ความเชื่อของคนโบราณเกี่ยวกับเต่า

เมื่อพูดถึงเต่า ก็แทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักเต่า เพราะเต่านั้นเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกหนึ่ง มีสี่ขา มีเกล็ดหรือกระดูกหุ้มอยู่นอกเนื้อ อยู่ในน้ำก็มีอยู่บนบกก็ได้ เต่านั้นมีอยู่หลายชนิด ตั้งแต่เล็กเช่นเต่านา จนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เต่าทะเล น้ำหนักตัวหนึ่งเป็นร้อยๆ กิโลกรัมก็มีเต่า

เต่านั้นว่าโดยอายุแล้วเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนที่สุด ว่ากันว่ามีอายุยืนถึง ๓๕๐ ปี

ในสมัยโบราณเชื่อกันว่าโลกของเรานี้ตั้งอยู่บนหลังสัตว์สามชนิดคือ ชั้นล่างสุดเป็นงูขดอยู่ในน้ำ ถัดขึ้นมาเป็นเต่าใหญ่อยู่บนงู บนหลังเต่านั้นมีช้างสี่เชือกแบกโลกของเราไว้

คนโบราณหลายชาติที่นับถือเต่าว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไม่ควรจะฆ่าเต่าเป็นอาหาร คนไทยเราส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครคิดจะฆ่าเต่ามาเป็นอาหาร เพราะถือว่าเป็นสัตว์ที่น่าสงสารไมมีพิษไมมีภัยแก่ใคร แต่ว่าไข่เต่านั้น มีคนชอบกันเป็นอันมากว่าโอชารสยิ่งนัก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ประวัตินางมณโฑเรื่องรามเกียรติ์

นางมณโฑคือใคร ? หลายท่านคงจะรู้ว่านางมณโฑนั้นเป็นชายาของทศกัณฐ์ และยังนึกกระหยิ่มใจต่อไปว่า นางมณโฑนั้นหน้าอกโตอยู่ข้างเดียว ตามเพลงที่เด็กๆ ชอบร้องกันอีกด้วย ความข้อนี้เอามาจากไหนก็ไม่ทราบและหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมนางมณโฑจึงเป็นเช่นนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วนางมณโฑเป็นผู้หญิงในวรรณคดีที่สวยคนหนึ่ง ไม่มีลักษณะที่ว่านี้แต่ประการใด ส่วนประวัติความเป็นมาของนางมณโฑจะเป็นประการใดนั้น เข้าใจว่าคงจะมีอีกหลายท่านที่ไม่ทราบรายละเอียด ดังนั้นเรามาพูดถึงประวัติของนางมณโฑให้ละเอียดเสียทีก็ดีเหมือนกันนางมณโฑ

ในหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ของเราและในหนังสือเรื่องบ่อเกิดของรามเกียรติ์กล่าวถึงประวัติของนางมณโฑไว้ว่า พระฤษีสี่ตนบำเพ็ญพรตที่เขาหิมพานต์เป็นเวลาสามหมื่นปี โคนมห้าร้อยตัวอยู่ในป่า มีใจเลื่อมใสในพระฤษี จึงพากันมาหยดน้ำนมลงไว้ในอ่างทุกเช้า ถึงเวลาพระฤษีฉันแล้วก็ให้ทานนางกบตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างอ่างนั้นบ้าง วันหนึ่งนางนาคซึ่งเป็นธิดาของพระยากาลนาค ขึ้นมาสมจรกับงูดิน พระฤษีทั้งสี่พบเข้าเห็นเป็นเสียเกียรติ์ยศนาคจึงเอาไม้เท้าเคาะให้รู้ตัว ครั้งแรกก็เคาะตรงขนดหางแต่นางนาคหารู้สึกตัวไม่ ฤษีจึงเคาะอีกที คราวนี้ เคาะกรงกลางตัวทีเดียว นางนาคก็ตกใจมองไปเห็นฤษีก็นึกละอาย ก็ชำแรกแผ่นดินหนีไปเมืองบาดาลแต่ก็เอาความอาฆาตไปด้วย จึงคิดจะฆ่าฤษี จึงแอบไปที่อาศรมคายพิษลงในอ่างนํ้านม ฝ่ายนางกบเห็นเช่นนั้นก็กลัวว่าพระฤษีจะมรณะ จึงโดดลงไปตายด้วยพิษนาคใน
อ่างนั้น ถึงเวลาฉัน พระฤษีเห็นกบตายก็ไม่กล้าฉันนม จึงช่วยกันชุบให้กบคืนชีพ แล้วถามถึงเหตุที่นางกบลงไปตายในอ่างน้ำนม เมื่อทราบเรื่องราวก็มีความกรุณาเลยชุบนางกบให้เป็นหญิงมนุษย์ให้ชื่อว่านางมณโฑ ตามชาติเดิมที่มาจากกบ เพราะกบนั้นในภาบาลีเรียกว่า “มณฑก”

นางมณโฑนั้นสวยงามอย่างไร ขนาดไหน เราลองฟังคำกลอนตอนนี้ดูก็ได้แล้วเลิกร้องเพลงนางมณโฑนมโตข้างเดียวเสียที คำกลอนมีว่า

“งามพักตรยิ่งชั้นมหาราช    งามวิลาสล้ำนางในดึงสา
งามเนตรยิ่งเนตรในยามา    งามนาสิกล้ำในดุษฎี
งามโอษฐงามกรรณงามปราง    ยิ่งนางในนิมาราสี
งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี    อันมีในชั้นนิรมิต
ทั้งหกห้องฟ้าไม่หาได้        ด้วยทรงลักษณ์วิไลไพจิตร
ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ        ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมทัน”

เมื่อชุบนางมณโฑขึ้นมาแล้ว พระฤษีทั้งสีก็เดือดร้อนอีก เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่ของนางมณโฑนั่นเองตอนเป็นกบอยู่ก็นอนข้างอ่างน้ำนมได้ไม่มีใครว่า แต่ตอนเป็นหญิงสาวและสวยด้วยจะมาอยู่ไนอาศรมกับพระฤษีก็ดูกระไรอยู่ ฤษีก็กลัวคนนินทาเหมือนกัน จึงนำนางมณโฑไปถวายพระอิศวรไว้ พระอิศวรก็มอบนางมณโฑให้พระอุมาไว้ทรงใช้สอย นางมณโฑเป็นสาวชาววังและก็เป็นชาววังในสวรรค์ไม่ใช่วังธรรมดาบนพื้นดินเรียกว่าเป็นสาวสวรรค์ทีเดียว

ที่อยู่ของพระอิศวรนั้น ว่าอยู่บนเขาไกรลาส วันหนึ่งวิรุฬหกขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร ขณะนั้นพระอิศวรกำลังบรรทมอยู่ วิรุฬหกเข้าใจว่าพระอิศวรกำลังเสด็จออกที่หน้ามุขพอขึ้นอัฒจันทร์ วิรุฬหกก็หมอบกราบและก็กราบทุกชั้นบรรได ขณะนั้นมีตุ๊กแกตัวหนึ่งเห็นวิรุพหกขุนมารกราบบรรได ก็ร้องตุ๊กแกเป็นเชิงเยาะเย้ย วิรุฬหกเหลือบไปเห็นตุ๊กแกก็เกิด โทสะ ถอดสังวาลย์ขว้างไปถูกตุ๊กแกเคราะห์ร้ายถึงตาย ขณะเดียวกันเพราะความแรงของสังวาลย์ที่ขว้างไปเป็นเหตุให้เขาพระสุเมรุเอนไปด้วย ก็เขาพระสุเมรนั้นพระอิศวรเป็นเจ้าสถิตย์อยู่ พอเขาพระสุเมรเอนเอียงก็เดือดร้อนต้องประกาศหาผู้สมัครยกเขาให้ตรง ทำไมพระอิศวร ซึ่งสามารถบันดาลทุกสิ่งได้ จึงไม่ทรงทำให้เขาตรงเสียเองก็ไม่ทราบ คราวนั้นทศกัณฑ์อาสายกเขาให้ตรงได้มีความชอบ พระอิศวรจึงประทานพรว่าจะขออะไรก็ได้ ทศกัณฑ์ได้ทีก็ทูลขอพระอุมาชายาพระอิศวรๆ ก็ไม่ขัดแต่พอทศกัณฑ์จะอุ้มพระอุมาก็ร้อนเหมือนไฟ จึงต้องทูน พระอุพาไป จนสุดท้ายพระอิศวรออกอุบายจนทศกัณฑ์ต้องนำพระอุมาคืนและขอเปลี่ยนกับนางมณโฑเทวี พระอิศวรก็ทรงอนุญาตประทานนางมณโฑให้ ตอนทศกัณฑ์พานางมณโฑเหาะ จะไปกรุงลงกา แต่ทางอากาศที่ทศกัณฑ์ผ่านไปนั้นบังเอิญผ่านนครขีดขินของพาลี ฝ่ายพาลี เห็นทศกัณฑ์อุ้มสตรีเหาะข้ามเมืองตนก็โกรธ จึงคว้าอาวุธได้เหาะขึ้นไปรบกับทศกัณฐ์แล้วชิงเอานางมณโฑไปได้ นางมณโฑตกเป็นเมียของพาลีเป็นคนแรก พอตั้งท้อง อาจารย์ของพาลีไปว่ากล่าวให้คืนนางมณโฑแก่ทศกัณฐ์เสีย พาลีก็ยอมคืนแต่ขอเอาลูกไว้ ตอนนั้นลูกก็ยังไม่ครบกำหนดคลอดจึงต้องผ่าเอาลูกใส่ท้องแพะไว้ก่อน ลูกของทางมณโฑซึ่งเกิดจากทศกัณฐ์นี้คือองคต ซึ่งเป็นราชทูตถือสารของพระรามไปให้ทศกัณฐ์นั้นเอง นางมณโฑมีบุตรกับทศกัณฐ์อีก ๓ คน คืออินทรชิต นางสีดา และไพนาสุริยวงศ์

เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระรามอภิเษกให้พิเภก ซึ่งมีความชอบในราชการเป็นพระเจ้ากรุงลงกาแทนทศกัณฐ์พี่ชาย ให้นางตรีชฎาเป็นมเหสีฝ่ายขวา นางมณโฑเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย

นางมณโฑนั้น จะว่ามีบุญวาสนาก็นับว่ามีบุญวาสนาอยู่เพราะได้รับความเมตตาจากฤษีชุบจากกบมาเป็นสาวสวยและไปอยู่ในสวรรค์ กลายเป็นสาวสวรรค์ แต่จะว่ามีกรรมก็มีกรรม หรือตามความเห็นของคนบางคนก็ว่ามีบุญก็ได้ เพราะมีสามีถึง ๓ แต่ตอนบั้นปลายรู้สึกจะตกอับนิดหน่อย คือตกจากฝ่ายขวาเป็นเอกอัครมเหสี มาเป็นฝ่ายซ้ายคือเป็นรอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

แท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์

แท่นอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนไทยเราได้ยินและซึมซาบกันดี ก็คือแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์เทพเจ้าแห่งนครไตรตรึงห์หรือดาวดึงส์เมืองสวรรค์ ว่ากันว่าพระแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์นั้นทำด้วยศิลาเหมือนกัน แต่แปลกประหลาดที่ว่าปรกติแล้ว พระแท่นนี้จะอ่อนนุ่ม คือฟุบลงเมื่อประทับนั่ง และฟูขนเมื่อพระอินทร์ได้ลุกไปแล้วคือมีลักษณะเป็นเหมือนเก้าอี้นวมหรือเก้าอี้มีสปริงแท่นบัณฑุกัมพลอย่างทุกวันนี้นั่นเอง แก่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปรกติแล้ว พระแท่นนี้ก็จะแข็งกระด้าง เมื่อพระแท่นนี้แข็งกระด้างก็เป็นเหมือนเครื่องวัด หรือเครื่องเตือนสัญญาณให้พระอินทร์รู้ว่าต้องมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแน่ และเหตุการณ์นั้นจะ สงบได้ก็ต้องโดยพระอินทร์ไปช่วยเหลือ ดังคำกลอนเรื่องสังข์ทองตอนตีคลีของเราตอนหนึ่งได้กล่าวถึงอาสน์ของพระอินทร์ไว้ว่า

“มาจะกล่าวบทไป            ถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงษา
ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา    กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม้นในแดนดิน        อมรินทร์เร่งคิดสงสัย
จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย    ก็แจ้งใจในนางรจนา
แม้นมิไปช่วยจะม้วยมอด        ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า
จำจะยกพหลพลเทวา            ลงไปล้อมพาราสามลไว้
ชวนเจ้าธานีตีคลีพลัน            น้ำหน้ามันจะสู้ใครได้
จะขู่ให้งันงกตกใจ            ออกไปหาบุตรสุดท้อง
พระสังข์ครั้งนี้จะถอดเงาะ        งามเหมาะไม่มีเสมอสอง
พ่อตาจะได้เห็นเป็นรูปทอง        ทั้งทำนองเพลงคลีตีต่อยุทธ”

เห็นจะเพราะเรื่องสังข์ทองหรือเรื่องพระแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์บอกสา¬เหตุนี้เอง เราจึงมีคำพังเพยหรือสำนวนอยู่สำนวนหนึ่งว่า “ร้อนอาสน์’’ ใช้เมื่อข้าราชการผู้ใดหรือคนใดต้องย้ายตำแหน่งหน้าที่หรือย้ายที่อยู่อาศัยโดยที่จำเป็นไปว่าร้อนอาสน์

ฐานอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องรับรองเหมือนกัน เรียกว่ารากฐาน คือการก่อสร้างสิ่งใดก็ตามที่ต้องการความมั่นคงถาวร จะต้องทำรากฐานให้แน่นหนาพอที่จะรองรับสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ได้ ไม่ให้ทรุดจนเกิดเหตุถูกฟ้องกันมีเรื่องมาแล้วทุกสมัย เพราะช่างหรือพวกผู้ควบคุมการก่อสร้างกินฐานเสียจนสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ทรงตัวอยู่ไม่ได้ ต้องพังครืนลงมาฟ้องช่างหรือผู้ควบคุมมามากต่อมากแล้ว ยิ่งการก่อสร้างอาคารสมัยนี้ด้วยแล้วต้องก่อสร้างหลายชั้น ถ้ารากฐานไม่แข็งแรงแล้วมักจะพังครืนลงได้ง่ายๆ แต่คนเราก็ยังชอบกินฐานกันจนเกิดเรื่องบ่อยๆ อยู่นั่นเอง คงเห็นว่ากินฐานคนอื่นไม่ค่อยเห็นเพราะฝังลงดินเสียแล้วก็เป็นได้

รากฐานอีกอย่างหนึ่งก็คือรากฐานของเรา คนเราที่จะเป็นใหญ่เป็นโตหรือมีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีฐานะดีได้ก็ต้องอาศัยรากฐานที่ดี รากฐานในที่นี้ก็คือการศึกษา การอบรม ความชำนิชำนาญในหน้าที่การงานหรืออาชีพที่ตนทำ ถ้าคนไหนมีรากฐานไม่ดีถึงจะตำแหน่งสูงขึ้นไปก็อาจจะพังครืนลงมาได้สักวันหนึ่ง ผมเคยอ่านเกี่ยวกับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตอนหนึ่งความว่า พระองค์ต้องการจะแต่งตั้งเจ้าเมืองเมืองหนึ่งมีคนเสนอคนนั้นคนนี้แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วย พระองค์ว่า คนบางคนนั้นเหมาะที่จะเป็นเพียงนายอำเภอเท่านั้น ถ้าเป็นนายอำเภอก็เป็นนายอำเภอที่ดีมาก แต่ถ้าจะเป็นเจ้าเมืองแล้วคงจะเป็นไม่ได้ดีเท่าที่เป็นนายอำเภอ นี่ก็เป็นอุทา¬หรณ์ให้เห็นว่ารากฐานของคนนั้นสำคัญพอๆ กับรากฐานของการสร้างตึกเหมือนกัน ถ้าเราต้องการตำแหน่งสูง เราก็ต้องสร้างรากฐานให้ดี ให้มั่นคงแข็งแรง ข้อนี้ผมเคยได้ยินว่ารัฐมนตรีคลังสมัยหนึ่ง เป็นคนที่ยึดถือหลักการมากกว่าเรื่องส่วนตัว มีลูกน้องซึ่งเป็นข้าราชการชั้นตรีไปขอตำแหน่งชั้นโทกับท่าน ท่านบอกว่าอย่างข้าราชการผู้นั้นมีพื้นความรู้ความสามารถเป็นชั้นตรีก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว ถ้าให้เป็นชั้นโทก็เท่ากับเป็นการให้ไปฆ่าตัวตายนั่นเอง เพราะชั้นโทที่ข้าราชการผู้นั้นต้องการ เป็นชั้นหัวหน้าส่วน ต้องรับผิดชอบมากกว่าชั้นตรีหลายเท่า ท่านบอกว่าถ้าเงินเดือนไม่พอให้ไปเบิกที่ท่านเป็นการส่วนตัว ข้าราชการผู้นั้นเลยอายกลับไป ดังนั้น ชั้นและตำแหน่งที่ได้มาเพราะวิ่งเต้นก็ดี ฐานะความรํ่ารวยที่เกิดขึ้นเพราะโชคลาภบันดาลหรือเพราะความทุจริตก็ดี ย่อมมีรากฐานที่ไม่มั่นคง เผลอไผลเมื่อไรมักจะพังครืน เมื่อนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เราใช้อะไรบังคับช้าง

มนุษย์เราที่ยกย่องกันเองว่า เจริญกว่าสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะว่านอกจากรู้จักใช้ความคิด และสืบต่อความคิดตกทอดมาเป็นมรดกให้ลูกหลานแล้ว ยังรู้จักใช้มือ และใช้สิ่งอื่นเป็นเครื่องมือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วย การที่คนเราเอาสัตว์ตัวโตกว่าเรามาใช้งานนั้นเราต้อง มีเครื่องมือบังคับในบางครั้ง เครื่องมือนี้เราประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใช้สุดแต่ชนิดของสัตว์ที่เราจะฝึกหรือบังคับ เช่นม้าปฏักเราก็มีแส้สำหรับหวดเมื่อจะให้ม้าวิ่งหรือเดิน มีบังเหียนคอยรั้งเมื่อจะให้หยุด วัวควายก็มีปฏักคอยทิ่มแทงเมื่อจะบังคับให้ลากไถหรือเกวียนหรือสิ่งของอื่นๆ แต่เดี๋ยวนี้เราจะไม่ค่อยเห็นปฏักกันบ่อยนัก เพราะเราใช้ไม้เรียวแทนปฏัก ด้วยว่าปฏักนั้นทำให้ วัวควายได้รับความเจ็บปวดมากกว่า เป็นการทารุณสัตว์เกินไป วัวควายที่ต้องลงปฏักก็มีแต่ตัวที่ดื้อขี้เกียจเท่านั้น และคำว่าต้องลงปฏักก็เป็นสำนวนมาใช้กับคนที่หัวหน้างานต้องคอยบังคับหรือจ้ำจี้ใช้ให้ทำงาน ไม่เช่นนั้นเป็นไม่ทำทีเดียว ผู้ที่ต้องถึงกับลงปฏักจึงไม่ค่อยเป็นมงคลแก่ตัวนัก ถ้าเป็นข้าราชการละก็ ตอนปลายปีจะขอความดีความชอบก็ต้องลำบากนิดหน่อย หรือหัวหน้าอาจจะลืมชื่อเสียเลยก็ได้

การลงปฏักวัวควายนั้นก็คือเอาปฏักทิ่มแทงตรงตะโพกนั่นเอง นายตำรวจผู้หนึ่ง เล่าให้ฟังว่าถ้าพบว่าวัวควายที่มีรอยถูกทิ่มแทงที่ตะโพกละก็ เป็นเชื่อได้ว่าวัวควายนั้นถูกลัก ขโมยมาแน่นอน เพราะว่าเจ้าของวัวควายจะไม่ทำทารุณแก่สัตว์ ส่วนพวกโจรนั้นเพื่อจะไปให้เร็วที่สุด เพื่อหนีการจับกุม ก็ย่อมทำทุกอย่างเพื่อให้วัวควายวิ่งไปเร็วๆ รอยที่พบที่ตะโพกวัวควายที่ถูกขโมยมานี้เป็นรอยที่เกิดจากปลายมีดปลายแหลมที่ถูกคนร้ายแทงนั้นเอง คือ ใช้มีดปลายแหลมแทนปฏัก

เครื่องบังคับสัตว์ใหญ่คือช้าง เราเรียกว่าตะขอ หรือขอช้างคือเหล็กที่งอมีด้ามสำหรับสับช้าง มีหลายอย่าง ขอช้างที่มีปลายโค้งเรียกว่าขอ เกราะ ขอช้างที่มีปลายเป็นยอดปิ่นเรียกว่าขอปิ่น และขอช้างที่มีปลายเป็นง้าวเรียกว่าของ้าว อย่างพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงฟันพระมหาอุปราชของพม่าขาดคอช้าง คราวทรงทำยุทธหัตถี เสร็จสงครามขนานนามว่า “พระยาแสนพลพ่าย” เป็นต้น การที่จะใช้ขอช้างบังคับช้างนั้นไม่ใช่ว่าใครๆ จะใช้ก็ได้ การใช้ขอบังคับช้างเป็นวิชาการที่ต้องศึกษาเล่าเรียน คนที่บังคับช้างได้เก่งนั้น สามารถที่จะสับขอช้างให้ช้างที่แตกตื่นหยุดทันทีทันใดเหมือนเราห้ามล้อรถยนต์ทีเดียว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในเรื่องจับช้าง ในหนังสือ โบราณคดีตอนหนึ่งว่า

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสในแขวงจังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี เวลานั้นตัวฉันอายได้ ๑๒ ปี ยังไม่ได้โกนจุก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันตามเสด็จด้วย ทางเสด็จประพาสครั้งนั้น จะต้องเดินป่าไปจากเมืองราชบุรี ประทับแรมทาง ๒ คืน จนถึงตำบลท่าตะคล้อริมแม่น้ำไทรโยคในแขวงจังหวัดกาญจนบุรีจัดราชพาหนะที่เสด็จไปมีทั้งขบวนม้าและขบวนช้าง พระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จด้วยขบวนม้า จึงใช้พาหนะช้างเป็นขบวนพระประเทียบ (คือขบวนของฝ่ายใน-ผู้เขียน) ซึ่งกรมสมเด็จพระสุภารัตน์ราชประยูรทรงเป็นประมุข ก็ขบวนช้างนั้นเป็นช้างหลวง กรมพระคชบาลคุมไปจากเพนียดสัก ๑๐ เชือก มีช้างพลายผูกสัปคับกูบสี่หน้าลายทอง เป็นช้างพระที่นั่ง ทรงนำหน้าเชือกหนึ่งแล้ว ถึงเหล่าช้างพังผูกสัปคับกูบสองหน้าสำหรับนางในตามไปเป็นแถว มีพวกกรมช้างและกรมการหัวเมือง เดินแซงสองข้างขบวนหนึ่ง ต่อนั้นถึงขบวนช้างเชลยศักดิ์ซึ่งเกณฑ์ในเมืองนั้นเอง มีทั้งช้างพลายและช้างผูกสัปคับสามัญ สำหรับพวกผู้หญิงพนักงานและจ่าโขลนข้าหลวง ตามไปเป็นขบวนหลังกว่า ๑๐ เชือก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ กับตัวฉันเป็นเด็ก เขาจัดให้ขึ้นช้างพลายตัวที่เตรียมเป็นช้างพระที่นั่งไปในขบวนพระประเทียบ หลวงคชศักดิ์ (ค้าง วสุรัตน์ ภายหลังได้เป็นที่พระศรีภวังค์) ตัวหัวหน้าผู้คุมขบวนช้างหลวงเป็นหมอขี่คอ หลวงคชศักดิ์คนนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนตลอดชีวิต ว่าเป็นคนขี่คอช้างแข็ง และคล้องช้างแม่นยำอย่างยิ่ง เวลานั้นอายุเห็นจะราว ๔๐ ปี แต่รูปร่างผอมกริงกิว ดูไม่น่าจะมีแรงสมกับฝีมือที่ลือกันว่าเชี่ยวชาญ แต่แกชอบเด็กๆ เวลาสมเด็จพระนริศ ฯ กับฉันนั่งไปบนหลังช้าง ไต่ถามถึงป่าดงฟังแกเล่าไปจนคุ้นกันแต่วันแรก ถึงวันที่ ๒ เมื่อเดินขบวนไปจากที่ประทบแรม ณ ตำบลหนองบัวค่าย (ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีรบพม่า) ได้สัก ๒ ชั่วโมง เกิดเหตุด้วยลูกช้างเชลยศักดิ์ที่เดินตามแม่มาข้างท้ายขบวนตัวหนึ่ง ตื่นไฟวิ่งร้องเข้าไปในขบวน พาช้างเชลยศักดิ์ที่อยู่ในขบวนพลอยตื่น วิ่งเข้าป่าไปด้วยสักสี่ห้าตัว บางตัวสัปคับไปโดนกิ่งไม้ผู้หญิงตกช้างก็หลายคน ช้างขบวนข้างหน้าก็พากันขยับจะตื่นไปด้วย แต่พอช้างพลายตัวที่ฉันขี่ตั้งท่าจะออกวิ่ง หลวงคชศักดิ์แกเอาขอฟันทีเดียวก็หยุดชะงัก ยืนตัวสั่นมูตรคูถทะลักทลายไม่อาจก้าวเท้าไปได้ ช้างพังข้างหลังเห็นข้างหน้าอยู่กับที่ ก็ยืนนิ่งอยู่ เป็นแต่หันเหียนบ้างเล็กน้อย อลหม่านกันอยู่สัก ๕ นาทีก็เคินขบวนต่อไปโดยเรียบร้อย ตัวฉันก็ตกใจอยู่เพียงประเดี๋ยว แต่พอสงบเรียบร้อยกลับไปนึกสงสารช้างที่ถูกหลวงคชศักดิ์ฟันเลือดไหลอาบหน้าลงมาจนถึงงวง แต่ได้ยินพวกที่เขาเดินกำกับไปพากันชมหลวงคชศักดิ์ ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดร้ายกว่านั้นได้” นี่เป็นเรื่องของควาญช้างที่ได้ฝึกฝนเล่าเรียนมาในเรื่องใช้ขอบังคับ ให้หยุดได้โดยใจชอบ ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

สิบแปดมงกุฎคืออะไร

สิบแปดมงกุฎนี้ คือเสนาวานร ๑๘ คน เป็นทหารเอกคู่บารมีของพระราม ตามตำนานว่า เป็นเทวดาอวตารคือแบ่งภาคลงมาเกิด มีรายนามดังนี้สิบแปดมงกุฎ

๑. เกยูร (วิรุฬหก) ๒. โกมุท (หิมพาน) ๓. ไชยาพวาน (อิศาน)
๔. มาลุนทเกสร (พฤหัสบดี) ๕. วิมล (เสาร์) ๖. ไวยบุตร์ (พิรุณ) ๗. สัตพลี (พระจันทร์) ๘. สุรกานต์ (มหาชัย) ๙. สุรเสน (พุธ) ๑๐. นิลขัน (พิฆเนศ) ๑๑. นิลปานัน (ราหู) ๑๒. นิลปาสัน (ศุกร์) ๑๓. นิลราช (สมุทร) ๑๔. นิลเอก (พินาย) ๑๕. วิสันตราวี (อังคาร) ๑๖. กุมิตัน (เกตุ) ๑๗. เกสรทมาลา (ไพศรมณ์) ๑๘. มายูร (วิรูปักษ์)

เรื่องชื่อของสิบแปดมงกุฎนี้มีคำกลอนในหนังสือรามเกียรติ์ว่า

“เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาพระภูวไน    จะขอไปเป็นพลพระอวตาร
มล้างเหล่าอสูรพาลา        ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราหูฤทธิ์ไกรชัยชาญ    เป็นทหารชื่อนิลปากัน
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก    พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน        พระอังคารเป็นสันตราวี
พระหิมมานจะเป็นโกมุท    พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี
พระเพลิงเป็นนิลนนท์มนตรี    พระเสาร์เป็นนิลพานร
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน        พระพฤหัสบดีนั้นมาลุนทเกสร
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน    พระจันทรเป็นสัตพลี
วิรุฬหกวิรุฬปักษ์สองตระกูล    เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี
เทวันวานรนอกนี้            บัญชีเจ็ดสิบสมุดตรา”

สมัยก่อนเมื่อเอ่ยคำว่าพวกสิบแปดมงกุฎ หมายถึงพวกที่หลอกลวงคน เช่นพวกต้มหมูเป็นต้น ซึ่งพวกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมมากมายในการที่จะใช้กลมาหลอกลวงให้คนตายใจ ทำไมจึงเรียกคนพวกนี้ว่าสิบแปดมงกุฎ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ทุกวันนี้ มงกุฎยังมีความสำคัญอยู่คือมงกุฎนางสาวไทยหรือนางงามไม่ว่างามในประเทศหรือระหว่างประเทศหรือนางงามโลกหรืองามจักรวาล เพราะมงกุฎนั้นประดับเพชร จึงเป็นที่ปรารถนาของสตรีที่อยู่ในวัยรุ่นทั้งหลาย ที่นึกว่าตนเองมีความงามพอที่จะเป็นเครื่องมือไขว่คว้ามงกุฎอันนั้นมาได้ แต่มงกุฎนั้นมีน้อย คนต้องการมีมาก บางคนเท่านั้นที่ได้ มงกุฎมาครอง ส่วนอีกหลายคนมักจะได้มงกุฎหนามมาครองให้ยอกอกตนเองไปชั่วชีวิตก็มีไม่น้อย

เรื่องของชฎาหรือเครื่องสวมหัวนั้น เป็นเครื่องเตือนใจเราอย่างหนึ่งว่า อันว่าเครื่องสวมหัวนั้น ไม่จิรังยั่งยืน ถอดออกเมื่อไรก็เหลือแต่หัวของเราเมื่อนั้น เหมือนกับเราสวมหัวโขนนั่นแหละ เป็นตัวของเราเองดีกว่าสวมหัวอะไรหมด

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ส่วนผสมรูปร่างของหญิงที่พระธาตรีสร้าง

ว่ากันว่า เมื่อพระธาตรีจะสร้างโลกนั้น ปรากฏว่าธาตุต่างๆ มาสร้าง พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว ภูเขา ป่าแล้วก็สร้างมนุษย์ผู้ชายขึ้น สร้างผู้ชายเสร็จ ธาตุต่างๆ ก็หมดพอดี ถึงคราวจะสร้างผู้หญิงหาอะไรไม่ได้ เลยต้องเก็บนั่นผสมนี่ มารวมกันเข้าคือ

ความกลมของดวงจันทร์ ๑    ลักษณะคดโค้งของเถาวัลย์ ๑
อาการม้วนพันของแขนงเถา ๑    ความไหวของต้นหญ้า ๑
ความเพรียวของลำอ้อ ๑     ความนุ่มของดอกไม้ ๑
ความเบาของใบไม้ ๑        อาการเหลือบของเนื้อ ๑
ความระยับของแสงแดด ๑    นํ้าตาของหมอก ๑
ความไม่อยู่ที่ของลม ๑    ความขลาดของกระต่าย ๑
ความหยิ่งของนกยูง ๑        ความละเอียดอ่อนของปุยขน ๑
ความแข็งของเพชร ๑        ความหวานของน้ำผึ้ง ๑
ความดุร้ายของเสือ ๑        ความอุ่นของไฟ ๑
ความเย็นของหิมะ ๑        อาการพูดพลอดของนกกางเขน ๑
การคูของนกพิราบ ๑

อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าผู้หญิงั้น สร้างขึ้นด้วย

ความกลมกลึงแห่งวงพระจันทร์    ความคดเคี้ยวแห่งเถาไม้เลื้อย
ความเกาะเกี่ยวแห่งเถาวัลย์        ความหวั่นไหวแห่งยอดหญ้า
ความอ่อนแอ้นแห่งใบอ้อ        ความยียวนแห่งดอกไม้
ความเบาแห่งใบพฤกษ์        ความคมแห่งตาเนื้อ
ความแจ่มใสแห่งดวงตะวัน        น้ำตาแห่งหมอก
ความปรวนแปรแห่งกระแสลม    ความใจเสาะแห่งกระต่าย
ความโอ่ลำพองแห่งนกยูง        ความอ่อนละมุนแห่งขนอ่อนของวิหค
ความแกร่งแห่งเพชร            ความหวานแห่งน้ำผึ้ง
ความดุร้ายแห่งพยัคฆ        ความอบอุ่นแห่งเปลวเพลิง
ความเยือกเย็นแห่งหิมะ    ความพูดมากแห่งนกกระจอก
ความครวญครางแห่งนกเขา        พิษงู”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พระนางผุสสดีขอพร ๑๐ อย่าง

ผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่รักสวยรักงามมาตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูแต่พระนางผุสสดี เมื่อพระอินทร์ให้ขอพร ๑๐ อย่าง ก็แล้วกัน ในพร ๑๐ อย่างนั้น พระนางผุสสดีขอเกี่ยวกับความงามเสียเกินครึ่ง พร ๑๐ อย่างหรือ ๑๐ ประการนั้นคือนางผุสสดี

๑. สีวราชสฺส อคฺคมเหสีภาโว ขอให้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีวิราช เป็นมเหสีรองลงมาก็คงไม่เอา
๒. นีลเนตฺตตา ขอให้มีดวงตาดำสนิทเหมือนตาลูกเนื้อทราย
๓. นีลภมุกตา ขอให้มีขนคิ้วเขียวสนิทเหมือนสร้อยคอนกยูง
๔. ผุสฺสตีติ นามํ ขอให้ชื่อว่าผุสสดี
๕. ปุตฺตปฏิลาโภ ขอให้ได้ลูกผู้ชายผู้ทรงเกียรติ และมีศรัทธาในการกุศล
๖. อนุนฺนตกุจฺฉิตา ทรงครรภ์อย่าให้นูนขอให้งามคล้ายกับธนู
๗. อลมฺพตฺถนตา ขออย่าให้ถันหย่อนยาน (เวลามีครรภ์ขออย่าให้ดำ)
๘. อปลิตถาโว ขออย่าให้ผมหงอก (ให้ดำสนิทเหมือนปีกแมลงค่อมทอง)
๙. สุขุมจฺฉวิภาโว ขอให้มีฉวีวรรณละเอียด
๑๐. วชฺณปฺปโมจนสมตฺถตา ขอให้ปล่อยนักโทษประหารให้รอดตาย เห็นไหมว่าผู้หญิงนั้น ถือความงามเป็นสิ่งสำคัญเพียงไร ข้อนี้คงเหมือนดังคำกลอนที่ว่า

“สุมาลีหลายหลากมากมวลมี   ต่างต่างสีราวลายวิเลขา
เหมือนแสร้งแต่งล่อแมลงให้บินมา  ด้วยหมายว่ามีกลิ่นอันรินรวย เปรียบเหมือนอย่างดรุณีอยากมีคู่   แต่งกายาล่อชู้ให้เห็นสวย
เพื่อจะล่อชายหลงและงงงวย   แล้วเอออวยรับรักสมัครกัน”

ก่อนจะจบเรื่องของผู้หญิง ลองมาฟังคารมเกี่ยวกับผู้หญิงดูบ้าง
เบ.จี. ฮอลแลนด์ กล่าวว่า
“เมื่อหญิงรักก็มีลักษณะอันน่าสงสาร”

มิลตันว่า “ผู้หญิงต้องการลิ้นแต่เพียงเดียวเท่านั้น”

สเปนเซอร์ว่า “เล่ห์เหลี่ยมที่หญิงคดเคี้ยวไปนั้นใครรู้บ้าง”

เชคสเปียร์ปราชญ์ชาวอังกฤษว่า
“ใครคนไหนนะที่เขาคิดว่าจะอ่านผู้หญิงออก”
“ลักษณะอย่างหนึ่งในน้ำใจของสตรี คือย่อมเห็นสิ่งที่ตนมีอยู่แล้วนั้นเบาค่าแล้ว ถอนอุราครวญถึงสิ่งที่ยังไม่ได้” นางอนงราคาในหนังสือ
เรื่องอนงราคา

“ชีวิตจิตใจของชาติอยู่ในมือของสตรี บ้านจะรุ่งเรืองเมืองจะรุ่งโรจน์ก็เพราะมีสตรีที่ดี” ม.ร.ว. เสริมศรี เกษมศรี

“เปลก็ไกว ดาบก็แกว่งแข็งหรือไม่ ไม่ประมาทหญิงไทยใช่ชั่ว ไหนจะกิจในบ้านไหนงานครัว ใช่จะรู้แต่จะยั่วผัวเมื่อไร” สมเด็จกรมพระนราฯ ทรงนิพนธ์ยกย่องหญิงไทย

เรื่องของผู้หญิงก็เหมือนเหลี่ยมพลายของเพชร ใครจะมองแง่ไหนอย่างไรก็แล้วแต่จะมอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

มนุษย์ผู้หญิงหรือมนุษย์ผู้ชายใครเกิดก่อนในโลก

ผู้หญิงคือใคร ถ้าถามอย่างนี้ กว่าจะนึกคำตอบได้ก็กินเวลานานเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าผู้หญิงนั้นเป็นอย่างไร ก็คนที่คู่กับผู้ชายนั่นแหละ แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ทำให้เข้าใจว่าผู้หญิงคือใครดีขึ้นกว่าเดิม พจนานุกรมท่านอธิบายคำว่าผู้หญิงไว้อยางกระทัดรัดที่สุด ท่านให้คำจำกัดความคำว่าผู้หญิงไว้ว่า คือคนที่ออกลูกได้ เอาละเมื่อแปลผู้หญิงว่าอย่างนี้แล้ว คนที่แต่งตัวให้เหมือนผู้หญิง เช่นทำหน้าอกให้โตนูน ทำสะโพกให้ผาย พูดจาดัดจริตให้เหมือนผู้หญิงอย่างไรก็ตาม ถ้าคนนั้นไม่สามารถออกลูกได้แล้ว ก็ไม่เรียกว่าผู้หญิง คนพวกนี้ก็คือคนที่เราเรียกว่ากะเทยทุกวันนี้นั่นแหละอาดัมกับอีวา

แต่นั่นเหละผู้หญิงนั้นถึงจะหมายความว่าคนที่ออกลูกได้ก็จริง แต่ไม่จำเป็นว่าขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้วจะต้องออกลูกทุกคนเสมอไป แต่หมายความว่าถึงเวลามีลูกก็สามารถจะออกลูกได้เท่านั้นเอง

พูดถึงความเป็นมาของผู้หญิง ก็เหมือนพูดถึงความเป็นมาของคนนั่นเอง ซึ่งได้พูดไปแล้วในตอนที่ว่าด้วย ค คน แต่เรื่องของคนผู้หญิงนี้มีอะไรเป็นพิเศษมากกว่าคนที่พูดมาแล้ว

ทีนี้มีปัญหาว่ามนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ ครั้งแรกที่เดียวเกิดมีมนุษย์ผู้หญิงหรือมนุษย์ผู้ชายขึ้นก่อน ข้อนี้เป็นปัญหาโลกแตกเหมือนปัญหาที่ว่าไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ นั่นแหละ แต่ตามคัมภีร์ไบเบิลของคริสตศาสนานั้นกล่าวว่าครั้งแรกที่เดียวพระเจ้าได้สร้างมนุษย์ผู้ชายคืออาดัมขึ้นก่อน แต่ทรงเห็นว่ามีแต่มนุษย์ผู้ชายไม่มีเพื่อนสนทนาด้วย จึงทรงสร้างมนุษย์ผู้หญิงขึ้นจากกระดูกซี่โครงของอาดัมซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ชายนั่นเอง มนุษย์ผู้หญิงคนแรกคืออีวา ดังนั้นผู้หญิงกับผู้ชายจึงขาดจากกันไม่ได้ เพราะพระเจ้าสร้างขึ้นจากคนๆ เดียวกันนั่นเอง นี่เป็นเรื่องศาสนาคริสต์ ซึ่งก็ดีเหมือนกันที่แก้ปัญหาเรื่องใครเกิดก่อนใครไว้เสียได้ ไม่ต้องโต้เถียงกันให้เสียเวลา ความจริงแล้ว ใครจะเกิดก่อนใครไม่ใช่เป็นปัญหาที่จะต้องมานั่งขบคิด เพราะคิดไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นเลย

นักปราชญ์สมัยโบราณเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงไว้มาก ซึ่งแน่ละนักปราชญ์เหล่านั้นต้องเป็นผู้ชาย คงจะเคยสมหวังและผิดหวังในเรื่องผู้หญิงมามาก จึงเขียนไปในทำนองที่ว่าผู้หญิงนั้นไม่ค่อยจะแน่นอนเท่าไรนัก เช่นเปรียบไว้ว่าผู้หญิงนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากน้ำผึ้ง จึงมีความหวานเหมือนน้ำผึ้ง และมีความอ่อนช้อยเกาะสิ่งที่ใกล้ชิดเหมือนเถาวัลย์ ร้อนเหมือนเปลวเพลิง เยือกเย็นเหมือนสายน้ำหรือร่มเงาของพฤกษาไม่แน่นอนเหมือนสายลมหรือก้อนเมฆ ร้ายเหมือนงูพิษ แต่ใครจะเขียนไว้อย่างไรก็ตาม แต่ผู้หญิงก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดา ของโลกอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะถ้าไม่มีผู้หญิงเสียแล้ว โลกก็คงไม่เป็นโลกอยู่ได้ และผู้ชายที่ว่าผู้หญิงร้อยสี่พันอย่างนั้นก็หนีผู้หญิงไม่พ้นอยู่นั่นเอง

เมื่อพูดถึงผู้หญิงในแง่ที่เป็นลูก ผู้หญิงเป็นทั้งสิ่งที่น่ารัก และน่าเบื่อหน่าย ว่ากันว่าลูกผู้หญิงนั้นเอาอกเอาใจรู้จักช่วยพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆ ส่วนผู้ชายมักจะเอาแต่เที่ยวเตร่ไม่ค่อยจะอยู่บ้าน แก่ถ้าลูกผู้หญิงคนไหนกลับประพฤติตรงกันข้ามคือชอบเที่ยวเตร่ไม่ค่อยอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนละก็ พ่อแม่มักจะต้องอิดหนาระอาใจกว่าลูกผู้ชายเกเรหลายร้อยเท่า

ผู้หญิงในแง่ที่เป็นภรรยา ถ้าเป็นภรรยาที่รู้จักหน้าที่ของภรรยา รู้จักจัดการบ้านเรือน รู้จักเก็บหอมรอมริบ ไม่ประพฤตินอกใจสามี ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสามีพอสมควรตามฐานะ ไม่ไปก้าวก่ายในหน้าที่การงานของสามี ภรรยาชนิดนี้ เรียกว่าเป็นแม่ศรีเรือน แต่ถ้าตรงกันข้ามก็จะกลายเป็นอัปปรีย์เรือนไป

ผู้หญิงในฐานะเป็นภรรยานี้ เห็นจะเป็นฐานะที่สำคัญมากทีเดียว เราจึงมีคำพังเพยไว้มากมายเช่นว่าผู้หญิงเปรียบเหมือนช้างเท้าหลัง คือคอยติดตามสามีหรือเป็นผู้ตามไม่ใช่ผู้นำ แต่คติอันนี้เขาว่ากันว่าไม่ทันสมัยเสียแล้ว เพราะผู้หญิงผู้ชายได้รับการศึกษาเท่ากัน จึงควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน อย่างนี้ก็พอทำเนา แต่บางรายผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยาเดินนำหน้าสามี ถ้าเป็นคติโบราณเขาเรียกว่าช้างเดินถอยหลัง เพราะเมื่อเปรียบผู้หญิงเหมือนช้างเท้าหลังเสียแล้ว หากให้ผู้หญิงนำก็เท่ากับให้ช้างเดินถอยหลังนั่นเอง นี่เป็นเรื่องคิดกันสนุกๆ ผู้หญิงที่มีความ สามารถเท่ากับผู้ชายหรือดีกว่าผู้ชายสมัยนี้มีออกถมไป

และมีคำพังเพยอีกคำหนึ่งว่า “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ” คำพังเพยอันนี้เคยมีคนตีความหมายไว้ว่าหมายถึงผู้ชายเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อความก้าวหน้า แต่ผู้หญิงคอยทำลายความก้าวหน้าของผู้ชายเสีย ข้อนี้ผมเคยคัดค้านไว้ว่า คำพังเพยอันนี้ไม่ใช่มีความหมายอย่างนั้น แต่มีความหมายว่า ผู้ชายนั้นทำงานเพื่อความก้าวหน้า และมีผู้หญิงช่วยสนับสนุนอยู่ เปรียบเสมือนผู้ชายพายเรือไปค้าขายหรือทำมาหากิน เมื่อเรือกลับมาถึงท่าก็ต้องมีการซ่อมแซมเรือบ้าง ตอนนี้แหละเป็นหน้าที่ของผู้หญิง คำว่ายิงในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทำให้แตกหักหรือทำลายแต่มีความหมายว่าทำให้ติดกัน คำว่ายิงในภาษาปักษ์ใต้ซึ่งถือว่าเป็นภาษาไทยดั้งเดิมในบางคำ มีความหมายว่าทำให้ติดกันหรือรัดตรึง อีกความหมายหนึ่ง ดังนั้น คำพังเพยที่ว่าผู้หญิงยิงเรือก็คือ ผู้หญิงเป็นฝ่ายซ่อมเรือนั่นเอง หาใช่เป็นฝ่ายทำลายเรืออย่างที่เข้าใจกันไม่ คำว่ายิง,ริงจึงเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน

ผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่หรือมารดา ถือเป็นพระของลูก มหาบุรุษของโลกหลายคนได้ดีขึ้นมาเพราะการอบรมสั่งสอนของมารดา เพราะมารดาเป็นผู้ใกล้ชิดลูก ส่วนบิดานั้นเป็นผู้ที่ต้องออกไปทำมาหากิน โอกาสที่จะอยู่อบรมลูกจึงมีน้อย ดังนั้นบุตรจะดีหรือไม่ จึงอยู่ที่มารดาเป็นผู้ปั้น โดยเฉพาะบุตรหญิงเราจึงมีคำพังเพยว่า จะดูช้างให้ดูหาง จะดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงยาย ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ก็เพราะแม่เป็นผู้อบรมลูกนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เรื่องของช้างเอราวัณ

ทีนี้จะว่าเรื่องช้างเอราวัณต่อไป ช้างเอราวัณนในหนังสือไตรภูมิว่าช้างนี้ชื่อ ไอยราพรต และว่าไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน เพราะบนสวรรค์สัตว์เดรัจฉานขึ้นไปอยู่ไม่ได้ ช้างไอยราพรตเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อเอราวัณเทพบุตร เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปแห่งใด เอราวัณเทพบุตรก็นิมิตนเป็นช้างเผือกตัวหนึ่งใหญ่นัก โดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วามีหัว ๓๓ หัว หัวน้อยๆ สองหัวอยู่ข้างหัวใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นชุดละ ๓ หัว หัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา หัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างหัวละ ๓,๐๐๐ วา ถัดเข้าไปช้างเอราวัณหัวละ ๔,๐๐๐ วา ถัดเข้าอีกหัวละ ๕,๐๐๐ วา และ ๖,๐๐๐ วาตามลำดับ ส่วนหัวใหญ่อยู่ตรงกลางหัวทั้งหลาย ชื่อสุทัศน์ เป็นพระที่นั่งของพระอินทร์ กว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา คือกว้างสองเท่าของความสูงทั้งตัว เหนือหัวช้างมีแท่นแก้วอันหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา มีปราสาทกลางแท่นแก้วสูงได้ ๘,๐๐๐ วา มีราชอาสน์หนา พร้อมด้วยหมอนใหญ่ หมอนน้อย หมอนอิง องค์พระอินทร์สูงได้ ๖,๐๐๐ วา เสด็จประทับ เหนือแท่นแก้ว มีเทพยดาขี่ ๒๒ หัว (ทำไมไม่ขึ้นทั้ง ๓๓ หัวก็ไม่ทราบ อาจจะจดตัวเลข ๓๓ ผิดเป็น ๒๒ ก็ได้) ช้าง ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงา ๗ อัน งาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา งา แต่ละงามีสระได้ ๗ สระ สระแต่ละสระมีกอบัวได้ ๗ กอ บัวแต่ละกอมีดอกได้ ๗ ดอก แต่ละดอกมีกลีบได้ ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้ายืนจับระบำ ๗ คน นางแต่ละนางนั้นมีสาวใช้ ๗ คน รวมยอดช้าง ๓๓ หัว มีงาได้ ๒๓๑ งา มีสระได้ ๑๖๑๗ สระ มีกอบัวได้ ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัวได้ ๗๙1๒๓๓ ดอก กลีบบัวได้ ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ นางฟ้าได้ ๓,๘๘๒,๔๑๗ คน และสาวใช้นางระบำหรือนางฟ้าได้ ๒๗,๑๗๖,๙๑๖ คน และในงาช้างเอราวัณนั้นมีสถานที่สำหรับนางระบำและสาวใช้อยู่ โดยกว้าง ๕๐ โยชน์ คิดดูพลเรือนของพระอินทร์ที่อยู่บนงาช้างเอราวัณแล้วเกือบเท่ากับจำนวนพลเมืองของประเทศไทยปัจจุบัน แต่เนื้อที่มีเพียง ๕๐ โยชน์ เห็นจะต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันหน่อย แต่อย่าไปเอานิยายอะไรกับจำนวนเลขใน
หนังสือเก่าเลย เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่ามีคนมากน่าสนุกสนานเท่านั้นเอง

เรื่องของช้างเอราวัณนี้มีปรากฏในหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ฉบับพระราช นิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตอนหักคอช้างเอราวัณ ว่าอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ และพวกนายและไพร่พลแปลงกายเป็นช้างเอราวัณ และเทพบุตรเทพธิดา กลอนตอนนี้มีว่า

“ให้การุณราชกุมภัณฑ์    เป็นเอราวัณตัวกล้า
สามสิบสามเศียรอลงกา    เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน

งาหนึ่งเจ็ทสระโกสมภ์        สระหนึ่งมีปทุมเกษร
เจ็ดดอกชูก้านอรชร        กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา

ดอกหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช        กลิ่นรสซาบซ่านนาสา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา            เจ็ทนางกัลยายุพาพาล

แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร        รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน
นางหนึ่งล้วนมีบริวาร            เจ็ทองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ

เผือกผ่องพึงพิศอำไพ        เหมือนช้างเจ้าไตรตรึงษ์ในสวรรค์
มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์    พรายพรรณล้วนแก้วมณี”

รามเกียรติ์ตอนอินทรชิตแปลงนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่เป็นกาพย์ฉบัง ลองฟังดูว่ากะทัดรัดกว่ากลอนพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มากและไพเราะเพียงไร กาพย์ตอนนี้มีว่า

“อินทรชิตบิดเบือนกายิน    เหมือนองค์อัมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ

ช้างนิมิตฤทธิ์แรงแข็งขัน    เผือกผ่องผิวพรรณ์
สีสังข์สะอาดโอฬาร์

สามสิบสามเศียรโสภา        เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดังเพชรรัตน์รูจี

งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี        สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล

กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์        ดอกหนึ่งเบ่งบาน
มีกลีบเจ็ดกลีบผกา

กลีบหนึ่งมีเทพธิดา        เจ็ทองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล

นางหนึ่งย่อมมีบริวาร        อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิมิตมายา

จับระบำรำร่ายส่ายหา        ชำเลืองหางตา
ทำทีดังเทพอัปสร

มีวิมานแก้วงามบวร        ทุกเกศกุญชร
ดั่งเวชยันต์อัมรินทร์”

เป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องพิสดารบนเศียรช้างเอราวัณของพระอินทร์ ดูไปแล้วก็ละครโรงหนึ่งนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ช้างตระกูลต่างๆ ๑๐ ตระกูล

๑. ช้างตระกูลฉัททันต์ มีผิวกายขาวบริสุทธิ์ดุจสีเงินยวง ว่ามีฤทธิ์เดชมาก แม้นจะเหาะไปในนภากาศก็ได้ ถ้าจะไปทางบกก็ไปได้รวดเร็ว คือในระยะทางสามล้านหกแสนหนึ่งหมื่นสามร้อยสิบโยชน์นั้น ช้างฉัททันต์ใช้เวลาเดินทางเพียง ๓ นาทีเท่านั้นเอง เร็วกว่าจรวดที่สหรัฐช้างฉัททันต์อเมริกา หรือรัฐเซียส่งไปโลกพระจันทร์มากมายนัก และกำลังของช้างตระกูลฉัททันต์นี้ เหนือกว่าช้างใดๆ ช้างตระกูลอุโบสถ ๑๐ เชือก จึงจะมีกำลังเท่าพญาช้าง ฉัททันทต์นี้เชือกหนึ่ง

๒. ช้างตระกูลอุโบสถ มีลักษณะสูงใหญ่สง่างาม ผิวดังสีทอง มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศไค้ เดินทางบกช้ากว่าช้างฉัททันต์ มีช้างสีเหลืองเป็นบริวาร อยู่ในป่าหิมพานต์ พญาช้างอุโบสถย่อมจะนำเอาลูกมายกให้เป็นภรรยาพญาช้างฉัททันต์ และถือกันว่าพญาช้างอุโบสถนั้น สมควรเป็นพาหนะของพระมหาจักรพรรดิ์เท่านั้น

๓. ช้างตระกูลเหมหัตถี คือช้างทอง มีลักษณะสูงใหญ่ มีสีตัวเหลืองดังทอง มีหมู่ช้างพลายพังเป็นบริวารเป็นอันมาก แต่กำลังน้อยกว่าช้างอุโบสถ ช้างเหมหัตถี ๑๐ เชือก จึงจะเท่าช้างอุโบสถเชือกหนึ่ง

๔. ช้างตระกูลมงคลหัตถี รูปสูงสง่า ผิวตัวดังสีดอกอัญชัญ ฤทธิ์น้อยกว่าช้างเหมหัตถี

๕. ช้างตระกูลคันธหัตถี ร่างสูงใหญ่ ผิวตัวดังไม้กฤษณา กลิ่นตัวและมูตรคูตหอมหวนชื่นใจ แต่จะมีกลิ่นอย่างไร ขนาดไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน ใครเลี้ยงช้างชนิดนี้ไว้ก็เห็นจะรวยเป็นมหาเศรษฐีไปเลย เพราะไม่ต้องทำอะไร คอยเก็บมูตรและคูตช้างทำเครื่องหอมอย่างเดียวก็เห็นจะพอกิน ช้างตระกูลคันธหัตถีนี้ว่ามีกำลังมากเหมือนกัน แต่ยังน้อยกว่าช้างมงคลหัตถี

๖. ช้างตระกูลปิงคถหัตถี ลักษณะสูงสง่างาม สีตัวเหลืองอ่อนดังสีตาแมวมีช้างเป็นบริวารมากแต่กำลังน้อยกว่าพญาช้างคันธหัตถี

๗. ช้างตระกูลตัมพหัตถี คือช้างสีทองแดง มีกำลังและบริวารมาก แต่กำลังน้อยกว่าพญาช้างปิงคลหัตถี

๘. ช้างตระกูลปัณฑรนาเคนทร์หรือปัณฑรหัตถี ว่ามีสีตัวดังเขาไกรลาส ไกรลาส คือ หมายถึงสีขาวนั่นเอง เพราะเขาไกรลาสนั้นว่ากันว่ามีหิมะจับขาวไปหมด

๙. ช้างคับเคยยนาเคนทร์ หรือ คังไคย สีกายดังสีอุทกวารี

๑๐. ช้างกาฬวกะหัตถี หรือ กาลาวกหัตถี มีสีกายดังสีปีกกา

ช่างทั้ง ๑๐ ตระกูลนี้เป็นช้างที่พระอิศวรทรงสร้างขึ้น แต่ช้างในทางพุทธศาสนาของเราก็มีอยู่เหมือนกัน จะเป็นของพุทธแท้หรือเรื่องของศาสนาพราหมณ์เข้ามาแทรกก็โปรดใช้วิจารญาณดูเอาเถิด ช้างที่กล่าวนี้คือช้างเอราวัณ หรือ ไอยราวัณ ว่าเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงนั่นเอง

เขียนมาถึงตอนนี้ ใคร่จะเขียนถึงเรื่องของพระอินทร์สักเล็กน้อย จึงขอยกเรื่องช้างเอราวัณ หรือไอยราวัณไปเขียนตอนท้าย ท่านเสฐียรโกเศศ เล่าถึงเรื่องพระอินทร์ไว้ว่า

“เดิมพระอินทร์เป็นมนุษย์ชื่อมฆมาณพ มีเพื่อนสนิทอยู่ ๓๒ คน ได้ทำบุญกุศลไว้มากเมื่อตายจึงไปเกิดเป็นเทวดาผู้ใหญ่อยู่บนสวรรค์ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ตรงกลางเป็นของพระอินทร์โดยเฉพาะ ชื่อว่าเมืองสุทัศน์ แปลว่าดูงาม เป็นชื่อมีมาแล้วแต่ครั้งพวกอสูรอยู่ เมื่อพระอินทร์กับพวกแย่งเมืองนี้ได้ จึงคงชื่อเดิมไว้ เมืองสุทัศน์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า อมรวดี แปลว่าเมืองของผู้ไม่ตายคือเทวดา ส่วนสหาย ๓๒ คนที่ไปเกิดเป็นเทวดาด้วยต่างก็มีเมืองของตนตั้งอยู่รอบเมืองสุทัศน์ของพระอินทร์ แบ่งกันอยู่ ๔ ทิศๆ ละ ๘ เมือง จึงมีเมืองทั้งหมดด้วยกัน ๓๓ เมือง เทวดาผู้ใหญ่สหายของพระอินทร์ ๓๒ องค์นี้ ที่รู้จักกันดีก็มีหลายองค์ เช่น มาตุลี ซึ่งมีหน้าที่เป็นสารถีขับรถให้พระอินทร์ เวสนุกรรม ซึ่งเป็นนายช่างของเทวดา (เทวดาสององค์นี้มีบทบาทอยู่ในเรื่องสังข์ทองของเราด้วย) พระจันทรเทพบุตร พระสุริยเทพบุตร พระพิรุณ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝน เป็นต้น”

เรื่องจำนวน ๓๓ เข้าใจว่าจะไม่ใช่มาแต่เรื่องอย่างที่เล่าข้างต้น เพราะ ๓๓ เป็นจำนวนเทวดาดั้งเดมสืบแต่สมัยพระเวทซึ่งเขาแบ่งเทวดาออกเป็น ๓ พวก พวกละ ๑๑ องค์ คือเทวดาที่อยู่บนสวรรค์พวก ๑ มีพระวรุณ (พระพิรุณในไทย) พระสูรย (พระสุริย) เป็นต้น อยู่กลางฟ้ากลางอากาศพวกหนึ่ง มีพระอินทร์เป็นต้น และอยู่บนแผ่นดินอีกพวกหนึ่ง มีพระอัคนีเป็นต้น พระอินทร์มีหน้าที่คอยขับไล่และประหารพวกอสูร ซึ่งทำความมืดมัวให้แก่โลก โดยใช้สายฟ้าเป็นอาวุธเรียกวชิราวุธ เป็นเครื่องทำลายขจัดให้หมดสิ้นไป ถ้าอสูรตนใด ได้ทำความแห้งแล้งให้เกิดมีขึ้น พระอินทร์ก็ล้างผลาญอสูรตนนั้นเสีย แล้วก็ให้นํ้าฟ้าหรือ ฝนตกลงมา เมื่อพระอินทร์คอยให้ความสว่างและความชุ่มชื่นเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูก ซึ่งเป็นงานการสำคัญของคนสมัยโบราณดังนี้ มนุษย์ย่อมมีความนิยมยินดีนับถือพระอินทร์ ยิ่งกว่าเทพองค์อื่น ในที่สุดพระอินทร์ก็ได้เป็นใหญ่เหนือเทวดาอื่นทั้งหมด แม้พระวรุณ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝนและน้ำโดยตรง ก็สู้พระอินทร์ไม่ได้เพราะทำการไม่โฆษณาออกหน้าเหมือนพระอินทร์ คนจึงไม่ใคร่รู้จัก แล้วคำว่าอินทร์มีความหมายขยายออกไปว่าผู้เป็นใหญ่ ใช้ผสมเข้ากับคำอื่น แปลว่าเป็นใหญ่แก่สิ่งนั้น เช่นผสมกับคำว่าสุระ เป็นสุรินทร์ แปลว่า เป็นใหญ่ในสุระคือเทวดา ได้แก่พระอินทร์นั่นเอง (เมืองสุรินทร์จึงมีรูปเป็นเทวดาทรงช้างเอราวัณ) ผสมกับคำว่านร เป็น นรินทร์ แปลว่าเป็นใหญ่ใน นร คือคนได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาลัทธิศาสนาพราหมณ์ คลี่คลายเป็นลัทธิศาสนาฮินดู หรือไสยศาสตร์ทุกวันนี้เทวดาครั้งพระเวทลางองค์ซึ่งไม่ใช่เทวดาสำคัญอะไร กลับได้เป็นใหญ่กลายเป็นพระ- เป็นเจ้าขึ้นน คือพระอิศวรและพระนารายณ์ ส่วนพระอินทร์ซึ่งเคยเป็นใหญ่อยู่ในสมัยพระเวท ก็ถูกลดฐานะลง (แสดงให้เห็นถึงความไม่เทียงแท้แน่นอนของสังขารตามหลักทางพระพุทธศาสนาว่า ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ แม้แต่ตำแหน่งของเทวดาก็อาจเสื่อมถอยลงได้) แม้ยังมีเค้ายอมให้เป็นเทพบดีหรือหัวหน้าเทวดาดั่งเดิมอยู่แต่ต้องเป็นรองลงมาจากพระเป็นเจ้า และมีเรื่องกล่าวถึงพระอินทร์เป็นไปในทางไม่งดงาม มีความประพฤติเลวทราม เพราะไปผิดเมียของฤษีตนหนึ่งเป็นต้น จนต้องถูกฤษีสาปให้พระอินทร์มีนิมิตลับหรือเครื่องหมายของผู้หญิงติดพราวไปทั้งองค์ (จึงถูกเรียกชื่อว่า สหัสโยนี) ภายหลังฤษีตนนั้นหายโกรธแล้วจึง สาปแบ่งเบาเสียใหม่ ให้สิ่งนั้นกลายเป็นตาไป เหตุฉะนี้พระอินทร์จึงได้ชื่อว่าท้าวสหัสนัยน์ แปลว่าท้าวพันตา นอกจากนี้พระอินทร์ยังต้องระวังฤษีและยักษ์ที่บำเพ็ญตบะคือการทรมานกายอย่างยิ่งยวด เพื่อหวังผลให้เกิดฤทธิอำนาจต่างๆ ตามที่ต้องการ ถ้าบำเพ็ญตบะสำเร็จได้เมื่อใด พระอินทร์และเทวดาทั้งปวงจะได้รับความเดือดร้อนเมื่อนั้น เมื่อฤษีหรือยักษ์ตนใด บำเพ็ญตบะแก่กล้าเห็นท่าไม่ดีจะเดือดร้อนแก่เทวดาแน่แล้ว พระอินทร์ก็ใช้ให้นางเทพอัปสร ผู้เป็นนางบำเรอของเทวดาตนหนึ่งลงไปทำลายตบะด้วยวิธียั่วยวนชวนฤษียักษ์ตนนั้นให้ลุ่มหลงต่อความกำหนัดยินดีในสตรีเพศ เลิกความเพียรที่จะบำเพ็ญตบะต่อไป พระอินทร์และเทวดา ก็รอดตัวพ้นภัยไปคราวหนึ่ง

ส่วนพระอินทร์ของพุทธศาสนาผิดกับพระอินทร์ของลัทธิศาสนาฮินดู เพราะพระอินทร์ของศาสนาพุทธมีลักษณะเป็นพระอินทร์ของสมัยพระเวทมากกว่า ไม่มีเรื่องเลอะเทอะ หรือเรื่องตกต่ำอย่างในลัทธิศาสนาฮินดู พระอินทร์ในเรื่องรามเกียรติ์มีลักษณะปนๆ กัน ทั้งที่เป็นพระอินทร์พุทธและพระอินทร์ฮินดู ยิ่งกว่านี้พระอินทร์ของพุทธศาสนาไม่เป็นตำแหน่งประจำตายตัว ใครทำบุญกุศลไว้มาก อาจขึ้นไปเกิดเป็นพระอินทร์ เพราะด้วยบุญบารมีที่ทำไว้ เป็นพระอินทร์อยู่ตลอดเวลาที่บุญกุศลยังส่งให้อยู่ หมดบุญเมื่อใดก็ต้องจุติ คือเคลื่อนจากความเป็นอยู่เดิมหรือตายจากเทวดา ลงไปเกิดยังภพอื่น จะไปเกิดยังภพใดภูมิใด แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ ส่วนตำแหน่งพระอินทร์ คนอื่นที่เขามีบุญสมควรกันก็ขึ้นไปแทน และเป็นตำแหน่งคอยป้องกันและส่งเสริมพุทธศาสนาให้เจริญถาวรสืบไป

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี