คนแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด

Socail Like & Share

ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้ได้แบ่งคนออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑. ผู้ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และบาปนั้นตามทัน ต้องถูกตัดตีนสินมือและทุกข์โศกเวทนา พวกนี้ท่านเรียกว่า คนคนนรก

๒. ผู้หาบุญอันจะกระทำบ่มิได้ และแต่เมื่อก่อน และเกิดมาเป็นคนเข็ญใจหนักหนา และมีผ้าและเสื้อของคนนั้นหาบ่มิได้ และอดอยากไม่มีกิน รูปโฉมก็ขี้เหร่ พวกนี้ท่านเรียกว่า คนเปรต

๓. คนที่ไม่รู้จักบุญและบาป ไม่มีความเมตตากรุณา ใจกล้าแข็งไม่ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่รู้จักปฏิบัติพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่รักพี่รักน้องกระทำบาปอยู่ร่ำไป พวกนี้ ท่านเรียกว่า คนเดรัจฉาน

๔. คนที่รู้จักบุญและบาป รู้กลัวรู้ละอายแก่บาป รู้จักว่ายากว่าง่าย รู้จักพี่จักน้อง รู้เอ็นดูกรุณาคน ผู้เข็ญใจ รู้ยำเกรงพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่สมณพราหมณาจารย์ และรู้จักคุณแก้ว ๓ ประการ คือ พระรัตนตรัย พวกนี้ท่านเรียกว่ามนุษย์

ถ้าท่านจะสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่าคนโบราณท่านแบ่งชั้นของคนตามคุณธรรม ความดี หาได้แบ่งคนตามฐานะยากจนหรือร่ำรวยไม่ เพราะว่าทรัพย์สมบัตินั้นเป็นเพียงวัตถุภายนอก ใครมีหรือไม่มีก็ไม่ใช่เครื่องหมายของความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด คุณธรรมความดีเท่านั้นที่จะแสดงว่าคนไหนเป็นมนุษย์หรือไม่เป็นมนุษย์ อย่างในหนังสือหิโตปเทศ กล่าวว่า การกิน การเสพกาม และการนอนหลับมีทั่วไปทั้งมนุษย์และสัตว์ แต่ธรรมเท่านั้นที่ทำให้คนต่างกับสัตว์ คนที่ไม่มีธรรมหรือศีลธรรมจึงไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าคนต่างกับสัตว์แต่ประการใด

ในเรื่องภูมิศาสตร์ ซึ่งทุกวันนี้เราแบ่งโลกออกเป็น ๖ ทวีป คือ เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ อาฟริกา และออสเตรเลีย และบางตำราเพิ่มทวีปแอนตาร์คติกเข้าไปด้วยนั้น  ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้แบ่งโลกออกเป็นเพียง ๔ ทวีป เท่านั้น โดยถือเอาเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง แล้วกล่าวว่า คนทั้ง  ๔ ชนิด ที่กล่าวแล้วข้างต้น พวกหนึ่งเกิดและอยู่ในชมพูทวีป ซึ่งหมายถึงประเทศอินเดีย คนในชมพูทวีปมีรูปหน้ากลมดังดุมเกวียน อย่างคนที่เห็นกันอยู่นี้ จำพวกหนึ่งเกิดและอยู่ในแผ่นดินบูรพวิเท่ห์เบื้องตะวันออก มีรูปหน้าดังเดือนเพ็ญกลมดังหน้าแว่น จำพวกหนึ่งเกิดอยู่ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปฝ่ายเหนือ มีรูปหน้าเป็นสี่มุม ดุจดังท่านถากให้เป็นสี่เหลี่ยม กว้างและรีเท่ากันจำพวกหนึ่งเกิดและอยู่ในแผ่นดินอมรโคยานทวีปเบื้องตะวันตก มีรูปหน้าดังเดือนแรม ๘ ค่ำ

เรื่องของทวีปโบราณนี้จะเท็จจริงอย่างไรก็อย่าไปสนใจเลยครับ นำมาเล่าไว้เพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า คนโบราณท่านเข้าใจเรื่องของภูมิประเทศเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี