ดับพิษร้อน และตรวจรักษาโรคด้วยพลังจิต

Socail Like & Share

สอนเต็มแบบ ตามพระอาจารย์ในดงสอน สอนการทำนํ้ามันรักษาโรค และดับพิษร้อน (ของหลวงตาดำ – อาจารย์ชาญณรงค์)

ดับพิษร้อน ขณะนํ้ามันกำลังเดือดเอามือล้วงได้ หรือเอาช้อนตักขึ้นอมพ่นรักษาโรคได้ รู้สึกเพียงอุ่นๆ เท่านั้น ไม่มีอันตราย คนจะเอามือล้วงหรือตักอมก็ได้ ตักกินได้ไม่มีอันตราย

การเตรียมของ นํ้ามันมะพร้าวแท้ ๑ ขวดใหญ่ (ขวดเบียร์ใหญ่หรือขวดแม่โขง)ไพลปอกเปลือกฝานเป็นแว่นไว้ ๕ แว่น ขมิ้นอ้อยปอกเปลือกฝานเป็นแว่นไว้ ๔ แว่น ใบพลู ๓ ใบ กระทะใบเล็กสำหรับเคี่ยวนํ้ามัน เตาไฟใช้ถ่านหรือเตานํ้ามันก๊าด

ไพลแว่นที่ ๑ ลงอักษรขอมตัว นะ โดยหายใจเข้า อัดลมหายใจไว้เริ่มเขียนตัว นะ พร้อมกับภาวนาในใจว่า “นะ กาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ” เมื่อว่าจบก็ให้เขียนจบพอดี ถ้าเขียนไม่เสร็จพอดีกับภาวนาจบ เรียกว่า “อักขระวิบัติ” ต้องเขียนใหม่ หรือเขียนทับอักษรตัว นะ ตัวเก่าก็ได้ พร้อมกับภาวนาให้จบพอดีกับเขียนเสร็จ
ไพลแว่นที่ ๒ ลงอักษรขอมคำว่า โม
ไพลแว่นที่ ๓ ลงอักษรขอมคำว่า พุท
ไพลแว่นที่ ๔ ลงอักษรขอมคำว่า ธา
ไพลแว่นที่ ๕ ลงอักษรขอมคำว่า ยะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๑ ลงอักษรขอมคำว่า นะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๒ ลงอักษรขอมคำว่า มะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๓ ลงอักษรขอมคำว่า พะ
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๔ ลงอักษรขอมคำว่า ทะ
ใบพลูใบที่ ๑ ลงอักษรขอมคำว่า ปะติรูปัง
ใบพลูใบที่ ๒ และใบที่ ๓ ลงอักษรขอมคำว่า ปะติรูปัง เหมือนใบที่ ๑
อักษรขอม
การเขียนอักษรขอมลงไปให้ภาวนาเป็นคำๆ ไปดังนี้
การลงไพล
ไพลแว่นที่ ๑ ว่า “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ”
ไพลแว่นที่ ๒ ว่า “โมกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น โม”
ไพลแว่นท ๓ ว่า    “พุทกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น พุท”
ไพลแว่นที่ ๔ ว่า    “ทากาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ทา”
ไพลแว่นที่ ๕ ว่า    “ยะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ยะ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๑ ว่า “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๒ ว่า    “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น มะ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๓ ว่า    “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น พะ”
ขมิ้นอ้อยแว่นที่ ๔ ว่า “นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ทะ”

พลูใบที่ ๑ เขียน ปะติรูปัง โดยภาวนาเขียนทีละคำดังนี้

“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ปะ”
“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ติ”
“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น รู”
“นะกาโล โหติ สัมพะโว จงมาบังเกิดเป็น ปัง”

พลูใบที่ ๒ และใบที่ ๓ เขียนและภาวนาเหมือน ใบที่ ๑

ที่ก้นกะทะด้านในที่จะใส่นํ้ามันลงไปให้เขียนอักษรขอมลง ๓ บรรทัด คือ บรรทัดที่๑ เขียนคำว่า นะโม พุทธายะ เขียนพร้อมกับภาวนาเป็นคำๆ ไป เหมือนเขียนลงไพล

ที่ก้นกะทะบรรทัดที่ ๒ เขียนอักษรขอมคำ “นะ มะ พะ ทะ” เขียนพร้อมกับภาวนาเป็นคำๆ ไป เหมือนเขียนลงขมิ้นอ้อย

ที่ก้นกะทะบรรทัดที่ ๓ เขียนอักษรขอมคำว่า “ปะติรูปัง” เขียนพร้อมกับภาวนาเป็นคำๆ ไปเหมือน เขียนลงใบพลู

ตัวอักษรขอม นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ และปะติรูปัง เขียนอย่างไรดูที่อธิบาย วิธีเขียนไว้นี้ก็ละเอียดพอจะเข้าใจดีและทำได้แล้ว หากผู้ใดจะต้องการให้แน่ใจกว่านี้อีกก็ควรไปถามพระ หรือ อาจารย์อื่นที่เคยลงอักษรขอมในของหรือในผ้ายันต์ ถ้าจะทำใส่กะทะใหญ่กะทะใบบัวก็เพิ่มนํ้ามันและตัวยาขึ้นตามส่วนคือนํ้ามันหนึ่งขวดต่อไพล ๕ แว่น ขมิ้นอ้อย ๔ แว่น ใบพลู ๓ ใบ

ลำดับในการทำนํ้ามันเป็นยาและดับพิษร้อน
๑. จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน พร้อมกับเงินค่าบูชา ครู ๖ บาท แล้วกราบพระและจุดธูปเทียนบูชาครู ภาวนาในใจว่า “ข้าพเจ้าขอสักการบูชาต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูอาจารย์ มีหลวงตาดำ อาจารย์ชาญณรงค์ ขอให้มาช่วยทำน้ำมัน ให้เป็นยา และดับพิษร้อนของนํ้ามันให้หมดไป เมื่อนํ้ามันถกปากถกมืออย่าให้ร้อนอย่าให้มีอันตราย”

๒. เมื่อเขียนอักษรขอมลงที่ไพล ขมิ้นอ้อย ใบพลู และลงที่ก้นกะทะ ตามที่กล่าวมาแล้ว

๓. เอา ไพล ขมิ้นอ้อย ใบพลู ลงในกะทะแล้ว เทนํ้ามันมะพร้าวลงในกะทะ

๔. ว่า “นะโม…” สามจบ แล้วว่า “พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมังสะระณังคัจฉามิ สังฆังสะระณังคัจฉามิ”

๕. ภาวนา “สัคเค กาเม จะรูเป คีริสิขะ ระตะเฎ จันตะลิเข วิมาเน ทีเปรัฐเถ จะคาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิเขตเตภุมมาจายันตุเทวาชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคาติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโวเม สุณันตุ ธัมมัสสะวะนะกาโล อยัมภะทันตา” (บทนี้พระจะสวดก่อนสวดมนต์ในพิธีต่างๆ อยู่เสมอ)

๖. อัญเชิญว่าดังนี้ “ข้าพเจ้าขออาราธนา คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูอาจารย์ ขอให้มาช่วยทำนํ้ามันนี้ให้เป็นยา และช่วยดับพิษร้อนให้หมดไป ขอเชิญธาตุน้ำ ธาตุลม มาช่วยดับพิษร้อนทั้งหลายให้สูญสิ้นไป”

๗. ยกกะทะนํ้ามันขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟเพียงอ่อนๆ ถ้าใช้ถ่านก็ใช้เตาเล็กใส่ถ่านแต่น้อย แล้วเสกนํ้ามันในกะทะให้เป็นยาหายใจอัดลมไว้แล้วพนมมือ ก้มหน้าลง ห่างนํ้ามันประมาณ ๑ ฟุตแล้วว่า“สมุหะ คัมภีรัง อะโจระ ภะยัง อะเสสะโต โสภคะวา พุทโธหยุด ธัมโมหยุด สังโฆหยุด โรคภัยทั้งหลายจงหยุด หยุดด้วยนะโมพุทธายะ” ว่าประมาณ ๒ จบแล้วเป่าลงไปที่นํ้ามัน เวลาเป่าให้ว่าอีก ๑ จบ (ว่าในใจ) ต่อไปสูดลมหายใจเข้าว่า และเป่าอย่างเดิมให้ครบ ๗ ครั้ง จิตนึกภาพนํ้ามันและตั้งจิตไว้ตรงกลางนํ้ามัน ปล่อยกระแสจิตลงไป น้ำมันร้อนขึ้นมากแล้วก็เริ่มภาวนา ว่าบทดับพิษร้อน โดยสูดลมหายใจเข้าอัดไว้ ภาวนาในใจว่า

“มะอะอุ นะมะพะทะ สะกะพะจะ” ว่าประมาณ ๕ จบ หรือ ๗ จบ แล้วเป่าลงไป เวลาเป่าภาวนาอีก ๑ จบ ต่อไปก็สูดลมเข้าภาวนาและเป่าอย่างเดิมอีกเรื่อยๆ ไป จนน้ำมันเริ่มเดือดจิตนึกภาพน้ำมันและตั้งใจปล่อยกระแสจิตลงไปที่นํ้ามันตลอดเวลา ถ้าเริ่มจะเหนื่อยก็ภาวนาเป็นสมาธิ คือไม่ต้องอัดลมไว้หายเหนื่อยดีแล้ว ก็ภาวนาด้วยวิธีอัดลมอีกหลายครั้ง

เมื่อนํ้ามันเริ่มเดือด จะลองเอานิ้วจุ่มลงตรงไหนก็ตั้งจิตนึกถึงตรงนั้น สูดลมหายใจเข้า อัดลมไว้ หลับตา ภาวนาคาถาดับพิษร้อน ๓ จบ แล้วเป่าลงตรงที่จะเอานิ้วจุ่ม พร้อมด้วยว่าคาถาบทดับพิษร้อนอีก ๑ จบ ต่อไปสูดลมหายใจอัดลมไว้ เอานิ้วชี้ ชี้เข้าใกล้น้ำมันเกือบจะแตะนํ้ามันภาวนาว่า “นะโมพุทธายะ” แล้วเอานิ้วชี้แตะลงในนํ้ามันพร้อมกับภาวนาว่า “ปะติรูปัง” ยกนิ้วขึ้นดู ถ้ารู้สึกอุ่นๆ เวลาแตะนํ้ามันเมื่อยกนิ้วขึ้นมาก็หายร้อนหายอุ่น ก็เป็นอันว่าดับพิษร้อนได้ผลดีแล้ว ต่อไปให้หายใจเข้าอัดลมไว้เอานิ้วเตรียมจุ่มซํ้าอีกว่า “นะโมพุทธายะ” เวลาจุ่มว่า “ปะติรูปัง” จุ่มให้ลึกลงไปประมาณกึ่งกลางนิ้ว เมื่อยกมาไม่ร้อนก็ใช้ได้

การตักนํ้ามันขึ้นอม ทำเหมือนการเอานิ้วจุ่มครั้งแรกคือ จะตักตรงไหนก็ว่าบทดับพิษร้อนเป่าลงไป ช้อนที่จะตักควรใช้ช้อนกระเบื้อง ถ้าไม่มีใช้ซ้อนสังกะสีเคลือบล้างให้สะอาดเวลาจะตักสูดลมเข้าอัดไว้ว่า “นะโม- พุทธายะ” แล้วตักนํ้ามันมาเล็กน้อย ขณะเทใส่ปากให้ภาวนาว่า “ปะติรูปัง” แล้วพ่นนํ้ามันออกมา เมื่อไม่ร้อน เพียงอุ่นๆ ครั้งหลังก็ตักนํ้ามันมากขึ้น

การทำครั้งแรกไม่ชำนาญเมื่อนํ้ามันเริ่มเดือด ให้ลดไฟเหลือน้อยๆ ถ้าเป็นถ่านก็ตักถ่านออกให้เหลือแต่น้อย จะได้มีเวลาดับพิษร้อนได้นานพอควร ถ้าเวลาเอามือจุ่มทดลองรู้สึกร้อนมากยกนิ้วขึ้นก็ร้อนเผ่าๆ ร้อน ตุบตุบก็ยังดับพิษร้อนไม่ลง ต้องภาวนาดับพิษร้อนใหม่อีกหลายๆ ครั้ง

ข้อควรระวัง เมื่อเครื่องยาในกะทะเริ่มเหลืองจัด จะแห้งและเกิดความร้อนภายในกะทะ มีควันในกะทะขึ้นบ้าง ให้เลิกทดสอบเอามือจุ่ม หรือตักอมเพราะดับพิษร้อนระยะนี้จะดับยากสำหรับผู้ฝึกใหม่ ธรรมชาติของนํ้ามันถ้าไฟร้อนจัดเกินไปจะเกิดร้อนจัดในกะทะ และมีเปลวไฟลุกขึ้นในกะทะเหมือนที่เห็นตามร้านอาหารเขาผัดผักบุ้งไฟแดง ผู้ฝึกดับพิษร้อนใหม่ๆ พอนํ้ามันเริ่มจะเดือดจึงควรราไฟให้มีความร้อนแต่น้อยๆ ก่อนเมื่อเครื่องยาเริ่มเหลืองก็ยกกะทะลง

นํ้ามันที่กำลังเดือด ถ้าตักใส่ปากพ่นลงตรงที่เจ็บปวด หรือที่เป็นฝีมักจะได้ผลดีกว่าเอานํ้ามันที่เย็นแล้ว ทานํ้ามันที่เย็นแล้วจะเสกให้เป็นยาอีกหลายครั้ง หรือหลายวันยิ่งดี การเสกก็ใช้อัดใจภาวนาคาถาหลายจบ
แล้วเป่าลงพร้อมด้วยภาวนาคาถาด้วย อย่าลืมนึกภาพนํ้ามันตั้งจิตให้ดิ่งลงไปสู่นํ้ามันเสมอ

การปล่อยกระแสจิตลงนั้น ถ้าเหนื่อยก็จะปล่อยกระแสจิตลงได้ผลน้อย ดังนั้นเวลาเอาน้ำมันตั้งไฟอยู่ หรือนํ้ามันที่เย็นแล้วเมื่อเสกหรือภาวนาแล้วเป่าหลายที เริ่มเหนื่อยก็ให้ภาวนาโดยหายใจเข้าออกเบาๆ สบายๆ แบบทำสมาธิ ไม่ต้องอัดลมหายใจไว้นึกภาพนํ้ามันและตั้งจิตดิ่งลงไปในนํ้ามัน ทำแบบนี้ไม่เหนื่อยเพราะไม่ได้อัดลมหายใจไว้เป็นการพักให้หายเหนื่อยไปในตัว แต่ก็ยังเสกหรือปล่อยกระแสจิตลงไป วิธีนี้เรียกว่า ภาวนา เป็นสมาธิ พอหายเหนื่อยแล้วก็เริ่มใช้วิธีอัดลมหายใจ ภาวนาแล้วเป่า เพราะเป็นวิธีที่ปล่อยกระแสจิตได้ดี แล้วก็ภาวนาเป็นสมาธิสลับกันไป

การเป่ารักษาโรค การเป่าดับพิษร้อนให้แก่คนถูกน้ำร้อนลวกไฟไหม้ ก็อาศัยการเป่าโดยนึกภาพ และปล่อยกระแสจิตลงไปคล้ายการเสกนํ้ามัน นํ้ามันที่ทำไว้นั้นใช้ทาแก้ฟกบวมเจ็บปวด ทาตุ่มคันที่เป็นแผลเป็น นํ้าเหลือง นํ้าหนอง ควรเก็บน้ำมันพร้อมกับเครื่องยาที่ใส่กะทะแช่กันไว้นานเข้า นํ้ามันจะมีสีเขียวๆ ถ้าใช้น้ำมันมะพร้าวแท้เคี่ยวเอง ปลุกเสกไว้หลายหนจะได้ผลดี นํ้ามันมะพร้าวที่ขายส่วนมากปนนํ้ามันนุ่น หรือนํ้ามันอื่น ใช้มะพร้าวเสียปนจึงนำมาใช้ไม่ค่อยได้ผล

ถ้าจะให้ใช้ได้ผลดีขึ้นใช้ใส่แผลธรรมดาแผลเรื้อรังมานานใช้รักษาคนถูกนํ้าร้อนลวกไฟไหม้ได้ด้วย ให้เอาไพลหนัก ๕ บาท ขมิ้นอ้อยหนัก ๕ บาท บอระเพ็ดทั้งเถา และใบพลูหนัก ๑๐ บาท ทั้ง ๓ อย่างนี้ตำแหลกพอควร หรือจะหั่นบางๆ ก็ได้ เอาพิมเสนหนัก ๒ สลึง ใส่รวมกันลงไปแล้วเอานํ้ามันที่เสกแล้วซึ่งมีไพล, ขมิ้นอ้อยและ ใบพลูอยู่ด้วยประมาณ ๓ ขวดใหญ่เทปนลงไปใส่กะทะ ยกตั้งไฟเคี่ยวพอตัวยาเหลืองก็ยกลงเก็บไว้ใช้จะปลุกเสกไว้หลายๆ ครั้งอีกยิ่งดี หรือจะมีตัวยาอื่นที่ได้ผลดีมาผสมนํ้ามันที่เสกแล้วก็ได้ผลดีตามต้องการยิ่งขึ้น เช่น นํ้ามันเลียงผาชนิดแท้ ว่านที่มีกำลังในการรักษาดีเป็นต้น

ที่มา:ชม  สุคันธรัต