ปฏิภาณและความสามารถของสุนทรภู่

Socail Like & Share

ปฏิภาณของสุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก พูดอะไรคล้องจองกันได้ในทันทีทันใด แสดงว่ามีปฏิภาณดีมาก ดังที่มีเรื่องเล่ากันว่า ขณะที่สุนทรภู่ยังเป็นเด็ก ได้เดินตามอาจารย์ไปในท้องทุ่ง ระหว่างทางเกิดลมบ้าหมู สุนทรภู่ไม่รู้จักก็ถามอาจารย์ อาจารย์ก็ตอบให้ทราบ เมื่อสุนทรภู่ได้ฟังก็พูดขึ้นเป็นคำคล้องจองว่า “แต่ลมยังเป็นบ้าสุกรพัด ไฉนสัตว์จะไม่หลงในสงสาร” อาจารย์ได้ยินก็พูดขึ้นว่า “เอ็งนี่ต่อไปจะเป็นจินตกวีเอกเจียวหรือ”

การคิดหาคำที่คล้องจองกันได้ในทันทีทันใดถือว่าเป็นปฏิภาณและความสามารถที่น่ายกย่อง เพราะต้องหาคำที่มีความหมายตามเนื้อหาที่ต้องการ รวมทั้งต้องหาคำที่มีสัมผัสตรงตามฉันทลักษณ์ของการแต่งคำประพันธ์ด้วย

สุนทรภู่มีความสามารถในการต่อบทประพันธ์ของผู้อื่นได้อย่างทันใจหรือทันทีทันควันหลายครั้ง เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตอนสีดาผูกคอตายมาทรงแก้ไขให้เหมาะสมกับกระบวนการแสดงละครบทเดิมนั้นมีว่า

เอาภูษาผูกคอให้มั่น        แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ        อรไทก็โจนลงมา
บัดนี้                    วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต        ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนลงตรงไป        ด้วยกำลังว่องไวทันที
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง        ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปัถพี        ขุนกระบี่ก็โจนลงมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงคิดว่าบทดังกล่าวข้างต้นเล่นไม่ทันใจและใช้เล่นละครไม่ได้ เพราะกว่าหนุมานจะแก้ไขได้ นางสีดาน่าจะต้องตายเสียก่อน จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่เพื่อให้หนุมานแกไข้ได้อย่างรวดเร็ว และได้ทรงแต่งบทของนางสีดาว่า

จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด        เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่

แล้วก็ทรงต่อไปไม่ได้ จนพระทัยไม่ทรงทราบว่าจะทรงต่ออย่างไรจึงจะให้หนุมานช่วยนางสีดาได้อย่างทันใด เหล่ากวีที่ปรึกษาอื่นๆ ก็แต่งถวายไม่ได้ไม่สามารถต่อบทพระราชนิพนธ์ได้ถูกพระทัย จึงโปรดฯให้สุนทรภู่แต่งถวายสุนทรภู่ก็แต่งว่า

ชายหนึ่งผูกศออรไท        แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น                วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย

ปฏิภาณและความสามารถของสุนทรภู่ครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพอพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่เป็นอย่างมาก

ในคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนชมรถทรงทศกัณฐ์สุนทรภู่ก็ได้แสดงความสามารถดังกล่าวนี้อีก คือพระองค์ทรงไว้ว่า

รถที่นั่ง                    บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
คุมวงกงหันเป็นควันคว้าง        เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน            พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

ทรงพระราชนิพนธ์ได้เท่านี้ก็จนอีก ทรงนึกหาข้อความอื่นๆ มาสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของรถทศกัณฐต่อไปไม่ได้ สุนทรภู่จึงแต่งถวายว่า

นทีตีฟองนองระลอก        คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท    สุธาวาสไหวหวั่นสั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน    คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมา

ข้อความที่สุนทรภู่แต่งถวายนี้ช่วยเสริมให้เห็นความเกรียงไกรของรถทรงและกองทัพของทศกัณฐ์ได้อย่างดียิ่ง เป็นที่สบพระทัย กล่าวคือ เมื่อทศกัณฐ์เคลื่อนทัพ พื้นแผ่นดินก็กระเด็นกระดอน นํ้าในแม่นํ้ามหาสมุทรไหวกระฉอกอย่างรุนแรง และเขาพระสุเมรุที่เคยแข็งแกร่งก็กลับเอนเอียงไปมา ด้วยแรงสั่นสะเทือนของการเคลื่อนย้ายกองทัพครั้งนี้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ ม.จ.จันทรจิรายุ รัชนี ทรงรวบรวมเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และสุนทรภู่ได้ร่วมเล่นสักวากลอนสดที่ลงท้ายด้วย คำตาย ซึ่งหาคำมารับสัมผัสยาก ปรากฎว่าต่างก็สามารถต่อกลอนสักวากันได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย : สักวาระเด่นมนตรี
จรลีเลยลงสรงในสระ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ : เอาพระหัตถ์ขัดพระองค์ทรงชำระ
สุนทรภู่ : แล้วเรียกพระอนุชามากระซิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย : นั่นกอบัวมีดอกเพิ่งออกฝัก
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ : จงไปหักเอาแต่ตัวฝักบัวดิบ
สุนทรภู่ : โน่นอีกกอแลไปไกลลิบลิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย : ให้ข้างในไปหยิบเอามาเอย

นับว่าสักวาบทนี้แสดงปฏิภาณไหวพริบและความสามารถในการแต่งกลอนที่ทัดเทียมกัน ได้อย่างชัดแจ้ง

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่โดยเสด็จประพาสทางชลมารคพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทอดพระเนตรเห็นมะกรูดที่ริมฝั่ง ก็ทรงตรัสว่า “เฮ้ย ไอ้ภู่ มะกรูดพวงนี้หนามัน น่าเก็บ’’ สุนทรภู่ก็ใช้ปฏิภาณกราบทูลไปทันทีว่า ”พระพุทธเจ้าข้า เอาหยิกขยี้สีเล็บแล้วดมผิว”

นอกจากนี้ ในตอนที่สุนทรภู่จะพ้นโทษจำคุกเนื่องจากทำร้ายญาติผู้ใหญ่ก็ได้อาศัยปฏิภาณ และความสามารถของตนทำให้เป็นที่สบพระทัยเช่นเดียวกันคือในตอนนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงชมม้าทรงว่า “ม้าเอยม้าเทศ” แล้วก็ทรงหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่มีใครแต่งต่อให้ถูกพระทัยได้ ก็ทรงรำลึกถึงสุนทรภู่ และโปรดฯ ให้เบิกตัวออกมา สุนทรภู่ต่อบทพระราชนิพนธ์ว่า “สูงสามศอกเศษสีสังข์” ปรากฎว่าถูกพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงโปรดฯ ให้พ้นโทษเข้ารับราชการดังเดิม

นอกจากนี้นายกุหลาบได้เล่าเรื่องปฏิภาณของสุนทรภู่ในสยามประเภท ฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๗) โดยอ้างว่าได้ฟังจากนายพัดซึ่งเป็นบุตรของสุนทรภู่ว่า ครั้งหนึ่ง พระยาไชยา (ซุ้ย) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายมาดเรือยาวเส้นเศษ เมื่อโปรดฯ ให้ทำเป็นเรือพระที่นั่งก็ปรากฎว่ายาวกว่าเรือพระที่นั่งที่เคยมีมาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพอพระทัยมาก พระราชทานนามว่า เรือ “ใบตองปลิว” แล้วรับสั่งถามว่าใครเคยรู้ว่ากษัตริย์องค์ใดหรือกษัตริย์เมืองใด มีเรือพระที่นั่งยาวเท่านี้บ้าง ทุกคนก็กราบทูลว่าไม่เคยได้ยินว่าใครมีเรือพระที่นั่งยาวเท่านี้มาก่อน พระองค์จึงตรัสถามว่า ถ้าเช่นนั้นมีใครเคยได้ยินคำเล่าลือบ้าง ก็ไม่มีใครตอบได้ พระองค์จึงทรงถามสุนทรภู่ สุนทรภู่ก็กราบทูลว่า ตนเคยได้ยินเขาโจษกันว่ามีเรือซึ่งยาวกว่าเรือใบตองปลิว พระองค์จึงทรงถามว่ายาวเท่าใด สุนทรภู่ก็กราบทูลว่า เคยได้ยินเด็กๆ ร้องกันว่า

“เรือเอ๋ยเรือเล่น        ยาวสามเส้นสิบห้าวา

จอดไว้หน้าท่า        คนลงเต็มลำ”

คือสุนทรภู่นำเอาคำร้องเล่นของเด็กๆ มาตีโวหาร แทนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะกริ้ว กลับทรงพระสรวลด้วยความชอบพระทัยที่สุนทรภู่มีปฏิภาณไหวพริบดีไม่ยอมอับจนง่ายๆ

นอกจากจะได้แสดงปฏิภาณไหวพริบระหว่างรับราชการแล้ว แม้ในชีวิตส่วนตัวก็มีเรื่องเล่า เกี่ยวกับปฏิภาณของสุนทรภู่ไว้ว่า

เมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี แต่งมาติดอยู่ที่กลอนตอนหนึ่ง ก็นั่งอ่านยํ้าอยู่ว่า “สินสมุทรสุดที่รักของพ่อเอ๋ย ๆ ๆ ๆ” ภรรยาของสุนทรภู่ไม่ทราบว่าเป็นแม่จัน แม่นิ่ม หรือแม่ม่วง กำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว ได้ยินเสียงสุนทรภู่ยํ้าอยู่เช่นนั้น ก็อาจจะนึกรำคาญหรือเกิดอารมณ์ขัน และได้จังหวะที่จะประชดสุนทรภู่ จึงร้องตะโกนต่อกลอนออกมาจากในครัวว่า “ทองสักนิดก็ไม่ติดตัวมาเลย” ด้วยความมีปฏิภาณไหวพริบดี สุนทรภู่ก็ต่อกลอนว่า “พ่อทรามเชยเกิดมาเวลาจน” นับว่าเป็นคำตอบที่ แก้ข้อตำหนิของภรรยาได้ดีทีเดียว

อนึ่ง พ.ณ.ประมวญมารค เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่กำลังนั่งเขียนกลอนอยู่ มีนักเลงคนหนึ่งเดินผ่านและเอาก้อนอิฐขว้างมาที่บ้านสุนทรภู่ สุนทรภู่ตกใจอุทานออกมาว่า “เฮ้ยไอ้ภู่ กำลังนั่ง คิดกลอนลงนอนเขลง คิดตอนพระอภัยเกี้ยวละเวง พออิฐปาฝาเป้งก็ตกใจ” แล้วสุนทรภู่ก็ลุกขึ้นเขียนกลอนต่อ

เสงี่ยม คุมพวาส ก็เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งสมัยรัชกาลที่ ๒ ขณะที่สุนทรภู่ยังเป็นหนุ่ม สุนทรภู่ดื่มเหล้าเมาได้ขนาดก็นอนเอกเขนก เอาขาไขว่ห้างและว่ากลอนลั่นบ้านว่า “สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง มือก่ายหน้าผากไขว่ขาร้องว่าเพลง” พอดีขณะนั้นข้างบ้านเกิดรำคาญที่สุนทรภู่ส่งเสียงดังก็เอาอิฐปาฝาบ้าน สุนทรภู่ได้ยินดังนั้นก็แต่งกลอนต่อไปว่า “เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป” ฝ่ายยายนัย (ไม่ใช่ยายแท้ๆ แต่เคยเลี้ยงสุนทรภู่มา) ได้ยินเสียงอิฐขว้างบ้านก็ต่อว่าสุนทรภูว่า “อ้ายภู่นะอ้ายภู่ มึงไม่รู้จักอะไรเสียมั่งเลย ชาวบ้านเขารำคาญรู้ไหม” สุนทรภู่ก็ต่อเป็นคำกลอนออกไปอีกว่า “ว่าหรือไม่ว่ากูรู้ อยู่เต็มจิตต์” ยายได้ยินก็ร้องออกมาด้วยความโมโหว่า ‘‘มึงจะเกรงกลัวใครมั่งไม่มีเลย” สุนทรภู่ก็ต่อ เป็นกลอนไปอีกว่า “จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่” ยายอดทนต่อคำล้อเลียนไม่ไหว ก็ออกปากไล่สุนทรภู่ให้ไปอยู่ที่อื่นว่า “ไปนะอายภู่มึงไปให้พ้น ใครจะว่าจะด่าไม่นำพาเสียเลย” แทนที่สุนทรภู่จะสงบคำ กลับต่อออกไปเป็นกลอนว่า “ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป ใครว่าช่างใครไม่นำพา”

ถ้านำข้อความคำกลอนที่สุนทรภู่แต่งครั้งนี้มาเรียบเรียงใหม่ จะได้ดังนี้
สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง
มือก่ายหน้าผากไขว่ขาร้องว่าเพลง
เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป
ว่าหรือไม่ว่ากูรู้อยู่เต็มจิตต์
จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่
ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป
ใครว่าช่างใครไม่นำพา

นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงเล่าว่าทรงเคยได้ฟังมาว่า ขณะที่สุนทรภู่บวช ครั้งหนึ่งไปจอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งมีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย แต่กล่าวคำถวายไม่เป็น ได้อาราธนาสุนทรภู่ให้ช่วยสอนให้ เวลานั้นชาวบ้านผู้นั้นอยู่บนตลิ่ง สุนทรภู่จึงสอนให้กล่าวคำถวาย เป็นคำกลอนว่า

อิมัสมิงริมฝั่ง    อิมังปลาร้า                กุ้งแห้งแตงกวา
อีกปลาดุกย่าง    ช่อมะกอกดอกมะปราง    เนื้อย่างยำมะดัน
เข้าสุกค่อนขัน    น้ำมันขวดหนึ่ง            น้ำผึ้งครึ่งโถ
ส้มโอแช่อิ่ม    ทับทิมสองผล            เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ

อนึ่ง สุนทรภู่เคยใช้ปฏิภาณของตนทำมาหาเลี้ยงชีพ คือได้ทำหน้าที่บอกดอกสร้อยสักวา และบอกบทละคร ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวนี้ต้องอาศัยปฏิภาณและความสามารถในการแต่งกลอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการอย่างรวดเร็วทันใจเพื่อให้การโต้ตอบสักวาหรือการแสดงละครดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด

เท่าที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นชัดว่าสุนทรภู่เป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม สามารถโต้ตอบหรือแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างฉับพลันทันที รวมทั้งมีความสามารถในการต่อบทประพันธ์ได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าพึงพอใจ มีผลให้สุนทรภู่เป็นกวีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดปรานยิ่งกว่ากวีอื่นๆ นอกจากนี้ในช่วงที่ตกยาก สุนทรภู่ก็สามารถใช้ปฏิภาณดังกล่าวนี้ทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ด้วย

ความสามารถของสุนทรภู่
สุนทรภู่มีความสามารถหลายด้าน แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะความสามารถด้านการแต่งคำประพันธ์และที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งคำประพันธ์เท่านั้น

สุนทรภู่มีความสามารถทั้งในด้านการแต่งกาพย์ โคลง และกลอน ผู้เขียนขอแบ่งเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้
๑. ความสามารถในการแต่งกาพย์
๒. ความสามารถในการแต่งโคลง
๓. ความสามารถในการแต่งกลอน

๑. ความสามารถในการแต่งกาพย์
กาพย์ที่สุนทรภู่แต่งไว้ ได้แก่ กาพย์นิทานเรื่องพระไชยสุริยา และกาพย์ที่ปรากฎในบทเห่กล่อมพระบรรทมรวม ๔ เรื่อง ได้แก่ เห่จับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี และเห่เรื่องโคบุตร

แม้สุนทรภู่จะแต่งกาพย์ไว้เพียงไม่กี่เรื่อง ก็สามารถแสดงให้เห็นว่ามีฝีมือด้านนี้พอควร

กาพย์ของสุนทรภู่มักมีสัมผัสในตรงกลางวรรค โดยมากเป็นสัมผัสสระลักษณะเช่นนี้ปรากฏทั้งในกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ดังตัวอย่าง

กาพย์ยานี
เทวัญกั้นหน้า        นางฟ้าเอียงอาย
ไว้จังหวะประปราย    รำลอยชายเข้าวัง
ฉวยชิดติดพัน        นางสวรรค์หันหลัง
หลีกเลี่ยงเบี่ยงบัง    เวียนระวังว่องไว

กาพย์ฉบัง
สมบัติสัตว์มนุษย์ครุธา    กลอกกลับอัปรา
เทวาสมบัติชัชวาล
(พ.ณ.ประมวญมารค, “เห่จับระบำ” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๔๘)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด