปรอทปิดรูที่ปรอทรุ่นหลังจะเข้าไปในร่างกายคนไข้ ปรอทที่เทใส่ฝ่ามือครั้งแรกเข้าร่างกายหมดก็เทปรอทเติมอีก แล้วทำเช่นเดิมจนหมดปรอทที่ต้องการใส่คนไข้

ขนาดที่จะใส่ให้คนไข้ครั้งหนึ่งใช้ปรอทหนักตามกำลังคนไข้ วันแรกใส่ หนัก ๒ สลึง เด็กใส่หนัก ๑ สลึง วันที่ ๒ ใส่หนัก ๒ บาทหรือ ๓ บาท วันต่อไปใส่หนัก ๖ บาท พิจารณาอาการของคนไข้ และความแรงของโรค เวลาที่ดีในการใส่ปรอท ตอนกลางวันอากาศร้อน ปรอทจะหนีออกไปได้ง่าย อาจแบ่งใส่ตอนเช้า ๓ บาท ตอนเย็น ๓ บาท ส่วนเด็กอาจเพิ่มเป็น ๒ สลึงหรือ ๑ บาท เมื่อใส่ปรอทเข้าร่างกายเสร็จแล้ว จะทดลองเรียกออกมาก็ได้ โดยเช็ดมือซ้ายของคนไข้ที่ใส่ปรอทให้แห้งดีแล้ว ใช้นิ้วชี้ ของเราเคาะๆ บนฝ่ามือที่ใส่ปรอท ภาวนาคาถาเรียกออกว่า “ทันตา ทันตา” ในขณะที่เคาะปรอทจะออกมา เป็นเม็ดเล็กๆ กวาดรวมกันก็เป็นปรอทมากขึ้น ถ้าใช้สมาธิขั้นกลางเคาะหรือแตะพร้อมเรียกออกปรอทจะออกมามากชั่วเดี๋ยวเดียว

เรื่องปรอทและวิธีใช้ปรอทนับว่าเป็นสิ่งจำเป็น และช่วยชีวิตคนได้มาก ยิ่งในสมัยนี้ในปี ๒๕๔๐ มีการทดลองปรมาณูจึงกระจายไปทั่วโลก ในศิลาจารึกพุทธทำนายที่อินเดียได้กล่าวไว้ว่า ปี ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๑ จะได้รับภัยทุกประเทศไม่มียกเว้น แต่ภัยในเมืองพุทธศาสนาเมืองไทยจะมีภัยเบาบาง ภัยจากรังสีปรมาณูหรือรังสีที่นำมาใช้รักษาโรคนั้นร้ายแรง ฝรั่งไม่มีวิธีแก้พิษรังสี แต่ปรอทไร้โทษที่ใช้รักษาโรคนั้นสามารถล้างหรือทำลายพิษรังสีได้ วิธีที่พิสูจน์ง่ายๆ ก็คือ ผิวหนังที่ฉายแสง รักษาโรคจะมีผิวสีดำ และมีความร้อนระอุอยู่ภายในเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นจะแข็ง ถ้านํ้ากระเด็นไปถูก จะทำให้ผิวหนังนั้นพอง แม้นานถึง ๒ เดือนนํ้ากระเด็นใส่ก็พอง แต่ถ้าใช้ปรอทที่เสกปนนํ้ามนต์ทาจะไม่พอง และผิวสีดำจะหายดำในเวลาประมาณ ๑๐ วัน ยังมีวิธีพิสูจน์อีกหลายอย่างว่าปรอทและพลังจิตทำลายล้างพิษรังสีได้

สาเหตุที่นำเรื่องปรอทมากล่าว เพราะปรอทมีความเกี่ยวข้องกับพลังจิตมาก เมื่อใช้พลังจิตใส่ปรอทเข้าทางฝ่ามือจะไปช่วยรักษาโรคเอดส์, โรคมะเร็ง, ไซนัส, ทอนซิลอักเสบ, ไวรัสบี, วัณโรคชนิดดื้อยา (ดื้อยา เพราะรักษาบ้างหยุดบ้าง, คนแพ้ยา, และวัณโรคชนิดสะปอร์ (มีพังผืดหุ้ม, ยาฝรั่งเข้าไม่ได้) เป็นต้น ความจริงปรอทรักษาโรคได้หลายอย่าง แต่ตำราฝรั่งกล่าวไว้ว่า รักษาโรคได้ ๗ ชนิด มีปรากฎในหนังสือแพทย์ศาสตร์ นิทเทส (วิชาแพทย์แผนปัจจุบัน) ของขุนนิเทสสุขกิจ อดีตเลขาธิการนายทะเบียน และหัวหน้ากองควบคุมการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๑๕๐๑ หน้า ๗๖, ๙๓, ๑๐๐, ๑๒๑, ๑๓๘, ๑๔๔, และหน้า ๑๔๙ คือ
หน้า ๗๖ ปรอทเป็นยาประเภทยาถ่าย
หน้า ๙๓ ปรอทเป็นยาขับน้ำดี
หน้า ๑๐๐ ปรอทเป็นยาบำรุงกำลัง
หน้า ๑๒๑ ปรอทเป็นยาแก้ปวด
หน้า ๑๓๘ ปรอทเป็นยาขับปัสสาวะ
หน้า ๑๔๔ ปรอทเป็นยาปรับปรุงสุขภาพ
หน้า ๑๔๙ ปรอทเป็นยาฆ่าเชื้อโรค

ฝรั่งไม่รู้วิธีฆ่าพิษปรอท จึงพากันยึดมั่นว่าปรอทมีพิษให้โทษร้ายแรงมาก แต่พระอาจารย์ในดงลึก และฤๅษีที่มีฤทธิ์รู้วิธีฆ่าพิษปรอทรู้นำปรอทมาใช้รักษาโรคต่างๆ หลายชนิดได้ผลดี ดังมีหลักฐานในศิลาจารึกวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในหน้า ๑๖๔ (ดูได้จาก หอสมุดแห่งชาติ) ใจความว่า “มีฤๅษีชื่อ ภรัตะ เป็นผู้หมั่นเพียร และรอบรู้ในตำรับปรอท”

ในระหว่างพ.ศ. ๒๔๕๐ ถึง ๒๕๐๐ หลวงพ่อรอดวัดประดู่ทรงธรรม ใกล้สถานีรถไฟ จังหวัดอยุธยา เป็นผู้ใช้ปรอทรักษาโรคต่างๆ โดยวิธีนำปรอทเข้าทางฝ่ามือ ได้ผลดีจนมีชื่อเสียงมาก และมีศิษย์เรียนต่ออีกหลายราย ผู้เขียนเองก็ได้วิธีของหลวงพ่อรอด และของพระอาจารย์ในดง ใช้ปรอทรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงบัดนี้นับเป็นเวลา ๓๗ ปี อย่าได้หลงเชื่อว่าฝรั่งจะต้องเก่งกว่าคนไทยทุกอย่าง เมื่อเห็นว่าฝรั่งรู้จักฆ่าพิษงูเอามาทำยาฆ่าพิษเชื้อโรค เอามาทำยาได้หลายอย่าง แต่ฆ่าพิษปรอทไม่เป็นก็เลยเชื่ออย่างงมงายไปว่า ไม่มีชาติอื่นจะฆ่าพิษปรอทได้ วิธีฆ่าพิษปรอทเพื่อนำมารักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีนั้น ผู้เขียนได้อธิบายไว้โดยละเอียดในหนังสือแพทย์สามแผน และได้สอนให้คนอื่นใช้ปรอทรักษาโรคต่างๆ มากว่า ๓๐ ปี (สามสิบปี) โดยใช้พลังจิตพลังคุณพระประกอบกับปรอทพระอาจารย์ในดง สอนวิธีฆ่าปรอทและรักษาโรค ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยของกรมการศาสนา (ชุด ๘๐ เล่ม) เล่ม ๔๗ หน้า ๖๓๒ กล่าวถึงวิธีรักษาโรคไว้ ๕ วิธีดังนี้

การรักษาโรค ๕ อย่างคือ “รักษาทางเสกเป่า (ใช้พลังจิต) ทางผ่าตัด, ทางยา, ทางภูตผี, รักษาทางกุมาร” รักษาทางภูตผี คือการใช้พลังจิตไล่ผีที่มาเข้าคนหรือถอนของที่ถูกกระทำทางไสยศาสตร์ ฝรั่งไม่ใช้วิธีเสกเป่า (วิธีใช้พลังคุณพระพลังจิต) และวิชาทางภูตผี จึงรักษาโรคไม่หายหลายอย่าง

“อย่าใช้ก่อนหา อย่าว่าก่อนเห็น”
ฝรั่งเอาของมีพิษมาทำยาได้ ฆ่าพิษได้ พากันเชื่อถือยกย่องเช่นเอาพิษงู เอาเชื้อโรคซึ่งมีพิษภัยมาฆ่าพิษทำยาหลายอย่าง กลายเป็นยาดีพากันเชื่อยกย่อง เอาของมีพิษภัยมาใช้รักษา เช่นรังสี, ยาคีโม และยาอื่นๆ ที่มีพิษภัยมาใช้ ก็เชื่อฝรั่ง แต่พระอาจารย์ในดง ฤๅษีผู้มีฤทธิ์ ฆ่าพิษปรอทได้ ฆ่าพิษยาอื่นๆ มาเป็นยาที่ดี กลับไม่เชื่อไม่พิสูจน์ การใส่ปรอทจะใส่มากน้อยเพียงใด ให้พิจารณาโรคอะไรและกำลังคนไข้ที่จะรับได้ และผลที่เกิดจากการใส่ปรอท

ผลที่เกิดขึ้นจะสังเกตได้หลังจากใส่ปรอทไปแล้ว ๑ วันหรือ ๒ วัน คือมีผลให้นอนหลับได้สนิท หลับได้ยาว อาการเจ็บปวดลดลงกินอาหารได้ดีขึ้น รู้สึกมีกำลัง ความอ่อนเพลียน้อยลง

การใช้พลังจิตรักษาโรคต่างๆ ก็ทำเช่นเดียวกับการส่งพลังไปทำให้คงกระพัน ทำให้เอามือล้วงน้ำเดือดได้ตักกินได้ และการส่งพลังจิตพลังคุณพระกอบโซ่ที่เผาไฟจนร้อนแดงได้ การใส่ปรอทได้มีหลักสำคัญเหมือนกัน คือ อาราธนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดา
มารดาคุณครูอาจารย์ให้มาช่วย    การทำจิตให้เป็นสมาธิ เพ่งจิตส่งพลังจิตไปยังที่ต้องการให้เกิดผลตามที่ต้องการ ส่วนบทคาถาที่นำมาใช้ก็มีต่างๆ ตามที่จะให้เกิดผลอะไร

การที่กล่าวว่า ในวันเดียวก็สอนให้ทำสมาธิ¬วิปัสสนา และใช้พลังจิตให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้นั้น ก็สอนให้ศิษย์ลงมือทำสมาธิวิปัสสนาให้ถูกต้องและให้ศิษย์รู้ตรวจสอบได้ด้วยตนเองว่า เวลานี้ตนได้สมาธิอยู่ในระดับใด และจะฝึกให้ก้าวหน้าต่อไปนั้น ปฏิบัติอย่างไร ? เมื่อให้ศิษย์ลงมือทำสมาธิวิปัสสนาได้ถูกต้อง และรู้วิธีที่จะฝึกให้ก้าวหน้าต่อไปแล้วจึงสอนให้ใช้พลังจิตจากง่ายไปยากตามลำดับที่กล่าวมาแล้ว ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้จึงสอนให้ทำสมาธิวิปัสสนา สอนให้ใช้พลังจิตรักษาโรคที่ฝรั่งไม่มียารักษาที่ได้ผล คือ ให้รู้วิธีรักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ได้จริงอีกหลายโรค และผู้เขียนทำการสอนดังกล่าวมาแล้วได้ผลแล้วทุกคนมาเป็นเวลากว่า ๓๕ ปี จึงกล้ากล่าวกล้าเขียน เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันไว้ เพื่อมิให้วิชาดีๆ เสื่อมสูญไป เป็นการช่วยเพื่อนมนุษย์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เห็นให้เชื่อว่าคุณพระมีจริงช่วยได้จริง

ประเทศไทยไม่เป็นเมืองขึ้น ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ และไม่ได้รับภัยร้ายแรงเหมือนประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ก็เพราะคุณพระช่วยได้จริง กฎโดมิโนของฝรั่งที่ว่ารอบๆ เป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอยู่กลางก็ต้องเป็น คอมมิวนิสต์รอบๆ เป็นเมืองขึ้น กลางก็ต้องเป็นเมืองขึ้น เขาเอาเป็นเมืองขึ้นโดยให้ผู้นำประเทศไปลงเรือรบเขา แล้วเซ็นสัญญายอมเป็นเมืองขึ้นพม่าไม่ยอมจึงรบกับฝรั่ง ๓ ชั่วโมง ตายมากก็ยอมเป็นเมืองขึ้น ส่วนไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ พอลงเรือของฝรั่งเรือรบเอียง ฝรั่งตกใจยังไม่กล้าให้เซ็นสัญญา รอพิจารณาดูก่อน แต่คืนนั้นในห้องแม่ทัพฝรั่งซึ่งมีการป้องกันกันรอบคอบ ก็มีอาจารย์ในดง ที่ไม่ได้บวช หายตัวเข้าไปเอาดาบจี้คอขู่ให้ถอยกลับไป มิฉะนั้นจะถูกฆ่าได้ทุกเวลา รุ่งเช้าเรือรบฝรั่งก็ไม่กล้ามาเอาเป็นเมืองขึ้นรีบกลับประเทศตน ในประวัติศาสตร์ ก็มีกล่าวถึงโกษาปานไปฝรั่งเศส ได้ให้ทดลองทำพิธียิงโกษาปานไม่มีอันตราย เรื่องเรือรบฝรั่งยอมถอยไป ผู้เขียนได้ฟังจากพระอาจารย์ในดงเอง และทราบรายละเอียดหลายเรื่อง ในประเทศไทยมีพระและคฤหัสถ์ที่เรียนจบฌานจำนวนมากและอาจารย์ในดงที่มีฤทธิ์ก็มีมาก ทำหน้าที่สำคัญคือสืบต่อพระพุทธศาสนา หลักสูตรสุดท้ายก่อนจะเรียนเหาะ มีกฎให้สอนศิษย์ให้จบฌาน อย่างน้อยหนึ่งรุ่น และการจะให้ศาสนาดำรงอยู่ได้ก็ต้องรักษาประเทศชาติไว้ด้วย เพราะไทยเป็นที่ตั้งมั่นคงใกล้เคียงสมัยพุทธกาลมากกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อมีภัยพิบัติมากในไทยท่านผู้มีฌานมีฤทธิ์ ทั้งในประเทศในป่าก็ช่วยให้หนักเป็นเบาหรือหมดไป ให้สังเกตใน พ.ศ.๒๕๔๐ ประเทศต่างๆ มีภัยมากตายมาก และมีภัยซํ้าซากมาก แต่ประเทศไทยภัยน้อยตายน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และ พระอาจารย์ในดงก็ออกมาชั่วคราวและมาอยู่นานวันหลายจังหวัดเพื่อช่วยประเทศชาติ มีการเหาะการหายตัว ให้คนเลื่อมใสในศาสนาได้เห็น และเชื่อในพระไตรปิฎก เลื่อมใสยิ่งชึ้น เพราะเห็นความอัศจรรย์มีการเหาะเหินได้จริง มีเทวดา ผี นรกสวรรค์จริง ตามพระไตรปิฎก ผู้ยังหลงผิดไม่เชื่ออย่างเหนียวแน่น ก็แล้วแต่บุญกรรม เหมือนสมัยพุทธกาล.

ในระยะกึ่งพุทธกาลทั้งฝรั่งและไทยมีการทำนายเหตุการณ์ผิดบางถูกบ้าง ทำนายเปลี่ยนไปต่างๆ เรื่อยมา เพราะเป็นการทำนายแบบโลก ส่วนการทำนายที่แม่นยำ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะจารึกอยู่ในศิลาจารึกที่พุทธคยา ได้แปลเป็นไทยพิมพ์แจกเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ซึ่ง แม่นยำทุกข้อ สมเหตุสมผล เป็นพุทธทำนาย ที่ยึดถือ และพิสูจน์ได้ ด้วยการดูเหตุการณ์จริง ในปี ๒๕๔๐ ถึง ต้นปี ๒๕๔๑ มีเขียนไว้ในหนังสือ “แพทย์ ๓ แผน นำสมัย” หน้า ๒๐๒ ในหัวข้อว่า ภัยร้ายแรงกำลังเกิด และวิธีเอาตัวรอด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ เล่มละ ๙๐ บาท มีอธิบายวิธีรักษาโรคเอดส์, มะเร็ง, เบาหวาน, หืด, ไซนัส, พิษสุนัขบ้า, นิ่วในไต ในถุงน้ำดี, ต่อมลูกหมากโต อักเสบ, ริดสีดวงทวาร และโรคอื่นๆ ที่ฝรั่งยังไม่มียารักษา

แพทย์ ๓ แผนนำสมัย มี ๒ เล่ม อธิบายวิธีรักษาทุกรูปแบบ และครบวงจร คือ อ่านแล้วสงสัยก็ถามได้ ขอเรียนก็สอนให้โดยไม่คิดค่าสอน สอนและให้พิสูจน์มาเป็นเวลา ๔๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ สอน รักษาโรคครบ ๕ วิธี ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกของกรมการศาสนาเล่ม ๔๗ หน้า ๖๒๓ กล่าวถึงวิธีรักษาโรค ๕ อย่างคือ “รักษาทางเสกเป่า, ทางผ่าตัด, ทางยา, ทางภูตผี, รักษาทางกุมาร” รักษาทางเสกเป่าคือการใช้พลังคุณพระ พลังจิต รักษาทางภูตผีคือการไล่ผีที่เข้าสิง การถอนของที่ถูกกระทำทางไสยศาสตร์ แพทย์ฝรั่งไม่ใช้ ไม่สอนวิธีเสกเป่า และวิชาทางภูตผี จึงรักษาโรคไม่ได้ ผลหลายโรค ส่วน “แพทย์ ๓ แผนนำสมัย” สอนครบ ๕ อย่าง พร้อมทั้งวิธีเสกเป่ายา วิธีใช้พลังจิตรักษาตนเอง ของคนไข้ ฯลฯ

อุบายการสอนให้ใช้พลังจิต ทำสมาธิ และรักษาโรคต่างๆ ให้ศิษย์ทำได้ในวันเดียว ก็คือสอนให้ทำสมาธิถูกต้อง และวิธีวัดได้เองว่าตนได้สมาธิขั้นใดแล้ว จะฝึกต่อไปอย่างไรต่อไปสอนให้ใช้พลังจิตออกภายนอก เช่นวิชาคงกระพัน วิชาดันพิษร้อนนํ้าที่กำลังเดือดให้ตักกินได้ สอนดับพิษโซ่เหล็กที่เผาไฟแดงให้จับและกอบขึ้นได้ เมื่อแน่ใจมั่นใจว่าส่งพลังจิตออกได้แล้ว ก็สอนเชิญคุณพระมารักษาโรคได้โดยไม่ใช้พลังของตน แล้วสอนรักษาโรคต่างๆ ด้วยตนเอง ที่สำคัญ คือให้ลงมือทำ ทำผิดก็ให้แก้ไขให้ถูกต้อง นี่คือ อุบายให้สอนจบได้ในวันเดียวทั้ง ๔ ขั้น.
“อย่าใช้ก่อนหา อย่าว่าก่อนเห็น”

ที่มา:ชม  สุคันธรัต

พลังจิตกับการสอนวิชารูดโซ่ลุยไฟแบบลัด

วิชารูดโซ่ลุยไฟ หมายถึง วิชาเผาโซ่เหล็กในเตาถ่านจนร้อนแดงแล้ว เอาฝ่ามือทั้ง ๒ ทดลองลูบโซ่ที่กำลังร้อนแดงดู ถ้ายังร้อนมากไปก็ภาวนาดับพิษร้อนซํ้าอีกหลายๆ หน แล้วทดลองลูบโซ่แดงดูอีก ถ้าร้อนเล็กน้อย ก็เอาฝ่ามือทั้ง ๒ กอบโซ่ที่ร้อนแดงขึ้นได้โดยไม่มีอันตราย วิชารูดโซ่ลุยไฟนี้ใช้ในการเดินลุยไฟก็ได้ คือเดินไปบนถ่านที่เผาไฟร้อนแดงนั้นได้ ผู้ฝึกได้เพียงสมาธิขั้นต้นก็เดินไปบนถ่านไฟได้ แต่จะยืนอยู่นานไม่ได้ ผู้ที่ฝึกสมาธิได้ขั้นกลางแล้วก็สามารถยืนอยู่บนถ่านไฟร้อนแดงนั้นได้นาน ยิ่งได้ถึงสมาธิขั้นสูงก็ยืนอยู่บนถ่านไฟร้อนแดงนั้นนานๆ ได้ หรือจะลงไปนั่งในกะทะใหญ่ที่นํ้ามันที่กำลังเดือด เพื่อเสกให้เป็นยาได้นานตลอดเวลาที่สมาธิยังอยู่ในระดับสูง

การฝึกขั้นที่ ๒ ดับพิษร้อนนํ้าเดือดให้เอามือล้วงลงได้ ตักกินได้นั้นเป็นเพียงการฝึกที่ขออนุญาตพระอาจารย์ในดงนำมาสอนผู้ที่สมาธิไม่มั่นคงพอ ต่อไปจึงสอนเต็มตามพิธีทำน้ำมันเดือดให้เป็นยา ซึ่งจะได้กล่าวภายหลังตามลำดับวิธีในสมัยก่อน การรูดโซ่ลุยไฟที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็เป็นการทำที่ขออนุญาตพระอาจารย์ ชาญณรงค์ด้วยกำลังอธิษฐานใช้ร่วมกับวิชาของอาจารย์ไปล่ เพื่อขอทำแบบง่ายๆ เหมาะในการสอนผู้เริ่มเรียน ส่วนการรูดโซ่ลุยไฟที่ครบถ้วนตามที่ทำกันมาแต่โบราณนั้นก็จะกล่าวภายหลังต่อไป

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงการรูดโซ่ลุยไฟแบบลัดโดยผสมวิธีทำน้ำมันโดยละเอียดค่ายกครู ๖ บาท กับวิชารูดโซ่ลุยไฟครบถ้วน ค่ายกครู ๖ บาท มาสอนแบบลัดง่ายนี้ร่วมกันจึงรวมค่ายกครูเป็น ๑๒ บาท โดยเริ่มต้น
ดังต่อไปนี้

การจัดพานบูชาครู
พานที่ ๑ มีดอกไม้ธูปเทียน และเงินค่าบูชาครู ๑๒ บาท เทียนควรใช้เทียนขาวหนัก ๑ บาท ๓ เล่ม (การรูดโซ่ลุยไฟแบบเดิม ๖ บาท รวมกับวิชานํ้ามันอีก ๖ บาท)

พานที่ ๒ ใส่ใบพลู ๗ ใบ ข้าวสาร ๑ กำมือ ปูนแดงประมาณขนาดหัวแม่มือปูนนี้ใช้ปูนแดงที่ยังไม่ได้ปนสีเสียดโดยเอาใบพลูอีก ๑ใบ มาใส่ปูนแดงบนใบพลูนี้แล้ววางในพาน, เหล้าขาวอีก ๑ ขวด วางไว้นอกพาน

ขันนํ้ามนต์ เอานํ้าใส่ขันค่อนขันเพื่อทำให้เป็นน้ำมนต์

เริ่มพิธี เอาโซ่เหล็กโตประมาณ ๔ หุนยาวประมาณ ๓ ศอก ๑ เส้น เตาถ่านให้เต็มและจุดให้ถ่านติดไฟดีแล้ว จึงเอาปลายโซ่ข้างหนึ่งขดไว้บนถ่านไฟให้ตอนปลายโซ่อยู่ข้างบน ต่อไปจุดเทียนบูชาพระกราบพระแล้วว่า
“นะโม…….” สามจบ แล้วว่า “พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมังสะระณังคัจฉามิ สังฆังสะระณะคัจฉามิ”

“สัคเค กาเม จะรูเป คีริสิขะ ระตะเฎ จันตะลิเข วิมาเน ทีเปรัฐเถ จะคาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต ภุมมาจายันตุ เทวาชะละถะละ วิสะเม ยักขะ-คันธัพพะนาคาติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ ธัมมัสะวะนะกาโล อยัมภะทันตา” (“อยัมภะทันตา” ว่าเพียงหนึ่งครั้ง)

อัญเชิญว่าดังนี้ “ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูอาจารย์ ขอให้มาช่วยดับพิษร้อนให้หมดไป ขอเชิญธาตุนํ้า ธาตุลม มาช่วยดับพิษร้อนทั้งหลายให้สูญสิ้นไป”

ต่อไปทำนํ้ามนต์เอาเทียนจากพานที่ ๑ มาจุด ๑ เล่ม เอาหัวแม่มือขวาและนิ้วชี้หนีบเทียนไว้ มือทั้ง ๒ ข้าง จับขันนํ้ามนต์ ตั้งจิตไว้ที่กึ่งกลางวงกลมนํ้าในขัน ปล่อยให้นํ้าตาเทียนหยดลงประมาณกลางวงกลมนํ้า ว่า “นะโม…” ๓ จบ แล้วอัดลมว่า

“สมุหะ คัมภีรัง อะโจระ ภะยัง อะเสสะโต โสภคะวา พุทโธหยุด ธัมโมหยุด สังโฆหยุด โรคภัยทั้งหลายจงหยุด หยุดด้วยนะโมพุทธายะ” ว่าประมาณ ๒ จบแล้ว เป่าลงไปที่นํ้า เวลาเป่าให้ว่าอีก ๑ จบ (ว่าในใจ) ต่อไปสูดลมหายใจเข้า อัดลมไว้ภาวนาอีก ๒ จบ เป่าลงไปภาวนา ๑ จบ และทำซํ้าอีก ๑ ครั้ง ให้ครบ ๓ ครั้ง ต่อไปภาวนาบทดับพิษร้อนอัดลมไว้ภาวนาว่า

“มะอะอุ นะมะพะทะ สะกะ พะจะ” ๓ จบ แล้วเป่าไปว่าอีก ๑ จบให้ครบ ๓ ครั้ง เช่นเดียวกันกันบทก่อน

ต่อไปเสกของในพานที่ ๒ โดยเอานิ้วทั้ง ๕ แตะลงบนใบพลูข้าวสาร และปูนแดง เสกด้วยคาถาทั้ง ๒ บท เหมือนทำนํ้ามนต์

ต่อไปภาวนาดับพิษร้อนของโซ่บนเตาไฟก้มหน้าลงให้ใกล้เตาไฟประมาณ ๑ คืบเศษ ตั้งจิตไว้ที่กึ่งกลางขดโซ่ ภาวนาโดยอัดลมภาวนาในใจว่า “มะอะอุ นะมะพะทะ สะกะ พะจะ” ประมาณ ๓ ถึง ๕ จบ แล้วเป่าลง พร้อมกับภาวนาอีก ๑ จบ ต่อไปสูดลมเข้าอัดลมภาวนา และเป่าเช่นเดิมหลายๆ ครั้ง เมื่อรู้สึกเริ่มจะเหนื่อยก็ภาวนาเป็นสมาธิ คือทำจิตเป็นสมาธิภาวนา โดยไม่ต้องอัดลม เพ่งจิตไปที่โซ่ในเตาหายเหนื่อยแล้วก็ภาวนาโดยอัดลมหายใจและเป่าเหมือนเดิมเริ่มจะเหนื่อยก็ภาวนาเป็นสมาธิสลับกันไปดังนี้นานพอควร แล้วก็ทดสอบดูว่าดับพิษร้อนหมดหรือยัง โดยใช้ใบพลูในพานที่ ๒ มา ๑ ใบ จุ่มลงในนํ้ามนต์แล้ววางลงบนโซ่ในเตาไฟ ถ้าใบพลูไหม้ เป็นรูใหญ่ แสดงว่าดับพิษร้อนยังไม่หมด ให้ภาวนาด้วยพิษร้อนเหมือนเดิมซํ้าหลายๆ หน แล้วทดลองเอาใบพลูจุ่มนํ้ามนต์วางลงบนโซ่ในเตาอีก ถ้าใบพลูเหี่ยวลง ไม่ไหม้เป็นรูใหญ่อาจจะมีรูเล็กๆ บ้าง แสดงว่าหมดพิษร้อนแล้วจึงยกโซ่เหล็กออกจากเตามาแขวนไว้ เพื่อเอามือกอบขึ้นขณะโซ่ยังร้อนแดงอยู่โดยทดลองดังนี้

เอาหน้าเข้าใกล้โซ่ประมาณ ๑ คืบ จิตตั้งไว้ที่โซ่แดง หายใจเข้าอัดลมไว้ภาวนาบทดับพิษร้อน

“มะอะอุ….” แล้วเป่าลงมาพร้อมกับภาวนาบทดับพิษร้อนและเอาฝ่ามือแตะโซ่และลูบโซ่ดู เมื่อร้อนไม่มากก็เอาฝ่ามือทั้ง ๒ กอบโซ่ขึ้นแล้วรีบปล่อยลง ทำทีแรกสมาธิไม่ค่อยดี ก็รู้สึกร้อนเล็กน้อยเพราะยังกลัวอยู่ และพลังจิตยังไม่มากพอ แต่เมื่อปล่อยมือออกก็ไม่ร้อน ไม่มีอันตราย ขณะกอบโซ่ขึ้นอยู่ในจังหวะอัดลมภาวนา เป็นอันว่าสามารถปล่อยพลังจิตออกนอกกายได้ดี พอเป็นที่เชื่อใจว่าสามารถปล่อยพลังออกเพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้แล้ว ตามวิธีต่างๆ ที่จะได้สอนต่อไป

ที่มา:ชม  สุคันธรัต