การนับถืองูในประเทศพม่าสมัยโบราณ

Socail Like & Share

อย่างไรก็ตาม คนไทยเรายังเชื่อกันอยู่ว่างูนั้น ถ้าเป็นงูขนาดใหญ่เราถือว่าเป็นงูศักดิ์สิทธิ์หรืองูเจ้า ไม่มีใครกล้าทำร้าย นอกจากนี้ยังมีคนบางคนนับถืองูเป็นสรณะเสียอีก ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าฉบับกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ ตอนหนึ่งว่า

“มีคำเล่ากันทั้งปรากฏในยาซะเวงคญีพม่าเขียนไว้แน่ชัดว่า การนมัสการนาคะ เป็นศาสนาใหม่ตอนบนอยู่ยุคหนึ่ง ในระหว่างพุทธศักราชพันสี่ร้อยเศษถึงห้าร้อยเศษ พระเจ้าอโนรธามังฉ่อมหาราชเลิกเสียด้วยมีพระสงฆ์ที่ว่าเป็นพระอรหันต์มาถวายธรรมเทศนา ทรง เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอุปถัมภกอย่างอุกฤษฐ์ จนถึงยกกองทัพไปตีกรุงตะโถง หรือสะโตง แลมหาจำปานครเชิญพระตรัยปิฎกบาลี นิมนต์พระสงฆ์ จับองค์พระราชาแล ราษฎรริบทุกสิ่งที่ยกรื้อได้จากเมืองมอญเมืองเขมรมากรุงภุกาม และเริ่มปลูกพระศาสนาใหม่ให้ไพบูลย์สืบมา”

ยากที่จะเชื่อนักว่า การไหว้งูนี้เป็นศาสนาแท้ มาตรว่าครั้งดึกดำบรรพ์มนุษย์ก็นับถือไหว้สัตว์เดรัจฉานกันจริงๆ นาคะในเวทะก็เป็นสัตว์ที่นิยมมากทั้งเป็นสัตว์สวรรค์ การเอาหนังนาคมาห่อเป็นรูปก็คิดกันว่า กลับฟื้นชีวิตเป็นาคได้ แลนาคเป็นเครื่องหมายแห่งพระนฤพานหรือแห่งบรมสุข ตำนานพม่ามีเรื่องราวในหนังสือที่ประพันธ์ไว้มากแม้จะไม่ได้ไหว้กราบนับถือกันจริงจังมากอย่างเป็นพระเจ้าสมความเข้าใจของคนชั้นหลัง แทบจะว่าไม่มีตำรับใดที่ไม่ได้เอ่ยถึงนาคบางอย่าง เป็นธรรมดาธิดานาคราชมักเป็นชายาของผู้มีบุญ แต่ไม่ค่อยจะโปรดปราน ลงท้ายโชคของนางนาคน่าสังเวชมากกว่าปิติโสมนัส ใช่แต่ในพม่า พญานาคราชก็ยังได้เป็นชนกนารถของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเหมือนวฤหัศพติเทพบุตร ก็เป็นพระบิดาของสซิเปียวอาฟริกะนัส พันธุ์เดียวกะมหากษัตริย์พม่าแทบทุกองค์ เอื้อมเป็นเชื้อสากยะตระกูลของพระพุทธเจ้าในอินเดียข้างเหนือ ราชาเมืองชุเตียนาคะบุระก็เอื้อมว่าบุณฑริกะนาคเป็นปฐมวงศ์ พระองค์อภิเษกด้วยนางปารวดีอันเป็นธิดางามของพราหมณ์ เหตุจะทรงสร้างที่ระลึกถึงนาคอันเป็นปฐมวงศ์ จึงทรงสร้างราชมณเฑียรประกอบด้วยลวดลายนาคหน้าเป็นคน

ยังมีเค้าการนับถือนาคในพม่าครั้งโบราณอยู่หลายอย่าง เช่นใกล้ที่ประดิษฐานเทวรูปพม่า ๓๗ องค์ ณ ชเวชิคุณเจดีย์เหนือกรุงภุกามนั้นก็มีศิลารูปนาคไว้ที่ฐานเจดีย์ มีนิทานกล่าวว่า นากนั้นเป็นผู้ชลอธรณีที่ตั้งพระเจดีย์ขึ้นมาจากท้องแม่อิระวดี ที่พระเจดีย์อีกองค์หนึ่งใกล้อานันทเจดีย์ก็มีกระเบื้องเคลีอบสีแดง พื้นดินเผาราวแผ่นละศอกๆ สี่เหลี่ยมปูนปนอยู่กับพื้นแผ่นศิลาต่างว่าเป็นไฟนาคราชพ่นพิษอย่างชุมที่สุด ก็กระไดนาคแทบทุกพนัก กระไดขึ้นพระเจดีย์ ยกเป็นรูปนาค แต่การข้อนี้น่าจะประสงค์ให้งามตามความคิดช่าง แต่ก็คงเกี่ยวเพราะนาคเป็นสิ่งนิยม ถ้าไม่ใช่ก็ยังถอนความนิยมนับถือมาแต่ดั้งเดิมให้หลุดพ้นไม่ไหว”

เมื่อเร็วๆ นี้มีการสถาปนากษัตริย์พิเสนทวาขึ้นครองราชวงศ์ชาร์ของเนปาล พนักพิงของราชบัลลังก์สลักเป็นรูปงูเห่า ๙ ตัวแผ่แม่เบี้ยอันเป็นสัญญลักษณ์ของผู้มีอำนาจตามความเชื่อของชาวเนปาล

การนับถืองูเป็นศาสนาของชาวพม่าตอนเหนือว่านับถืออยู่คราวหนึ่ง แล้วพระเจ้า อโนรธามังฉ่อมหาราชได้สั่งให้เลิกเสียแล้วนับถือพุทธศาสนาแทน ความจริงนั้น การนับถืองู ไม่ใช่มีแต่ชาวพม่าเท่านั้น คนนับถืองูมีอยู่ทั่วไปในสมัยดึกดำบรรพ์เช่น ศาสนาพราหมณ์ก็ถือว่างูหรือนาคเป็นแท่นไสยาสน์ของพระนารายณ์ เราจะเห็นภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์มีนาครองรับอยู่ตามปราสาทหินทั่วๆ ไป นั่นก็นับถือว่างูเป็นพาหนะของพระเป็นเจ้าเหมือนกัน พระอิศวรเองก็ว่างูเป็นสังวาลย์หรือเครื่องประดับ ฝ่ายศาสนาพุทธเราตามพุทธประวัติก็ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ฝนตกหนัก มีพระยานาคตนหนึ่งมาเอาพังพานแผ่บังมิให้ฝนถูกพระพุทธองค์ จนเราทำพระพุทธรูปไว้บูชาปางหนึ่งเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิมีงู หรือนาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ เรียกว่าพระนาคปรก ถึงชาวพุทธจะไม่นับถืองูเป็นสรณะก็ยังยกย่องว่างูเป็นสัตว์ประเสริฐอย่างที่ตำนานการบวชนาคกล่าวไว้ว่า เหตุที่จะเรียกคนจะบวชว่านาคนั้น ก็เพราะว่าสมัยหนึ่งมีพญานาคตนหนึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาใคร่จะบวช จึงปลอมตัวเป็นมนุษย์แล้วเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา แต่พอนอนหลับเกิดเผลอสติก็กลับกลายเป็นนาคตามเดิมจึงถูกให้สึก พญานาคเสียใจจึงขอไว้ว่าแม้ตนไม่ได้บวชก็ขอให้เรียกผู้ที่จะเข้าบวชว่านาคก็แล้วกัน ว่ากันว่าแต่นั้นมา จึงเรียกคนที่เตรียมตัวจะบวชว่านาคและว่าที่ต้องถามเวลาขานนาคว่า มนุสโสสิ ซึ่งแปลว่าท่านเป็นมนุษย์ หรือ ก็เพราะเหตุที่นาคปลอมตัวมาบวชนี้เอง แต่ข้อนี้ท่านผู้รู้อธิบายว่า ที่เข้าใจกันว่านาคเป็นงูนั้น ความจริงนาคคงเป็นคนเผ่าหนึ่งซึ่งปราศจากความเจริญอย่างมนุษย์ธรรมดาที่เจริญแล้วมากกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะยังมีคนเผ่าหนึ่งอยู่ในอินเดียเรียกว่าเผ่านาคาว่าเป็นเผ่าที่ดุร้ายมาก คำว่านาคจึงอาจจะหมายเอาคนเผ่านี้ก็ได้

คำว่านาก งู มังกร และจรเข้ เป็นคำที่เรียกสับสนกัน นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า สำหรับคนไทยนั้นตอนอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน คงจะเรียกงูขนาดใหญ่ว่ามังกรอย่างที่จีนเรียกต่อมาเมื่อเราอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้ได้เสวนากับชนชาติอินเดียซึ่งนับถืองูใหญ่และเรียกว่า นาค เราก็เรียกงูใหญ่ว่านาคเช่นเดียวกับอินเดีย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี