พระอภัยมณี-เรื่องเอกของสุนทรภู่

Socail Like & Share

เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องคู่กับชื่อของสุนทรภู่ทีเดียว สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้โดยยึดลัทธิสมจริง (Realism) เป็นหลักตามแบบสากล ไม่มีเหาะเหินเดินอากาศอย่างเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของคนอื่น

สุนทรคู่เนรมิตเรื่องพระอภัยของจากเรื่องหลายกระแส เช่น
(๑) จากประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ
(๒) จากนิยายไทยและต่างประเทศ
(๓) ใช้จินตนาการของตนเองคาดอนาคตในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง เช่นเรื่องเครื่องปรับอากาศ เรื่องวิตามิน และเรื่องอื่นๆ อีกมาก
(๔) สุนทรภู่บันทึกความคิด ความเชื่อ ระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมไทยไว้มากที่สุด
(๕) บางตอนน่าจะเป็นชีวิตจริงของสุนทรภู่เอง

เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องกว้างขวางมาก นักศึกษาพึงจำตัวละครตามชื่อ ๕ นครที่มีความสัมพันธ์กันดังต่อไปนี้

กรุงรัตนา
ท้าวสุทัศน์
พระนางประทุมเกสร
พระอภัยมณี
ศรีสุวรรณ
สินสมุทร(ลูกนางผีเสื้อ)
สุดสาคร(ลูกนางเงือก)

กรุงผลึก
ท้าวสิลราช
พระนางมณฑา
สุวรรณมาลี
สร้อยสุวรรณ
จันทร์สุดา

กรุงรมจักร
ท้าวทศวงศ์
เกษรา
อรุณรัศมี

กรุงการเวก

ท้าวสุริโยทัย
เสาวคนธ์
หัสไชย

กรุงลังกา
เจ้าลังกา
อุศเรน
นางละเวง
มังคลา

พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณแห่งกรุงรัตนา เรียนวิชาดีกันคนละอย่าง พระอภัยเป่าปี่เก่ง ทำให้กองทัพทั้งกองทัพหลับได้ ศรีสุวรรณเก่งทางตีกระบี่กระบอง เมื่อเรียนแล้วกลับเมือง พระบิดากริ้วว่า ไปเรียนวิชาไม่มีประโยชน์สำหรับกษัตริย์มา จึงเลยขับออกจากเมือง สองพี่น้องจึงต้องเดินทางออกผจญภัย ไปพบพราหมณ์หนุ่มสามคนชื่อวิเชียร โมรา สานน เลยคบเป็นเพื่อน

ต่อมาพี่น้องทั้งสองพลัดกัน พระอภัยถูกนางผีเสื้อจับตัวไปเป็นผัว หนีนางผีเสื้อกลับมาได้นางเงือกเป็นเมียอีก มาอาศัยฤาษีอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารชั่วคราวกับสินสมุทร (ลูกผีเสื้อ) ส่วนศรีสุวรรณไปได้เกษราธิดาเจ้าเมืองรมจักรเป็นเมีย

ครั้งหนึ่งเรือท้าวสิลราชกับสุวรรณมาลีแห่งเมืองผลึกถูกลมซัดมาที่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยกับสินสมุทรเลยขอโดยสารกลับเมือง คราวนี้เองพระอภัยเกิดรักสุวรรณมาลีขึ้น สินสมุทรทำหน้าที่เป็นสื่ออย่างสนิทสนม

เรือเกิดแตก สินสมุทรพาสุวรรณมาลีไปพบสุหรั่งนายโจรสลัด โจรสุหรั่งจะเอาสุวรรณมาลีเป็นเมีย สินสมุทรจึงฆ่าเสีย เลยได้สมุนโจรเป็นบริวาร นำเรือไปแวะรมจักรไปพบศรีสุวรรณผู้เป็นอา แต่ไม่รู้จักกัน เกิดรบกันขึ้น ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นอาหลานกันแล้วจึงออกตามพระอภัยซึ่งเรือแตกพลัดกัน

ทางเกาะลังกา อุศเรนคู่หมั้นของสุวรรณมาลีทราบว่านางหายก็ออกติดตามไปพบพระอภัยที่เกาะแห่งหนึ่ง ทราบเรื่องเรือแตกจากพระอภัย ก็เป็นห่วงสวรรณมาลี อิศเรนรับพระอภัยให้โดยสารเรือมาด้วย

แล้วเรืออุศเรนก็มาพบเรือศรีสุวรรณ สินสมุทร และสุวรรณมาลี อุศเรนทวงนางสุวรรณมาลี สินสมุทรไม่ยอมทั้งๆ ที่พระอภัยขอให้สินสมุทรส่งคืน เลยสินสมุทรกับอุศเรนรบกัน อุศเรนแพ้ ขาเสียหนีกลับลังกา

พวกพระอภัยไปถึงเมืองผลึก นางมณฑาแม่ของสุวรรณมาลีมอบราชสมบัติให้พระอภัย แต่สุวรรณมาลีแค้นด้วยความรัก เพราะพระอภัยเคยให้สินสมุทรมอบตัวนางให้กับอุศเรน คราวนี้นางเลยหนีไปบวช พระอภัยอภิเษกกับนางไม่ได้ เกรงอุศเรนจะมารบ จึงประกาศหาคนวิชาดีไว้ช่วยสู้ศึก นางวาลีหญิงรูปชั่วปัญญาดีจึงมาอาสา พระอภัยไม่ชอบรูปร่าง แต่อยากได้ใช้ปัญญานาง เลยรับเป็นสนม นางวาลีได้ใช้อุบายจนทำให้สุวรรณมาลีมาอภิเษกกับพระอภัยได้ และเมื่ออุศเรนกลับมารบพร้อมกับบิดา นางวาลีก็ได้ตีแตกไป เจ้าลังกาถูกธนูหนีไปได้ อุศเรนถูกจับและนางวาลีเย้ยหยันเสียจนอุศเรนรากเลือดตาย แต่ผีอุศเรนก็เข้าสิงนางวาลีจนตายเหมือนกัน เจ้าลังกาทราบว่าอุศเรนตายก็สิ้นพระชนม์ลงอีก นางละเวงน้องสาวอุศเรนจึงขึ้นครองราชย์ มีตราราหูเป็นของวิเศษ มีบาทหลวงเป็นที่ปรึกษาราชการ

นางละเวงตกลงทำสงครามแก้แค้นแทนพ่อและพี่ชาย โดยคำแนะนำของบาทหลวง นางใช้เสน่ห์หญิงเป็นเครื่องมือ ส่งรูปนางพร้อมกับสาส์นเชิญกษัตริย์ต่างประเทศรบเมืองผลึกของพระอภัย สัญญาจะอภิเษกกับกษัตริย์ที่ทำสงครามชนะ

เจ้าละมานกษัตริย์องค์หนึ่งอาสารบ ก็แพ้สงคราม พระอภัยได้รูปนางละเวงจากเจ้าละมาน เลยคลั่งไคล้ใหลหลงเสน่ห์นาง ต่อมากษัตริย์อีกเก้าทัพมารบ สุดสาครลูกพระอภัยมฌีที่เกิดกับนางเงือกมาช่วยไว้ได้ สุดสาครทำให้พระอภัยหายคลั่งแล้วจึงช่วยกันปราบศึกเก้าทัพพ่ายไป

คราวนี้พระอภัยพาพรรคพวกทั้งหมดไปรบลังกาแก้แค้นบ้าง ศรีสุวรรณกับสินสมุทรไปติดกลไกที่นางละเวงสร้างล่อไว้พร้อมทั้งกองทัพ พระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพหลับหมด เว้นแต่นางละเวง ซึ่งมีตราราหูคุ้มเสียงปี่ได้ พระอภัยกับนางละเวงพบกันเป็นครั้งแรก

เมื่ออำมาตย์ทูลให้นางละเวงครองราชย์ ได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของตราราหูซึ่งเป็นตราแผ่นดินไว้ว่า

ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหู        เป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย
เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย     แต่เช้าสายสีรุ้งดูรุ่งเรือง
ครั้นแดดแข็งแสงขาวดูพราวพร้อย    ครั้นบ่ายคล้อยเคลือบสีมณีเหลือง
ครั้นค่ำช่วงดวงแดงแสดงประเทือง     อร่ามเรืองรัศมีเหมือนสีไฟ
แม้นเดินหนฝนตกไม่ถูกต้อง        เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน
ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม    ถ้าชิงชัยแคล้วคลาดซึ่งศาสตรา

ตราแผ่นดินลังกาตามจินตนาการของสุนทรภู่นี้มีคุณสมบัติแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือใช้ปรับอากาศได้ เหมือนกับเครื่องปรับอากาศสมัยนี้ “เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม”

สมัยนั้นเครื่องปรับอากาศยังไม่มีในโลก เราจึงต้องยกย่องสุนทรภู่ว่ามีความคิดเชิงพยากรณ์อนาคตได้ถูกต้อง เพราะสุนทรภู่สามารถเดาถึงประดิษฐกรรมในอนาคตได้ นั่นคือการประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด