พระอภัยมณีพระเอกศิลปิน

Socail Like & Share

พระอภัยมณี ตัวละครเอกของนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี เป็นตัวละครเอกที่แปลกจากตัวละครเอกในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ หลายประการ ทั้งในด้านบุคลิกลักษณะ บทบาทและพฤติกรรม

พระอภัยมณีมิใช่กษัตริย์นักรบที่รักการต่อสู้ผจญภัย แต่พระอภัยมณีเป็นกษัตริย์ศิลปินที่มีความสามารถในทางดนตรี ปรารถนาความอ่อนหวานในชีวิตและรักสันติ

พระอภัยมณีเป็นตัวละครเอกของเรื่องที่มีบทบาทไม่เด่นอย่างตัวละครเอกของวรรณคดีเรื่องอื่นๆ กล่าวคือ พระอภัยมณีมิได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของตัวละครอื่น แต่เป็นตัวละครเอกที่กลับได้รับความช่วยเหลือจากตัวละครอื่นอยู่ตลอดเวลา นับเป็นตัวละครเอกที่มีลักษณะตรงข้ามกับตัวละครเอกของนิทานประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม พระอภัยมณีก็เป็นตัวละครเอกที่มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างบุคคลทั่วไป มีข้อดี ข้อบกพร่อง มีข้อผิดพลาด เป็นอย่างที่บุคคลเป็นจริงมี โดยเฉพาะพระอภัยมณีมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ พระอภัยมณีจึงอยู่ในความทรงจำของท่านผู้อ่านได้ดีเป็นพิเศษ ทั้งยังดำรงฐานะความเป็นตัวละครเอกของเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ตลอดไป

ประวัติชีวิตและพฤติกรรม
พระอภัยมณี โอรสท้าวสุทัศน์แห่งกรุงรัตนา มารดาชื่อนางปทุมเกสร เมื่อเจริญวัย พระอภัยมณีพร้อมด้วยอนุชาชื่อศรีสุวรรณก็เดินทางไปศึกษาวิชาความรู้สำหรับกษัตริย์ อันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ในการศึกษาวิชานั้น พระอภัยมณีได้ตัดสินใจเลือกวิชาเป่าปี่ ด้วยเหตุผลที่กล่าวแก่ศรีสุวรรณว่า

แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง        หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง

ส่วนศรีสุวรรณเลือกเรียนวิชากระบี่กระบอง

พระอภัยมณีได้เรียนวิชาเป่าปี่กับพินทพราหมณ์เป็นเวลานาน ๗ เดือน มีความสามารถในการบรรเลงเพลงปี่อย่างล้ำเลิศ ใครได้ยินได้ฟังก็ให้รู้สึกไพเราะจับใจ ปล่อยอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนองและกระแสเสียงที่วิเวกหวาน จนหลับไปในที่สุด

เมื่อพี่น้องทั้งสองเสร็จสิ้นการศึกษาก็ลาอาจารย์กลับบ้านเมืองด้วยความภาคภูมิใจในวิชาความรู้เป็นเลิศที่ตนได้เลือกศึกษาเล่าเรียนมา แต่การณ์กลับปรากฎตรงกันข้าม เมื่อท้าวสุทัศน์ได้ทราบถึงวิชาความรู้ที่โอรสทั้งสองได้ศึกษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะวิชาดังกล่าวมิใช่วิชาสำหรับกษัตริย์ ที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมือง ก็ให้ขัดเคืองพระทัยถึงกับขับไล่โอรสทั้งสองออกจากบ้านเมืองไปทันที

พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณซึ่งกลับถึงบ้านเมืองไม่ทันได้ครึ่งวันไม่มีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ ก็ต้องเดินทางออกจากบ้านจากเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยมีฐานะอย่างคนธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ในฐานะรัชทายาท

ทั้งสององค์พากันเดินทางบุกป่าฝ่าดงได้เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ได้พบบุตรพราหมณ์ ๓ คน ได้แก่ โมรา สานน และวิเชียร หลังจากที่ได้ไต่ถามถึงชาติตระกูลและวิชาความรู้ที่มีประจำตนแล้ว พระอภัยมณีก็ได้แสดงคุณของวิชาดนตรีตอบข้อสงสัยของบุตรพราหมณ์ทั้ง ๓ คนนั้นว่า

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป        ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช        จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน        ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ        อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

เมื่อแสดงคุณของดนตรีดังนั้นแล้วเพื่อให้บุตรพราหมณ์ทั้งสามได้คลายสงสัยพระอภัยมณีจึงหยิบปี่ที่อาจารย์ให้มาขึ้นเป่าให้ฟัง ด้วยอำนาจแห่งกระแสเสียงของเพลงปี่ที่วิเวกวังเวงใจ ทำให้สามพราหมณ์และศรีสุวรรณเคลิ้มหลับไปในที่สุด ขณะนั้นเองนางผีเสื้อสมุทรตนหนึ่ง ซึ่งกำลังออกหากินได้ยินเสียงเพลงปี่ตามมาจนพบพระอภัยมณีให้บังเกิดความรักใคร่ จึงตรงเข้าอุ้มเอาพระอภัยมณีไปถํ้าที่อาศัย แล้วแปลงร่างเป็นนางงามปรนนิบัติให้ความสุขตั้งแต่บัดนั้น

พระอภัยมณีอยู่ร่วมกับนางผีเสื้อยักษ์อย่างไม่มีความสุขนัก จนมีบุตรคนหนึ่งชื่อ สินสมุทร แล้ววิถีชีวิตของพระอภัยมณีก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อวันหนึ่งสินสมุทรซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๘ ปี ขณะที่นางผีเสื้อยักษ์ไม่อยู่ได้เปิดหินที่ปิดปากถํ้าหนีออกไปเล่นนํ้าในทะเล ได้พบนางเงือกตัวหนึ่งโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไรจึงจับมาให้พระอภัยมณีได้ดู และเมื่อเงือกได้เสนอให้ความช่วยเหลือพระอภัยมณี ซึ่งคิดจะหนีนางผีเสื้อยักษ์อยู่ตลอดเวลาได้โอกาสจึงขอให้เงือกช่วยพาหนี

การหนีนางผีเสื้อยักษ์เป็นไปอย่างไม่สะดวกนัก เงือกสองตายายต้องเสียชีวิตถูกนางผีเสื้อยักษ์จับกินด้วยความแค้น แต่พระอภัยมณีกับสินสมุทรพร้อมด้วยลูกสาวเงือกก็สามารถไปถึงเกาะแก้วพิสดารได้โดยปลอดภัย ซึ่ง ณ ที่นั้น พระอภัยได้พบกับโยคีซึ่งให้ความคุ้มครองให้รอดพ้นอันตรายจากนางผีเสื้อยักษ์ และบรรดาพวกต่างชาติที่เรือแตกมาอาศัยอยู่ที่เกาะนั้น

ระหว่างที่อยู่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีซึ่งได้แสดงความรู้สึกต้องใจในรูปโฉมของนางเงือกเมื่อพบครั้งแรกที่ถํ้าของนางผีเสื้อยักษ์ ได้มาพูดจาโอ้โลมจนนางเงือกยอมตกลงปลงใจเป็นชายา

พระอภัยมณีคงต้องอาศัยอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารในเพศนักบวชตลอดไป หากท้าวสิลราชซึ่งพานางสุวรรณมาลี ธิดาสาวมาประพาสทะเล จะไม่พลัดหลงทางกับขบวนเรือจนมาถึงเกาะแก้วพิสดารนั้น จากการที่ได้พบนางสุวรรณมาลีซึ่งมีรูปโฉมงดงามเป็นเหตุให้พระอภัยมณีบังเกิดความรักใคร่หลงใหลนาง และด้วยความปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิดนางเพื่อให้ความรักได้สมประสงค์ พระอภัยมณีจึงทำอุบายขอให้โยคีฝากตนกับสินสมุทรไปกับเรือโดยอ้างว่าอยากจะกลับไปบ้านเมือง

ระหว่างเดินทางกลับนั้น พระอภัยมณีได้ทราบว่านางมีคู่หมั้นแล้ว แต่ด้วยความรัก ก็เฝ้าตาม ประโลมจนนางสุวรรณมาลีปลงใจรัก แต่เคราะห์ร้ายเมื่อนางผีเสื้อสมุทรซึ่งถูกโยคีขับไล่และวนเวียนอยู่บริเวณนั้น รู้ว่ามีเรือแล่นออกไปจากเกาะ จึงออกติดตามและสำแดงฤทธิ์จนเรือล่ม ท้าวสิลราชจมน้ำสิ้นพระชนม์ บรรดาข้าราชบริพารต่างพากันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ส่วนพระอภัยมณีกับสานุศิษย์โยคีมิได้เป็นอันตรายพากันขึ้นฝั่งได้ นางผีเสื้อยักษ์ก็ไม่อาจทำอันตรายได้ด้วยเกรงมนต์ที่โยคีให้ไว้ จึงตามผจญไปจนพระอภัยมณีกับพวกพากันขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง นางผีเสื้อไม่สามารถติดตามขึ้นไปได้จึงบันดาลให้ฝนและลูกเห็บตกต้องผู้คนเหล่านั้นได้รับความเจ็บปวดยิ่งนัก พระอภัยมณีเห็นสุดที่จะทนทานได้แล้ว จึงลาพรตและเป่าปี่ขึ้นเสียงเอกจนนางผีเสื้อยักษ์ไม่สามารถจะทนเสียงปี่ได้ถึงแก่ความตายที่เชิงเขานั้นเอง

พระอภัยมณีกับพวกอยู่ที่เขานั้นถึง ๕ เดือน จนกระทั่งอุศเรนโอรสเจ้าลังกาซึ่งเป็นคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี รู้ข่าวว่านางประพาสทะเลและเรือพลัดหลงหายไป จึงออกเรือติดตามหามาจนถึงเขาที่พระอภัยมณีกับพวกอาศัยอยู่ หลังจากที่ไต่ถามได้ความแล้วพระอภัยมณีก็รู้ว่าอุศเรนคือคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี ทั้งๆ ที่ตนเองก็มีความรักนาง แต่ก็เห็นว่าควรจะผูกไมตรีไว้ จึงไม่บอกความในใจระหว่างตนกับนางสุวรรณมาลีให้อุศเรนได้ทราบ เพียงแต่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนที่เรือล่ม หลังจากนั้นพระอภัยมณีจึงได้อาศัยไปกับเรือเที่ยวตามหานางต่อไป

โดยบังเอิญ เรืออุศเรนได้พบกับเรือสินสมุทรกับศรีสุวรรณ เมื่ออุศเรนทราบว่านางสุวรรณมาลี อยู่ในเรือนั้นด้วยก็ขอนาง แต่สินสมุทรไม่ยอมให้ อุศเรนจึงเตรียมการรบเพื่อชิงนาง แล้วขอคำปรึกษาพระอภัยมณี พระอภัยมณีรู้ว่าเป็นสินสมุทรจึงออกอุบายเป่าปี่เรียกสินสมุทร แล้วพาอุศเรนไปพบกับศรีสุวรรณเพื่อปรึกษาความกัน โดยที่พระอภัยมณีก็มีความรักในตัวนางสุวรรณมาลีแต่ก็ต้องการให้อุศเรนเห็นว่าตนนึกถึงบุญคุณของอุศเรนที่รับให้โดยสารเรือ และโดยที่พระอภัยมณีก็รู้ถึงจิตใจของนางว่ามีใจผูกพันกับตนอยู่ ทั้งเข้าใจความคิดความรู้สึกของสินสมุทรว่าจะตัดสินอย่างไร พระอภัยมณีจึงแกล้งบอกสินสมุทรให้ไปถามคนกลางคือ นางสุวรรณมาลีว่าจะตัดสินอย่างไร และการณ์ก็เป็นไปตามที่คาดหมายคือสินสมุทรตัดสินใจเองว่าไม่ยอมคืนนางสุวรรณมาลี พระอภัยมณีจึงแกล้งบอกให้สินสมุทรนึกถึงคุณค่าของความสัตย์ และห้ามอุศเรนมิให้รบแต่ก็ไม่เป็นผล

เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปจนถึงขั้นรบแตกหัก พระอภัยมณีซึ่งพอจะเดาได้ว่าผลการรบจะลงเอยอย่างไร จึงบอกแก่ทุกคนว่าจะวางตัวเป็นกลาง แล้วตรัสห้ามสินสมุทรไว้ล่วงหน้ามิให้ฆ่าอุศเรน และผลการรบปรากฏว่าอุศเรนแพ้ถูกสินสมุทรจับได้จึงเป็นโอกาสของพระอภัยมณีที่จะตอบแทนบุญคุณอุศเรน จึงให้ปล่อยอุศเรนเป็นอิสระทันที พร้อมทั้งคืนอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ยึดได้ให้แก่ธุศเรนทั้งหมด

เมื่อพระอภัยมณีเดินทางไปถึงเมืองผลึก นางมณฑามเหสีท้าวสิลราชได้มอบราชสมบัติให้ ส่วนนางสุวรรณมาลีเข้าใจผิดคิดแค้นพระอภัยมณีว่าไม่มีความอาลัย ผิดคำสัตย์จะยอมยกนางให้แก่อุศเรน จึงหาทางเลี่ยงไปบวชอยู่ที่เชิงเขารุ้งพร้อมด้วยสินสมุทร อรุณรัศมีและนางกำนัล พระอภัยมณี ไม่อาจจะทัดทานได้ จึงจัดการบ้านเมืองรอการอภิเษกและโดยที่ตระหนักว่าอุศเรนคงจะมาทำศึกอีก จึงให้ป่าวร้องหาคนดีมีวิชาและมีฝีมือในการรบมาช่วยราชการ

ครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางวาลี รูปร่างนางนั้นขี้ริ้วอัปลักษณ์แต่มีความรอบรู้ในคัมภีร์ไตรเภท รู้ฤกษ์ต่างๆ เจนจบ นางวาลีมีใจใฝ่สูงจะใคร่ได้พระอภัยมณีเป็นสามี ครั้นทราบข่าวว่าพระอภัยมณีต้องการคนดีมีวิชา จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระอภัยมณีได้เห็นรูปร่างหน้าตาของนางอัปลักษณ์ก็จริง แต่เมื่อพิจารณาท่วงท่าก็คาดว่านางจะมีอะไรดี จึงไต่ถามจนเป็นที่พอใจว่านางมีวิชาความรู้พอที่จะรับเข้าทำราชการได้ เมื่อทราบความประสงค์ของนางแล้ว พระอภัยมณีก็ได้เมตตาตั้งให้เป็นพระสนมเอก และด้วยปัญญาของนางวาลีทำให้พระอภัยมณีได้อภิเษกกับนางสุวรรณมาลีได้สมประสงค์ ต่อจากนั้น พระอภัยมณีจึงให้ศรีสุวรรณพาสินสมุทรและอรุณรัศมีไปเฝ้าท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสรที่เมือง รัตนา

พระอภัยมณีได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ได้ประทานรางวัลแก่พวกที่ติดตามมาตั้งแต่เกาะแก้วพิสดารโดยทั่วถึงกันทุกคน แล้วโปรดให้กลับไปยังบ้านเมืองของตนคอยฟังข่าวเรื่องเมืองลังกา โดยสั่งว่าหากมีเหตุการณ์อะไรให้รีบนำความมาบอก

พระอภัยมณีอภิเษกนางสุวรรณมาลีไม่นาน นางสุวรรณมาลีได้ประสูติพระธิดาแฝด นามว่า สร้อยสุวรรณ และจันทร์สุดา

ระหว่างที่ศรีสุวรรณและสินสมุทรอยู่ที่กรุงรัตนานั้น อุศเรนซึ่งต้องรักษาพระชงฆ์ที่ถูกปืนแล้วประชวร เมื่ออาการดีขึ้นบ้างแล้วก็ให้เกณฑ์ทัพเตรียมยกมาประชิดติดเมืองผลึก

พระอภัยมณีเมื่อทราบข่าวศึกก็ให้วิตกเนื่องจากพระอนุชาและพระโอรสยังไม่กลับจากเมืองรัตนา จึงต้องปรึกษาการศึกกับนางวาลี ก็ด้วยอุบายกลยุทธของนางวาลีทัพลังกาต้องพ่ายแพ้แก่เมืองผลึก เจ้าลังกาต้องธนูของนางวาลีได้รับบาดเจ็บหนีไป ส่วนอุศเรนนั้นถูกจับได้

พระอภัยมณี ซึ่งยังระลึกถึงบุญคุณของอุศเรนอยู่ พยายามเกลี้ยกล่อมอย่างละมุนละม่อมให้เลิกราอย่าได้ยกกองทัพมารบกันอีกต่อไป และจะปล่อยให้อุศเรนเป็นอิสระอีก แต่นางวาลีเห็นไม่เป็นการที่ปล่อยอุศเรนเป็นอิสระ อาจจะเป็นภัยแก่เมืองผลึกอย่างแน่แท้ จึงคิดอุบายแกล้งกล่าววาจาเยาะเย้ย เสียดแทงจนอุศเรนชํ้าใจจนอกแตกตาย พระอภัยมณีจึงให้รีบทำโกศใส่ศพอุศเรนแล้วให้พวกเชลยแห่ศพเจ้านายกลับไปเมืองลังกา

ฝ่ายนางวาลีเองก็ถูกปีศาลอุศเรนซึ่งเข้าสิงชาวที่เข้ามาทำร้าย จนนางวาลีคลั่งไคล้ต่างๆ จนในที่สุดอาการค่อยทรุดหนักลงๆ และตายตามอุศเรนไป

หลังจากศึกอุศเรนแล้ว เมืองผลึกก็ยังไม่ว่างศึก นางละเวงวัณฬา ซึ่งครองเมืองลังกาแทนเจ้าลังกา ที่สิ้นพระชนม์ด้วยความเศร้าโศกที่ได้เห็นศพของอุศเรน ได้ถูกขุนนางเมืองลังกามีพระสังฆราช เป็นต้นยุยงให้มีความแค้นเมืองผลึก ให้นางใช้เล่ห์ส่งรูปของนางพร้อมกับสารไปเชิญกษัตริย์เมืองต่างๆ ให้ยกทัพไปตีเมืองผลึก โดยสัญญาว่าแม้นกษัตริย์องค์ใดชนะศึกจะได้อภิเษกกับนางและได้ครองลังกาด้วย

เจ้าละมานกษัตริย์องค์หนึ่งที่ได้รับรูปและสารของนาง รีบยกกองทัพข้ามสมุทรมาตีเมืองผลึก ก่อนกษัตริย์องค์อื่น แต่ต้องพ่ายแพ้เพราะเสียงปี่พระอภัยมณีและถูกจับไปปล่อยเกาะพร้อมกับทหาร และในการศึกครั้งนี้เอง พระอภัยมณีต้องหลงในรูปโฉมของนางละเวงจากรูปวาดที่ได้จากเจ้าละมาน ซํ้าผีเจ้าละมานมาเข้าสิงรูปนั้นอีก ยิ่งทำให้พระอภัยมณียิ่งคลั่งไคล้หนักลงไปอีก สุดหนทางที่นางสุวรรณมาลีจะแก้ไขได้

ในขณะที่พระอภัยมณีหลงใหลในรูปโฉมนางละเวงอยู่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๑๑ เมือง ซึ่งต่างก็ได้รับสารจากนางละเวงเช่นเดียวกับเจ้าละมาน ต่างยกกองทัพมาล้อมเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีจึงรีบแต่งทูตถือสารแจ้งข่าวไปยังศรีสุวรรณกับสินสมุทรที่เมืองรัตนาแล้วนางก็ออกบัญชาการรบด้วยตนเอง

ในการออกรบครั้งหนึ่งนางสุวรรณมาลีถูกข้าศึกเข้าโจมตีจวนเจียนจะเสียที ก็พอดีสุดสาครโอรสพระอภัยมณีซึ่งเกิดแต่นางเงือกเดินทางออกจากเมืองการะเวกมาถึงเมืองผลึกได้ช่วยแก้ไขไว้ทัน และครั้งนั้น สุดสาครก็ทำลายรูปผีสิงได้ พระอภัยมณีเมื่อหายจากคลั่งไคล้ก็นำศรีสุวรรณและสินสมุทร ซึ่งกลับจากเมืองรัตนาพร้อมด้วยสุดสาครออกตีทัพกษัตริย์ทั้ง ๑๑ เมืองแตกพ่ายไป

หลังจากที่ทัพกษัตริย์ ๑๑ เมืองพ่ายแพ้ไปแล้ว พระอภัยมณีเกรงว่าศึกคงจะยกมาไม่รู้จบสิ้น เพื่อเป็นการตัดศึกจึงให้เตรียมเรือและกำลังกองทัพแล้วเคลื่อนพลมุ่งสู่ลังกา

สงครามลังกาครั้งนั้นเอง พระอภัยมณีก็ได้พบนางละเวงกลางสนามรบ ด้วยรูปโฉมอันงดงามของนางทำให้พระอภัยมณีบังเกิดความรักในทันที จึงปราศรัยทอดไมตรีด้วย แต่นางละเวงซึ่งรู้ดีว่าใจของนางไม่มั่นคงพอก็ควบม้าหนีกลับเข้ากรุงลังกา

หลังจากที่พบกับนางละเวงที่สนามรบแล้ว พระอภัยมณีก็ให้รักใคร่หลงใหลนางไม่เป็นอันทำศึก ฝักใฝ่นางอยู่ตลอดเวลา ยิ่งได้พบนางแต่ละครั้งในสนามก็ให้ยิ่งหลงใหลมากขึ้น พยายามพูดโอ้ใลมให้นางตอบรัก ฉะนั้นเมื่อนางยุพาผกา บุตรเลี้ยงของนางละเวงรับอาสาจะมาพาเอาตัวพระอภัยมณีไปเพื่อเผด็จศึก มาอุบายทูลว่าจะพาไปพบนางละเวงโดยให้พระอภัยมณีเป่าปี่ให้ทหารหลับ พระอภัยมณีก็มิได้ลังเลกระทำตามอุบายของนางทุกประการ แล้วขึ้นรถไปกับนางยุพาผกา

เมื่อพบกับนางละเวงแล้วก็ติดตามนางเข้าลังกาโดยมิได้นึกห่วงกองทัพเมืองผลึกแม้แต่น้อย และทั้งๆ ที่นางละเวงก็มีจิตใจรักใคร่พระอภัยมณีอยู่ แต่เมื่อการที่คิดไว้ยังไม่สำเร็จนางจึงไม่ยอมปลงใจเป็นมเหสี ต้องอาศัยอุบายของนางยุพาผกา พระอภัยมณีจึงได้นางละเวงเป็นมเหสี และหลงเสน่ห์นางละเวงอยู่ที่ลังกานั้นเอง

เหตุการณ์มิได้ยุติเพียงแค่นั้น ปรากฏว่าในไม่ช้าศรีสุวรรณและสินสมุทรต่างก็มาต้องเสน่ห์ หลงใหลนางรำภาสะหรีและนางยุพาผกา ถึงกับทั้งทัพเข้าไปอยู่ร่วมกับนางในวัง สามพราหมณ์จึงต้องทำใบบอกไปยังกรุงผลึก เมื่อนางสุวรรณมาลีได้แจ้งเรื่องก็ร้อนใจ แต่งสารส่งไปยังรมจักรและแล้วยกกองทัพไปยังลังกาทันที

เมื่อเผชิญหน้ากันที่หน้าป้อม ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์นางละเวงทำให้พระอภัยมณีกล่าวตัดรอนนางสุวรรณมาลี เป็นเหตุให้นางสุวรรณมาลีก็มีความแค้นเป็นอย่างมาก ระดมกองทัพเข้าตีลังกาแล้วการศึกสงครามระหว่างนางละเวงกับฝ่ายสุวรรณมาลีก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

จนในที่สุดพราหมณ์โลกเชษฐ์เห็นว่าการศึกสงครามครั้งนี้ก็เนื่องมาจากพระอภัยมณีกับอนุชา และโอรสต่างหลงเสน่ห์ฝ่ายลังกาจึงทำพิธีเชิญพระโยคีมาแก้ไข และยุติศึกลงได้และพระอภัยมณีก็ลานางละเวงกลับเมืองผลึก

ระหว่างที่พระอภัยมณีพร้อมด้วยศรีสุวรรณกับสินสมุทรไปงานพิธีพระศพท้าวสุทัศน์ที่กรุงรัตนา ก็ได้ทราบข่าวจากเมืองผลึกว่า มังคลาโอรสเกิดจากนางละเวงซึ่งนางละเวงมอบให้ครองกรุงลังกานั้น ได้ยกกองทัพชิงเอาโคตรเพชรที่นางเสาวคนธ์ขุดจากลังกาไว้ที่เมืองการะเวก ทั้งยังจับเอานางสุวรรณมาลีพร้อมด้วยธิดาทั้งสอง และท้าวสุริโยทัยกับมเหสีไปคุมที่ลังกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามใหญ่โตระหว่างมังคลากับฝ่ายนางสุวรรณมาลีขึ้นอีก พระอภัยมณีจึงต้องไปยังกรุงลังกาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อระงับศึก และในที่สุดก็สงบลงโดยมังคลาหนีไปได้พร้อมกับพระสังฆราช

หลังจากศึกสงบแล้วพระอภัยมณีก็ประกอบพิธีอภิเษกสุดสาครกับเสาวคนธ์ หัสไชยกับสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา แล้วต่างพากันแยกย้ายกลับบ้านเมือง

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่ลังกานั้น ทั้งนางสุวรรณมาลีและนางละเวงต่างพากันงอนและเล่นตัวไม่ยอมปรองดองเกี่ยวข้องกับพระอภัยมณีให้ขัดเคืองถึงกับตัดสินพระทัยออกบวชเป็นเหตุให้มเหสีทั้งสองมีศรัทธาออกบวชตาม ฝ่ายสินสมุทรไม่ปรารถนาจะให้ทั้งสามองค์ทรงลำบากกาย จึงสร้างอาศรมไว้ให้พำนักที่เขาสิงคุตรแล้วสินสมุทรก็กลับไปครองเมืองผลึก ส่วนสุดสาครอยู่ครอบครองเมืองลังกา

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด