ค่านิยมส่วนตัวของพระอภัยมณี

Socail Like & Share

ค่านิยมส่วนตัวของพระอภัยมณีที่พิจารณาจากบทบาท พฤติกรรม และบุคลิกภาพของพระอภัยมณี แสดงให้เห็นได้ดังนี้คือ

ค่านิยมในเรื่องความรู้
ค่านิยมของพระอภัยมณีที่เกี่ยวกับความรู้มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ความสำคัญของวิชาความรู้ และประเภทของวิชาความรู้

บทบาทและพฤติกรรมของพระอภัยมณีแสดงให้เห็นค่านิยมว่า การมีวิชาความรู้ไม่ว่าจะเป็นความรู้อะไรก็ตาม ย่อมจะยังประโยชน์มาสู่ตนและหมู่คณะทั้งในยามปกติและยามคับขัน โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ ความรู้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นเมื่อเจริญวัย พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณจึงออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้สำหรับกษัตริย์ อันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ดังถ้อยคำของท้าวสุทัศน์ที่ว่า
อันชายชาญเชื้อกษัตริย์ขัตติยา
ย่อมพากเพียรเรียนไสยศาสตร์เวท    สิ่งวิเศษสืบเสาะแสวงหา
ได้ป้องกันอันตรายนัครา            ตามกษัตริย์ขัตติยาอย่างโบราณ

ทั้งนี้ พระอภัยมณีเองก็ตระหนักถึงความจำเป็นข้อนี้เหมือนกัน ดังคำที่กล่าวแก่ท้าวสุทัศน์ว่า

ลูกคิดมาจะประมาณก็นานครัน
หวังแสวงไปตำแหน่งสำนักปราชญ์    ซึ่งรู้ศาสตราเวทวิเศษขยัน
ก็สมจิตเหมือนลูกคิดทุกคืนวัน        ….

พระอภัยมณีเลือกเรียนวิชาเป่าปี่ ด้วยเหตุผลที่บอกแก่ศรีสุวรรณว่า

แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง        หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง

การเลือกวิชาเป่าปี่นั้นเป็นค่านิยมส่วนตัวที่เกี่ยวกับประเภทของวิชาที่เห็นว่า “เพลงดนตรี นี่ดีจริง” นั้น น่าจะเนื่องจากนิสัยส่วนตัวเป็นประการแรก

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของวิชาความรู้นั้น พระอภัยมณีถือว่าวิชาดนตรีนั้น หากศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงแล้ว ก็ถือเป็นความรู้ของกษัตริย์ซึ่งสามารถปกครองบ้านเมืองได้เพราะวิชาดนตรีเป็นวิชาศิลปะก็มีความสำคัญและมีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวิชาอื่นที่นิยมกันเหมือนกัน

ฉะนั้น เมื่อตระหนักถึงคุณค่าในข้อนี้ พระอภัยมณีจึงศึกษาวิชาเป่าปี่อย่างจริงจัง พระอภัยมณีใช้เวลาศึกษาเพียง ๗ เดือน ก็มีความสามารถในการเป่าปี่เป็นเลิศ สามารถใช้กลวิธีในการเป่าให้กระแสเสียงสะกดผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มและหลับหรือตายได้

แต่วิชาดนตรีไม่เป็นที่ยอมรับของท้าวสุทัศน์ นอกจากนี้ยังได้รับการดูหมิ่นว่าเป็นวิชาความรู้ขั้นตํ่า ดังที่ท้าวสุทัศน์บริภาษว่า

อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง    เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวัง            มันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ

ด้วยเหตุนี้ พระอภัยมณีจึงพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าการมีวิชาเป่าปี่เพียงอย่างเดียว ถ้าได้เรียนมาอย่างจริงจังจนมีความสามารถเป็นเลิศ ก็มีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวิชาอื่น ทั้งยังสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อถึงคราวคับขันได้เช่นเดียวกับวิชาเวทมนตร์หรือวิชาการรบ

พระอภัยมณีได้เป่าปี ๑๑ ครั้ง จำนวน ๑๑ ครั้งนี้ แยกตามเหตุการเป่าดังนี้
๑. เป่าลองวิชา ๑ ครั้ง
๒. เป่าสะกดทัพ ๔ ครั้ง
๓. เป่าปลุกทัพ ๒ ครั้ง
๔. เป่าเรียกคนที่ต้องการให้มาหา ๓ ครั้ง
๕. เป่าฆ่านางผีเสื้อ ๑ ครั้ง

และสินสมุทรเป่าทดลองวิชาให้ท้าวสิลราช และนางสุวรรณมาลฟีงอีก ๑ ครั้ง รวมทั้งสิ้น
๑๒ ครั้ง

ปรากฎว่าแต่ละครั้งได้ผลตามที่ประสงค์ทุกประการ

ในจำนวน ๑๒ ครั้ง ครั้งที่แสดงให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของความรู้โดยแท้จริง ได้แก่ ครั้งที่เป่าฆ่านางผีเสื้อ เพื่อช่วยตนเองและพวกสานุศิษย์ที่ติดตามให้รอดพ้นอันตราย และอีกครั้งหนึ่ง คราวที่เป่าสะกดทัพลังกา เพื่อให้รอดพ้นกลไกที่นางละเวงทำลวงไว้

ปี่ของพระอภัยมณีมิใช่ปี่วิเศษ แต่เป็นปี่ที่สร้างขึ้นอย่างวิเศษมีความประณีตยิ่ง เสียงจึงไพเราะกว่าปี่โดยทั่วไป และโดยธรรมชาติเสียงดนตรีอาจสะกดผู้ฟังให้ตกอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม สามารถโน้มน้าวจิตใจให้เกิดอารมณ์คล้อยตามเสียงดนตรีนั้นๆ ได้อยู่แล้ว ประกอบกับพระอภัยมณีมีความสามารถเป็นเลิศ และได้รับการสั่งสอนจากพินทพราหมณ์ในการเลือกเนื้อความและห่วงทำนองที่จะให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงสามารถใช้ศิลปะในการเป่าสะกดผู้ฟังได้ตามประสงค์

ด้วยประการฉะนี้ ปี่ของพระอภัยมณีจึงดูมีอำนาจมากอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ สมดังที่พระอภัยมณีอธิบายให้บุตรพราหมณ์ทั้งสามฟังว่า

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป     ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช    จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน    ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

ค่านิยมในเรื่องความซื่อสัตย์และความกตัญญู
พระอภัยมณีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความสัตย์และความกตัญญูอย่างยิ่ง พระอภัยมณีถือว่าความซื่อสัตย์และความกตัญญูเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เพราะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป ตรงข้ามหากไม่มีความสัตย์ หรือความกตัญญู ก็ย่อมถูกสาปแช่ง เสื่อมศักดิ์ศรี ไม่เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ดังที่พระอภัยมณีได้กล่าวแก่สินสมุทร เมื่อครั้งจะทำสงครามกับอุศเรนเพื่อชิงนางสุวรรณมาลี ว่า

อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที    ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญูตาเขา    เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล    พระเวทมนตร์เสื่อมคลายทำลายยศ

ด้วยเหตุนี้ เมื่ออุศเรนรบแพ้ถูกจับได้ พระอภัยมณีจึงให้ปล่อยเป็นอิสระทันที เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่รับพระอภัยมณีจากเกาะซึ่งก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณแล้วแต่พระอภัยมณี ก็ถือว่าบุญคุณที่อุศเรนได้มีแก่ตนนั้นไม่อาจตอบแทนให้หมดสิ้นได้ ฉะนั้น เมื่ออุศเรนยกกองทัพมารบเมืองผลึก และพ่ายแพ้ถูกจับได้อีก พระอภัยมณีก็จะปล่อยเป็นอิสระเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณอีก ดังที่กล่าวแก่อุศเรนว่า

จะปล่อยไปไม่สังหารผลาญชีวิต    ด้วยว่าคิดคุณน้องสนองคุณ
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าก็ป่วยจะช่วยเจ้า    แทนที่เรามาเรือเจ้าเกื้อหนุน

ค่านิยมในเรื่องผู้หญิง
ค่านิยมของพระอภัยมณีในเรื่องผู้หญิงนี้ อาจพิจารณาได้เป็น ๒ ประการ คือค่านิยมในการตีค่า และค่านิยมในรูปโฉม

พระอภัยมณีถือว่าผู้หญิงเป็นสิ่งที่ให้ความชื่นใจ ให้ความหวานในชีวิต ไม่มีสิ่งใดที่จะมีคุณค่าเท่ากับผู้หญิงในเรื่องนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากเพลงปี่ที่พระอภัยมณีเป่าให้บุตรพราหมณ์ทั้งสามคนฟังว่า

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย        ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย            จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม        ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้แล้วจะค่อยประคองเชย        ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน

ด้วยประการฉะนี้ จึงพบว่าแม้พระอภัยมณีจะมีผู้หญิงเป็นคู่ครองอยู่เป็นตัวเป็นตนแล้วก็ตาม ก็ยังปรารถนาจะได้ผู้หญิงอื่นมาชื่นชมอีกก็น่าจะเนื่องด้วยค่านิยมในประการนี้

ส่วนค่านิยมในรูปโฉมนั้น พระอภัยมณีถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งผู้หญิงที่จะเป็นคู่ครองต้องมีโฉมงดงาม ทั้งนี้จะเห็นได้จากคราวที่นางวาลีมาเข้ารับราชการโดยขอเป็นมเหสี พระอภัยมณีก็ท้วงในเรื่องรูปโฉมว่า

…วาลมีแก่ใจ            มารักใคร่ครั้นจะชังไม่บังควร
แต่รูปร่างยังกระไรใคร่จะรู้        พิเคราะห์ดูเสียด้วยกันอย่าหันหวน
จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร        มิใคร่ครวญนึกความให้งามใจ

ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าผู้หญิงที่พระอภัยมณีปรารถนาและได้มาเป็นคู่ครอง ไม่ว่าจะเป็นนางเงือก นางสุวรรณมาลี หรือนางละเวง ต่างมีรูปโฉมงดงามทั้งสิ้น

ค่านิยมในเรื่องศักดิ์ศรี
พระอภัยมณีแสดงให้เห็นค่านิยมในเรื่องศักดิ์ศรีในตอนที่ไปลังกาอีกครั้งหนึ่งคราวศึกมังคลา ครั้งนั้น พระอภัยมณีอยู่พร้อมทั้งนางสุวรรณมาลีและนางละเวง เมื่อพระอภัยมณีไปหานางสุวรรณมาลี หวังจะประโลม แต่นางสุวรรณมาลีไม่ยอมปรองดองให้เกี่ยวข้องด้วย บ่ายเบี่ยงให้พระอภัยมณีไปหานางละเวง ทำให้พระอภัยมณีรู้สึกเก้อตรัสขึ้นมา

ลูกก็เสียเมียก็หมดต้องอดรัก    เปรียบเหมือนสักวาไปมิได้เล่น
รู้กระนิ้วบากต้องยากเย็น        จะเกิดเป็นเช่นกระเทยชวดเชยชม

และเมื่อพระอภัยมณีไปหานางละเวง ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างนางสุวรรณมาลี ทั้งๆ ที่พระอภัยมณีพยายามประเล้าประโลมอย่างไรก็ตาม นางก็ไม่ยินยอมให้เกี่ยวข้อง

ค่าที่พระอภัยมณีเคยภาคภูมิใจในความ “ชำนาญแต่การปาก” แต่ต้องมาได้รับการปฏิบัติอันแสดงถึงผลที่เป็นตรงข้ามกับความภาคภูมิใจ จากบุคคลที่ใกล้ชิดที่สุดคือมเหสีของตนเช่นนี้ ทำให้พระอภัยมณีเกิดความรู้สึกว่าตนได้เสียศักดฺศรี ถึงกับ

ทั้งแสนแค้นแสนรักสลักอก        แสนวิตกจนพระรูปซีดซูบผอม
น้อยหรือเมียเสียได้มันไม่ยอม    พูดอ้อมค้อมขัดข้องจองหองคึก

แต่ครวญคร่ำรำพึงคะนึงนึก        จนจับไข้ให้สะทึกสะท้านองค์

ทางออกของที่พระอภัยมณีพบว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือการออกบวช ดังที่ตรัสแก่มเหสีทั้งสองว่า

นี่แน่เจ้าเล่าก็มีบุรีครอง        ทั้งเงินทองมองมูลประยูรยศ
อยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองไปเบื้องหน้า    จะปรารถนาอะไรก็ได้หมด
เราจะไปในอรัญอยู่บรรพต        รักษาพรตพรหมจรรย์บรรพชา
ด้วยชาตินี้วิบัติให้พลัดพราก        เหลือวิบากยากแค้นนั้นแสนสา
จะสืบสร้างทางกุศลผลผลา        เมื่อชาติหน้าอย่าให้เป็นเหมือนเช่นนี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด