ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาไทย

สำหรับเครื่องปั้นดินเผาของไทยนั้น อาจารย์จิต บัวบุศย์ ผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้คนหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาของไทยจัดเป็นสมัยต่างๆ ๙ สมัย เริ่มด้วยสมัยก่อนสุวรรณภูมิ (ประมาณก่อน พ.ศ. ๕๐-พ.ศ. ๓๐๐) คนไทยได้ค่อยๆ อพยพลงมาสู่แหลมอินโดจีน ได้ปะปนกับพวกอินเดียและมอญ-ขะแมร์ที่อยู่ในอาณาเขตนี้ ทำเครื่องปั้นดินเผาสืบมาวิวัฒนาการขึ้นจากแบบเดิม ต่อไปเป็นสมัยสุวรรณภูมิ (อ้ายลาวประมาณ พ .ศ. ๓๐๐- ๘๐๐) เครื่องปั้นดินเผาของอินเดีย มอญ-ขะแมร์ได้เจริญขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลทางเครื่องปั้นดินเผาไทยวัฒนธรรมจากอินเดียเนื่องจากการเผยแพร่พุทธศาสนา แต่ส่วนของคนไทยนั้นคงพัฒนาการจากแบบหม้อทะนนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงไปอย่างอื่น มีอยู่ทั่วไป ในแถบเมืองสุวรรณภูมิคือจังหวัดนครปฐมเดี๋ยวนี้ และตามเมืองเก่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำ สำคัญอื่นๆ ในยุคนี้ช่างไทยในอาณาจักรอ้ายลาวอันเป็นดินแดนไทยในแถบจีนก็ได้ทำเครื่องปั้นดินเผาแพร่หลายขึ้นเหมือนกัน พ้นจากนี้ไป เป็นสมัยทวาราวดี (น่านเจ้าประมาณ พ.ศ. ๘๐๐-๑๔๐๐) เป็นสมัยของพวกมอญ แต่การค้นคว้าทางศิลปวัตถุทางเครื่องปั้นดินเผาก็แสดงว่าอาณาจักรของไทยก็มีอยู่ทั่วไป รวมกันอยู่เป็นเมืองเล็กๆ หลายแห่ง เครื่องปั้นดินเผามีรูปทรงสองโค้งกลับกัน ปากผายเป็นปากแตร ได้ขุดพบหลายแห่งในเขตอ้ายลาวและในประเทศไทย ในประเทศไทยพบที่เมืองเชียงแสนเดิม ในแม่น้ำยมที่เมืองสวรรคโลก ในแม่น้ำยมเก่าที่เมืองเชลียงเดิม ในแม่น้ำราชบุรีตรงเขตอำเภอโพธาราม

สมัยเชลียงหรือสมัยขอมมีอำนาจ (ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๖๐๐) คือขอมตีได้อาณาจักรมอญต่างๆ และมีอำนาจเด็ดขาดเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ พวกคือ ทำโดยช่างไทย ทำโดยช่างมอญและทำโดยช่างขอม

สมัยก่อนสุโขทัยและเชียงแสน (ประมาณ พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๘๐๐) ยุคนี้มีความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาของไทยสูงมาก สามารถทำเคลือบได้หลายชนิด เช่นเดียวกับช่างไทย ที่ทำอยู่ในประเทศจีน เพราะความรู้ต่างๆ ของช่างไทย ย่อมแลกเปลี่ยนกันได้ทั้งอยู่ในจีน และในอาณาจักรไทย แยกได้ดังนี้

๑. เคลือบเหล็กที่เป็นสีนํ้าตาลแก่นํ้าตาลอ่อน
๒. เคลือบขี้เถ้าสีขาวสำหรับเครื่องหิน
๓. เคลือบขี้เถ้าสีเทาเป็นเคลือบใสสำหรับเคลือบหิน
๔. เคลือบหินหรือที่เรียกว่าเคลือบศิลาดล แบ่งเป็นเคลือบใส เคลือบขุ่น และเคลือบทึบ
๕. เคลือบใสทับสลิพขาว

ถัดไปเป็นสมัยสุโขทัยและเชียงแสน (พ.ศ. ๑๘๐๐ – ๒๐๐๐) เป็นสมัยที่ไทยเริ่มตั้งอาณาจักรใหญ่ ๒ อาณาจักร สมัยนี้เองที่เราทำเครื่องเคลือบสังคโลก เป็นสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเครื่องสังคโลกนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สนใจทั่วไป

ที่นี้เราหันมาคูเครื่องเคลือบดินเผาที่เราเรียกว่าไหขอมหรือเครื่องปั้นดินเผาของขอมหรือสมัยลพบุรีดูบ้างศิลปพวกนี้คือศิลประหว่าง พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๖๐๐ ดังที่ว่ามาแล้วข้างต้น เครื่องเคลือบดินเผาของขอมนี้บางท่านว่าเป็นของที่พวกขอมทำขึ้น แต่ถ้าเราจะดูรูป แบบแล้วจะเห็นว่าคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบดินเผาที่ขุดพบที่สุโขทัย, เชลียงหรือเชียงแสน ส่วนใหญ่ของศิลปสมัยนี้จะพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น พิมาย หรืออีกหลายอำเภอในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ จึงทำให้ฉงนสนเท่ห์ว่าเป็นฝีมือใครกันแน่ ขอมหรือไทย ตามความเห็นของอาจารย์จิต บัวบุศย์ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น เห็นว่าศิลปเหล่านี้เป็นทั้งศิลปของไทยและของขอมของมอญผสมกัน แต่ถ้าดูวิธีทำหรือรูปแบบแล้วก็พอจะแยกออกจากกันได้

มาถึงตอนนี้ ท่านอาจจะสงสัยว่าเครื่องเคลือบดินเผาของไทย และของขอมทำไมจึงอยู่ระคนปนกันเช่นนั้น เพื่อความเข้าใจอันดี เรามาศึกษาประวัติศาสตร์ตอนนี้กันดูเสียก่อน ก็คงจะเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เพราะว่าอาณาจักรของขอมและของไทยนั้นต่างแย่งกันไปแย่งกันมาอยู่ และคนไทยเรานั้นหาได้อยู่ในอาณาบริเวณที่เราเรียกว่าประเทศไทยอย่างทุกวันนี้ไม่ ไทยเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแหลมอินโดจีน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในเรื่องพระร่วงตอนหนึ่งว่า

“แผ่นดินในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ เมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ แม้มีชนชาติไทยมาอยู่เป็นอันมากแล้ว ยังอยู่ในอำนาจของพวกขอม ซึ่งแผ่อาณาเขตเข้ามาจากประเทศกัมพูชา แต่เมื่อแผ่นดินยังเป็นของพวกลาว (คือละว้า) พระเจ้าราชาธิราชเมืองขอมตั้งอุปราชมาปกครองอยู่ที่เมืองละโว้ (คือเมืองลพบุรีเดี๋ยวนี้) และให้ข้าหลวงไปตั้งปกครองอยู่เป็นแห่งๆ ต่อขึ้นไป แดนดินเห็นจะเป็นของขอมตั้งแต่ชายทะเลขึ้นไปจนเมืองเชียงแสน แต่พวกขอมกำหนดอาณาเขตที่เป็นเมืองไทยเดี๋ยวนี้เป็น ๒ ส่วน เรียกชื่อต่างกัน ส่วนข้างเหนือ (ดูเหมือนจะเป็นตั้งแต่ปากน้ำโพขึ้นไป) เรียกว่า “อาณาเขตสยาม” ส่วนข้างใต้ลงมาเรียกว่า “อาณาเขตละโว้” มีจารึกชื่อปรากฏอยู่กับภาพที่นครวัดทั้งพวกชาวสยามและชาวละโว้ ครั้นถึงสมัยเมื่อขอมหย่อนกำลังลง พวกไทยลงมาอยู่ทางเมืองเชียงแสนมากขึ้น ก็ชิงอาณาเขตทางลุ่มแม่น้ำโขงได้จากขอมตั้งประเทศลานนา (คือมลฑลพายัพ) ขึ้นเป็นอิสระก่อน ต่อมาถึงราว พ.ศ. ๑๘๐๐ พวกไทยที่อยู่ในอาณาเขตสยามต่อลงมาข้างใต้มีกำลังมากขึ้นก็เป็นขบถต่อขอมบ้าง ผู้เป็นหัวหน้าชื่อพ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยางได้กำลังของพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (เห็นจะอยู่ในประเทศลานนา) มาช่วยร่วมมือกันตีเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมสู้ไม่ไหวก็ทิ้งอาณาเขตสยามหนีลงไปเมืองละโว้ พวกไทยจึงรวมเมืองในอาณาเขตสยามตั้งเป็นอิสระเอาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และเชิญพ่อขุนบางกลางท้าวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นปฐมกษัติริย์ ราชวงศ์สุโขทัย ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทราทิตย์” เรียกนามราชอาณาเขตตามชื่อเมืองราชธานีว่า “กรุงสุโขทัย”  แต่ชาวต่างประเทศที่อยู่ใกล้เคียงทั้งพวกขอมและพวกมอญ ซึ่งเรียกว่า “สยาม” อยู่ตามเดิมประเทศอื่นจึงเรียกตามอย่าง เช่นจีนเรียกว่า “เสียมก๊ก” และเขตตอนใต้ลงมาว่า “หลอฮกก๊ก” ตามคำ “ละโว้” ซึ่งเป็นนามของอาณาเขตมาแต่เดิม แต่ไทยหาได้ใช้คำ “สยาม” เรียกเป็นชื่อบ้านเมืองของตนไม่

เท่าที่ยกมากล่าวนี้ก็พอจะทำให้ท่านเห็นแล้วว่าคนไทยนั้นเคยอยู่ในอำนาจขอม และแทรกซึมอยู่ทั่วไปแต่ก็มีหัวหน้า ซึ่งเป็นคนไทยควบคุมอยู่เป็นแห่งๆ อย่างพ่อขุนบางกลางท้าวเจ้าเมืองบางยางเป็นต้น ดังนั้น เมื่อคนไทยอยู่ที่ไหน การประดิษฐ์ของใช้ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องกระทำขึ้น เรื่องเครื่องปั้นดินเผาฝีมือของคนไทยจึงกระจัดกระจายอยู่ตามชุมนุมของคนไทยทั่วไปในสมัยก่อน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ชนิดของเครื่องเคลือบดินเผา

เครื่องเคลือบดินเผาแบ่งออกเป็น ๕ ชนิด
เครื่องเคลือบดินเผานักปราชญ์แบ่งได้เป็น ๕ ชนิด คือ

๑. เครื่องดินแดง (Terra cotta) หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาอย่างชั้นต่ำไม่ เคลือบและน้ำซึมได้

๒. เครื่องดิน (Earthenware) คือเครื่องปั้นดินเผาที่ซึมนํ้าและเคลือบชั้น เดียว แต่บางท่านอธิบายว่าจะเป็นสีใดก็ตามเผาด้วยความร้อน ๙๐๕-๑๐๐๐° ซ.เครื่องหินเหล็ก

๓. เครื่องหิน (stoneware) คือเครื่องปั้นดินเผาที่ทึบแสงไม่ซึมน้ำ ลาง ท่านว่าเป็นสีอะไรก็ได้เผาด้วยความร้อนประมาณ ๑๒๐๐-๑๓๐๐° ซ. เวลาเคาะมีเสียงกังวาลกว่าเครื่องดินและแข็งแกร่งมาก เครื่องหินนั้น ท่านผู้รู้บางท่านว่าใช้ดินผสมด้วยหินฟั่นม้า ซึ่งป่นละเอียดแล้วจึงปั้น จึงทำให้แข็งแกร่งมาก เคยทำเครื่องหินทำเป็นกระปุกตกบนพื้นซีเมนต์ซึ่งถ้าเป็นเครื่องปั้นดินเผาธรรมดาแล้ว จะต้องแตกละเอียดแน่ แต่เครื่องหินไม่เป็นอะไรเลย แม้แต่รอยกะเทาะก็ไม่มี นับว่าแข็งแกร่งจริงๆ

๔. เครื่องหินเหล็ก (iron Stoneware) เป็นเครื่องหินที่ใช้น้ำเคลือบมีส่วนผสมเป็นเหล็ก (iron Oxide) เผาแล้วเป็นสีน้ำตาล

๕. เครื่องเปอร์ซเลน (Porcelain) หรือเครื่องจีน (chinaware) เป็น
เครื่องปั้นดินเผาชั้นดี ตัวดินมีสีขาวหรือสีอื่น ไม่ทึบแสง นํ้าซึมไม่ได้ ผิวพื้นอาจเป็นลายเสื่อหรืออาบด้วยน้ำเคลือบมีความแตกต่างจากเครื่องหินเห็นได้ชัดคือที่ไม่ทึบแสงกับทึบแสง ของประเภทนี้ เมื่อยกขึ้นส่องกับแสงสว่างก็จะเห็นเงาสิ่งที่ติดอยู่ด้านนอกเช่นมือที่จับถือ เนื้อละเอียด เวลาเคาะมีเสียงใสกังวาล ชนิดที่ดีมากใช้เถ้ากระดูกผสมด้วย เรียกว่า “โบนไชนา” (Bone-china) เครื่องเปอร์ซเลนนี้ บางท่านเรียกเป็นภาษาไทยว่าเครื่องถ้วย บางท่านเรียกว่าเครื่องกระเบื้อง บางท่านเรียกว่าเครื่องลายคราม แต่เครื่องลายครามนี้ คนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นเครื่องเปอร์ซเลนของจีนที่มีสีเป็นคราม

เมื่อพูดถึงเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ใครๆ ก็อดที่จะยกย่องเครื่องปั้นดินเผาของจีนไม่ได้ โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์เหม็ง สรรเสริญกันว่าเป็นอย่างเอก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า เครื่องเปอร์ซเลนเป็นของทำได้-แต่จีนชาติเดียวอยู่นานหลายร้อยปี ชาวประเทศอื่นจึงไปคิดเตาใช้ทดลองทำขึ้นได้บ้าง คือ ชาวอิตาลี เมื่อราว พ.ศ. ๒๐๑๓
ชาวญี่ปุ่น เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๔๓
ชาวฝรั่งเศสราว พ.ศ. ๒๒๐๗
ชาวอังกฤษ ราว พ.ศ. ๒๒๑๔
ชาวเยอรมัน ราว พ.ศ. ๒๒๔๓

ดังนั้น เครื่องถ้วยชนิดนี้ จึงเรียกกันทั่วไปว่าเครื่องจีน หรือไชนาแวร์ แต่ไม่ใช่ว่าชาตินั้นๆ จะเอาตำราไปจากจีนก็หาไม่ ชาติเหล่านั้นคิดค้นขึ้นเอง แต่แน่ละ การที่จะคิดค้นขึ้นมาได้ก็ต้องได้เห็นตัวอย่างจากจีนก่อน อันนี้เป็นของแน่

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ชนิดของจาน

จานนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ภาชนะรูปแบบ สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ เรียกสิ่งของที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่นจานเสียง เรียกมะเขือชนิดหนึ่งว่ามะเขือจาน คู่กับมะเขือถ้วย จานเชิง คือจานชนิดหนึ่งมีเท้าสูงเหมือนพาน ถ้าเราจะดูตามจานเชิงความหมายที่พจนานุกรมให้ไว้แล้ว จานก็ใช้ใส่ของอะไรไม่ได้เพราะมีรูปแบนอย่างจานเสียงเสียแล้ว ความจริงจานนั้นมีส่วนก้นเป็นกระพุ้งและยกขอบนิดหน่อยไม่ใช่แบนเลยทีเดียวคือมีลักษณะกระเดียดไปทางชาม แต่ชามลึกกว่าจานเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามบางแห่ง เรียกชามว่าจานก็ยังมีแต่เราพอจะยุติได้ว่าจานนั้นมี ๒ อย่างคือ

๑. จานที่เป็นภาชนะแบนๆ สำหรับใส่สิ่งต่างๆ
๒. จานเชิง คือจานชนิดมีเท้าสูงเหมือนพาน

และความประสงค์ที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือจาน ๒ ประเภทนี้เท่านั้น ส่วนจานเสียง จานบินหรือจานผีที่เล่าลือกันมาเป็นพาหนะของมนุษย์ต่างดาว และจานสำหรับนักก็ฬาขว้างนั้นจะไม่ขอพูดในที่นี้เพราะผิดวัตถุประสงค์ของสารคดีเรื่องนี้

จานนั้นว่าด้วยวัตถุที่ทำก็มีหลายอย่าง เช่นทำด้วยดินเผาแล้วเคลือบที่เราเรียกว่า จานเคลือบอย่างหนึ่งทำด้วยเหล็กหรือสังกะสีแล้วเคลือบที่เราเรียกว่าจานสังกะสีนั้นอย่างหนึ่ง สมัยนี้นิยมเครื่องไม้สลัก จึงมีผู้ทำจานด้วยไม้อีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อคนเราคิดทำพลาสติกขึ้นได้ ก็มีผู้ทำจานด้วยพลาสติกขึ้น ใช้แพร่หลายทั่วไป นอกจากนี้จานยังทำด้วยแก้ว ด้วยเงิน ด้วยทอง เป็นต้น แต่ก็เป็นของมีค่าราคามากมายไม่ใช่เป็นของใช้สามัญเหมือนจานที่ทำด้วยดินเผา สังกะสี แก้ว และพลาสติก ซึ่งแพร่หลายทั่วไปในคนธรรมดา

คำว่า “เครื่องปั้นดินเผา” หมายถึงผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ปั้นด้วยดินเอาไปเผา แต่ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งมีความหมายแคบว่าเครื่องปั้นดินเผา นั่นคือคำว่า “เครื่องเคลือบดินเผา” ซึ่งหมายความถึงเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่อาบหรือชุบนํ้าเคลือบแล้วจึงเผา “น้ำเคลือบ” ที่กล่าวนี้เป็นของเหลว เป็นส่วนผสมของวัตถุหลายอย่างตามตำหรับต่างกัน เช่นหินแก้วหรือเขี้ยวหนุมาน (Quartz) และตะกั่วขาว เมื่อถูกความร้อนได้ที่ ก็จะกลายเป็นแก้วหรือใสเหมือนแก้ว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การค้นพบเครื่องปั้นดินเผา

แรกเริ่มเดิมที เมื่อมนุษย์เรายังมีภาวะความเป็นอยู่ที่ห่างไกลจากอารยธรรมปัจจุบันนี้เรื่องภาชนะใส่อาหารเห็นจะไม่ต้องคำนึงถึงกัน มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำหรือซอกผานั้น ก็มีความเป็นอยู่ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ชนิดอื่นมากมายนัก เมื่อต้องการอาหารก็เสาะแสวงหาเอาจากธรรมชาตินั่นเอง เช่นผลหมากรากไม้ สัตว์ป่า ปูปลา เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วก็ยังไม่ รู้จักวิธีที่จะปรุงแต่งอาหารให้มีเครื่องปั้นดินเผารสชาติ ได้มาอย่างไรก็กินเข้าไปอย่างนั้น เช่นเนื้อสัตว์ก็คงจะกินกันดิบๆ นั่นเอง สิ่งที่รองรับอาหารก็เห็นจะเป็นใบไม้เปลือกไม้เท่านั้นเอง ต่อมาจะโดยเหตุบังเอิญก็เป็นได้ เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น สัตว์ป่าที่หนีไฟป่าไม่ทันก็ถูกไฟเผาไหม้อยู่ในกองไฟนั่นเอง มนุษย์เราไปพบสัตว์ที่ตายด้วยไฟเข้าก็คงจะลองชิมดูก็ร้สึกว่าเนื้อสัตว์ที่ถูกไฟเผาแล้วนี้มีรสชาติอร่อยกว่าที่ไม่ถูกเผาหรือเนื้อดิบๆ ที่เคยกินนั้นเสียอีก มนุษย์เราจึงรู้จักใช้ไฟและรู้จักปิ้งอาหารเนื้อให้สุกเสียก่อน เพราะธรรมชาติสอนให้เป็นครั้งแรก และอาหารของมนุษย์เราครั้งแรกนี้ก็คงจะมีเพียงอาหารแห้ง ไม่มีอาหารนํ้า ดังนั้น เรื่องความต้องการภาชนะที่จะปรุงอาหารคงจะยังไม่เกิดขึ้น ต่อมาคงจะมีมนุษย์สักคนหนึ่งที่บังเอิญคิดต้มนํ้าทำอาหารขึ้นมาได้ อาจจะเอากระดองสัตว์ เช่นเต่ามาทำเป็นภาชนะต้มก่อน แล้วต่อมาจึงมีคนคิดปั้นภาชนะดินขึ้นอย่างหยาบๆ แล้วตากให้แห้งโดยไม่ได้เผา และเมื่อเอาภาชนะดินดิบขึ้นตั้งไฟหลายๆ ครั้งเข้าภาชนะดินดิบนี้ก็เกิดความแข็งแกร่งขึ้น มนุษย์เราจึงรู้จักทำเครื่องปั้นด้วยดิน แล้วนำไปเผาขึ้นในเวลาต่อมา แต่ก็คงเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหยาบๆ อย่างที่เราขุดค้นพบในบริเวณถ้ำผีแมนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีอายุเก่าที่สุดระหว่าง ๙๐๐๖-๗๓๒๒ ปี ส่วนที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทยก็ได้มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่วิเศษที่สุดที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงนี้เป็นลายเขียนที่สวยงามมาก ซึ่งมีอายุประมาณ ๗๐๐๐-๖๐๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่บ้านเชียงนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยดังไปทั่วโลก และทำให้คนไทยเราขุดขายคนต่างชาติรวยไปหลายคน ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าสลดใจมาก จนรัฐบาลได้ออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ขืนมีไว้เป็นความผิด เรื่องการขุดขายจึงซบเซาไป เหตุใดคนจึงตื่นเต้นเรื่องเครื่องปั้นดินเผาเก่า รูปร่างไม่สวยงามถึงเช่นนี้ก็เพราะว่าในหมู่คนที่สนใจค้นคว้าความเป็นมาของมนุษย์ชาตินั้น การได้พบเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุมากๆ เช่นที่บ้านเชียง เป็นหลักฐานให้การค้นคว้าความเป็นมาของมนุษย์สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั่นเอง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องก่อน ประวัติศาสตร์ การจะค้นคว้าหลักฐานทางหนังสือย่อมทำไม่ได้ จึงได้แต่ค้นคว้าทางวัตถุของเก่าที่มนุษย์ทำขึ้นนี่เอง แต่พวกเราเองกลับไม่รู้คุณค่าขุดขายทำลายเสียหมด ปฐมเหตุที่จะได้มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงนี้มีอยู่ว่า มีครูคนหนึ่งที่บ้านเชียง เกิดสนใจเศษหม้อที่มีลวดลายสีแดงๆ ซึ่งพบตกหล่นอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านที่คนอยู่ จึงได้นำไปมอบให้หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๗ ณ ที่ทำงานในจังหวัดอุดรธานีและเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่นั่นก็ได้ไปสำรวจดูที่บ้านเชียงด้วยตนเองพร้อมกับเก็บเศษตัวอย่างส่งเข้ามายังกรมศิลปากร เพื่อทำการวิจัยต่อไป

และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ นายสติเฟน ยัง บุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ได้ไปพักที่บ้านเชียง เขาได้พบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่กล่าวแล้วเข้าที่นั่น เกิดความสนใจ และได้นำเข้ากรุงเทพมหานคร ข่าวจึงได้กระจายทั่วไป เป็นเหตุให้ชาวต่างประเทศพากันสนใจไปหาซื้อกันมากมาย จนพวกเราพากันขุดขาย ผลที่สุดรัฐบาลต้องออกกฎหมายมาห้ามดังกล่าวแล้ว นอกจากค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงแล้ว ยังได้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีอายุ ๔๒๐๐-๔๕๐๐ ปี ที่ “ทุ่งกว้างโนนนกทา” ตำบลบ้านโคก
อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีอายุประมาณ ๔๐๐๐ ปี ในบริเวณหมู่บ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และที่หมู่บ้านโคกเจริญ ตำบลบัวชุม อำเภอไชยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็ได้มีผู้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาอายุประมาณ ๓๐๐๐ ปี และอีกแห่งหนึ่งที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ก็มีผู้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาอายุระหว่าง ๒๙๐๐-๒๕๐๐ ปี จึงพอสรุปได้ว่าวัฒนธรรมในการทำเครื่องปั้นดินเผาเท่าที่ค้นพบในประเทศไทยเวลานี้มีอายุอยู่ในระหว่าง ๙๐๐๐-๒๕๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว แต่ถ้าจะกล่าวถึงส่วนรวมทั้งโลกแล้ว ก็ปรากฏว่าหลายชาติหลายภาษารู้จักทำเครื่องปั้นดินเผามาก่อนแล้ว อย่างเช่นชาวอียิปต์รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา มาก่อนผู้อื่น โดยใช้ดินในลุ่มแม่นํ้าไนล์ปั้นอิฐตากแดดให้แห้งแล้วเอามาใช้ แล้วต่อมาจึงรู้จักใช้ไฟเผา อิฐที่กล่าวนี้ได้มีการค้นพบที่ลุ่มแม่น้ำไนล์มีอายุราว ๑๐๐๐๐ ปี หรือกว่านั้นขึ้นไป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตดู เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ฝีมือหยาบและไม่มีสี นอกจากที่บ้านเชียงของเราเท่านั้นที่รู้จักเขียนสีและมีลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบนั้นส่วนใหญ่มักจะทำเป็นรูปหม้อ ไห และคนโทน้ำ นอกจากนี้เคยเห็นทำเป็นรูปชาม อย่างชามกะลาที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีบ้าง และเคยเห็นทัพพีเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงด้วย จากลักษณะของภาชนะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็พอเป็นพยานชี้ให้เห็นว่าคนเรารู้จักทำอาหารที่มีน้ำรับประทานกันนานมาแล้ว อย่างน้อยก็หลายพันปี ไม่เช่นนั้นจะทำทัพพีใช้ทำไม เพราะสิ่งนี้เป็นเครื่องมือสำหรับตักของเหลวมากกว่าของไม่เหลวอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ขวดเครื่องราชบรรณาการ

สมัยที่มนุษย์รู้จักทำขวดขึ้นมาใช้ใหม่ๆ ขวดคงจะเป็นของมีราคาสำหรับคนชั้นสูง หรือมีอำนาจวาสนาเท่านั้นใช้ ดังนั้น จึงปรากฏว่า เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ปรากฏในจดหมายเหตุว่า ได้ใช้ขวดเครื่องถ้วยของจีนของญี่ปุ่นเป็นเครื่องราชบรรณาการ และเป็นของเสนาบดีไทยส่งไปกำนัลเสนาบดีต่างประเทศถึงยุโรปด้วย เข้าใจว่าขวดของจีนหรือของญี่ปุ่นนั้น คงจะเป็นขวดที่ทำด้วยดินเผาหรือเครื่องเคลือบ แบบขวดปักดอกไม้หรือแจกันของเราทุกวันนี้

พูดถึงขวดแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงเหล้าไม่ได้ เพราะขวดเหล้าดูเหมือนจะแพร่หลายยิ่งกว่าขวดน้ำปลาหรือขวดยา ขวดน้ำหอมเสียอีก ว่ากันว่าคนไทยเราดื่มเหล้ากันทุกโอกาสที่จะดื่มได้ ดีใจก็ชวนกันไปดื่มเหล้า เสียใจก็พากันหาเหล้าดื่ม ไม่ดีใจไม่เสียใจไม่รู้จะทำอะไร ก็ดื่มเหมือนกัน จนมีคำพูดขำๆ ว่า คนนั้นคนนี้เขาดื่มเหล้าเพียงสองวันเท่านั้น คือวันที่ฝนตกกับวันที่ฝนไม่ตก หรือวันแดดออกกับวันที่แดดไม่ออก ก็คือดื่มทุกวันนั้นแหละ เรื่องความเสียเงินไปเพราะเหล้านี้ มีผู้ให้ความคิดเห็นแบบเศรษฐกิจของยายแก่ว่า ถ้าเราดื่มเหล้าขาววันละขวดเวลานี้เหล้าขาวขวดละ ๑๐ บาท ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน เป็นเงินถึงปีละ ๓,๖๕๐ บาท ถ้าสิบปี เป็นเงินถึง ๓๖,๕๐๐ บาท คนที่บ่นว่าจนไม่มีเงินติดตัว แต่มีปัญญาหาเงินดื่มเหล้าได้ทุกวันนั้น น่าจะได้คิดว่าเรานี่ก็มีปัญญาหาเงินได้ปีละหลายพันบาทเหมือนกัน การดื่มเหล้า นอกจากจะเสียเงินทองแล้วยังเป็นชะนวนก่อให้เกิดความทะเลาะวิวาทได้ง่าย เพราะคนเมานั้น มักจะเห็นช้างเท่าหมู ไม่เกรงกลัวใครหรืออะไรทั้งนั้น เมื่อประจัญหน้ากันต่างคนต่างไม่กลัว ก็ต้องตายไปข้างหนึ่ง อาวุธที่ดีในวงเหล้าก็เห็นจะไม่มีอะไรดีไปกว่าขวดเหล้า เคยเห็นนักเลงเหล้าทะเลาะกันในร้านเหล้า คว้าอะไรไม่ทัน ก็คว้าขวดเหล้าฟาดเข้ากับโต๊ะแตกเป็นปากฉลาม ใช้เป็นอาวุธประหัตประหารกันได้ผลดีที่สุดอีกฝ่ายหนึ่งดับ ส่วนฝ่ายที่ทำร้ายก็เข้าไปเสวยตะรางสบายไป โทษของการดื่มเหล้ามีอเนกประการพระท่านเทศน์มาหลายพันปีแล้ว จนบัดนี้ก็ยังเทศก์อยู่คู่กับคนดื่มเหล้า เมื่อไรเหล้าจะหมดโลกสักทีก็ไม่ทราบ

ก่อนจะจบเรื่องนี้ ก็เห็นจะต้องยกคำของใครก็จำไม่ได้เสียแล้วที่กล่าวว่า “น้ำเต็มขวดนั้น เขย่าไม่ดัง แต่น้ำครึ่งขวดละก็เขย่าดังนัก” จะมีความหมายว่ากระไร ก็โปรดคิดเอาเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

หุ่น:หุ่นตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

แม้จะเพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาของการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนของขวัญจนสุขสำราญกันถ้วนหน้า  บางคนก็อาจจะฉลองต่อเนื่องไป กิจกรรมแห่งความบันเทิงต่างๆ ก็มีมาเสนอเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวไกลถึงเพียงนี้  การเล่นมหรสพอย่างหนึ่งที่มีให้พบเห็นอยู่เสมอคือ หุ่น ชนิดต่างๆ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า หุ่น หมายถึง รูป, รูปแบบ, รูปตุ๊กตา, รูปแบบที่จำลองจากของจริงต่าง ๆ หรือหมายถึง รูปปั้นหรือแกะสลักที่ทำโกลนไว้เพื่อเป็นแบบชั่วคราว  หรือในภาษาปาก หมายถึง รูปทรงของร่างกายเป็นต้น เช่น คนนี้หุ่นดี นอกจากนี้ หุ่นยังหมายถึง ชื่อการเล่นมหรสพที่ใช้รูปหุ่นแสดงเป็นเรื่องราว เช่น หุ่นกระบอก หุ่นจีน โดยปริยายหมายถึงบุคคลที่กลายเป็นเครื่องมือของผู้อื่นโดยได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งบังคับบัญชา  แต่ไม่มีอำนาจอะไรอย่างแท้จริง เช่น เป็นหุ่นให้เขาเชิด รัฐบาลหุ่น

หุ่น มีหลายชนิด เช่น หุ่นกระบอก หมายถึง หุ่นชนิดหนึ่งมีแต่ส่วนหัวและมือ ๒ ข้างลำตัวทำด้วยไม้กระบอก มีผ้าเย็บเป็นถุงคลุม เวลาเชิดใช้มือสอดเข้าไปจับไม้กระบอกนั้นเชิด หุ่นขี้ผึ้ง หมายถึง หุ่นที่ทำด้วยขี้ผึ้งเป็นต้น มักทำเป็นรูปคนที่มีชื่อเสียง สวมใส่เสื้อผ้า มองดูคล้ายคนจริงๆ หุ่นจีน หมายถึง หุ่นชนิดหนึ่ง ทำเป็นตัวละครในวรรณกรรมจีน มีทั้งชนิดครึ่งท่อนและเต็มตัว ใช้คนเชิดคนเดียว หุ่นนิ่ง ใช้เป็นคำเรียกภาพวาดหรือภาพถ่ายของสิ่งที่ไม่เคลื่อนไหวว่า ภาพหุ่นนิ่ง หุ่นพยนต์ (อ่านว่า หุ่น-พะ-ยน) หมายถึง รูปที่ผู้ทรงวิทยาคมเอาวัตถุมาผูกขึ้นแล้วเสกเป่าให้เป็นเหมือนรูปที่มีชีวิต หุ่นยนต์ หมายถึง หุ่นที่ทำเป็นรูปคนมีเครื่องกลไกภายใน สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้ โดยปริยายหมายถึง ผู้ที่ทำงานตามที่ถูกสั่งโดยไม่ต้องใช้สมองและไม่มีชีวิตจิตใจดุจเป็นเครื่องจักรกล หุ่นไล่กา หมายถึง หุ่นที่มักทำเป็นรูปคนสวมเสื้อผ้าสำหรับลวงนกกาให้กลัว ทำให้ไม่กล้าลงมากินพืชผลในไร่นา หุ่นใหญ่ หมายถึง หุ่นชนิดทำจำลองย่อส่วนตัวละครขนาดสูงประมาณ ๒ ศอก ตัวหนึ่งใช้คนเชิด ๓ คน ใช้แสดงละครเล็ก

จินดารัตน์  โพธิ์นอก

หนังตะลุง:ช่างแกะตัวหนังตะลุงเมืองนครฯ

ช่างแกะตัวหนังตะลุงเมืองนครฯ

วิบูลย์  ลี้สุวรรณ

หนังตะลุงเป็นมหรสพที่เล่นโดยการอาศัยเงาของตัวหนัง ซึ่งแกะสลักขึ้นจากหนังโคและหนังกระบือเป็นรูปร่างต่าง ๆตามลักษณะของตัวละคอนในเนื้อเรื่องที่จะเล่น แต่เดิมนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์มากที่สุด

การเล่นหนังตะลุงจะต้องมีผู้เชิดให้ตัวหนังโลดเต้นไปตามบทพากย์และเสียงดนตรี  ให้เงาของตัวหนังไปปรากฎบนจอโดยอาศัยแสงไฟที่ส่องผ่านตัวหนัง  การเล่นหนังตะลุงจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปหลายแขนงเข้าด้วยกันคือ เล่นตามเรื่องราวของวรรณคดีการเชิดต้องใช้ศิลปทางนาฏศิลปและดนตรีเป็นเครื่องประกอบการพากย์จะต้องอาศัยศิลปทางด้านวรรณศิลป์ตลอดไปจนถึงการสร้างตัวหนังซึ่งจะต้องใช้ศิลปด้านทัศนศิลป์เข้าช่วย  จึงเห็นได้ว่าหนังตะลุงเป็นมหรสพที่ผสมผสานกันของศิลปแขนงต่าง ๆ และหนังตะลุงที่ดีจึงจำเป็นจะต้องมีความประสานกลมกลืนกันระหว่างศิลปแขนงต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเป็นอย่างดี

ส่วนรูปแบบในการแสดงและการถ่ายทอดศิลปต่าง ๆ ออกไปสู่ประชาชนผู้ชมนั้น  อาจจะมีรูปแบบที่ต่างกันไปบ้างตามความนิยมของผู้คนแต่ละท้องถิ่นและความสามารถของผู้เล่นหนังตะลุงแต่ละคณะ  ที่จะมีลักษณะวิธีการเฉพาะคนที่แตกต่างกันไปบ้างตามความถนัดของแต่ละคณะ  แต่โดยหลักการใหญ่ ๆแล้ว จะมีขบวนการเล่นที่คล้ายคลึงกัน

หนังตะลุงเป็นมหรสพเก่าแก่อย่างหนึ่งของภาคใต้ (อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ  มรดกไทย ของ วิบูลย์  ลี้สุวรรณ สำนักพิมพ์ปาณยา  พ.ศ. 2521 หน้า 179-197) ที่ได้รับความนิยมสืบต่อกันมาเป็นเวลานานนับร้อยปี  และจากการเล่นหนังตะลุงกันเป็นจำนวนมากในภาคใต้นี้เองทำให้เกิดหัตถกรรมที่ควบคู่กันไปกับการเล่นหนังตะลุงอย่างหนึ่งคือ  การแกะตัวหนัง หรือ การทำตัวหนังตะลุง

การแกะตัวหนัง

หัตถกรรมเมืองนครฯ

การแกะตัวหนังตะลุงขึ้นใช้ในการเล่นหนังตะลุงนั้นมีทำกันในหลายจังหวัดในภาคใต้  ซึ่งบางครั้งคณะหนังตะลุงอาจจะมีช่างแกะตัวหนังของตัวเอง  หรือบางคณะอาจจะซื้อตัวหนังมาจากช่างแกะหนังต่างถิ่น

ปัจจุบันนี้การทำตัวหนังตะลุงได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  มีช่างแกะหนังหลายแห่งได้แกะตัวหนังตะลุงในลักษณะของการประยุกต์  สำหรับใช้เป็นของที่ระลึกบ้าง  สำหรับใช้แขวนผนังเป็นเครื่องประดับบ้านบ้าง  หรือบางแห่งอาจจะประยุกต์ทำเป็นพัดก็มี

การนำตัวหนังตะลุงไปประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือไปจากการใช้เล่นหนังตะลุงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังที่ผลิตขึ้นมาขาดความประณีตและขาดลักษณะที่เป็นแบบแผนโบราณที่ยึดถือกันมา  เพราะเป็นการผลิตขึ้นเพื่อต้องการปริมาณมาก ๆ ในการจำหน่ายมากกว่าคุณค่าในด้านความงาม

ดังนั้นแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้แกะตัวหนังจำหน่ายกันมาก  แต่จะหาช่างที่มีคุณภาพและมีฝีมือดีค่อนข้างยาก

นายวิโรจน์  รอดเอียด  บ้านเลขที่ 110/3 ถนนศรีธรรมโศก  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นช่างแกะหนังฝีมือดีคนหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช  ที่ยังคงทำตัวหนังตะลุงตามแบบแผนดั้งเดิมโบราณอยู่บ้างประกอบกันไปกับการทำตัวหนังตามแบบประยุกต์

การทำตัวหนังของนายวิโรจน์  รอดเอียด  ยังคงเป็นการทำตามแบบฉบับของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองตามลักษณะของการจดจำถ่ายทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ  มิได้เล่าเรียนอย่างจริง ๆ  แต่อาศัยความชำนาญเป็นสำคัญ

นายวิโรจน์  เป็นช่างแกะหนังที่มีความสามารถผู้หนึ่งที่สามารถเขียนแบบร่างของตัวหนังชนิดต่าง ๆ ขึ้นเอง  และแกะลวดลายส่วนละเอียดตลอดจนสร้างส่วนประกอบของตัวหนังได้เองจนเสร็จเรียบร้อย

การสร้างตัวหนังขึ้นใหม่โดยมิได้ลอกเลียนแบบจากของโบราณนี้  ผู้เขียนจะต้องมีความชำนิชำนาญและมีความสามารถในการร่างรูปให้ถูกสัดส่วนตามลักษณะของตัวหนังแต่ละตัวเป็นอย่างดี  จึงจะได้ตัวหนังที่มีความประณีตสวยงาม

การทำตัวหนังของนายวิโรจน์ ช่างแกะหนังพื้นบ้านฝีมือดีของเมืองนคร ฯ นี้  นับว่าเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความงดงาม ตามแบบฉบับของศิลปพื้นบ้านที่น่าสนใจไม่น้อย  ซึ่งในปัจจุบันนี้จะหาช่างพื้นบ้านฝีมือดีอย่างนี้ไม่ได้ง่ายนัก  แม้ว่าการทำตัวหนังหรือการแกะตัวหนังจะเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีวิธีการและขั้นตอนธรรมดา ๆ ก็ตาม แต่การจะทำได้ดีนั้นผู้ทำจะต้องมีใจรักในการทำด้วยจึงจะได้งานที่ดี

ขั้นตอนของการทำตัวหนังตะลุง จะเริ่มจากการหาหนังก่อน  หนังที่จะนำมาแกะเป็นตัวหนังในสมัยก่อนนั้น  จะต้องพิถีพถันมาก  เพราะการเล่นหนังตะลุงหรือ การเชิดหนังตะลุง  ผู้เชิดจะต้องอาศัยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก  ดังนั้นการทำตัวหนังจึงต้องเชื่อถือตามคติโชคลางด้วย เช่น หนังบางตัวซึ่งถือว่าเป็นตัวสำคัญ เช่น หนังฤาษี พระอิศวร ซึ่งเป็นตัวหนังศักดิ์สิทธิ์ประจำคณะ บางคณะถึงกับใช้หนังฝ่าเท้าของครูบาอาจารย์ หรือบิดามารดาของนายหนังเข้ามาประกอบในตัวหนังก็มี

ถ้าไม่ใช้หนังดังกล่าว  จะใช้หนังวัวหนังควายก็มักจะใช้หนังวัวหนังควายที่ตายผิดปกติ เช่น ฟ้าผ่าตาย ออกลูกตาย หรือบางครั้งอาจจะพิสดารออกไปอีกคือ เอาหนังอวัยวะเพศของผู้ชายที่ตายแล้วมาติดไว้ที่ริมฝีปากล่างของตัวหนังเพื่อให้หนังตลกถูกใจคนดูก็มี  สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์  ซึ่งในปัจจุบันนี้ดูจะลดความเชื่อถือลงไปมากแล้ว

ส่วนตัวหนังธรรมดาที่ทำกันอยู่ทั่วไปนั้น จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ หนังธรรมดา และ หนังแก้ว

หนังธรรมดา  คือ ตัวหนังที่ทำจากหนังวัวหนังควายธรรมดาโดยไม่ผ่านการฟอก  แต่จะต้องนำหนังมาขูดด้วยกะลามะพร้าวเพื่อเอาเนื้อ  พังผืดและสิ่งสกปรกออกจากหนัง  แล้วจึงนำไปแช่น้ำส้มสายชูอ่อน ๆ เพื่อล้างให้หนังสะอาด  แล้วจึงตากไว้ให้หนังแห้งสนิทจึงลงมือแกะเป็นตัวหนัง

หนังแก้ว นั้นเป็นหนังที่ผ่านการฟอกแล้ว  ซึ่งอาจจะเป็นหนังวัวตัวเมียหรือหนังลูกวัว  ซึ่งมีหนังบางกว่าหนังวัวตัวผู้และหนังควาย  แต่ถ้าเป็นหนังที่มีความหนาจะต้องแล่เป็นแผ่นบาง ๆ ด้วยเครื่อง  จนดูเป็นแผ่นบางใสคล้ายแผ่นพลาสติค  หนังชนิดนี้นิยมใช้ทำตัวหนังกันมากเพราะสามารถระบายสีได้สวยงามกว่าหนังธรรมดา

การแกะตัวหนังขั้นแรกจะต้องร่างรูปตัวหนังลงบนกระดาษเพื่อเป็นแม่แบบก่อน  หรืออาจจะร่างลงบนหนังโดยตรงเลยก็ได้ถ้าช่างผู้ร่างมีความชำนาญพอตัวหนังตะลุงทั่วไปจะมีขนาดไม่ค่อยใหญ่สูงประมาณ 1 ฟุต  จะมีเล็กหรือใหญ่ไปบ้างก็ไม่มากนัก

เมื่อได้แบบของตัวหนังลงบนแผ่นหนังแล้ว  ขั้นต่อไปก็จะต้องแกะให้เป็นลวดลาย  โดยการใช้มีดขูดหรือมีดแกะซึ่งทำจากใบเลื่อยตัดเหล็ก  ปลายแหลมมีคมแกะหรือตัดเป็นรูปตัวหนังพร้อมทั้งใช้ตุ๊ดตู่ชนิดต่าง ๆ แกะเป็นลวดลายไปพร้อม ๆ กัน

การแกะลวดลายของตัวหนังส่วนมากจะใช้ตุ๊ดตู่ มีด สิ่ง และกรรไกร ประกอบกันไป

การแกะตัวหนังอาจแกะทีละตัวหรือวางซ้อนกันครั้งละ 2 ตัว หรือมากกว่าก็ได้ แล้วแต่ความหนาบางของหนัง  เมื่อแกะเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ถ้าต้องการจะให้ตัวหนังมีสีสันก็สามารถใช้สีชนิดต่าง ๆ ระบายลงไปได้  สีที่ใช้ระบายตัวหนังแต่โบราณมักจะใช้สีผสมขมิ้นระบาย  แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สีวิทยาศาสตร์ เช่น สีน้ำมัน สีหมึก ระบาย ซึ่งสะดวกกว่าสีแบบโบราณ

นอกเหนือจากการตกแต่งระบานสีแล้ว  จะต้องต่อเติมแขนขาและอวัยวะส่วนที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้  โดยใช้ไม้ไผ่ชิ้นเล็ก ๆ เป็นก้านเชิด  ตัวหนังที่สามารถชักให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้มากมักเป็นพวกตัวตลก  แต่ถ้าเป็นตัวเอกมักจะมีเพียงไม้ขนาบกลางตัวสำหรับให้ผู้เชิดจับอันหนึ่ง  กับอีกอันหนึ่งเป็นไม้สำหรับชักให้แขนขาตัวหนังเคลื่อนไหวเท่านั้น

ตัวหนังตะลุงที่ทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นรูปโปร่งแสง  และตัวหนังโบราณมักจะมีตัวหนังตามตัวละคอนในเรื่องรามเกียรติ์เป็นส่วนมาก หรืออาจจะมีตัวตลกเพิ่มเข้ามาอีกตัวหรือสองตัวเป็นตัวชูโรง  แต่ปัจจุบันการทำตัวหนังตะลุงได้พัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม  เพื่อให้เข้ากับความนิยมของชาวบ้านจึงมีตัวหนังใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เจ้าเมือง มนุษย์ โจร ต้นไม้  และสัตว์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

การทำตัวหนังในปัจจุบันได้พัฒนาวิธีการไปจากโบราณ  เพื่อต้องการให้สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น เช่น การใช้วิธีการทาบตัวหนังที่แกะเสร็จแล้วลงบนแผ่นหนัง  แล้วพ่นสีให้เกิดเป็นรอยตัวหนังลงบนแผ่นหนัง  แทนการลอกด้วยกระดาษ ซึ่งวิธีพ่นสีนี้ทำได้รวดเร็วกว่า และการแกะลวดลายของตัวหนังก็เช่นกัน มักจะใช้แผ่นหนังวางซ้อน 2-3 แผ่น  ซึ่งจะช่วยให้แกะเพียงครั้งเดียวได้หนังถึง 2 หรือ 3 ตัว  ทำให้สามารถผลิตตัวหนังได้รวดเร็วขึ้น

การทำตัวหนังตะลุงในภาคใต้ในปัจจุบันนี้มีทำกันหลายแห่งในหลายจังหวัด แต่การทำตัวหนังที่ประณีต  สวยงามถูกต้องตามลักษณะของตัวหนังตะลุงโบราณนั้นมีอยู่ไม่มาก  และแม้แต่ในเมืองนครศรีธรรมราช  จะมีการทำตัวหนังเป็นอุตสาหกรรมย่อย ๆ อยู่หลายแห่งก็ตาม  แต่ที่มีฝีมือดีนั้นจะหายาก

และในจำนวนช่างแกะตัวหนังฝีมือดีซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก  นายวิโรจน์  รอดเอียด  ก็เป็นคนหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นช่างแกะตัวหนังตะลุงตามแบบพื้นบ้านของเมืองนครศรีธรรมราชที่น่าสนใจ

 

เครื่องดนตรีพื้นเมืองมังคละ

กลองมังคละโบราณเป็นดนตรีพื้นเมืองที่ปรากฎว่าเล่นกันในท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลกเท่านั้น จะเป็นดนตรีไทยเดิมหรือได้มาจากมอญก็ยังไม่มีใครสืบประวัติได้  วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก  ได้ส่งนักศึกษาออกไปพัฒนาชนบทในโครงการฝึกหัดครูชนบท  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และอาจารย์วิชานาฎศิลปดนตรีของวิทยาลัย(อนงค์  นาคสวัสดิ์)  ได้สนใจทำการค้นคว้าฟื้นฟูขึ้นโดยจัดให้มีการรำในเทศกาลตรุษสงกรานต์ขึ้นชุดหนึ่ง เรียก รำมังคละ มีผู้เล่นเป็นชาย ๘ คน หญิง ๘ คน รำทำท่าเกี้ยวพาราสีกันหลาย ๆ แบบ ทำให้เป็นที่สนุกครื้นเครงยิ่ง และเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีมังคละ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกถือว่าเป็นดนตรีพื้นเมืองของจังหวัดอีกด้วย

จากการค้นคว้าของอาจารย์นาฏศิลป์ของวิทยาลัย  ในขณะนั้นได้พบข้อมูลจากหนังสือจดหมาย ระยะทางไปพิษณุโลก  พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ตอนหนึ่งตรัสถึงกลองมังคละว่า

“พอกินเข้าแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละมาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คือวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโซน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง  แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง  ได้ยินอีกหนหนึ่ง ที่นี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง  แต่ไม่แลเห็นว่าอะไรเพราะพงบังเสีย  นึกเอาว่าเถิดเทิง เพราะได้ยินฆ้องแลกลองโครม ๆ แต่ก็ผิดกว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่าเถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสกัดน้ำมันได้ยินอีกไกลไกลจึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร  ท่านสมภารอธิบายว่าปี่พาทย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า มังคละพระยาเทพาอยู่ที่นั้นด้วย ก็เลยอธิบายว่าเป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลเลการอัปมงคล  หากันวันกับคืนหนึ่ง เป็นเงิน ๗ ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอกเครื่องมังคละนี้ เป็นเครื่องเบญจดุริยางแท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้นขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ (ที่หมาย๑) ตรงกับ “วาตต” ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้าเหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ “วิตตํ” เป็นตัวเมียใบหนึ่ง ตรงกับ “อาตตวิตตํ” มีไม้ตีตรงตรง (ที่หมาย ๒) กลองสามใบนี้ ต้องหุ้มผ้าดอกเหลือไว้แต่หน้า  เพราะว่าฝีมือขึ้นแลฝีมือทำหุ่นดูไม่ได้  แลมีปี่คันหนึ่งตัวเป็นทำนองปี่จีน  ลิ้นเป็นปี่ชวาตรงกับ “สุสิรํ” มีฆ้องแขวนราว ๓ ใบ เสียงต่าง ๆ กันตรงกับ “ฆนํ” เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู เข้ากับกลองเล่าโต๊ว ไม่น่าฟัง แปลว่าหนวกหู เพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวานเป็นทำนองลูกเล่นอะไรอันหนึ่ง ฆ้องก็ตีพร้อมกันโครม ๆ แปลว่ากึกก้องมากกว่า เพราะลองให้ตีดู ๒ เพลง หนวกหูเต็มที เลยให้อัฐไล่มันไปบ้านแล้วกลับลงมานอน”….

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองโบราณที่เล่นกันในท้องถิ่นไทยอยู่อีกบ้างบางชนิดมีลักษณะหยาบ ๆ ทำจากไม้ซาง ไม้ไผ่ ทำเสียงสูงต่ำได้ไม่มาก  บางขึ้นก็ทำได้เสียงเดียว จะขอนำมากล่าวโดยย่อจากหนังสือเรื่องตำนานเครื่องมโหฬี ปี่พาทย์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศืเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังนี้

เครื่องดนตรีที่ทำด้วย ไม้ซาง มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ๔ ชนิดคือ

๑.  เรไร เรไรมีลักษณะเป็นไม้ซางต่อกับเต้าเป่า  เป่าได้เพียงเสียงเดียว(เคยใช้เป็นเครื่องประโคม เวลาพระลงอุโบสถที่วัดบวรนิเวศมาแต่ก่อน แต่ในพื้นเมืองเขาจะใช้เพื่อกิจกันใดมาแต่เดิมไม่ทราบ)

๒.  เต้ง มีลักษณะคล้ายเรไร แต่เป็นไม้ซางยาว ๆ สามอันเรียงกันต่อกับเต้าเป่าพวกแม้วยังเล่นเข้ากับการฟ้อนรำทางเมืองชายพระราชอาณาเขตภาคเหนือ

๓.  นอ มีลักษณะเหมือน “เต้ง” แต่เต้าเป่ากลมป้อน  มีก้านสั้นกว่าเต้ง มีไม้ซาง ซึ่งสั้นกว่าของเต้งเรียงชนิด ๆกัน ๓ อัน ต่อกับเต้าเป่า

๔.  จ้องหน่อง เป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราชอบเล่นกันมาแต่โบราณ แต่จะเป็นแบบของชาติไทยมาแต่เดิมหรือได้มาแต่ประเทศอื่นข้อนี้สงสัยอยู่ ลักษณะของจ้องหน่อง เป็นไม้ไผ่เหลาบาง ๆ แล้วแกะเป็นลิ้นให้กระเทือนได้ด้วย เอามือดีดหรือผูกเชือกกะตุก  ผู้เล่นเอาปากอมตรงที่ลิ้น เอามือดีดที่หัวหรือกระตุกเชือกและทำอุ้งปากให้เกิดเสียงกังวาลเป็นเสียงต่ำ  ทำเป็นลำนำได้ เป็นเครื่องสำหรับเล่นคนเดียว เล่ากันมาว่า สำหรับเจ้าบ่าวไปเกี้ยวเจ้าสาว  โดยดีดที่นอกบ้านให้สัญญาณแก่สาว ปัจจุบันไม่มีใครเล่นได้แล้ว

หนังสืออุเทศก์

ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมพระยา ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์

พ.ศ. ๒๔๘๒

ธนิต  อยู่โพธิ์  เครื่องดนตรีไทย  พ.ศ. ๒๕๑๐

๘๙ หน้า

สุดใจ  ทศพร  ดนตรีประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๒

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี

เครื่องสายอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงด้วยใช้คันชักสีเข้ากับสาย เราเรียกเครื่องสายประเภทนี้ด้วยคำในภาษาไทยว่า “ซอ”

ซอสามสาย

ซอสามสายของไทย  มีชื่อและลักษณะพ้องกับซามิเส็น SAMISEN ของญี่ปุ่น และสานเสี่ยน SAM HSIEN ของจีน  ซึ่งมีสาย ๓ สายเหมือนกัน ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดที่มีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา ๓ ปุ่มคล้ายวงแหวน ๓ อันวางอยู่ในรูป ๓ เหลี่ยมจึงเป็น ๓ เส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม ๓ เส้านั้นไว้ใช้เป็นกะโหลกซอ ขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลาขนาดของซอเล็กใหญ่สุดแต่กะลาที่จะหาได้มีคันซอหรือทวนทำด้วยไม้แก่นหรือบางอันก็ประกอบงา ยาวประมาณ ๑.๒๑ เมตร สอดเข้าไปในกะโหลกซอเหลือเป็นทวนตอนบนราว ๗๑.๕ ซม. และลอดลงมาเป็นทวนตอนล่าง ๒๕.๕ ซม.  ทวนบนและทวนล่างเจาะเป็นโพรงร้อยเอ็นเข้าไปข้างในทวนล่าง ๓ สาย ขึ้นสายผ่านหน้ากะโหลกซอที่ขึ้นหนังไว้ ขึ้นไปเกือบปลายทวนบน แล้วร้อยสายเอ็นทั้ง ๓ เข้าไปในข้างใน มีลูกบิดผูกสายสอดเข้าไปในทวนตอนบน ๓ อัน ไทยเราคงจะนิยมใช้กันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่น มีกล่าวถึง “สีซอ” ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ของ พระมหาธรรมราชา แห่งกรุงสุโขทัย ต่อมาก็มีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาล ซอสามสายเป็นเครื่องดนตีที่เล่นยาก แต่นิยมกันว่าไพเราะและสอดประสานเข้ากับเสียงขับร้องของนักร้องไทยได้สนิทสนมเป็นอันดี พระบาทสมเด็ดพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดปรานมาก

ซออู้

ซออู้  เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวเหมือนกัน แต่ใช้กะลามะพร้าวชนิดกลมรี ตัดปากกะลาออกเสียด้านหนึ่งแล้วใช้หนังแพะหรือหนังลูกวัวขึงขึ้นหน้า  กว้างประมาณ ๑๓-๑๔ ซม.  เจาะกะโหลกทะลุตรงกลาง ๒ ข้าง สอดคันทวนเข้าไปในรูบนผ่านกะโหลกโผล่ออกรูล่างใต้กะโหลก ทวนนั้นทำด้วยไม้จริง  เช่น ไม้แก้ว หรือด้วยงาตัน ขนาดยาวประมาณ ๗๙ ซม. ใช้สายเอ็น ๒ สาย ผูกที่ปลายทวนใต้กะโหลกแล้วพาดมาทางหน้าขึ้นหนังผ่านขึ้นไปผูกไว้กับปลายลูกบิด ๒ อัน สอดก้านเข้าไปในทวนยื่นทะลุออกมาทางด้านหน้า  เอาเชือกผูกรั้งสายกับทวนตรงกลางค่อนขึ้นไปเพื่อให้สายตึงเรียกว่า “รัดอก” มีคันสีหรือคันชักทำด้วยไม้จริงหรือด้วยงา ยาวประมาณ ๗๐ ซม. ใช้ขนหางม้าประมาณ ๑๖๐-๒๐๐ เส้น สำหรับขึ้นสายคันชัก สำหรับสีกับสายซอให้เกิดเสียงซอชนิดนี้ทั้งกะโหลกและทวนบางคันก็แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงสวยงามน่าดู ซออู้ใช้บรรเลงร่วมวงในวงเครื่องสาย และในวงมโหรี

ซอด้วง

ซอด้วง  เป็นซอสองสายเหมือนกันทั้งทวนและคันชักคงทำอย่างเดียวกับซออู้ แต่ย่อมกว่าและสั้นกว่าเล็กน้อย คือทวนซอด้วง ยาวประมาณ ๗๒ ซม. คันชักยาวประมาณ ๖๘ ซม. และใช้ขนหางม้า

สะล้อ

สะล้อ  เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของทางภาคเหนือ เป็นเครื่องสายใช้สีมีคันชักเช่นเดียวกับซออู้และซอด้วง แต่ทำกันไม่สู้ประณีต  คันทวนยาวโดยปรกติก็ราว ๖๔ ซม.  มีสายขึงด้วยเส้นลวด ๒ สาย ลูกบิดมี ๒ อัน เจาะรูเสียบทะแยงเข้าไปในสะล้อใช้เล่นผสมวงกับซึง และปี่ซอ  ประกอบบทขับร้องเพลงพื้นเมือง

 

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องสายมีกะโหลกเสียง  และใช้นิ้วมือหรือไม้ดีด  ดีดสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียงเป็นเครื่องดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามีกำเนิดขึ้นในตะวันออกก่อน  เครื่องสายที่ใช้ดีดเหล่านี้เราเรียกตามคำบาลีและสันสกฤตว่า”พีณ” พีณโบราณที่เรียกว่า พีณน้ำเต้าที่มีกล่าวถึงพีนไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยสุโขทัย

พีณน้ำเต้า

พีณน้ำเต้า  เป็นพีณสายเดียว คงจะเป็นของพราหมณ์ทำขึ้นเล่นกันมาก่อนยังมีเพลงร้องเพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พีณชนิดนี้ชาวอินเดียคงจะนำมาเล่นแพร่หลายอยู่ในดินแดนแหลมอินโดจีนนี้ก่อน และขอมโบราณ  หรือมอญเขมร  ได้รับช่วงไว้ก่อนที่ชนชาวไทยจะอพยพลงมา  ที่เรียกชื่อว่า พีณน้ำเต้า  เพราะเอาเปลือกผลน้ำเต้ามาตัดครึ่งลูก แล้วเอาทางจุกหรือทางขั้วไว้เจาะตรึงติดกับไม้คันพีณ  ซึ่งเรียกว่า “ทวน” เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน

วิธีเล่นพีณน้ำเต้า ผู้เล่นจะต้องไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวนแล้วเอากะโหลกพีณประกบติดกับเนื้อตรงอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น  ใช้มือขวาดีดสายผู้เล่นที่ชำนาญจะขยับกะโหลกน้ำเต้าเปิดปิดอยู่ตรงทรวงอก  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ  และใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอเพื่อให้สายดึงหรือหย่อนดีดประสานกับเสียงขับร้องของผู้เล่นเอง

พีณเพียะ

พีณเพียะ  หรือพีณเปี๊ยะ หรือบางทีก็เรียกแต่ว่า เพียะหรือ เปี๊ยะ มีกล่าวถึงในพงศาวดารลานช้าง เป็นทำนองว่า พระมหากษัตริย์ของชนชาวไทยในสมัยโบราณเมื่อครั้งยังตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้  ได้ส่งนักดนตรีนักกลอน และครูละครฟ้อนรำ  ลงมาฝึกสอนคนไทยด้วยกัน  ซึ่งอพยพแยกย้ายกันลงมาตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในแหลมอินโดจีน และได้ส่งครูมาสอนให้รู้จักทำและรู้จักเล่นพีณเพียะด้วย  มีกล่าวถึงในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน เรียกว่า “พีณเพลีย” ในหนังสือนิรุทธคำฉันท์  จะเรียก พีณเพียะว่า “เพยีย” เช่น “จำเรียงสานเสียง ประอรประเวียง กรกรีดเพยียทอง เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง สำหรับลบอง ลเบง เฉ่งฉันทร์”  แต่ในโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ เรียกไว้ว่า “เพลี้ย” เช่นที่ว่า

สายาเข้าคว้าเล่น หลายกล

เดอรดีดเพลี้ยพาล รยกชู

พีณเพียะ  ลักษณะคล้ายพีณน้ำเต้า แต่พีณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี  กะโหลกก็ทำด้วยเปลือก ลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี  เวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิด  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ เช่นเดียวกับดีดพีณน้ำเต้า ตามที่ปรากฎในท้องถิ่นภาคเหนือ  ผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเอง

กระจับปี่

กระจับปี่ ก็คือพีณ ๔ สายชนิดหนึ่งนั่นเอง  ตัวกะโหลกกระจับปี่ทำแบนทั้งด้านหน้าและหลังอย่างตัว GUITAR แต่รูปกลมรี หนาประมาณ ๗ ซม.  ด้านยาวของกะโหลกประมาณ ๔๔ ซม. ด้านกว้างประมาณ ๔๐ ซม.  ทำคันหรือทวนเรียวยาว ตอนปลายทวนทำแบนและบานปลายแบะผายออกไป  มีลิ่มสลักเป็นลูกบิดสำหรับขึ้นสาย  ๔ อัน สาย ๔ เส้นนั้นใช้สามเอ็น  มีตะพานหรือนมรับนิ้วสำหรับกดสาย ๑๑ อัน ตรงกะโหลกด้านหน้าทำแผ่นไม้บาง ๆ ค้ำสายให้ตุงออก แผ่นไม้บาง ๆ นี้เรียกว่า “หย่อง” เวลาเล่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับไม้ดีดเขี่ยสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียง  ไม้ดีดนั้นทำด้วยเขา ด้วยกระดูกสัตว์ หรือ กระ

“กระจับปี่” ว่ากันว่า เพี้ยนมาจากา “กัจฉปิ”  ซึ่งเป็นคำชวา และว่า “กัจฉปิ” ก็เพี้ยนมาอีกต่อหนึ่งจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤตว่า “กัจฉปะ” ซึ่งแปลว่า เต่า

ซึง

ซึง เป็นเครื่องดีดมี ๔ สาย รวมทั้งคันทวนและกะโหลกยาวประมาณ ๘๑ ซม. กะโหลกกลม ตัวกะโหลกและคันทวนของซึงมักทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียวกัน ขุดคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง และใช้ไม้ตัดกลมเจาะรูกลางแผ่นทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน  คันทวนทำเป็นเหลี่ยมด้านหน้าแบน ตอนปลายทำโค้งและขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ ๒ อัน รวม ๔ อัน สายทั้ง ๔ สาย นี้ใช้เส้นลวดขนาดเล็ก ๒ สาย ใหญ่ ๒ สาย มีหย่องสำหรับหนุนสายตรงกลางกะโหลกด้านหน้า และมีตะพานหรือนมรับนิ้ว ๙ อัน

ซึง  เป็นเครื่องดีด ที่ชาวไทยในภาคเหนือของประเทศไทย  นิยมใช้ถือแนบหน้าอกด้วยมือซ้าย และมือขวาถือไม้ดีดซึ่งทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ดีดใช้ดีดเดี่ยวและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ซอ

จะเข้ เป็นเครื่องดีด เข้าใจว่าแก้ไขมาจากพีณ  ทำให้วางราบไปตามพื้น รูปร่างอย่างจระเข้ ขุดให้กลวงเป็นโพรงข้างในเพื่อช่วยให้เกิดเสียงก้องกังวาน  ตัวจะเข้ทำเป็น ๒ ตอน ตอนตัวและหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ทำด้วยไม้แก่นขนุน ยาวประมาณ ๕๒ ซม. กว้างประมาณ ๒๙ ซม. ตอนหางยาวประมาณ ๗๘-๘๐ ซม. กว้างประมาณ ๑๑.๕ ซม. รวมทั้งท่อนหัวและท่อนหางยาวประมาณ ๑๓๐-๑๓๒ ซม. มีแผ่นไม้ปิดท้องเบื้องล่าง จะเข้ตัวหนึ่งมีเท่ารองตอนตัว ๔ และปลายหาง ๑ สูงจากปลายเท้าวางพื้นถึงหลังประมาณ ๑๙ ซม. ทำหลังนูนกลาง สองข้างลาดลง ขึ้นสายโยงเรียดไปตามหลังตัวจะเข้จากทางหัวไปทางหางสามสาย สาย ๑ ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก ๒ สายเป็นสายเอ็น

มีลูกบิดประจำสาย ๆ ละ ๑ อัน สำหรับเร่งเสียง มี “หย่อง” รับสายทางหาง ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยกระดูกสัตว์หรือด้วยงา  ยาวประมาณ ๕-๖ ซม. เครียนด้วยเส้นด้ายติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด

ไทยเราเห็นจะรู้จักเล่นจะเข้มานานไม่น้อยกว่าสมัยแรกาตั้งกรุงศรีอยุธยาจึงมีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา  แต่ปรากฎว่า เพิ่งนำเข้าผสมวงเครื่องสายและวงมโหรีเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง