ต้นไม้ที่ควรปลูกทางทิศหรดี

Socail Like & Share

ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ให้ปลูกพิกุล ขนุน ราชพฤกษ์ สะเดา

พิกุล
พิกุล (Mimuesopa elengi Linn)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้แบน คล้ายต้นหว้า
ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกเล็กๆ ขนาดนิ้วก้อย ริมดอกเป็นจักเล็กๆ โดยรอบ มีกลิ่นหอมมันๆ
ผล กลมโต คล้ายละมุดไทย (ละมุดสีดา) แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกแดงแสด รับประทานเป็นอาหารได้ รสฝาดหวานมัน เป็นต้นไม้ที่ปลูกกันทั่วประเทศ
เนื้อไม้สีขาวแกมแดงเรื่อๆ แก่นสีน้ำตาลแกมแดงเข้ม เสี้ยนตรงเนื้อละเอียดมากและสม่ำเสมอทนทานมาก เหนียว แต่เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย ชักเงาได้ดี
ประโยชน์ของไม้
ใช้ทำเสา พื้น รอด ตง ด้ามเครื่องมือ โครงเรือเดินทะเล พวงมาลัยเรือ ไม้นวดข้าว ไถ ครก สาก กระเดื่อง เพลา วงล้อ ส่วนต่างๆ ของเกวียน ด้ามหอก คาน คันธนู คันกระสุน ไม้เท้า ด้ามร่ม หมอนรองรางรถไฟ
น้ำมันที่ได้จากเมล็ด ใช้ทำอาหาร ผสมยาจุดไฟ
ประโยชน์ทางยา
เปลือก ต้มเอาน้ำอม เป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อยและปวดฟัน ฟันโยกคลอนหรือเหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน
เมล็ดตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวาร แก้ท้องผูกเป็นพรรดึก
คติความเชื่อ
พิกุล มีพุ่มใบแน่น เหมาะที่จะปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย มีประโยชน์ใช้สอยมากมายหลายอย่าง อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเอนกประการ
บางท้องถีนเห็นว่าไม่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ควรจะปลูกตามวัดวาอารามก็มี

ราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์ (cassia fistula Linn.)
ราชพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบหรือพื้นที่ที่มีการถ่ายเทน้ำได้
ใบเป็นช่อสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๒๕ ซม. มีใบย่อยรูปป้อมๆ หรือรูปไข่ ๓-๖ คู่
ดอกเป็นช่อยาว ๒๐-๔๕ ซม. กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๕ กลีบ มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกยาวกว่ากลีบรอง มีกลีบเป็นรูปไข่ ๕ กลีบ ตามพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน เกสรตัวผู้มีขนาดต่างกัน ๑๐ อัน ก้านอับเรณูโค้งงอนขึ้น
ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยงๆ อาจยาวถึง ๕๐ ซม. ความกว้าง ของฝักเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒.๐-๒.๕ ซม.
ฝักอ่อนสีเขียวและออกสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็น ช่องๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้มีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่
ประโยชน์ของไม้ ทำเสา เสาสะพาน สากตำข้าว ล้อเกวียน คานเกวียน คันไถ เปลือกมีน้ำ ฝักใช้ฟอกหนังได้ ทำส่วนต่างๆ ของเกวียน ทำด้ามเครื่องมือ ทำกลอง โทน รำมะนา
ประโยชน์ทางยา
เนื้อในฝัก รับประทาน ๘ กรัมเป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ
ดอก แก้ไข้ เป็นยาระบาย
เปลือกและใบ บดผสมทาฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย
ใบ ต้มรับประทานเป็นยาระบาย
ราก ฝนทา รักษาขี้กลากและเป็นยาระบาย
คติความเชื่อ
จากความสวยงามของดอกประกอบกับความสำคัญอื่นๆ ของพันธุ์ไม้นี้ กล่าวคือ เป็นที่ยอมรับนับถือกันมาแต่โบราณกาลว่า
ราชพฤกษ์หรือชัยพฤกษ์ เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง เป็นมงคลนาม ซึ่งชาวไทยแต่เดิมใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ ในพิธีลงหลักเมือง จะใช้เสาแก่นชัยพฤกษ์ ยอดธงชัยเฉลิมพลของทหาร และคฑาจอมพลก็ใช้แก่นชัยพฤกษ์ อินธนูของข้าราชการพลเรือน ก็ปักดิ้นทองเป็นรูปช่อชัยพฤกษ์
ฝักคูณ ราชพฤกษ์ หรือชัยพฤกษ์ ใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีค่ายิ่งตามตำราแพทย์แผนโบราณ และที่สำคัญที่สุด คือ ดอกที่ออกเป็นช่อเหลืองอร่ามเต็มต้นนี้มีความหมายยิ่งแก่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของเรา
ด้วยความสำคัญของพันธุ์ไม้ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการพิจารณาต้นไม้ และสัตว์แห่งชาติที่ได้แต่งตั้งจาก ท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน จึงได้พิจารณาลงมติ เป็นเอกฉันท์ให้ชัยพฤกษ์หรือราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย และมตินี้ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนชาวไทยทั่วไป

ขนุน
ขนุน (Artocarpus hetcrophyllus, Lamk)
ขนุน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ใบดก หนา ทึบแข็ง ต้นสีเทาหม่น แตกกิ่งก้านสาขาร่มดี มีผลกลมรูปไข่ขนาดต่างๆ กัน ผิวของเปลือกเป็นหนามแหลมเล็กตลอดผล
เนื้อในเป็นยวงๆ มีรสหวาน ตั้งแต่ผลอ่อนจนถึงผลแก่ เมล็ดและซังรับประทานเป็นอาหารได้ทั้งสิ้น ปลูกกันทั่วประเทศ
ประโยชน์ทางยา
ก. ขนุนหนัง ดอกตัวผู้ที่ห้อยยาว เรียกว่า “ส่า” ตากแห้งเป็นชุดจุดไฟได้ สุมแทรกน้ำปูนใสทาลิ้นเด็ก แก้ซางซุม ละอองซาง
แก่นขนุน ใช้ผสมยากล่อมโลหิต แก้ปวดมูกเลือด ท้องร่วง
ข. ขนุนละมุด
ราก รับประทานแก้ท้องร่วง แก้ไข้
ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด ทำยาโรยรักษาบาดแผล
ไส้ขนุนละมุด (สุม) แก้พิษกาฬ พิษไข้
คติความเชื่อ
ตามชนบทเชื่อกันว่าปลูกขนุนในบริเวณบ้านแล้วจะมีคนสนับสนุนหรืออุดหนุนจุนเจือ
ขนุนพันธุ์ดี กิ่งทาบกิ่งหนึ่งสนนราคาเป็นร้อยเป็นชั่ง มีอยู่เพียงต้นเดียว ทาบกิ่งขาย ปีหนึ่งได้เงินเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น ขนุนดังๆ รับรองอยู่ถึงไหนมีแฟนๆ ตามไปอุดหนุนแน่

สะเดา
สะเดา (Azadirachta indica, A. Juss, var. siamensis, Valeton)
สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและป่าแดงทั่วๆ ไป เว้นแต่ทางภาคใต้ ปลูกกันตามเรือกสวนทั่วไป
ใบ คล้ายเลี่ยนใบใหญ่ ริมใบเป็นจักรอบใบ
ดอก ออกเป็นช่อสีเขียวเหลือง
เปลือก เป็นร่องน้อยๆ
ดอกตูมและใบอ่อน มีรสขมใช้ลวกน้ำปลาหวาน รับประทานเป็นผักได้
ผล กลมชิดขนาดผลองุ่น มีรสขมจัดมาก
ประโยชน์ของไม้ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเมือง ทำเสา ฝา เพดาน เกวียน เครื่องเล่น หีบใส่เสื้อผ้า เครืองมือกสิกรรม ทำพานท้ายและรางปืน
น้ำมันสะเดา กลั่นจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ปรุงเครื่องสำอางยางให้สีเหลืองเปลือกให้สีแดงใช้ย้อมผ้า
ใบ มีสารที่มีฤทธิ์ ในการกำจัดแมลง
ประโยชน์ทางยา
ดอก บำรุงธาตุ
ยาง ดับพิษร้อน
เปลือก รสฝาดสมาน แก้ท้องเดิน มูกเลือด
ราก แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง
ผลอ่อน ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
ก้านใบ ปรุงเป็นยาต้ม แก้ไข้ทุกชนิด
คติความเชื่อ
บางท้องถิ่นเชื่อกันว่า กิ่งและใบสะเดาสามารถป้องกัน ภูตผีปีศาจ
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *