ฝาเรือน

Socail Like & Share

เมื่อพูดถึงฝา เรามักจะนึกถึงเครื่องปิดภาชนะต่างๆ อย่างหนึ่ง กับเครื่องกำลังหรือเครื่องกั้นของเรือนอย่างหนึ่ง

ฝาซึ่งเป็นเครื่องปิดภาชนะต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อป้องกันของที่ใส่ไว้ในภาชนะมิให้หล่นหรือออกจากภาชนะนั้นๆ หรือเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเช่น ฝุ่นละอองมิให้ตกลงไปในภาชนะนั้น ฝาต้องทำครอบลงบนภาชนะฝาเรือนนั่นเอง เช่นฝาของหม้อดิน เป็นต้น แต่ฝาของหม้อดินเราไม่เรียกว่าฝาเฉยๆ เราเรียกว่า ฝาละมี และคำนี้เอง พวกสตรีชอบไปเรียกสามีของตนว่าฝาละมีเหมือนกัน แต่เป็นการเรียกกันเล่นระหว่างเพื่อนฝูงเท่านั้น ฝานอกจากจะทำให้พอดีกับตัวภาชนะแล้ว ยังจะต้องทำที่จับ เพื่อสะดวกแก่การที่จะปิดหรือเปิดด้วย เช่น ฝาละมีเขาก็ทำที่จับเป็นปุ่มอยู่ตรงกลาง หรือเป็นฝาหม้ออย่างอื่นก็ทำที่จับเป็นคานอยู่ตรงกลาง แต่ก็มีภาชนะบางชนิดเหมือนกันที่ฝาไม่มีที่จับเช่นหม้อแขกเป็นต้น เวลาจะเปิดก็ต้องลำบากนิดหน่อย

นอกจากนี้ ฝาบางชนิดไม่ได้ใช้ปิดภาชนะใบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ปิดภาชนะหลายๆ ใบรวมกัน เขาเรียกว่าฝาชี ทำไมจึงเรียกฝาชนิดนี้ว่าฝาชีก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ฝานั้น ต้องพอเหมาะพอดีกับตัวภาชนะ ไม่ใช่เล็กเกินไป ซึ่งปิดลงไป ก็ตกลงไปอยู่ในภาชนะ ถ้าใหญ่เกินไป ก็เกินงาม เรียกว่าผิดฝาผิดตัวใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร สำนวนผิวฝาผิดตัวนี้ ยังนำมาใช้สำหรับคู่ผัวตัวเมียที่อยู่กันไม่เป็นปกติสุข ถ้าหากว่าคู่ผัวตัวเมียนั้นจะได้กับคนอื่นซึ่งเข้ากันได้ดี ก็มีความสุขหรอก คู่ผัวตัวเมียอย่างนี้เขาเรียกว่าผิดฝาผิดตัว แต่ผิดแล้วจะเปลี่ยนตัวก็ลำบากเหมือนกัน ถ้าเป็นภาชนะก็เห็นจะต้องใช้จนแตกหรือบุบกันไปนั่นแหละ

ฝาอีกชนิดหนึ่ง ก็คือฝาซึ่งเป็นเครื่องกั้นบ้านเรือน ฝาเรือนก็คงจะวิวัฒนาการมาเช่นเดียวกับตัวเรือนนั่นเอง แต่ฝากับเรือนนี้ ถ้าจะค้นคว้าไปว่าอย่างไหนจะเกิดก่อนหลังก็เห็นจะต้องตอบว่าฝาเกิดก่อนเรือน ที่ตอบดังนี้ ก็ด้วยสันนิษฐานเอาว่า เดิมทีนั้นคนเราอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือโพรงไม้ ซึ่งเท่ากับเป็นตัวเรือน แต่บางทีตัวเรือนก็กันลมและฝนไม่ได้ มนุษย์เราคงจะตัดใบไม้มากั้นเป็นฝากำบังลมและฝนก่อน ภายหลังเมื่อรู้จักสร้างบ้านเรือนแล้วครั้งแรกก็คงจะใช้ฝาทำด้วยใบไม้ก่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังพบเห็นเรือนที่ทำฝาด้วยใบไม้เช่นใบตองตึง ใบพลวง หรือใบตาล ใบจาก ตามชนบทอยู่ทั่วไป ต่อมาเมื่อมีเครื่องมือ เช่นเลื่อย สามารถที่จะเลื่อยไม้ออกเป็นแผ่นๆ แล้ว เราจึงรู้จักทำฝาเรือนด้วยไม้กระดาน เรียกว่า พื้นกระดานฝากระดาน สมัยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ใครมีเรือนพื้นฝากระดานหลังคามุงกระเบื้องได้ก็เรียกว่าอยู่ในขั้นเศรษฐีของท้องถิ่นทีเดียว ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ฝากระดานดูจะเป็นของที่หายากเข้าทุกทีและเป็นการไม่สะดวกและเปลืองค่าแรงงาน เมื่อจะทำเรือนฝากระดาน เวลานี้ส่วนใหญ่จึงใช้วัสดุอย่างอื่นทำฝาเรือน นอกจากนี้เรายังใช้อิฐหรือปูนทำฝาเรือนฝาตึก เพราะมั่นคงแข็งแรงและทนทานต่อการที่จะถูกไฟเผาผลาญมากกว่าฝาไม้ ผาไม้จึงนับวันแต่จะหายากขึ้นทุกที

พูดถึงฝาเรือนแล้ว อดที่จะตั้งข้อสังเกตไว้ไม่ได้เท่าที่สังเกต เรือนไหนถ้าเจ้าของขึ้นอยู่ก่อนโดยที่กั้นฝาเรือนยังไม่เสร็จ เรือนหลังนั้น จะไม่มีฝาเรือนที่สมบูรณ์ไปอีกหลายปีทีเดียว บางคนสร้างบ้านเรือนไว้ โดยไม่มีปัญญาที่จะกั้นฝา ต้องรอให้ผู้ชายมาสู่ขอลูกสาวเสียก่อน แล้วเรียกร้องฝาเรือนจากผู้ที่จะมาเป็นเขยก็มี เรื่องของฝาเรือนแสดงถึงฐานะของเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี มีบทกล่อมเด็กของชาวปักษ์ใต้อยู่บทหนึ่งกล่าวไว้เป็นทำนองว่า “ลูกสาวชาวเรือนตีน (คือเรือนที่อยู่ทางทิศเหนือ) เทียมได้ผัวจีนนอนสาดเจ็ดชั้น (คือตั้งแต่ได้สามีเป็นจีนนอนเสื่อเจ็ดชั้น) พอได้ผัวไทย นอนเรือนฝาไม้กั้น” นั่นเป็นเรื่องของท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า คนจีนกับคนไทยร่ำรวนผิดกว่ากัน แสดงออกด้วยฝาเรือน

ฝาเรือนที่ทำด้วยอิฐหรือปูนนั้น เราไม่เรียกฝาเฉยๆ แต่เราเรียกฝาผนัง คนไทยเรารู้จักสร้างอาคารด้วยอิฐปูนมานานแล้ว อย่างน้อยก็นับเป็นพันๆ ปี แต่เราไม่นิยมสร้างอาคารเช่นว่านั้นสำหรับเป็นที่อยู่ของคนธรรมดา เราสร้างเป็นโบสถ์วิหาร หรือปราสารทราชวังสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อมีฝาผนังเช่นโบสถ์วิหาร การจะปล่อยผนังไว้ว่างๆ ก็ดูจะเปล่าประโยชน์ ครั้งแรกคงจะมีคนคิดเขียนภาพประดับฝาผนังเพื่อความสวยงามขึ้นก่อน ต่อมาจึงมีผู้คิดเขียนภาพผนังเป็นเรื่องราวทางศาสนาเพื่อการสั่งสอนประชาชนขึ้น เช่นภาพพุทธประวัติและชาดกต่างๆ เช่นเรื่องทศชาติ และเรื่องนรกสวรรค์ เพื่อชักชวนให้คนได้งดพุทธประวัติและชาดกต่างๆ เช่นเรื่องทศชาติ และเรื่องนรกสวรรค์ เพื่อชักชวนให้คนได้งดบาปและก่อสร้างบุญกุศล เพราะภาพที่เขียนนั้น ถึงคนที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้ โดยมีคนบอกเพียงครั้งเดียวก็จำได้แล้ว นับว่าภาพผนังเป็นวิธีการสอนที่ดีอย่างหนึ่ง เรียกว่าสอนและเรียนด้วยการดู

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี