พระอภัยมณีพบนางละเวง

Socail Like & Share

บันทึกทางวรรณคดี
เหตุใดจึงถือว่าตอนพระอภัยพบนางละเวงเป็นตอนสนุก? คำตอบที่มีเหตุผลก็คือ เพราะตอนนี้ เป็นตอนพระเอกพบนางเอกเป็นครั้งแรกในเรื่อง เราทราบดีแล้วว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้มาถึง ๓๐ บท เคยกล่าวถึงความงามของนางละเวงจนเป็นเหตุให้เจ้าละมานและเจ้าต่างประเทศอื่นๆ พากันคลั่งไคล้ หลงนาง ถึงกับอาสามาทำศึกล้มตายกันเป็นอันมาก และในที่สุดแม้แต่พระอภัยเองเพียงแต่ได้รูปนางละเวงก็หลงเช่นเดียวกัน ฉะนั้นผู้อ่านย่อมกระหายหนักหนาว่า เมื่อพระอภัยพบนางละเวงตัวจริงเข้า เรื่องจะเป็นอย่างไร การที่สุนทรภู่หน่วงเรื่องไว้นานเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านสนใจ และเมื่อได้มาอ่านตอนที่ ๓๑ อันเป็นตอนพระอภัยพบนางละเวงและได้แสดงบทบาทต่อกัน ทั้งในทางบทสนทนาอันน่าฟัง ทั้งในการแสดงเช่นการรบระหว่างชายกับหญิง ทั้งในทางการแสดงความรักระหว่างศัตรู เรื่องทั้งหมดจึงมีทั้งความแปลกความใหม่ เพราะไม่ใคร่มีในวรรณคดีเรื่องอื่น วรรณคดีตอนพระอภัยพบนางละเวงจึงเป็นตอนที่สนุกที่สุดตอนหนึ่ง

ถ้าจะว่าถึงศิลปะของการแต่งเรื่อง ตอนนี้นับว่าสุนทรภู่ได้แต่งตรงกับหลักการประพันธ์สากล การแต่งของสุนทรภู่ตรงกับสูตรที่เรียกว่าสูตรชายพบหญิง (A Boy Meets A Girl Formula) ทีเดียว

นางละเวงเห็นกองทัพนอนสลบหมดเพราะได้ฟังปี่ นางจึงคาดว่าคงจะเป็นปี่พระอภัย จึงคิดจะไปดูให้รู้แน่ นางจะรบกับพระอภัยเพื่อแก้แค้นแทนบิดา จึงขึ้นม้าต้นควบมาทางกำแพงเห็นไพร่พลนอนหลับหมด ทันใดนางก็เห็นพระอภัยนั้งเป่าปี่อยู่บนรถแต่ลำพัง นางจึงแอบเข้าทางท้ายรถ แผลงเกาทัณฑ์ไปถูกปี่ตกจากหัตถ์พระอภัย แล้วยิงซํ้าอีกลูกหนึ่งถูกเกราะ ทันใดนางก็ขับม้าชักทวนเข้าสวนแทง พระอภัยตกพระทัยจึงฟาดด้วยพระแสงดาบ แล้วขนาบด้วยพระแสงปืน ปืนถูกปากม้านางละเวง นางจึงร้องหวีดขึ้นด้วยสำเนียงผู้หญิง แล้วควบม้าวิ่งหนีไป

พระอภัยก็สงสัยว่านางคงจะเป็นธิดาเจ้าลังกา พระอภัยจึงลงจากรถปลุกม้าขึ้นควบตามไป พอทันกันนางยิงด้วยเกาทัณฑ์แต่ไม่ถูก นางจึงใช้ไฟกรดฟาดถูกพระอภัยเข้าอย่างจัง พอเข้าใกล้เห็นถนัด พระอภัยจึงตรัสทัก

พระน้องฤาชื่อละเวงวัณฬาราช        อย่าหวั่นหวาดวิญญามารศรี
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที                ไม่ฆ่าตีศรีสวัสดิ์เป็นสัจจา
พี่จงจิตติดตามข้ามสมุทร            มาด้วยสุดแสนสวาทปรารถนา
จะถมชลจนกระทั่งถึงลังกา            เป็นสุธาแผ่นเดียวเจียวจริงจริง
จึงแจ้งความตามในน้ำใจพี่            ไม่ราคีเคืองข้องแม่น้องหญิง
อย่าเคลือบแคลงแหนงจิตคิดประวิง        สมรมิ่งแม่วัฒฬาจงปรานี

ละเวงฟังคำหวานก็ซ่านจิต แต่ด้วยจริตหญิงเบือนหน้าหนีเสีย ทั้งรักทั้งแค้นข่มใจถามไปว่า

ท่านี้หรือชื่ออภัยใคร่จะรู้        ที่ชิงคู่เขาไปชมประสมสอง
พระเชษฐาปรานีเหมือนพี่น้อง    ยังขัดข้องคิดทำลายให้วายชนม์
แล้วมิหนำซ้ำตามข้ามสมุทร        มายงยุทธกับผู้หญิงถึงสิงหฬ
ครั้นหักโหมโจมจับไม่อับจน        กลับแต่งกลเกี้ยวพานด้วยมารยา
อันเยี่ยงอย่างข้างชมพูต่อสู้รบ    หรือจึงคบคิดรักกันหนักหนา
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเมืองลังกา    จะเมตตาเพราะมีไมตรีกัน
ประการหนึ่งซึ่งกษัตริย์กำจัดทัพ    แม้นคนหลับแล้วไม่ฆ่าให้อาสัญ
ย่อมรบสู้ดูดีตีประจัญ            เออเช่นนั้นหรือจะลือว่าชื่อชาย
นี่พระองค์ทรงศักดิ์รักแต่ทรัพย์     ทำให้หลับแล้วก็รินให้ฉิบหาย
จะผูกมิตรชิดเชื้อก็เหลืออาย        ถึงวอดวายไว้ชื่อให้ลือชา

พระอภัยก็ตอบว่าที่อุศเรนพี่ของนางตาย พระองค์ก็ทรงสงสาร ที่นางส่งกองทัพไปรบถึงเมืองก็เพราะนางไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ที่มานี่ก็หวังจะอธิบายให้เข้าใจ ที่เป่าปี่ให้กองทัพหลับก็เพราะเกรงว่าตัวเองจะถึงสิ้นชีวิต
ประเดี๋ยวนี้พี่ได้พบประสบน้อง    อย่าขุ่นข้องขาดรักหักประหาร
จงเคลื่อนคลายหายเหือดที่เดือดดาล    เชิญแม่ผ่านพาราให้ถาวร
อันผู้คนพลไพร่จะให้ตื่น    ขอกลับคืนคงถวานสายสมร
เป็นเสร็จศึกตรึกตรองสองนคร    อย่าให้ร้อนไปถึงท้าวทุกด้าวแดน
ด้วยฝรั่งลังกาอาณาเขต    ล้ำประเทศถิ่นอื่นสักหมื่นแสน
แม้นเมืองไหนไม่นบจะรบแทน    เป็นทองแผ่นเดียวกันจนวันตาย

นางละเวงรำพึงว่า เสียงพระอภัยเป็นเสียงสวาทหวานหูมิรู้หาย นางแสร้งเพทุบายว่า หากแก้ไขให้กองทัพฟื้นแล้วกลับคืนไปนคร นั่นแหละจึงจะเห็นว่าเป็นสัตย์ธรรม

อันผู้หญิงสิงหฬนี่คนซื่อ            จะนับถือแต่ที่แน่นเป็นแก่นสาร
แม้นกลับกลายหลายคำแล้วรำคาญ    ไม่ขอพานพบกันจนวันตาย

พระอภัยจึงว่าพระองค์เป็นชายซื่อ ขอเชิญนางไปเจรจากันบนรถ คนทั้งหลายจะได้เห็นว่าดีกันแล้ว นางยังยืนยันขอให้ไพร่พลตนก่อน หากไม่เชื่อจะตามรบอีกก็เชิญ ทันใดนั้นนางก็เป่ามนต์ขับม้า เลี้ยวแฝงแสงไฟไป พระอภัยเสียดายจึงทรงเป่าปี่เกี้ยวให้กลับ

ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย        จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อี่อ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย        แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย
ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด    จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย    ใคร่จะเชยโฉมน้องประคองนวล
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด    เสียงฉอดฉอดชดช้อยละห้อยหวน
วิเวกแว่วแจ้วใจใจรัญจวน        เป็นความชวนประโลมโฉมวัณฬา

อำนาจเพลงทำให้ละเวงอัดอั้นคิดอยากจะกลับไปหา เพราะ

เธอพูดดีปี่ดังฟังเสนาะ        จะฉอเลาะลูบต้องทำนองไหน
แม้นถนอมกล่อมกลอกเหมือนดอกไม้    จะชื่นใจน้องยาทุกราตรี
ยิ่งกลับฟังวังเวงเพลงสังวาส        ยิ่งหวั่นหวาดวิญญามารศรี
ตะลึกลืมปลื้มอารมณ์ไม่สมประดี        ด้วยเพลงปี่เป่าเชิญให้เพลินใจ
จนลืมองค์หลงรักชักสินธพ    กลับมาพบพิศวงด้วยหลงใหล

พอพระอภัยเห็นก็วางปีเข้าประโลม คลอขึ้นรถ ทันใดนั้นนางก็รู้สึกพรั่นใจกลับชักม้าขับหนี อ้อมเขาไปพลางนางก็คำนึง

อันลมปี่นี้ระรวนให้งวยงง        สุดจะทรงวิญญารักษาตัว
ถ้าขืนอยู่สู้อีกไม่หลีกเลี่ยง        ฉวยพลั้งเพลี่ยงเพลงปี่ต้องมีผัว
จะพลอยพาหน้าน้องให้หมองมัว    เหมือนหญิงชั่วชายเกี้ยวประเดี๋ยวใจ
นางจึงตัดสินใจทิ้งกองทัพกลับลังกา ขับม้ามากลางคืนคนเดียวในดินแดนอันเป็นพงไพรใหญ่กว้าง ฝ่ายพระอภัยเสียดาย ปรารภว่า

“เมื่อปี่เป่าเยาวมาลย์มาเหมือนใจ        ครั้นหยุดปี่หนีไปไม่ได้การ”

เลยชักม้าควบตามหาก็ไม่พบ จึงเป่าปี่อีกครั้งหนึ่งจนคอแห้งก็ไม่สำเร็จ คิดว่าถ้าปลุกทัพขึ้น นางคงจะมา ทันใดนั้นเสียงปี่ก็กังวานแว่วขึ้น กองทัพทั้งนายไพร่ตื่นขึ้นอย่างพร้อมเพรียง สินสมุทร ขอตามตีต่อไป พระอภัยห้ามไว้ แล้วเล่าเรื่องที่ได้พบและสู้รบกับนางละเวงจนถูกไฟกรดให้ฟัง สรุปว่าได้ตกลงที่จะเป็นไมตรีกับเขาแล้ว ศรีสุวรรณรู้ทีก็สัพยอกว่าพระอภัยหลงนางละเวงพระอภัยก็รับอย่างหน้าชื่น

สำรวลพลางทางสนองพระน้องยา        ธรรมดามดดำกับน้ำตาล
ได้เข้าเรียงเคียงใกล้แล้วไม่อด        คงชิมรสรู้กำพืดว่าจืดหวาน
อนุชาอย่าประมาทว่าคลาดการ        ไม่เนิ่นนานนักดอกบอกจริงๆ

สินสมุทรกับศรีสุวรรณตัดพ้อพระอภัยว่า เดิมจะฆ่าผู้หญิงสิงหฬ แต่ครั้นจริงจังเข้ากลับมาทำไมตรี พระอภัยจึงห้ามว่าอย่าพูดดูถูกลูกผู้หญิง

ทำเหมือนเจ้าเข้าไปล่อเอาไฟจุด        แล้วไม่หยุดยั้งคิดจนติดกับ
อันแยบยลกลศึกย่อมลึกลับ            แม้นจะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย
เราชิงชัยไม่ชนะกลัวจะแพ้            จึงเกี้ยวแก้การศึกเหมือนนึกหมาย
ด้วยเสียทีชีวันจะอันตราย        แต่รอดตายเหมือนกระนี้เป็นดีนัก

พระอภัยจึงขอให้หยุดพักพลไว้ก่อน

ฝ่ายนางละเวงขับม้ามาลำพังในป่าตั้งแต่กลางคืนจนเช้าถึงพลบค่ำยามราตรีอีกก็รู้สึกว้าเหว่ ม้าก็สิ้นกำลัง ครั้นยามดึกก็มาถึงลำธารแห่งเขาอังกาศ จึงปลงม้าให้กินนํ้าตั้งสัตย์อธิษฐานว่าถ้าจะได้เป็นใหญ่ต่อไปก็ขออย่าให้เป็นอันตราย จะปล่อยม้าให้กินหญ้า เมื่อนึกถึงขอให้ม้ามาหาตามใจนึก นางเอาตราราหูส่องดูตามศิลา เห็นที่แห่งหนึ่งเป็นศิลาลายเหมือนบัลลังก์จึงเอนลงบรรทมหลับไป

ครั้นรุ่งเช้านึกถึงม้าก็มาเที่ยวหา ทันใดนั้นเกิดเหตุวิปริต

พอได้ยินดินลั่นเสียงครั่นครื้น    สะเทือนพื้นภูผาป่าระหง
ประเดี๋ยวหนึ่งถึงสะดุ้งดังผลุงลง    กลิ้งอยู่ตรงหน้าเท่าน้ำเต้าทอง
เหลืองอร่ามงามงอนหอมระรื่น    ดูสดชื่นชูสีไม่มีสอง
สงสัยนักชักมีดออกกรีดลอง        ขาดเป็นสองซีกไส้ข้างในแดง
นางชิมดูรู้ว่าโอชารส        เหลือกำหนดในมนุษย์สุดแสวง
ทั้งหอมหวานซ่านเสียวมีเรี่ยวแรง        ที่คอแห้งหิวหายสบายบาน
พอม้ามิ่งวิ่งมาแล้วอ้าปาก        รู้ว่าอยากยื่นให้ม้าเป็นอาหาร
ม้าลำพองลองเริงเชิงสำราญ    นางนั่งฝานชิ้นชิมจนอิ่มใจ
ยังเหลืออีกซีกเสี้ยวไม่เหี่ยวแห้ง    ห่อตะแบงมานมั่นไม่หวั่นไหว
ขึ้นทรงนั่งหลังม้าแล้วคลาไคล    พอสัตว์ไพรรู้อึงคะนึงมา
ทั้งเนื้อเบื้อเสือสิงห์กระทิงถึก    หมู่มฤคแรดควายทั้งซ้ายขวา
บ้างแลพบหลบตัวด้วยกลัวตรา    บ้างวิ่งมาวิ่งไปออกไขว่กัน

นางละเวงเห็นคนครึ่งกายบนชะง่อนเขาร้องขอให้แบ่งดินสำคัญให้ตัวได้กินบ้างคนผู้นั้นเป็นผู้เฒ่ามีรูปกายเฉพาะด้านขวา

พอเห็นคนบนชะง่อนสิงขรเขา    ร้องว่าเรารักษาพนาสัณฑ์
นางวัณฬามาได้กินดินสำคัญ    ไม่แบ่งปันให้เราบ้างเป็นอย่างไร
นางแลดูผู้เฒ่าบนเขาเขียว        เป็นซีกเสี้ยวแต่ข้างขวาน่าสงสัย
จึงซักถามตามแคลงไม่แจ้งใจ    ท่านชื่อไรร้องทักรู้จักเรา

อันของดีมีรสไม่หมดสิ้น     จะให้กินได้อยู่ท่านผู้เฒ่า
แต่พรายแพร่งแจ้งความตามสำเนา    ก่อนเถิดเราก็จะให้เป็นไรมี
ฝ่ายอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตสถาน    จึงแจ้งการกับวัณฬามารศรี
ลูกนั้นหรือชื่อว่า นมพระธรณี    ถึงพันปีผุดขึ้นเหมือนปืนดัง
ฝูงสัตว์ไพรได้ยินทั้งกลิ่นหอม    มาพรั่งพร้อมเพราะจะกินถวิลหวัง
ด้วยหวานเย็นเห็นประเสริฐเกิดกำลัง    กำจัดทั้งโรคาไม่ราคี
อายุยืนชื่นชุ่มเป็นหนุ่มสาว        ผิวนั้นราวกับทองละอองศรี
ถึงแก่เฉ่าเข้าเรือนสามร้อยปี        ก็ไม่มีมัวหมองละอองนวล
ทั้งเนื้อหอมกล่อมกลิ่นระรินรื่น    เป็นที่ชื่นเชยบุรุษสุดสงวน
เราได้กลิ่นดินถนันให้รัญจวน    ด้วยธุระพระอิศาวรเธอสาปไว้
ให้อยู่เฝ้าเขาอังกาศขาดครึ่งซีก    สุดจะหลีกเลี่ยงกรรมทำไฉน
ต่อให้กินดินถนันเมื่อวันไร        จึงจะได้เต็มกายสบายบาน

นางละเวงทราบเคราะห์กรรมของคนครึ่งซีก จึงฝาน “ถันสุธา” ออกวางไว้ให้บนต้นไม้ใกล้ลำธาร พร้อมกับขอให้ช่วยชี้ทางให้นางกลับด้วยเทวดาองค์นั้นจึงแจ้งว่า

ซึ่งโฉมยงหลงทางมากลางไพร    เพราะจะได้พบลาภปราบไพรี
จงรีบรัดตัดทางไปข้างเขา        จะพบชาวบ้านป่าพนาสี
ทั้งจะปะพระปีโปบาลีดี        จงพาทีไต่ถามตามสงกา

เสร็จแล้วเทวดาก็หายวับไปพร้อมกับถันสุธานั้น นางละเวงขับม้าชมไพรต่อไป

เห็นสายหยุดพุดพยอมนางน้อมกิ่ง    วิสัยหญิงอยากได้เด็ดใส่ผม
ถึงยากเย็นเห็นดอกไม้จะใคร่ชม        ชื่นอารมณ์เรี่ยทางไปกลางดง

ครั้นนางได้เห็นนกกระตั้วกับนกโนรี    ก็หวนคิดถึงนกโนรีที่นางเคยเลี้ยง แสดงว่าสุนทรภู่หางานอดิเรกให้นางเอกฝรั่งเหมาะดีเหลือเกิน

พินิจพลางนางรำพึงถึงนิเวศน์    อยู่ขอบเขตโดยรักเลี้ยงปักษา
ให้จับคอนนอนเล่นเจรจา        ถึงเวลาแสบท้องเคยร้องวอน
โอ้จากนกตกมาอยู่ป่าสูง    ฟังแต่ฝูงนกเถื่อนไม่เหมือนสอน
สงสารโอ้โนรีอยู่ที่คอน        เคยชูช้อนชื่นอาวรณ์ได้ชมเชย

กล่าวถึงชาวบ้านสิกคารนำ คำนี้แปลเป็นไทยว่า บ้านเขาเขียว มีบาทหลวงนักปราชญ์สร้างตึกอยู่ริมทางเดิน มีชาวบ้านเอาลูกหลานมาฝากเรียนวิชามาก

อันลูกเต้าชาวป่าเอามาฝาก        ประมาณมากเหมือนคณะพระฤาษี
เรียนวิชาไตรดาโหราดี            ตามบาลีเพศฝรั่งชาวลังกา
คนทั้งนั้นวันอาทิตย์เป็นอิสระ    มาไหว้พระพร้อมกันด้วยหรรษา
ทำบุญบวชสวดมนต์สนทนา        บาทหลวงมาขึ้นนั่งบัลลังก์พรต

วันหนึ่งบาทหลวงดูดาว เห็นดาวเจ้าเมืองลังกากับดาวเจ้าเมืองผลึกเข้าร่วมธาตุกัน ก็ทราบความจึงบอกแก่เหล่าศิษย์และประชาชนว่า

เราดูดาวเจ้าประเทศเขตลังกา    ไม่มีข้าคนเที่ยวอยู่เดียวดาย
อันดวงดาวเจ้าผลึกเป็นศึกสู้        กลับร่วมรู้รักกันขันใจหาย
ส่วนพวกไพร่ใหญ่น้อยจะพลอยตาย    แต่ตัวนายนั้นจะอยู่เป็นคู่เคียง

พอพูดขาดคำก็เกิดเหตุวิปริต คือฝูงกาแตกตื่นร้องขึ้นในเวลากลางคืน ม้า ลา อูฐ ก็ส่งเสียงขึ้น บาทหลวงจึงดูตำราราชาสัตว์แจ้งแก่ประชาชนว่า

ซึ่งสัตว์ร้องต้องยามตามตำรับ    มันคอยรับเจ้าแผ่นดินถวิลหา
พรุ่งนี้เย็นเห็นลูกสาวเจ้าลังกา    จะเข้ามาบ้านนี้เพราะมิตาย
ในตำราว่าโจรตามมาด้วย        ท่านจงช่วยป้องกันให้ผันผาย
ได้อาศัยในแผ่นดินทำกินสบาย    ทั้งหญิงชายฉลองคุณอย่าสูญใจ

บาทหลวงบอกว่าสำหรับตัวท่านนั้นจะหลบหน้าเสีย ใครอย่าบอกนางเป็นอันขาด
พอตกคํ่า นางละเวงก็มาถึงที่แห่งหนึ่ง เห็นควันขึ้นโขมงก็คิดว่าเป็นบ้านคนธรรมดาจึงเข้าไปถาม แต่ปรากฏว่าพวกนี้เป็นโจร มีหัวหน้า ๓๕ คน กับกลาสี ๓,๒๐๐ คน พอเห็นนางละเวงมาจึงเข้าล้อมจะจับนางจึงบอกว่า นางเป็นกษัตริย์ลังกา หลงทางมา ขอให้ช่วยนำเข้าลังกา จะประทานรางวัล โดยตั้งให้เป็นขุนนาง แต่พวกโจรไม่ต้องการยศศักดิ์ ต้องการเงินและของเป็นสำคัญ ขู่ให้นางเปลื้องเครื่องทรงและเครื่องม้าให้เสียโดยดี นางจึงเอานํ้าเย็นเข้าลูบปลอบว่า ตัวเป็นโจรทำผิดไว้แต่ก่อนถ้ากลับตัวได้จะมีความชอบ

อันต้นร้ายปลายดีไม่มีโทษ        เป็นประโยชน์ยาวยืนอยู่หมื่นแสน
จะเที่ยวปล้นคนกินเหมือนสิ้นแกน    ถึงมาดแม้นมีทรัพย์ก็อับอาย
อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง        ชื่อก็ยังยืนอยู่ไม่รู้หาย
แม้นสังหารผลาญเราเป็นเจ้านาย        ตัวจะตายไม่ทันข้ามสามเวลา

แต่คำของนางหาได้ทำให้พวกโจรใจอ่อนไม่ มันจึงศอกกลับเอานางละเวงว่า “แต่ขุนนาง ยังเบียนชาวนา จะมาว่าแต่เราเป็นชาวดง” แล้วนายโจรก็สั่งสมุนเข้ารุมนาง แต่นางเอาพระแสงฟาด ฟันตายไปมาก นางขับม้าหนี พวกมันก็ยังไล่ตามเอาทวนและหลาวพุ่งแทง แต่อำนาจตราคุ้มนางไว้ได้ นางยิงมันด้วยเกาทัณฑ์ล้มตายไปบ้าง แต่ที่เหลือก็เข้าล้อมนางไว้ได้อีก นางใช้หอกสู้ใหม่หวังทะลวงออกจากที่ล้อมแต่ก็เหลือกำลัง

ขณะนั้นชาวบ้านสิกคารนำออกมาช่วยรบ โจรหนีกระจายไป ทุกคนลงกราบไหว้ นางจึงถามว่าพวกเหล่านี้เป็นใคร ไฉนจึงรู้จักนางว่าเป็นกษัตริย์ ผู้เฒ่าชาวบ้านสิกคารนำจึงทูลว่า ตนเป็นชาวป่า ทราบว่านางเสียทัพ โจรกำลังจะจับ จึงนำกันออกมาช่วยด้วยความกตัญญู นางจึงขอไปพักด้วยวันหนึ่ง พวกนี้จึงนำนางเข้าบ้าน

ถึงปากทางหว่างเนินเพลินประพาส    เห็นอาวาสวัดวาที่อาศัย
กุฎิตั้งอาศรมรื่มร่ม ไทร            ศาลาลัยแสนสะอาดด้ายกวาดเตียน
ตึกน้อยน้อยห้อยระฆังน่าฟังเล่น        ดูเหมือนเช่นฉากฉายระบายเขียน
มีเสาหงส์ธงลมใส่โคมเวียน        ดาษเดียรด้วยบุปผาสาระพัน

นางจึงสอบถามได้ความว่า เป็นอาวาสพระบาทหลวง สำหรับให้คนไปอาศัยส่วนตัวท่านบาทหลวงนั้น ไม่ทราบว่าไปอยู่แห่งใด ตอนคํ่านางละเวงไปศาลาวัด เห็นเด็กจุดโคมแก้วสว่างไสว มีเด็กสี่ห้าคนมาเชิญเพราะทราบว่าเป็นกษัตริย์ นางถามถึงพระบาทหลวง เด็กไม่ยอมบอก ประเดี๋ยวหนึ่งมีสตรีเดินถือโคมมาหลายคน มาทำหน้าที่อยู่รักษานาง นางชมเชยความสุภาพและความโอบอ้อมอารีของเมียชาวบ้านเหล่านี้ นางชวนเด็กรับใช้สองคนคือ ยุพาผกาพี่อายุ ๑๔ ขวบ และสุลาลีวันน้อง อายุ ๑๒ ขวบ เป็นเด็กกำพร้าที่บาทหลวงเลี้ยงไว้ จึงขอเป็นลูก นางทั้งสองก็ยินดี

รุ่งเช้านายบ้านจึงไปตามบาทหลวงมาเฝ้านางละเวง

บาทหลวงว่าอย่าประมาทชาติกษัตริย์    เหลือกำจัดกลความตามวิสัย
เมื่อดีเย็นเช่นมหาชลาลัย    โกรธเหมือนไฟฟุนฟอนให้ร้อนทรวง
แล้วเรารู้อยู่ว่านางแต่ปางหลัง    ถือพระสังฆราชผู้บาทหลวง
ไว้ฝึกสอนรอนราญการทั้งปวง    จะไปช่วงชิงรู้เหมือนดูเบา
เมื่อยามดีมีได้พึ่งครั้นถึงยาม    จะพลอยรากเลือดตายต้องอายเขา
ถึงแม้องค์นงลักษณ์จะรักเรา    พวกคนเก่าเขาคงกันด้วยฉันทา

นางจึงตรัสเล่าให้ฟัง และขอเชิญบาทหลวงช่วยสั่งสอนการบ้านเมือง และการศึกสงครามด้วย แต่ท่านปีโปเฒ่าก็พยายามถ่อมตัว อ้างว่ารู้แต่ทางสิกขาสมาทาน นางละเวงมีทหารก็ควรปรึกษา เรื่องศึกสงคราม เรื่องทางศาสนามีสังฆราชอยู่ในเมืองหลวงแล้ว แต่นางละเวงก็ขะยั้นขะยอขอให้ช่วย
พระบาลีมีวิจิตรคิดสงสาร        แจ้งวิจารณ์ทางธรรมด้วยหรรหา
เพราะมีหูอยู่ก็ปี่มีศักดา        แม้หูหาไม่ปี่ไม่มีฤทธิ์
แม้เพลิงกาฬผลาญแผ่นดินสิ้นชีวิต    อำนาจฤทธิ์ย่อมแพ้แก่ปัญญา
เชิญไปฟังสังฆราชพระบาทหลง    อย่างพ่อล่วงความคิดเป็นศิษย์หา
แม้ศึกเสือเหลือขนาดจึงอาตมา    จะอาสาหาบหามตามกำลัง
แต่เดี๋ยสนี้ศรีสวัสดิ์พลัดทหาร    ไม่แจ้งการดีร้ายข้างภายหลัง
เสร็จไปให้ถึงเขตนิเวศน์วัง        อย่ารอรั้งราชการจะนานวันฯ

นางละเวงก็ขอฝากให้ช่วยในโอกาสข้างหน้าต่อไป และขอนางทั้งสองไปเป็นลูก พระบาทหลวงก็ยินดี แล้วพานางทั้งสองเข้าไปสอนในห้อง

กุลสตรีวิสัยในมนุษย์        ให้สิ้นสุดสอนสั่งเหมือนดังหลาน
แล้วเขียนหนังสือลับพับเหล็กลาน        กลการลึกล้ำที่สำคัญ
ให้สองนางพลางว่ารักษาไว้        ต่อเมื่อไรรบรับถึงคับขัน
ดูหนังสือมือเสื้อที่ใส่นั้น    จึงผ่อนผันคิดความตามอุบาย

ต่อไปนี้บาทหลวงและพวกชาวบ้านจึงจัดกระบวนส่งเสด็จนางละเวงเข้ากรุงลังกานางละเวงทรงรถโดยสองนางเป็นสารถี กระบวนแห่มีธงดำนำหน้า เดินทางมาหลายราตรี พอมาถึงถํ้าลำพันเวลาพลบ จึงตรัสสั่งให้พักพล

ต่อไปนี้นางละเวงใช้นางทหารหญิงทั้งนั้น มีแต่ย่องตอดเป็นผู้ชายคนเดียว นายทหารหญิง คือรำภาส่าหรี ยุพาผกา สุลาลีวัน นายทหารหญิงเหล่านี้ในที่สุดทำให้นายทหารชายทุกคนทิ้งทัพของตัว วิ่งเข้าไปหานายทหารหญิงและหลงเสน่ห์อย่างงมงายจนได้กันเป็นคู่ๆ คือพระอภัยได้กับนางละเวง ศรีสุวรรณได้รำภาส่าหรี สินสนุทรได้ยุพาผกา และสุดสาครได้สุลาลีวัน

เหลือคนสำคัญเพียงคนเดียวคือสุวรรณมาลี เมียพระอภัย ซึ่งบัดนี้มีลูกสาวสองคน คือ สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา พอทราบว่าพระอภัยไปหลงนางละเวงก็ยกทัพไปรบแต่ไปหึงมากกว่า เรียกกันว่าไปหึงหน้าป้อม พระอภัยซึ่งหลงนางละเวงก็สลัดรักเอาต่อหน้า สุวรรณมาลีเลยสลบ ต้องแก้ไขกันเป็นนานจึงฟื้น ต่อมามีพรรคพวกจากเมืองการะเวกไปสมทบอีก การรบจึงดำเนินต่อไป ตอนนี้สุนทรภู่ก็ให้นายทหารหญิงขี้หึงทำร้ายกันอย่างขบขัน นางสุวรรณมาลียิงธนูถูกอกนางละเวงๆ หนีเข้าป่าไป เสาวคนธ์คนรักของสุดสาครยิงแก้มนางสุลาลีวันเมียชาวลังกาของสุดสาคร การรบดำเนินต่อไปอย่างกว้างขวาง พราหมณ์โลกเชษฐ์ซึ่งมาจากเมืองการะเวกต้องการให้ยุติสงครามด้วยวิธีต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ ต้องทำพิธีเชิญฤาษีเกาะแก้วพิสดารมาแสดงธรรม กองทัพทุกฝ่ายจึงวางอาวุธ สันติภาพจึงครองเกาะลังกา ไมตรีจิตมิตรภาพจึงมีขึ้นระหว่างทุกฝ่าย นางละเวงเจ้าภาพจึงจัดงานสันนิบาตฉลองสันติภาพ อย่างเต็มที่

สำหรับเรื่องผู้ใหญ่ เรื่องก็ควรจะจบลงตรงนี้เพราะลงดีกันด้วยธรรม แต่สุนทรภู่สร้างตัวละครรุ่นเด็กไว้มาก จึงยังต้องดำเนินเรื่องต่อไปอีก คือให้จับคู่กันเสีย

เวลาเขียนเรื่องตอนนี้อาจมีข่าวแผ่นดินไหวฃึ้นที่ไหนสักแห่งหนึ่งและคงรู้และโจษขานกันมากในเมืองไทย สุนทรภู่จึงนำเข้ามาใส่ในเรื่อง คือเรื่องโคตรเพชรเสาวคนธ์ขอโคตรเพชรจากนางละเวง นางก็อนุญาต แต่โคตรเพชรนี้พอถอนขึ้นเกิดแผ่นดินไหวทั่วลังกา เสาวคนธ์นำโคตรเพชรกลับเมืองการะแวก พระอภัยและพวกก็พากันกลับจากลังกา

คราวนี้ถึงเรื่องการแต่งงาน พระอภัยขออรุณรัศมีลูกศรีสุวรรณให้แก่สินสมุทรขอเสาวคนธ์ลูกท้าวสุริโยทัยเมืองการะเวกให้กับสุดสาคร นางสาวทั้งสองต่างไม่ยอมเข้าหอลงโรงด้วย โดยอ้างว่า มีหญิงชาวลังกาเป็นเมียมาก่อนแล้ว สินสมุทรเกี้ยวผู้หญิงไม่เป็น นางสุวรรณมาลีต้องช่วยในตอนท้าย เสาวคนธ์หนีอภิเษกถึงกับหนีปลอมเป็นฤาษีไปต่างประเทศ คือไปถึงเมืองวาหุโลม ไปทำศึกได้เมืองครอง สุดสาครก็ตามไป และไปเรียนวิชาเกี้ยวผู้หญิงมาได้เรื่องจึงทำให้เสาวคนธ์ยินยอมอภิเษกด้วย

ทางลังกา มังคลาลูกพระอภัยกับนางละเวงเป็นกษัตริย์สืบแทน ถูกพระสังฆราชบาทหลวง ยุให้เอาโคตรเพชรคืนจากเมืองการะเวก ก็เชื่อและยกทัพมารบการะเวก ในเวลาเดียวกันใช้กลลวง คุมตัวสุวรรณมาลีกับธิดาไปขังไว้ รวมทั้งพ่อตาแม่ยายของศรีสุวรรณด้วย พระอภัย ศรีสุวรรณ และสินสุมทร กำลังไปในงานพระศพพระราชบิดามารดาที่เมืองรัตนา

ครั้งนี้เอง ในที่สุดจึงรวมกำลังกันไปรบลังกาอีกครั้งหนึ่ง นางละเวงร้อนใจจะทัดทานห้ามปรามมังคลาสักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดมังคลาก็ต้องทำศึกกับพ่อของตัวเอง คือพระอภัย นางละเวงก็ต้องยกทัพออกช่วยพระอภัย ทำศึกกันอยู่นาน ในที่สุดพระอภัยก็เป่าปี่เผด็จศึกครั้งสุดท้ายได้สำเร็จ มังคลากับสังฆราชผู้ร่วมคิดการร้ายหนีไปได้

สงครามเสร็จลง พระอภัยซึ่งแม้สุวรรณมาลีกับนางละเวงจะปรองดองกันได้แล้วแต่เรื่องเมียสองต้องห้าม ดำรงชีวิตอยู่ที่เกาะลังกาอย่างไม่มีความสุข จึงไปบวชเป็นฤาษีที่เขาสิงคุตร์ นางละเวงกับสุวรรณมาลีก็ไปบวชปรนนิบัติพระอภัยมณี คำกลอนก็จบเพียงนี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด