วิธีฝึกสมาธิวิปัสสนาให้ได้ผลดีได้ผลเร็ว

Socail Like & Share

สมาธิการฝึกจิตตามคำสอนตามแนวทางของพระอาจารย์ในดงลึก จะทดลองหรือพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และตรงกับพระไตรปิฎกครบถ้วน โดยนำเอาคำสอนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมกันมาปฏิบัติร่วมกัน เพราะคำสอนที่จะให้ได้ผลดีโดยลำดับจากต่ำไปสูงสุด ถึงนิพพานได้แท้จริงนั้นมีธรรม ๓๗ ประการ เรียกว่า “โพธปักขิยธรรม” ซึ่งมี ๗ หมวด เช่น อิทธิบาท ๔ (คุณธรรมช่วยให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง) พละ ๕ (ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง) โพชฌงค์ ๗ (ธรรมเครื่องตรัสรู้) ล้วนนำมาประกอบกันให้ถึงนิพพาน จะได้กล่าวให้เข้าใจง่าย ฝึกได้ผลเร็วดังต่อไปนี้

สมาธิ คือ “การตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว” จึงต้องหาจุดที่ตั้งมั่นของจิตโดยหายใจแรงๆ ดูหลายครั้ง สังเกตดูว่าลมหายใจกระทบที่ตรงไหนไวและแรงกว่า บริเวณใกล้เคียง ถ้าคนจมูกงุ้มลงมาลมกระทบที่ปลาย จมูกก่อน คือกระทบไวกระทบเร็วก่อนที่อื่น กระทบแรงกว่าที่อื่นก็ให้ตั้งจิตคอยรับรู้อยู่ที่ปลายจมูก ถือเป็นที่ตั้งมั่นของจิต ถ้าเป็นคนริมฝีปากบนเชิดขึ้น หายใจแรงๆ ลมจะกระทบไวกระทบแรงที่ริมฝีปากบน ก็ให้ตั้งจิตคอยรับรู้อยู่ที่ริมฝีปากบน คนไทยโดยทั่วไปจมูกไม่งุ้ม ริมฝีปากไม่เชิดขึ้น พระอาจารย์ในดงให้ตั้งจิตตรงรูจมูกทั้ง ๒ ข้าง ไปรวมเป็นรูเดียวกันที่ดั้งจมูก ซึ่งจะสังเกตได้ว่าลมหายใจเข้าไปกระทบที่รูดั้งจมูกซึ่งเป็นรูกลมรูเดียว ถ้าหายใจแรงดูจะกระทบที่รูดั้งจมูก สังเกตดูว่า กระทบไว กระทบแรงที่ส่วนบนส่วนซ้ายหรือขวาหรือกลางๆ ของ ส่วนบน รู้สึกแรงหรือไวที่ใดตรงดั้งจมูกก็ให้ตั้งจิตไว้มั่นตรงนั้น เสมือนเสาเข็มที่ตอกไว้จะเกิดการเห็นภาพคน ภาพสัตว์ภาพต้นไม้ก็ไม่เอาจิตออกไปดูภาพเหล่านั้น จะเกิดการเห็นก็ไม่สนใจ ให้ตั้งจิตมั่นอยู่ที่เดิม ภาพนั้นก็จะหายไปเอง เราไม่มีหน้าที่ไปดู ถ้าจิตย้ายไปดูหรือไปสนใจเข้าสมาธิก็จะถอย เมื่อได้ที่ตั้งของจิตแล้ว ต่อไปให้หา ลมสบาย โดยหายใจยาวขึ้นบ้าง สั้นลงบ้าง หายใจแรงขึ้นบ้าง หายใจเบาลงบ้าง ปรับปรุงดูและสังเกตว่าลมหายใจแบบใดที่สบายที่สุดก็ให้หายใจด้วยลมสบาย ซึ่งเป็นลมหายใจที่ทำให้เกิดสมาธิ ให้จำลมสบายๆ นี้ไว้ เมื่อฝึกสมาธิครั้งหลังก็ให้ใช้ลมหายใจที่สบายนี้

พระพุทธเจ้าสอนว่า “ความสุขสบายเป็นเหตุ ให้เกิดสมาธิ” นั่นคือ สมาธิเกิดขึ้นจากความสบาย เปรียบเหมือนเราไปเดินดูดอกไม้งามมีกลิ่นหอมสีสวยถูกใจ ในบริเวณสวนหลายไร่ล้วนเป็นดอกไม้ที่สวยงามถูกใจ ก็ทำให้เพลิดเพลิน หรือนั่นคือความสบายหรือความสุข จึงชอบใจลืมคิดถึงบ้านเรือนผู้คนหรือสิ่งอื่นๆ ไม่เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่นึกรักชังใคร เพราะเพลินและเป็นสุขอยู่ความพยาบาทก็ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี ความลังเลก็ไม่มี นั่นคือ นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นธรรมกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ก็เบาบางลงมากจึงทำให้เกิดสมาธิที่ดี เพราะตามพระไตรปิฎกเมื่อนิวรณ์หมดก็ได้สมาธิ (ความมั่นคงแน่วแน่) ขั้นสูง คือได้ถึงขั้นฌาน ถ้าสมาธิก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง ความสุขสบายจะเพิ่มมากขึ้นจนถึงฌาน ๔ ก็มีความสุขสูงสุด

ความเพลินความสบายหรือความสุขที่เกิดขึ้น เพราะจัดให้ลมสบายไปได้นั้นจะเกิดความอยากหรือความโลภ จะให้สบายมากขึ้นอีกก็พยายามจัดลมหายใจให้สบายมากขึ้น จึงทำให้สมาธิถอยหรือไม่เป็นสมาธิ เพราะเหตุว่าความโลภเกิดขึ้น โลภจะให้ได้ผลดีเร็วๆ วิธีที่ถูกคือต้องไม่จัดให้ดีขึ้นโดยเจตนา เป็นหน้าที่ของจิต ที่จะจัดให้ลมสบายขึ้น สมาธิดีขึ้นเอง

ขอให้ฟังเหตุผลว่าจิตสามารถจัดให้สมาธิดีขึ้นได้อย่างไร ? เรามีร่างกายคือรูป และมีจิตใจคือนาม กายของเราที่ต้องทำงานอย่างมีระเบียบให้กายดำรงอยู่ได้ เช่น หัวใจต้องเต้นประมาณนาทีละ ๗๒ ครั้ง ถ้าเต้นมากเกินไปเช่นนาทีละ ๑๑๐ ครั้งก็เป็นไข้ เต้นต่ำกว่า ๔๐ ครั้ง ก็เป็นลม ปอดก็ช่วยให้หายใจนาทีหนึ่งประมาณ ๒๐ ครั้ง ตับมีหน้าที่ทำนํ้าย่อยส่งไปย่อยอาหาร การทำงานของอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่กินอาหารย่อยแปลงให้เป็นเลือด เลี้ยงร่างกายและขับถ่ายของเสียออกจากกายนั้น ก็คือ การควบคุมการทำงานภายในกายของจิต จิตหวังดีต่อกาย จิตไม่มีตัวตนแต่เป็นธรรมชาติรู้ จึงรู้ควบคุมกายให้เป็นปกติสุข แต่ตัวกายนั้นต้องการเครื่องแต่งกาย ต้องการอาหารที่อยู่เครื่องนุ่งห่มวิทยุ ทีวี รถยนต์ ฯ จิตก็ทำหน้าที่ช่วยคิดช่วยหา แม้การหาความสุขทางโลกทางธรรมจิตก็ทำหน้าที่ช่วยคิดช่วยหา ในการฝึกสมาธิเพื่อความสุขทางธรรมก็ช่วยเหลือเพื่อให้สมประสงค์ โดยช่วยให้มีการหายใจเบาลงแต่สบายมากขึ้น หายใจน้อยครั้งลงแต่สบายมากขึ้นหรือนั่นคือมีความสุขทางธรรมมากขึ้น เราต้องคล้อยตามจิต ทำตามจิต หรืออนุโลมตามจิตไม่ใช่จัดเอาเองเพราะจะเป็นตัณหาความอยากหรือความโลภ เมื่อคล้อยตามจิตก็จะมีการหายใจเบาลงน้อยครั้งลง แต่มีความสบายมากขึ้น ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนว่าวที่ติดลมแล้ว คือจิตสงบสบาย เมื่อมีลมพัดแรงขึ้นก็หย่อนเชือกว่าวตามลมคล้อยตามลม ว่าวก็ขึ้นสูงขึ้นคล้ายกับสมาธิ หรือความสบายความสุขจะดีขึ้นตามการจัดการช่วยเหลือของจิต ขอให้พิจารณาความลึกซึ้งของการทำงานของจิตที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ

ร่างกายของเราประกอบขึ้นด้วยเซลล์ที่มีชีวิต ซึ่งพระพุทธเจัาเรียกว่า “ชีวิตรูป” คือรูปกายที่มีชีวิต กระดูกเนื้อหนังตับไตอวัยวะต่างๆ ก็ประกอบด้วยเซลล์ ที่ตัวเล็กมากดูด้วยตาไม่เห็นต้องใช้กล้องขยายขนาดใหญ่ จึงจะเห็นได้ เซลล์มีชีวิตจึงต้องกินอาหาร เติบโต สืบพันธุ์ถ่ายออกและตาย เซลล์ทั่วร่างกายมีอยู่ประมาณห้าหมื่นล้านตัว ลองพิจารณาดูลูกหมูและลูกหมา มันมีลูกมากถึง ๑๐ ตัว ก็มีบางตัวโตมาก บางตัวเล็กมาก เพราะกินอาหารหรือนมได้น้อย แย่งสู้เขาไม่ได้ ถ้าจิต ไม่ควบคุมให้เซลล์กินอาหารเท่าๆ กัน แขนข้างหนึ่งก็โตไม่เท่าอีกข้างหนึ่ง ตาข้างหนึ่งก็จะเล็กข้างหนึ่งโต ที่โตได้ส่วนกันก็เพราะจิตเป็นผู้ควบคุม ทั้งห้าหมื่นล้านตัว จิตจึงหวังดีช่วยเหลือกายได้อย่างน่าพิศวง เมื่อเราฝึกสมาธิจิตก็ช่วยปรับลมหายใจให้เบาสบายขึ้นโดยลำดับ เราก็ตามคอยหายใจคล้อยตามจิต เปรียบเหมือนว่าวที่ติดลมแล้ว เมื่อลมแรงขึ้นก็หย่อนตามลมให้ขึ้นสูงไปอีก เราจัดลมหายใจสบายได้แล้วต่อไปจึงต้องคล้อยตามที่จิตจัดให้ไม่ใช่จัดเอง จัดเองจะกลายเป็นความอยากหรือตัณหา สมาธิก็เสียไป นี่เป็นหลักสำคัญมากต้องพิจารณาให้ดี เมื่อสมาธิสูงขึ้นลมหายใจจะเบาจะยาวขึ้น แต่ความสบายความสุขก็มากขึ้น นั่นคือการหายใจจะน้อยครั้งลงในหนึ่งนาที คนธรรมดาหายใจเข้านาทีหนึ่งประมาณ ๒๐ ครั้ง ให้ลองนับการหายใจคนที่หลับแม้กำลัง หลับสนิทมีเสียงกรนก็หายใจเข้าประมาณนาทีละ ๒๐ ครั้ง เท่ากับคนที่ตื่นและนั่งอยู่ แต่พอให้ตั้งใจทำสมาธิ การหายใจเข้าจะลดลง เกือบทุกคนหายใจเข้านาทีละ ๑๒ ครั้ง แต่มีความสบายเพราะจิตเป็นสมาธิ เมื่อทำสมาธิให้ดีขึ้น การหายใจจะเบาและยาวขึ้น แต่สบายมากขึ้น คอยนับการหายใจเข้าว่ากี่ครั้งโดยการดูความกระเพื่อมของหน้าอก แต่เมื่อสมาธิก้าวหน้าดีขึ้นอีกการหายใจเข้า เหลือเพียงนาทีละ ๕ ครั้ง เราจะสังเกตดูไม่เห็นความกระเพื่อม ต้องเอาสำลีเล็กๆ มาจ่อที่จมูกจะเห็นสำลีไหวเข้าเมื่อหายใจเข้า เมื่อสมาธิก้าวหน้าดีขึ้นอีก การหายใจเข้าก็ลดลง จนเหลือหายใจเข้าเพียงนาทีละ ๒ ครั้ง ก็นับว่าได้สมาธิถึงขั้นกลาง หรืออุปจาระสมาธิ จิตจะแยกออกจากกาย จึงทำให้รู้สึกว่าไม่มีกาย มีแต่จิตที่มีสติ รู้ตัวอยู่ หูจึงไม่ได้ยินเสียงรอบๆ ตัว หรือเรียกว่า หูดับ สมาธิขั้นกลางจะละเอียดประณีตขึ้น จนจวนจะเข้าฌาน (สมาธิขั้นสูง) จะพบแสง “โอภาส” เป็นแสงกว้างใหญ่มากปิดบังโลกทั้งโลก กายของเราเองก็ถูกปิดบังหมด แต่ยังรู้ชัดว่ามีแต่จิตนิ่งอยู่กลางแสงโอภาสมีความสุขมาก เพราะนิวรณ์ ๕ เกือบหมดสิ้นแล้ว ใจนึกสงสัยมาก เพราะไม่เห็นมีกาย คิดเอาว่าน่าจะเป็นพระอริยะ ขั้นพระโสดาหรือพระอรหันต์ คนจำนวนมากได้ขั้นนี้แล้วจะหลงผิดเข้าใจผิด เลยทำตัวปฏิบัติตัวผิดไปจากเดิม กินข้าวคนเดียวไม่ยอมให้ผู้อื่นกินด้วยขั้นนี้ต้องระวังมาก ได้เคยสอบถามพระอาจารย์ในดงท่านตอบว่า นั่นคือ แสงโอภาส เมื่อสมาธิดีขึ้นอีกก็ทิ้งแสงโอภาสแล้วก็เข้าสู่ “ฌาน” แสงโอภาสจะไม่เหมือนแสงใดๆ ในโลก ฌานที่ได้นี้ นิวรณ์ ๕ หมดแล้วแต่ยังเป็นฌานโลกีย์ รักษาไว้ไม่ดีก็เสื่อมได้ รายละเอียดยิ่งกว่านี้อ่านได้จากหนังสือ วิทยาศาสตร์ทางใจฉบับเปิดโลก ฉบับส่องโลกและฉบับส่องจักรวาล

สมาธิขั้นกลาง ก็มีความสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง ผู้ที่ตั้งใจฝึกอย่างจริงจังตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะสำเร็จถึงสมาธิขั้นกลางได้ภายใน ๓ เดือน โดยปฏิบัติตาม “หลักสำคัญในการ ฝึกจิต” ซึ่งรวบรวมจากคำสอนของพระอาจารย์ในดงลึก มี ๗ ข้อ

หลักสำคัญในการฝึกจิต ๗ ประการ

๑. หายใจด้วยลมสบาย เดินลมให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เป็นหลักสำคัญช่วยไห้สมาธิก้าวหน้าดีขึ้น ถ้าสมาธิไม่ก้าวหน้าดีขึ้น ยังมีการคิดโน่นคิดนี่ คือมีความฟุ้งซ่านมาแทรกก็ให้พิจารณาถึงความตายและอสุภะ คือ การพิจารณาทางวิปัสสนา เมื่อพิจารณาทางวิปัสสนาพอควรแล้วจิตก็สงบลง จึงเริ่มทำสมาธิต่อไปสลับกันไปดังนี้

๒. การนั่งสมาธิตามแบบนั้น ถ้าจิตสงบบ้าง ฟุ้งซ่านไปบ้าง จิตทรงตัวให้รู้สึกสบายปลอดโปร่งได้เพียงสั้นๆ นั่นคือ ควบคุมจิตให้สงบสุขอยู่ได้ไม่นาน สลับกับความคิดนอกเรื่องไปต่างๆ ดังนี้ให้ฝึกจิตไม่เกิน ๑ ชั่วโมงก็พักเสีย การทนฝึกเกิน ๑ ชั่วโมงไปจะได้ประโยชน์น้อยและมีโทษเจือปนมาก ถ้าจิตสงบสุขดีต่อเนื่องได้นานจึงฝึกเกิน ๑ ชั่วโมงได้ และไม่ควรเลิกฝึก จนกว่าจะเข้าใจ ชำนาญในการเข้าออกจากสมาธิที่ดีนั้น

๓. เมื่อนั่งสมาธิไปครั้งหนึ่งเสร็จแล้วจะต้องพัก ไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง จึงจะเริ่มฝึกครั้งที่ ๒ ได้ และวันหนึ่งหรือในรอบ ๒๔ ชั่วโมง ไม่ควรฝึกเกิน ๓ ครั้ง ถ้ามีเวลาว่างหรือในระยะที่พักการนั่งสมาธินั้น ควรกำหนด และพิจารณาทางวิปัสสนา คือพิจารณาถึงความตายและอสุภะ

๔. การฝึกสมาธิควรนั่งสมาธิติดต่อทุกวัน แม้จะฝึกเพียงวันละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๒๐ หรือ ๓๐ นาที ฝึกทุกวันจะได้ผลดีกว่าฝึกวันละหลายครั้งหรือฝึกครั้งหนึ่งนานๆ แต่ฝึกติดต่อไปบ้าง หยุดฝึกบ้าง เป็นบางวัน หรือหลายวัน เพราะการทำๆ หยุดๆ ก็คือความประมาทนั่นเอง และยังเป็นการขาดสัจจะความจริงจัง เด็ดเดี่ยวด้วย

๕. ฝึกในสถานที่เหมาะและเวลาที่เหมาะ จะได้ผลเร็วกว่าการฝึกในสถานที่หรือเวลาที่ไม่เหมาะ สถานที่เหมาะคือมีความสงบ ไม่มีห่วงกังวลว่าจะมีคน หรือมีอะไรมารบกวน เวลาที่เหมาะสมคือระหว่างจิตใจปลอดโปร่ง ร่างกายสดชื่น ไม่เหนื่อยอ่อน มีหลายอาจารย์ที่ฝึกได้ผลดี ได้ผลเร็ว ด้วยการฝึกสมาธิตอนตี ๓ ทุกวันไม่ให้ขาด เพราะเป็นเวลาที่ท้องว่าง ไม่มีการย่อยอาหาร ร่างกายได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว และมีความเงียบสงบก็นับว่าดี จึงทำให้ฝึกได้ผลก้าวหน้าเร็ว และถ้าเส้นทางติดต่อทางจิตของพระอาจารย์ในดงผ่านมาใกล้จะส่งพลังให้ได้สมาธิดี

๖. เมื่อจิตผ่านความสงบสุขเพลินจนเผลอตัว ลืมกายมารู้สึกมีแต่จิตลอยนิ่งอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีกาย ไม่ได้ยินอะไร ไม่มีทุกสิ่งในโลก เป็นระดับสมาธิขั้นกลาง (อุปจารสมาธิ) ขั้นนี้พยายามดำรงสมาธิไว้ให้นานที่สุด เมื่อสมาธิถอยเข้ามาสู่สมาธิอีกซํ้าซากจนชำนาญในการเข้าออก บางทีต้องทำติดต่อตลอดคืนหรือ ๒ วันเต็ม ห้ามหยุดพักก่อนที่จะชำนาญในการเข้าออก ถ้ารีบพักก่อนจะทำให้นั่งสมาธิถึงสมาธิขั้นกลางได้ยาก เท่าที่พบเห็นมาผู้หยุดพักผ่อนก่อนได้ความชำนาญ สมาธิจะถอยหลัง ทำถึงขั้นนั้นไม่ได้อีก เป็นเวลา ๑๐ ปี ๓๐ ปี ก็มีหลายราย

๗. การกำหนดหรือพิจารณาทางวิปัสสนา ที่จริงการฝึกสมาธิวิปัสสนาก็ฝึกไปพร้อมๆ กัน พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ การเอาจิตจดจ่อแนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เป็นสมาธิ (สมถะ) การรับรู้หรือพิจารณาว่าลมหายใจเบาหนัก เย็นร้อน ลมหายใจสั้นยาว ลมหายใจสบายไม่สบาย เป็น วิปัสสนาระดับต้น ส่วนวิปัสสนาที่แท้จริงก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ เช่นการพิจารณาความตายและอสุภะ เป็นวิปัสสนาที่สำคัญมาก ต้องพิจารณาตลอดเวลาที่จิตไม่สงบนอกจากการนั่งสมาธิแล้วก็ “เดินจงกรม” สลับ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมเป็นการฝึกจิตและออกกำลัง ไปด้วยในตัว การเดินจงกรมมีอานิสงส์ (ประโยชน์) ๕ อย่างประโยชน์ที่สำคัญคือ สมาธิที่เกิดจากจงกรม จะอยู่ได้นาน
ในการฝึกแบบต่อเนื่องให้ได้ผลเร็วมีท่านอาจารย์บางสำนักให้ภาวนา พุทโธ ไว้ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำงาน จะพูด จะคุยกัน หรือเวลายืนเดินนั่งนอนก็ภาวนาได้เรื่อยไป เมื่อชำนาญและทำได้ดีมีสติกำกับอยู่ก็จะมีสติรู้พุทโธ ไปเอง โดยไม่ตั้งใจภาวนา และรู้ลมที่หายใจเข้าออกไปด้วย นี่คือจิตเป็นสมาธินั่นเอง ผู้มีสติรู้เป็นสมาธิดังนี้จะทำอะไรก็ได้ผลดีกว่าจิตธรรมดามาก ขณะภาวนา พุทโธ ก็นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า (พุทธานุสสติ)

เมตตา เป็นธัมมะที่สำคัญที่จะละเว้นไม่ได้ ควรแผ่เมตตาก่อนนั่งสมาธิและหลังจากนั่งสมาธิและในโอกาสอื่นที่ว่าง

มีหลักฐานในพระไตรปิฎกคือ“อารักขกัมมัฏฐาน ๔” เป็นธรรมที่ช่วยรักษาจิตให้เป็นกัมมัฏฐาน คือให้สมาธิวิปัสสนาทรงตัวอยู่ กล่าวไว้ว่า ควรเจริญเป็นนิตย์ มี ๔ ประการ คือ

๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้คนและสัตว์ เป็นสุขทั่วหน้า
๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นไม่งาม น่ารังเกียจ
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแน่นอน
กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์

วิธีปฏิบัติเมื่อกราบพระ เมื่อสวดมนต์ เมื่อเกิดความกลัวก็ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

การแผ่เมตตานั้นให้ทำก่อนนั่งสมาธิ หลังจากนั่งสมาธิ และในโอกาสอื่นๆ

การนึกถึงความตายย่อมเห็นอสุภะไปด้วยในตัว การพิจารณาถึงความตายจึงเป็นธรรมที่ต้องพิจารณาตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระอภิธรรมสังคิณีมาติกาตอนหนึ่งมีใจความว่า การพิจารณาถึงความตาย (มรณธรรม) ทำให้อารมณ์น้อยลง ไม่ทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไป อารมณ์จะฟุ้งซ่านไปก็เพราะเหตุที่ได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง เป็นต้น เมื่อมีมรณธรรมเป็นอารมณ์อยู่ในสันดานแล้ว บุคคลผู้นั้นก็มีความยินดีน้อยจัดเป็นผู้ไม่ประมาท ในเรื่องความไม่ประมาท พระพุทธองค์ทรงตรัสถามภิกษุว่า ท่านทั้งหลายคิดถึงความตายวันละเท่าใด ? ภิกษุองค์หนึ่งทูลว่า คิดถึงความตายเมื่อเวลาไปบิณฑบาต พระพุทธองค์ทรงติเตียนว่ายังมีความประมาทอยู่ ภิกษุอีกองค์หนึ่งทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงความตายในเวลาฉันจังหันว่า เรายังไม่กลืนอาหารลงในลำคอก็จะตายเสียได้ในระหว่างที่จะกลืนอาหารลงไป พระองค์ตรัสติเตียนว่ายังมีความประมาทมากอยู่ ภิกษุองค์หนึ่งทูลว่าคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าและทุกลมหายใจออก พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญว่า ดูก่อนภิกษุผู้เห็นภัยในชาติ ถ้าท่านปรารถนาจะยังความยินดีให้น้อยลงไม่ฟุ้งซ่าน จงบังเกิดความสังเวชสลดใจได้ ศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ อันเป็นเครื่องป้องกันสรรพภัย ทั้งปวงอันจะบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายทั้งภายในแลภายนอก เมื่อพิจารณาถึงความตายและอสุภะทุกลมหายใจเข้าออกจนชินและติดแล้วก็จะมีการรู้ติดตาติดใจมั่นคง แม้กำลังพูดกำลังทำอะไรก็มีสติรู้เห็นความตาย และอสุภะของกายอยู่ตลอดเวลาจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

กล่าวโดยสรุปจะให้สมาธิก้าวหน้าขึ้นสู่ขั้นกลางได้ภายใน ๓ เดือน ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด ตามหลักสูตรการฝึกสมาธิในดง ๕ ข้อ คือ

๑. กินยาซ่อมแซมร่างกายและรักษาโรคในกาย รักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง มีการออกกำลังกายเป็นประจำ ถือศีลเท่าที่จะทำได้ บำเพ็ญทานคือทำบุญตามกำลังทรัพย์

๒. ฝึกอยู่ป่าช้า จากป่าช้าที่น่ากลัวน้อยและป่าช้าที่น่ากลัวมากขึ้น และฝึกสมาธิในป่าช้าที่หนีไม่ได้ เช่น ที่เกาะผีใกล้เกาะสีชัง

๓. ฝึกสมาธิในป่าทึบห่างจากหมู่บ้านจากป่าที่มีสัตว์ร้ายได้แก่มีเสือช้างและสัตว์ร้ายโดยการเดินป่าธุดงค์ หลายคนแล้วลดเหลือ ๒ คน แล้วเดินธุดงค์ไปฝึกคนเดียว มีอาจารย์ชำนาญในการอยู่ป่าควบคุมแนะนำ ตะล่อมให้ได้สมาธิ แต่หลีกเลี่ยงไม่ใช้การ “ทางจิต” จะทำให้ เคยตัว

๔. ให้เลี้ยงผี (เลี้ยงวิญญาณ) ใช้วิญญาณทำงาน ได้แล้วนำไปปล่อยเสีย การอยู่ป่าช้าเพื่อให้พบวิญญาณของผู้ตายมาร้องขอส่วนบุญและเลี้ยงผีด้วยก็ให้รู้เห็นชัดแจ้งว่าตายแล้วไม่สูญ จะต้องรับกรรมที่ตนทำไว้ ทำให้กลัวบาปด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริง ทั้งผีและเทวดาในป่า ซึ่งเป็นธรรมที่ควรกล่าวก่อนคือ ควรกล่าวก่อนที่จะสอนธรรมระดับสูงซึ่งเรียกว่า “อนุบุพพีกถา” ใจความว่าให้สอนจากง่ายไปยาก คือสอนเรื่อง ทาน ศีล เรื่องเทวดา โทษความต่ำทรามความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อเห็นจิตสงบดีแล้ว จึงประกาศ “อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” การละเว้นไม่สอนเรื่องเทวดาจึงเป็นการสอนข้ามขั้นที่สำคัญ เพราะทำให้มั่นใจว่าตายแล้วไม่สูญ

๕. สอนให้ใช้อำนาจคุณพระอำนาจจิตตามขั้นของสมาธิ เพื่อให้เชื่อเลื่อมใสในคุณพระและเพื่อประโยชน์ที่สำคัญยิ่งคือเข้าใจเห็นแจ้งชัดในธรรมระดับสูงสุด คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นธัมมะลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจได้ด้วยการอธิบาย จะต้องให้ปฏิบัติด้วยตนเอง คือเมื่อเริ่มได้สมาธิขั้นกลาง ก็ให้ทำใบไม้เป็นตัวสัตว์ เริ่มจากง่ายคือทำใบมะขามเป็นตัวแตน เมื่อเป็นตัวแตนอยู่ไม่เกิน ๗ วันก็จะกลับจากตัวแตนเป็นใบไม้ เมื่อเรียนจบขั้นกลางแล้วก็ให้เดินลอดภูเขาไปมาได้ ทำให้รู้ เห็นชัดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนคนไม่เคยกินเกลือจะอธิบายว่า เค็มคืออย่างไร ก็ไม่เข้าใจ ต้องให้เขากินเกลือเองถึงจะเข้าใจ วิธีใช้พลังจิตทำใบไม้เป็นตัวสัตว์ วิธีระลึกชาติ วิธีใช้พลังจิตให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้อธิบายไว้โดยละเอียดตั้งแต่การยกครูจนจบมีกล่าวไว้ในฉบับส่องจักรวาลแล้ว ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามหลักสูตร การฝึก ๕ ข้อที่กล่าวมานี้ นอกจากหลักสูตรการฝึกทั้ง ๕ ข้อ ขอให้ทำตามหลักสำคัญในการฝึกจิต ๗ ประการ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พร้อมด้วยพิจารณาถึงความตาย และอสุภะตลอดเวลา มีการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และแผ่เมตตา ซึ่งเป็นธรรมช่วยรักษาจิตให้มีกรรมฐาน ในบางโอกาส แต่ที่สำคัญคือให้มีตารางกำหนดเวลาใด ทำอะไรแน่นอน จึงจะมีหวังถึงสมาธิขั้นกลางภายใน ๓ เดือน ตัวอย่างตารางกำหนดเวลาตามประวัติของพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์ฝั้น คือ

ประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ รวบรวมโดยพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด จ. อุดรธานี (เป็นหนังสือพิมพ์แจกเป็นธรรมทานเล่มหนา พิมพ์หลายครั้ง) ใจความตอนหนึ่งว่า

ข้อวัตรประจำองค์ท่านในปัจฉิมวัย
๑. หลังจังหันแล้ว (ฉันหนเดียว) เข้าทางจงกรม จวนเที่ยงพัก
๒. หลังพัก เข้าที่ทำสมาธิ รวมชั่วโมงครึ่ง
๓. ลงเดินจงกรม บ่าย ๔ โมง กวาดลานวัด หรือที่พักแล้วสรงนํ้า
๔. เข้าทางจงกรม
๕. หนึ่งถึงสองทุ่ม เข้าที่ทำสมาธิ
๖. ปกติจำวัดราว ๕ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ทำสมาธิ

ประวัติพระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิง มกราคม ๒๕๒๑ ตอนหนึ่งมีใจความว่า

กิจประจำวัน
เวลาตี ๓ ออกล้างหน้าไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิ จนถึงตี ๕ ลงเดินจงกรมจนสว่างแล้วปัดกวาดลานวัด

๖.๓๐ น. ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน
๙.๐๐ น. หลังจากฉันเช้า (ฉันหนเดียว) ลงเดินจงกรมจนถึง ๑๑.๐๐ น. ท่านจึงขึ้นพัก
เวลา ๑๓ น. เศษ รับแขก ถ้าไม่มีแขกท่านก็ลงเดินจงกรมจนถึง ๑๕ น. ลงฉันน้ำร้อนและเภสัชร่วมกับภิกษุสามเณร แล้วปัดกวาดลานวัด แล้วสรงน้ำ หลังจากสรงน้ำท่าน จะลงเดินจงกรมไปจนมืดจึงทำวัตรสวดมนต์
๑๙.๓๐ น. หรือ ๒๐ น. พระอาจารย์ ออกจากห้องมาอบรมพระเณร และแก้ปัญหาที่สงสัยจนถึงเวลาประมาณ ๒๒ น. (บางวันถึง ๒๔ น.) ต่อจากนั้นพระเณรเข้าปฏิบัตินวดเส้นถวาย ท่านบอกเลิกแล้วเข้าห้อง นั่งสมาธิ (เวลา ๓.๐๐ น. เป็นเวลาออกล้างหน้า นั่งสมาธิเป็นประจำ)

ประวัติของพระอาจารย์ผู้มีสมาธิสูงในสายพระอาจารย์ในดงและสายอาจารย์อื่นๆ ก็ล้วนแต่ได้ฝึกสมาธิวิปัสสนาจริงจัง กล้าหาญ ไม่กลัวตาย ตัวอย่างศิษย์นอกดงที่เอาจริงจังเด็ดขาดได้แก่ พระเดชพระคุณ หลวงพ่อจรัญ จิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ. สิงหบุรี ฝึกหลักสูตรศิษย์นอกดงจบฌานกับหลวงปู่ในดง ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลา ๓ ปี แต่หลวงพ่อจรัญเรียนจบเพียง ๓ เดือน ดังนั้นการที่จะฝึกให้ได้สมาธิขั้นกลางภายใน ๓ เดือน ก็เป็นไปได้ถ้าเอาจริงตามที่พระพุทธองค์สอน ดังกล่าวมาแล้ว

ที่มา:ชม  สุคันธรัต