เครื่องราชูปโภค ๔ อย่าง

Socail Like & Share

พานคืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความหรือความหมายไว้ว่า พาน ภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับใส่หรือรองสิ่งของ มีดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น ซึ่งคนที่ไม่เคยเห็นพานก็นึกไม่ออกเลยว่าพานนั้นมีรูปร่างอย่างไร ทั้งนี้เราจะโทษพจนานุกรมก็ไม่ถูก เพราะพจนานุกรมมีจุดมุ่งหมายเพียงให้คำแปลของคำเท่านั้น ถ้าจะให้ละเอียดต้องทำเป็นสารานุกรม  ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกำลังทำอยู่เวลานี้ ดังนั้น เพื่อจะให้รู้ว่าเครื่องราชูปโภคพานมีรูปร่างอย่างไร ก็เห็นจะต้องพูดตามที่ได้เห็นมาดีกว่าอย่างอื่น

พานก็คือภาชนะที่มีรูปแบนๆ ยกขอบตรงขอบ บางทีก็ทำเป็นจักรๆ บางทีก็ทำเรียบๆ และมีเชิงรองอีกทีหนึ่ง พานนั้นว่าด้วยวัสดุที่ทำก็มีหลายอย่าง เช่นทำด้วยทองเหลือง ทำด้วยไม้ ทำด้วยเครื่องเขิน ทำด้วยเงินหรือด้วยทอง สมัยปัจจุบันนี้ พานทำด้วยแก้วก็มี อย่างไรก็ตาม พานนั้นถึงจะมีรูปเหมือนจานเชิง แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่าจานเชิง พานนั้นมีขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กสำหรับใส่หมากพลู บุหรี่ หรือดอกไม้จนถึงขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๒ ฟุตก็มี สำหรับใส่สำรับกับข้าว ใช้แทนโต๊ะหรือโตกพานขนาดใหญ่นี้มีใช้กันมากในวัดสมัยก่อน แต่สมัยนี้ดูเหมือนพานจะหายไปเสียมาก

พานนั้น คงจะเป็นของสำหรับคนชั้นสูงหรือคนที่มั่งคั่งใช้สอยมาแต่ก่อน อย่างเช่นในบรรดาเครื่องราชูปโภคคือเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ ๔ ประการ ก็มีพานอยู่ด้วยเครื่องราชูปโภค ๔ อย่างนั้นคือ
๑. พานพระขันหมาก
๒. พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ (คือหม้อใส่น้ำเย็น)
๓. พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก)
๔. พระสุพรรณราช (กระโถนใหญ่)

ยิ่งกว่านั้น ขุนนางสมัยก่อน เมื่อได้รับพระราชทานยศ ก็มีเครื่องยศพระราชทานมาให้ด้วย พานนับเป็นเครื่องยศอย่างหนึ่ง อย่างพระยาก็ได้รับเครื่องยศเป็นพานด้วย ถ้าเป็นพระยาชั้นที่ได้รับพระราชทานพานทอง ก็เรียกว่ามีเกียรติยศสูงกว่าพระยาที่ได้พานธรรมดาจึงเรียกกันว่าพระยาพานทอง

ท่านที่เคยได้อ่านนิราศพระประธม-พระโทณของท่านสุนทรภู่ คงจะได้ทราบประวัติของผู้สร้างพระปฐมว่าคือพญาพาน พญาพานนั้น เมื่อแรกประสูติ เขาเอาพานมารองรับ พระพักตร์ไปถูกพานจนมีแผลเป็น จึงเรียกว่าพญาพาน ท่านสุนทรภู่แต่งประวัติไว้ว่า

“เห็นรูปหินศิลาสง่างาม         เป็นรูปสามกษัตริย์ขัติยวงศ์
ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้         หวังจะให้ทราบความตามประสงค์
ว่ารูปทำจำลองฉลององค์        พญากงพญาพานกับมารดา
ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราช    เรียงพระญาติพญากงสืบวงศา
เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา    กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน

พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง    ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ
พญากงส่งไปให้นายพราน        ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย
ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง        แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย    ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง
ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว    แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
รู้ผูกหญ้าพยนต์มนต์จังงัง        มีกำลังลือฤทธิพิสดาร
พญากงลงมาจับก็รับรบ        ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร
ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพญาพาน        จึงได้ผ่านพบผดุงกรุงสุพรรณ
เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล        จึงเล่าแต่ตามจริงทุกสิ่งสรรพ์
เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ        ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน
ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด    ด้วยปกปิดปฏิเสธด้วยเหตุผล
เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์    จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์พระโทณ”

นี่เป็นเรื่องของพานในนิทานโบราณคดี

พานนั้น ถ้าเป็นเครื่องยศหรือเครื่องราชูปโภค ก็ทำด้วยเงินหรือทองและมีลวดลายสวยงาม บางทีก็ลงยา บางทีก็ถมน้ำยาเรียกว่าพานถม อย่างที่กรุงเทพมหานครมีหมู่บ้านช่างทำพานถมอยู่แห่งหนึ่งเชิงสะพานเฉลิมวันชาติ หลังวัดปรินายก เรียกว่าบ้านพานถม แต่เดี๋ยวนี้จะเหลือช่างอยู่หรือไม่ ก็ไม่ทราบ ว่ากันว่าช่างพวกนี้เดิมเป็นชาวนครศรีธรรมราชอพยพเข้ามาตั้งที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ นานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี