ต้นไม้ที่ควรปลูกทางทิศใต้

Socail Like & Share

ทิศทักษิณ (ใต้) ปลูกไม้ผล มีมะม่วง มะพลับ ตะโก

มะม่วง
มะม่วง (viangifera indica Linn.)
มะม่วง เป็นต้นไม้เก่าแก่ชนิดหนึ่ง ก่อนพุทธกาล มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบโต ยาวค่อนข้างหนา ออกดอกตามปลายยอด เป็นช่อสีขาวอมเหลือง ผลกลม หัวโต ก้นแหลม ผลดิบมีรสเปรี้ยว แก่จัดมีรสค่อนข้างมัน ผลสุกจัดมีรสหวาน รับประทานเป็นอาหารได้
ใบอ่อน ดอก รับประทานเป็นผักได้
ผลอ่อนเล็กๆ เรียกมะม่วงขบเผาะก็รับประทานเป็นผักได้
มะม่วงมีหลายพันธุ์หลายชนิด แต่ละพันธุ์มีรสอร่อยไปคนละอย่าง นิยมปลูกกันตามบ้านและสวนทั่วประเทศ
ประโยชน์ทางยา
ผลสุก รับประทาน เป็นยาบำรุงกำลังและระบายอ่อน เป็นยาขับปัสสาวะ
เปลือกผลดิบ เป็นยาคุมธาตุ
ดอก เปลือก เนื้อในเมล็ด รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้อาเจียน
ใบ เผาเอาควัน สูดรักษาโรคเกี่ยวกับคอ และไอ
ยางจากผลและต้น ผสมกับน้ำส้มหรือน้ำมัน ทาแก้คัน แก้โรคผิวหนัง
คติความเชื่อ
คนไทยแต่ก่อนช่างจดช่างจำ เป็นผู้มีความกตัญญู รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ ผู้มีอุปการะคุณ ไม่ว่าผู้นั้นหรือสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เดรัจฉาน แม้กระทั่งรุกขชาติ สำหรับมะม่วง คงจะนึกถึง สวนอัมพวัน เมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปครั้งพุทธกาลก็เป็นได้

มะพลับ
มะพลับ (Diospyros siaraensis, Hachr.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบโตยาว ลักษณะคล้ายใบมะม่วง ผลกลมคล้ายผลมังคุดหรือตะโกใบย่อมๆ มีขึ้นตามป่าแดง ป่าเบญจพรรณทุกภาค ผลสุกมีรสฝาด หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ผลให้สีน้ำตาล ใช้ยอมผ้า แห หนัง อวน
มะพลับมีอยู่ ๓ ชนิด คือ มะพลับใหญ่ มะพลับเล็ก และมะพลับดง

ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้นมีน้ำฝาด ใช้เป็นยาห้ามเลือด และสมานบาดแผล รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ลงแดง แก้ปวดเบ่ง เปลือกต้นย่างให้เหลืองกรอบ ต้มเอาน้ำรับประทาน แก้กามตายด้าน เป็นยาบำรุงความกำหนัด

คติความเชื่อ
คนโบราณ คงมุ่งประโยชน์ใช้เป็นยารักษาโรคมากกว่าจะปลูกไว้เพื่อเป็นอาหาร
ตะโก (Diospyros dictyoneura)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบโตยาวสีเขียวสด ใบดก หนาทึบ ใบหนา ผลกลมคล้ายผลพลับ ขั้วผลมีจานรองรับผลสุกรับประทานได้ ผลดิบมียางมาก เปลือกดำมีรสฝาดเฝื่อน ยางใช้ย้อมแห อวนและหนัง ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป
ตะโก มี ๒ ชนิด คือ กะโกนา และกะโกสวน

ตะโกนา
ก. ตะโกนา (Diospyros rhodocalyx, Kurz.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลกลมเล็ก เปลือกต้นดำ ผลเล็กเหมือนผลมังคุดหรือผลพลับ ผลสุกรับประทานเป็นอาหารได้ มีปลูกกันตามบ้านหรือเรือกสวนทั่วไป ใบ กลมโตขนาดใบข่อย มีขึ้นประปรายบ้างตามป่าดอน นิยมทำเป็นไม้ดัด ผลดิบมียางใช้ย้อมแห อวนได้
ประโยชน์ทางยา
รสฝาด เฝื่อนขม ผลแก้ท้องร่วง ตกโลหิต แก้มวน แก้กระษัย ฝีเน่าเปื่อย
เปลือกผล เผาเป็นถ่านแช่น้ำรับประทานขับระดูขาว ขับปัสสาวะ
เปลือกผล และเนื้อไม้ของต้น รับประทานเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด แก้โรคกามตายด้าน
เปลือก เข้ายามะเร็ง เผาเป็นถ่าน มีปฏิกิริยาเป็นด่าง แช่น้ำรับประทานขับระดูขาว ขับปัสสาวะ ต้มกับเกลือ รักษารำมะนาด แก้ปวดฟัน เป็นยาอายุวัฒนะ

ตะโกสวน
ข. ตะโกสวน (Diespyros pergrina, Gurke)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบโตยาวคล้ายใบชมพู่ไทย ผลแดง แต่ใบหนากว่ามาก ผลตเหมือนตะโกนา แต่โตและยาวกว่า ผลสุกรับประทานเป็นอาหารได้ ผลดิบมียางฝาดมาก ใช้ย้อมแหและอวนได้ดี แต่สู้ยางผลมะพลับไม่ได้ เป็นไม้เกิดตามป่าเบญจพรรณและปลูกกันตามเรือกสวนไร่นาทั่วไป ยางในผลมีน้ำฝาด
ประโยชน์ทางยา
เปลือกและผลอ่อน รับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียนได้ดี ต้มเอาน้ำชะล้างบาดแผล รับประทานแก้บิด
คติความเชื่อ
ตะโกเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทานต่อความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ มีประโยชน์ทางยา บรรพบุรุษของเราคงเห็นเป็นคุณมากกว่าโทษ จึงปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *