งูในพงศาวดารชาวเหนือ

Socail Like & Share

นอกจากคนจะนับถืองูเป็นสรณะแล้ว คนยังนับถือว่างูเป็นต้นตระกูลเสียเลยก็มี อย่างในหนังสือพงศาวดารเหนือของเราเล่าเรื่อง อรุณกุมารหรือเรื่องพระร่วงไว้ว่า พระยาอภัยคามณี เจ้าเมืองหริภุญชัย (คือเมืองลำพูนบัดนี้) ไปจำศีลบนภูเขาแห่งหนึ่ง ไปพบนาคซึ่งจำแลงตัวเป็นมนุษย์มาเที่ยวเล่นเกิดสมัครรักใคร่ได้อภิรมย์สมสู่อยู่ด้วยกัน ๗ วัน นางมีครรภ์ กลับลงไปเมืองนาค เมื่อจวนจะคลอดลูกเห็นว่าถ้าคลอดในเมืองนาค ทารกจะไม่รอดเพราะเป็นเชื้อมนุษย์จึงขึ้นมายังภูเขาที่เคยอยู่ด้วยกันกับพระยาอภัยคามณี มาคลอดเป็นชายแล้วทิ้งไว้ในป่าด้วยกันกับแหวนและผ้าห่มที่พระยาอภัยคามณีประทานนางไว้ มีพรานป่าไปพบทารกนั้นพามาเลี้ยงไว้ ก็เกิดอัศจรรย์ปรากฏที่ตัวเด็กต่างๆ อย่างเป็นผู้มีบุญ ความทราบถึงพระยาอภัยคามณี ตรัสเรียกไปทอดพระเนตร เมื่อได้ทรงทราบเรื่องที่พรานป่าไปพบและทอดพระ เนตรเห็นของที่อยู่กับตัวเด็กก็ทราบชัดว่าเป็นราชบุตรเกิดด้วยนางนาค จึงประทานนามว่าอรุณกุมาร แล้วเลี้ยงไว้ในที่ลูกหลวง ต่อมามีราชบุตรเกิดด้วยนางอัครมเหสีอีกองค์หนึ่ง ประทานนามว่า ฤทธิกุมาร อยู่ด้วยกันมาจนเติบใหญ่ พระยาอภัยคามณีปรารถนาจะหาเมืองให้อรุณกุมารครอบครอง ทราบว่าเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยมีราชธิดา จึงสู่ขอนางนั้นให้อภิเสกสมรส กับอรุณกุมาร อรุณกุมารไปอยู่เมืองศรีสัชนาลัย ต่อมาก็ได้ครองเมืองนั้น (กับทั้งเมืองสุโขทัย) ทรงนามว่าพระร่วง ส่วน
ฤทธิกุมารนั้นเมื่อเติบใหญ่ก็ได้อภิเสกสมรสกับราชธิดาพระยา เชียงใหม่แล้วเลยได้ครองเชียงใหม่เช่นเดียวกับพระร่วง ทรงนามว่าพระลอ . . . ตามเรื่องนี้ แสดงว่าพระร่วงเป็นเชื้อมนุษย์กับนาคระคนกันและเป็นวงศ์กษัตริย์วงศ์หริภุญชัยในลานนา

ไม่เฉพาะไทยสุโขทัยเท่านั้น ที่มีพงศาวดารมนุษย์ได้กับนาค “ไทยแสนหวีมีเรื่องขุนอ้ายได้นางนาคเป็นภรรยา เกิดบุตรสืบมาจนขุนท้าวกวาผู้สร้างนครโยนก พงศาวดารพม่ามอญขึ้นต้นด้วยเรื่องพระเจ้าเสนะคงคาได้นางวิมาลาลูกนาคเป็นมเหสี พงศาวดารญวนขึ้นต้นด้วยเรื่องพระเจ่ากิมเยืองเวืองได้มเหสีเป็นลูกพญานาคชื่อนางเทืองลอง มีโอรสชื่อเจ้าหลากลองกุน ซึ่งเมื่อได้ทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ เวลาปรับบนบัลลังก์ เสนามาตย์ราชบริพารเห็นเป็นงูหรือพญานาคเสมอ”

พวกยุโรปก็มีนิยายปรัมปราเล่ากันว่ามังกรนั้นแปลงเป็นมนุษย์ได้ มีภรรยาเป็นมนุษย์มีวังสวยงามเป็นที่อยู่และมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายไทยเราก็มีนิยายเล่าถึงเมืองบาดาลว่าเป็นที่อยู่ของพญานาค และลูกสาวพญานาคนั้นมักจะหนีออกจากบาดาลมาเที่ยวเมืองมนุษย์และแปลงร่างเป็นมนุษย์ แต่ลงท้ายก็ได้กับชายมนุษย์และมีเรื่องเศร้าใจกลับไปเมืองบาดาลทุกเรื่องไป อย่างเรื่องไกรทองของเราก็ว่าชาลวันนั้นมีถ้ำอันสวยงาม เวลาอยู่ในถ้ำกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมากที่ความเชื่อของคนยุโรปกับเอเชียตรงกันในเรื่องนี้

นอกจากมนุษย์จะนับถือว่างูหรือนาคเป็นสัตว์ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ และสมสู่กับมนุษย์มีบุตรเกิดมาเป็นผู้มีบุญแล้ว หลายชาติยังนับถือว่างูและมังกรเป็นเทพเจ้าแห่งฝน ไทยเราเชื่อถือกันว่าการที่ฝนตกลงมาก็เพราะพญานาคพ่นน้ำ ปีไหนฝนตกน้อยก็ว่าเพราะนาคให้น้ำหลายตัวมันจะเกี่ยงกันเลยให้ฝนน้อยไป ปีไหนฝนมากก็ว่าเพราะนาคให้น้ำตัวเดียว ฝ่ายข้างจีนถือว่ามังกรเป็นเจ้าแห่งฝน ข้างอินเดียถือว่าเจ้าแห่งฝนคือพระวรุณและพระวรุณองค์นี้ก็มีมังกรเป็นพาหนะ ข้างฝรั่งถือว่ามังกรชื่อไตพอนเป็นเจ้าลมพายุฝน ซึ่งกลายมาเป็นชื่อลมไต้ฝุ่นทุกวันนนี้

นอกจากนี้เรื่องของงู นาค หรือมังกร ยังมีปรากฏในเรื่องราวดึกดำบรรพ์ของชนหลายชาติที่เล่าถึงคล้ายคลึงกันคือน้ำท่วมโลก ท่าน “กาญจนาคพันธุ์” ได้กล่าวไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์สุนทรภู่ตอนหนึ่งว่า

“หนังสือซูกิงอันเป็นจดหมายเหตุโบราณของจีนตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าเยาหรือเงี่ยวเต้ (ปี ๑๘๑๓ ก่อนพุทธศก) ได้บรรยายถึงคราวน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นไว้อย่างพิสดาร และหมางจื๊อ (ศิษย์ขงจื๊อ) ได้เขียนข้อความตามจดหมายเหตุฉบับนี้ว่า ในรัชสมัยพระเจ้าเงี่ยวเต้น้ำล้นฝั่งท่วมบ้านเมือง งูกับมังกรเต็มไปหมด ประชาชนไม่มีที่อยู่ขุนนางซื่อยู้ (คือพระเจ้ายู้หรืออู๊เต้ ทรงราชย์ปี ๑๖๖๒ ก่อนพุทธศก) ขุดคลองระบายน้ำต้อนงูกับมังกรออกไปตามทุ่งหมด ตำนานปรัมปราข้างกรีกมีเรื่องกล่าวถึงน้ำท่วมโลกสมัยเดอูคาลิโอนว่า “เมื่อน้ำลดแล้วพื้นแผ่นดินเป็นโคลนตมทั่วไป มีงูใหญ่ตัวหนึ่งเกิดขึ้นจากตม เข้าอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขาปาร์นัสซัสในนครเดลฟี ชาวกรีกได้นับถืองูใหญ่ตัวนี้เป็นปฐม และเลยถือเป็นคตินิยมว่านางธรณีหรือเทวีรักษาพื้นแผ่นดินมีรูปเป็นงู”  พงศาวดารโยนกลานนาไทยว่าเมื่อน้ำท่วมลดแล้ว มีนาคราชสองตัวมาขุดควักแผ่นดินให้น้ำไหลลงมหาสมุทร ทางที่น้ำไหลได้ชื่อว่าแม่น้ำ มีแม่น้ำโขงและน้ำแตกน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพวกสิบสองจุไทย ตำนานเมืองโยนกว่าเวลาสร้างเมืองพญานาคมาขุดคูให้เป็นเขตแดน พงศาวดารลานช้างกล่าวถึงน้ำท่วมใหญ่ว่า ปู่ลางเชิงต่อแพบรรทุกครอบครัวหนีรอดจากอันตรายได้ กับมีนาค ๗ ตัวมาอยู่ที่เมืองจึงได้ชื่อว่า ศรีศตนาคนหุต พงศาวดารดึกดำบรรพ์ของเขมรกล่าวว่า ประเทศเขมรเดิมเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ มีพญานาคกับตะกวดอยู่บนเกาะนั้น ต่อมาตะกวดมาเกิดเป็นมนุษย์ พญานาคมาสร้างเมืองให้ชื่อว่า กัมพูชา…”

เรื่องของนาคหรืองู มังกร ยังมีอีกหลายอย่าง ถ้าจะนำมาเล่าในที่นี้ก็ดูจะเป็นเรื่องยืดยาวเกินไป และที่น่าแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้มีบุญนั้นนอกจากจะมีกำเนิดมาจากนาคหรืองูแล้ว บางท่านแม้จะมีเชื้อสายของมนุษย์ธรรมดาก็อดที่จะมีงูเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ เช่น พระเจ้าตากสินมหาราชของเราก็ว่าตอนยังเป็นทารกนั้นมีงูใหญ่มาขดรอบที่นอน เรื่องของหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้ ซึ่งเดิมเป็นคนในเขตอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ก็มี เรื่องของงูมานอนขดรอบที่นอนแล้วคายแก้วไว้ให้ดวงหนึ่งเหมือนกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี