ภูมิสาม

Socail Like & Share

สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดในภูมิสาม ภูมิสามนั้นคืออะไร ภูมิหนึ่งชื่อว่า กามภูมิ ภูมิสองซื่อว่า รูปภูมิ ภูมิสามชื่อว่า อรูปภูมิภูมิสาม

ในกามภูมินั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๑๑ ภูมิ ซึ่งจัดเป็น ๒ ภูมิใหญ่ คือ อบายภูมิ ๔ และสุคติภูมิ ๗ อบายภูมิ ๔ นั้น ได้แก่ นรกภูมิ (ภูมิสัตว์นรก) ติรัจฉานภูมิ (ภูมิสัตว์เดรัจฉาน) เปรตวิสัยภูมิ (ภูมิของเปรต) อสุรกายภูมิ (ภูมิของอสูร) สุคติภูมิ ๗ ได้แก่ มนุสสภูมิ (ภูมิของมนุษย์) จาตุมหาราชิกาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา) ตาวติงษาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นดาวดึงส์) ยามาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นยามา) ดุสิตาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นดุสิต) นิมมานรตีภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นนิมมานรดี) ปรนิมิตว¬สวัตตีภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นปรนิมิตวสวัดดี)

ในรูปภูมิอันเป็นภูมิของพรหมนั้น ยังแยกย่อยออกเป็น ๑๖ ซึ่งจัดเป็น ๔ ภูมิชั้นใหญ่ๆ ดังนี้ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌาณภูมิ ๗

ปฐมฌานภูมิ ๓ นั้นได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปาริสัชชา ภูมิชั้นพรหมปโรหิตา ภูมิชั้นมหาพรหมา
ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตาภา ภูมิชั้นพรหมอัปปมาณา ภูมิชั้นพรหมอาภัสสรา

ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตสุภา ภูมิชั้นพรหมอัปปาณ- สุภา ภูมิชั้นสุภกิณหา

จตุตฌานภูมิ ๗ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมเวหัปผลา ภูมิชั้นพรหมอสัญญีสัตตา ภูมิชั้นพรหมอวิหา ภูมิชั้นพรหมอตัปปา ภูมิชั้นพรหมสุทัสสา ภูมิชั้น พรหมสุทัสสี ภูมิชั้นพรหมอกนิฏฐา

ตั้งแต่ภูมิชั้นพรหมอวิหาจนถึงพรหมอกนิฏฐา รวม ๕ ชั้นเรียกว่า ปัญจสุทธาวาส

อรูปภูมินั้น ยังแยกย่อยออกเป็น ๔ ภูมิ ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

ภูมิใหญ่ทั้ง ๓ ซึ่งแยกย่อยเป็น ๓๑ ภูมินี้ รวมเรียกว่า ไตรภูมิ

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภูมิ ๓๑ นี้ มีที่เกิดได้กี่ประการ  มีที่เกิดได้ ๔ ประการ คือ เกิดจากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดขึ้นเอง

สัตว์ที่เกิดจากไข่ เป็นต้นว่า งู ไก่ นก ปลา สัตว์ที่เกิดจากครรภ์ เป็นสัตว์ ที่เกิดจากมดลูกมีรกหุ้มห่อ เป็นต้นว่า ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์ที่เกิดจากไคล ได้แก่สัตว์ที่เกิดที่ใบไม้ ละอองเกสรดอกบัว หญ้าเน่า เนื้อเน่า และเหงื่อไคล เป็นต้นว่า หนอน แมลง บุ้ง ริ้น ยุง ปลา สัตว์ที่เกิดจาก ไข่ ครรภ์ และไคล ดังกล่าวแล้วนี้ เมื่อเกิดแล้วจะเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ ส่วนการเกิดประการที่สี่คือ เกิดเองนั้น เมื่อเกิดเป็นตัวแล้ว จะมีลักษณะเติบใหญ่ทันที เป็นต้นว่า พรหม เทวดา และสัตว์นรก

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน