จินตนาการของสุนทรภู่

Socail Like & Share

เรื่องราวในชีวประวัติของสุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า สุนทรภู่ได้ศึกษาที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม ริมคลองบางกอกน้อย มีเกร็ดเล่ากันอีกว่าสุนทรภู่มีความเฉลียวฉลาด แตกฉาน ในเรื่องหนังสือมาก สุนทรภู่คงจะได้ศึกษาหาความรู้ศาสตร์ด้านต่างๆ เอาไว้มากมาย ไม่ใช่เฉพาะแต่ด้านอักษรศาสตร์หรือด้านกวีเพียงอย่างเดียว สุนทรภู่คงจะนำความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาโหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และจากประสบการณ์ชีวิตมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อสร้างแนวคิดในการสร้างสรรค์บทกวี โดยเฉพาะในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ใช้วิชาความรู้ด้านต่างๆ สร้างเรื่องหรือสร้างจินตนาการขึ้นจนเป็นนิทานที่สนุกสนาน เป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยเป็นอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบมูลเรื่องพระอภัยมณีว่า เค้ามูลมีอยู่ในเรื่องอาหรับราตรี ฉบับเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน เรื่องหนึ่งว่า มีกษัตริย์ถือศาสนาอิสลามไปตีเมืองซึ่งนางพระยาถือศาสนาคริสต์ เมื่อไปพบกันเข้าตัวต่อตัวในกลางศึก แล้วเลยรักใคร่กัน ทำนองเดียวกับเมื่อพระอภัยมณีได้นางละเวง นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์เรื่องที่สุนทรภู่คิดให้พระอภัยมณีชำนาญการเป่าปี่ ต่างไปจากวีรบุรุษในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ นั้น ทรงคิดว่าเรื่องนี้ก็มีเค้ามูลอยู่ในหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น คือเตียวเหลียงเป่าปี่เมื่อฮั่นอ่องรบกับพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง และที่กำหนดให้ศรีสุวรรณชำนาญกระบองว่ามีเค้ามูลอยู่ในเรื่องไซ่ฮั่นเช่นเดียวกัน ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเป็นนักรบวิเศษด้วยฝีมือกระบอง

อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะเรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่มีความรู้ความสนใจวรรณคดีจากต่างประเทศอีกด้วย จนสามารถนำความคิดมาผูกเป็นเรื่องพระอภัยมณีขึ้นมาได้ ความรู้ในเรื่องศาสตร์ต่างๆ ที่สุนทรภู่ใช้เป็นวัตถุดิบนำมาผสมกับแนวความคิดอันเฉียบแหลมที่เกิดจากอารมณ์ของการเป็นกวี ทำให้เกิดผลงานอันประณีตบรรจง และให้คุณค่าทางศิลปะอย่างสูงนั้น อาจจะจำแนกได้ดังนี้

ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์
สุนทรภู่คงจะมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ดีมากผู้หนึ่ง โดยอาจจะค้นคว้าจากหนังสือหรือตำนานเมื่อผ่านสถานที่ต่างๆ ที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ สุนทรภู่ก็มักจะอธิบายเอาไว้อย่างแจ่มแจ้ง และถูกต้อง

ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่คงจะนำเค้ามูลทางประวัติศาสตร์มาผูกเป็นเรื่องขึ้น ซึ่งปรากฏหลายตอน เช่น
ฝรั่งลังกา เรื่องฝรั่งอยู่เมืองลังกานั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์ว่า มีเค้ามูล เพราะในปี ค.ศ. ๑๘๑๕ หรือ พ.ศ. ๒๓๕๘ อังกฤษยึดลังกาเป็นเมืองขึ้น เหตุการณ์ที่เกาะลังกาคงจะเลื่องลือเข้ามาถึงประเทศไทย ในข้อนี้เองที่ทำให้สุนทรภู่สมมติว่าเมืองลังกาเป็นเมืองฝรั่ง และสุนทรภู่คงจะรู้ก่อนหน้าที่จะเป็นเมืองขึ้นอังกฤษก็เคยเป็นเมืองของชาวสิงหลมาก่อน

ศึกเก้าทัพ ตอนศึก ๙ ทัพเข้าตีเมืองผลึก สันนิษฐานว่าสุนทรภู่อาจจะได้ความคิดมาจากประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระเจ้าปะดุงยกกองทัพมาตีประเทศไทยโดยระดมพลประมาณแสนเศษ จัดแบ่งเป็น ๙ ทัพ เข้าตีกรุงเทพฯ ๕ ทัพ ตีเมืองเหนือ ๒ ทัพ เมืองปักษ์ใต้ ๒ ทัพ และให้เข้าตีในเวลาพร้อมกัน อาจจะเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตอนนี้เองที่สุนทรภู่เอามาแปลงเป็นศึก ๙ ทัพในเรื่องพระอภัยมณี

เรื่องทหารหญิง ตอนนางละเวงฝึกทหารหญิงไว้ใช้นั้น สันนิษฐานกันว่าเป็นจินตนาการ อันกว้างไกลของสุนทรภู่ เพราะทหารหญิงเพิ่งมีในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยยังไม่เคยมีกองทหารหญิง แต่ยังมีความที่อาจจะเป็นไปได้ว่า สุนทรภู่ได้รับความคิดจากประวัติศาสตร์คราวคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ที่ได้รวบรวมผู้หญิงขึ้นสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุ เมืองเวียงจันทน์ จึงได้นำมาแต่งไว้ในพระอภัยมณี นับเป็นจินตนาการของสุนทรภู่อีกอย่างหนึ่ง และปรากฎว่ามีจริงในระยะเวลาต่อมา

เรื่องตอนเจ้าละมาน สันนิษฐานกันว่าเจ้าอนุเวียงจันทน์คือที่มาของเรื่องตอนเจ้าละมาน สุนทรภู่คงจะได้จากประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลที่ ๓ คือเรื่องกบฎเจ้าอนุ ใน พ.ศ. ๒๓๖๙ เมื่อเจ้าอนุถูกจับได้นั้น ถูกนำมาขังไว้ที่กรุงเทพฯ ที่หน้าพระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ สุนทรภู่คงจะนำเหตุการณ์นั้นเขามาผูกเป็นตอนหนึ่งของเรื่องพระอภัยมณี โดยตั้งเป็นเรื่องของเจ้าละมานขึ้น

ความคิดเรื่องให้กษัตริย์เป็นสตรี ในเรื่องนี้กล่าวกันว่าสุนทรภู่อาจจะได้แนวความคิดจากประวัติศาสตร์อังกฤษตอนพระนางวิคตอเรียเสวยราชย์ เพราะเวลานั้นไทยกับอังกฤษติดต่อกันแล้ว สุนทรภู่คงจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงแต่งให้นางละเวงเป็นกษัตริย์ในเรื่องของตนบ้าง

ยักษ์มักกะสัน ตอนเลี้ยงเจ้าละมาน มีกลอนว่า

“ฝ่ายแม่ครัวหัวป่าก์หาแกล้มเหล้า    จะเลี้ยงเหล่าพวกยักษ์มักกะสัน”
ยักษ์มักกะสันสุนทรภู่จะหมายถึงพวกแขกชาวเมืองมากัสซ่าร์ ซึ่งอยู่แถบเกาะซีลิบีส พวกนี้ดุมาก เคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช และก่อการกบฎขึ้น เรียกว่า กบฏมักกะสัน

เรื่องการสู้ศึกที่อ่าวปากน้ำ สุนทรภู่พรรณนาความตอนนี้ว่า

“ที่เหลือนั้นหันกลับไม่รับรบ        โจรตลบแล่นไปไล่ถลำ
พัลวันกันเข้าอ่าวปากน้ำ        พวกโจรซ้ำยิงตายทลายพัง
นายด่านไปไล่คนขึ้นบนป้อม    สะพรั่งพร้อมโยธาทั้งหน้าหลัง
เห็นโจรไล่ใกล้ตลิ่งยิงประดัง        เสียงตึงตังตูมสนั่นดังครั่นครื้น
พอข้างหลังอังกุหร่าก็มาถึง        สั่งให้ขึงตะรางเหล็กลำละผืน
พอคลุมลำกำปั่นกันลูกปืน        ทหารยืนตามช่องคอยมองยิง
พอลมแปรเข้าฝั่งอังกุหร่า        ให้โยธาเทียบสำเภาเข้าตลิ่ง
ทั้งชาวด่านให้ทหารเอาหินทิ้ง    พวกโจรยิงปืนปีนตีนกำแพง
พวกบนป้อมหลอมตะกั่วคั่วทรายสาด    จนถึงฟาดฟันกันด้วยขันแข็ง
ปืนฝรั่งอังกฤษติดจะแรง    ยิงกำแพงด่านพังเสียงดังครืน”

ความตอนนี้ทำให้น่าสังเกตว่าสุนทรภู่จะได้ความคิดจากประวัติศาสตร์ ครั้งรัชกาลที่ ๒ สร้างเมืองนครเขื่อนข้ณฑ์ (พระประแดง) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ครั้งนั้นได้สร้างป้อมทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตกมี ๕ ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด ป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ ฝั่งตะวันออกมี ๓ ป้อม คือ ป้อมปุ่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร และที่ริมแม่นํ้าทำลูกทุ่นสายโซ่สำหรับขึงกันแม่นํ้า การทำโซ่ขึงกลางแม่นํ้าดังกล่าวนี้ สุนทรภู่ได้นำมากล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“ที่ปากน้ำสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง    เอาโซ่ขึงค่ายคูรักษา
ให้ลากปืนป้อมฝรั่งขึ้นจังกา        คอยยิงข้าศึกให้บรรลัยลาญ”

นอกจากเรื่องพระอภัยมณีแล้ว ในนิราศต่างๆ สุนทรภู่ได้แทรกความรู้ทางประวัติศาสตร์ ไว้หลายตอน เช่น ในนิราศพระบาท เมื่อผ่านตำบลสามเสน สุนทรภู่ได้อธิบายประวัติความเป็นมาของตำบลนี้ว่า

“ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเนียก    เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี            ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง        เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี้หรือรักจะมิน่าเป็นราคิน            แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ

ในนิราศภูเขาทอง เมื่อผ่านจังหวัดปทุมธานี สุนทรภู่ได้อธิบายเอาไว้ว่า เมืองปทุมธานี เดิมชื่อว่า เมืองสามโคก สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “ปทุมธานี” ให้สมกับเป็นเมืองที่มีบัวมาก ดังความที่กล่าวว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อมปทุมธานีเพราะมีบัว

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ได้อธิบายถึงตำนาน และความเป็นมาเกี่ยวกับชื่อเมืองสามโคก ความว่า

“พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก        เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้        ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง        ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ            ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก            เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง    ที่ตำแหน่งนอกมาสามิภักดิ์
ชื่อปทุมธานีที่เสด็จ    เดือนสิบเอ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก        พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา”

ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเช่นเดียวกัน เมื่อถึงวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึงประวัติ และความสำคัญของวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่และเป็นที่นับถือกันมาตลอดจนทุกวันนี้
พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถวัดพนัญเชิง นับเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสำหรับเสี่ยงทายองค์หนึ่ง เล่ากันว่าหากบ้านเมืองจะเกิดยุคเข็ญ จะเกิดอาเพศจากพระพุทธรูปองค์นี้ก่อนคือหักพังลงมา และหากบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขพระพักตร์ของพระองค์ท่านก็จะอิ่มเอิบเปล่งปลั่งอยู่เสมอ พระพุทธรูปวัดพนัญเชิงองค์นี้คนจีนพากันนับถือมาก และเรียกว่า “ซำปอกง” ซึ่งแปลว่า พระใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ สุนทรภู่อาจจะฟังคำเรียกพวกคนจีนไม่ชัด จึงใช้คำว่า “ปูนเถาก๋ง” ดังที่ได้บรรยายเอาไว้ว่า

“มาถึงวัดพนังเชิงเทิงถนัด        ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม
ผนังก่อย่อมุมเป็นซุ้มโคม        ลอยโพยมเยี่ยมฟ้านภาลัย
มีศาลาท่าน้ำดูฉ่ำชื่น            ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย
บิดาพร่ำร่ำเล่าให้เข้าใจ        ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย
ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ    ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย
แม้พาราผาสุกสนุกสบาย    พระพักตร์พรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์
แต่เจ็ดย่านบ้านนั้นก็นับถือ    ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปูนเถาก๋ง

ในนิราศเมืองเพชร เมื่อผ่านวัดราชโอรสสุนทรภู่ก็อธิบายว่า วัดนี้เดิมเรียกกันว่าวัดจอมทอง ดังที่ปรากฎในนิราศว่า

“โอ้รื่นรื่นชื่นเชยเช่นเคยหอม        เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง
ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง    ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง        เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม    โอรสราชอารามงามเจริญ”

ในนิราศพระประธม เมื่อถึงตำบลบางนายไกร สุนทรภู่อธิบายเอาไว้ว่า ชื่อของตำบลนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ไกรทอง หมอจระเข้ที่ฆ่าชาละวันในวรรณคดีเรื่องไกรทอง กล่าวกันว่าไกรทองเกิดที่ตำบลนี้

“บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้        ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย
ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย        เป็นยอดชายเชี่ยวชาญการวิชา”

อีกตอนหนึ่งในนิราศพระประธม เมื่อถึงตำบลโพธิ์เตี้ย สุนทรภู่ก็กล่าวถึงประวัติของตำบล ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาว่า เกิดจากกรรมอันเป็นบาปหนาของพระยาพานที่ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดาของตนเอง เมื่อปลูกต้นโพธิ์จึงเผอิญให้ต้นเตี้ยตํ่าไปหมด ดังที่อธิบายเอาไว้ว่า

“ถึงโพเตี้ยโพต่ำเหมือนคำกล่าว    แต่โตราวสามอ้อมเท่าพ้อมสาน
เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพระยาพาน    มาสังหารพระยากงองค์บิดา
แล้วปลูกพระมหาโพธิ์บนโขดใหญ่    เผอิญให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา
อันเท็จจริงสิ่งใดเป็นไกลตา        เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง”

ในนิราศเรื่องเดียวกันนี้ เมื่อเดินทางถึงพระปฐมเจดีย์ สุนทรภู่ก็ได้อธิบายตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์เอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งสุนทรภู่ก็บอกไว้ว่าได้ทราบเรื่องนี้จากผู้เฒ่าคนแก่อีกทอดหนึ่ง ดังที่กล่าวว่า

“จึงสำเหนียกเรียกผ่านบ้านยายหอม    ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิ์อธิษฐาน
ครั้นเสร็จสรรพกลับมาหาอาจารย์        เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศิลา
จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ        ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา
แล้วเปลืองเครื่องกษัตริย์ขัตติยา    ของบิดามารดาแต่ก่อนกาล
กับธาตุใส่ในกรุบรรจุไว้    ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน
จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน        คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง”

ความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
สุนทรคู่เป็นกวีที่มักจะมีความคิดก้าวหน้าในทางอนาคตของวิทยาการอยู่มาก โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะมีการคิดค้นหรือประดิษฐกรรมออกมาได้นั้น มักจะมีการคาดคะเนหรือวาดมโนภาพขึ้นมาก่อน ในเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้านี้ สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ในเรื่องพระอภัยมณีหลายตอน ซึ่งในสมัยนั้นผู้อ่านคงจะคิดกันว่าเป็นเพียงนิยายอ่านเล่นเรื่องหนึ่ง และประดิษฐกรรมที่กล่าวถึงเป็นเพียงองค์ประกอบเรื่องให้ดูประหลาดและน่าตื่นเต้นเท่านั้น คงจะไม่มีใครคิดว่าสิ่งที่สุนทรภู่พูดถึงนั้นจะเป็นไปได้จากความคิดและการกระทำของมนุษย์นอกจากปาฏิหาริย์  แต่สิ่งเหล่านั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วสมกับที่สุนทรภู่ใฝ่ฝันและวาดภาพเอาไว้

ความคิดของสุนทรภู่เกี่ยวกับประดิษฐกรรมของมนุษย์ที่แปลกและพิสดาร ซึ่งในสมัยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของอนาคตหรือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตามที่ปรากฎในเรื่องพระอภัยมณี พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

เรือของโจรสุหรั่ง สุนทรภู่ได้วาดภาพเป็นคำกลอนว่า เป็นเรือที่ใหญ่โตมโหฬาร มีความประหลาดพิสดารความที่กล่าว ดังนี้
“จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ    เป็นเชื้อชาติอังกฤษริษยา
คุมสลัดอัศตันวิลันดา            เป็นโจรห้าหมื่นพื้นทมิฬ
มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น        กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงสา
มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ”

เรือโจรสุหรั่งตามจินตนาการของสุนทรภู่นี้ นับว่าใหญ่มาก คือมีความยาวตั้ง 20 เส้น หรือ 800 เมตร ภายในเรือยังมีการปลูกไม้ผลต่างๆ ไว้กิน พร้อมทั้งเลี้ยงสัตว์เอาไว้ด้วย ในสมัยนั้นคงจะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีเรือเช่นนี้เกิดขึ้นในโลก แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ามีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่หลายลำ แม้จะมีขนาดไม่เท่ากับเรือที่สุนทรภู่กล่าวเอาไว้ก็ตาม ก็แสดงให้เห็นว่าจินตนาการของสุนทรภู่นั้น ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในปัจจุบันมาก

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงเรือยนต์ของพราหมณ์โมรา ที่เอาหญ้าฟางมาผูกขึ้น ถ้าจะเทียบกับสมัยนี้ก็เปรียบได้กับเรือเดินชายฝั่งที่ใช้ทั้งใบและเครื่องยนต์ หรืออาจจะเทียบได้กับเรือกลไฟ สุนทรภู่เขียนไว้ดังนี้

“คนหนึ่งชื่อโมราปรีชาชาย        มีแยบคายชำนาญในการกล
เอาฟางหญ้ามาผูกสำเภาได้        แล้วแล่นไปในจังหวัดไม่ขัดสน”

หีบเพลง ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนกษัตริย์สามัคคี สุนทรภู่ได้จินตนาการให้มีหีบดนตรี นางละเวงได้ใช้หีบดนตรีตอนกินเลี้ยงพร้อมกับกษัตริย์ต่างๆ เมื่อไขเข้าไปแล้วปรากฎมีเสียงร้องเพลง เสียงดนตรีบรรเลงอย่างไพเราะ หีบดนตรีของนางละเวงมีลักษณะอย่างนี้

“ฝ่ายยุพาผการำภาสะหรี        ไขดนตรีที่ตั้งกำบังแฝง
เหมือนดนตรีปี่พาทย์ไม่พลาดแพลง    เสียงกระแซงซ้อนเพลงวังเวงใจ
กระจับปี่สีซอเสียงกรอกรีด        บัณเฑาะว์ดีดดนตรีปี่ไฉน
นางสำหรับขับร้องทำนองใน        บ้างขับไม้มโหรีให้ปรีดิ์เปรม
เป็นภาษาฝรั่งว่าครั้งนี้            จะเป็นที่เสน่ห์สนุกสุขเกษม

อีกตอนหนึ่งในคราวนางละเวงเลี้ยงส่งเจ้าละมานก็มีการเล่นดนตรี และไขกลดนตรีให้ฟังว่า

“ฝ่ายสุรางค์นางบำเรอเสนอหน้า    รินสุราแลชม้อยคอยถวาย
สาวสำรับขับเรียงเคียงชม้าย    ประสานสายซอดังเสียงวังเวง
แล้วขับขานประสานเสียงสำเนียงเรื่อย    ช่างฉ่ำเฉื่อยฉอเลาะล้วนเหมาะเหม็ง
บ้างไขกลดนตรีให้ตีเอง    ได้ฟังเพลงเพลิดเพลินเจริญใจ’’

ตอนแต่งงานสินสมุทรกับนางอรุณรัศมีที่เมืองรมจักรก็มีการไขหีบดนตรีให้บรรเลง ดังที่กล่าวไว้ว่า

“เสียงสุรางค์วังเวงร้องเพลงขับ    ซอกระจับปี่กรีดนิ้วดีดสี
ข้างชั้นในไขกลเพลงดนตรี        พร้อมพราหมณ์ชีช่วยกันเวียนเทียนเจ้านาย”

หีบดนตรีหรือเครื่องกลดนตรีของนางละเวงที่สุนทรภู่จินตนาการขึ้นนั้น อาจจะเปรียบเทียบได้กับเครื่องเล่นจานเสียงในปัจจุบัน สุนทรภู่คงจะคิดคำนึงว่าประดิษฐกรรมลักษณะหีบเพลงนี้ มนุษย์จะต้องคิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากเรื่องหนึ่งที่ต่อมาอีกสมัยหนึ่งก็เกิดมีหีบเสียงหรือเครื่องเล่นจานเสียงขึ้นมาจริงๆ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีก่อนมีหีบเสียงขึ้นในโลกถึง ๔๐ ปี นับเป็นเรื่องที่ตรงกันระหว่างจินตนาการของกวีกับความสามารถของนักประดิษฐ์

โต๊ะกล ในงานเลี้ยงของนางละเวง มีโต๊ะอาหารซึ่งสุนทรภู่เรียกว่า “โต๊ะกล” เมื่อนางละเวง เชิญวงศาญาติของพระอภัยมณีไปชมเขาที่มีโคตรเพชรเป็นที่สำราญแล้ว ก็พากันไปเสวยที่ในสวน โดยจัดโต๊ะเอาไว้หมู่หนึ่ง คนกินนั่งเรียงแถวกันอยู่ต่างหากอีกทางหนึ่ง เมื่อได้เวลาโต๊ะดังกล่าวก็จะเคลื่อนมาเทียบข้างหน้า โดยไม่ต้องมีคนเสิร์ฟ ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ต้นไม้ร่มลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยพัด    โต๊ะเขาจัดแต่งไว้ทั้งซ้ายขวา
พอพร้อมกันลั่นระฆังสั่งสัญญา    โต๊ะก็มาเกลื่อนกล่นด้วยกลไก
ลูกล้อกลิ้งวิ่งเวียนเหมือนเกวียนขับ    พร้อมสำรับหวานคาวขวดเหล้าใส่
เสียงกริ่งกร่างต่างเขม้นไม่เห็นใคร        แต่โต๊ะใหญ่ไปถึงทั่วทุกตัวคน
นางเชิญองค์พงศาบรรดากษัตริย์        เสวยมัจฉะมังสาผลาผล
นางหม่อมห้ามนั่งเรียงเคียงโต๊ะกล    ข้าหลวงคนใช้นั้นเป็นหลั่นไป

สุนทรภู่จินตนาการโต๊ะอาหารดังกล่าวไอยางน่าประหลาดมาก เสมือนหนึ่งว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบค้นคว้าประดิษฐ์สิ่งแปลกๆ ประดิษฐกรรมนี้ในสมัยของสุนทรภู่ยังไม่มีแน่นอน ท่านจะคิดขึ้นเองหรือได้พบได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่สามารถดลใจท่านมีความคิดสิ่งนี้ขึ้นมาก็ไม่มีหลักฐานกล่าวเอาไว้แน่ชัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริถึงเค้ามูลเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่นางละเวงรับรองกษัตริย์โดยมีโต๊ะกล ตามความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ตอนเสด็จทอดพระเนตรที่พระราชวังแวร์ซายว่า “…ห้องที่แปลกนั้นคือห้องเสวย ไม่มีโต๊ะเสวย ถ้าถึงเวลาเสวย โต๊ะจัดอยู่ในชั้นตํ่าสำเร็จแล้วทะลึ่งขึ้นมาบนพื้นเอง สุนทรภู่คงจะระแคะระคายใครเล่า ให้ฟัง หรือจะมีในหนังสือเก่าๆ ครั้งโกษาปาน…”

การโดดร่ม ในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อคราวมีงานฉลองการอภิเษกระหว่างสินสมุทรกับนางอรุณรัศมี ซึ่งจัดให้มีการละเล่น มหรสพต่างๆ มากมาย มีการละเล่นอีกอย่างหนึ่งแสดงให้ประชาชนได้ชม คือการกระโดดร่มให้ลอยไปตามลม โดยให้ผู้โดดขึ้นไปบนปลายไม้ที่ต่อสูงกันสามต้น จากนั้น จึงกระโดดลงมา ความคิดของสุนทรภู่เกี่ยวกับการโดดร่มผาดโผนนี้น่าจะคิดขึ้นมาเอง เพราะในสมัยนั้นไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศยังไม่มีการโดดร่ม แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดเพราะในสมัยต่อมามีการโดดร่มขึ้นมาจริงๆ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับที่สุนทรภู่จินตนาการเอาไว้ ความที่กล่าวถึงการโดดร่ม ว่า…

“บ้างขึ้นไต่ไม้สูงต่อตั้ง        รำแพนทั้งโจนร่มตามลมเหลิง”

ความคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์
ในเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์หรือการรบนั้น สุนทรภู่ได้บรรยายเอาไว้อย่างละเอียดในวรรณคดี เรื่องพระอภัยมณี นับตั้งแต่การเตรียมกำลังรบ การอบรมนักรบ การจัดรูปแบบกองทัพ ตลอดจนถึงแม่ทัพนายกองตามตำแหน่ง สุนทรภู่ได้สร้างจินตนาการออกมาจนเห็นภาพที่ชัดเจน ราวกับว่าท่านเป็นแม่ทัพนายกองด้วยคนหนึ่ง จากผลงานของท่านที่ได้แสดงออกมาในแนวความคิดด้านยุทธศาสตร์นี้ อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจตำรามาเป็นอย่างดี จนสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประพันธ์ได้ นอกจากจะได้เน้นถึงรูปแบบการรบแล้ว สุนทรภู่ยังได้แสดงถึงเกียรติภูมิของนักรบ ความเป็นชายชาติทหาร ความคิดของทหารที่จะต้องอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อมไม่ประมาท เมื่อต้องประจัญหน้ากับศัตรู สิ่งเหล่านี้สุนทรภู่ได้ประพันธ์ออกมาอย่างน่าศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

สมัยที่สุนทรภู่แต่งหนังสือนั้น เป็นสมัยที่ใช้อาวุธสั้นกันเป็นการรบที่ติดพันถึงขั้นตะลุมบอนถึงตัว สำหรับปีนและธนู เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ในการเขียนถึงกลศึกและการสงครามในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้หลายตอนเช่น

ตอนที่พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน และมาพบกับเรือสินสมุทรลูกชายที่พานางสุวรรณมาลีมาด้วย อุศเรนนั้นทราบแน่ว่าเรือใหญ่ที่ประจัญหน้ากันอยู่นั้นมีสุวรรณมาลีคู่หมั้นตนเองอยู่ ครั้นทูตกลับมาบอกว่านางสุวรรณมาลีมีผัวแล้วก็โกรธจะต้องรบให้ได้ แต่ถึงแม้อุศเรนจะเกิดใต้เศวตฉัตร และเล่าเรียนการสงครามมาเจนจบเพียงไรก็ต้องมาปรึกษาพระอภัยมณี และพระอภัยมณีก็แสดงความรู้ทางกลศึกให้ฟังว่า

“เป็นไรมีที่ตรงจะยงยุทธ        การบุรุษรู้สิ้นทุกถิ่นฐาน
อันแยบยลกลศึกสี่ประการ        เป็นประธานที่ในกายของนายทัพ
ประการหนึ่งถึงจะโกรธพิโรธร้าย    หักให้หายเหือดไปเหมือนไฟดับ
ค่อยคิดอ่านการศึกที่ลึกลับ        แม้จะจับให้มั่นคั้นให้ตาย
อนึ่งว่าข้าศึกยังฮึกฮัก            จะโหมหักเห็นไม่ได้ดังใจหมาย
สืบสังเกตเหตุผลกลอุบาย        ดูแยบคายคาดทั้งกำลังพล
อนึ่งให้รู้รบที่หลบไล่            ทหารไม่เคยศึกต้องฝึกฝน
ทั้งถ้อยคำสำหรับบังคับคน        อย่าเวียนวนวาจาเหมือนงาช้าง
ประการหนึ่งซึ่งจะชนะศึก        ต้องตรองตรึกยักย้ายให้หลายอย่าง
ดูท่วงทีกิริยาในท่าทาง            อย่าละวางไว้ใจแก่ไพรี”

เมื่อกองเรือศรีสุวรรณสินสมุทรแล่นมาพบเข้ากับกองเรืออุศเรน ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และเกรงจะเกิดการเข้าใจผิดถึงกับรบพุ่ง ในฐานะที่เป็นแม่ทัพ ศรีสุวรรณได้แสดงออกถึงความรอบคอบอันควรแก่การควบคุมกระบวนทัพ จึงออกคำสั่งไปว่า

“เขาแล่นมาถ้าเราแล่นไปมั่ง        จะคับคั่งเคืองใจไม่พอที่
ทอดสมอรอเรียงอยู่เพียงนี้        ดูท่วงทีท่าทางจะอย่างไร”

การจัดทัพเรือของอุศเรนในการที่จะทำสงครามชิงนางกับสินสมุทร สุนทรภู่บรรยายไว้ดังนี้

“ร้องเรียกเรือรบฝรั่งมาทั้งนั้น    แล้วแบ่งปันเป็นแผนกแยกนาวา
กองละร้อยคอยรบสมทบทัพ    เกณฑ์กำกับเกียกกายทั้งซ้ายขวา
ให้คอยล้อมพร้อมพรั่งดังสัญญา    เห็นลมกล้าได้ทีตีประดัง
ให้พวกเรือเหนือลมนั้นสมทบ    เข้ารุมรบลำใหญ่เหมือนใจหวัง
แม้นขึ้นได้ไฟจุดอย่าหยุดยั้ง        แล้วกองหลังหนุนด้วยช่วยให้ทัน
แม้นพบชายนายทัพจงจับมัด    มันขืนขัดค่อยฆ่าให้อาสัญ
ถ้าลำไหนได้นางจะรางวัล        ครองประจันตประเทศเขตนคร

ฝ่ายฝรั่งพรั่งพร้อมต่างน้อมนบ    ลงเรือรบเรียบร้อยลอยสลอน
ทั้งโยธากล้าหาญคอยราญรอน    ใส่เสื้อซ้อนเกราะกระสันกันศัสตรา
ทหารปืนยืนมองตามช่องกราบ    ศรกำซาบแซกรายทั้งซ้ายขวา
พร้อมทหารขานโห่เป็นโกลา        ธงสัญญาโบกบอกให้ออกเรือ
กองละร้อยคอยรบไม่หลบหลีก    ชักเป็นปีกกาไปทั้งใต้เหนือ
บ้างถือชุดจุดไฟไว้เป็นเชื้อ        เขาล้อมเรือลำใหญ่ระไวระวัง”

ฝ่ายทัพสินสมุทร เมื่อได้ปรึกษากับอังกุหร่า แม่ทัพรองแล้ว ได้จัดการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยการเตรียมตั้งรับ คือไม่ยอมรบประชิดตัว เพราะเรือใหญ่กว่า ข้าศึกอาจจะเอาไฟเผาได้ สินสมุทรจึงสั่งให้พลรบพยายามรบห่างๆ โดยใช้อาวุธยาวเท่าที่มีคือปีนและธนู พร้อมกันนั้นก็ให้เตรียมถังนํ้าไว้ให้มากดังความที่กล่าวบรรยายดังนี้

“อังกุหร่าว่าเรือเรากว้างขวาง    รบให้ห่างอย่าให้ถึงจึงจะได้
ฉวยรบรับสัปยุทธมันจุดไฟ        จะแก้ไขขัดสนจนปัญญา
ขอพระองค์จงออกรับกองทัพหลวง    ข้าทั้งปวงจะได้รับทัพซ้ายขวา
ข้างหลังไว้ให้ทหารพระเจ้าอา    รายรักษาแซงกันให้ทันการ
แล้วเร่งรัดหัศเกนลงเรือรบ    บรรจุครบเครื่องศัสตราล้วนกล้าหาญ
ใส่เสื้อหมวกพวกจะฟันประจัญบาน    เคียงขนานหนุนรับทัพลังกา
แต่คนน้อยค่อยรบประจบรับ    แทรกสลับเปลี่ยนซ้ายแล้วย้ายขวา
ใส่ธงเทียวเขียวแดงดาษดา        เป็นเรือห้าร้อยถ้วนกระบวนรบ
พลประจำลำทรงสินสมุทร        ถืออาวุญโล่ห์เขนล้วนเจนจบ
ทั้งหน้าหลังดั้งกันก็ครันครบ        ทหารรบเรือใหญ่ให้ประจำ
ปืนจังก้าหน้าท้ายทั้งรายข้าง    เกณฑ์ลูกจ้างจีนไทยทั้งไหหลำ
ให้ทำค่ายรายตั้งล้วนถังน้ำ        ตลอดลำสำหรับไว้ดับเพลิง”

ในการที่กองทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าประจัญบานกันครั้งนี้ อุศเรนจัดเป็นรูปพระยานาค มีหัว มีหางเตรียมรัดกระหวัดสินสมุทรให้ดิ้นไม่หลุด ส่วนข้างสินสมุทรก็จัดขบวนเรือเป็นรูปเหราเข้ารับด้วยคิดว่าจะรับข้าศึกและตีให้แตกพ่ายได้ เพราะตัวเหราได้เปรียบพระยานาค พระยานาคมีแต่หัวหาง และเขี้ยว ฝ่ายเหรามีทั้งหัวและเขี้ยว แถมยังมีตีนและเล็บอีก เมื่อกองทัพเรือทั้งสองเข้าประจัญหน้ากัน ต่างก็ส่งอาวุธยาวออกประหัตประหาร คือทั้งปืนเล็ก ปืนใหญ่ และธนู กองทัพเรือของอุศเรนได้รุกเข้าใส่กองทัพเรือสินสมุทรอย่างไม่พรั่นพรึง พยายามจะตีให้เรือถึงกัน และเอาไฟเผาเรือใหญ่ของสินสมุทรให้ได้ และเมื่อกองทัพเรือเข้าประชิดติดกัน พลไพร่ต่างโดดเข้าใช้อาวุธสั้นเข้าตะลุมบอน กันชุลมุนในที่สุดสินสมุทรก็ตีตะลุยเข้าไปสู้กับอุศเรนตัวต่อตัว และจับอุศเรนได้ แต่พระอภัยมณีเข้าไปขอชีวิตอุศเรนไว้ และปล่อยอุศเรนไป

นอกจากยุทธศาสตร์ทางเรือระหว่างอุศเรนกับสินสมุทรแล้ว สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงการรบทางการเรืออีกหลายครั้ง แต่จะไม่นำมากล่าวทั้งหมด ต่อไปนี้จะขอยกเอาการต่อสู้ทางบก เพื่อต้องการให้ทราบถึงความรู้ความคิดของสุนทรภู่ ว่ามีจินตนาการเกี่ยวกับการสงครามทั้งทางเรือ และทางบกประดุจแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ถึงแม่วาจะเป็นนิทานที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงของผู้อ่านเท่านั้น แต่ข้อมูลก็ไม่เกินความจริงเลย แสดงถึงความรอบรู้ความเข้าใจของผู้แต่งได้เป็นอย่างดี

ตอนที่กล่าวถึงการศึกระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาครั้งแรก จะรบทั้งทางบกและทางเรือ เมื่อทัพเรือกรุงลังกายกเข้ามาใกล้เขตกรุงผลึก กองสอดแนมฝ่ายพระอภัยก็ทราบหมดสิ้น นางวาลี เสนาธิการทัพก็วางกลยุทธเพื่อจะพิชิตศึกในครั้งนี้ โดยให้พระอภัยคุมกองทัพประมาณพันเศษยกออกไปปากอ่าวเป็นเชิงว่าไม่ขอสู้ ส่วนนางสุวรรณมาลีกับนางวาลีซุ่มทัพไว้บนบกเพื่อดักสะกัดตีทัพอุศเรน ที่หลงระเริงว่าตัวเองชนะแน่ นอกจากนี้นางวารียังให้คนลงเรือเล็กพร้อมทั้งขนของไปแล่นวนเวียน เพื่อล่อให้ทหารลังกาจับ แล้วปั่นข่าวเท็จว่าพระอภัยมณีขนทรัพย์สมบัติลงเรือหนีออกไปแล้ว อุศเรนกับเจ้าเมืองลังกาหลงกลทันที จึงตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ นางวาลี เสนาธิการแห่งเมืองผลึกจึงสร้างความพินาศยับเยินให้แก่ทัพลังกา ดังจะยกมากล่าวต่อไปนี้

“ส่วนสุวรรณมาลีศรีสมร        เป็นทัพซ่อนซุ่มสมอารมณ์หมาย
จึงขับไพร่ให้ล้อมเลียบหาดทราย    แล้วตัดสายสมอใหญ่จุดไฟโพลง
ผลักกำปั่นหันกลับทัพปะทะ        ล้วนเกะกะปะกันควันโขมง
นางวาลีที่อยู่ห้องท้องพระโรง    เห็นเพลิงโพลงพลอยให้ปืนใหญ่ยิง
แล้วยกออกนอกกำแพงไล่แทงทัพ        มิทันรับรบสู้เสียรู้หญิง
บ้างจับตายนายไพร่ตกใจจริง        กระเจิงวิงเวียนวนด้วนจนใจ
จะลงเรือเชื้อเพลิงก็โพลงผลาญ        เหล่าทหารเห็นไม่มีที่อาศัย
บ้างลงน้ำดำดั้นจนบรรลัย            ชาวเมืองไล่จับกุมตะลุมบอน”

สำหรับการยุทธทางบกอีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่ศึกเก้าทัพรับอาสานางละเวงมารุมรบเมืองผลึกนั้น เป็นศึกที่แสดงฝีมือในเชิงอาวุธสู้กันซึ่งหน้าชนิดใครดีใครอยู่ แม้แต่นางสุวรรณมาลีเองก็ต้องคุมทัพออกสู้ฝ่าคมอาวุธออกรับศึก เพราะขณะแรกที่ถูกโจมตีนั้น พระอภัยมณีกำลังคลั่งไคล้หลงใหลรูปนางละเวงอยู่ จนลืมองค์ไม่เอาธุระในการบ้านการเมือง นางสุวรรณมาลีจึงแข็งใจสู้ข้าศึกอย่างเต็มความสามารถ แต่ยังเคราะห์ดี่เพราะในขณะที่เข้าตาจนนั้น สุดสาครยกทัพมาตามหาพระอภัยมณี เมื่อเห็นศึกติดเมืองอยู่เช่นนั้นจึงเข้าช่วยรบพอตรึงข้าศึกไว้ได้ จนกระทั่งศรีสุวรรณ สินสมุทร และพราหมณ์พี่เลี้ยงทั้งสมาช่วยกันเข้าตะลุยตีทัพทั้งเก้าแตกกระจายไปหมด และพราหมณ์สานนใช้วิชาเรียก ลมฝนมาทำลายข้าศึก จึงได้เสร็จสิ้นสงครามเก้าทัพในครั้งนั้น ดังที่สุนทรภู่พรรณนาไว้ดังนี้

“ฝ่ายมหาสานนพระมนต์ขลัง    เรียกกำลังลมประสาททั้งธาตุสินธุ์
วลาหกตกใจไขเมฆิน            เป็นวารินร่วงโรยอยู่โกรยกราว
ทั้งเทวามารุตผุดพุ่ง            เป็นควันพลุ่งโพลงสว่างขึ้นกลางหาว
เสียงครึกครื้นพื้นแผ่นทั้งแดนดาว    อากาศราวกับจะฟังกำลังมนต์
ฝ่ายทมิฬจีนตั้งฝรั่งร้าย        เห็นวุ่นวายเวหาเป็นฟ้าฝน
ทั้งหนาวเหน็บเจ็บตาอุตส่าห์ทน    ออกตรวจพลถ้วนทั่วทุกตัวนาย

จะกอ่ไฟไม่ติดผิดประหลาด        ทั้งฝนสาดลูกเห็บเจ็บใจหาย
ถูกพลับพลาฝรั่งพังทลาย        ทั้งขอบค่ายลู่ล้มด้วยลมแรง
ฯลฯ
พลฝรั่งอังกฤษไม่คิดรบ        แตกตลบลงชลาไม่ฝ่าฝืน
บ้างล้มตายวายวางในกลางคืน    บ้างวิ่งตื่นแตกป่วนอยู่รวนเร
บ้างลงเรือเหลือตายทั้งนายไพร่    พายุใหญ่ปั่นป่วนให้หวนเห
บ้างแตกล่มลมพัดเที่ยวซัดเซ    จนถึงเวลารุ่งรบพุ่งกัน”

ตัวอย่างที่แสดงถึงความรู้ทางยุทธศาสตร์ของสุนทรภู่มากล่าวเอาไว้พอเป็นสังเขปนั้น ก็พอที่จะชี้ให้เห็นถึงความรอบรู้ในด้านนี้ของท่านกวีเอกได้

ความรู้ทางศาสนศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณี
สุนทรภู่ได้แทรกความรู้ทางศาสนศาสตร์เอาไว้ในผลงานของท่านหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

กวีเอกสุนทรภู่ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์วัดมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย และได้ยึดมั่นในพุทธศาสนามาตลอด ยังได้เคยบวชเป็นพระภิกษุอยู่หลายปี เป็นไปได้ว่าท่านคงจะมีความรอบรู้ในพระธรรมวินัยมากทีเดียว จึงสามารถนำความรู้ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนามาแทรกเอาไว้ โดยเฉพาะในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีมีอยู่หลายตอนด้วยกัน อาทิเช่น

เมื่อพระอภัยมณีกับสินสมุทรได้อาศัยอยู่กับพระฤาษีที่เกาะแก้วพิศดาร แล้วก็เลยขอบวชเป็นฤๅษีทั้งสองคน พระฤๅษีจึงให้สองพ่อลูกรับศีลห้าตามประเพณีว่า

“แล้วอวยชัยให้ศีลห้าสถาผล    ต้งแต่ต้นปาณาไม่ฆ่าสัตว์
ครั้นจบศีลสิกขาสารพัด        หมั่นนมัสการเพลิงตะเกิงกอง”

ในตอนนี้สุนทรภู่ได้แสดงให้เห็นถึงการตั้งมั่นในศีลห้า ตามหลักพุทธศาสนา แต่ก็ได้แทรกลัทธิการบูชาเพลิง ซึ่งเป็นประเพณีของนักบวชบางลัทธิที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา

อีกตอนหนึ่ง เมื่อนางผีเสื้อตามพระอภัยมณีไปจนถึงเกาะแก้วพิศดาร แต่ก็เข้าไปใกล้เกาะไม่ได้เพราะกลัวมนต์ฤๅษี นางได้อ้อนวอนให้พระอภัยมณีกลับไปอยู่ในถํ้าตามเดิม ขณะนั้นพระอภัยกำลังเพศฤๅษีอยู่ และได้ตัดรักจากนางผีเสื้ออย่างเด็ดขาดแล้ว จึงได้เทศน์โปรดแนะนางผีเสื้อ ซึ่งคำเทศนาก็เป็นหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ดังความว่า

“ประเดี๋ยวนี้พี่บวชชวดสบาย        จะสอนสายสวาทเจ้าให้เข้าใจ
จงฟังธรรมคำนับดับโมโห            ให้โทโสสร่างเสื่อมค่อยเลื่อมใส
แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย        ด้วยความในโลกีย์สี่ประการ
อันรูปรสกลิ่นเสียงเรียงสัมผัส        ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้งระงับดับขันธสันดาน            ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล        ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย        จะจำตายตกนรกอเวจี”

ในตอนที่ชีเปลือยแสดงรูปขันธ์หลอกสุดสาคร เพื่อจะแย่งม้ามังกรและไม้เท้าของดาบสอาจารย์ โดยทำทีว่าตนเองนั้นเข้าใจสัจธรรมและปลงสังขารแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่มีส่วนใดที่จะพึงหวงแหน ล้วนเป็นสิ่งที่โสโครกน่าเกลียดน่ากลัวทั้งนั้น เกิดมาแล้วก็ต้องแตกดับสูญสลายไป ไม่มีสิ่งใดที่ควรหลงรักงมงายในเบญจขันธ์ ดังข้อความว่า

“เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย        ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค    แสนวิโยคคืออายุกเป็นทุกขัง
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง            จรปิดบังเทวดาไว้ว่าไร
เราถือศีลจินตนาศิวาโมกข์            สละโลกรูปนามตามวิสัย
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด        ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ        อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี”

เทศนาครั้งสำคัญที่พระฤๅษีแสดงต่อกษัตริย์ทั้งสิบห้าพระองค์ เมื่อครั้งทำศึกกรุงลังกา และมีผลทำให้เหล่ากษัตริย์เกิดความสามัคคีเลิกโกรธแค้นพยาบาทกัน เทศนาครั้งนี้ยืดยาวแยกแยะชี้แจง แสดงโทษ และเหตุผลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถึงการแตกแยกและความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกัน นับว่าเป็นการแสดงธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งครั้งหนึ่ง ดังความว่า

“ขณะนั้นค่อนดึกศึกสงบ        ต่างนอบนบนับถือพระฤาษี
ไม่กริบเกรียบเงียบสงัดทั้งปฐพี    พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้    ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึงให้เห็นเป็นประธาน    หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้    เพราะโลกีย์ตัณหาพาชิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย    จะตกอบายภูมิขุมนรก
หนึ่งว่าอย่าลักเอาของเขาอื่น    มาชมชื่นฉ้อฉลคนโกหก
หนึ่งทำชู้คู่เขาเล่าลามก        จะตายตกในกะทะอเวจี
หนึ่งสูบฝิ่นกินสุรามุสาวาท        ใครทำขาดศีลห้าสิ้นราศรี
ใครสัตย์ซื่อถือมั่นในขันตี        จะถึงที่นิพพานสำราญใจ
อย่าโกรธขึ้นหึงสาพยาบาท        นึกว่าชาติก่อนกรรมทำไฉน
เหมือนดุมวงกงเกวียนวนเวียนไป    อย่าโทษใครนี่เพราะกรรมจึงจำเป็น
ประการหนึ่งซึ่งขาดประศาสนา    ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ
ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น    ก็ต้องเป็นไมตรีปราณีกัน”

ตอนที่กล่าวถึงนางเสาวคนธ์หนีการวิวาห์ แล้วแปลงเพศเป็นฤๅษี ไปถึงด่านเมืองวาหุโลม เพื่อจะแวะชมเมือง และหาทางชักชวนให้ชาวเมืองนั้นหันมานับถือพระพุทธศาสนา นางจึงเทศน์ให้ชาวด่านเมืองวาหุโลมฟังอย่างไพเราะ และมีหลักธรรมว่า

“อันเราถือฤาษีนั้นดีสุด    เป็นภูมิพุทธวิชารักษาศีล
อันแก้วแหวนแสนทรัพย์นับเหมือนดิน    มีแล้วสิ้นเสียเปล่าไม่เข้าการ
อันกุศลผลผลาอานิสงส์    จะช่วยส่งเป็นสมบัติพัศถาน
ใครถือธรรมจำศีลอภิญญาณ    ถึงนิพพานพูนสวัสดิ์อยู่อัตรา”

ในตอนที่พระอภัยมณีออกบวช ก่อนจะเดินทางไปจำศีลภาวนายังเขาสิงคุตร์ ได้เทศน์โปรดลูกหลานอีกครั้งหนึ่ง มีความสำคัญว่า

“ทรงแก้ไขในข้อพระบรมัตถ์        วิสัยสัตว์สิ้นพิภพล้วนศพผี
ย่อมสะสมถมจังหวัดปัฐพี        ไพร่ผู้ดีที่เป็นคนไม่พ้นตาย
พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน    เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย
สิ้นถวิลสิ้นทุกข์เป็นสุขสบาย        มีร่างกายอยู่ก็เหมือนเรือนโรคา
ทั้งแก่เฒ่าสาวหนุ่มย่อมลุ่มหลง    ด้วยรูปทรงลมเล่ห์เสน่หา
เป็นผัวเมียเคลียคลอครั้นมรณา    ก็กลับว่าผีสางเหินห่างกัน
จงหวังพระปรมาศิวาโมกข์        เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน        เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธธันดร”

ที่ยกมากล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่มีความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาในพุทธศาสนามาก แม้จะไม่ถึงกับแตกฉานราวกับผู้คงแก่เรียนทางพระก็ตาม นอกจากนี้สุนทรภู่ยัง ได้พยายามชี้แนะให้เห็นว่า ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากกิเลสตัณหาของมนุษย์นั้น หลักธรรมของพุทธศาสนา สามารถจะแก้ไขให้เกิดผลดีขึ้นมาได้

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงศาสนาของพวกฝรั่งลังกา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นศาสนาอะไร กล่าวถึงแต่พระสังฆราชบาทหลวงว่ามีเมียไม่ได้ แต่เป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่มีศีลมีสัตย์เต็มไปด้วยความอาฆาตพยาบาท การที่สุนทรภู่ไม่กล่าวว่าเป็นศาสนาอะไรนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าท่านยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับศาสนาที่พวกฝรั่งนับถือกันในสมัยนั้น กล่าวคือ อาจจะยังไม่รู้จักศาสนาคริสต์ดีพอ หรืออีกอย่างหนึ่งคือ สุนทรภู่จินตนาการขึ้นเอง เพื่อจะได้ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่นๆ โดยคิดขึ้นให้แตกต่างไปจากศาสนาพุทธ ซึ่งจะเห็นได้ชัดตอนที่กล่าวถึงพิธีฝังศพอุศเรนกับเจ้าลังกานั้น สุนทรภู่ได้เล่าถึงประเพณีการฝังศพเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีในโลก จึงเป็นไปได้ที่สุนทรภู่จะจินตนาการขึ้นเอง

ในพิธีฝังศพอุศเรนและเจ้าลังกา สุนทรภู่อธิบายว่า เวลาฝังจะต้องเอาหัวลง เอาเท้าขึ้นชี้ฟ้า นัยว่าเท้าที่ชี้ขึ้นไปบนฟ้านั้น จะได้เป็นพาหนะพาผู้ตายขึ้นไปสู่สวรรค์ ในระหว่างฝังศพก็มีการสวดด้วย และมีที่คล้ายกับศาสนาคริสต์อยู่เหมือนกัน เพราะได้กล่าวอ้างถึงการมีไม้กางเขนปักไว้ด้วย ดังที่พรรณนาไว้ว่า

“พนักงานการสำหรับประดับศพ    ก็แต่งครบเครื่องอร่ามตามภาษา
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเกาะลังกา    ท้าวพระยาอยู่ปราสาทราชวัง
ก็ต้อมีที่ตายไว้ท้ายปราสาท        สำหรับบาดหลวงจะได้เอาไปฝัง
เป็นห้องหับลับลี้ที่กำบัง        ถึงฝรั่งพลเรือนก็เหมือนกัน
ใครบรรลัยก็ไปบอกพระบาดหลวง    มาควักดวงเนตให้ไปสวรรค์
มีไม้ขวางกางเขนเป็นสำคัญ        ขึ้นแปลงธรรม์เทศนาตามบาลี
ว่าเกิดมาสามัญคนทั้งหลาย        มีร่างกายจำยากคือทรากผี
ครั้นตัวตายภายหลังฝังอินทรีย์    เอาเท้าชี้ขึ้นนั้นด้วยอันใด
วิสัชนาว่าจะให้ไปสวรรค์        ว่าเท้านั้นนำเดินดำเนินได้
อันอินทรีย์ชีวิตพลอยติดไป        ครั้นเท้าย่างทางไหนไปทางนั้น
จึงฝรั่งฝังผีตีนชี้ฟ้า            ให้บาทาเยื้องย่างไปทางสวรรค์
ว่ารูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครัน        ให้สูญลับกัปกัลป์พุทธันดร
เทศนาหน้าศพจบแล้วสวด        พวกนักบวชบาดหลวงทั้งปวงสอน
ให้เผ่าพงศืวงศานรากร        นั้นมานอนคว่ำเรียงเคียงเคียงกัน
ครั้นสวดจบศพใส่ไว้ในถุง        บาดหลวงนุ่งห่มดำนำไปสวรรค์
อ่านหนังสือถือเทียนเวียนระวัน        ลูกศิษย์นั้นแบกผีทั้งสี่คน
ค่อยเดินตามข้ามหลังคนทั้งหลาย        ที่นอนรายเรียงขวางกลางถนน
บาดหลวงพระประพรำด้วยน้ำมนต์    ตลอดจนห้องฝังกำบังลับ
หกศีรษะเอาศพใส่หลุมตรุ            แต่พอจุศพถุงเหมือนปรุงปรับ
พระบาทบงสุ์ตรงฟ้าศิลาทับ        เครื่องคำนับนั้นก็ตั้งหลังศิลา
ให้ลูกหลานหว่านเครือและเชื้อสาย    ได้ถวายข้าวตอกดอกบุปผา
ให้กราบลงตรงบัลลังก์ตั้งบูชา    เหมือนกราบฝ่าพระบาทไม่ขาดวัน”

นอกจากนี้ก็มีเรื่องของศาสนาพราหมณ์แทรกอยู่หลายตอน แต่ปะปนอยู่ในเรื่องพิธีกรรมเสียส่วนมาก เช่น พระราชพิธีอภิเษก หรือพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์

เรื่องโหราศาสตร์
เรื่องวิชาโหราศาสตร์ หรือความเชื่อเกี่ยวกับโชคชะตาราศี แม้ว่าสุนทรภู่จะเขียนเอาไว้ไม่มากนัก แต่ก็พอจะยกมาเป็นตัวอย่างได้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านกวีเอกก็มีความรู้ความเข้าใจทางด้านนี้เช่นเดียวกัน และสามารถนำเป็นแนวคิดในการสร้างผลงานได้ และหลักวิชาการที่ท่านยกมาอ้างนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากหลักวิชาการโหราศาสตร์เลย

ในนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่ได้กล่าวถึงโชคลางเอาไว้หลายตอน เช่น ตอนที่เห็นบ้านชาวประมงปลูกไม่มีปั้นลม ท่านว่าถ้าใครขืนทำก็จะเกิดไฟไหม้บ้าน เพราะชาวประมงเป็นผู้มีบาปหนา จึงต้องถูกสาปให้ปลูกบ้านเช่นนั้น ดังที่สุนทรภู่กล่าวเอาไว้ว่า

“อันพวกเขาชาวประมงไม่โหย่งหยน    ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร
จะได้กินข้าวเช้าก็ราวเพล            ดูจัดเจนโลดโผนในโคลนตม
จึงมั่งคั่งตั้งมั่นในการบาป            แต่ต้องสาปเคหาให้สาสม
จะปลูกเรือนก็มิได้ใส่ปั้นลม            ใครขืนทำก็ระทมด้วยเพลิงลาม”

อีกแห่งหนึ่งในนิราศวัดเจ้าฟ้า เมื่อสุนทรภู่ได้พักนอนอยู่กลางทุ่ง ตอนกลางคืนมองดูรอบๆ ก็เวิ้งว้างไปหมดทุกทิศ เห็นเงาไม้ในยามกลางคืนก็เกิดอุปทานเป็นรูปสัตว์ต่างๆ การเห็นในลักษณะนั้นถือกันว่าเป็นเรื่องโชคลาง ดังที่ท่านสุนทรภู่สอนลูกชายให้พิจารณารูปสัตว์เหล่านั้นว่า

“ถึงย่านขวางบางทะแยงเป็นแขวงทุ่ง    ดูเวิ้งวุ้งหว่างละแวกเป็นแฝกเฝือ
เห็นไรไรไม้พุ่มคลุมคลุมเครือ        เหมือนรูปเสือสิงห์โตรูปโคควาย
ท่านบิดรสอนหนูให้รู้ว่า    มันผินหน้าออกนั้นกันชิบหาย
แม้ปากมันพันเข้าข้างเจ้านาย    จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน
จารึกไว้ให้เป็นทานทุกข์บ้านช่อง    ฉันกับน้องนี้จำเอาคำสอน”

ในนิทานเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงเรื่องโหราศาสตร์อยู่หลายแห่ง เช่น ตอนที่นางสุวรรณมาลี หนีพระอภัยมณีไปบวชชี พระอภัยมณีตามไปงอนง้อขอให้สึกออกมาอภิเษก แต่นางไม่ยอม ในที่สุดพระอภัยมณีก็แนะกับนางสุวรรณมาลีว่า วันที่ไปพบนี้เป็นวันที่ฤกษ์ดี หากใครบวชอยู่สึกในวันนี้ก็จะโชคดี สิ้นเคราะห์และความอัปมงคลทั้งปวง ดังความที่ว่า

“การทั้งหลายร้ายดีมิได้พ้น        จะกลัวคนครหาว่ากระไร
ฤกษ์วันนี้สี่ค่ำเป็นอมฤก        ใครบวชสึกสิ้นวิบัติปัถไหม
อย่ารอราช้าฉวยฉันขัดใจ        จะอุ้มไปกระนั้นดอกบอกจริงจริง”

ตอนที่สินสมุทรถูกพวกชาวลังกายิงกระเด็นไปตกทะเล พระอภัยมณีให้โหรทาย โหรก็ทายถวายว่า

“โหรารับจับยามตามสังเกต        พิเคราะห์เหตุหารคูณไม่สูญหาย
จึงทูลความตามตำรับไม่กลับกลาย    ยังไม่ตายแต่ว่ายากลำบากครัน
ต้องตกไปไกลที่ถึงสี่โยชน์        เดี่ยวสันโดษดังชีวาจะอาสัญ
ต่อเช้าตรู่สุริยฉายขึ้นพรายพรรณ    พระพุธนั้นถึงพฤหัสสวัสดี
จะได้ลาภปราบศึกให้กึกก้อง    ได้สิ่งของมาประณตบทศรี”

ตอนที่นางละเวงจะอภิเษกเจ้ามังคลาลูกชาย ให้ครองกรุงลังกาแทน และให้หลานชายขึ้นเป็นอุปราชนั้น นางได้ไปหาบาดหลวงให้ช่วยดูฤกษ์ให้ ดังความว่า

“ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาดหลวง    ลงเลขดวงลัคณ์จันทร์ดูชันษา
จึงว่าเดือนสี่ฤกษ์เบิกราชา        ขึ้นสิบห้าค่ำนั้นเป็นวันดี”

อีกตอนหนึ่ง เมื่อนางสุวรรณมาลีถูกท้าวทศวงศ์ซักถามว่าอายุเท่าไร นางก็ทูลไปว่า

“ยุพยงทรงฟังรับสั่งถาม    ให้เขินขามคิดพรั่นประหวั่นไหว
ไม่เคยปดอดสูอยู่ในใจ        แข็งฤทัยทูลความไปตามเกิน
ชันษาเข้ายี่สิบสี่เศษ        เบญจเพศจึงต้องตกระหกระเหิน
อังคารเข้าเสาร์ทับแทบยับเยิน    ให้เผอิญพรากพลัดพระภัสดา”

เกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์ตามที่สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นความเชื่อของคนไทยที่มีมานานแล้ว และแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังเชื่ออยู่ ฤกษ์ต่างๆ ที่สุนทรภู่กล่าวเอาไว้นั้น ก็ตรงกับความจริงในตำราโหราศาสตร์ที่นับถือกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นประจักษ์ชัดทีเดียวว่าท่านสุนทรภู่ก็มีความรู้ทางด้านนี้อยู่มากเหมือนกัน

นอกจากความรู้ในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว สุนทรภู่ยังนำความรู้รอบๆ ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย โดยนำมากล่าวเอาไว้ในผลงานหลายเรื่องที่ท่านแต่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ในพระราชวัง ตลอดจนถึงการใช้ราชาศัพท์ สุนทรภู่ก็สามารถนำมาเขียนหรือนำมาอธิบายได้ถูกต้อง และสรรหามาเข้าสัมผัสกลอนได้อย่างสละสลวยไพเราะ ไม่เสียทั้งความ ไม่เสียทั้งราชาศัพท์ และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม การที่สุนทรภู่มีความรอบรู้ในเรื่องนี้อย่างดีเยี่ยมนั้น เพราะสุนทรภู่ได้อาศัยอยู่ในพระราชวังมาตั้งแต่แรกเกิด คือตั้งแต่วังหลัง พระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล คงจะได้รู้ได้เห็นพระราชพิธีต่างๆ มาตลอด จึงสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างดีเยี่ยม ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีในวัง ตลอดจนการใช้ราชาศัพท์ต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่สุนทรภู่จะกล่าวเอาไว้ในเรื่องพระอภัยมณี ดังตัวอย่าง อาทิเช่น

พระราชพิธีอภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษรา    สุนทรภู่ได้พรรณนาพระราชพิธีไว้อย่างละเอียด

“ศรีสุวรรณนั้นนั่งบัลลังก์แก้ว        ดูผ่องแผ้วพักตร์เพียงพระสุริย์ใส
พระนุชนั่งเหนือกองทองอุไร        ดังแขไขเคียงคู่พระสุริยัน
ให้สององค์ทรงเกี่ยวก้อยกระหวัด    ตามกษัตริย์เษกสมภิรมย์ขวัญ
ปุโรหิตติดเทียนแว่นสุวรรณ        บังคมคัลส่งกษัตริย์ขัตติยา
ท้ายทศวงศ์ส่งให้มเหสี            นางชุลีแล้วก็ส่งให้วงศา
ต่างคำนับรับเทียนเวียนออกมา    พวกเสนารับส่งเป็นวงไป
กองประโคมแตรสังข์ประดังเสียง    เสนาะสำเนียงดนตรีปี่ไฉน
มโหรทึกกึกก้องทั้งฆ้องไชย        เสียงหวั่นไหวแว่นแคว้นทุกแดนดาว”

อีกตอนหนึ่ง สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงการแต่งองค์ของสินสมุทร ตามแบบอย่างพระราชโอรสของกษัตริย์ในสมัยนั้น และได้กล่าวถึงเครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสามารถนำมาเขียนเป็นกลอนได้ ดังความที่ท่านได้พรรณนาว่า

“พลางมุ่นเกล้าเมาลีให้พี่น้อง    นุ่งยกทองเทพนมดูคมขำ
เข็มขัดเพชรเจ็ดกะรัตคาดประจำ    ลูกปล่ำลงยาราชาวดี
ทองพระกรซ้อนนวมสวมพระหัตถ์        เนาวรัตน์ราคาค่ากรุงศรี
สังวาลแววแก้วเก็จเพชรมณี        ผูกวะลีลายลอยล้วนพลอยเพชร
ธำมรงค์ทรงรายพรายพระหัตถ์    แจ่มจำรัสรุ้งแววล้วนแก้วเก็จ
กรรณเจียกจรซ้อนกุดั่นกัลเม็ด    ใส่เกือกเพชรเพทายริมรายพลอย”

พรรณนาถึงเครื่องแต่งองค์ของสุดสาครตอนเข้าเมืองการเวก ท่านเจ้าเมืองขอไว้เป็นโอรส แต่สุดสาครไม่ยอมสึกจากฤๅษี เจ้าเมืองการเวกจึงจัดเครื่องทรงแต่งทับลงไปทั้งชุด ดังนี้

“สองกษัตริย์จัดแจงแต่งประดับ    ใส่สร้อยทับทรวงสังวาลประสานสาย
คาดปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรเพทาย    สอิ้งพรายพลอยวามอร่ามเรือง
แล้วให้อย่างช่างชฎามาประดับ    เอาแก้วแกมแซมกับหนังสือเหลือง
มงกุฎกลายปลายจีบกลีบมะเฟือง        ประดับเนื่องแนบเลียดกรรณเจียกจร
พระพาฟาพาหุรัดกระจัดแจ่ม    ล้วนนิลแนมเนาวรัตน์ประภัสสร
แล้วสวมสร้อยนวมทองรองพระกร         สลับซ้อนแสงแก้วดูแพรวพราย
ธำมรงค์วงวาวเขียวขาวเหลือง    อร่ามเรืองนิ้วพระหัตถ์จำรัสฉาย
ใส่เกือกทองรองบาทแล้วนาฏกราย    พระผันผายมานั่งบัลลังก์รัตน์

การแต่งกายของสตรีนั้น ในพระราชพิธีอภิเษกนางเกษรากับศรีสุวรรณ สุนทรภู่ได้อธิบายถึงเครื่องแต่งกายของนางเกษรา เอาไว้ว่า

“ให้แต่งองค์สรงชลสุคนธา        ทรงภูษาค่าเมืองเรืองระยับ
สี่พี่เลี้ยงเคียงองค์ประจงจัด        คาดเข็มขัดกลเม็ดเพชรประดับ
ห่มสะไบริ้วทองมีรองซับ        สอดสังวาลบานพับประดับพลอย
ทั้งสร้อยนวมสวมพระศอละอออ่อน    ทองพระกรแลกระจ่างอย่างหิ่งห้อย
ธำมรงค์เรือนเก็จทั้งเพชรพลอย    ดูเรียบร้อยนิ้วพระหัตถ์จำรัสเรือง
ทรงมงกุฎบุตรีมณีประดับ    กระจ่างจับผุดผ่องละอองเหลือง”

เมื่อนางอรุณรัศมีเขาพิธีเศกสมรสกับสินสมุทร สุนทรภู่ได้บรรยายเครื่องแต่งกายของนางอรุณรัศมี ว่า

“ทรงภูษาค่าเมืองเรืองอร่าม      รัดองค์ความแววแวมแจ่มจำรัส
ฉลององค์ทรงสวมค่อยรวมรัด    ใส่ดุมกลัดกลมกล่อมละม่อมละมุน
สังวาลแก้วแววเวียนวิเชียรช่วง    สร้อยทับทรวงสอดสวมใส่นวมหนุน
สะไบบังอังษากรองตาชุน        มงกุฎกุณฑลประดับเพชรทับทิม”

ส่วนที่เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในพระราชพิธีนั้น สุนทรภู่สามารถนำมาพรรณนาได้อย่างละเอียด ราวกับท่านได้บันทึกจากพิธีต่างๆ ซึ่งก็ต้องนับว่าท่านรอบรู้เรื่องราวด้านนี้อย่างละเอียดจริงๆ คนหนึ่ง ดังเช่นในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อครั้งทำพิธีอภิเษกศรีสุวรรณขึ้นครองเมืองรมจักรนั้น สุนทรภู่ได้บรรยายถึงกระบวนการในพระราชพิธี และเครื่องประกอบในพระราชพิธี ดังความที่ว่า
“ฝ่ายขุนนางต่างทำทุกตำแหน่ง    ให้ตกแต่งปราสาททองอันผ่องใส
พระที่นั่งตั้งแท่นทองประไพ        เอาหนังไกรสรราชมาลาดทับ
ราชวัตรฉัตรสุวรรณเป็นหลั่นลด    พระเต้าตั้งสังข์กรดเตรียมสำหรับ
บายศรีแก้วบายศรีทองสองสำรับ    เครื่องคำนับเทวาบูชายัญ
มีพานทองรองพระแสงสำหรับยุทธ    อัษฎาอาวุธทุกสิ่งสรรพ์
ทั้งแก้วทองกองเรียงอยู่เคียงกัน        แล้วปักกั้นเศวตฉัตรจำรัสเรือง”

Iและต่อไปก็เป็นเรื่องของพราหมณ์ว่า

“แล้วชวนองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา        เสด็จมาพระโรงรัตน์ชัชวาลย์
จึงให้ศรีสุวรรณวงศ์เข้าสรงชล        ในมณฑลมุรธากระยาสนาน
สะพรั่งพร้อมโหราพฤฒาจารย์        พนักงานเครื่องสำอางค์มาวางเรียง”

ในพระราชพิธีอภิเษกสุดสาครกับนางเสาวคนธ์ และหัสไชยกับนางสร้อยสุวรรณและนางจันทร์สุดา สุนทรภู่ก็ได้อธิบายถึงขั้นตอนในพระราชพิธี ดังความว่า

“ฝ่ายโยคีพราหมณ์รามราช        สำรวมศาสตร์อิศโรสโมสร
สวดพิธีอภิรมย์สยมพร            ให้ถาวรสืบกษัตริย์สวัสดี
ได้เวลาฟ้าร้องตีฆ้องฤกษ์        พฤฒาเฒ่าเช้าเบิกขวัญบายศรี
บัณเฑาะว์ดังกังวานขานดนตรี    พวกโหรตีฆ้องโห่ก้องโลกา
ปุโรหิตติดแว่นวิเชียรเทียน        จุดเพลิงเวียนวนซ้ายไปฝ่ายขวา
โหมพิณพาทย์ฆาฎฆ้องก้องลังกา        แตรฝรั่งมังค่ากลองมลายู”

จะเห็นได้ว่าผลงานของท่านสุนทรภู่แม้จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ท่านก็ได้แฝงข้อมูลที่เป็นความรู้ในด้านต่างๆ เอาไว้หลายด้าน และเป็นข้อมูลที่ทางวิชาการยอมรับทั้งสิ้น แม้ในบางตอนจะเป็นจินตนาการ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงมาสิ่งที่ท่านกล่าวเอาไว้นั้นก็เป็นความจริง ท่านสรรหาเรื่องราวต่างๆ มาบรรยายได้อย่างกลมกลืนและสมจริงสมจัง แฝงไปด้วยความไพเราะของบทกลอน เป็นการบำเรออารมณ์ผู้อ่านได้อย่างแท้จริง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด