ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ

วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร บ้านหัวสำโรง สระสองตอนและดงยาง
ชาวบ้านหัวสำโรง สระสองตอนและดงยางเป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรที่บรรพบุรุษอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ๆ เป็นอำเภอพนมสารคามในปัจจุบันเป็นเวลานานนับร้อยปี บุตรหลานของคนอพยพกลุ่มนี้ยังคงใช้ภาษาที่ ๑ อยู่ ในหมู่บ้านของตน สืบทอดประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมอันแสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธ์กับชาวไทยภาคกลาง เนื่องจากชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านเหล่านี้มิได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านชาวไทยภาคกลาง ซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สังคมเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน เหตุนี้เองชาวไทยเชื้อสายเขมรเหล่านี้จึงรับวิถีชีวิตของชาวนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตน และรับวัฒนธรรมหลวงที่มีรากฐานจากพุทธศาสนาเข้าเป็นหลักในการดำเนินชีวิตนอกเหนือไปจากนั้น ชาวบ้านกลุ่มดังนี้ยังได้รับวัฒนธรรมของชาวลาวเวียงอันเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงที่แพร่กระจายเข้ามายังหมู่บ้านของตน โดยเหตุนี้ชาวไทยเชื้อสายเขมรใน ๓ หมู่บ้านดังกล่าวแล้วนี้จึงดำเนินอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่มีความหลายหลาก
ผลของการศึกษาได้พบ ว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนกลุ่มน้อย ๓ หมู่บ้านนี้มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. วัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์กับชาวไทย ได้แก่
๑.๑ ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ
๑.๑.๑ การเซ่นดนตา
๑.๑.๒ การเลี้ยงผี
๑.๑.๓ เบบาจาตุม
๑.๒ เพลงพื้นบ้านเขมร
๑.๒.๑ เพลงปฏิพากย์
๑.๒.๒ เพลงประกอบพิธีกรรม
๑.๓ งานหัตถกรรม
๑.๓.๑ งานไม้
๑.๓.๒ เครื่องปั้นดินเผา
๒. รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาว
๓. รับวัฒนธรรมของชาวไทยภาคกลาง
๓.๑ วัฒนธรรมหลวง
๓.๒ วัฒนธรรมพื้นบ้าน
๓.๒.๑ เพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงประกอบ การเล่น (เพลงระบำ) เพลงประกอบการทำงาน (เพลงชางชัก) และเพลงประกอบพิธีกรรม (เพลงแห่นางแมวและเพลงสวดคฤหัสถ์)
๓.๒.๒ หัตถกรรมพื้นบ้าน
วัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์กับชาวไทย
ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ
ความเชื่อหลักของชนกลุ่มนี้ คือ ความเชื่อในอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นความเชื่อถือในธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีอำนาจและสามารถให้คุณให้โทษได้ ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อผีสางเทวดา แม้ชาวบ้านเหล่านี้จะนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตามที แต่ความเชื่อผีสางเทวดาอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมก็ยังคงเป็นรากฐานอยู่ชั้นล่าง พุทธศาสนาซ้อนอยู่ชั้นบนจะเห็นได้จากการผสมผสานความ
เชื่อดั้งเดิมเข้ากับการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน ในบริเวณวัด แม้กระนั้นก็ยังมองเห็นความเชื่อผีบรรพบุรุษ (ancestor worship) อันเป็นรากฐานดั้งเดิมของเขาปรากฏอยู่ในประเพณีต่างๆ เช่น
การเซ่นดนตา (ส่งเรือ) เป็นประเพณีที่ทำต่อเนื่องกัน ๒ วัน คือ เย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เขานำอาหารและผลไม้ไปเช่นผีบรรพบุรุษในบริเวณโบสถ์ประมาณตี ๔ ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำนำอาหารเครื่องกิน เครื่องนุ่งห่ม รูปปั้นคนและสัตว์เลี้ยงใส่ลงไปในเรือที่ทำด้วยกาบกล้วย แล้วนำเรือไปลอยในแม่น้ำลำคลองหนองบึง ถือว่าเป็นการส่งอาหาร ผู้คนและสัตว์เลี้ยง พาหนะ ตลอดจนถึงเสื้อผ้า ไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้มีกินมีใช้ในภพนั้นๆ
การเลี้ยงผีเขมร การเลี้ยงผีเป็นพิธีกรรมในการรักษาโรคของชนกลุ่มนี้ เขาเชื่อกันว่ามีคนเจ็บป่วยในบ้านจะต้องผิดผี กล่าวคือผีญาติพี่น้องเป็นผู้ทำให้เจ็บป่วย วิธีรักษาต้องให้คนทรงเป็นผู้ติดต่อกับผีด้วยการทำพิธี “ขึ้นหิ้ง” อันเป็นพิธีเชิญผีญาติพี่น้องมาถามว่าผู้ป่วย ผิดผีผู้ใด คนทรงจะเชิญผีญาติพี่น้องด้วยเพลงประจำตัวของผีญาติพี่น้องเหล่านั้น ด้วยการเป่าปี่เขมรและตีกลองเขมร ผู้ป่วยอาจจะผิดผีทั้งฝ่าย บิดามารดา และผิดผีคราวละหลายๆ คนก็เป็นได้ บางคนผิดผีถึงญาติพี่น้องถึง ๑๑ คน เมื่อทราบว่าผิดผี ผู้ใดคนทรงก็ทำหนาที่บนบานศาลกล่าวแทนผู้ป่วย เมื่อหายป่วยจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเขมรตามที่บนไว้ เครื่องเซ่นในการเลี้ยงผีได้แก่ เหล้า ไก่ต้ม หัวหมู กล้วย ๑ หวี และผ้าแดง ๑ ผืนสำหรับคลุมร่างคนทรง คนทรงจะทำพิธีเชิญผีด้วยการตีกลองและเป่าปีเป็นเพลงประจำตัวผีทีละตนเช่นเดิม เมื่อผีแต่ละตนรับเครื่องเซ่นแล้วคนทรงจะใช้น้ำมะพร้าวอ่อนพ่นศีรษะผู้ป่วยพรอมทั้งอวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุขก่อนจะเลิกพิธีเลี้ยงผีจะมีผู้รำเก็บดอกไม้ คือ พวงดอกลั่นทมที่ผูกอยู่ที่มุมผ้าขาวทั้ง ๔ มุม ที่ขึงอยู่ในห้องที่ประกอบพิธี อาวุธที่ใช้รำตัดดอกลั่นทมได้แก่ดาบ ผู้รำจะเป็นใครก็ได้อยู่ในพิธีเลี้ยงผีเวลาที่ติดต่อกับผีไม่ว่าจะเป็นพิธีใดก็ตามจะติดต่อในตอนกลางคืน
เบบาจาตุม เป็นประเพณีการแต่งงานหรือการขอขมาก็ตามอันเป็นประเพณีเกี่ยวกับการมีคู่ครองจะต้องมีการไหว้ผีปู่ย่าตายาย เครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายายได้แก่ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว อาหารคาวหวาน อย่างละ ๑ สำรับ เหล้า ๑ ขวด ไก่ต้ม ๑ ตัว และดอกหมาก ช่อละ ๓ ดอก เมื่อคู่บ่าวสาวไหว้ผีบรรพบรุษแล้วจะมีผู้กล่าวอวยพรเป็นภาษาเขมร ๓ ครั้ง ญาติพี่น้องจะซัดช่อดอกหมาก สลับกับคำอวยพรทั้ง ๓ ครั้ง พิธีนี้เรียกว่า “เบบาจาตุม” ข้อแตกต่างไปจากคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ ในระหว่างงานแต่งงานฝ่ายชายจะต้องหาคนไปให้ฝ่ายหญิงใช้ในงานตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ส่วนพิธีรดน้ำก็เหมือนพิธีไทย กล่าวคือพระสงฆ์เป็นผู้ซัดน้ำก่อน แล้วจึงให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่รดที่ศีรษะ ส่วนเงินรับไหว้เรียกว่าเงินผูกแขน ญาติผู้ใหญ่รับไหว้ เป็นผู้ผูกข้อมือซ้ายของคู่แต่งงาน ในวันที่ ๓ ของพิธีแต่งงาน
อันที่จริง สาระสำคัญความเชื่อเรื่องผีของชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านนี้ก็เหมือนกับชาวไทยทั่วๆ ไป กล่าวคือ เชื่อกันว่าผีมีอำนาจทั้งให้ดีและให้ร้าย ความแตกต่างอยู่ตรงพิธีกรรมเท่านั้น
ที่มาโดย:นารี สาริกะภูติ

ต้นไม้อัปมงคล

ต้นไม้อีกพวกหนึ่งที่โบราณถือว่า ถ้าปลูกในบริเวณบ้านจะเกิดอัปมงคล ได้แก่ โพธิ์ ไทร หวาย ระกำ สลัดได โศก หว้า ยาง ตาล ตะเคียน ลั่นทม มะกอก สำโรง รัก ซ่อนกลิ่น-ซ่อนชู้ เฟื่องฟ้า ตะไคร้ ราตรี เป็นต้น

ต้นโพธิ์
โพธิ์ (Ficus religiosa, Linn)
โพธิ์ เป็นต้นไม้ที่ชาวพุทธถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงเห็นสมควรปลูกแต่เพียงในวัดวาอารามเท่านั้น
ฤดูแล้ง (ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน) ใบและผลสุกร่วงหล่นสกปรกเลอะเทอะ ติดเท้าเปรอะเปื้อนขณะเดินผ่าน ประโยชน์ทางอื่นมีน้อย ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคิดนำต้นโพธิ์เข้ามาปลูกในบริเวณบ้าน

ต้นไทร
ไทร (Ficus)
โดยเฉพาะไทรย้อย มีรากห้อยย้อยจากกิ่งลงดิน ส่วนเหนือดินกลับกลายเป็นต้น ดูระเกะระกะ แผ่ขยายปริมณฑลออกไปเรื่อยไม่มีขอบเขต พุ่มใบดกหนา บดบังแสงแดดแก่ต้นไม้อื่นๆ กิ่งใหญ่อาจหักพาดทับหลังคาบ้าน ทับต้นไม้ และข้าวของต่างๆ เสียหาย ประโยชน์อื่นไม่ปรากฏชัด

หวายระกำสลัดได
หวาย ระกำ สลัดได
ต้นไม้ทั้งสามชนิดนี้มีหนามแหลมคม หากทิ่มตำมือ หรือเท้าเข้าให้แล้ว จะมีอาการเจ็บปวด จะบ่งหรือแคะเขี่ยออกได้ยาก
หวาย พูดถึงหวาย หูพลันได้ยินเสียงแหวกอากาศ ดัง “เควี้ยว” กระทบแผ่นหลังดัง “ขวับ” เนื้อหนังแตกเป็นแนวนูน เลือดกระฉูด คิดว่าคงไม่มีใครอยากได้ยินได้ฟัง เสียงอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดเหี้ยมทารุณทรมานได้ยินชื่อก็ไม่อยากเข้าใกล้เสียแล้ว
ระกำ นึกถึงความชอกช้ำระกำทรวง ลำบากตรากตรำ เชื่อทุกคนอยากหนีไปให้ไกลแสนไกล
สลัดได สลัดรัก สลัดชีวิตคู่ที่เคยมีความสุขร่วมกัน ก็คงไม่มีใครปรารถนา

โศก
โศก ปัจจุบันถึงจะเปลี่ยนชื่อเป็นอโศกแล้วก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังรำลึกถึงชื่อเก่าอยู่ โดยกริ่งเกรงไปว่าจะได้รับแต่ ‘‘ความทุกข์ โศกเศร้าอาดูร” ใจไม่นิยม

หว้า
หว้า เป็นไม้ยืนต้น กิ่งก้านเปราะฉีก หักง่าย ออกผลเล็กๆ ตามลายกิ่ง เด็กๆ ที่แขนเดาะ ขาหักเพราะตกต้นไม้ ถามดูเถอะรายไหนรายนั้น ตกต้นหว้ามากกว่าต้นไม้อื่น เหตุนี้กระมัง จึงไม่นิยมปลูกไว้ตามบ้าน

ต้นยาง
ยาง หมายถึง ไม้ยางแดง ลำต้นสูงใหญ่ ที่โค่นนำไม้มาปลูกบ้านสร้างเรือน ต่อโลงศพ เห็นใช้ไม้ยางมากกว่าไม้อื่น ลำต้นสูงใหญ่นานไปเกรงจะโค่นล้มทับบ้านช่อง ห้องหอ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคิดปลูกใกล้บ้าน

ต้นตาล
ตาล ต้นตาลเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์ปาล์ม มีระบบรากฝอย ไม่มีรากแก้ว ลำต้นสูงใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยงดูนานกว่าจะให้ผล ไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสาร อาจล้มเมื่อใดก็ได้ไม่พบเห็นปลูกตามบ้าน คงเห็นขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนา เท่านั้น

ต้นตะเคียน
ตะเคียน ตะเคียนต้นใหญ่ เชื่อกันว่ามีผีสางนางตะเคียนสิงอยู่ (ผีนางตะเคียน) เป็นคติความเชื่อมาแต่เดิม

ต้นสน
สน คงหมายถึง สนทะเล สนปฏิพัทธ เชื่อกันต่อๆ มาว่า ต้องปลูกตามวัดไม่นิยมปลูกตามบ้าน โดยเชื่อว่าหากปลูกไว้ตามบ้านจะถึงกับ “ขัดสนจนปัญญา จะกระทำการใดๆ มักจะไม่ราบรื่น ติดขัดไปเสียหมด มาวิเคราะห์ดูใบสนที่ร่วงหล่นลงดิน ใบมีน้ำมัน เป็นเหตุให้หญ้ายังไม่อาจ
จะงอกงามได้ ดังนั้นต้นไม้อื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นจะพลอยหงอยเหงาและตายไปด้วย
อีกประการหนึ่ง ใบสนทั้งสด แห้ง เป็นเชื้อไฟอย่างดี อาจเป็นชนวนทำให้เกิดการลุกไหม้ลามไปติดบ้านเรือน

ลั่นทม
ลั่นทม เหตุผลเดิม ชื่อฟังดูเป็นอัปมงคล “ประหนึ่ง ทำให้เกิดความทุกข์ระทมใจ” เหตุผลใหม่จากการวิเคราะห์ วิจัยพบว่า “ยางลั่นทมมีสารไซยาไนด์” ซึ่งมีพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น เช่น คน
มะกอก มีหลายชนิด เช่น มะกอกน้ำ มะกอกน้ำหวาน มะกอกฝรั่ง ฯลฯ ทั้ง ๓ ชนิดชอบขึ้นใกล้น้ำ โบราณท่านคงเพ่งเล็งตรงชื่อมากกว่า ประโยชน์อื่นๆ เช่น ดูประหนึ่ง เป็นคนกลับกลอก ไม่มีความจริงใจ” หรือ “มะกอก สามตะกร้าปาไม่ถูก” เป็นต้น
สำโรง เป็นไม้เนื้ออ่อน มีใบย่อย ๑๐ ใบแยกออกจากจุดเดียวกัน คล้ายใบมันสำปะหลัง หรือใบนุ่น ถ่านไม้สำโรง ใช้เป็นส่วนผสมดินปืน ในการทำพลุ ตะไล ผลมีลักษณะคล้ายเมล็ดบัวหลวง แคะเนื้อภายในออก เหลือแต่เพียงเปลือกเมล็ด ประจุดินดำเข้าไปแทน โผล่สายชนวนออกมาจุดไฟ เมล็ดสำโรงนี้จะวิ่งส่ายไปมา เกิดเสียงดัง เหมือนหัวไม้ขีดไฟไหม้ไฟติดต่อกัน เราเรียกเครื่องเล่นแบบนี้ว่า “จู้จี้”
ต้นสำโรงมีชื่อฟังคล้ายกับโลง เชื่อกันว่ามีผีสิงอยู่

ต้นรัก
รัก หากคำนึงถึงความหมายแล้ว คงจะไม่มีใครนำไปปลูกบริเวณบ้านเป็นแน่ไม่ว่าจะเป็นรักเร่ ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น “รักแรก” แล้วก็ตาม รักลา (ดอกมีกลีบชั้นเดียว) หรือ “รักซ้อน” (มีกลีบดอกมากกว่าชั้นเดียว) ก็ตาม โดยเฉพาะบ้านที่มีบุตรสาวยังไม่แต่งงาน ถึงมีครอบครัวแล้วก็เถอะน่า คงไม่อยากให้เป็นไปตามชื่อ เท่าที่ทราบยางรักมีพิษ ถูกผิวหนังจะเปื่อยเน่า ยิ่งกว่านั้น “ตัวบุ้ง” (ตัวอ่อนของแมลงผีเสื้อ) ชอบอาศัยอยู่ตามใบและยอดอ่อน เกาะเข้าตรงที่ใดเป็นได้คันยิบทีเดียว

ซ่อนกลิ่น
ซ่อนกลิ่น-ซ่อนชู้ ซ่อนกลิ่นมีกลีบดอกชั้นเดียว ส่วนซ่อนชู้นั้นมีกลีบดอกหลายชั้น (กลีบซ้อน) ช่อดอกนิยมใช้ในงานศพมากกว่างานพิธีอื่นๆ ชื่อเสียงเรียงนามก็ไม่ไพเราะเสนาะหู แถมยังใช้ประโยชน์ในวงแคบ ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบเห็นปลูกตามบ้านเรือนทั่วไปเช่นดอกไม้อื่น

เฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้า ชื่อก็งามนามก็ไพเราะ กิรดังได้ยินได้ฟังมา ปลูกไว้ในบ้านแล้วคนในบ้านจะทะเลาะเบาะแว้ง เกิดระหองระแหงกัน เท็จจริงอยู่ที่คนบอก คงเป็นเพราะหนามที่แข็งและแหลมคมทิ่มตำเท้า กิ่งที่ยื่นยาวเก้งก้าง มันชอบเกี่ยวเสื้อผ้า หรือเบียดบังต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้ก็เป็นได้ ลองปลูกเล่นเป็นไม้แคระ (บอนไซ) ดูบ้างซี เลี้ยงให้ต้นแคระจิ๋วและออกดอกเล็กๆ สีสดใส สวยงามไม่เบาเชียว

ตะไคร้
ตะไคร้ กล่าวกันว่าตะไคร้บ้านใครออกดอกจะมีเรื่องหย่าร้าง บ้านแตกสาแหรกขาด มีอยู่รายหนึ่งพ่อแม่ลูกต้องแตกกระสานซ่านเซ็นพลัดพรากจากกัน ขายที่ขายบ้านกันเลยทีเดียว
หลายคนต่างลงความเห็น เพราะตะไคร้ที่บ้านนั้นออกดอก จึงเป็นเช่นโบราณว่าไว้
ข้าพเจ้าวิเคราะห์ผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุที่สามีเป็นนักเลงการพนัน เสียพนันขันต่อจนต้องจำนองจำนำ แถมเกิดมีเมียน้อยเข้าอีก จึงเกิดเรื่องดังกล่าว
มองกันในมุมกลับ เรื่องที่เกิดอาจมาพร้อมกับตะไคร้ออกดอกก็เป็นได้ หรือตะไคร้ที่ออกดอกมาให้เห็นเป็นลางสังหรณ์ บอกให้ทราบถึงความวิปริตและเหตุการณ์ในอนาคตของครอบครัวนั้น

ต้นราตรี
ราตรี ราตรี เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดย่อม ดอกบานตอนกลางคืน ส่งกลิ่นหอมฉุนไปไกล จึงได้รับการขนานนามว่า “ราตรี” รุ่งเช้าดอกที่บานตอนกลางคืนจะร่วงหล่นหมด
ชาวจีนอายุ ๖๐ ปีผู้หนึ่ง เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ แมนจู ปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนจะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยแบบคอมมูน โดยมี ดร. ซุนยัดเซน เป็นผู้นำ
สมัยนั้นบ้านเศรษฐีและขุนนาง นิยมปลูกเรือนหอให้บุตรีของตน แยกอยู่ต่างหากกับสาวใช้
ในฤดูใบไม้ร่วง (ชิวเทียน) ซึ่งตรงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ และฤดูใบไม้ผลิ (ชุนเทียน) คืนเดือนหงาย พระจันทร์เต็มดวง แสงนวลอร่ามตา บรรดาบุตรีของเศรษฐี และขุนนาง พร้อมด้วยบรรดาสาวใช้คนสนิทจะพากันยกจะเข้จีน (ซาเจ็ง) ออกมาที่สวนหน้าเรือนหอ จุดกำยานลงใน
กระถาง ๓ ขา ให้ขจรขจายกลิ่นไปทั่วปริมณฑล ดีดจะเข้จีนเล่นเพลงไปเที่ยงคืน
ท่ามกลางแสงจันทร์และเสียงเพลง ในยามราตรีที่สงัด บรรยากาศจึงอบอวลด้วยอารมณ์พิศวาส
บิดา มารดาของกุลสตรีสมัยนั้น มีประสบการณ์ผ่านวัยหนุ่มสาวมาก่อน ทราบดีว่ากลิ่นของดอกราตรีมีอำนาจเร้นลับในทางปลุกเร้าอารมณ์เพศอย่างรุนแรง จึงห้ามปลูกต้นราตรีในบ้านและบริเวณใกล้เรือนหอของบุตรีแห่งตน ด้วยกริ่งเกรงไปว่า อารมณ์อันเปล่าเปลี่ยวของบุตรีจะ กระเจิดกระเจิงเริงโลดไปด้วยเหตุนี้ต้นราตรีจึงเป็นดอกไม้ต้องห้ามมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นเป็นต้นมา
ในเมืองไทยเท่าที่ทราบ บางคนแพ้กลิ่นหอมฉุนของต้นราตรี เชื่อกันว่าดมนานๆ แล้วอาจทำให้เป็นวัณโรค ที่เป็นภัยอีกอย่างหนึ่งก็คืองูปิ่นแก้วชอบพำนักอาศัยอยู่ในพุ่มใบของต้นราตรี
สิทธิการิยะ            ผิว่าปลูกสร้างบ้าน
อยู่เย็นเห็นสราญ        ท่านให้ปลูกไม้มงคล
บูรพาปลูกไม้ไผ่        สีสุก
จักอยู่เย็นศรีสุก            สละสล้าง
ต้นกุ่ม มะพร้าว รุกข        ชาติ
ภัยพยาธิผิว์ร้ายร้าง        ห่างหาย
อาคเนย์หมายปลูกต้น        สารภี
เจิดแจ่มจิตโสภี                สุขยั้ง
ต้นยอยลยอดี                ปรากฏ
อีกกระถินกันเสนียดทั้ง        อัปรีย์
ทักษิณดีปลูกต้นไม้        กินผล
มะม่วงมากมายผล            ระย้า
มะพลับ ตะโก ขวน            ขวายปลูก
แปลกเปลี่ยนกินเมื่อหน้า        ออกผล
หรดีดลปลูกไม้            พิกุล
ยลยั่งยืนพิพิธกุล                สืบเชื้อ
ราชพฤกษ์ อีก ขนุน            หนุนเนื่อง
แล สะเดา กันโทษเรื้อ            เริดพลัน
ประจิมสรรปลูกต้น        มะขาม
ยังศัตรูเกรงขาม                ห่อนใกล้
มะยมนิยมนาม                นินนาท
ผิว์พุทรากันภูติไสร้            สร่างซา
พายัพท่านให้ปลูก        มะพูด
เอาเคล็ดคนมาพูด            เยี่ยมยิ้ม
มะนาวและมะกรูด            สระเกศ
งามเกศกัณฐ์พักตร์พริ้ม        ละเมียดละมัย
อุดรให้ปลูกส้ม            ป่อยปวง
ปานปล่อยทุกข์โศกทรวง        สร้างเศร้า
ส้มซ่า ว่างหัวทะลวง            หน้ามืด
มะเดื่อ หนอนบ่อนเข้า            ขับคุณ
อีสานขุนปลูกต้น            ทุเรียน
ไม้รวก มะตูมเพียร            เสาะไว้
ขุดบ่ออุทกเสถียร            ชลฉ่ำ
สำหรับหน้าแล้งได้            ผักปลา
หนึ่งจงอย่าปลูกไม้        โพธิ์ ไทร
หวายระกำ สลัดได            โศก หว้า
ยาง ตาล ตะเคียนไข            แค ลั่น-ทมแฮ
มะกอก สำโรงกล้า            อมงคล ฯ
บทสรุป
มีต้นไม้อีกหลายชนิดที่ชาวชนบท ยังคงเชื่อถือกันอยู่มาก
ชื่อนั้นสำคัญไฉน
ที่จริง ชื่อต่างๆ ของผลไม้เป็นสิ่งสมมติขึ้นทั้งสิ้น ลองตริตรองด้วยปัญญาเอาเถิด ใช้สามัญสำนึกและหาเหตุผล ทางวิทยาศาสตร์เข้าแก้ปัญหาก็คงได้ความจริง
คนเฒ่าคนแก่พูดเตือนสติสะกิดใจให้คิดอยู่เสมอว่า “โบราณก็อย่าถือ” และ “โบราณก็อย่าทิ้ง” สิ่งใดมีเหตุผล หรือเรื่องใดที่ยังไม่ตกลงปลงใจเชื่อ ก็ควรรับฟังไว้ก่อน อย่าเชื่อจนขาดสติ รอจนกว่าได้พิสูจน์ความจริงด้วยตนเองเสียก่อน น่าจะมีความจริงแฝงอยู่บ้างเป็นแน่
คนแต่ก่อนท่านไม่พูดหรือบอกอะไรตรงๆ มักจะทิ้งคำพูดไว้เป็นปริศนาหรือพูดสั้นๆ “โบราณเขาถือ” หรือ “เขาถือกันมาอย่างนั้น” เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะต้องค้นหาเอาเอง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ปลูกไม้มงคลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) โบราณท่านให้ปลูกทุเรียน ไผ่รวก มะตูม

ทุเรียน
ทุเรียน (Durio Zibethinus, Linn)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบเขียวเป็นมัน ท้องใบคาดด้วยเกล็ดน้ำตาล (สีทอง) ใบรูปไข่ยาว ปลายใบมีติ่งแหลมเรียว ผลมีหนามหยาบแหลมคม เนื้อในผลรับประทานเป็นอาหารได้ มีรสหวานมัน เนื้อ ทุเรียนมีธาตุกำมะถันปนอยู่ รับประทานมากๆ ทำให้เกิดความร้อน แต่แก้แผลโรคผิวหนังได้ ทำให้ฝีแห้ง
ประโยชน์ทางยา
เปลือกผล ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย
คติความเชื่อ
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เลือกปลูก ดินเค็ม น้ำกร่อย ความชื้นในอากาศน้อย ไม่เหมาะกับทุเรียน อยากปลูกเอาเคล็ด ควรหาทุเรียนเทศมาปลูกแทนคงไม่ผิดกติกา ขออนุญาตจูงให้เข้าสู่ประเด็น โบราณท่านคงหมายถึง “ความเป็นผู้คงแก่เรียน” ก็ได้

ไผ่รวก
ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis)
เป็นพืชในวงศ์หญ้าชนิดหนึ่ง ขึ้นในป่าแทบทุกชนิด ยกเว้นป่าเลนน้ำเค็ม และป่าพรุ นิยมปลูกกันทั่วทุกภาค เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตลอดจนเป็นแนวกันลมตามหมู่บ้าน ในเมืองไทยมีไม้ไผ่มากกว่า ๒๐ ชนิด
หน่อของไม้ไผ่แต่ละชนิด งอกขึ้นมาตอนต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน ใช้เป็นอาหารได้ดี ขนาดของหน่อไม้ไผ่รวก โตประมาณข้อมือ ก่อนที่จะนำหน่อไม้มาปรุงอาหารนั้น ควรนำมาต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อลดความขื่นขม แล้วจึงนำไปประกอบอาหารตามใจชอบ เช่น ต้ม แกง ผัดหรือใช้เป็นผักจิ้ม
ลำต้นแก่ ใช้ปรุงเป็นเครื่องเรือน สมัยก่อนทำหลักด้ามเครื่องมือและทำเครื่องใช้ต่างๆ
ประโยชน์ทางยา
ราก ใช้เป็นยาถอนพิษ เบื่อเมาต่างๆ
ใบ ตรงยอดอ่อนที่ม้วน รวมกับยอดอ่อนของไผ่อื่นๆ อีก ๔ ชนิด ต้มน้ำให้เด็กดื่ม แก้ปัสสาวะรดที่นอน
คติความเชื่อ
ยังหาหลักฐานไม่พบ
มะตูม (Aegle marmelos)
พบในป่าผลัดใบผสมป่าเต็งรังและปลูกกันทั่วไป สูงประมาณ ๕-๑๕ เมตร เป็นไม้ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นมีหนามให้ผลสุกราวๆ เดือนมีนาคม-เมษายน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองโตประมาณเท่ากำปั้น ใบอ่อนใช้รับประทาน โดยจิ้มน้ำพริกเป็นผักสด แกงบวน ต้องใส่น้ำคั้นจากใบมะตูม
ผลดิบเมื่อนำมาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้งเอาไปย่างไฟพอเกรียม ใช้ชงน้ำร้อนแทนใบชาได้ มีกลิ่นหอม เนื้อของผลสุก เมื่อแกะเอาเมล็ดซึ่งมียางเหนียวๆ ออกรับประทานได้มีรสหวาน
เนื้อและเปลือกจากผลสุก ต้มใส่น้ำตาลถวายพระเรียก “น้ำอัฏฐบาล” ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาและตามสวน
ประโยชน์
ไม้ใช้ทำลูกหีบ ทำตัวถังเกวียน ทำหวี ยางที่หุ้มเมล็ดใช้แทนกาว เปลือกผลให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้า
ประโยชน์ทางยา
ผลอ่อน หั่นตากแดดปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ
ผลสุก รับประทานเป็นยาช่วยย่อยอาหาร
เปลือกของรากและลำต้น เป็นยารักษาไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ใบสด คั้นเอาน้ำกินแก้หวัด และหลอดลมอักเสบ แก้ตาบวม แก้เยื่อตาอักเสบ
ผลดิบ เป็นยาสมาน รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะ แก้ท้องเสีย แก้บิด
ผลสุก เป็นยาระบาย แก้โรคไฟธาตุอ่อน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ท้องเสีย แก้บิดเรื้อรัง
คติความเชื่อ
ใบ ใช้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ เขาพิธีพุทธาภิเษกต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ใบมะตูมทัดหูให้แก่ เอกอัครราชทูต ที่ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งในต่างประเทศ
ต้นไม้ตามตำราพรหมชาติที่แนะให้ปลูกตามทิศทั้งแปดนั้น นอกจากจะยังประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเป็นสมุนไพรใกล้มือแล้ว โบราณท่านยังถือคตินิยม มีเคล็ดลับความเชื่อในชื่อที่เป็นมงคลนามอีกด้วย อันถือว่าเป็นอุบายในการเรียกหากำลังใจ ให้เกิดมานะพยายามที่จะต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ปลูกไม้มงคลทางทิศเหนือ

ทิศอุดร (ทิศเหนือ) ในตำราให้ปลูกส้มป่อย ส้มซ่า และมะเดื่อ

ส้มป่อย
สมป่อย (Acacia concinna, DC.)
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพิงต้นไม้อื่น ลักษณะทั่วไปคล้าย กระถิน ตลอดทั้งต้น และกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบมีรสเปรี้ยวจัดคล้ายใบส้มเสี้ยว ฝักแบนเล็ก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและที่รกร้างว่างเปล่าทั่วๆ ไป
เปลือกของเถา ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมแห อวน
ใบ ให้สีเขียว ใช้ย้อมผ้าและไหม
ฝัก ใช้ฟอกผมและขัดล้างเครื่องเงิน เครื่องทอง
ประโยชน์ทางยา
ต้น เป็นยาระบาย
ฝัก เป็นยาขับเสมหะ ทำให้อาเจียน เป็นยาปลูกผม กำจัดขี้รังแค ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลโรคผิวหนัง ต้มเป็นยาแก้ไข้มาเลเรีย
ใบ รสเปรี้ยว ฟอกโลหิต
คติความเชื่อ
ใบส้มป่อย ใบเงิน ใบทอง ใบมะกรูด หญ้าแพรก ใบราชพฤกษ์ ใบมะตูมและใบหมากผู้หมากเมีย ใช้เขาพิธี ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์สะเดาะโศก ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
บางแห่งเชื่อกันว่า ปลูกต้นส้มป่อยไว้ขับภูตผีปีศาจ

ส้มซ่า
ส้มซ่า(Citrus)
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบขนาดกลาง ค่อนข้างหนา มีหูใบเล็กตรงโคนใบ คล้ายส้มจุก ผลโตกว่าผลมะกรูดเล็กน้อย ผิวหยาบขรุขระค่อนข้างหนา ผิวเปลือกของผลเฉือนและหั่นฝอยโรยใส่หมี่กรอบ ให้กลิ่นหอม
ประโยชน์ทางยา
ใบส้มซ่า ร่วมกับใบส้มต่างๆ ต้มน้ำอาบ ทำให้ผิวเกลี้ยงเกลา เบาเนื้อเบาตัว รักษาโรคผิวหนัง
คติความเชื่อ
คงแก้เคล็ดให้บุตรหลาน มีชื่อเสียงขจรขจาย ซู่ซ่า ไปทั่วเมืองกระมัง

มะเดื่อ
มะเดื่อ (Aganosma glomerata, Roxb)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเกลี้ยงสีนวลๆ ใบโตขนาดใบโพธิ์ มีผลสากคาย มีดอกมีผลกลมโตขนาดผลหมากย่อมๆ มีเกสรอยู่ภายในผล ผลสุกมีสีแดง มีแมลงหวี่เจาะเข้าไปฟักไข่ในผลนั้น พอตัวแก่ผลมะเดื่อจะสุกพอดี มีแมลงหวี่พากันเจาะรูออกมามาก
ผลดิบรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาแจ่ว ปลาร้า กะปิคั่ว ใบอ่อนต้มกะทิ ห่อเมี่ยง
เนื้อไม้ ใช้ทำแอก ไถ ทำหีบใส่ของ ไม้จิ้มฟัน
มะเดื่อมีหลายชนิด เช่น มะเดื่ออุทุมพร มะเดื่อดิน มะเดื่อหว้า มะเดื่อถา มะเดื่อน้ำ มะเดื่อปล้องหิน มะเดื่อหอม มะเดื่อฝรั่ง ฯลฯ

ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้น มีรสฝาด ต้มรับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน ภายนอก ใช้ห้ามเลือด ชะล้างบาดแผล
ราก รับประทานเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้ร้อนใน ระงับความร้อนกระทุ้งพิษ
คติความเชื่อ
หาหลักฐานยืนยันยังไม่ได้
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศพายัพ

ทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ) ปลูกมะพูด มะนาว มะกรูด

มะพูด
มะพูด (Carcinia xanthochyma)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ใบหนาแข็งเป็นรูปไข่ยาวรี ผลกลมโตคล้ายผลส้มเขียวหวาน ผลดกออกตามกิ่ง โตเต็มที่ขนาดผลส้มเขียวหวาน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองส้ม รสเปรี้ยวๆ หวานๆ รับประทานเป็นอาหารได้
ผลจะสุกประมาณเดือนเมษายน-กรกฎาคม ในภาคกลางพบปลูกกันมากแต่ไม่ค่อยแพร่หลาย
ประโยชน์ทางยา
เปลือกมีรสฝาด ใช้ชำระบาดแผล
คติความเชื่อ
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต” (สุนทรภู่)
ประโยชน์ทั่วไปไม่สู้มีมากนัก คนแต่ก่อนคงเอาเคล็ด หาต้นมะพูดมาปลูกไว้ใกล้บ้านเป็นร่มเงา และคงหวังให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูด ช่างเจรจาก็เป็นได้

มะนาว
มะนาว (Citrus aurantifolia, Sevingle)
เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ ๓-๔ เมตร ใบแข็งหนาเขียวสด ดอกขาว เหลือง กลีบหนาแข็งคล้ายดอกส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ผลกลมโตขนาดผลหมากเขื่องๆ ใบและผิวมีน้ำมัน ผิวขม น้ำในผลมี รสเปรี้ยวจัดมาก ใช้น้ำเปรี้ยวปรุงน้ำพริก และอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือขูดผิวออกทำเป็นมะนาวดอง ปลูกกันตามบ้านเรือนทั่วไปเป็นสวนครัว ใช้กันทุกครัวเรือนทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศ อาหารไทยๆ แทบทุกมื้อ แทบจะขาดมะนาวไม่ได้เลย
ประโยชน์ทางยา
น้ำในผล สีฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน ปรุงเป็นยากัดเสมหะ แก้ไอ
ราก เป็นยาถอนพิษสำแดง ไข้กลับหรือไข้ซ้ำ
เมล็ด คั่วผสมเป็นยากวาด แก้ซางเด็ก
คติความเชื่อ
คนบ้านป่า เดินทางด้วยเกวียนเทียมโคหรือกระบือ เมื่อได้กลิ่นสาบเสือจะหยุดเดิน จะเฆี่ยนตีอย่างไรก็ไม่ยอมเดิน เจ้าของเกวียนจะขูดผิวมะนาวหรือผิวมะกรูดป้ายจมูก ให้ดับกลิ่นสาบเสือ โค กระบือ จึงจะเดินต่อไป ดังนั้นการเดินทางสมัยก่อนผ่านป่าละเมาะผ่านดง ผู้เดินทางจึงมักจะพกพาผลมะนาวและมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ

มะกรูด
มะกรูด (Citrus hystrix)
เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ใบสีเขียวเข้ม หนา เป็นมัน มีหูใบตรงโคนใบใหญ่ออก ๒ ข้างของเส้นกลางใบ รวมกับใบจริงที่อยู่ตรงปลาย จึงมองดูคล้ายเลข ๘ อารบิค
ผลกลมมีจุกตรงขั้ว ผิวขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีต่อมน้ำมัน
น้ำในผลมีรสเปรี้ยวจัด
ประโยชน์
ผิวของผล ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงเผ็ด ผัดเผ็ด
น้ำในผล ใส่แกงเทโพ (แกงคั่วผักบุ้ง)
ผลแก่ นวดผิวเอาต่อมน้ำมันออก ดองเปรี้ยว ดองเค็มเป็นอาหาร
เนื้อไม้ มีสีขาว นำมาทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
ประโยชน์ทางยา
ผิวจากผล (ผิวมะกรูด ขิง ไพล พริกไท ดีปลี) ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลม แก้เรอ แก้แน่นอก แน่นท้อง ขับระดู นาในผลมีรสเปรี้ยว กัดเสมหะในลำคอ ในทรวงอกให้ละลาย แก้กัดฟอก
ประจำเดือนของสตรี แก้ไอ น้ำมะกรูดใช้ถูฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน น้ำมะกรูดผสมกับปูนแดงทาแก้ปวดท้อง
ผล นำมาหมักดอง (เปรี้ยวหรือเค็ม) เป็นยาแก้กระษัย ฟอกล้างระดู บำรุงโลหิตระดู
ราก เป็นยาถอนพิษสำแดง คล้ายรากมะนาว
คติความเชื่อ
เช่นเดียวกับผลมะนาว
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้ที่ควรปลูกในทิศตะวันตก

ทิศประจิม (ตะวันตก) ตามตำราให้ปลูกต้น มะขาม มะยม พุทรา

มะขาม
มะขาม (Tamarindus indica, Linn)
เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบเล็กเป็นฝอยคล้ายใบโสน แผ่กิ่งก้านสาขา บานแจ้ ดอกเล็กๆ เป็นช่อสีเหลืองๆ แดงๆ ฝักกลมยาว มีรอยขั้นเป็นปล้องๆ มีรสเปรี้ยว ปลูกกันตามบ้าน วัดและริมถนน เป็นไม้ร่มเงาได้ดี มีทั่วประเทศ
ประโยชน์
ยอดอ่อน ดอกอ่อน ฝัก ทั้งอ่อนทั้งแก่ รับประทานเป็นอาหาร
ลำต้น ทำเป็นเขียงดีที่สุด เพราะเนื้อไม้หยุ่นเด้งได้ ทำครก สาก กระเดื่อง ทำเพลา ดุมรถ เกวียน กระสวย คาน กลึง และแกะสลักเผาเป็นถ่านให้ความร้อนสูง
ฝักมี ๒ ชนิด
ชนิดฝักกลมยาวค่อนข้างตรงเรียก “มะขามขี้แมว” มีรสเปรี้ยวพอควร
ชนิดฝักแบนใหญ่ยาว งอโค้งคล้ายเคียวเกี่ยวหญ้า รสเปรี้ยวจัด เรียก “มะขามกระดาน”
ประโยชน์ทางยา
เนื้อในฝัก เป็นยาถ่าย
เปลือก เป็นยาสมาน คุมธาตุ
เนื้อในเมล็ด เป็นยาเบื่อไส้เดือน
ใบอ่อน ต้มเอาน้ำโกรกศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก
เปลือกหุ้มเมล็ด เรียก “มะขามขบ” คือ เมล็ดคั่วไฟให้ไหม้เกรียม กระเทาะเอาเปลือกออก เป็นยาฝาดคุมธาตุ
เส้นฝอยที่หุ้มเนื้อมะขาม เรียก “รกมะขาม” เป็นยา แก้โลหิตประจำเดือนพิการ
นํ้าส้มมะขามเปียกกับเกลือ ละลายน้ำสูบสวนทวาร แก้พรรดึก ท้องผูกได้ดี
คติความเชื่อ
เชื่อกันว่า ปลูกมะขามไว้ให้คนเกรงขามคร้ามเกรง

มะยม
มะยม (Phyllanthus distichus, Muell, Arg)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ต้นสูงประมาณ ๔-๕ เมตร ใบ กลมปลายแหลม เป็นใบประกอบแบบขนนก ดอก ออกเป็นสีแดงเรื่อๆ มีผลกลมโตขนาดนิ้วมือ มีพู ๓ พู ๖ เหลี่ยม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล รสเปรี้ยวจัด รับประทานเป็นอาหารได้
มีบางต้นพอออกดอกเต็มต้น แล้วก็ร่วงหมด ไม่ติดผลเลย เราเรียก “มะยมตัวผู้”
ประโยชน์ทางยา
ราก ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ประดง แก้น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน แก้ไข้
ใบ ต้มเอาน้ำอาบแก้คัน, หืด หัด สุกใส ไข้หัวทั้งปวง
คติความเชื่อ
นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังเชื่อกันว่า “ปลูกต้นมะยมไว้” ผู้คนจะได้นิยมหรือมีนะเมตตามหานิยม ว่ากันยังงั้น

พุทรา
พุทรา (Zizyphus jujuba, Miller)
พุทรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบกลมโต รูปไข่ ขนาด ๑ นิ้วฟุต ตามต้นและกิ่งก้านมีหนาม ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ผลกลมโตเท่าผลมะไฟ
บางชนิดผลกลม ปลายผลแหลม คล้ายผลละมุด บางชนิดมีผลหวานสนิท บางชนิดเปรี้ยวและฝาด โดยมากเกิดขึ้นเองตามป่าทั่วๆ ไปแทบทุกจังหวัด และมีผู้ปลูกไว้ตามบ้านและสวน
ประโยชน์ทางยา
หมอแผนโบราณ ใช้เปลือกต้นซึ่งมีรสฝาดต้มรับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน และใช้เมล็ดเผาไฟ ป่นทำเป็นยาแก้ซางชักของเด็กได้ดี บางแห่งใช้ใบตำสุมศีรษะเด็ก แก้หวัดคัดจมูกเวลาเย็นๆ
คติความเชื่อ
นิยมปลูกคู่กับมะยม คงหวังให้ผู้คนนิยมไม่สร่างซากระมัง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้ที่ควรปลูกทางทิศหรดี

ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ให้ปลูกพิกุล ขนุน ราชพฤกษ์ สะเดา

พิกุล
พิกุล (Mimuesopa elengi Linn)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้แบน คล้ายต้นหว้า
ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกเล็กๆ ขนาดนิ้วก้อย ริมดอกเป็นจักเล็กๆ โดยรอบ มีกลิ่นหอมมันๆ
ผล กลมโต คล้ายละมุดไทย (ละมุดสีดา) แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกแดงแสด รับประทานเป็นอาหารได้ รสฝาดหวานมัน เป็นต้นไม้ที่ปลูกกันทั่วประเทศ
เนื้อไม้สีขาวแกมแดงเรื่อๆ แก่นสีน้ำตาลแกมแดงเข้ม เสี้ยนตรงเนื้อละเอียดมากและสม่ำเสมอทนทานมาก เหนียว แต่เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย ชักเงาได้ดี
ประโยชน์ของไม้
ใช้ทำเสา พื้น รอด ตง ด้ามเครื่องมือ โครงเรือเดินทะเล พวงมาลัยเรือ ไม้นวดข้าว ไถ ครก สาก กระเดื่อง เพลา วงล้อ ส่วนต่างๆ ของเกวียน ด้ามหอก คาน คันธนู คันกระสุน ไม้เท้า ด้ามร่ม หมอนรองรางรถไฟ
น้ำมันที่ได้จากเมล็ด ใช้ทำอาหาร ผสมยาจุดไฟ
ประโยชน์ทางยา
เปลือก ต้มเอาน้ำอม เป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อยและปวดฟัน ฟันโยกคลอนหรือเหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน
เมล็ดตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวาร แก้ท้องผูกเป็นพรรดึก
คติความเชื่อ
พิกุล มีพุ่มใบแน่น เหมาะที่จะปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย มีประโยชน์ใช้สอยมากมายหลายอย่าง อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเอนกประการ
บางท้องถีนเห็นว่าไม่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ควรจะปลูกตามวัดวาอารามก็มี

ราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์ (cassia fistula Linn.)
ราชพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบหรือพื้นที่ที่มีการถ่ายเทน้ำได้
ใบเป็นช่อสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๒๕ ซม. มีใบย่อยรูปป้อมๆ หรือรูปไข่ ๓-๖ คู่
ดอกเป็นช่อยาว ๒๐-๔๕ ซม. กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๕ กลีบ มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกยาวกว่ากลีบรอง มีกลีบเป็นรูปไข่ ๕ กลีบ ตามพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน เกสรตัวผู้มีขนาดต่างกัน ๑๐ อัน ก้านอับเรณูโค้งงอนขึ้น
ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยงๆ อาจยาวถึง ๕๐ ซม. ความกว้าง ของฝักเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒.๐-๒.๕ ซม.
ฝักอ่อนสีเขียวและออกสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็น ช่องๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้มีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่
ประโยชน์ของไม้ ทำเสา เสาสะพาน สากตำข้าว ล้อเกวียน คานเกวียน คันไถ เปลือกมีน้ำ ฝักใช้ฟอกหนังได้ ทำส่วนต่างๆ ของเกวียน ทำด้ามเครื่องมือ ทำกลอง โทน รำมะนา
ประโยชน์ทางยา
เนื้อในฝัก รับประทาน ๘ กรัมเป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ
ดอก แก้ไข้ เป็นยาระบาย
เปลือกและใบ บดผสมทาฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย
ใบ ต้มรับประทานเป็นยาระบาย
ราก ฝนทา รักษาขี้กลากและเป็นยาระบาย
คติความเชื่อ
จากความสวยงามของดอกประกอบกับความสำคัญอื่นๆ ของพันธุ์ไม้นี้ กล่าวคือ เป็นที่ยอมรับนับถือกันมาแต่โบราณกาลว่า
ราชพฤกษ์หรือชัยพฤกษ์ เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง เป็นมงคลนาม ซึ่งชาวไทยแต่เดิมใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ ในพิธีลงหลักเมือง จะใช้เสาแก่นชัยพฤกษ์ ยอดธงชัยเฉลิมพลของทหาร และคฑาจอมพลก็ใช้แก่นชัยพฤกษ์ อินธนูของข้าราชการพลเรือน ก็ปักดิ้นทองเป็นรูปช่อชัยพฤกษ์
ฝักคูณ ราชพฤกษ์ หรือชัยพฤกษ์ ใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีค่ายิ่งตามตำราแพทย์แผนโบราณ และที่สำคัญที่สุด คือ ดอกที่ออกเป็นช่อเหลืองอร่ามเต็มต้นนี้มีความหมายยิ่งแก่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของเรา
ด้วยความสำคัญของพันธุ์ไม้ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการพิจารณาต้นไม้ และสัตว์แห่งชาติที่ได้แต่งตั้งจาก ท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน จึงได้พิจารณาลงมติ เป็นเอกฉันท์ให้ชัยพฤกษ์หรือราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย และมตินี้ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนชาวไทยทั่วไป

ขนุน
ขนุน (Artocarpus hetcrophyllus, Lamk)
ขนุน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ใบดก หนา ทึบแข็ง ต้นสีเทาหม่น แตกกิ่งก้านสาขาร่มดี มีผลกลมรูปไข่ขนาดต่างๆ กัน ผิวของเปลือกเป็นหนามแหลมเล็กตลอดผล
เนื้อในเป็นยวงๆ มีรสหวาน ตั้งแต่ผลอ่อนจนถึงผลแก่ เมล็ดและซังรับประทานเป็นอาหารได้ทั้งสิ้น ปลูกกันทั่วประเทศ
ประโยชน์ทางยา
ก. ขนุนหนัง ดอกตัวผู้ที่ห้อยยาว เรียกว่า “ส่า” ตากแห้งเป็นชุดจุดไฟได้ สุมแทรกน้ำปูนใสทาลิ้นเด็ก แก้ซางซุม ละอองซาง
แก่นขนุน ใช้ผสมยากล่อมโลหิต แก้ปวดมูกเลือด ท้องร่วง
ข. ขนุนละมุด
ราก รับประทานแก้ท้องร่วง แก้ไข้
ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด ทำยาโรยรักษาบาดแผล
ไส้ขนุนละมุด (สุม) แก้พิษกาฬ พิษไข้
คติความเชื่อ
ตามชนบทเชื่อกันว่าปลูกขนุนในบริเวณบ้านแล้วจะมีคนสนับสนุนหรืออุดหนุนจุนเจือ
ขนุนพันธุ์ดี กิ่งทาบกิ่งหนึ่งสนนราคาเป็นร้อยเป็นชั่ง มีอยู่เพียงต้นเดียว ทาบกิ่งขาย ปีหนึ่งได้เงินเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น ขนุนดังๆ รับรองอยู่ถึงไหนมีแฟนๆ ตามไปอุดหนุนแน่

สะเดา
สะเดา (Azadirachta indica, A. Juss, var. siamensis, Valeton)
สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและป่าแดงทั่วๆ ไป เว้นแต่ทางภาคใต้ ปลูกกันตามเรือกสวนทั่วไป
ใบ คล้ายเลี่ยนใบใหญ่ ริมใบเป็นจักรอบใบ
ดอก ออกเป็นช่อสีเขียวเหลือง
เปลือก เป็นร่องน้อยๆ
ดอกตูมและใบอ่อน มีรสขมใช้ลวกน้ำปลาหวาน รับประทานเป็นผักได้
ผล กลมชิดขนาดผลองุ่น มีรสขมจัดมาก
ประโยชน์ของไม้ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเมือง ทำเสา ฝา เพดาน เกวียน เครื่องเล่น หีบใส่เสื้อผ้า เครืองมือกสิกรรม ทำพานท้ายและรางปืน
น้ำมันสะเดา กลั่นจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ปรุงเครื่องสำอางยางให้สีเหลืองเปลือกให้สีแดงใช้ย้อมผ้า
ใบ มีสารที่มีฤทธิ์ ในการกำจัดแมลง
ประโยชน์ทางยา
ดอก บำรุงธาตุ
ยาง ดับพิษร้อน
เปลือก รสฝาดสมาน แก้ท้องเดิน มูกเลือด
ราก แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง
ผลอ่อน ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
ก้านใบ ปรุงเป็นยาต้ม แก้ไข้ทุกชนิด
คติความเชื่อ
บางท้องถิ่นเชื่อกันว่า กิ่งและใบสะเดาสามารถป้องกัน ภูตผีปีศาจ
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้ที่ควรปลูกทางทิศใต้

ทิศทักษิณ (ใต้) ปลูกไม้ผล มีมะม่วง มะพลับ ตะโก

มะม่วง
มะม่วง (viangifera indica Linn.)
มะม่วง เป็นต้นไม้เก่าแก่ชนิดหนึ่ง ก่อนพุทธกาล มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบโต ยาวค่อนข้างหนา ออกดอกตามปลายยอด เป็นช่อสีขาวอมเหลือง ผลกลม หัวโต ก้นแหลม ผลดิบมีรสเปรี้ยว แก่จัดมีรสค่อนข้างมัน ผลสุกจัดมีรสหวาน รับประทานเป็นอาหารได้
ใบอ่อน ดอก รับประทานเป็นผักได้
ผลอ่อนเล็กๆ เรียกมะม่วงขบเผาะก็รับประทานเป็นผักได้
มะม่วงมีหลายพันธุ์หลายชนิด แต่ละพันธุ์มีรสอร่อยไปคนละอย่าง นิยมปลูกกันตามบ้านและสวนทั่วประเทศ
ประโยชน์ทางยา
ผลสุก รับประทาน เป็นยาบำรุงกำลังและระบายอ่อน เป็นยาขับปัสสาวะ
เปลือกผลดิบ เป็นยาคุมธาตุ
ดอก เปลือก เนื้อในเมล็ด รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้อาเจียน
ใบ เผาเอาควัน สูดรักษาโรคเกี่ยวกับคอ และไอ
ยางจากผลและต้น ผสมกับน้ำส้มหรือน้ำมัน ทาแก้คัน แก้โรคผิวหนัง
คติความเชื่อ
คนไทยแต่ก่อนช่างจดช่างจำ เป็นผู้มีความกตัญญู รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ ผู้มีอุปการะคุณ ไม่ว่าผู้นั้นหรือสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เดรัจฉาน แม้กระทั่งรุกขชาติ สำหรับมะม่วง คงจะนึกถึง สวนอัมพวัน เมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปครั้งพุทธกาลก็เป็นได้

มะพลับ
มะพลับ (Diospyros siaraensis, Hachr.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบโตยาว ลักษณะคล้ายใบมะม่วง ผลกลมคล้ายผลมังคุดหรือตะโกใบย่อมๆ มีขึ้นตามป่าแดง ป่าเบญจพรรณทุกภาค ผลสุกมีรสฝาด หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ผลให้สีน้ำตาล ใช้ยอมผ้า แห หนัง อวน
มะพลับมีอยู่ ๓ ชนิด คือ มะพลับใหญ่ มะพลับเล็ก และมะพลับดง

ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้นมีน้ำฝาด ใช้เป็นยาห้ามเลือด และสมานบาดแผล รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ลงแดง แก้ปวดเบ่ง เปลือกต้นย่างให้เหลืองกรอบ ต้มเอาน้ำรับประทาน แก้กามตายด้าน เป็นยาบำรุงความกำหนัด
คติความเชื่อ
คนโบราณ คงมุ่งประโยชน์ใช้เป็นยารักษาโรคมากกว่าจะปลูกไว้เพื่อเป็นอาหาร
ตะโก (Diospyros dictyoneura)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบโตยาวสีเขียวสด ใบดก หนาทึบ ใบหนา ผลกลมคล้ายผลพลับ ขั้วผลมีจานรองรับผลสุกรับประทานได้ ผลดิบมียางมาก เปลือกดำมีรสฝาดเฝื่อน ยางใช้ย้อมแห อวนและหนัง ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป
ตะโก มี ๒ ชนิด คือ กะโกนา และกะโกสวน

ตะโกนา
ก. ตะโกนา (Diospyros rhodocalyx, Kurz.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลกลมเล็ก เปลือกต้นดำ ผลเล็กเหมือนผลมังคุดหรือผลพลับ ผลสุกรับประทานเป็นอาหารได้ มีปลูกกันตามบ้านหรือเรือกสวนทั่วไป ใบ กลมโตขนาดใบข่อย มีขึ้นประปรายบ้างตามป่าดอน นิยมทำเป็นไม้ดัด ผลดิบมียางใช้ย้อมแห อวนได้
ประโยชน์ทางยา
รสฝาด เฝื่อนขม ผลแก้ท้องร่วง ตกโลหิต แก้มวน แก้กระษัย ฝีเน่าเปื่อย
เปลือกผล เผาเป็นถ่านแช่น้ำรับประทานขับระดูขาว ขับปัสสาวะ
เปลือกผล และเนื้อไม้ของต้น รับประทานเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด แก้โรคกามตายด้าน
เปลือก เข้ายามะเร็ง เผาเป็นถ่าน มีปฏิกิริยาเป็นด่าง แช่น้ำรับประทานขับระดูขาว ขับปัสสาวะ ต้มกับเกลือ รักษารำมะนาด แก้ปวดฟัน เป็นยาอายุวัฒนะ

ตะโกสวน
ข. ตะโกสวน (Diespyros pergrina, Gurke)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบโตยาวคล้ายใบชมพู่ไทย ผลแดง แต่ใบหนากว่ามาก ผลตเหมือนตะโกนา แต่โตและยาวกว่า ผลสุกรับประทานเป็นอาหารได้ ผลดิบมียางฝาดมาก ใช้ย้อมแหและอวนได้ดี แต่สู้ยางผลมะพลับไม่ได้ เป็นไม้เกิดตามป่าเบญจพรรณและปลูกกันตามเรือกสวนไร่นาทั่วไป ยางในผลมีน้ำฝาด
ประโยชน์ทางยา
เปลือกและผลอ่อน รับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียนได้ดี ต้มเอาน้ำชะล้างบาดแผล รับประทานแก้บิด
คติความเชื่อ
ตะโกเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทานต่อความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ มีประโยชน์ทางยา บรรพบุรุษของเราคงเห็นเป็นคุณมากกว่าโทษ จึงปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศอาคเนย์

ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)

ปลูก สารภี ยอ กระถิน

ต้นสารภี
สารภี(ochrocarpus siamensis)เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบทั่วประเทศ เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนตรงสมํ่าเสมอและถี่เนื้อละเอียดแข็ง ค่อนข้างทนทาน เลื่อยผ่า ไสตกแต่งง่าย ใบหนาแข็งรูปไข่ยาว มีสีเขียวเข้มเป็นมัน พุ่มใบดก ไม่ผลัดใบ
ใบมียางขาวดอกเล็กเป็นช่อสีเหลือง ดอกออกเป็นช่อสวย มีกลิ่นหอม
ผลกลมยาวลักษณะคล้ายลูกมะกอก เปลือกหนา รับประทานได้ แต่ไม่มีรสอร่อยอย่างใด
เนื้อไม้ทำปืน ฝา รอด ตง เสา ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา
ดอกปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงเส้นประสาท แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สารภี เป็นไม้ไทยๆ ที่มีอายุยืน

ยอบ้าน
ยอ (ยอบ้าน) (Morinda citrifolia)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ใบหนาแข็งสีเขียวเข้ม ใบโต ขนาดฝ่ามือ ก้านใบเป็นสี่เหลี่ยม ใบมีรสขมจัดใช้ปรุงเป็นผักรองห่อหมก หรือแกงอ่อมรับประทานเป็นอาหารได้
ดอกเล็กๆ สีขาว มีผลกลมยาว โตขนาดผลไข่ไก่ เป็นตารอบผล เป็นปุ่มๆ ตลอดผล
ผลอ่อนสีเขียว พอแก่จัดสีขาว มีกลิ่นฉุนมาก คนแก่ชอบรับประทานผลสุก มีปลูกตามบ้านทั่วๆ ไป
สีจากเนื้อไม้ ใบ เปลือกราก ให้สีเหลืองแกมแดง ใช้ย้อมผ้า
ประโยชน์ทางยา
-ผลอ่อน รับประทานเป็นยาแก้คลื่นเหียน อาเจียน
-ผลสุกงอม เป็นยาขับระดูสตรีและขับลมในลำไส้
-ใบ อังไฟพอตายนึ่ง ปิดหน้าอก หน้าท้อง แก้ไอ แก้ม้ามโต แก้จุกเสียด แก้ไข้
-ใบสด ตำพอกศีรษะเป็นยาแก้เหา
-ใบสด ลวกน้ำข้าวร้อนๆ ปิดพอกแผลกลาย รักษาแผล
-ใบสด ย่างไฟพอตายนึ่ง ปิดตามแขนขา แก้อาการปวดเมื่อย

ยอป่า
ยอป่า (Morinda coreia, Ham.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นใบกิ่งก้าน คล้ายกับยอบ้าน ผิดกันแต่ยอป่าใบแคบ ยาวเรียวกว่า มีผลกลม ตาตื้น ผลเกลี้ยงไม่มีปุ่มนูนเหมือนยอบ้าน ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป เว้นแต่ทางภาคใต้
โบราณท่านปลูกใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการประกอบอาหารและเป็นยารักษาโรคบางชนิด เหตุผลที่เกี่ยวกับเคล็ดลับความเชื่อคงหวังให้ผู้คน “สรรเสริญ เยินยอ” หรือ “ยกยอ ปอปั้น” ในสิ่งที่ดีงาม

กระถิน
กระถิน (Leucaena glauca, Benth)
เป็นไม้พุ่ม ถิ่นเดิมของอเมริกา ใบเล็กย่อย ละเอียด ลักษณะใบคล้ายมะขาม ดอกเป็นดอกรวมกลมโตเท่าผลมะไฟ เป็นฝอยฟูคล้ายดอกกระทุ่มสีขาวล้วน ฝักแบนยาวประมาณ ๔ นิ้ว กว้างครึ่งนิ้ว มีเมล็ดเรียงอยู่ข้างในฝัก แบนคล้ายเมล็ดแตงกวา ปลูกกันทั่วไปเป็นแนวรั้วบ้าน
ยอดอ่อนและฝัก รับประทานเป็นผักสดได้ดี มีกลิ่นคล้ายชะอม
ประโยชน์ทางยา
รับประทานแก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด
คติความเชื่อ บางแห่งเชื่อกันว่าป้องกันเสนียดจัญไร
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศตะวันออก

ต้นไม้กับความเชื่อ
คนไทยรักต้นไม้ เล่นต้นไม้มาช้านาน มีวิธีเล่นที่ผิดแผกแตกต่าง จากคนชาติอื่นโดยมิได้ มุ่งเอาแต่ความสวยงามตามธรรมชาติเท่านั้น หากแต่มีกรรมวิธีในการเล่นที่เต็มไปด้วยศิลปและศาสตร์อย่างลึกซึ้งละเมียดละไม ทุ่มเทความรัก ทนุถนอม ให้ความชื่นชมเอ็นดูแนบแน่นในจิตใจ ยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวิญญาณ หรือนับเนื่องเป็นสมาชิก หน่วยหนึ่งของครอบครัวตนก็ว่าได้
บรรพบุรุษของเรา ท่านจะทำจะเล่นสิ่งใด มักจะทำเป็นกิจจะลักษณะ พยายามศึกษาค้นคว้าทดลองหาความรู้ และประสบการณ์จากสิ่งนั้นๆ อย่างถึงแก่นแท้แห่งความจริง การเล่นต้นไม้ก็เช่นกัน ท่านสามารถจำแนกแยกแยะ แบ่งเป็นพวกเป็นชนิด เรียนรู้ลักษณะนิสัยความเป็นอยู่ และประโยชน์สรรพคุณจากต้นไม้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อนำมาผนึก ผสมผสาน ปรับเข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างสนิทสนม เป็นต้นว่านำมาใช้เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างผาสุก อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ รู้จักนำมาประดับตกแต่งอาคารเคหะสถานเพื่อความสวยงาม ความรื่นรมย์ให้เป็นอาหารตาอาหารใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถนำไปใช้ทางคงกระพันชาตรี ทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ให้คนหลงใหลรักใคร่ ใช้ในทางคุ้มเกรง ป้องกันภัยต่างๆ เล่นจนแม้กระทั่งชื่อของต้นไม้ อันเชื่อว่า จะเกิดความเป็นสิริมงคล ยังความสุขสงบร่มเย็นมาให้แก่ตนเองและครอบครัว
กรรมวิธีในการปลูก การเตรียมดิน ให้ปุ๋ย ให้น้ำ ดูแลรักษา ตลอดจนการนำส่วนของต้นไม้ไปใช้มากไปด้วยพิธีรีตองประกอบด้วยเวทย์มนต์หรือคาถาอาคมกำกับ โดยเชื่อว่าส่วนของพืชนั้นจะเกิดฤทธานุภาพ (ขลัง) บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ยังความสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ ครั้นประสบความสำเร็จเข้า ความรัก หลงใหล เชื่อถือ ศรัทธาก็เกิดขึ้นกระชับแน่นในจิตใจ คุณฤทธิ์อภินิหารต่างๆ นั้น เป็นความเชื่อระดับบุคคล บางสิ่งก็พิสูจน์ได้ แต่มีบางอย่างที่ยังหาเหตุผลไม่ได้
คนสมัยก่อนนั้น ท่านจะประกอบกิจการงานใด ไม่ว่าจะเป็นงานพิธี หรือกิจส่วนตัวก็ตาม ก็มักจะถือเคล็คเชื่อโชคลาง กำโชคกำชัยให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองเอาไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา กินอยู่หลับนอน การแต่งกาย แม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ ท่านก็ยังเลือกเอานามที่เรียกขานให้บังเกิดสิริมงคล หาฤกษ์ดูยาม เลือกวันเวลาและทิศทางปลูกให้ถูกต้องโฉลก ใครจะร่ำลือว่าอะไรที่ไหนดีที่ไหนดัง ถึงจะต้องบากบั่นดั้นด้นไป สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายซื้อหามาด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดก็ตาม เป็นต้องสืบเสาะหามาไว้ในครอบครอง
ในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์ยังรู้จักและเข้าใจธรรมชาติน้อย หาเหตุผลได้ยาก เชื่อถือในสิ่งต่างๆ ที่มองไม่เห็น ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ความเชื่อดูช่างมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์มากทีเดียว จนดูกลายเป็นกลัว ทางออกเฉพาะหน้าก็คือพยายามประจบประแจง เอาอกเอาใจ มิให้ สิ่งที่น่ากลัวนั้นโกรธและลงโทษตนได้ สรรหาสิ่งของที่ถูกใจมาเซ่นไหว้เคารพบูชาให้มาเป็นพวกเดียวกับคน อ้อนวอนขอประโยชน์และภาวนาขอให้ช่วยเหลือในสิ่งที่พึงประสงค์ ซึ่งแต่ละท้องถิ่น อาจมีความเชื่อถือคล้ายคลึงหรืออาจจะแตกต่างกันออกไป ถึงจะเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม ความเชื่อหาได้ลดราลงไม่แม้แต่น้อย กลับเพิ่มมากกว่าเก่าด้วยซ้ำ
บรรพบุรุษไทยเขามีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้กันมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก “ตำราพรหมชาติ” ชึ่งชี้แนะการปลูกต้นไม้รอบบริเวณบ้านไว้ โดยเชื่อว่าต้นไม้อะไรบ้าง ปลูกแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคลและอัปมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ผู้เขียนเห็นเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าจะทำความเข้าใจกันให้กระจ่างเสียที มิฉะนั้นจะเป็นความลับดำมืดต่อไปอย่างไม่รู้ขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด
ไม้มงคล
ไม้มงคล หมายถึง ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนและเอาเคล็ดจากชื่อในการเรียกขาน หรือมีผู้ทักให้เสียงที่เปล่งออกมาเป็นสิริมงคลแก่ตน ผู้เป็นเจ้าของและครอบครัว ดังจะได้กล่าวต่อไป
๑. ทิศบูรพา (ตะวันออก) โบราณท่านให้ปลูกไผ่สีสุก กุ่ม มะพร้าว วิเคราะห์กันตามเหตุผล

ไผ่สีสุก
กอไผ่สีสุก (Bambusa spp.) ช่วยพรางแสงแดดยามเช้าด้านตะวันขึ้น ไผ่สีสุกลำต้นเป็นไม้ขนาดกลางไม่ใหญ่โตเหมือนไผ่ตงหรือไผ่บง หรือเล็กกว่าไผ่รวก กอและพุ่มใบของไผ่สีสุกไม่แน่นทึบจนเกินไปเหมือนไผ่อื่น อีกทั้งยังได้อาศัยไม้จักสาน กระบุง กระจาด ตะกร้า เครื่องใช้ต่างๆ ได้
เหตุผลประการสำคัญ ชื่อเป็นมงคลนามกล่าวคือ เพื่อให้ “ความมั่งมี-สีสุก” มีอันจะกิน “อยู่เย็นเป็นสุข” หรือมีอนาคตที่สุกใสอะไรทำนองนั้น

กุ่มบก
กุ่ม (Crataeva religiosa)
เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑๐-๒๐ เมตร ใบมี ๓ แฉก ชอบขึ้นตามข้างลำธาร แต่ไม่สู้พบมากนัก ยอดอ่อนใช้ปรุงอาหารได้ แต่ไม่นิยมนำมาปรุงสดๆ ต้องดองน้ำเกลือตากแดดทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ วันแล้วจึงนำไปปรุงอาหาร จะผัดหรือแกงก็ได้
กุ่มมี 2 ชนิด คือ กุ่มบก กับ กุ่มน้ำ กุ่มบก เป็นไม้เกิดตามป่าดอน ปลายใบป้อมๆ มีใบย่อย 3 ใบ คล้ายใบทองหลาง เปลือกต้นหนา สีขาวหม่นๆ ช่อดอกเป็นช่อแบน เช่นพุ่มอื่นๆ ผลกลมคล้ายผลกระทิง โตขนาดลูกหมากแก่สุกสีแดงนกชอบกิน ใบอ่อนดองรับประทานได้
ประโยชน์ทางยา
ใบต้มรับประทานบำรุงหัวใจ ใบสดตำทารักษาโรคผิวหนัง เปลือกต้มรับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น มักใช้รวมกับเปลือกกุ่มน้ำเปลือกทองหลางใบมัน
กุ่มนํ้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลาง ใบแคบเขียวสด หนาทึบใบยาว ปลายแหลม ขึ้นตามริมน้ำ ลำคลอง ห้วยหนองทั่วไป เว้นทางภาคใต้ ดอกและใบอ่อน ใช้ดองเปรี้ยวรับประทานเป็นผักได้
เนื้อไม้สีขาวนวลแกมเหลืองอ่อน เมื่อยังสดเหนียวมาก อ่อนพอควร
ประโยชน์ทางยา
รากแช่น้ำรับประทานเป็นยาธาตุ เปลือกต้มรับประทานเป็นยาตัดลม ขับลมในลำไส้
สมัยก่อนคงปลูกไว้เพื่อใช้ยอดอ่อนและดอกเป็นอาหาร ใช้ใบสด เปลือกและรากปรุงยารักษาโรค ผู้เขียนเคยเห็นดอกกุ่มออกเต็มต้น ดูสวยงามติดตา จึงขออนุโลมประโยชน์ ในแง่ปลูกกันเป็นไม้ดอกไม้ประดับอาคารบ้านเรือนอีกอย่างหนึ่ง
คิดว่าคนโบราณคงปลูกไว้เอาชื่อเป็นเคล็ดเช่นเดียวกับไผ่สีสุก เมื่อมั่งมีสีสุกแล้วก็คงจะหวังให้เก็บเงินไว้ เป็นกลุ่ม เป็นก้อน มีฐานะเป็นปึกแผ่นกระมัง

มะพร้าว
มะพร้าว (Cocos nucifera, Linn.)
ทางใบมะพร้าวพรางแสงได้ดี เช่นเดียวกับกอไผ่ทางตากแห้งเป็นเชื้อเพลิงหุงข้าว ก้านในทำไม้กวาด ไม้กลัด ใช้เสียบดอกมะลิปักแจกันบูชาพระ ใบอ่อนห่อข้าวต้มมัด ผลอ่อน-แก่และน้ำเป็นอาหาร กาบทำเชือก หุ้มกิ่งตอน สุมควันไล่ยุง กะลาทำเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร ทำกะโหลก กระบวยตักน้ำ ทำทะนานตวงข้าวสาร น้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมน ดื่มช่วยให้เด็กในครรภ์แข็งแรง น้ำมะพรไวจากผลแก่ใช้ดองผัก
ชาวสวนหลายแห่งนิยมปลูกมะพร้าวเป็นแนวรอบที่เพื่ออาศัยรากป้องกันดินพังทลาย และเป็นแนวกำบังลม
ประโยชน์จากมะพร้าวมีมากมายสุดพรรณนามีหรือคนสมัยก่อนจะไม่นำมาปลูกไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก