สาเหตุการฝึกสมาธิแล้วเสียสติ

Socail Like & Share

มิจฉาทิฏฐิโทษการฝึกผิด มิจฉาทิฏฐิ สัพมาทิฏฐิสาเหตุที่ผู้ฝึกสมาธิวิปัสสนาเป็นโรคประสาทหรือเสียสติ เป็นเพราะ
๑. ฝึกไม่ถูกวิธี และพยายามจะให้ได้ผลดี
๒. ฝึกบ่อยครั้งเกินไป หรือฝึกนานเกินควร
๓. เกิดความกลัวหรือตกใจมากขณะจิตเริ่มสงบ
๔. ผู้ฝึกสมาธิเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตอยู่ก่อนแล้ว
วิธีแก้ไข
๑. ฝึกผิดวิธีและพยายามจะให้ได้ผลดี ควรเลือกวิธีที่เหมาะกับจิตและนิสัยของตน วิธีที่เหมาะกับคนทั่วไปคือ วิธีกำหนดลมหายใจ ควรมีครูที่ดีควบคุมใกล้ชิดจนเข้าใจและทำถูกต้อง จึงไปฝึกตามลำพังตนเอง การฝึกไม่ถูกวิธี เช่นที่ตั้งจิตไม่เหมาะกับตน การดำเนินการฝึกไม่ทำตามขั้นตอน ฝึกข้ามขั้นทำให้ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่พยายามจะเร่งให้ได้ผลเร็ว เป็นความโลภ อยากมีอยากได้โดยไร้เหตุผล และทำให้เกิดความเครียดทางจิต จึงเป็นโรคประสาทหรือเสียสติได้

๒. การฝึกบ่อยครั้งเกินไป โดยธรรมดาการฝึก อย่างเคร่งครัดวันหนึ่งท่านให้ฝึกไม่เกิน ๓ ครั้ง และครั้งหนึ่งให้ห่างกันมากกว่า ๓ ชั่วโมง ถ้าฝึกมากเกินไป จะเกิดความเครียด ส่วนการฝึกแบบสบายๆ คือจัดลมหายใจแบบสบาย มีสติรู้ลมโดยไม่ต้องภาวนา ดังนี้ทำได้ตลอดไปทั้งในยามว่างหรือระหว่างทำงาน ระหว่างฟังวิทยุก็ทำได้ไม่เคร่งเครียด เผลอไปก็ทำใหม่ได้เรื่อยๆ บางท่านให้ภาวนา “พุท-โธ” ไปเรื่อยๆ ได้ตลอดเวลา หรือนึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน บ้างนึกถึงความไม่สะอาด ความไม่น่ารักของร่างกายบ้าง เหล่านี้ก็นับว่าดี ลองทำดู วิธีใดที่ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านก็ใช้วิธีนั้น หรือวิธีใดมากระทบใจก็ใช้วิธีนั้น

การฝึกครั้งหนึ่งอย่าเคร่งครัดนานก็ให้โทษการฝึกตอนต้นๆ จิตสงบลงบ้าง แล้วอย่าไปคิดอย่างอื่นอีก ต้องคอยแก้ให้จิตสงบๆ ใหม่สลับกันไป ดังนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ควรฝึกนานกว่า ๑ ชั่วโมง ถ้าฝึกนานไป จะให้โทษมากกว่าให้คุณ นอกจากจิตเป็นสมาธิติดต่อกันไปสงบและเพลินไปเรื่อย ก็ฝึกนานกว่า ๑ ชั่วโมงได้

อย่าฝืนฝึกสมาธิวิปัสสนาจนเกินขอบเขตที่จะทนได้ ถ้าง่วงมากหรือเพลียมากฝืนไม่ไหวก็พักเสีย หรือนอนให้สบายเสียก่อนจะดีกว่าพยายามรวมสติอยู่กับลมสบาย ไม่คิดว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดให้มั่นว่าการฝึกสมาธิ วิปัสสนาเป็นการทำความดีเป็นบุญ ผลที่ได้รับต้องดีแน่ คิดว่าฝึกเพื่อให้เกิดความสบาย ไม่เร่งรีบจะเอาผลให้ทันใจ และหมั่นทำไม่ลดละ การฝึกจิตจะต้องปล่อยวาง ในเรื่องความรู้และเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจทุกอย่าง สนใจอยู่เฉพาะลมหายใจและมีสติรู้ลม ดูลมด้วยจิตอยู่เสมอ

๓. ความกลัวความตกใจ ให้หมั่นพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการเกิดดับอยู่เสมอไม่มีการหยุดยั้งแม้แต่เพียงขณะเดียว ความกลัวความตกใจอาจมีเพราะคนหรือเสียง หรือเกิด ภาพทางใจ(คือนิมิต)ขณะที่จิตสงบสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงมาร หรือสิ่งหลอกลวง ขัดขวางความดีของเรา ทำร้ายอะไรเราไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไปไม่ยั่งยืน ควบคุมจิตใจให้ปกติไว้ ทางที่ดีควรรู้วิธีใช้อำนาจจิตอำนาจคุณพระ ป้องกันอันตราย ก่อนนั่งสมาสิทุกครั้ง ดังนี้จะเป็นการป้องกันที่ดี การปฏิบัติต่อนิมิต หรือการแก้นิมิตดูวิทยาศาสตร์ทางใจฉบับส่องโลก หน้า ๒๕๗

๔. ผู้ฝึกสมาธิวิปัสสนาเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตมาก่อนแล้ว หรือเป็นหลังจากฝึกไม่ถูกวิธี แก้โดยให้หยุดฝึกไปก่อนระยะหนึ่ง หาสิ่งที่เพลิดเพลินอย่างอื่นแทนให้หายจากโรคประสาทดีแล้ว จึงฝึกใหม่ และถ้ามีการรักษาด้วยยาด้วยพลังจิตช่วยด้วยก็จะทำให้ได้ผลดี ถ้าโรคประสาทนั้นเกิดเพราะความเสียใจเป็นเหตุก็แก้ความเสียใจ (ดูหลักแก้ความเสียใจในฉบับเปิดโลกหน้า ๔๑๐)

ตามที่กล่าวมานี้รวบรวมจากพระไตรปิฎก จากท่านผู้รู้ จากพระอาจารย์ในดงและจากประสบการณ์ที่เคยฝึกศิษย์มานานกว่า ๒๕ ปี รายละเอียดการฝึกสมาธิ วิปัสสนาและการใช้อำนาจจิตเพื่อประโยชน์ต่างๆ มีใน วิทยาศาสตร์ทางใจ ฉบับยอดคน ฉบับเปิดโลก และฉบับส่องโลก ส่วนการรักษาต่างๆ ด้วยพลังจิตและยา มีในแพทย์สามแผนนำสมัย

ในเรื่องพิจารณากายให้เป็นของไม่สะอาด ไม่ใช่ตัวตนนั้น มีวิธีพิจารณาหลายวิธี กล่าวไว้หลายแห่งในพระไตรปิฎก ควรนำมาสรุปรวมกันให้เห็นจริงทุกแง่ทุกมุมที่เหมาะจะให้ตนรังเกียจ ขยะแขยง และเห็นเป็นความว่างเปล่า จนจิตปล่อยวางข้ามพ้นรูปกายทั้งปวงได้ จิตจึงจะเป็นอิสระมีปัญญาแหลมคมจัด ละทิ้งความเห็นผิดในกาม แล้วจึงจะวางจิตได้ เช่น พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาธาตุ ๔ พิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ เพ่งพินิจ โดยความเป็นธาตุโดยความเป็นอายตนะและโดยความเป็นปฏิจจสมุปบาท พิจารณาโดยแยบคายให้เห็นว่า ร่างกายกำลังเน่าเปื่อย กำลังไหวเคลื่อนอยู่เป็นนิจ ร่างกายมีการเกิดดับอยู่เสมอ ร่างกายเต็มไปด้วยหลุม อุจจาระปัสสาวะ ร่างกายมีนํ้าเน่ามีของเสียไหลออกมาตลอดเวลา ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (มีบรรยายลักษณะของอนิจจังไว้ ๑๐ ประการ ลักษณะทุกข์ ๒๕ ประการ และลักษณะอนัตตา ๕ประการ รวมเป็น ๔๐ ประการ บางแห่งเรียกว่า โต ๔๐)

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ หน้า ๒๕๓ กล่าวถึงพระอานนท์ทำความเพียรตลอดคืน ใช้เวลาส่วนมากในการพิจารณากาย ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ยึดมั่นเป็นพระอรหันต์ไปสู่ที่ประชุมทำสังคายนาในตอนเช้า

มีพระพุทธพจน์กล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่ามิจฉาทิฏฐิ”

มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ให้ผลในทางชั่วทางบาป ทำให้ตกต่ำ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ มีใจความว่า “เพราะยึดมั่นในรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ” จึงควรที่จะหมั่นพิจารณาให้เห็นรูปกายตามความเป็นจริงให้เห็นชัดแจ้งด้วยสมาธิ ด้วยญาณ ให้จงได้ รูปไม่มี คือก้าวล่วงรูป เพิกถอนรูปได้ด้วยเหตุ ๒ คือ การพิจารณาและโดยเจริญอรูปฌาน ๔ อย่าง

จากพระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ อานันทสูตร ที่ ๔ มีใจความว่า พระวังคีสะ บวชใหม่ๆ มีความกระสันเกิดขึ้น ความกำหนัดยินดีรบกวน เพราะเห็นหญิงแต่งตัวสวยงามหลายคนเที่ยวเดินดูกุฏิพระในวันก่อน ขอให้พระอานนท์บอกวิธีดับราคะ พระอานนท์กล่าวว่า “จิตของท่านรุ่มร้อนเพราะสัญญาวิปลาส ท่านจงละเว้นนิมิตอันสวยงามอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะเสีย ท่านจงเห็นสังขารทั้งหลายโดยความปรวนแปร โดยความเป็นทุกข์ และ
อย่าเห็นโดยความเป็นตัวตน    เจริญอสุภะกัมมัฏฐานให้เป็นจิตมีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นด้วยดีเถิด ท่านจงมีกายคตาสติ ท่านจงเป็นผู้มากด้วยความหน่าย ไม่ติดในกามย่อมกำจัดความกระวนกระวายใจเสียได้” ต่อมาไม่นานพระวังคีสะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระอาจารย์วัน อ. สว่างแดนดิน จ. สกลนคร ให้อุบายในการฝึกจิตสั้นๆ ว่า “เมื่อฝึกไม่ได้ผลก็ให้ปลอบใจ เมื่อปลอบใจแล้วก็ไม่ได้ผลอีกให้ใช้วิธีขู่”

กามคุณ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ มหาทุกขกขันธสูตร มีใจความว่า “กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ที่น่าปรารถนาน่าพอใจน่ารักประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ความสุข ความโสมนัส ที่บังเกิดเพราะอาศัยความงามความเปล่งปลั่งนี้เป็นคุณของรูป”

การเห็นคุณของรูปดังกล่าวเป็นการเห็นผิดจากความเป็นจริง เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ตรงตามพระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ มีใจความว่า “เพราะยึดมั่นในรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ” จึงควรที่จะหมั่นพิจารณาให้เห็นรูป ตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งที่สกปรกน่ารังเกียจน่าสะอิดสะเอียน

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ อลคัททูปมสูตร กล่าวว่า “โทษแห่งกาม เปรียบด้วยงูพิษ”

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ นิวาปสูตร กล่าวว่า “กามคุณคือเหยื่อที่ทำให้สัตว์มัวเมา”

มิจฉาทิฏฐิมีโทษร้ายแรงและให้โทษยาวนานไปได้หลายชาติจนกว่าจะมีความเห็นถูกต้อง พระพุทธองค์ จึงทรงกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่ามิจฉาทิฏฐิ”

อนัตตริยกรรม หรือ กรรมหนัก ๕ อย่าง ได้แก่ การฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าบิดามารดา เป็นต้น ล้วนให้ผลตกนรกในชาติถัดไป รับโทษหมดแล้วก็เป็นอันหมดไป แต่มิจฉาทิฏฐิให้ผลมาก ให้ผลยาวนาน และให้ผลแก่คนจำนวนมากมาย มีแต่พระอริยคือจากพระโสดาถึงพระอรหันต์เท่านั้นที่ละความยึดมั่นในรูปดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ มีใจความว่า “เพราะยึดมั่นรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ” ก็ เกศา โลมา นขา ทันตา” ที่หลงชอบใจอยู่ติดใจอยู่นั้นก็ล้วนเป็นซากศพ ตามที่อธิบายในเรื่องพิจารณากายและที่หลงใหลชอบใจมากนั้น พระอาจารย์ผู้มีสมาธิสูงหลายท่านสอนว่า “หนัง” เป็นสิ่งให้ชอบใจติดใจมากที่สุด ทั้งๆ ที่หนังก็คือซากศพที่ทยอยปลิวออกไปในอากาศตลอดเวลา เพราะถูกตัวชีวิตที่ตายทยอยดันออกมา ที่เห็นผิวหนังอยู่นั้นก็เห็นอยู่เดี๋ยวเดียวก็ปลิวไปในอากาศ เห็นแล้วชอบใจถูกใจและเห็นว่าสวยงามนั่นแหละคือความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิพิจารณาให้ดีให้รอบคอบจะได้รู้ตัวว่าเราเห็นผิด เห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง รายละเอียดในการพิจารณากาย ให้เห็นตามความเป็นจริงให้เห็นเป็นไม่งาม เต็มไปด้วยซากศพนั้นได้อธิบายไว้โดยละเอียดในหนังสือยอด อัศจรรย์และธุดงค์ เมื่อฝึกสมาธิมากขึ้น พิจารณามากขึ้น ก็ถึงขั้น “เห็นสักว่าเห็น” เห็นโดยไม่มีความหมาย เห็นเป็นกลาง ไม่เห็นว่างาม ไม่เห็นว่าสวย ไม่เห็นว่าสกปรก น่าเกลียด ถ้าเห็นว่างามก็เกิดชอบใจ นั้นคือเกิดโลภะหรือราคะ ถ้าเห็นว่าสกปรกน่ารังเกียจไม่ชอบใจก็เป็นโทสะ ที่เกิดโลภะโทสะขึ้นได้ก็เพราะมีโมหะคือความไม่รู้ (อวิชชา) ไม่รู้ความจริง หรือโง่นั่นเอง จึงยึดมั่นรูปหรือเกิดมิจฉาทิฏฐินั่นเอง พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๘๐ จึงกล่าวว่า “เพราะยึดมั่นรูปจึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ’’ มิจฉาทิฏฐิ ให้โทษร้ายแรงจึงทรงกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นอะไรจะให้โทษร้ายแรงยิ่งกว่ามิจฉาทิฏฐิ”

จงตรวจสอบตนเอง เมื่อเห็นกายของคนยังมี การชอบใจ เห็นว่างามน่ารัก เห็นรูปคนที่แบนอยู่ในกระดาษก็สร้างในใจ เห็นเป็นทรวดทรงน่าดู นั่นคือ สอบตกเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ในคำสอนและบทสวดมนต์ใจความว่า “รูปกาย เรานี้เป็นเพียงธาตุ ๔ มาประชุมกันขึ้นไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา” ให้ล่วงพ้นรูปกายไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในรูป ให้มีความเบื่อหน่ายในรูปเห็นรูปตามความเป็นจริง คือ เกิดความเห็นถูกเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) อันจะทำให้เกิดผลตามแนวของพระธรรมที่กล่าวไว้เป็นคำถามคำตอบ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ หน้า ๒๙๑ มีใจความดังนี้

ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) มีประโยชน์อย่างไร ? มีประโยชน์ทำให้เบื่อหน่าย

ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร ? มีประโยชย์ ทำให้คลายกำหนัด (อันทำให้มีจิตน้อมไปเพื่อความดับทุกข์คือนิพพาน)

ความคลายกำหนัดมีประโยชน์อย่างไร ? มีประโยชน์ทำให้หลุดพ้น (หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงที่ เรียกว่า “วิมุตติ”)

ความหลุดพ้นมีประโยชน์อะไร ? มีประโยชน์ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน

นิพพานเล่ามีประโยชน์อย่างไร ? เธอไม่อาจเพื่อเอาที่สุดของปัญหาได้ (ซึ่งหมายถึงนิพพานนั้นละเอียดอ่อน รู้ได้เฉพาะตนและผู้มีฌานอันประเสริฐ จะหยั่งรู้ได้)

ในเรื่องไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นอะไรแน่ ในอริยสัจ ๔ มี ใจความตอนหนึ่งว่า กล่าวโดยย่อทุกข์ทั้งปวงเกิดจาก อุปาทานขันธ์ ๕ (ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ในพระไตรปิฎก เล่ม ๖ หน้า ๒๔ มีกล่าวว่า “อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์” ในพระไตรปิฎกและในบทสวดมนต์แปล มีใจความใน ธชัคคะสูตร ความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิดความกลัวจะไม่พึงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิด ความกลัวจะไม่พึงมีแก่ท่าน     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายมาระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่อย่างนี้ ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าจักไม่มีแล” นี่ก็หมายถึงให้ยึดมั่นถือมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เชื่อมั่นจึงจะได้รับผลดี ไม่ถือมั่น ก็ย่อมไม่ได้ผล พระหรือของขลัง คาถา อาคม ถ้าไม่ถือมั่นก็ไม่เกิดผลดี ถึงคราวจะต้องยึดมั่น ถือมั่นก็ต้องยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ยึดติด หรือหลงใหล ธรรมมะมีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง ต้องพิจารณาด้วยจิตเป็นสมาธิ ทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ระดับ พระโสดาบันก็ไม่ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ได้โดยเด็ดขาดได้โดยแน่นอน การไม่ยึดมั่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำให้การสอนได้ผลไม่ดีพอ เช่น อนุบุพพีกถาให้สอนตามลำดับจากง่ายไปหายาก คือทาน ศีล เรื่องเทวดา โทษความต่ำทรามของกาม อานิสงส์ในการออกจากกาม แล้วจึงสอนอริยสัจ ๔ พระพุทธองค์ ก็ทรงสอนเช่นนี้แต่ในสมัยใหม่ไม่สามารถทำให้เชื่อเรื่องเทวดาและโทษของกามทั้งหลาย จึงได้หลงติดไม่กลัวบาปกรรม สอนวิปัสสนาไม่ทำตามขั้นในมหาสติปัฏฐานสูตรโดยสอนข้าม ส่วนมากจะข้าม ๒ ข้อ คือ หายใจ (ระงับกายสังขาร) และให้เห็นการเกิดดับของรูปก่อน จะพิจารณานาม

ได้กล่าวมาแล้วว่า พิจารณาความตายก็เห็นอสุภะไปด้วยคือเห็นความสกปรก ไม่สะอาดไปด้วย บางแห่งก็เรียกรวมว่า พิจารณากาย หรือการเจริญกายคตาสติ อันเป็นเหตุให้ละความพอใจในรูปและยังเป็นเหตุให้เกิด สมาธิวิปัสสนาจนถึงขั้นเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ คือ ถึงนิพพาน ดังมีหลักฐานในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ กายคตาสติสูตร กล่าวว่า “กายคตาสติเจริญให้มากอยู่เนืองๆ ด้วยความเพียรย่อมทำให้ละความดำริพล่าน เสียได้” มีอานิสงส์ ๑๐ ประการ คือ

๑. กายคตาสติ ทำให้อดทน อดกลั้นต่อความ ยินดีและไม่ยินดีได้
๒. อดกลั้น อดทนต่อภัยและความหวาดกลัวได้
๓. อดทนต่อความหนาวร้อน ความหิว และอดทนต่อเหลือบยุงได้ ฯ
๔. ได้ฌาน ๔ ไม่ยาก ไม่ลำบาก
๕. กายคตาสติ ทำให้แสดงฤทธิ์ได้อเนกประการ
๖. มีหูทิพย์
๗. รู้ใจสัตว์หรือบุคคลอื่นได้
๘. ระลึกชาติได้
๙. มองเห็นหมู่สัตว์กำลังเกิดและดับ
๑๐. กายคตาสติทำให้เข้าใจถึงเจโตวิมุตติและ ปัญญาวิมุตติ (คือเข้าถึงนิพพาน)

พิจารณากาย หรือพิจารณาความตายและอสุภะ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นธัมมะที่ต้องพิจารณาเนืองนิจ ทุกลมหายใจเข้าออก

พระพุทธเจ้าเคยทรงยืนยันกับพระสารีบุตรว่า “ตถาคตให้เวลาล่วงไปด้วยสุญญตาวิหาร” ซึ่งหมายความว่า ทำจิตให้อยู่ในความว่าง (ว่างจากตัวตน)ตลอดเวลาเป็นคำสอนเน้นว่าต้องมีธรรมมะประจำจิต อยู่ตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งพระโมคคัลลาถามพระสารีบุตรว่า“อาวุโส วันนี้ผิวกายของท่านผ่องใสนัก ท่านอยู่ในธรรมวิหารใด” พระสารีบุตรตอบว่า “อาวุโส เราอยู่ในวิหาร กายคตาสติ” “ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา” นอกจากมีการสนใจตั้งใจฟัง ฟังด้วยความเคารพ ฟังด้วยความศรัทธา แล้วเรื่องที่อ่านที่ฟังต้องถูกต้องครบถ้วนตรงตามความเป็นจริงด้วยจึงเกิดปัญญาขั้นต้น (รู้จริง) ถ้าพิจารณาไปด้วยก็ได้ปัญญา ขั้นเห็นจริง ถ้าฟังด้วยพิจารณาด้วย และทำสมาธิด้วย จึงจะได้ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง ตามขั้นของสมาธิ เช่น การเกิดดับของรูปกาย ก็ต้องรู้ตามความจริงว่าตัวชีวิต (เซลล์) ในกายเกิดตายทุกขณะจิตจึงนับว่าตรงตามความเป็นจริง รู้จริง แล้วจึงพิจารณาให้เห็นจริง และทำสมาธิพิจารณา จึงเห็นแจ้ง

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลได้รับทุกข์เดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ อย่าประมาท จงละความพอใจในรูปเสีย”

การพิจารณากายให้ได้ผลดี ให้ได้ผลเร็วก็ต้อง นำธรรมมะข้ออื่นมาประกอบการพิจารณา เช่น นำหัวข้อธรรมมะที่พระพุทธองค์กล่าวไว้เกี่ยวกับกาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าทรงสอนว่า กายเรากำลังเน่าเปื่อยทุกขณะ กายเราเต็มไปด้วยหลุมฝังศพ กายเต็มไปด้วยขี้เยี่ยว กายเต็มไปด้วยของสกปรก ทุกจุดในร่างกายมีการไหวเคลื่อนตลอดเวลา กายเต็มไปด้วยแผลเน่า ร่างกายมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอก กายมีการแตกสลาย ปลิวพลัดพรากออกไปตลอดเวลา ซึ่งได้อธิบายละเอียดเป็นข้อๆ ไว้แล้ว ตลอดถึงกายเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา นั้นอย่างไร การพิจารณากายมีผลประโยชน์คือมีอานิสงส์ถึง ๑๐ ประการ และยังเป็นธรรมะที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกให้รู้จริง เห็นจริงและเห็นแจ้งขึ้นโดยลำดับ พระอาจารย์ผู้มีสมาธิสูงหลายท่านจึงพูดเน้นพูดยํ้าให้พิจารณากายเสียก่อน ดังคำสอนของพระอาจารย์มั่นว่า “กายเป็นเครื่องก่อเหตุ ตาเห็นรูป ทำให้ใจกำเริบ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ ทำใจให้สงบได้ พึงทำให้มาก พิจารณาไม่ถอยทีเดียว    ”

อาจินไตย ๔ (สิ่งที่ไม่ควรคิด)
๑. วิสัยแห่งพระพุทธเจ้า
๒. วิสัยแห่งฌาน หรือวิสัยของผู้เข้าฌาน
๓. ผลแห่งกรรม
๔. ความคิดของชาวโลก
๕. อย่างนี้ไม่ควรคิด เพราะถ้าครุ่นคิดเข้าต้องกลายเป็นคนบ้าคลั่ง
(จาก สารัตถทีปนี ภาค ๑ หน้า ๑๔๐)

สิ่งที่ควรคิด
๑. ตนเองก็มีทุกข์ มีแก่เจ็บตาย ยังจะแสวงหาสิ่งที่แก่เจ็บตาย มีทุกข์มีโลภโกรธหลง ผนวกเข้ามาอีก ได้โอกาสก็จะถูกโลภโกรธหลงแสดงออกให้ทุกข์หนักขึ้นอีก
๒. ผิวหนังที่โปร่งพรุน มีของโสโครกไหลออกตลอด เวลาที่หลงรักหลงชอบเป็นเพราะ ตาหูจมูกของเราไม่ดีพอ จึงไม่เห็นเหมือนตาหูจมูกที่เป็นทิพย์ สู้กล้องขยายหรือตาแร้งจมูกมดก็ไม่ได้ จึงเห็นผิดเพี้ยนไป

ที่มา:ชม  สุคันธรัต