การจับงูมาหาเงิน

Socail Like & Share

ว่าด้วยกระบวนคนที่เล่นงูหรือเอางูมาหาเงินแล้ว พวกแขกอินเดียนับว่าก้าวหน้ามาก สามารถเอางูมาแสดงให้คนดูได้ คือเอางูใส่ตะกร้าแล้วเป่าปี่ให้งูออกมาแผ่พังพานให้คนดูอย่างที่เราเห็นในหนังสือต่างๆ นั่นเเหละ คนพวกนี้เห็นจะสืบเชื้อสายมาจากอาลัมพายหมองูที่จับเอาพระภูริทัต คือพระโพธิสัตว์ตอนเสวยพระชาติเป็นพระยานาคในเรื่องพระเจ้าสิบชาติเป็นแน่

พูดถึงเรื่องจับงูมาหาเงินแล้ว คนไทยเราก็ไม่น้อยหน้าแขกเหมือนกัน สามารถนำเอางูและพังพอนมาให้กัดกันเอาเงินคนได้เหมือนกัน งูกับพังพอนนี้ไม่ทราบว่าจองเวรกันมาตั้งแต่ครั้งไหน เห็นกันเข้าเมื่อไรเป็นกัดกันเมื่อนั้น

เมื่อพูดถึงงูแล้ว ทำให้นึกถึงคำอีกคำหนึ่งขึ้นมาได้นั่นคือคำว่า เงือก คำนี้มีความหมายเป็นหลายนัย นัยหนึ่งหมายถึงนกชนิดหนึ่งคือนกเงือกซึ่งไม่ประสงค์จะกล่าวในที่นี้ อีกนัยหนึ่งหมายถึงสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลาซึ่งเราเรียกกันว่านางเงือก เพราะคนสมัยก่อนเชื่อกันว่าคนที่จมน้ำตายโดยหาสาเหตุไม่ได้นั้น เป็นเพราะนางเงือกฉุดไป เมื่อพบศพมักจะมีรอยเขียวชํ้า แต่เดี๋ยวนี้ความเชื่อเช่นนี้ค่อยๆ หายไปแล้ว เพราะคนที่ตายเช่นนี้พิสูจน์ได้ว่าตายเพราะปลาบางชนิดซึ่งมีไฟฟ้าในตัวของมัน เมื่อคนไปถูกเข้าก็จะปล่อยกระแสไฟมาเข้าร่างกายคนทำให้ตายได้ทันทีเหมือนถูกไฟฟ้าดูด แต่เรื่องของเงือกนอกจากเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลาอย่างนางเงือกในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่แล้ว คำว่าเงือกยังมีความหมายว่างูอีกด้วย ท่านเสฐียร โกเศศ ได้กล่าวถึงคำนี้ไว้ว่า “ก็และคำว่าเงือกนี้ รูปเสียงของคำดูเป็นคำไทยๆ คงไม่ใช่เป็นคำมาจากต่างประเทศ ถ้าเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นก็เห็นจะถูกแก้เสียงให้เข้าเสียงไทยเสียนานแล้ว ลองค้นดูคำว่าเงือกในภาษาไทยถิ่นต่างๆ ปรากฏว่า ในภาษาอาหมเงือกแปลไว้ว่า สัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ ในภาษาไทยใหญ่ เงือกแปลว่าจรเข้ ในภาษาไทยขาว เงือกแปลว่างูตามนิยายอยู่ตามห้วย ในภาษาไทย “ปายี่” ในประเทศจีน (Toung Pao Vol ๑๑๑๑๓๙’๒ หน้า ๓๐ ) เงือกแปลว่ามังกร ในภาษาไทยต่างๆ เหล่านี้ยุติได้ว่า “เงือก” นั้นคงเป็นคำที่มีอยูในภาษาไทยมาแต่เดิม ได้สอบ ค้นดูในภาษาจีนก็มีคำว่า งก งัก งิก ในเสียงกวางตุ้ง แต้จิ๋ว และฮกเกี้ยนโดยลำดับ แปลว่า จรเข้ และบางทีเพราะความเข้าใจผิด เรียกปลาโลมาชนิดน้ำจืดว่า งกก็มี เมื่อประมวลคำแปลข้างบนนี้จะได้ความว่าเงือกนั้น ในภาษาไทยต่างๆ หมายความว่า งูนาค มังกรและจรเข้ ไม่มีเค้าว่าเงือกเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา”

หลักฐานที่ว่า เงือกคืองูหรือนาคนั้นมีอีกแห่งหนึ่งคือในประกาศแช่งน้ำโคลงห้า ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๑๙๑๒ ตอนหนึ่งว่า

“โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆจรรไร” เป็นที่ทราบกันว่าพระอิศวรนั้นมีงูเป็นสังวาลย์แต่ในที่นี้ใช้คำว่า เงือกแทนงู ดังนั้นเราจึงมักพูดคำซ้อนว่า เงือกงู ดังนี้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี