บทบาทของพระอภัยมณี

Socail Like & Share

บทบาทของพระอภัยมณีอาจกล่าวได้ในฐานะต่างๆ ดังนี้
ฐานะลูก
พระอภัยมณีเป็นโอรสท้าวสุทัศน์กับนางปทุมเกสร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสรกับพระอภัยมณีนั้น กล่าวได้ว่าห่างเหินกันมาก กล่าวคือ พระอภัยมณีมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้องได้รับความอบอุ่นในชีวิตครอบครัวเพียง ๑๕ ปี ก็ต้องจากบ้านไปศึกษาหาความรู้ เมื่อสำเร็จกลับมาก็มีเวลาอยู่เห็นหน้าพ่อแม่ไม่ถึงครึ่งวันก็ต้องออกจากบ้านเมืองระหกระเหินอยู่เป็นเวลานาน

เมื่อไปอยู่เมืองผลึก ในฐานะที่เป็นกษัตริย์น่าที่พระอภัยมณีจะมีโอกาสกลับไปบ้านเมืองเพื่อเห็นหน้าพ่อแม่ ก็มีเหตุที่ทำให้ไม่อาจทิ้งเมืองผลึกไปได้ คือกลัวศึกมาติดเมืองต้องให้ศรีสุวรรณกับสินสมุทรไปแทน กว่าพระอภัยมณีจะมีโอกาสได้ไปกรุงรัตนาก็เมื่อท้าวสุทัศน์กับนางปทุมเกสรตายแล้ว คือไปในพิธีศพ

แม้เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างพระอภัยมณีกับท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสรว่ามีน้อยเหลือเกินก็ตาม ในฐานะลูก กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีเป็นลูกที่มีความเคารพเชื่อฟังอยู่ ในโอวาทของพ่อแม่ แม้การกระทำของพ่อแม่จะไม่ตรงกับความคิดของตน ก็ไม่ได้แย้งหรือแสดงความไม่พอใจอย่างใด

จะเห็นได้จากคราวที่พระอภัยมณีกลับจากการไปศึกษาหาความรู้ เมื่อท้าวสุทัศน์ทราบว่า พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ และศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบอง ซึ่งผิดจากความคาดหวังของพระองค์ ก็พิโรธและดูถูกวิชาที่เรียนมาว่าไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด แต่พระอภัยมณีก็ไม่ได้โต้แย้งหรือชี้แจงเพื่อทดลองให้เห็นคุณค่าของวิชาที่เรียนมาให้ประจักษ์

ทั้งนี้น่าจะเนื่องด้วยความคิดของพระอภัยมณีที่มีความเห็นว่าข้อวินิจฉัยทั้งหลายของพ่อแม่นั้น แม้จะไม่ตรงตามความเห็นของตนก็ตาม เป็นสิ่งที่ลูกจะพึงยอมรับ

ครั้นท้าวสุทัศน์ซึ่งโกรธเคืองถึงกับตรัสบริภาษอย่างรุนแรง แล้วขับไล่พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณออกจากบ้านจากเมือง

ลูกกาลีมีแต่จะขายหน้า    ช่างชั่วช้าทุจริตผิดวิสัย
จะให้อยู่เวียงวังก็จัง ไร    ชอบแต่ไสคอส่งเสียจากเมือง

พระอภัยมณีก็ปฏิบัติตามโดยมิได้แสดงความขุ่นเคือง นอกจากรำพันกับศรีสุวรรณด้วยความน้อยใจว่า

พระเชษฐาว่าโอ้พ่อเพื่อนยาก    สู้ลำบากบุกป่าพนาสัณฑ์
มาถึงวังยังไม่ถึงสักครึ่งวัน        ยังไม่ทันทดลองทั้งสองคน
พระกริ้วกราดคาดโทษว่าโฉดเขลา    พี่กับเจ้านี้ก็เห็นไม่เป็นผล
อยู่ก็อายไพร่ฟ้าประชาชน        ผิดก็ด้นดั้นไปในไพรวัน

เมื่อคราวที่พบกับท้าวสิลราช พระอภัยมณีได้เล่าความเป็นมาตั้งแต่ต้นจนกระทั้งมาอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารกับพระโยคี พระอภัยมณีเว้นไม่เล่าถึงเหตุการณ์ที่ท้าวสุทัศน์กริ้วถึงกับขับไล่ออกจากวัง

พระบิดา ข้าชื่อท้าวสุทัศน์        ผ่านสมบัติรัตนามหาสถาน
ข้ากับน้องต้องไปเรียนวิชาการ    ตำบลบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา
รูปเรียนกลดนตรีคือปี่เป่า        พระน้องเจ้าเรียยกระบองคล่องนักหนา
อยู่ปีครึ่งจึงจากอาจารย์มา        เที่ยวลีลาเลียบเดินตามเนินทราย
เห็นร่มไทรใกล้ฝั่งเข้ายั้งหยุด        พบบุรุษหนุ่มพราหมณ์สามสหาย
ชวนพูดเล่นเจรจาประสาสบาย    อยู่ที่ชายทะเลลมใต้ร่มไทร
สามมาณพรบเร้าให้เป่าปี่        อยากฟังฝีปากเล่นเป็นไฉน
ครั้นรูปเป่าเข้าก็หลับระงับไป    ไม่แจ้งใจว่าไพรีจะมีมา
พอนางผีเสื้อสมุทรมาฉุดลาก    ต้องกรำกรากตรอมอยู่ในคูหา
เอาความหลังทั้งนั้นมาพรรณนา    จนหนีมาพึ่งบุญพระมุนี

การที่พระอภัยมณีละเว้นไม่เล่าเหตุการณ์ที่ท้าวสุทัศน์กริ้วถึงกับขับไล่พี่น้องทั้งสองออกจากบ้านเมือง ก็เนื่องด้วยไม่ปรารถนาจะให้ท้าวสุทัศน์ได้รับการตำหนิว่าเป็นพ่อที่ขาดเมตตาธรรม เป็นกษัตริย์ที่ขาดความยั้งคิดไตร่ตรอง ขาดเหตุผลที่ควรไม่ควร อันแสดงให้เห็นความเคารพบูชาของพระอภัยมณีที่มีต่อท้าวสุทัศน์

ฐานะพี่
พระอภัยมณีมีความรัก ความห่วงใยศรีสุวรรณเป็นอย่างมาก ความรู้สึกนี้พระอภัยมณีแสดงให้เห็นชัดในคราวที่ถูกนางผีเสื้อยักษ์พาไปอยู่ในถํ้า พระอภัยมณีครวญถึงศรีสุวรรณว่า

โอ้สงสารป่านฉะนี้ศรีสุวรรณ    อยู่ด้วยกันหลัดหลัดมาพลัดพราก
พอตื่นขึ้นยามเย็นไม่เห็นพี่        จะโศกีโหยหาน่าใจหาย
ได้เห็นแต่เจ้าพราหรมณ์ทั้งสามนาย    เข้าผันผายลับตาจะอาวรณ์
นิจจาเอ๋ยเคยเห็นกันพี่น้อง        มาเที่ยวท่องบุกเดินเนินสิงขร
อียักษ์ลักพี่ลงมาในสาคร        จะทุกข์ร้อนว้าเหว่อยู่เอกา

ครั้งเมื่อคราวโดยสารเรืออุศเรนและมาพบกับเรือสินสมุทร เมื่อทราบจากสินสมุทรว่า ศรีสุวรรณก็มาด้วย พระอภัยมณีก็แสดงความดีใจ

พระรู้ว่าอนุชามาด้วยบุตร        ยิ่งแสนสุดชื่นชมสมประสงค์

อนึ่ง ในวรรณคดีไทยทั่วไป ตัวละครที่มีฐานะเป็นพี่มักจะมีบทบาทที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ปกป้องให้ความคุ้มครอง ให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพาอาศัยของน้องอยู่ตลอดเวลา ส่วนพระอภัยมณีซึ่งนับเป็นตัวอย่างของพี่ที่ดีในด้านความรักความห่วงใยน้อง แต่ในด้านที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยคอยช่วยเหลือปกป้องน้องนั้นไม่ปรากฎว่าพระอภัยมณีมีบทบาทดังกล่าว ตรงกันข้ามพระอภัยมณีกลับเป็นพี่ที่ได้รับความช่วยเหลือจากน้องศรีสุวรรณต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่พระอภัยมณีอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะในการศึกสงคราม ศรีสุวรรณต้องออกทำศึกสงครามช่วยเหลือพระอภัยมณีเกือบจะทุกครั้ง

ฐานะสามี
ในฐานะสามี พระอภัยมณีดูจะเป็นสามีที่ไม่น่ายกย่องนักในหลายประการ ประการแรกได้แก่ การเป็นสามีที่เจ้าชู้มีเมียมาก พระอภัยมณีมีเมีย ๔ คน เป็นมนุษย์ ๒ คน ได้แก่ นางสุวรรณมาลีกับ นางละเวง เป็นอมนุษย์ ๒ ตน คือนางผีเสื้อยักษ์กับนางเงือก

บรรดาเมียทั้งสี่ของพระอภัยมณี ยกไว้เฉพาะนางผีเสื้อยักษ์ที่พระอภัยมณีต้องจำใจอยู่ร่วมด้วย เพราะมีความเกรงกลัวอำนาจของนาง มิได้เกิดจากความรัก ความปรารถนาของตน

ข้อที่น่าตำหนิก็คือเมื่อได้นางเงือกเป็นชายาแล้ว พอได้พบนางสุวรรณมาลีก็แสดงนิสัยเจ้าชู้ รักนางอย่างจับใจขึ้นมาทันที ปรารถนาจะได้นางมาเป็นชายา ถึงกับอุบายขอให้พระโยคีฝากให้โดยสารไปกับเรือ โดยหวังจะอยู่ใกล้ชิดกับนางเพื่อให้ความปรารถนาของตนสมประสงค์ โดยมิได้นึกถึงหรือเป็นห่วงนางเงือกที่ต้องว้าเหว่อยู่ที่เกาะเลย

เมื่อได้อภิเษกกับนางสุวรรณมาลีสมปรารถนาแล้ว ได้พบกับนางละเวงกลางสนามรบครั้งที่ยกกองทัพข้ามไปตีลังกาครั้งแรก พระอภัยมณีกลับหลงใหลนางละเวง แสดงความเจ้าชู้เกี้ยวพาราสีทั้งๆ ที่อยู่ในระหว่างการรพุ่งกันอยู่ ปรารถนาจะได้นางมาเป็นชายาอีกโดยมิได้คิดว่านางละเวงเป็นศัตรู และตนเองก็มีมเหสีอยู่แล้ว

การแสดงความเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิงโดยหวังจะได้นางมาเป็นคู่ครอง ทั้งๆ ที่มีคู่ครองอยู่เป็นตัวเป็นตนแล้ว นับเป็นข้อตำหนิในประการที่สอง คือเป็นสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อภรรยา

การที่ผู้ชายเป็นคนเจ้าชู้และมีเมียมากอย่างพระอภัยมณี หรือพระเอกในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นอย่างนี้ อาจจะไม่เป็นข้อเสียหาย หรือเป็นค่านิยมของสังคมไทยในยุคนั้น เพราะมิฉะนั้นลักษณะเช่นนี้คงจะไม่มีปรากฎในวรรณคดีไทยเกือบทุกเล่ม หากค่านิยมของสังคมเป็นดังที่ปรากฎเช่นนี้ และพระอภัยมณีจะอยู่ในข่ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกตำหนิในข้อประพฤติสองประการนั้น ก็ต่อเมื่อพระอภัยมณีจะมีความรับผิดชอบต่อภรรยาทุกๆ คนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

แต่พฤติกรรมของพระอภัยมณีแสดงให้เห็นว่า เป็นสามีที่ขาดความรับผิดชอบ นับแต่นางเงือก แม้พระอภัยมณีจะไม่ได้แสดงว่ารักนอกจากความสงสารก็ตามก็น่าที่จะมีความสำนึกในความรับผิดชอบคอยดูแลให้ความสุขตามฐานะอันควร ปกป้องอันตรายอันอาจจะมีขึ้น แต่เมื่อได้พบนางสุวรรณมาลี พระอภัยมณีก็หลงใหล อุบายขอโดยสารเรือไปด้วย สามารถทอดทิ้งนางเงือกให้ผจญชีวิตอยู่ตามลำพัง โดยปลอบใจนางแต่เพียงว่า

สักปีครึ่งจึงจะกลับมารับน้อง    อย่ามัวหมองหมางจิตคิดสงสัย

ครั้นนางเงือกร้องไห้บอกถึงความหวาดกลัวภัยจากนางผีเสื้อยักษ์ ทั้งในเวลานั้นนางก็กำลังมีครรภ์ พระอภัยมณีก็อ้อนวอนให้เลิกร้องไห้โดยอ้างว่า

อย่าครวญคร่ำกำสรดสลดนัก    วิมลพักตร์ผิวน้องจะหมองไฉน
ถึงตัวไปใจเฝ้าอยู่เล้าโลม        จริงนะโยมเงือกน้อยกลอยฤทัย
ถ้าโฉมฉายวายวางเหมือนย่างว่า    เหมือนแกล้งฆ่าผัวรักให้ตักษัย
จงผ่อนตามทรามถนอมอย่าตรอมใจ    เหมือนช่วยให้พี่ยาไปธานี

แล้วพระอภัยมณีก็จากนางเงือกไปอย่างที่แสดงให้เห็นว่านางเงือกไม่มีความหมายอีกต่อไป

ส่วนนางสุวรรณมาลีนั้น พระอภัยมณีก็มีพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่าขาดความรับผิดชอบ กล่าวคือเมื่อได้พบนางละเวงที่สนามรบ พระอภัยมณีก็หลงรักเพียรพยายามเฝ้าประโลมจนได้นางมาเป็นชายา แล้วหลงเสน่ห์นางละเวงทอดทิ้งให้นางสุวรรณมาลีรับภาระในการปกครองบ้านเมืองแต่ลำพังเป็นเวลาถึง ๒ ปี

ยิ่งกว่านั้น เมื่อนางสุวรรณมาลียกกองทัพข้ามมาถึงลังกาทำสงครามรบพุ่งกันใหญ่โตกว่าจะยุติได้ก็ต้องอาศัยเดชะบารมีของพระโยคี เมื่อเหตุการณ์สงบทุกฝ่ายต่างปรองดองเข้าใจกันแล้ว พระอภัยมณีก็กลับเมืองผลึก ซึ่งแม้ในครั้งแรกพระอภัยจะไม่กล้าชวนละเวงไปเมืองผลึกด้วย เพราะเกรงใจนางสุวรรณมาลี แต่พระอภัยมณีก็มิได้สนใจที่จะมาเยี่ยมเยียนกลับทอดทิ้งปล่อยให้นางละเวงอยู่ที่ลังกา ถึง ๑๘ ปี

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเกิดศึกมังคลา พระอภัยมณีต้องมาลังกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อระงับศึก และเมื่อศึกสงบ พระอภัยมณีหมายจะประโลมนางละเวง แต่ด้วยความน้อยใจที่พระอภัยมณีทอดทิ้งนางจึงไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องด้วย โดยกล่าวตัดพ้อว่า

แต่ห่างเหินเนิ่นนานหม่อมฉานเล่า    มีลูกเต้ามัวหมองไม่ผ่องใส
เคยชิดชมขมหวานประการใด        มิใช่ไม่เคยเห็นจงเอ็นดู
สิบแปดปีนี่แล้วที่เป็นหม้าย            จนเหลืออายอัปยศต้องอดสู
มีลูกเต้าเล่าก็พลัดเป็นศัตรู            คิดก็รู้อยู่ว่ากรรมให้จำเป็น
เมื่อรุ่นสาวคราวพบต้องรบผัว        ครั้นแก่ตัวรบกับลูกถูกแต่เข็ญ
แสนอาภัพรับแต่ร้อน ไม่ผ่อนเย็น        พระก็เห็นก็รู้อยู่ด้วยกัน

พระอภัยมณีเป็นสามีประเภทเจ้าชู้ เกรงใจเมีย เฉพาะนางสุวรรณมาลีดูพระอภัยมณีจะเกรงใจอยู่มาก เช่นในคราวที่พระอภัยมณีจะกลับเมืองผลึก ในใจอยากจะพานางละเวงไปด้วย ก็เกรงว่านางสุวรรณมาลีจะไม่ยอม

ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษ์ณ์    ไม่สิ้นรักวัณลามารศรี
คิดจะพาไปอยู่ร่วมบูรี            เกรงสุวรรณมาลีจะมิยอม

ครั้นจะไม่ชวนก็เกรงว่านางละเวงจะน้อยใจ ก็แสร้งทำทีว่าอยากจะชวนนางไปงานพิธีอภิเษกโอรสกับหลานที่เมืองรมจักรและเมืองการะเวก แต่ก็เกรงว่าทางลังกาจะมีศึกจึงขอให้นางอยู่รักษาเมือง

คิดจะใคร่ให้วัณลายุพาพาล        ไปช่วยงานอภิเษกเอกโอรส
แต่คนอยู่บูรีหามีไม่            หนทาง ไกลเกลือกว่าจะเกิดกบฏ
จงครองวังลังการักษายศ        เลี้ยงโอรสในครรภ์ของกัลยา

เมื่อถึงวันจะเดินทาง พระอภัยมณีจะไปรํ่าลานางละเวงก็เกรงนางสุวรรณมาลี

ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม    เสียงประโคมยามสองให้หมองศรี
จะไปสั่งวัณลาเกรงมาลี    แกล้งพาทีเพทุบายให้ตายใจ

ฐานะพ่อ
พระอภัยมณีมีโอรสและธิดาที่เกิดจากแม่ทั้ง ๔ ได้แก่ สินสมุทร สุดสาคร สร้อยสุวรรณ กับ จันทร์สุดา และมังคลา ไม่นับสร้อยสุวรรณ กับจันทร์สุดา ธิดาแฝดที่เกิดจากนางสุวรรณมาลี ซึ่งกล่าวได้ว่าพระอภัยมณีได้ทำหน้าที่ของความเป็นพ่ออย่างไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก จะมีแต่สินสมุทรที่เกิดจากนางผีเสื้อเท่านั้นที่พระอภัยมณีมีความผูกพันให้ความรักความอาทรห่วงใยมาตั้งแต่เกิด ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากความใกล้ชิดที่มีมาตั้งแต่ต้น

ส่วนอีก 2 คน คือ สุดสาคร กับ มังคลา นั้น พระอภัยมณีทอดทั้งมิได้ให้ความเอาใจใส่ ตั้งแต่โอรสทั้งสองยังไม่เกิด ทั้งๆ ที่เมื่อพระอภัยมณีจะจากไปก็รู้ดีว่านางกำลังมีครรภ์ แต่ก็มิได้แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นห่วงเป็นใย ปรารถนาจะได้เห็นหน้า กับนางเงือก พระอภัยมณีกล่าวแต่เพียงว่าจะฝากฝังพระโยคีให้ช่วยดูแล

ซึ่งทรงครรภ์นั้นอย่าได้ปรารภ    จงนอบนบนับถือพระฤาษี
จะฝากฝังสั่งไว้ด้วยไมตรี        ให้เป็นที่พึ่งพาสีกาโยม

ส่วนนางละเวงนั้นพระอภัยมณีบอกแก่นางว่า

ขอฝากบุตรสุดใจที่ในครรภ์        ให้สืบพันธุ์พงศ์กษัตริย์สวัสดี

หลังจากนั้นพระอภัยมณีก็มิได้มีความคิดคำนึงเลยว่าโอรสทั้งสองจะเกิดมามีทุกข์มีสุขอย่างไร สุดสาครถูกทอดทิ้งให้อยู่ที่เกาะแก้วพิสดารกับนางเงือก และพระดาบสตามลำพัง ส่วนมังคลาน่าที่พระอภัยมณีจะไปเยี่ยมเยียนได้โดยสะดวก ก็ถูกปล่อยให้อยู่กับนางละเวงจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่

การทอดทิ้งไม่สนใจลูกของพระอภัยมณีเช่นนี้ ทำให้ความผูกพันระหว่างพระอภัยมณีกับลูกทั้งสอง คือสุดสาคร กับมังคลา ไม่มีเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้พระอภัยมณีจะมิได้มีความคิดคำนึงแสดงความห่วงใยสุดสาครในตอนต้น แต่เมื่อได้พบกันแล้ว โดยความรู้สึกของผู้เป็นพ่อ พระอภัยมณีได้แสดงความรักใคร่ห่วงใยสุดสาครอย่างลึกซึ้งไม่ต่างจากความรู้สึกที่มีต่อสินสมุทรเลย

ส่วนมังคลานั้นพระอภัยมณีมิได้มีความผูกพันมาก่อน ฉะนั้น เมื่อได้พบกับมังคลาในลักษณะคู่ศึก ความรู้สึกความเป็นพ่อของพระอภัยมณีก็หมดไปโดยสิ้นเชิง

ฐานะกษัตริย์
หน้าที่หรือกิจที่สำคัญของกษัตริย์ตามคตินิยมที่ปรากฏในวรรณคดีไทยทั้งหลายมี ๒ ประการ คือ ด้านการรบและด้านการปกครอง

ในด้านการรบ
แม่โดยลักษณะพระอภัยมณีจะเป็นกษัตริย์ศิลปินมากกว่าที่จะเป็นกษัตริย์นักรบก็ตาม พระอภัยมณีก็ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ในกลยุทธ ดังจะเห็นได้จากคราวที่อาศัยเรืออุศเรนมา และได้พบกับเรือของสินสมุทรกับศรีสุวรรณ ทั้งสองฝ่ายจะทำศึกกัน พระอภัยมณีคิดที่จะห้ามโดยอธิบายอุบายศึกให้อุศเรนฟังว่า

เป็นไรมีที่ตรงจะยงยุทธ        การบุรุษรู้สิ้นทุกถิ่นฐาน
อันแยบยลกลศึกสี่ประการ        เป็นประธานที่ในกายของนายทัพ
ประการหนึ่งถึงจะโกรธพิโรธร้าย    หักให้หายเหือดไปเหมือนไฟดับ
ค่อยคิดอ่านการศึกใหัลึกลับ        แม้จะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย
อนึ่งว่าข้าศึกยังฮึกฮัก            จะโหมหักเห็นไม่ได้ดังใจหมาย
สืบสังเกตเหตุผลกลอุบาย        ดูแยบคายคาดทั้งกำลังพล
อนึ่งให้รู้รบที่หลบไล่            ทหารไม่เคยศึกต้องฝึกฝน
ทั้งถ้อยคำสำหรับบังคับคน        อย่าเวียนวนวาจาเหมือนงาช้าง
ประการหนึ่งซึ่งจะชนะศึก        ต้องตรองตรึกยักย้ายให้หลายอย่าง
ดูท่วงทีกิริยาให้ท่าทาง            อย่าละวางไว้ใจแก่ไพรี
โดยที่พระอภัยมณีมีแม่ทัพ ขุนศึก ซึ่งได้แก่อนุชา โอรส และพระญาติวงศ์ที่มีความสามารถ มีฝีมือในการรบแวดล้อมซึ่งพร้อมที่จะให้คำปรึกษาและออกทำการรบอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ การศึกสงคราม แต่ละครั้งพระอภัยมณีจึงไม่ค่อยได้ออกรบแสดงฝีมือให้ปรากฏ และอีกประการหนึ่งโดยลักษณะนิสัยของพระอภัยมณีเป็นผู้ที่รักความสงบ ไม่ชอบความรุนแรง นอกจากจะไม่ปรารถนาที่จะรบแล้ว ยังปรารถนาที่จะไม่ให้ผู้อื่นรบด้วย มักจะคอยห้ามมิให้ทำศึกสงครามกัน จึงทำให้ดูเหมือนว่าพระอภัยมณีเป็นกษัตริย์ที่ขี้ขลาด

แท้จริงแล้วพระอภัยมณีมิได้เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องออกรบเอง พระอภัยมณีก็ได้แสดงให้เห็นความกล้าหาญ แสดงฝีมือความสามารถในการรบ เช่นในคราวที่ออกรบและพบกับนางละเวงครั้งแรกในสนามรบ

พระอภัยใจกล้าเห็นข้าศึก            ลุกสะอึกองอาจฟาดพระแสง
นางแทงอีกหลีกเลี่ยงก็เพลี่ยงแพลง    พระต่อแย้งยกปืนขึ้นยืนยิง
ถูกปากม้าพาโลดกระโดดดีด        นางร้องหวีดเต็มเสียงสำเนียงหญิง
ครั้นรู้สึกนึกอายในใจจริง            นางควบมิ่งม้ากลับไปทัพชัย

ทางด้านการปกครอง
กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีเป็นนักปกครองที่ดี รู้จักใช้คนตรงตามความสามารถของบุคคลนั้น โดยพระอภัยมณีไม่ต้องลงมือทำงานเองทั้งหมด เช่น ในการรบก็มีศรีสุวรรณ สินสมุทรและสุดสาคร ซึ่งมีฝีมือในการรบออกรบแทน พระอภัยมณีจะลงมือกระทำเองเมื่อถึงคราวจำเป็น เช่นในคราวที่นำกองทัพข้ามไปตีลังกาครั้งแรกและออกรบแสดงฝีมือเองคราวที่พบกับนางละเวงในสนามรบ

พระอภัยมณีรักคนมีวิชาความรู้และรับเข้ามาช่วยราชการโดยมิได้รังเกียจเดียดฉันท์ว่าจะมีพื้นเพตระกูลเดิมสูงต่ำประการใด ดังจะเห็นได้จากนางวาลีเข้ามาถวายตัวขอเป็นมเหสีเมื่อพระอภัยมณีได้ทราบว่านางมีวิชาความรู้ก็ให้รับไว้และให้ตำแหน่งเป็นสนมเอก และนางวาลีก็ได้ใช้สติปัญญาอุบายให้นางสุวรรณมาลีรีบสึกออกมาอภิเษกกับพระอภัยมณีได้ ทั้งยังวางแผนรบชนะอุศเรน ตลอดจนใช้คำพูดฆ่าอุศเรนได้อีกด้วย

พระอภัยมณีเป็นนักปกครองที่ไม่เห็นประโยชน์สุขแต่เฉพาะตน เมื่อพระองค์ได้ครองราชสมบัติ เมืองผลึก มีความสุข ก็นึกถึงผู้ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาว่าควรจะได้รับลาภยศและความสุขด้วย จึงได้ประทานทรัพย์สินเงินทองแก่บริวารที่ติดตามมาแต่เกาะแก้วพิสดารโดยทั่วหน้ากัน

แล้วรางวัลบรรดาสานุศิษย์            ซึ่งตามติดปรนนิบัติไม่ขัดสน
ล้วนจีนจามพราหมณ์แขกฝรั่งปน        ทั้งร้อยคนคู่ยากลำบากมา
ประทานเมียสาวสาวชาวน้อยน้อย    ถ้วนทั้งร้อยรูปงามตามภาษา
กับกำปั่นบรรทุกเกลือข้าวปลา        ทั้งเงินห้าร้อยทั่วทุกตัวคน

พระอภัยมณีเป็นนักปกครองที่มีความรอบคอบ โดยเฉพาะในการปกครองบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากการส่งคนไปประจำไว้ในที่ต่างๆ คอยแจ้งเหตุศึก เพื่อจะได้เตรียมการป้องกันได้ทันท่วงที

ให้ไปอยู่บูรีรอบขอบประเทศ        คอยแจ้งเหตุตื้นลึกศึกสิงหล
ให้มีไพร่ไว้สำหรับอยู่กับตน        ทั้งร้อยคนคนละร้อยไม่น้อยใจ

ความเป็นนักปกครองที่ดีอีกประการหนึ่งของพระอภัยมณีก็คือ การฟังความเห็นของที่ปรึกษา ไม่ดึงคนที่จะกระทำตามความคิดเห็นของตนโดยไม่มีเหตุผล ในคราวที่อุศเรนยกกองทัพมาตีเมืองผลึก พระอภัยมณีก็ขอคำปรึกษามาจากนางวาลีว่า

พระอภัยได้ความให้ขามศึก        อุตส่าห์ตรึกตรองอุบายเป็นหลายเล่ห์
จะรบพุ่งกรุง ไกรใกล้ทะเล        ให้ว้าเหว่วิญญาเอกากาย
เป็นห่วงหลังระวังหน้าหนักหนานัก    พระน้องรักลูกน้อยก็คอยหาย
ยิ่งตรองตรึกนึกไปไม่สบาย        จึงภิปรายปรึกษานางวาลี
ศึกมายั้งตั้งกระบวนจะจวนข้าม    มาสงครามรบพุ่งถึงกรุงศรี
จะจัดแจงแต่งทหารออกต้านตี    หรือจะหนีนางเห็นเป็นอย่างไร

เมื่อนางวาลีอธิบายกลอุบายในการทำศึก พระอภัยมณีก็เห็นด้วยและปฏิบัติตามจนได้ชัยชนะต่ออุศเรน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักปกครองพฤติกรรมบางอย่างของพระอภัยมณีที่ควรจะได้รับการตำหนิก็มีอยู่ กล่าวคือการกระทำตามความพอใจ ความปรารถนาของตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง โดยลืมนึกถึงความรับผิดชอบที่มีอยู่ ดังจะเห็นได้จากคราวที่ทำศึกกับลังกา ในขณะที่ศรีสุวรรณกับสินสมุทรต้องรับศึกหนัก พระอภัยมณีกลับตามนางยุพาผกาเข้าไปในเมืองลังกาเพื่อจะได้พบนางละเวงที่รักใคร่หลงใหล โดยไม่บอกกล่าวใครทั้งสิ้น เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วทั้งกองทัพ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด