เครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Socail Like & Share

เมื่อรู้ว่าเครื่องปั้นดินเผาของเราแต่โบราณทำขึ้น ณ ที่ใดและมีลักษณะอย่างไรแล้ว ทีนี้เรามาดูเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่าสมัยขอมหรือสมัยลพบุรีที่ขุดพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูบ้างเครื่องปั้นดินเผา1

เครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือตั้งแต่นครราชสีมาขึ้นไป ว่าถึงรูปร่างมีตั้งแต่ไห โอ่ง ชาม กระปุก ขวด แจกัน โถ ตลับ และที่ทำเป็นรูปสัตว์ก็มี เช่น กระปุกเป็นรูปนก ไหเป็นรูปช้างเป็นต้น

ว่าถึงวัตถุที่ทำ มีทั้งที่ปั้นด้วยหินผสมดิน ดินสีแดง ดินขาว ส่วนผิวนั้น มีทั้งที่ไม่เคลือบและที่เคลือบ น้ำยาที่เคลือบนั้น มีทั้งชนิดที่กระเทาะง่ายและที่เคลือบแน่นอย่างเคลือบศิลาดอนหรือเคลือบแบบสังคโลก แต่นํ้ายานั้นไม่ดีเท่าของสังคโลกเท่านั้นเอง พูดถึงรูปแบบแล้วของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่แพ้ที่พบแถวสุโขทัย หรือศรีสัชนาลัย พูดถึง ความคงทน ของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงทนมากทีเดียว เพราะผสมดินและหินอย่างดีและเผาด้วยไฟแรงสูงมาก ทำให้ภาชนะบางชิ้นแข็งแกร่ง ไม่เปราะ

สีเคลือบที่พบ มีทั้งสีดำ สีน้ำตาลอมเหลือง สีเขียวอ่อน สีขาว ลวดลายเท่าที่พบถ้าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เช่น โอ่งหรือไห มักจะเป็นลายหวีลากเส้นโยงถึงกัน ถ้าเป็นของขนาดเล็ก เช่น กระปุกหรือขวด จะมีลายขีดๆ ลงมา เคยเห็นมีลายนูนเพียงชิ้นเดียว แต่เป็นของไม่ได้เคลือบ นอกนั้นเป็นลายที่ขูดลงไปในตัว

เคยพบไหชนิดสี่หู ปากผาย ทรงป้อม ที่เรียกว่าไหเชลียงหรือไหขอม มีอยู่ทั่วไป ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เคลือบสีดำ จะเป็นของที่ทำขึ้นในภาคนี้ หรือเอามาจากเชลียงก็ไม่ทราบแน่ เพราะยังไม่เคยพบที่ทำ

สำหรับแหล่งที่ทำเครื่องปั้นดินเผาของขอมหรือของลพบุรีนี้ ศาสตราจารย์ ของ บวสเซอลีเย่ชาวฝรั่งเศส ซึ่งค้นคว้าเรื่องนี้ก็ยังไม่ทราบว่ามีแหล่งทำอยู่ที่ใด

ในเรื่องแหล่งที่ทำนี้จะว่าเป็นการบังเอิญก็ได้ ที่ผมได้มีโอกาสไปพบเข้าในเขตอำเภอบางกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ณ ที่นั้นเป็นลำนํ้าเก่าไหลจากตะวันออกไปตะวันตกสองฟากลำน้ำนี้มีเตาเผาอยู่มากมาย ได้ตรวจดูชิ้นส่วนที่เตาเผาแห่งหนึ่ง มีทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ได้เคลือบ และเคลือบอย่างหยาบ และเคลือบอย่างดีตกทับถมกันอยู่มากมาย ที่ว่าเคลือบอย่าง หยาบก็คือเคลือบสีน้ำตาลหรือสีดำ แต่ที่เคลือบสีขาว สีเขียว ซึ่งเป็นเคลือบใกล้เคียงกับของสุโขทัยก็มีผสมกันอยู่ในเตาเดียวกันนั้น บางชิ้น ตัวภาชนะเคลือบสีนํ้าตาล แต่ตรงคอ และปากเคลือบแบบสังคโลก ซึ่งทำให้เห็นว่า เตาแห่งนี้คงจะทำมานาน และเพิ่งค้นพบน้ำยาเคลือบชนิดใหม่จึงลองทำดู ก็อาจจะเป็นได้ และช่างที่ทำที่นี่อาจจะเป็นช่างจีนหรือช่างญวน หรือช่างชาติไหนไม่ทราบแน่ เพราะมีชามซึ่งท่านผู้รู้บอกว่าเป็นรูปแบบของญวน และมีชิ้นส่วนของชามอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นเคลือบสีน้ำตาลอ่อน มีลายอักษรจีนอยู่ที่ก้นด้วย แต่อักษรจีนนี้อาจจะเป็นอักษรที่ญวนใช้ก็ได้เหมือนกัน ให้ผู้รู้ภาษาจีนอ่านก็ยังอ่านไม่ออก

วัตถุที่นำมาปั้น มีทั้งหิน และดินสีแดง ดินเหนียวธรรมดา และดินขาวที่เรียกว่า ดินเกาลินอยู่ด้วย

เมื่อพบเตาเผาในเขตประเทศไทยติดกับประเทศกัมพูชาอย่างนี้ จึงทำให้แน่ใจได้ว่า เครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชาคงจะทำขึ้นที่ประเทศไทยนี้เอง แล้วส่งลงไปใช้หรือส่งเป็นสินค้าออกทางประเทศกัมพูชา

และเป็นเรื่องที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือในเรื่องรูปแบบ ที่คล้ายคลึงกันกับของสุโขทัย อาจจะเป็นเพราะช่างสุโขทัย หรือช่างที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ไปมาหาสู่หรือศึกษาจากกันและกันก็เป็นได้ ซึ่งน่าจะได้ศึกษากันต่อไป

พูดถึงเรื่องเครื่องปั้นดินเผามานานแล้วจนเกือบลืมเรื่องจานที่กล่าวไว้ข้างต้น จานที่เป็นเครื่องปั้นดินเผานั้นค้นพบตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และที่อำเภอบ้านกรวดก็เคยพบภาชนะแบนๆ คล้ายจานชิ้นหนึ่ง แต่ชามนั้นมีมากมาย ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกเหมือนกัน ที่เราไม่พบจานแบนๆ อย่างทุกวันนี้ จานแบนๆ นั้นเข้าใจว่าญี่ปุ่น และฝรั่งบางชาติคิดทำขึ้นภายหลัง

ส่วนจานเชิงนั้น พบทั้งที่สุโขทัยหรือทางเหนือขึ้นไป และพบแถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน แต่เป็นของฝีมือหยาบส่วนมากมักไม่เคลือบ ส่วนที่สุโขทัยนั้นมีเคลือบเข้าใจว่าจานเชิงนี้คงจะเป็นตัวอย่างให้เราทำพานใช้ขึ้นในภายหลังก็เป็นได้

เท่าที่พูดเรื่องจานแล้วกวนไปถึงเรื่องเครื่องปั้นดินเผานี้ ก็เรียกว่าบังอาจเหลือเกิน เพราะผู้เขียนเองก็หามีความรู้ที่สมควรจะเขียนไม่ แต่ที่นำมาเขียนให้ท่านอ่านนี้ก็อาศัยความรู้ของท่านผู้รู้ที่ค้นคว้าไว้เท่านั้น หากผิดพลาดอย่างไรก็ขออภัยไว้ในที่นี้ด้วย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี