วิพากษ์วรรณกรรมเด่นของสุนทรภู่:นิราศภูเขาทอง

Socail Like & Share

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง    มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ    ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
ลิ้นแผ่นดินสิ้นรสลุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

ในระยะเวลาใกล้ๆ กับที่ กีโซต์, ติเอรี และ มิเชอเลต์ กำลังมีชื่อเสียงเพราะเขียนประวัติศาสตร์ อยู่ในฝรั่งเศล เฮเน กำลังเพลินกวีนิพนธ์อยู่ในเยอรมนี คาลายกำลังทำความเรียงวินิจงานของเบินส์ อยู่ในอังกฤษ และ เฟนิมอร์ คูเปอร์ กำลังเด่นในการสร้างนวนิยายในอเมริกานั้น เขาจะทราบหรือไม่ว่ามีกวีไทยร่วมยุคกับเขาอีกคนหนึ่งกำลังครวญครางอยู่ในนิราศเอกของเขา กวีผู้นั้นคือ สุนทรภู่ นิราศเอก นั้นคือนิราศภูเขาทอง

ข้าพเจ้ากำลังศึกษา “ชีวประวัติและงานนิพนธ์” ของสุนทรภู่อยู่ กำลังเพลิดเพลินกับชีวิต และงานของศิลปิน ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเพื่อจะให้เป็นมหรสพของประชาชนกำลังศึกษากวีผู้มีนามควบคู่กับชาติ ชาติไทย-สุนทรภู่! ก็พอดี “วงวรรณคดี” เปิดขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ข้าพเจ้าจะได้เชิญชวนท่าน ให้ชมชื่นนิราศเอกของท่านมหากวีผู้ใหญ่ยิ่งขึ้น

สุนทรภู่เป็นนักเขียนนิราศกลอนคนสำคัญที่สุดในวรรณคดีไทย ตลอดชีวิตเขียนนิราศตั้ง ๘ เรื่อง ข้าพเจ้ายังไม่เคยทราบว่าใครเขียนมากเท่าสุนทรภู่ เริ่มเขียนนิราศเมืองแกลงอันเป็นเรื่องแรก ตั้งแต่เมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี และจบนิราศเมืองเพชรอันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายเมื่อก่อนถึงอนิจกรรมเพียงไม่กี่ปี สุนทรภู่โปรดนิราศเป็นที่สุด นิราศกลอนของสุนทรภู่ถูกถือเป็นแบบฉบับได้ทุกกระบวน นายมีผู้แต่งนิราศถลาง หม่อมราโชทัยผู้แต่งนิราศลอนดอน ล้วนเป็นศิษย์สุนทรภู่ทั้งนั้น คนแรกแทบจะสู้ครูได้ คนหลังพยายามจะเขียนนิราศให้เป็นจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ จึงหย่อนศิลปะแห่งนิราศไปบ้าง กระนั้นก็ดี หม่อมราโชทัยก็มีเกียรติสูงสุดในทัศนะของท่าน ซึ่งหวังว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้าจะมีโอกาสให้ความยุติธรรม

กล่าวโดยลักษณะนิราศเป็นคำประพันธ์ที่แต่งในขณะที่ผู้แต่งจากที่อยู่ จะจากจริงหรือสมมุติ ว่าจากไม่สำคัญ ในโอกาสเช่นนั้นคนที่มีนิสัยเป็นกวีย่อมอยู่นิ่งไม่ได้ เมื่อเห็นหรือผ่านอะไรสะดุดตา สะดุดใจ ก็นำมาคิดและเขียนลงไว้ อาจเป็นประวัติ อาจเป็นคติธรรมและภาษิตหรืออุปมาอุปไมยอันคมคาย หรืออาจเป็นการชมธรรมชาติอย่างน่าเพลิดเพลิน แล้วแต่สิ่งเหล่านี้จะดลใจ นิราศจึงมีลักษณะคล้ายๆ วรรณกรรมประเภทเดินทางและบันทึกความจำของวรรณคดียุโรป แต่นิราศมีลักษณะพิเศษ นอกเหนือไปกว่านั้น คือต้องมีโวหารสังวาสหรือรสพิศวาสประกอบด้วย จึงจะครบลักษณะแห่งศิลปะของนิราศ ผู้แต่งย่อมรักจะแสดงโวหารครํ่าครวญ และอาลัยคนรักของตนซึ่งอยู่เบื้องหลัง จะมีคนรักจริงๆ หรือสมมุติว่ามีก็ได้ สาระสำคัญคืออาลัยอิทธิพลอิสตรีให้เป็นที่มาแห่งความอ่อนหวานแห่งถ้อยคำ และเป็นห้วงกำเนิดแห่งความเคลิ้มฝันอันเป็นศิลปะของกวีเป็นสำคัญ ท่านสุนทรภู่อ้างอิทธิพลของสตรีต่อศิลปะแห่งการกวีไว้ในนิราศสุพรรณของท่านว่า “ใครที่มีชู้ชู้ช่วยคํ้าคำโคลง” ทั้งนี้ย่อมเป็นที่รับรองกันทั่วไป เพราะเราทราบกันดีอยู่ว่า สตรีเป็นผู้ก่อให้เกิดศิลปะในแทบทุกสาขา อันโวหาร สังวาสนี่ถึงกับเปรียบเทียบกันต่างๆ ท่านสุนทรภู่ว่าเหมือนพริกไทยใบผักชีที่ทำให้อาหารชูรส หลวงจักรปาณี (ฤกษ์) ผู้แต่งนิราศทวาราวดี ว่าเหมือนนํ้าตาลที่ทำให้ทองหยิบฝอยทองหวาน สรุปความได้ว่า ธรรมดานิราศถ้าขาดโวหารสังวาสก็ขาดศิลปะ

แต่สุนทรภู่เขียนนิราศของท่านให้วิเศษยิ่งขึ้นไปกว่านิราศของคนอื่น สุนทรภู่เล่าประวัติชีวิตของตนเองไว้ลงในนิราศ บอกเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนชีวิตคน บอกอุปนิสัยและอารมณ์รักอารมณ์ชัง ไว้ในนิราศ บอกจนกระทั่งความที่ไม่เป็นมงคลแก่ตัวเอง ถ้าจะพูดตามสำนวนของนักวรรณคดีฝรั่งเศส ก็ว่า สุนทรภู่วาดภาพและระบายสีชีวิตของตนไม่แพ้ มองเตญ และลารอชฟูโกลด์ กวีฝรั่งเศสเลย ในนิราศเรื่องที่สุนทรภู่เขียนมีอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่สุนทรภู่มิได้พูดถึงตนเอง นิราศพิเศษนี้คือนิราศอิเหนา ซึ่งสุนทรภู่มอบความเคลิ้มฝันอันผาสุกผสมความเศร้าให้แก่อิเหนา-ดาราละครรำของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมความได้ว่ามหากวีผู้นี้เขียนอัตชีวประวัติ (โอโตไบโอกราฟี) ลง ไว้ในนิราศของตน เป็นอัตชีวประวัติซึ่งนักศึกษาวรรณคดีไทยในปัจจุบันใช้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิจัยและวิจารณ์ชีวิตและงานของท่านได้อย่างกว้างขวาง

บัดนี้ขอแนะนำให้ท่านที่ยังไม่รู้จักนิราศภูเขาทอง ได้รู้จักนิราศเอกของท่านวรรณกรรมโกวิทแห่งชาติไทย โดยประวัตินิราศภูเขาทอง เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ นับเป็นนิราศเรื่องที่ ๓ รองจากนิราศเมืองแกลง (ต้น พ.ศ. ๒๓๕๐) และนิราศพระบาท (ปลาย พ.ศ. ๒๓๕๐) ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทอง เมื่อท่านกำลังบวชอยู่ที่วัดราชบูรณะ ขณะนั้นอายุของท่านได้ ๔๒ ปี

ถ้าเราศึกษานิราศของสุนทรภู่โดยไม่ศึกษาประวัติของท่านประกอบไปด้วย เราจะได้รับรสนิราศไม่สมบูรณ์ จึงขอเล่าประวัติของท่านก่อนแต่งนิราศภูเขาทองไว้พอเป็นเค้า สุนทรภู่นั้นเมื่อน้อย เป็นข้าอยู่ในวังหลัง ครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ในคลองบางกอกน้อยมีนิสัยเป็นกวีมาแต่เยาว์ ครั้นเป็นหนุ่มรุ่นคะนองก็เป็นดาราในวงสักวาและดอกสร้อยอันเป็นมหรสพอยู่ในเวลานั้น เคยรับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวนอยู่พักหนึ่ง แต่อิทธิพลลึกลับแห่งวรรณคดีทำให้ท่านทิ้งอาชีพเสมียน และหันเข้าสู่โลกแห่งวรรณคดี เริ่มแต่ง “โคบุตร” ประโลมโลก แบบฉบับทำให้มีชื่อเสียงดีขึ้น กลายเป็นคนเด่นในวังหลัง ในวัยหนุ่มอันขาดสติสัมปชัญญะ สุนทรภู่ ได้ไปลอบรักกับคุณจันหญิงชาววัง ทั้งนี้ทำให้สุนทรภู่กับคุณจันต้องรับอาญาโดยถูกเวรจำทั้งสองคน เพราะบุพเพสันนิวาสในตอนหลังได้อยู่กินเป็นผัวเมียกัน แต่สุนทรภู่เจ้าชู้และเมาจนคุณจันทนไม่ไหว คุณจันก็สลัดกวีขี้เมาไปมีผัวใหม่ สุนทรภู่ก็เสียขวัญจนแทบจะเสียคน ต่อนั้นมาก็เกี่ยวข้องกับหญิงหลายคน เป็นเมียบ้าง เป็นชู้บ้าง เป็นคู่รักบ้าง และเมาตลอดมา ส่วนในด้านการงานสุนทรภู่อาศัยศิลปะแห่งกลอนของตนได้เสมอ สุนทรภู่ได้โฆษณาตนเองจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงรู้จัก และโปรดให้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ มีความดีความชอบเรื่อยมาจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหาร ทรงพระเมตตาเป็นอย่างดียิ่ง พระราชทานที่ให้ปลูกบ้าน และได้เป็นกวีที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จอมกวีมีเกียรติยศสูงเด่นในสังคมชั้นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต แต่ท่านขุนสุนทรโวหารยังคงดื่มสุราจัด จนครั้งหนึ่งวิวาททุบตีญาติผู้ใหญ่ถึงกับทรงพระพิโรธ และโปรดให้เอาสุนทรภู่ไปเข้าคุกอยู่คราวหนึ่ง ต่อมามีความชอบโดยต่อกลอนได้สมพระราชหฤทัย จึงพ้นโทษออกมาจากคุกได้

โดยอุปนิสัยสุนทรภู่เป็นคนตรงไม่ตรงมา และมั่นใจในศิลปะของตนจนเกินไป สุนทรภู่เคยทักแก้บทพระนิพนธ์ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในที่ชุมนุมกวีหน้าพระที่นั่งตั้งสองหน ทำให้กรมหมื่นพระองค์นั้นทรงแค้นเคืองสุนทรภู่มาก ฉะนั้นพอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กลายเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านขุนสุนทรโวหาร-กวีปากเปราะชนิดขวานผ่าซากก็ถูกถอด และเป็นที่ทรงเกลียดชังเรื่อยมา สุนทรภู่จึงต้องไปบวช แต่ท่านกวีผู้นี้หนีเวรไม่พ้น เมื่อบวชนั้น ต้องอธิกรณ์เรื่องสำคัญ ถ้าไม่ใช่เรื่องสุราน้ำนรก ก็คงเป็นเรื่องสตรี-ศัตรูพรหมจรรย์ จะเท็จจริงอย่างไรไม่มีใครทราบ ท่านสุนทรภู่เปิดเผยไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง    มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา    ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชตรวจน้ำขอสำเร็จ    พระสรรเพ็ชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย        ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแต่ว่าเรายังเมารัก    สุดจะหักห้ามจิตจะคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป        แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน..”

จะเป็นเพราะเรื่องเหล้าหรือผู้หญิงก็ตาม ในที่สุดพระสุนทรภู่อายุ ๔๒ ปี ก็ถูกบรรพาชนียกรรม จากวัดราชบูรณะให้ไปอยู่วัดอื่น ท่านจึงถือโอกาสแห่งความเศร้าครั้งนี้นิราศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสักการะเจดีย์ภูเขาทอง นี้คือมูลเหตุที่สุนทรภู่เขียนนิราศภูเขาทอง และเขียน “ตามภาษาไม่สบาย พอคลายใจ” ดังที่ท่านบอกไว้ท้ายนิราศนั้น

เนื้อของนิราศมีอยู่ย่อๆ ว่า หลังจากรับกฐินประจำปีแล้ว พระสุนทรภู่ก็ออกจากวัดราชบูรณะ โดยทางเรือ มีนายพัดบุตรชายซึ่งคุณจันทิ้งไว้ให้ติดตามไปด้วย เมื่อเรือผ่านจวนของผู้รักษากรุงเก่า- พระยาไชยวิชิต หรือพระนายไวย เพื่อนข้าราชการในครั้งรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่คิดจะแวะเยี่ยม

“…แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก    มิอกแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร        จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ…”

ท่านกวีตกยากจึงเจียมตัวไม่แวะเยี่ยมไปจอดเรือพักอยู่ตรงข้ามวัดหน้าพระเมรุ วันรุ่งขึ้นจึงไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง

ขอแทรกประวัติของเจดีย์ภูเขาทองไว้โดยย่อในที่นี้ด้วย เมื่อพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น โปรดให้สร้างพระเจดีย์มอญองค์มหึมาขึ้นไว้ที่วัดๆ หนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ วัดนั้นอยู่ในทุ่งทางฝั่งตะวันออกห่างจากตัวกรุงเก่าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร การสร้างปูชนียวัตถุเช่นนี้ขึ้นก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพม่าได้เคยมามีอำนาจเหนือประเทศไทย เรียกเจดีย์นี้ว่าภูเขาทอง และเลยเรียกนามวัดนั้นว่าวัดภูเขาทองด้วยกาลสืบต่อมา วัดและเจดีย์ภูเขาทองปรักหักพังไปมาก ใน พ.ศ. ๒๒๘๗ พระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เจดีย์ใหม่ โดยเปลี่ยนรูปเจดีย์มอญให้เป็นเจดีย์ไทยเสีย ถึงกระนั้นก็ตามเชิงฐานยังคงมีเค้าฝีมือมอญอยู่ คติแห่งการสร้างเจดีย์นี้อยู่ที่ประกาศความเป็นทาสกับการประกาศความเป็น ไทย!

ศิลปะแห่งการกวีในนิราศภูเขาทองขึ้นถึงขีดสูงสุด สมบูรณ์ด้วยลักษณะกระบวนนิราศทุกประการ ว่าถึงกระบวนกลอนและการใช้ถ้อยคำก็ประณีตบรรจงยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ นิราศเรื่องนี้เป็นนิราศ แห่งความตกยาก ความเศร้า และความพลาดหวัง ความคิดเกี่ยวแก่การปลงสังเวชตนจึงหลั่งไหลออกมาจากหัวใจของสุนทรภู่อย่างไม่สิ้นสาย สุนทรภู่อุทิศส่วนใหญ่ของนิราศเพื่อพูดถึงตนเอง และพูดครวญครํ่ารำพันอย่างอิสระตามอำเภอใจ เป็นการพิลาปตามทำนองเสรีรำพันในลัทธิโรมังติสม์ของวรรณคดียุโรปแท้ทีเดียว ท่านรำพันด้วยความอาลัยถึงวัดราชบูรณะว่า

“โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร    แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
หวนรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง        ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง’’

เต็มไปด้วยเสียงอาลัย เต็มไปด้วยความแค้นอย่างพูดไม่ออก และเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ตนไม่ได้รับความยุติธรรม

ในขณะถูกขับจากวัดนี้ สุนทรภู่เสียสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งที่ไม่มีอยู่ ท่านได้ปลงสังเวชความทุกข์ยากของตนว่า

“โอ้พสุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น        ถึงสี่หมื่นสองแสนแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้        ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา’’

การถูกบรรพาชนียกรรมทำให้มหากวีอาภัพปวดร้าวและครวญออกมาอย่างที่คนอื่นเอาอย่างไม่ได้ กวีนักนิราศอีกคนหนึ่งคือหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) เจ้าของนิราศทวาราวดีพยายามจะสู้สำนวนนี้ โดยกล่าวว่า

“ถึงบ้านบางธรณีไม่มีชื่น        โอ้ภาคพื้นแผ่นที่ใหญ่หนา
ยามเราจนอ้นอั้นเหลือปัญญา    สุดจะอาศัยดินสิ้นทั้งปวง’’

ท่านจะเห็นความแตกต่างในรสเพราะและความงามได้อย่างชัด คุณหลวงยังขึ้นไม่ถึงท่านขุนถูกถอด เพราะคุณหลวงมิได้ปวดร้าวจริงดังท่านขุนโวหารตอนนี้ของสุนทรภู่จึงสมดังที่คีตส์กวีร่วมยุคกับสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า “ความงามคือความจริง และความจริงคือความงาม’’

ถ้าท่านศึกษาสุนทรภู่ท่านจะเห็นว่าเป็นคนกตัญญที่สุดคนหนึ่ง แต่สุนทรภู่เป็นกวีที่ยากจน ค่นแค้น มีหนทางเดียวที่จะแสดงกตเวทีได้คือโดยถ้อยคำ สุนทรภู่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า

“โอ้ผ่านเกล้าเจ้าพระคุณของสุนทร    แต่ปางก่อนเคยได้เฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานหนึ่งศีรษะขาด        ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ

ทั้งโรคซ้ำกรรมวิบัติมาซัดเป็น        ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย    ประพฤติฝ่ายสมถะพระวษา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา        ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป”

อนิจจา ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะทรงทราบด้วยพระญาณใดๆ ว่ากวีที่พระองค์เคยโปรดกำลังถวายความจงรักภักดีอย่างน่าสงสารเช่นนี้ พระองค์จะปีติสักเพียงไหน

ท่านอมตกวีสำแดงความภาคภูมินักหนาในชีวิตราชการของท่านในรัชกาลที่ ๒ เพราะท่านเคยรับราชการใกล้ชิดสนิทสนมในเรือพระที่นั่ง เมื่อกษัตริย์จอมกวีจะทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใด สุนทรภู่ก็เคยมีหน้าที่อ่านและเขียนถวาย ท่านว่า

“เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ        ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา            วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์…”

นี่คือการเปรียบเทียบที่หอมยิ่งกว่ากลิ่นสุคนธ์ใดๆ อันความสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ สุนทรภู่คงถึงกับเอาไปเคลิ้มฝันไว้ในลักษณวงศ์วรรณกรรมหากินยามยากของท่าน ในเรื่องนี้ท่านเปรียบตัวเองเป็นพราหมณ์เกสร และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นลักษณวงศ์ ในความว่า

“ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา        พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี
เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อพอดี        ท้าวทวีความสวาทประภาษชม”

ข้าพเจ้าอาจเรียกได้เต็มปากว่าสุนทรภู่เป็นนักรักคนสำคัญ ท่านศิลปินได้ประสบรสของความรักทุกกระบวน อันรสของความรักนี้วรรณคดีสันสกฤตเรียกว่า “ศฤงคารรส” ซึ่งมีความคลี่คลายออกไปเป็นชั้นๆ คือเมื่อหญิงกับชายต่างเกิดความพิสมัยในกันและกันขึ้น โดยต่างฝ่ายต่างยังไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน เรียกความรักตอนนี้ว่าอโยค ถ้าหญิงชายได้ร่วมรักสมัครสมานกันจนสนิทสนมแล้ว ลักษณาการของความรักระยะนี้เรียกว่าสมโภค และถ้าหากว่าทั้งสองฝ่ายมีความจำเป็นที่จะต้องแตกความสัมพันธ์กันในตอนหลัง ความรักในระยะนี้เรียกว่า วิประโยค หรือบางทีเรียกวิประลัมภ์ ท่านสุนทรภู่ผ่านศฤงคารรสทุกชั้นตามตำรานี้! เคยก่อความรักขึ้นกับคุณจันตั้งแต่ในวัยรุ่น เคยชนะหัวใจคุณจันจนได้ เป็นภรรยา และในบั้นท้ายคุณจันก็หลุดมือไปอย่างไม่มีวันกลับ นอกจากนั้นยังมีเมียและชู้รักอีกหลายคน เช่น แม่นิ่ม แม่ม่วง แม่แก้ว แม่กลิ่น แม่สุข แม่น้อย บัวคำ (ลาว) ตลอดจน “นกน้อยลอยลม” ซึ่ง ท่านศิลปินเอกได้ให้เกียรติยศอ้างชื่อไว้ในนิราศสุพรรณโดยไม่เกรงข้อครหาใดๆ ด้วยเหตุที่ท่านมีความชำนาญในเรื่องรักอย่างชัดเจน จึงรู้แจ้งเห็นจริงในกระบวนนิราศอย่างเต็มภาคภูมิ และนำเอาอารมณ์ ทั้งหลายอันเกิดจากศฤงคารรสมาจารึกไว้ในนิราศและงานนิพนธ์อื่นๆ อย่างวิจิตรพิสดารที่สุด

ในนิราศภูเขาทองถึงแม้ท่านสุนทรภู่จะอยู่ในสมณเพศและอยู่ในระหว่างเศร้าโศก สุนทรภู่ ไร้ญาติขาดมิตร เมียและคนรักก็ดูเหมือนจะไม่มี แต่สุนทรภู่เสียดายศิลปะของพิศวาสนัก หากจะไม่รำพันโวหารพิศวาสไว้ด้วย ฉะนั้นในนิราศเรื่องนี้จึงมีกระบวนพิศวาสที่น่าเพลิดเพลินอยู่หลายตอน

“…เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง    ทั้งรักแซงแซมสวาทประหลาดเหลือ
เหมือนโศกพี่ที่ระกำก็ช้ำเจือ        เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย”

นี่คือการพรํ่าเพ้อของกวีเมียทิ้ง ที่น่าอ่านยิ่ง ตอนหนึ่งท่านศิลปินเอกรู้สึกเหมือนว่าตนเองเข้าไปอยู่ในอาณาจักรแห่งความผันแปรของอารมณ์ มีรัก มีระกำและมีโศกสลับกันไป และศิลปินนักฝันผู้นี้ได้เหยียดความคิดของตนไปไกลจนถึงกับว่า

“งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม        ดังขวากเสี้ยมแซมแซกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย        ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว(๔๒ ปี)    ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง        เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไร…”

สังเกตดูทัศนะสำคัญยิ่งของท่านอมตกวีในนิราศภูเขาทองนี้อยู่ที่การจะพูดถึงโลกและชีวิตเป็นสำคัญ เป็นการเปล่งเสียงที่ปลงตกไปเสียทุกอย่าง

“โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก    เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงและเกียรติยศ    จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้มีดีมากแล้วยากเย็น    คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น…”

โวหารการประกาศความเข้าใจในโลกและมนุษย์อันคมคายมีอยู่มากในนิราศภูเขาทอง

“…ถึงบ้านเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด        บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน        อุปมายเหมือนมะเดื่อเหลือระอา…”

และได้เน้นจิตมนุษย์ไว้ว่า

“โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง        เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายเป็นหลายใจ    ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิด…”

ด้วยโลกทัศน์อันกว้างและลึกซึ้งของสุนทรภู่ดังนี้กระมัง บางท่านจึงเทิดมหากวีสุนทรภู่ว่า เป็นกวีปรัชญาเมธีผู้หนึ่งที่ชาติไทยควรจะภาคภูมิ

นิราศภูเขาทองนั้นเป็นนิราศสั้นที่สุดของสุนทรภู่ แต่ว่ามีศิลปะแห่งนิราศพร้อมบริบูรณ์ทุกกระบวน นักปราชญ์คนสำคัญๆ ของเมืองไทย เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงยกย่องนิราศภูเขาทองเป็นนิราศเยี่ยมยอดของสุนทรภู่ ดีกว่านิราศเมืองแกลง ซึ่งเขียนเมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี เด่นกว่านิราศพระบาท ซึ่งครํ่าครวญถึงเมียที่ตนทะนุถนอมแต่อย่างเดียว วิเศษกว่านิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งตัวสุนทรภู่เองต้องใช้สำนวนเณรหนูพัดแทน ซาบซึ้งยิ่งกว่านิราศอิเหนา ซึ่งเป็นนิราศที่สุนทรภู่มิได้พูดถึงตนเอง ชนะนิราศสุพรรณซึ่งแต่งเป็นโคลงที่สุนทรภู่ไม่ถนัด จะมีนิราศที่พอเท่าเทียมกับนิราศภูเขาทองได้ก็แต่นิราศเมืองเพชร ซึ่งแต่งเมื่อสุนทรภู่ “สุกสมบูรณ์แล้ว” อนึ่ง ตามทัศนะของข้าพเจ้าเห็นว่า นิราศพระปธม ก็เกือบจะขึ้นถึงนิราศภูเขาทองเหมือนกัน แต่เรื่องนี้วิเศษเฉพาะความงาม ในกระบวนโวหารพิศวาส เช่นที่จับใจคน จนมีผู้เอาไปประกอบเพลงดนตรีก็มี คือ

“แม้นเป็นไม้ให้พี่ได้เป็นนก        ให้ไก้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์        ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่        ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร        ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์    จะได้ลงสิ่งสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา        พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัน…”

ข้าพเจ้าใคร่จะวิจารณ์ว่าอันจิตตารมณ์ของนิราศ โดยเฉพาะนิราศของสุนทรภู่นั้นมีทำนองรำพันอย่างเสรี ดิ้นรนที่จะแสดงความรู้สึก ความเพ้อฝันอันวิจิตรพิสดาร ผู้แต่งต้องการแสดงความฉลาดของตัวให้โลกเห็น ต้องการเป็นตนของตนเอง มีความรู้สึกรุนแรงที่จะรังสรรค์ความงามให้อิ่มใจ และกล้าพูดกล้าคิด ไม่เอาใจใส่ต่อแบบแผนและประเพณี จิตตารมณ์ของนิราศจึงไปเหมือนกับลัทธิ โรมังติสม์ของวรรณคดียุโรปเข้าอย่างแปลกประหลาด และที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ สุนทรภู่เป็นกวีร่วมยุคกับกวีลัทธิโรมังติสม์ เช่น ซาโตบริอางค์ ลามาตีน และฮูโกของฝรั่งเศส และไบรอน เวิดสเวิธ และคีตส์ของอังกฤษอีกด้วย ท่านจะไม่ภาคภูมิหรือที่ชาติไทยมีสุนทรภู่?

แก้เอยแก้วใด                หาได้ไม่ยากหากจะหา
ขุนพลแก้วขุนคลังแก้ก็เหลือตรา    ทั้งนางแก้วกัลยาแก้วมณี
ยิ่งช้างแก้วม้าแก้วแล้วยิ่งมาก    ที่หายากคือแก้วกวีศรี
ห้าสิบสองล้านพลเมืองที่ไทยมี    หากวีแก้วได้เท่าใดเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด