ช้างเป็นสัตว์ที่พระอิศวรทรงสร้าง

พูดถึงช้างใครๆ ก็คงได้ยินชื่อ แต่ก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่เคยเห็นช้าง จะเห็นก็เพียงรูปภาพเท่านั้นพระอิศวร

พูดอย่างนี้ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวสุรินทร์คงจะหัวเราะ เพราะสุรินทร์มีช้างอยู่ทั่วไป แต่สำหรับจังหวัดอื่นที่ไม่มีป่า เช่น จังหวัดทางภาคกลางเป็นต้น คนไม่เขยเห็นช้างมีอยู่มากมาย ผมเองเคยเห็นช้างครั้งแรกเมื่ออายุเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ตอนที่ไปอยู่จังหวัดปัตตานี เพราะที่นั่นมีช้างไว้บรรทุกยางและแร่มากมายเหมือนกัน แต่ก็คงจะมีน้อยกว่าช้างสุรินทร์เป็นแน่

เรื่องของช้างเป็นเรื่องที่น่ารู้มากมาย มากกว่าที่เราเห็นตัวช้างเสียอีก

ช้างนั้นลักษณะนามเรียกว่าเชือก ไม่ใช่เรียกว่าตัวอย่างสัตว์อื่น และก็มีช้างอย่างเดียวที่มีลักษณะนามว่าเชือก ทำไมถึงเรียกว่าเชือกก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ช้างนั้นเป็นสัตว์สี่เท้าที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน จนเรามีคำเปรียบเทียบว่าโตเท่าช้าง หรือใหญ่เท่าช้าง หรือถ้ามีการเลี้ยงกันขนาดใหญ่ก็ว่าเลี้ยงช้างดังนี้ก็มี

ช้างคงจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรามานมนาน ถ้าเราศึกษาเรื่องของศาสนา หรือประวัติศาสตร์ของชนชาติเอเซียแล้ว ก็หนีช้างไม่ค่อยพ้น

ทางศาสนาพราหมณ์ว่าช้างนั้นเป็นสัตว์ที่พระอิศวรสร้างขึ้น โดยพระอิศวรผู้เป็นเจ้าชูพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้น ก็บังเกิดเป็นดอกบัวขึ้นมา มีกลีบได้ ๑๐ กลีบ (บัวทุกวันนี้จะมีกลีบกี่กลีบก็ไม่ทราบลองนับดู ถ้ามีสิบกลีบ ก็เห็นจะเป็นบัวที่พระอิศวรสร้างขึ้นก็เป็นได้) และเมื่อพระอิศวรเป็นเจ้ายกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้น ก็เกิดเป็นช้าง ๑๐ ตระกูล

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ความแตกต่างระหว่างเครื่องถ้วยไทยและเครื่องถ้วยจีน

คราวนี้จะได้พูดเปรียบเทียบถึงรูปร่างลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาของไทยและเครื่องเคลือบดินเผาที่ขุดพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ศิลปขอม หรือสมัยลพบุรี แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ จะยกข้อแตกต่างระหว่างเครื่องปั้นดินเผาของจีนและของไทยว่าแตกต่างกันอย่างไรมากล่าวเสียก่อน เพื่อสะดวกแก่การที่จะเปรียบเทียบระหว่างเครื่องเคลือบสุโขทัยเราและของสมัยลพบุรีต่อไปเครื่องถ้วยไทย

พระยานครพระราม ผู้ที่สะสมเครื่องถ้วยคนหนึ่ง ได้เล่าเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเครื่องถ้วยไทย และเครื่องถ้วยจีนไว้ว่า

๑. วิธีปั้นภาชนะปากเล็กหรือค่อนข้างเล็กของจีนโดยมากทำต่อกันที่ส่วนกลางกำล่ง แต่ของไทยไม่ทำต่อแม้ปากเล็กเท่าเล็ก

๒. ภาชนะของจีนในยุคถังหรือซ้องมักจะทำโดยวิธีพิมพ์รูปสำเร็จแทนการปั้นของไทยไม่ปรากฏว่าทำด้วยพิมพ์สำเร็จเลย

๓. ลวดลายที่ขุดขีดในภาชนะของจีนแทบทั่วไปใช้ปาดหรือฝานมีส่วนเส้นกว้างมีรอยข้างหนึ่งลึกข้างหนึ่งตื้นไม่เท่ากัน ของไทยมีเส้นลึกเป็นสามเหลี่ยมหรือโค้งกลมมีส่วนเส้นเสมอกัน

๔. นํ้ายาชนิดเล่งจั้วหรือสีลาดอนของจีนแข็งแต่ขุ่นทึบ ของไทยอ่อนกว่าแต่หนาใส เว้นแต่ของจีนสมัยเหม็งต่อมาทำอย่างใสคล้ายของไทย

๕. รอยแตกหรือแคร๊กของจีนมีเพราะทำขึ้น ของไทยเป็นด้วยน้ำยาเคลือบแตกปริขึ้นเอง ของใหม่จึงไม่ใคร่เป็นรอย ของใช้แล้วมีรอยชัด

๖. หูของจีนนอกจากของเลวใช้ทำเป็นวงแหวนติด ของไทยทำเกาะอย่างตัวปลิง เว้นแต่เตาเวียงกาหลงทำหูภาชนะเล็กคล้ายของจีน ของนิดใหญ่ไม่มีหูทำเป็นปุ่มอย่างเดือยไก่ เครื่องถ้วยจีน

๗. การเขียนลายของจีนแม้แต่สมัยเหม็งตอนต้นก็มีเขียนเส้นเป็นร่างลงแล้วจึงระบายสีทับ ฉะนั้นตำราเครื่องถ้วยซึ่งมีผู้เขียนไว้จึงกล่าวว่า ลอกแบนจากภาพมาเขียน แต่ของไทยเขียนลายลงไปโดยไม่มีเส้นร่างอย่างเดียวกับของจีนสมัยหลังๆ

๘. ของจีนส่วนมากมีเครื่องหมายเตาและศักราช ซึ่งจะหาไม่ได้เลยในของไทย

๙. ของจีนต้องมีลายฮกลกซิ่วพร้อมหรือแต่ละอย่าง

นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างของไทยและของจีนเท่าที่พระยานครพระรามค้นคว้าเทียบเคียงไว้เป็นข้อใหญ่ๆ

เมื่อพูดถึงลาย ฮกลกซิ่วแล้ว ก็จะขอพูดถึงลายชนิดนี้ ซึ่งปรากฏอยู่ที่เครื่องด้วยหรือเครื่องปั้นดินเผาของจีนเพื่อท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านจะได้มีความเข้าใจเสียด้วย

ลายฮก ลก ซิ่ว นั้น เขียนลายเป็นตัวหนังสือก็มี เขียนเป็นรูปภาพให้มีความหมายอย่างอักษรก็มีคำว่า ฮก หมายถึง วาสนา ลก หมายถึงความบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารสมบัติ ซิ่ว หมายถึง ความยั่งยืนหรือมีอายุยืน แต่คำว่า ฮกลกซิ่วนี้ไม่ใช่เขียนเป็นตัวหนังสือเสมอไป เขียนเป็นรูปภาพก็มี เช่น ฮก เขียนเป็นรูปขุนนางสวมหมวก มีใบหูกาง ๒ ข้าง มีมือถืออยู่อี่ แสดงถึงวาสนา ลก เขียนเป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเล้าข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงถึงโภคสมบัติ มีมืออุ้มเด็ก แสดงถึงบริวารสมบัติ และซิ่ว เขียนเป็นรูปคนแก่ ถือไม้เท้ามือหนึ่ง ถือผลท้อมือหนึ่ง แสดงความเป็นผู้มีอายุยืน และมั่นคง ถ้าท่านเห็นรูปภาพดังที่กล่าวมานี้ที่เครื่องถ้วยหรือเครื่องปั้นดินเผาของจีนละก็ พึงรู้เถิดว่านั่นคือลายฮกลกซิ่วดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมงคลแก่ผู้ที่ได้ใช้สอย คนเราถ้าได้มีวาสนาดีมีทรัพย์สมบัติมาก และมีอายุยืนปราศจากโรคภัยแล้ว ก็เรียกได้ว่ามีบุญที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนาไม่เฉพาะแต่คนจีนที่เป็นต้นคิดทำเครื่องหมายนี้ขึ้นเท่านั้น

ที่กล่าวถึงลักษณะเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยข้างตนนั้นเป็นคำอธิบายของพระยานคร พระราม เรื่องเครื่องปั้นดินเผามีผู้สนใจค้นคว้ากันมาก เพราะแสดงถึงความเจริญอย่างหนึ่งของไทยเรา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “เนื้อหิน ที่เอามาบดปั้นเป็นเครื่องสังคโลกไทย สังเกตดูที่อย่างดีเป็นหินสีขาวเจือดำอย่าง ๑ สีขาวเจือเหลืองอย่าง ๑…….เครื่องสังคโลกไทย พิเคราะห์ดูทำลักษณะต่างกันเป็น ๓ อย่างคือทำเนื้อด้านไม่เคลือบ (ที่ฝรั่งเรียกบิสคิต) อย่าง ๑ เคลือบเนื้อหยาบอย่างอ่างมังกร อย่าง ๑ เคลือบเนื้อละเอียดอย่างเครื่องถ้วยของจีนอย่าง ๑….

ของสังคโลกที่เคลือบหยาบอย่างอ่างมังกรนั้น มักพบที่ทำเป็นตุ่มใหญ่ๆ ขนาดตั้ง ๏๕-๑๖ กำ แต่ของเล็กจนกระทั่งกาน้ำที่เคลือบอย่างนี้ก็มี แต่ของชนิดนี้พบน้อย

ของเคลือบอย่างละเอียดนั้น เป็นของที่ช่างจีนของสมเด็จพระร่วงมาทำเป็นแน่ ทำได้หลายอย่างสังเกตตามตัวอย่างที่ได้พบ ทำเคลือบพื้นเกลี้ยงอย่างหนึ่ง เคลือบผิวราน (สังคโลก) อย่างหนึ่ง ทำลายในกระบวนปั้นอย่างหนึ่ง ทำลายกระบวนแกะอย่างหนึ่ง ลายเขียนอย่างหนึ่ง สีที่เคลือบเคลือบสีเขียวไข่กาสีหนึ่ง สีเหลืองสีหนึ่ง สีขาวสีหนึ่ง แต่สีขาวต้องเคลือบด้วยยาขาว เพราะเนื้อหินไทยไม่ขาวบริสุทธิ์ถึงหินจีน จะเคลือบยาใสอย่างกังใสไม่ได้ สีที่เขียนพบสีดำสีหนึ่ง สีเหลืองสีหนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบสังคโลกไทยที่เขียนคราม แต่ได้พบเศษชิ้นชามลายครามจีนก่อนไต้เหม็งที่เตาทุเรียงเมืองสวรรคโลกชิ้นหนึ่ง เห็นได้ว่า วิชาเขียนลายครามปรากฏแล้วในครั้งนั้น แต่เห็นจะเป็นเพราะยังไม่รู้วิธีประสมสีครามให้เหมือนของจีนจึงไม่ปรากฏว่าเครื่องสังคโลกไทยมีเขียนลายคราม’’

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ชนิดของเครื่องเคลือบดินเผา

เครื่องเคลือบดินเผาแบ่งออกเป็น ๕ ชนิด
เครื่องเคลือบดินเผานักปราชญ์แบ่งได้เป็น ๕ ชนิด คือ

๑. เครื่องดินแดง (Terra cotta) หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาอย่างชั้นต่ำไม่ เคลือบและน้ำซึมได้

๒. เครื่องดิน (Earthenware) คือเครื่องปั้นดินเผาที่ซึมนํ้าและเคลือบชั้น เดียว แต่บางท่านอธิบายว่าจะเป็นสีใดก็ตามเผาด้วยความร้อน ๙๐๕-๑๐๐๐° ซ.เครื่องหินเหล็ก

๓. เครื่องหิน (stoneware) คือเครื่องปั้นดินเผาที่ทึบแสงไม่ซึมน้ำ ลาง ท่านว่าเป็นสีอะไรก็ได้เผาด้วยความร้อนประมาณ ๑๒๐๐-๑๓๐๐° ซ. เวลาเคาะมีเสียงกังวาลกว่าเครื่องดินและแข็งแกร่งมาก เครื่องหินนั้น ท่านผู้รู้บางท่านว่าใช้ดินผสมด้วยหินฟั่นม้า ซึ่งป่นละเอียดแล้วจึงปั้น จึงทำให้แข็งแกร่งมาก เคยทำเครื่องหินทำเป็นกระปุกตกบนพื้นซีเมนต์ซึ่งถ้าเป็นเครื่องปั้นดินเผาธรรมดาแล้ว จะต้องแตกละเอียดแน่ แต่เครื่องหินไม่เป็นอะไรเลย แม้แต่รอยกะเทาะก็ไม่มี นับว่าแข็งแกร่งจริงๆ

๔. เครื่องหินเหล็ก (iron Stoneware) เป็นเครื่องหินที่ใช้น้ำเคลือบมีส่วนผสมเป็นเหล็ก (iron Oxide) เผาแล้วเป็นสีน้ำตาล

๕. เครื่องเปอร์ซเลน (Porcelain) หรือเครื่องจีน (chinaware) เป็น
เครื่องปั้นดินเผาชั้นดี ตัวดินมีสีขาวหรือสีอื่น ไม่ทึบแสง นํ้าซึมไม่ได้ ผิวพื้นอาจเป็นลายเสื่อหรืออาบด้วยน้ำเคลือบมีความแตกต่างจากเครื่องหินเห็นได้ชัดคือที่ไม่ทึบแสงกับทึบแสง ของประเภทนี้ เมื่อยกขึ้นส่องกับแสงสว่างก็จะเห็นเงาสิ่งที่ติดอยู่ด้านนอกเช่นมือที่จับถือ เนื้อละเอียด เวลาเคาะมีเสียงใสกังวาล ชนิดที่ดีมากใช้เถ้ากระดูกผสมด้วย เรียกว่า “โบนไชนา” (Bone-china) เครื่องเปอร์ซเลนนี้ บางท่านเรียกเป็นภาษาไทยว่าเครื่องถ้วย บางท่านเรียกว่าเครื่องกระเบื้อง บางท่านเรียกว่าเครื่องลายคราม แต่เครื่องลายครามนี้ คนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นเครื่องเปอร์ซเลนของจีนที่มีสีเป็นคราม

เมื่อพูดถึงเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ใครๆ ก็อดที่จะยกย่องเครื่องปั้นดินเผาของจีนไม่ได้ โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์เหม็ง สรรเสริญกันว่าเป็นอย่างเอก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า เครื่องเปอร์ซเลนเป็นของทำได้-แต่จีนชาติเดียวอยู่นานหลายร้อยปี ชาวประเทศอื่นจึงไปคิดเตาใช้ทดลองทำขึ้นได้บ้าง คือ ชาวอิตาลี เมื่อราว พ.ศ. ๒๐๑๓
ชาวญี่ปุ่น เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๔๓
ชาวฝรั่งเศสราว พ.ศ. ๒๒๐๗
ชาวอังกฤษ ราว พ.ศ. ๒๒๑๔
ชาวเยอรมัน ราว พ.ศ. ๒๒๔๓

ดังนั้น เครื่องถ้วยชนิดนี้ จึงเรียกกันทั่วไปว่าเครื่องจีน หรือไชนาแวร์ แต่ไม่ใช่ว่าชาตินั้นๆ จะเอาตำราไปจากจีนก็หาไม่ ชาติเหล่านั้นคิดค้นขึ้นเอง แต่แน่ละ การที่จะคิดค้นขึ้นมาได้ก็ต้องได้เห็นตัวอย่างจากจีนก่อน อันนี้เป็นของแน่

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การค้นพบเครื่องปั้นดินเผา

แรกเริ่มเดิมที เมื่อมนุษย์เรายังมีภาวะความเป็นอยู่ที่ห่างไกลจากอารยธรรมปัจจุบันนี้เรื่องภาชนะใส่อาหารเห็นจะไม่ต้องคำนึงถึงกัน มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำหรือซอกผานั้น ก็มีความเป็นอยู่ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ชนิดอื่นมากมายนัก เมื่อต้องการอาหารก็เสาะแสวงหาเอาจากธรรมชาตินั่นเอง เช่นผลหมากรากไม้ สัตว์ป่า ปูปลา เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วก็ยังไม่ รู้จักวิธีที่จะปรุงแต่งอาหารให้มีเครื่องปั้นดินเผารสชาติ ได้มาอย่างไรก็กินเข้าไปอย่างนั้น เช่นเนื้อสัตว์ก็คงจะกินกันดิบๆ นั่นเอง สิ่งที่รองรับอาหารก็เห็นจะเป็นใบไม้เปลือกไม้เท่านั้นเอง ต่อมาจะโดยเหตุบังเอิญก็เป็นได้ เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น สัตว์ป่าที่หนีไฟป่าไม่ทันก็ถูกไฟเผาไหม้อยู่ในกองไฟนั่นเอง มนุษย์เราไปพบสัตว์ที่ตายด้วยไฟเข้าก็คงจะลองชิมดูก็ร้สึกว่าเนื้อสัตว์ที่ถูกไฟเผาแล้วนี้มีรสชาติอร่อยกว่าที่ไม่ถูกเผาหรือเนื้อดิบๆ ที่เคยกินนั้นเสียอีก มนุษย์เราจึงรู้จักใช้ไฟและรู้จักปิ้งอาหารเนื้อให้สุกเสียก่อน เพราะธรรมชาติสอนให้เป็นครั้งแรก และอาหารของมนุษย์เราครั้งแรกนี้ก็คงจะมีเพียงอาหารแห้ง ไม่มีอาหารนํ้า ดังนั้น เรื่องความต้องการภาชนะที่จะปรุงอาหารคงจะยังไม่เกิดขึ้น ต่อมาคงจะมีมนุษย์สักคนหนึ่งที่บังเอิญคิดต้มนํ้าทำอาหารขึ้นมาได้ อาจจะเอากระดองสัตว์ เช่นเต่ามาทำเป็นภาชนะต้มก่อน แล้วต่อมาจึงมีคนคิดปั้นภาชนะดินขึ้นอย่างหยาบๆ แล้วตากให้แห้งโดยไม่ได้เผา และเมื่อเอาภาชนะดินดิบขึ้นตั้งไฟหลายๆ ครั้งเข้าภาชนะดินดิบนี้ก็เกิดความแข็งแกร่งขึ้น มนุษย์เราจึงรู้จักทำเครื่องปั้นด้วยดิน แล้วนำไปเผาขึ้นในเวลาต่อมา แต่ก็คงเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหยาบๆ อย่างที่เราขุดค้นพบในบริเวณถ้ำผีแมนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีอายุเก่าที่สุดระหว่าง ๙๐๐๖-๗๓๒๒ ปี ส่วนที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทยก็ได้มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่วิเศษที่สุดที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงนี้เป็นลายเขียนที่สวยงามมาก ซึ่งมีอายุประมาณ ๗๐๐๐-๖๐๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่บ้านเชียงนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยดังไปทั่วโลก และทำให้คนไทยเราขุดขายคนต่างชาติรวยไปหลายคน ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าสลดใจมาก จนรัฐบาลได้ออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ขืนมีไว้เป็นความผิด เรื่องการขุดขายจึงซบเซาไป เหตุใดคนจึงตื่นเต้นเรื่องเครื่องปั้นดินเผาเก่า รูปร่างไม่สวยงามถึงเช่นนี้ก็เพราะว่าในหมู่คนที่สนใจค้นคว้าความเป็นมาของมนุษย์ชาตินั้น การได้พบเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุมากๆ เช่นที่บ้านเชียง เป็นหลักฐานให้การค้นคว้าความเป็นมาของมนุษย์สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั่นเอง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องก่อน ประวัติศาสตร์ การจะค้นคว้าหลักฐานทางหนังสือย่อมทำไม่ได้ จึงได้แต่ค้นคว้าทางวัตถุของเก่าที่มนุษย์ทำขึ้นนี่เอง แต่พวกเราเองกลับไม่รู้คุณค่าขุดขายทำลายเสียหมด ปฐมเหตุที่จะได้มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงนี้มีอยู่ว่า มีครูคนหนึ่งที่บ้านเชียง เกิดสนใจเศษหม้อที่มีลวดลายสีแดงๆ ซึ่งพบตกหล่นอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านที่คนอยู่ จึงได้นำไปมอบให้หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๗ ณ ที่ทำงานในจังหวัดอุดรธานีและเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่นั่นก็ได้ไปสำรวจดูที่บ้านเชียงด้วยตนเองพร้อมกับเก็บเศษตัวอย่างส่งเข้ามายังกรมศิลปากร เพื่อทำการวิจัยต่อไป

และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ นายสติเฟน ยัง บุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ได้ไปพักที่บ้านเชียง เขาได้พบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่กล่าวแล้วเข้าที่นั่น เกิดความสนใจ และได้นำเข้ากรุงเทพมหานคร ข่าวจึงได้กระจายทั่วไป เป็นเหตุให้ชาวต่างประเทศพากันสนใจไปหาซื้อกันมากมาย จนพวกเราพากันขุดขาย ผลที่สุดรัฐบาลต้องออกกฎหมายมาห้ามดังกล่าวแล้ว นอกจากค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงแล้ว ยังได้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีอายุ ๔๒๐๐-๔๕๐๐ ปี ที่ “ทุ่งกว้างโนนนกทา” ตำบลบ้านโคก
อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีอายุประมาณ ๔๐๐๐ ปี ในบริเวณหมู่บ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และที่หมู่บ้านโคกเจริญ ตำบลบัวชุม อำเภอไชยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็ได้มีผู้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาอายุประมาณ ๓๐๐๐ ปี และอีกแห่งหนึ่งที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ก็มีผู้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาอายุระหว่าง ๒๙๐๐-๒๕๐๐ ปี จึงพอสรุปได้ว่าวัฒนธรรมในการทำเครื่องปั้นดินเผาเท่าที่ค้นพบในประเทศไทยเวลานี้มีอายุอยู่ในระหว่าง ๙๐๐๐-๒๕๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว แต่ถ้าจะกล่าวถึงส่วนรวมทั้งโลกแล้ว ก็ปรากฏว่าหลายชาติหลายภาษารู้จักทำเครื่องปั้นดินเผามาก่อนแล้ว อย่างเช่นชาวอียิปต์รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา มาก่อนผู้อื่น โดยใช้ดินในลุ่มแม่นํ้าไนล์ปั้นอิฐตากแดดให้แห้งแล้วเอามาใช้ แล้วต่อมาจึงรู้จักใช้ไฟเผา อิฐที่กล่าวนี้ได้มีการค้นพบที่ลุ่มแม่น้ำไนล์มีอายุราว ๑๐๐๐๐ ปี หรือกว่านั้นขึ้นไป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตดู เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ฝีมือหยาบและไม่มีสี นอกจากที่บ้านเชียงของเราเท่านั้นที่รู้จักเขียนสีและมีลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบนั้นส่วนใหญ่มักจะทำเป็นรูปหม้อ ไห และคนโทน้ำ นอกจากนี้เคยเห็นทำเป็นรูปชาม อย่างชามกะลาที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีบ้าง และเคยเห็นทัพพีเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงด้วย จากลักษณะของภาชนะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็พอเป็นพยานชี้ให้เห็นว่าคนเรารู้จักทำอาหารที่มีน้ำรับประทานกันนานมาแล้ว อย่างน้อยก็หลายพันปี ไม่เช่นนั้นจะทำทัพพีใช้ทำไม เพราะสิ่งนี้เป็นเครื่องมือสำหรับตักของเหลวมากกว่าของไม่เหลวอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

งูพันคบเพลิงสัญญลักษณ์ของแพทย์

เรื่องของงูยังมาเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ของเราด้วย ท่านเคยสังเกตไหมว่าเหตุใดในวงการแพทย์ จึงมีเครื่องหมายเบป็นรูปงูพันไม้เท้าหรือคบเพลิง ? เรื่องนี้มีผู้เล่าว่าเนื่องมาจากนิยายกรีกเรื่องหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า คนเลี้ยงแพะชาวกรีกได้ไปพบทารกคนหนึ่งนอนร้องไห้อยู่บนภูเขา โดยมีแพะตัวหนึ่งเอานมของมันให้เด็กนั้นดูดกิน คนเลี้ยงแพะจึงเข้าไปอุ้ม ก็เห็นรัศมีเกิดขึ้นรอบๆ ศีรษะเด็กนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ เด็กคนนี้ชื่อว่า เอสกูลาปิอุส ว่ากันว่า เอสกูลาปิอุสนี้เป็นบุตรของพระเจ้าอปอลโลกับนางโคโรนิส แต่พระเจ้าอปอลโลทราบว่า นางมีชู้จึงเอาธนูยิงนางตาย แล้วผ่าท้องเอาบุตรไปฝากไว้กับคิรอน ซึ่งเป็นนักรบรูปร่างประหลาด คือมีร่างครึ่งม้าครึ่งคน คิรอนได้สั่งสอนให้เอสคูลาปิอุสรู้จักสรรพคุณของต้นหญ้าหรือสมุนไพรต่างๆ มีความรู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรค เอสคูลาปิอุส มีความสามารถในการรักษาคน จึงเป็นที่นิยมของคนเป็นอันมาก สาเหตุที่งูจะมาเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์นั้นมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยก่อนคริสตกาล ๑๒๐๐ ปี ขณะที่เอสคูลาปิอุสกำลังรักษาคนไข้อยู่นั้น มีงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาในร้านของเขา และขึ้นไปพันอยู่โดยรอบคทาของหมอ ด้วยเหตุนี้เองคนทั่วไปจึงเชื่อว่า งูตัวนั้นได้บันดาลให้เอสคูลาปิอุสมีปัญญารักษาโรคได้เก่งกว่าคนอื่นๆ ในวงการแพทย์จึงใช้เครื่องหมายนี้ต่อมาจนทุกวันนี้ เท็จจริงอย่างไรก็ไม่กล้ารับรองเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องเขาเล่าว่า

งูนั้นเป็นสัตว์ที่มนุษย์เรานับถือมาแต่โบราณก็จริง แต่อย่าไปเล่นกับงูดีกว่า แม้คนเลี้ยงงูและรีดพิษงูเป็นประจำที่สถานเสาวภาก็เคยถูกงูกัดตายคาบ่องูมาแล้ว เข้าทำนองหมองูตายเพราะงู

ก่อนจบเรื่องของงู ขอตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า งูพิษส่วนมากมักจะเลื้อยอย่างเชื่องช้า แต่ถ้างูไม่มีพิษแล้ว มักจะเลื้อยหนีอย่างรวดเร็ว อย่างโคลงโลกนิติบทหนึ่งว่า
นาคีมีพิษเพี้ยง        สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช        แช่มช้า
พิษน้อยยิ่งโยโส        แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า        อวดอ้างฤทธี

เรื่องของงูก็เห็นจะขอยุติลงแต่เพียงนี้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

งูในพงศาวดารชาวเหนือ

นอกจากคนจะนับถืองูเป็นสรณะแล้ว คนยังนับถือว่างูเป็นต้นตระกูลเสียเลยก็มี อย่างในหนังสือพงศาวดารเหนือของเราเล่าเรื่อง อรุณกุมารหรือเรื่องพระร่วงไว้ว่า พระยาอภัยคามณี เจ้าเมืองหริภุญชัย (คือเมืองลำพูนบัดนี้) ไปจำศีลบนภูเขาแห่งหนึ่ง ไปพบนาคซึ่งจำแลงตัวเป็นมนุษย์มาเที่ยวเล่นเกิดสมัครรักใคร่ได้อภิรมย์สมสู่อยู่ด้วยกัน ๗ วัน นางมีครรภ์ กลับลงไปเมืองนาค เมื่อจวนจะคลอดลูกเห็นว่าถ้าคลอดในเมืองนาค ทารกจะไม่รอดเพราะเป็นเชื้อมนุษย์จึงขึ้นมายังภูเขาที่เคยอยู่ด้วยกันกับพระยาอภัยคามณี มาคลอดเป็นชายแล้วทิ้งไว้ในป่าด้วยกันกับแหวนและผ้าห่มที่พระยาอภัยคามณีประทานนางไว้ มีพรานป่าไปพบทารกนั้นพามาเลี้ยงไว้ ก็เกิดอัศจรรย์ปรากฏที่ตัวเด็กต่างๆ อย่างเป็นผู้มีบุญ ความทราบถึงพระยาอภัยคามณี ตรัสเรียกไปทอดพระเนตร เมื่อได้ทรงทราบเรื่องที่พรานป่าไปพบและทอดพระ เนตรเห็นของที่อยู่กับตัวเด็กก็ทราบชัดว่าเป็นราชบุตรเกิดด้วยนางนาค จึงประทานนามว่าอรุณกุมาร แล้วเลี้ยงไว้ในที่ลูกหลวง ต่อมามีราชบุตรเกิดด้วยนางอัครมเหสีอีกองค์หนึ่ง ประทานนามว่า ฤทธิกุมาร อยู่ด้วยกันมาจนเติบใหญ่ พระยาอภัยคามณีปรารถนาจะหาเมืองให้อรุณกุมารครอบครอง ทราบว่าเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยมีราชธิดา จึงสู่ขอนางนั้นให้อภิเสกสมรส กับอรุณกุมาร อรุณกุมารไปอยู่เมืองศรีสัชนาลัย ต่อมาก็ได้ครองเมืองนั้น (กับทั้งเมืองสุโขทัย) ทรงนามว่าพระร่วง ส่วน
ฤทธิกุมารนั้นเมื่อเติบใหญ่ก็ได้อภิเสกสมรสกับราชธิดาพระยา เชียงใหม่แล้วเลยได้ครองเชียงใหม่เช่นเดียวกับพระร่วง ทรงนามว่าพระลอ . . . ตามเรื่องนี้ แสดงว่าพระร่วงเป็นเชื้อมนุษย์กับนาคระคนกันและเป็นวงศ์กษัตริย์วงศ์หริภุญชัยในลานนา

ไม่เฉพาะไทยสุโขทัยเท่านั้น ที่มีพงศาวดารมนุษย์ได้กับนาค “ไทยแสนหวีมีเรื่องขุนอ้ายได้นางนาคเป็นภรรยา เกิดบุตรสืบมาจนขุนท้าวกวาผู้สร้างนครโยนก พงศาวดารพม่ามอญขึ้นต้นด้วยเรื่องพระเจ้าเสนะคงคาได้นางวิมาลาลูกนาคเป็นมเหสี พงศาวดารญวนขึ้นต้นด้วยเรื่องพระเจ่ากิมเยืองเวืองได้มเหสีเป็นลูกพญานาคชื่อนางเทืองลอง มีโอรสชื่อเจ้าหลากลองกุน ซึ่งเมื่อได้ทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ เวลาปรับบนบัลลังก์ เสนามาตย์ราชบริพารเห็นเป็นงูหรือพญานาคเสมอ”

พวกยุโรปก็มีนิยายปรัมปราเล่ากันว่ามังกรนั้นแปลงเป็นมนุษย์ได้ มีภรรยาเป็นมนุษย์มีวังสวยงามเป็นที่อยู่และมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายไทยเราก็มีนิยายเล่าถึงเมืองบาดาลว่าเป็นที่อยู่ของพญานาค และลูกสาวพญานาคนั้นมักจะหนีออกจากบาดาลมาเที่ยวเมืองมนุษย์และแปลงร่างเป็นมนุษย์ แต่ลงท้ายก็ได้กับชายมนุษย์และมีเรื่องเศร้าใจกลับไปเมืองบาดาลทุกเรื่องไป อย่างเรื่องไกรทองของเราก็ว่าชาลวันนั้นมีถ้ำอันสวยงาม เวลาอยู่ในถ้ำกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมากที่ความเชื่อของคนยุโรปกับเอเชียตรงกันในเรื่องนี้

นอกจากมนุษย์จะนับถือว่างูหรือนาคเป็นสัตว์ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ และสมสู่กับมนุษย์มีบุตรเกิดมาเป็นผู้มีบุญแล้ว หลายชาติยังนับถือว่างูและมังกรเป็นเทพเจ้าแห่งฝน ไทยเราเชื่อถือกันว่าการที่ฝนตกลงมาก็เพราะพญานาคพ่นน้ำ ปีไหนฝนตกน้อยก็ว่าเพราะนาคให้น้ำหลายตัวมันจะเกี่ยงกันเลยให้ฝนน้อยไป ปีไหนฝนมากก็ว่าเพราะนาคให้น้ำตัวเดียว ฝ่ายข้างจีนถือว่ามังกรเป็นเจ้าแห่งฝน ข้างอินเดียถือว่าเจ้าแห่งฝนคือพระวรุณและพระวรุณองค์นี้ก็มีมังกรเป็นพาหนะ ข้างฝรั่งถือว่ามังกรชื่อไตพอนเป็นเจ้าลมพายุฝน ซึ่งกลายมาเป็นชื่อลมไต้ฝุ่นทุกวันนนี้

นอกจากนี้เรื่องของงู นาค หรือมังกร ยังมีปรากฏในเรื่องราวดึกดำบรรพ์ของชนหลายชาติที่เล่าถึงคล้ายคลึงกันคือน้ำท่วมโลก ท่าน “กาญจนาคพันธุ์” ได้กล่าวไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์สุนทรภู่ตอนหนึ่งว่า

“หนังสือซูกิงอันเป็นจดหมายเหตุโบราณของจีนตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าเยาหรือเงี่ยวเต้ (ปี ๑๘๑๓ ก่อนพุทธศก) ได้บรรยายถึงคราวน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นไว้อย่างพิสดาร และหมางจื๊อ (ศิษย์ขงจื๊อ) ได้เขียนข้อความตามจดหมายเหตุฉบับนี้ว่า ในรัชสมัยพระเจ้าเงี่ยวเต้น้ำล้นฝั่งท่วมบ้านเมือง งูกับมังกรเต็มไปหมด ประชาชนไม่มีที่อยู่ขุนนางซื่อยู้ (คือพระเจ้ายู้หรืออู๊เต้ ทรงราชย์ปี ๑๖๖๒ ก่อนพุทธศก) ขุดคลองระบายน้ำต้อนงูกับมังกรออกไปตามทุ่งหมด ตำนานปรัมปราข้างกรีกมีเรื่องกล่าวถึงน้ำท่วมโลกสมัยเดอูคาลิโอนว่า “เมื่อน้ำลดแล้วพื้นแผ่นดินเป็นโคลนตมทั่วไป มีงูใหญ่ตัวหนึ่งเกิดขึ้นจากตม เข้าอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขาปาร์นัสซัสในนครเดลฟี ชาวกรีกได้นับถืองูใหญ่ตัวนี้เป็นปฐม และเลยถือเป็นคตินิยมว่านางธรณีหรือเทวีรักษาพื้นแผ่นดินมีรูปเป็นงู”  พงศาวดารโยนกลานนาไทยว่าเมื่อน้ำท่วมลดแล้ว มีนาคราชสองตัวมาขุดควักแผ่นดินให้น้ำไหลลงมหาสมุทร ทางที่น้ำไหลได้ชื่อว่าแม่น้ำ มีแม่น้ำโขงและน้ำแตกน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพวกสิบสองจุไทย ตำนานเมืองโยนกว่าเวลาสร้างเมืองพญานาคมาขุดคูให้เป็นเขตแดน พงศาวดารลานช้างกล่าวถึงน้ำท่วมใหญ่ว่า ปู่ลางเชิงต่อแพบรรทุกครอบครัวหนีรอดจากอันตรายได้ กับมีนาค ๗ ตัวมาอยู่ที่เมืองจึงได้ชื่อว่า ศรีศตนาคนหุต พงศาวดารดึกดำบรรพ์ของเขมรกล่าวว่า ประเทศเขมรเดิมเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ มีพญานาคกับตะกวดอยู่บนเกาะนั้น ต่อมาตะกวดมาเกิดเป็นมนุษย์ พญานาคมาสร้างเมืองให้ชื่อว่า กัมพูชา…”

เรื่องของนาคหรืองู มังกร ยังมีอีกหลายอย่าง ถ้าจะนำมาเล่าในที่นี้ก็ดูจะเป็นเรื่องยืดยาวเกินไป และที่น่าแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้มีบุญนั้นนอกจากจะมีกำเนิดมาจากนาคหรืองูแล้ว บางท่านแม้จะมีเชื้อสายของมนุษย์ธรรมดาก็อดที่จะมีงูเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ เช่น พระเจ้าตากสินมหาราชของเราก็ว่าตอนยังเป็นทารกนั้นมีงูใหญ่มาขดรอบที่นอน เรื่องของหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้ ซึ่งเดิมเป็นคนในเขตอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ก็มี เรื่องของงูมานอนขดรอบที่นอนแล้วคายแก้วไว้ให้ดวงหนึ่งเหมือนกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การนับถืองูในประเทศพม่าสมัยโบราณ

อย่างไรก็ตาม คนไทยเรายังเชื่อกันอยู่ว่างูนั้น ถ้าเป็นงูขนาดใหญ่เราถือว่าเป็นงูศักดิ์สิทธิ์หรืองูเจ้า ไม่มีใครกล้าทำร้าย นอกจากนี้ยังมีคนบางคนนับถืองูเป็นสรณะเสียอีก ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าฉบับกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ ตอนหนึ่งว่า

“มีคำเล่ากันทั้งปรากฏในยาซะเวงคญีพม่าเขียนไว้แน่ชัดว่า การนมัสการนาคะ เป็นศาสนาใหม่ตอนบนอยู่ยุคหนึ่ง ในระหว่างพุทธศักราชพันสี่ร้อยเศษถึงห้าร้อยเศษ พระเจ้าอโนรธามังฉ่อมหาราชเลิกเสียด้วยมีพระสงฆ์ที่ว่าเป็นพระอรหันต์มาถวายธรรมเทศนา ทรง เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอุปถัมภกอย่างอุกฤษฐ์ จนถึงยกกองทัพไปตีกรุงตะโถง หรือสะโตง แลมหาจำปานครเชิญพระตรัยปิฎกบาลี นิมนต์พระสงฆ์ จับองค์พระราชาแล ราษฎรริบทุกสิ่งที่ยกรื้อได้จากเมืองมอญเมืองเขมรมากรุงภุกาม และเริ่มปลูกพระศาสนาใหม่ให้ไพบูลย์สืบมา”

ยากที่จะเชื่อนักว่า การไหว้งูนี้เป็นศาสนาแท้ มาตรว่าครั้งดึกดำบรรพ์มนุษย์ก็นับถือไหว้สัตว์เดรัจฉานกันจริงๆ นาคะในเวทะก็เป็นสัตว์ที่นิยมมากทั้งเป็นสัตว์สวรรค์ การเอาหนังนาคมาห่อเป็นรูปก็คิดกันว่า กลับฟื้นชีวิตเป็นาคได้ แลนาคเป็นเครื่องหมายแห่งพระนฤพานหรือแห่งบรมสุข ตำนานพม่ามีเรื่องราวในหนังสือที่ประพันธ์ไว้มากแม้จะไม่ได้ไหว้กราบนับถือกันจริงจังมากอย่างเป็นพระเจ้าสมความเข้าใจของคนชั้นหลัง แทบจะว่าไม่มีตำรับใดที่ไม่ได้เอ่ยถึงนาคบางอย่าง เป็นธรรมดาธิดานาคราชมักเป็นชายาของผู้มีบุญ แต่ไม่ค่อยจะโปรดปราน ลงท้ายโชคของนางนาคน่าสังเวชมากกว่าปิติโสมนัส ใช่แต่ในพม่า พญานาคราชก็ยังได้เป็นชนกนารถของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเหมือนวฤหัศพติเทพบุตร ก็เป็นพระบิดาของสซิเปียวอาฟริกะนัส พันธุ์เดียวกะมหากษัตริย์พม่าแทบทุกองค์ เอื้อมเป็นเชื้อสากยะตระกูลของพระพุทธเจ้าในอินเดียข้างเหนือ ราชาเมืองชุเตียนาคะบุระก็เอื้อมว่าบุณฑริกะนาคเป็นปฐมวงศ์ พระองค์อภิเษกด้วยนางปารวดีอันเป็นธิดางามของพราหมณ์ เหตุจะทรงสร้างที่ระลึกถึงนาคอันเป็นปฐมวงศ์ จึงทรงสร้างราชมณเฑียรประกอบด้วยลวดลายนาคหน้าเป็นคน

ยังมีเค้าการนับถือนาคในพม่าครั้งโบราณอยู่หลายอย่าง เช่นใกล้ที่ประดิษฐานเทวรูปพม่า ๓๗ องค์ ณ ชเวชิคุณเจดีย์เหนือกรุงภุกามนั้นก็มีศิลารูปนาคไว้ที่ฐานเจดีย์ มีนิทานกล่าวว่า นากนั้นเป็นผู้ชลอธรณีที่ตั้งพระเจดีย์ขึ้นมาจากท้องแม่อิระวดี ที่พระเจดีย์อีกองค์หนึ่งใกล้อานันทเจดีย์ก็มีกระเบื้องเคลีอบสีแดง พื้นดินเผาราวแผ่นละศอกๆ สี่เหลี่ยมปูนปนอยู่กับพื้นแผ่นศิลาต่างว่าเป็นไฟนาคราชพ่นพิษอย่างชุมที่สุด ก็กระไดนาคแทบทุกพนัก กระไดขึ้นพระเจดีย์ ยกเป็นรูปนาค แต่การข้อนี้น่าจะประสงค์ให้งามตามความคิดช่าง แต่ก็คงเกี่ยวเพราะนาคเป็นสิ่งนิยม ถ้าไม่ใช่ก็ยังถอนความนิยมนับถือมาแต่ดั้งเดิมให้หลุดพ้นไม่ไหว”

เมื่อเร็วๆ นี้มีการสถาปนากษัตริย์พิเสนทวาขึ้นครองราชวงศ์ชาร์ของเนปาล พนักพิงของราชบัลลังก์สลักเป็นรูปงูเห่า ๙ ตัวแผ่แม่เบี้ยอันเป็นสัญญลักษณ์ของผู้มีอำนาจตามความเชื่อของชาวเนปาล

การนับถืองูเป็นศาสนาของชาวพม่าตอนเหนือว่านับถืออยู่คราวหนึ่ง แล้วพระเจ้า อโนรธามังฉ่อมหาราชได้สั่งให้เลิกเสียแล้วนับถือพุทธศาสนาแทน ความจริงนั้น การนับถืองู ไม่ใช่มีแต่ชาวพม่าเท่านั้น คนนับถืองูมีอยู่ทั่วไปในสมัยดึกดำบรรพ์เช่น ศาสนาพราหมณ์ก็ถือว่างูหรือนาคเป็นแท่นไสยาสน์ของพระนารายณ์ เราจะเห็นภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์มีนาครองรับอยู่ตามปราสาทหินทั่วๆ ไป นั่นก็นับถือว่างูเป็นพาหนะของพระเป็นเจ้าเหมือนกัน พระอิศวรเองก็ว่างูเป็นสังวาลย์หรือเครื่องประดับ ฝ่ายศาสนาพุทธเราตามพุทธประวัติก็ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ฝนตกหนัก มีพระยานาคตนหนึ่งมาเอาพังพานแผ่บังมิให้ฝนถูกพระพุทธองค์ จนเราทำพระพุทธรูปไว้บูชาปางหนึ่งเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิมีงู หรือนาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ เรียกว่าพระนาคปรก ถึงชาวพุทธจะไม่นับถืองูเป็นสรณะก็ยังยกย่องว่างูเป็นสัตว์ประเสริฐอย่างที่ตำนานการบวชนาคกล่าวไว้ว่า เหตุที่จะเรียกคนจะบวชว่านาคนั้น ก็เพราะว่าสมัยหนึ่งมีพญานาคตนหนึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาใคร่จะบวช จึงปลอมตัวเป็นมนุษย์แล้วเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา แต่พอนอนหลับเกิดเผลอสติก็กลับกลายเป็นนาคตามเดิมจึงถูกให้สึก พญานาคเสียใจจึงขอไว้ว่าแม้ตนไม่ได้บวชก็ขอให้เรียกผู้ที่จะเข้าบวชว่านาคก็แล้วกัน ว่ากันว่าแต่นั้นมา จึงเรียกคนที่เตรียมตัวจะบวชว่านาคและว่าที่ต้องถามเวลาขานนาคว่า มนุสโสสิ ซึ่งแปลว่าท่านเป็นมนุษย์ หรือ ก็เพราะเหตุที่นาคปลอมตัวมาบวชนี้เอง แต่ข้อนี้ท่านผู้รู้อธิบายว่า ที่เข้าใจกันว่านาคเป็นงูนั้น ความจริงนาคคงเป็นคนเผ่าหนึ่งซึ่งปราศจากความเจริญอย่างมนุษย์ธรรมดาที่เจริญแล้วมากกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะยังมีคนเผ่าหนึ่งอยู่ในอินเดียเรียกว่าเผ่านาคาว่าเป็นเผ่าที่ดุร้ายมาก คำว่านาคจึงอาจจะหมายเอาคนเผ่านี้ก็ได้

คำว่านาก งู มังกร และจรเข้ เป็นคำที่เรียกสับสนกัน นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า สำหรับคนไทยนั้นตอนอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน คงจะเรียกงูขนาดใหญ่ว่ามังกรอย่างที่จีนเรียกต่อมาเมื่อเราอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้ได้เสวนากับชนชาติอินเดียซึ่งนับถืองูใหญ่และเรียกว่า นาค เราก็เรียกงูใหญ่ว่านาคเช่นเดียวกับอินเดีย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การจับงูมาหาเงิน

ว่าด้วยกระบวนคนที่เล่นงูหรือเอางูมาหาเงินแล้ว พวกแขกอินเดียนับว่าก้าวหน้ามาก สามารถเอางูมาแสดงให้คนดูได้ คือเอางูใส่ตะกร้าแล้วเป่าปี่ให้งูออกมาแผ่พังพานให้คนดูอย่างที่เราเห็นในหนังสือต่างๆ นั่นเเหละ คนพวกนี้เห็นจะสืบเชื้อสายมาจากอาลัมพายหมองูที่จับเอาพระภูริทัต คือพระโพธิสัตว์ตอนเสวยพระชาติเป็นพระยานาคในเรื่องพระเจ้าสิบชาติเป็นแน่

พูดถึงเรื่องจับงูมาหาเงินแล้ว คนไทยเราก็ไม่น้อยหน้าแขกเหมือนกัน สามารถนำเอางูและพังพอนมาให้กัดกันเอาเงินคนได้เหมือนกัน งูกับพังพอนนี้ไม่ทราบว่าจองเวรกันมาตั้งแต่ครั้งไหน เห็นกันเข้าเมื่อไรเป็นกัดกันเมื่อนั้น

เมื่อพูดถึงงูแล้ว ทำให้นึกถึงคำอีกคำหนึ่งขึ้นมาได้นั่นคือคำว่า เงือก คำนี้มีความหมายเป็นหลายนัย นัยหนึ่งหมายถึงนกชนิดหนึ่งคือนกเงือกซึ่งไม่ประสงค์จะกล่าวในที่นี้ อีกนัยหนึ่งหมายถึงสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลาซึ่งเราเรียกกันว่านางเงือก เพราะคนสมัยก่อนเชื่อกันว่าคนที่จมน้ำตายโดยหาสาเหตุไม่ได้นั้น เป็นเพราะนางเงือกฉุดไป เมื่อพบศพมักจะมีรอยเขียวชํ้า แต่เดี๋ยวนี้ความเชื่อเช่นนี้ค่อยๆ หายไปแล้ว เพราะคนที่ตายเช่นนี้พิสูจน์ได้ว่าตายเพราะปลาบางชนิดซึ่งมีไฟฟ้าในตัวของมัน เมื่อคนไปถูกเข้าก็จะปล่อยกระแสไฟมาเข้าร่างกายคนทำให้ตายได้ทันทีเหมือนถูกไฟฟ้าดูด แต่เรื่องของเงือกนอกจากเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลาอย่างนางเงือกในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่แล้ว คำว่าเงือกยังมีความหมายว่างูอีกด้วย ท่านเสฐียร โกเศศ ได้กล่าวถึงคำนี้ไว้ว่า “ก็และคำว่าเงือกนี้ รูปเสียงของคำดูเป็นคำไทยๆ คงไม่ใช่เป็นคำมาจากต่างประเทศ ถ้าเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นก็เห็นจะถูกแก้เสียงให้เข้าเสียงไทยเสียนานแล้ว ลองค้นดูคำว่าเงือกในภาษาไทยถิ่นต่างๆ ปรากฏว่า ในภาษาอาหมเงือกแปลไว้ว่า สัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ ในภาษาไทยใหญ่ เงือกแปลว่าจรเข้ ในภาษาไทยขาว เงือกแปลว่างูตามนิยายอยู่ตามห้วย ในภาษาไทย “ปายี่” ในประเทศจีน (Toung Pao Vol ๑๑๑๑๓๙’๒ หน้า ๓๐ ) เงือกแปลว่ามังกร ในภาษาไทยต่างๆ เหล่านี้ยุติได้ว่า “เงือก” นั้นคงเป็นคำที่มีอยูในภาษาไทยมาแต่เดิม ได้สอบ ค้นดูในภาษาจีนก็มีคำว่า งก งัก งิก ในเสียงกวางตุ้ง แต้จิ๋ว และฮกเกี้ยนโดยลำดับ แปลว่า จรเข้ และบางทีเพราะความเข้าใจผิด เรียกปลาโลมาชนิดน้ำจืดว่า งกก็มี เมื่อประมวลคำแปลข้างบนนี้จะได้ความว่าเงือกนั้น ในภาษาไทยต่างๆ หมายความว่า งูนาค มังกรและจรเข้ ไม่มีเค้าว่าเงือกเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา”

หลักฐานที่ว่า เงือกคืองูหรือนาคนั้นมีอีกแห่งหนึ่งคือในประกาศแช่งน้ำโคลงห้า ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๑๙๑๒ ตอนหนึ่งว่า

“โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆจรรไร” เป็นที่ทราบกันว่าพระอิศวรนั้นมีงูเป็นสังวาลย์แต่ในที่นี้ใช้คำว่า เงือกแทนงู ดังนั้นเราจึงมักพูดคำซ้อนว่า เงือกงู ดังนี้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

คนแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด

ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้ได้แบ่งคนออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑. ผู้ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และบาปนั้นตามทัน ต้องถูกตัดตีนสินมือและทุกข์โศกเวทนา พวกนี้ท่านเรียกว่า คนคนนรก

๒. ผู้หาบุญอันจะกระทำบ่มิได้ และแต่เมื่อก่อน และเกิดมาเป็นคนเข็ญใจหนักหนา และมีผ้าและเสื้อของคนนั้นหาบ่มิได้ และอดอยากไม่มีกิน รูปโฉมก็ขี้เหร่ พวกนี้ท่านเรียกว่า คนเปรต

๓. คนที่ไม่รู้จักบุญและบาป ไม่มีความเมตตากรุณา ใจกล้าแข็งไม่ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่รู้จักปฏิบัติพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่รักพี่รักน้องกระทำบาปอยู่ร่ำไป พวกนี้ ท่านเรียกว่า คนเดรัจฉาน

๔. คนที่รู้จักบุญและบาป รู้กลัวรู้ละอายแก่บาป รู้จักว่ายากว่าง่าย รู้จักพี่จักน้อง รู้เอ็นดูกรุณาคน ผู้เข็ญใจ รู้ยำเกรงพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่สมณพราหมณาจารย์ และรู้จักคุณแก้ว ๓ ประการ คือ พระรัตนตรัย พวกนี้ท่านเรียกว่ามนุษย์

ถ้าท่านจะสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่าคนโบราณท่านแบ่งชั้นของคนตามคุณธรรม ความดี หาได้แบ่งคนตามฐานะยากจนหรือร่ำรวยไม่ เพราะว่าทรัพย์สมบัตินั้นเป็นเพียงวัตถุภายนอก ใครมีหรือไม่มีก็ไม่ใช่เครื่องหมายของความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด คุณธรรมความดีเท่านั้นที่จะแสดงว่าคนไหนเป็นมนุษย์หรือไม่เป็นมนุษย์ อย่างในหนังสือหิโตปเทศ กล่าวว่า การกิน การเสพกาม และการนอนหลับมีทั่วไปทั้งมนุษย์และสัตว์ แต่ธรรมเท่านั้นที่ทำให้คนต่างกับสัตว์ คนที่ไม่มีธรรมหรือศีลธรรมจึงไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าคนต่างกับสัตว์แต่ประการใด

ในเรื่องภูมิศาสตร์ ซึ่งทุกวันนี้เราแบ่งโลกออกเป็น ๖ ทวีป คือ เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ อาฟริกา และออสเตรเลีย และบางตำราเพิ่มทวีปแอนตาร์คติกเข้าไปด้วยนั้น  ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้แบ่งโลกออกเป็นเพียง ๔ ทวีป เท่านั้น โดยถือเอาเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง แล้วกล่าวว่า คนทั้ง  ๔ ชนิด ที่กล่าวแล้วข้างต้น พวกหนึ่งเกิดและอยู่ในชมพูทวีป ซึ่งหมายถึงประเทศอินเดีย คนในชมพูทวีปมีรูปหน้ากลมดังดุมเกวียน อย่างคนที่เห็นกันอยู่นี้ จำพวกหนึ่งเกิดและอยู่ในแผ่นดินบูรพวิเท่ห์เบื้องตะวันออก มีรูปหน้าดังเดือนเพ็ญกลมดังหน้าแว่น จำพวกหนึ่งเกิดอยู่ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปฝ่ายเหนือ มีรูปหน้าเป็นสี่มุม ดุจดังท่านถากให้เป็นสี่เหลี่ยม กว้างและรีเท่ากันจำพวกหนึ่งเกิดและอยู่ในแผ่นดินอมรโคยานทวีปเบื้องตะวันตก มีรูปหน้าดังเดือนแรม ๘ ค่ำ

เรื่องของทวีปโบราณนี้จะเท็จจริงอย่างไรก็อย่าไปสนใจเลยครับ นำมาเล่าไว้เพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า คนโบราณท่านเข้าใจเรื่องของภูมิประเทศเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

มนุษย์ยุคต่างๆ

เมื่อพูดถึงคนทำให้นึกถึงปัญหาที่ว่าเมื่อแรกเริ่มเดิมที่นั้น คนเกิดขึ้นมาได้อย่าง ไรในทางศาสนาเช่นศาสนาพราหมณ์ คริสต์ และอิสลาม ถือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างขึ้น ในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามีผู้สร้างมนุษย์ หรือสัตว์ขึ้นอย่างศาสนาอื่น แต่ให้หลักไว้ว่าตราบใดที่คนเรายังถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ คนเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารตราบนั้นมนุษย์ยุคต่างๆ

ในทางธรรมชาติวิทยา นักปราชญ์บางคน เช่น ชาร์ล ดาร์วิน ได้แสดงความเห็นไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีสัตว์ต่างๆ ได้วิวัฒนาการมาจากสัตว์ชั้นต่ำแล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาตามลำดับตามสภาพแวดล้อมของธรรมชาติโดยเฉพาะมนุษย์หรือคนนั้น ชาร์ล ดาร์วิน เชื่อว่าวิวัฒนาการมาจากลิง ทฤษฎีหรือความเห็นของชาร์ล ดาร์วิน นี้มีผู้คัดค้านกันมากไม่ยอมรับนับถือว่าบรรพบุรุษของมนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากลิง และมีนักคิดบางท่านให้ความเห็นว่า มนุษย์เราก็วิวัฒนาการมาอย่างเดียวกับสัตว์อื่นๆ แค่ไม่ใช่สืบเชื้อสายมาจากลิงอย่าง ชาร์ล ดาร์วินว่า เพราะถ้าคนมาจากลิงแล้ว เหตุไฉนลิงทุกวันนี้จึงไม่กลายเป็นคนเล่า มันเป็นลิงอยู่อย่างไร ลูกหลานของมันก็ยังเป็นลิงอยู่อย่างนั้น

มนุษย์เราเริ่มมีครั้งแรกในโลกเมื่อไร ปัญหาข้อนี้ ถ้าถือตามคติทางพุทธศาสนาแล้ว เป็นเรื่องอจินไตย คือไม่ควรจะคิด เพราะคิดก็เสียเวลาเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไร เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต หรือความทุกข์ความสุขของมนุษย์เลย แต่ก็มีความอีกหลายอย่างที่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม มนุษย์เราจึงค้นคว้าเรื่องนี้ตลอดมา

นับแต่สมัยโบราณดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว ที่คนเราพากันคิดถึงกำเนิดของมนุษย์ว่ามีมาแต่เมื่อไร โดยเฉพาะในคัมภีร์ต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์ ได้กล่าวถึงเรื่องสร้างโลกสร้างมนุษย์ไว้พิศดารมาก จนดูเหมือนจะเฝือไป ในหนังสือนารายย์สิบปาง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ตรัสถึงการแบ่งยุคของโลกมนุษย์ไว้ว่ามีอยู่ ๔ ยุค ดังจะขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ตอนนี้มาดังนี้

“ยุคมี ๔ ซึ่งรวมกันเป็นเวลาหมื่นสองพัปีสวรรค์. ๑ ปีมนุษย์เท่า ๑ วันสวรรค์ และ๑ ปีคิดเป็น ๓๖o วัน (ตามตำหรับ) ฉะนั้น กำหนดแห่งยุคต่างๆ จึงมีดังต่อไปนี้

กฤตะยุค – ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ – ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีมนุษย์
ไตรดายุค – ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์ – ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีมนุษย์
ทวาบรยุค – ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ – ๘๖๔,๐๐๐ ปีมนุษย์
กลียุค – ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ – ๔๓๒,๐๐๐ ปีมนุษย์

สี่ยุคที่กล่าวนี้รวมกันเป็น ๑ มหายุค คือ ๑๒,๐๐๐ ปีสวรรค์ หรือคิดเป็นปีมนุษย์ ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปี ๑,๐๐๐ มหายุค เป็น ๑ วันของพระพรหมา และคืนของพระพรหมาก็ยาวเท่ากัน วันของ พระพรหมาเรียกว่า “กัลป”

ในกัลป ๑ มีพระมนูบังเกิด ๑๔ องค์ และสมัยของพระมนูเรียกว่า “มานวัตร” ในกัลปของเรานี้ได้มีพระมนูเกิดมาแล้ว ๒ องค์ ในกาลบัดนี้เรายังอยู่ในมานวัตรของพระมนูองค์ ที่ ๗ ทรงพระนามว่าไววัสวัต พระมนูไววัสวัตเป็นลูกของพระวิวัสวัตคือพระอาทิตย์ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์

ในทางภูมิศาสตร์ปัจจุบันเราเชื่อกันว่า โลกเรานี้แตกมาจากดวงอาทิตย์แล้วมาลอยเควงคว้างอยู่ต่างหาก เมื่อเป็นดังนี้ ก็น่าจะลงรอยเดียวกันกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่กล่าวมาข้างต้นว่า เราอยู่ในมานวัตรหรือสมัยของพระมนูองค์ที่ ๗ ซึ่งเป็นลูกของพระอาทิตย์ เป็นแต่พราหมณ์ยกเอาบุคคลหรือเทวดาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่พื้นพิภพดังความเชื่อทางภูมิศาสตร์เท่านั้นเอง และก็เพราะพราหมณ์ถือว่าคนเราเป็นเหล่ากอของพระมนูจึงเรียกคนว่ามนุช คือเกิดแต่ พระมนู

ยุคทั้ง ๔ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีลักษณะแตกต่างกัน คือ
กฤตะยุค – เป็นยุคที่มีสัตยธรรมมั่นคง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สัตยยุค” ยุคนี้มีแต่คนดีไม่มีคนชั่ว

ไตรดายุค – สัตยธรรมหรือคุณความดีเสื่อมถอยลง ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน

ทวาบรยุค – สัตยธรรมเสื่อมถอยลงไป ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน คือคุณงามความดีของมนุษย์เหลือเพียงครึ่งเดียว

กลียุค – สัตยธรรมยังคงเหลืออยู่เพียง ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน เป็นยุคที่วุ่นวายเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บและภยันตรายรอบข้าง พวกเราปัจจุบันกำลังอยู่ในกลียุค เพราะกลียุคเริ่มต้น นับแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ก่อนพุทธศักราช ๒๖๒๖ ปี

แต่ฮีเสียดนักปราชญ์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่าง ๔๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ได้แบ่งยุคของโลกออกเป็น ๕ ยุค คือ

๑. ยุคทอง – เป็นยุคที่มนุษย์มีความสุขสบายที่สุด ไม่ต้องทำมาหากินแต่อย่างใด ฤดูไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่ฤดูใบไม้ผลิ สวยงามชุ่มชื่นอยู่ตลอดกาล

๒. ยุคเงิน – โลกเกิดแบ่งฤดูร้อนหนาวขึ้น และมนุษย์จำเป็นต้องทำการเพาะปลูกหาเลี้ยงชีพ

๓. ยุคสำริด – เป็นยุคที่มนุษย์จำเป็นต้องจับอาวุธขึ้นทำการต่อสู้ซึ่งกันและกันคือ ทำสงคราม

๔. ยุคผู้กล้าหาญ – เป็นยุคที่เกิดอัจฉริยบุรุษ และเป็นสมัยที่โลกกำลังดำเนินไปสู่ความเจริญ

๕. ยุคเหล็ก – เป็นยุคที่ศีลธรรมของโลกเสื่อมทรามลงมา ความยุติธรรมและความกรุณาได้หายไปจากโลกนี้

ยุคต่างๆ ที่ฮีเสียดบัญญัตินี้จะมีระยะเวลายุคละกี่ปีไม่ปรากฏ แต่ได้กล่าวว่าสมัยของท่านเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชนั้น อยู่ในยุคที่ ๕ เสียแล้ว

นักปราชญ์ทางโบราณคดีได้แบ่งยุคของโลกออกเป็น ๓ ยุค ตามเครื่องมือเครื่องใช้ ที่มนุษย์เราได้ทำขึ้นคือ

๑. ยุคหิน – คือสมัยเริ่มแรกที่สุด ในยุคนี้มนุษย์เราใช้หินทำเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ทำขวาน ทำมีด ทำหินจุดไฟ ก่อสร้างบ้านเรือนเป็นต้น ยุคหินนี้ยังแบ่งเป็นยุคหินเก่าและยุคหินใหม่อีกด้วย

๒. ยุคทองเเดง – ในยุคนี้มนุษย์รู้จักเอาทองแดงมาใช้แทนหิน ซึ่งเป็นความเจริญของโลกในชั้นที่ ๒ ยุคนี้นับว่าตั้งต้นขึ้นในสมัยอียิปต์ คือชาวอียิปต์พวกหนึ่งไปก่อไฟหุงต้มทางภูเขาซีไน่ เผอิญหยิบเอาก้อนทองแดงมาวางเรียงเป็นเตา ครั้นถูกความร้อนขึ้นทองแดงก็ละลาย พวกนี้เห็นเป็นของประหลาด ก็เอามาทำเป็นเครื่องประดับ แล้วต่อมาก็ดัดแปลงทำเป็นอาวุธและเครื่องใช้ต่างๆ

๓. ยุคเหล็ก – ยุคนี้มนุษย์รู้จักใช้เหล็กทำเครื่องใช้และอาวุธต่างๆ และเหล็กก็หาได้ง่ายกว่าทองแดง เหล็กจึงกลายเป็นโลหะที่จำเป็นจริงๆ สำหรับมนุษย์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคของโลกออกเป็น ๔ ยุค คือ

๑. ยุคโบราณ – นับตั้งแต่ราว ๔,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราชจนถึงพุทธศักราช ๙๓๘ เป็นเวลากว่า ๕๐๐๐ ปี

๒. ยุคกลาง – นับแต่ปีพุทธศักราช ๙๓๙ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๐๕๑ เป็นเวลา ๑๑๐๓ ปี

๓. ยุคใหม่ – นับแต่พุทธศักราช ๒๐๕๒ จนถึงพุทธศักราช ๒๓๓๒ เป็นเวลา ๒๙๑ ปี

๔. ยุคปัจจุบัน – เริ่มนับแต่พุทธศักราช ๒๓๓๓ มาจนถึงปัจจุบันนี้ การแบ่งยุคของโลกตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นว่าใครถนัดทางไหนก็เเบ่งยุคตามที่ตนถนัดเช่น ในทางศาสนาก็แบ่งยุคตามความเจริญ และความเสื่อมของศีลธรรม นักประวัติศาสตร์ก็แบ่งยุคของโลกไปตามความเจริญทางวัตถุเท่าที่ค้นพบมาได้ดังนี้เป็นต้น แต่เมื่อรวมความแล้วก็จะได้ความว่า มนุษย์โบราณเชื่อว่าคนเรานั้นเกิดมาหลายล้านปีแล้วมนุษย์เราจึงกระจัดกระจายไปทุกมุมโลก

คนโบราณเชื่อกันว่า คนเรานี้เกิดมาจากมนุษย์ชายหญิงคู่หนึ่งเท่านั้น แล้วมีลูกมีหลานสืบต่อเผ่าพันธุ์แผ่ขยายไปทั่วโลก อย่างศาสนาคริสต์ก็เชื่อว่าคนเราเกิดสืบเชื้อสายมาจาก อาดีมกับอีวามนุษย์ ๒ คนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้นในโลก

อย่างไรก็ตามเวลานี้พลโลกมีหลายพันล้านคนและหลายร้อยภาษานับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวคนจะล้นโลก จนในเมืองไทยของเรานี้ต้องมีนโยบายที่จะวางแผนครอบครัว ว่าคู่ผัวตัวเมียคู่หนึ่งควรจะมีลูกสักกี่คนจึงจะเหมาะสมกับฐานะ เพราะท่านเห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้คนเกิดมาตามบุญตามกรรม อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราก็จะไม่มีที่ทำมาหากิน ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ ไม่ช้าก็จะเกิดมิคสัญญีรบราฆ่าฟันเพราะแย่งกันกินเสียเปล่าๆ

ในหนังสือไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งพระยาลิไทกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์พระร่วงทรงแต่ง ได้กล่าวถึงกำเนิดของสรรพสัตว์หรือปฏิสนธิของสัตว์ว่ามีอยู่ ๔ พวก คือ พวก ๑ เรียกอัณฑชะ เกิดแต่ไข่ ได้แก่พวกงู ไก่ นกและปลา พวก ๑ เรียก ชลามพุชะ เกิดแต่ปุ่มเปือกและมีรกห่อหุ้ม ได้แก่พวกช้าง ม้า วัวควาย (รวมทั้งคน) พวก ๑ เรียก สังเสทชะ เกิดแต่ใบไม้ละอองดอกบัวหญ้าเน่า เนื้อเน่าเหงื่อไคล ได้แก่พวกหนอน แมลง บุ้ง ริ้น ยุง พวก ๑ เรียก อุปปาติกะ เกิดขึ้นเอง พอเกิดขึ้นมาก็โตเต็มที่ ไม่ค่อยเติบโตขึ้นทีละน้อยเป็นลำดับ เหมือนสามพวกแรก ได้แก่เทวดา พรหมและสัตว์ในนรก จะเรียกพวกนี้ว่า พวกไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ก็ไม่ผิด

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงมนุษย์หรือคนไว้ว่า บุตรที่เกิดมานั้น แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ ชนิด ๑ เรียก อภิชาตบุตร เป็นลูกเฉลียวฉลาดมีรูปงามหรือมั่งมียศ มีกำลังยิ่งกว่าพ่อแม่ ชนิด ๑ เรียก อนุชาตบุตร มีเพียงพ่อเพียงแม่ คือดีชั่วเสมอพ่อแม่ ชนิด ๑ เรียก อวชาตบุตร มีถ่อยกว่าพ่อแม่

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี