ขงจื๊อและวิทยาการชั้นสูงทั้งหก

Socail Like & Share

(The Six Classics)
ข้าพเจ้าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ข้าพเจ้ามิใช่ผู้สร้างความรู้
ข้าพเจ้ามีความรักและศรัทธาในวิทยาการแห่งอดีต

ถึงแม้ว่าจะยังเป็นเรื่องที่ยังคงโต้เถียงกันที่ยังไม่ยุติก็ตาม ปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า คำกล่าวที่แสดงอาการถ่อมตนที่ยกมาข้างต้นนั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องไม่มากก็น้อย กล่าวคือความรู้ส่วนใหญ่ที่เรียกว่า วิทยาการหกประการของขงจื๊อนั้น เป็นวิชาความรู้ที่มีมาก่อนยุคสมัยของขงจื๊อ แต่วิชาความรู้เหล่านี้ขงจื๊อเป็นบุคคลผู้ที่ได้รักษาและถ่ายทอดมาสู่บุคคลรุ่นหลังๆ ด้วยความพยายามอันพากเพียรของขงจื๊อ ขงจื๊อเริ่มต้นด้วยการศึกษาความรู้ที่มีมาแต่สมัยโบราณด้วยความหวังว่า จะนำพาความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการปกครองบ้านเมืองตามสภาพที่เป็นจริง จนกระทั่งในบั้นปลายของชีวิตที่ขงจื๊อได้หันมาเรียบเรียงและบันทึกวิชาความรู้เหล่านี้ขึ้นไว้ เพื่อประโยชน์ของบุคคลในรุ่นข้างหน้าสืบต่อไป ในระหว่างที่เขาทำงานเรียบเรียงบันทึกวิชาความรู้เหล่านี้นั้น เขาได้เพิ่มความหมายใหม่อันเป็นผลจากประสบการณ์แห่งความเข้าใจทางจริยธรรมของเขาให้กับวิทยาการโบราณนั้นด้วย

ฉะนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าการทำความรู้จักกับวิทยาการหกประการนี้ เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะเข้าใจถึงผลงานอันมีคุณค่าของขงจื๊อได้

1. บทนิพนธ์เรื่อง ซู่ จิง (Shu ching) หรือ คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงขึ้น บรรจุเรื่องราวต่างๆ ของราชวงศ์ต่างๆ ประมาณหนึ่งร้อยเรื่อง ครอบคลุมกาลเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ยี่สิบถึงศตวรรษที่แปดก่อน ค.ศ. ขงจื๊อเรียงลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ตามลำดับของกาลเวลา และเขียนคำนำของเรื่องเหตุการณ์เหล่านั้น เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของบทนิพนธ์นี้ได้มาจากหอพระสมุดของราชสำนักราชวงศ์โจว ประกอบด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับปัญหาของการปกครองบ้านเมืองระหว่างพระจักรพรรดิ์และเสนาบดี เค้าโครงของนโยบายของแคว้นต่างๆ คำสาบานเพื่อสร้างขวัญแก่ทหารก่อนออกทำสงคราม จารึก พระบรมราชโองการและบันทึกเรื่องราวของพระราชพิธีต่างๆ ส่วนย่อยของบทนิพนธ์เล่มนี้ เป็นบทรวบรวมเรื่องและคำกล่าวของบุคคลสำคัญๆ ของราชวงศ์ในสมัยโบราณ เอกสารเหล่านี้ แทรกไปด้วยความคิดที่เกี่ยวกับศาสนา และข้อความที่เป็นบทสนใจในเรื่องต่างๆ

ขงจื๊อรวบรวมและเรียบเรียงเอกสารเหล่านี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้นักศึกษาได้คุ้นเคยกับข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของความเจริญและของความเสื่อมของราชวงศ์ต่างๆ ในบรรดาเรื่องทั้งหมดหนึ่งร้อยเรื่องนั้น มีอยู่เพียงยี่สิบแปดเรื่องเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ในบทนิพนธ์คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นับว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในการศึกษาประวัติศาสตร์และคติความคิดทางการเมืองของจีนในสมัยโบราณ

2. บทนิพนธ์เรื่อง ซี่ จิง (Shih ching) หรือ คัมภีร์เรื่องกวีนิพนธ์ เป็นบทนิพนธ์ที่รวบรวมบทกวีที่แพร่หลาย ที่เขียนขึ้นในช่วงระยะเวลา 500 ปี ระหว่างสมัยเริ่มต้นของราชวงศ์โจว (ศตวรรษที่ 12 ก่อน ค.ศ.) กับ สมัยฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง (ศตวรรษที่ 8 ถึง 5 ก่อน ค.ศ.) ขงจื๊อได้เลือกสรรเอาบทกวีนิพนธ์จำนวน 305 ชิ้น จากบรรดาบทกวีนิพนธ์ทั้งหมด 3,000 ชิ้น แล้วจัดใหม่ภายใต้หัวข้อเรื่องสี่หัวข้อ หัวข้อที่หนึ่งคือ บทกวีนิพนธ์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศ หัวข้อที่สอง คือบทกวีนิพนธ์ตามประเพณีนิยมเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับงานรื่นเริงธรรมดาสามัญ หัวข้อที่สาม คือ บทกวีนิพนธ์ตามประเพณีนิยมที่สำคัญเกี่ยวกับงานพระราชพิธี หัวข้อที่สี่คือบทกวีนิพนธ์เกี่ยวกับการบูชาบวงสรวงที่ใช้ฟ้อนรำในศาสนสถาน และการรื่นเริงสนุกสนานต่างๆ บทกวีนิพนธ์ทั้งหมดนี้ขงจื๊อใช้เป็นบทเรียนพื้นฐานเพื่อสอนแก่นักศึกษาในวิชากวีนิพนธ์

ฉะนั้น เหตุผลของขงจื๊อในการแสดงกวีนิพนธ์ จึงมีหลายประการในระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นธรรมเนียมของสังคมผู้ดีที่จะมีบทแทรกการสนทนาด้วยบทกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้ขงจื๊อ จึงกล่าวว่า

ถ้าปราศจากการศึกษาเรื่องบทกวีนิพนธ์แล้ว
บุคคลก็จะไม่สามารถจดจำถ้อยคำต่างๆ ได้

นอกจากเพื่อประโยชน์ในการช่วยความจำถ้อยคำแล้ว ขงจื๊อยังย้ำความสำคัญของกวีนิพนธ์ในด้านคุณค่าทางจริยธรรม และกล่าวสรุปประโยชน์ของการศึกษากวีนิพนธ์ไว้ดังนี้

กวีนิพนธ์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ นำไปสู่การคิดคำนึงถึงความทรงจำเก่าๆ กวีนิพนธ์เป็นเครื่องเสริมสร้างการสมาคมและเป็นการระบายความไม่สมหวังของบุคคลในการศึกษากวีนิพนธ์นั้น บุคคลได้เรียนรู้วิธีการรับใช้บิดามารดาและเจ้านายของตน นอกจากนี้บุคคลยังได้รู้จักคุ้นเคยกับชื่อต่างๆ ของนก และสัตว์ ต้นไม้และใบหญ้าต่างๆ

3. บทนิพนธ์เรื่องหยาว (Yao) หรือดนตรี ในยุคสมัยของขงจื๊อ ดนตรีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อขงจื๊อรวบรวมบทกวีนิพนธ์ของโบราณอยู่นั้น เขาจึงเรียบเรียงดนตรีเป็นภูมิหลังของบทกวีนิพนธ์ของแต่ละบทที่เขาได้คัดเลือกเป็นครั้งสุดท้ายไว้ด้วย  โดยการปรับปรุงจากดนตรีที่มีอยู่เดิม หรือไม่ก็ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ นี้คือเรื่องราวทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อ เกี่ยวกับดนตรีเพราะว่า บทดนตรีที่เขารวบรวมไว้นั้นไม่มีเหลือตกมาถึงทุกวันนี้เลยแม้แต่บทเดียว เรารู้แต่เพียงว่ามีบทดนตรีอยู่สี่ประเภท เหมือนกับที่มีบทกวีนิพนธ์อยู่สี่หัวข้อเรื่อง คือ ดนตรีแบบแคว้นเซ่า(Shao misic) ดนตรีแบบแคว้นโจว (Chou) ดนตรีแบบประเพณีนิยม และดนตรีแบบศาสนสถาน ขงจื๊อนั้นมีความรู้ในเรื่องของการดนตรีเป็นอย่างดี และตัวขงจื๊อเองก็เป็นนักเล่นดนตรีด้วยนั้น เราอาจอนุมานเอาจากข้อความที่ขงจื้อกล่าว คล้ายกับผู้ชำนาญในการดนตรีถึงปรามาจารย์ทางดนตรีของแคว้นหลู ว่า

หลักมูลฐานของดนตรีนั้นดูเหมือนจะเป็นดังนี้ คือ ในตอนเริ่มต้นการเล่นเพลงนั้น เครื่องดนตรีทุกชิ้นควรจะมีเสียงกังวานกลมกลืนกัน เมื่อดนตรีบรรเลงไปตามบทเพลงแล้ว จังหวะเพลงควรจะชัดและระดับเสียงควรจะแจ่มใส แล้วบทเพลงนั้นควรจะดำเนินไปด้วยเสียงที่ประสานกลมกลืนกันอย่างดี ไม่มีเสียงแตกระคายเคืองโสตประสาทจนกระทั่ง จบบทเพลง

เหมือนดังที่เราคาด ขงจื๊อถือว่าดนตรีนั้นมีผลอย่างสำคัญในด้านจริยธรรม และมีความเชื่อมั่นว่า ดนตรีนั้นไม่แต่เพียง “ประสานกลมกลืนความรู้สึกนึกคิดของบุคคลเท่านั้น” แต่ยัง “นำความสับสนวุ่นวายของสังคมไปสู่ความเป็นระเบียบ” อีกด้วย เพื่อที่จะเสริมกำลังทางด้านจริยธรรมของดนตรี ขงจื๊อมีความเห็นว่า ดนตรีนั้นควรจะเผยแพร่ให้กว้างขวางภายในกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ตัวอย่างเช่น ขงจื๊อเสนอให้มีการตรวจสอบดนตรีแบบแคว้นเจ็ง (Cheng) ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นดนตรีที่ไม่สุภาพและเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนา

ความพึงพอใจที่ขงจื๊อได้รับจากผลงานทางด้านดนตรีของเขานั้น มีปรากฏให้เห็นในข้อความต่อไปนี้ ซึ่งคัดมาจากปกิณกะนิพนธ์ของขงจื๊อ

เฉพาะแต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาจากแคว้นเหว่ย มาถึงแคว้นหลูเท่านั้นที่ข้าพเจ้าเริ่มจัดรูปของดนตรีให้เข้าร่องรอย ดนตรีแบบประเพณีนิยม และดนตรีแบบศาสนสถานนั้นได้รับการปรับปรุงให้มีระเบียบอย่างเหมาะสม

4. บทนิพนธ์เรื่อง หลี จี่ (Li Chi) หรือ คัมภีร์แห่งจารีตประเพณี “ถ้าไม่มีการศึกษาเรื่องจารีตประเพณี บุคคลจะไม่สามารถสร้างฐานะของตนเองได้” ในสมัยโบราณ จารีตประเพณีนั้นจำกัดอยู่แต่การปฏิบัติกิจทางศาสนา แต่ต่อมาภายหลังจารีตประเพณีได้ขยายครอบคลุมกิจการโลกเกือบทุกชนิดด้วย รวมทั้งเหตุการณ์เช่น การต่อสู้ในการยิงธนู และการประชุมของเจ้านายผู้ครองแคว้นต่างๆ ด้วยเหตุนี้ หลี จึงอาจนิยามได้ว่าหมายถึง แบบหรือจารีตประเพณี และขนบธรรมเนียมการประพฤติปฏิบัติทางสังคมของจีนในสมัยโบราณ

นานมาแล้วก่อนสมัยของขงจื๊อ ได้มีประมวลหลักปฏิบัติที่ไม่ได้บันทึกเขียนไว้อยู่แล้วเรียกกันว่า หลี (Li) แต่พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว เป็นบุคคลแรกที่กำหนดและวางเป็นหลักเกณฑ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คงจะต้องมีความแตกต่างกันบ้างระหว่างหลักที่เขียนขึ้นไว้ กับหลักปฏิบัติที่มีมาแต่ก่อนที่ไม่ได้เขียนเหมือนดังเช่นที่จะต้องมีความแตกต่างระหว่างขนบธรรมเนียมของหลี ของแคว้นต่างๆ ขนบธรรมเนียมของหลีของบางแคว้นนั้นด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ กลับนำไปสู่การปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ของหลีก็มี

จากบทอ้างอิงที่ปรากฏในงานนิพนธ์ของเขา เราได้ทราบว่าขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมบทนิพนธ์เกี่ยวกับจารีตประเพณี เพื่อแก้ไขสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ ถึงแม้ว่าขงจื๊อจะเป็นผู้มีความรู้ดีในเรื่องของจารีตประเพณี ไม่แต่เพียงของราชวงศ์โจวเท่านั้น แต่ของราชวงศ์อีกสองราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์โจว คือ ราชวงศ์เสี่ย ราชวงศ์ซ้อง ก็ตาม แต่จารีตประเพณีที่ “สมบูรณ์และสง่างาม” ของราชวงศ์โจวนั้น เป็นที่พอใจของขงจื๊อมากกว่า นี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดเลย เพราะว่าขงจื๊อนั้นเป็นผู้มีความคิดในเรื่องจารีตประเพณีทั้งหลายในแบบอนุรักษ์นิยม เขาย้ำถึงเรื่องบ่อเกิดและความสำคัญของจารีตประเพณีในสมัยโบราณ แล้วเตือนให้ระลึกว่าหลี นั้นคือการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของจารีตประเพณีเหล่านั้น เขาวิจารณ์การปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่เสื่อมโทรมลงในสมัยของเขา ถ้ามีแต่จารีตประเพณีที่ปราศจากความรู้สึกนึกคิดอันแท้จริงที่เป็นสาระสำคัญของจารีตประเพณีด้วยแล้ว มันก็เป็นแต่เพียงจารีตประเพณีที่จอมปลอมเท่านั้นเอง ขงจื๊อถามขึ้นอย่างโกรธเคืองว่า

เมื่อบุคคลกล่าวถึงจารีตประเพณีนั้น เขาหมายถึงแต่การกำนัลด้วยหยก และผ้าไหม เท่านั้นหรือ?

ในโอกาสอีกครั้งหนึ่ง ขงจื๊อกล่าวว่า

……สำหรับจารีตประเพณีในการไว้ทุกข์ให้คนถึงแก่กรรมไปนั้น ควรจะมีความเศร้าโศกอย่างแท้จริง มากกว่าการพิถีพิถันกันในเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการจัดพิธีการ

5. บทนิพนธ์ยี่ จิง (Yi Ching) หรือ คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงในบรรดาบทนิพนธ์สมัยโบราณทั้งปวง ที่ขงจื๊อศึกษานั้น บทนิพนธ์เรื่อง ยี่จิง หรือ คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นเป็นหนังสือที่เขาชอบมากที่สุด เขาใช้หนังสือเล่มนี้บ่อยที่สุด จนต้องเปลี่ยนเส้นเชือกที่ใช้มัดหนังสือเล่มนี้ถึงสามครั้ง หนังสือเล่มนี้มีเรื่องของปรัชญาที่น่าทึ่ง ที่อาศัยหลักของเส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่ม หรือปากว้า ประกอบด้วยเส้นตรงสามเส้นสองชนิด คือ ชนิดหนึ่งสองเส้นในกลุ่มนั้นก็ได้ เส้นตรงแบบปากว้านี้กล่าวกันว่าคิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าฟู สี (Fu shi) เกิดปี 2852 ก่อน ค.ศ. จากรอยแตกอันลึกลับบนกระดองเต่า ต่อมาพระเจ้าหวิน (Wen) แห่งแคว้นโจวและพระราชบุตร คือ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว เป็นผู้คิดความหมายของปากว้าขึ้นก่อนของขงจื๊อ หนังสือยี่จิงใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์ จากปากว้านี้ชาวจีนใช้เป็นสื่อเพื่อทำความเข้าใจความลึกลับของโลกจักรวาล และเป็นเครื่องชี้แนวทางให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเคราะห์ร้าย และใช้โอกาสของตนให้เป็นประโยชน์อย่างดีที่สุด ทำนองเดียวกันกับ บทนิพนธ์เรื่องกวีนิพนธ์ หนังสือเล่มนี้ แสดงถึงอัจฉริยภาพของคนจีนในสมัยโบราณ ที่นำเอาเรื่องของชีวิตประจำวันมาผสมกับเรื่องของสุนทรีย์ศาสตร์ หนังสือยี่จิงก็แสดงถึงอัจฉริยภาพของคนจีนในสมัยโบราณที่เอาเรื่องของสัญลักษณ์ที่เป็นศิลปะง่ายๆ ธรรมดามาเป็นเครื่องแสดงถึงความรู้อันลึกลับ ที่มีลักษณะเป็นทั้งหนังสือปรัชญาและหนังสือศิลปะ เป็นการผสมผสานของความคิดที่เป็นนามธรรม เข้ากับสิ่งที่เป็นรูปธรรม

ตามคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงแล้ว โลกจักรวาลนี้ประกอบขึ้นด้วยหยินและหยาง เส้นตรงติดต่อทั้งเส้นแทนหยาง(——-) เส้นตรงที่แยกแทนหยิน (- -) หยางและหยินเป็นพลังสองอย่างของธรรมชาติ หยางเป็นบุรุษ หยินเป็นสตรี หยางและหยินเป็นสวรรค์และแผ่นดิน เป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นแสงสว่างและความมืด เป็นชีวิตและความตาย จะเห็นได้ชัดว่าสัญลักษณ์พื้นฐานสองอย่างนี้มีขอบเขตจำกัด และมีลักษณะเรียบง่าย ไม่สามารถจะใช้ได้กว้างขวาง ต่อมา นักปราชญ์ในสมัยโบราณจึงเกิดความคิดนำเอาเส้นตรงสองแบบนี้มาประกอบเป็นสามเส้นขึ้นผลคือ เป็นเส้นตรงสามเส้น แปดกลุ่ม ที่เรียกว่า ปากว้า เป็นสัญลักษณ์ของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ คือ สวรรค์ แผ่นดิน ฟ้าร้อง น้ำ ภูเขา ลม ไฟ หนองบึง

เส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ ยังไม่ได้มีความหมายทางปรัชญาอันใด ต่อมาขงจื๊อได้เพิ่มคำอธิบายผนวกเข้าไปและได้ขยายเส้นตรงสามเส้น แปดกลุ่ม ออกเป็นเส้นตรงหกเส้นหกสิบสี่กลุ่ม เส้นตรงหกเส้นแต่ละกลุ่ม เป็นสัญลักษณ์แทนปรากฏการณ์ของโลกจักรวาลหนึ่งอย่างหรือหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ตัวอย่าง เช่น คำว่า เยอ (ye) ประกอบขึ้นด้วยเส้นตรงสามเส้น ที่แปลว่า ลม ไม้ และการแทรกซึมเข้าไปผสมกับเส้นตรงสามเส้น ที่แปลว่าฟ้าร้อง การเคลื่อนไหว และความเจริญงอกงาม ฉะนั้น เส้นตรงหกเส้นที่เรียกว่า เยอ จึงเป็นสัญลักษณ์ของไม้อยู่ข้างบน และความเจริญงอกงามอยู่ข้างล่าง

6. บทนิพนธ์เรื่องชุนชิว (Ch’un Ch’iu) หรือจดหมายเหตุแห่งฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมและแต่งเติมบ้างเล็กน้อย จดหมายเหตุชุนชิว หรือฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงนี้ โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นผลงานอันแท้จริงชิ้นเดียวของขงจื๊อเป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ตามลำดับปีที่เกิดขึ้นในแคว้นหลูนับตั้งแต่ปีแรกที่พระมหาอุปราชหยิน (Duke of Yin) ขึ้นครองราชย์ ในปี 722 ก่อน ค.ศ. จนกระทั่งถึงปีที่ 14 ของรัชสมัยของพระมหาอุปราชอ๋าย (Duke Ai) ในปี 481 ก่อน ค.ศ. จดหมายเหตุนี้ ได้ชื่อมาจากธรรมเนียมที่บอก ปี เดือน วัน และฤดูลงข้างหน้าเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นที่ลงบันทึกไว้ เนื่องจากฤดูใบไม้ผลินั้น รวมเอาฤดูร้อนเข้าไว้ด้วย และฤดูใบไม้ร่วงรวมเอาฤดูหนาวไว้ด้วย ฉะนั้นในการบันทึก จึงมีคำว่าฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงปรากฏอยู่อย่างมากมาย จดหมายเหตุนี้จึงมีชื่อว่า จดหมายเหตุแห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง

คัมภีร์นี้เป็นเหมือนสมุดบันทึกที่มีเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก เป็นประดุจลูกปัดที่ร้อยด้วยสายใยแห่งวันเวลา เรื่องที่บันทึกเป็นเรื่องสั้นที่สุดที่จะทำได้ ครอบคลุมเรื่องราวของมนุษย์ และปรากฏการณ์ของธรรมชาติทั้งหมดเท่าที่จะมีอยู่ในจินตนาการของมนุษย์ การบันทึกนี้ดีในแง่ของการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ แต่มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเรียกไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์แต่ความสำคัญของหนังสือนี้ มิใช่อยู่ที่การเป็นแบบฉบับของประวัติศาสตร์ แต่อยู่ที่คุณลักษณะอื่นๆ กล่าวคือ ประการแรก ขงจื๊อแสดงลักษณะที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมเดิม ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่เขาบันทึกจะอาศัยบันทึกทางราชการ ของแคว้นหลูเป็นหลัก แต่ขงจื๊อไม่ยึดถือทรรศนะของแคว้นของตน อันเป็นทรรศนะที่คับแคบเป็นหลัก แต่ย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นต่างๆ รวมทั้งความสุขสงบและความสามัคคีของแคว้นต่างๆ  ประการที่สองในหนังสือเล่มนี้ ขงจื๊อได้สอนเรื่องหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของความจงรักภักดี ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปในหนังสือนี้ว่า ชุนชิวไต้ยี่ (Ch’un Ch’iu Tai Yi) หรือ “หลักอันสำคัญแห่งเกียรติยศและหน้าที่ของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง” ความเลวทราม ความชั่วร้ายต่างๆ ของสมัยดังกล่าวนั้น ขงจื๊อบันทึกไว้โดยไม่มีการเคลือบแฝงแต่อย่างใด เขาแสดงความคิดเห็นของตนอย่างสุจริตใจ ทั้งในด้านที่ยกย่องและตำหนิ ความคิดเห็นของเขานี้แหละที่แสดงถึงปรัชญาทำนองบทสอนใจ ความมุ่งหมายอันสำคัญของจดหมายเหตุนี้คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ของการปกครองที่ดี การชี้นำให้เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ที่แก่งแย่งแข่งดีกันให้หันกลับมาสู่ทำนองคลองธรรม และตำหนิเสนาบดีที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสุขสงบ และสามัคคีระหว่างแคว้นต่างๆ ประการที่สาม การบันทึกประวัติศาสตร์นั้นตามธรรมเนียมแล้วเป็นหน้าที่ทางราชการของบ้านเมือง แต่ขงจื๊อทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องแพร่หลายไปสู่ประชาชน เขาเป็นผู้ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นแขนงวิชาหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปควรศึกษา นอกจากนี้แล้ว โดยที่คัมภีร์ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงมีข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ฉะนั้นจึงอาจถือได้ว่าเป็นจดหมายเหตุที่เป็นหลักของการเมืองของจีนด้วย

บทวิเคราะห์
ภูเขาใหญ่ยังพังทลาย
ขื่อคานแข็งแรงยังรู้หัก
นักปราชญ์ก็ย่อมร่วงโรยไปเป็นธรรมดา

นี้คือ คำพูดที่ขงจื๊อรำพึงกับตนเองในเช้าตรู่วันหนึ่ง เมื่อตื่นขึ้นจากความฝันที่เป็นลางแห่งมรณกรรมของเขา เขากล่าวรำพึงกับตนเองต่อไปว่า

เพราะกษัตริย์ผู้รู้แจ้งยังไม่เกิด ฉะนั้นจึงไม่มีบุคคลใด ภายใต้แผ่นฝ้านี้ ที่จะรับเอาข้าพเจ้าไปเป็นครู ข้าพเจ้าเกรงว่า บัดนี้ ที่สุดแห่งชีวิตของข้าพเจ้ากำลังใกล้เข้ามาแล้ว

ขงจื๊อนอนซมอยู่ในที่นอน และถึงแก่กรรมลงหลังจากนั้นเจ็ดวัน เป็นเดือนที่สี่ของปี 499 ก่อน ค.ศ. ขณะที่เขาอายุได้เจ็บสิบสามปี

ศพของเขาถูกฝังไว้ใกล้กับเมืองที่เป็นบ้านเกิดของเขา มีสานุศิษย์ของเขาหลายคนอยู่ที่หลุมฝังศพของเขา ไว้ทุกข์ให้เขาเป็นเวลานานถึงสามปี ถึงแม้ว่าบัดนี้กาลเวลาจะล่วงเลยไปนานถึงยี่สิบห้าศตวรรษ แต่ในเกือบทุกเมืองจะมีวิหารของขงจื๊อ ที่มีผู้เคารพนับถือขงจื๊อไปเคารพสักการะตามฤดูกาลและไปประกอบพิธีการตามที่ขงจื๊อเคยสอนไว้ ในบรรดาวิหารของขงจื๊อนี้ จะมีคำจารึกเป็นข้อความว่า

“ท่านผู้ประกอบเป็นองค์สามร่วมกับฟ้าและแผ่นดิน” กล่าวคือ ในบุคลิกภาพของขงจื๊อนั้น พลังทั้งสองของสวรรค์และแผ่นดินได้มาผสมกลมกลืนกันเป็นภาวะที่สมบูรณ์และบริบูรณ์ยิ่งคำจารึกแสดงถึงความเคารพนับถือที่ประชาชนชาวจีนทั้งหลายมีต่อขงจื๊อ

อิทธิพลของขงจื๊อที่มีต่อชีวิตด้านสติปัญญาของประชาชนชาวจีนนั้นยังคงมีอยู่ตลอดไปเป็นเวลาเกือบสองพันปี โดยไม่มีสิ่งใดจะทำลายให้เสื่อมลงได้ คำสอนของขงจื๊อได้รับการนับถือว่าเป็นวิชาการคู่บ้านคู่เมือง บทนิพนธ์ของขงจื๊อได้รับการยกย่องว่าเป็นบทนิพนธ์ชั้นสูง  ที่ใช้ศึกษาในโรงเรียนต่างๆ หลักจริยธรรมของขงจื๊อนับถือกันว่าเป็นมาตรฐานของสังคม ที่จริงแล้วประชาชนชาวจีนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเป็นผู้มีทรรศนะ และความรู้สึกนึกคิดแบบของขงจื๊อทั้งหมดมียกเว้น แต่อิทธิพลของพุทธศาสนาและปรัชญาเต๋าที่แทรกอยู่ในศิลปะและอักษรศาสตร์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมจีน กับปรัชญาของขงจื๊อนั้น แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าหากไม่เป็นสิ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหลายในประเทศจีนสมัยใหม่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นจึงเป็นการดีที่เราจะพิจารณาทบทวนดูทรรศนะทางประวัติศาสตร์และทางประเพณีของคนจีนที่มีต่อขงจื๊อ และคำสอนของขงจื๊อ จุดที่ดีที่สุดที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาทบทวนปรัชญาของขงจื๊อนั้นคือ หลักคำสอนเรื่อง เหยิน

ตามที่เราได้ทราบมาแล้ว เหยินนั้นเป็นความสำคัญของความสัมพันธ์ของมนุษย์ เหยินสอนให้บุคคลเป็นนักการปกครองที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นบิดามารดาที่ดี เป็นบุตรที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นภรรยาที่ดี และเป็นเพื่อนที่ดี เหยินสอนเรื่องความรักภักดีที่มีต่อบิดามารดา และความรักฉันท์พี่น้อง ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม ความกรุณาและความรักต่อกันและกัน สิ่งทั้งหมดเป็นหลักของความประพฤติปฏิบัติของชาวจีน และเป็นหลักที่ทำให้มนุษย์ทั้งปวงในโลกเป็นพี่น้องกัน ในฐานะดังกล่าว เหยินจึงเป็นปัจจัยอันสำคัญที่ถ่ายทอดและสืบต่อวัฒนธรรมจีน ถ้าหากอารยธรรมในสมัยปัจจุบันจะคงอยู่ต่อไปแล้ว ความสัมพันธ์ของมนุษย์ จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของหลักคำสอนเรื่องเหยิน หาใช่อยู่บนหลักของการใช้อำนาจครอบครองและแสวงประโยชน์ดังเช่นที่เป็นอยู่นี้ไม่

แต่ปรัชญาของขงจื๊อนั้น ก็มีข้อบกพร่องเหมือนกัน ในประการแรก เป็นปรัชญาที่มุ่งแต่มนุษย์โดยเฉพาะมากเกินไป ปรัชญาของขงจื๊อว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติต่อกิจการต่างๆ ของมนุษย์ แต่ได้พูดถึงเรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลังงานทางฟิสิกส์เลย ปรัชญาขงจื๊อพยายามทำความเข้าใจเรื่องหมิง (ชะตากรรมของชีวิต) แต่ไม่พยายามเอาชนะชะตากรรมของชีวิตเลย ปรัชญาของขงจื๊อพยายามแสงหาทางสายกลางที่พอเหมาะพอควร ไม่ต้องการทางสุดขอบและวิธีการรุกราน ขงจื๊อแสดงปรัชญาเช่นนี้ออกมา เมื่อเขากล่าวว่า

แม้จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดข้าวทีหยาบ ผักสามัญธรรมดาและน้ำเปล่าๆ พร้อมกับแขนคู้อยู่กับหมอน ข้าพเจ้าก็มีความสุข ทรัพย์สมบัติและเกียรติยศที่ได้มาโดยมิชอบนั้น สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ก็เป็นเหมือนเมฆที่เลื่อนลอย

และอีกครั้งหนึ่ง เขากล่าว่า

ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดพ้อต่อสวรรค์ ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดพ้อต่อมนุษย์ แต่โดยที่ได้ศึกษาจากสิ่งที่ต่ำที่สุด ข้าพเจ้าถึงได้รู้จักสิ่งที่สูงที่สุดและประเสริฐที่สุด สวรรค์เท่านั้นที่รู้จักข้าพเจ้าดี

แต่โชคไม่อำนวย ขณะที่ปรัชญา ของขงจื๊อยกย่องความอดทนพากเพียรของบุคคลนั้น ชีวิตแห่งอุดมคติเช่นนี้ หามีผลอันใดต่อการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่ ปรัชญาขงจื๊อละเลยต่อความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมของโลก และมองข้ามความสำคัญของความต้องการทางวัตถุของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ปรัชญาขงจื๊อเป็นปรัชญาที่อนุรักษ์สภาวะเดิม ไม่มีอิทธิพลชักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นปรัชญาฝ่ายริดรอนมากกว่าเป็นปรัชญาฝ่ายเสริมสร้าง เป็นปรัชญาที่ต้องใช้ความพยายามและความอดกลั้น ไม่ใช่ปรัชญาเพื่อความเจริญก้าวหน้า เพราะอุปกรณ์แห่งความเจริญก้าวหน้านั้นคือ การประดิษฐ์และการคิดค้นสิ่งใหม่อันเป็นสิ่งที่ปรัชญาขงจื๊อไม่ได้วางรากฐานไว้เลย

ข้อบกพร่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญาขงจื๊อคือความเคารพนับถือในอดีต ปรัชญาขงจื๊อนั้นสร้างขึ้นบนรากฐานของโบราณคดี และย้ำความสำคัญของอดีตมากมายจนละเลยเรื่องการปรับอดีตให้เข้ากันกับสภาพของอารยธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จนความเคยชินในการแสวงหาจากอดีต ปรัชญาของขงจื๊อประสบความสำเร็จในด้านถ่ายทอดสืบต่อมาและผดุงรักษาความดีงามในอดีต แต่เป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดใหม่และพลังแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งปวงในฐานะที่เป็นอนุรักษ์ประเพณี ขงจื๊อมีความรู้สึกว่าบุคคลทุกคนปฏิบัติตามประเพณีแล้วสังคมจะเป็นสังคมที่สมบูรณ์ ฉะนั้น ควรจะต้องมีการทะนุบำรุงประเพณีแต่ดั้งเดิม และไม่ควรปฏิรูปให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คติความคิดต่างๆ ในสมัยโบราณ ควรจะเป็นสิ่งที่เคารพนับถือไม่ใช่สิ่งที่นำมาวิพากษ์วิจารณ์ ผลของปรัชญาขงจื๊อ คือ เป็นการอนุรักษ์นิยมที่เสียสมดุล จนนักปฏิวัติของจีนสมัยใหม่ถือเป็นข้อตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง

ข้อบกพร่องประการสุดท้ายของขงจื๊อ คือการไม่ยอมรับนับถือคุณต่าและความสำคัญของสามัญชนในระบบความคิดทางการปกครอง แม้ว่าเขาจะย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักการปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง และจัดการศึกษาให้แพร่หลายก็ตาม ขงจื๊อดูเหมือนจะเน้นความสำคัญของนักการปกครองมากเป็นพิเศษ จนละเลยเรื่องสิทธิของประชาชนผู้ถูกปกครองไปสิ้น

กษัตริย์นั้นเป็นลม สามัญชนเป็นหญ้า
หญ้าต้องลู่ไปตามกระแสลมอยู่เป็นนิจ

ความคิดที่คล้ายคลึงกันนี้ มีปรากฏอยู่ในหลักมูลฐานสามประการของการปกครองที่ดีที่สุด คือ

ประการแรก ถ้าจะให้ธรรมะครอบงำไปทั่วโลกแล้ว พระจักรพรรดิต้องจัดให้มีจารีตประเพณี ดนตรี และการลงโทษ ประการที่สอง ถ้าจะให้ธรรมะครอบงำไปทั่วโลกแล้ว อำนาจในการปกครองทั้งหลายจะต้องไม่อยู่ในมือของบรรดาเสนาบดีทั้งหลาย ประการที่สาม ถ้าจะให้ธรรมะครอบงำไปทั่วโลกแล้ว ประชาชนคนสามัญจะต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของบ้านเมือง

เราควรจะเข้าใจขงจื๊อได้ว่า ขงจื๊อนั้นรับราชการภายใต้กษัตริย์หรือพระจักรพรรดิ เพราะเขานั้นมีความชิงชังรังเกียจในการสงครามที่เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ และพวกสกุลชั้นสูงต่างๆ เป็นผู้ก่อขึ้น โลกที่มีการปกครองอันแข็งแรงอยู่เป็นศูนย์กลางแห่งเดียวนั้น ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบการปกครองที่มีเสถียรภาพอย่างยิ่งที่สุดสำหรับเขา แต่ตามความเป็นจริงแล้วทรรศนะในทางการเมืองแบบนี้ ถึงแม้จะมีความจำเป็นในขั้นแรกเพื่อสร้างเสถียรภาพทางสังคมก็ตาม ต่อมาถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะเหตุที่นักการเมืองและพระจักรพรรดิทั้งหลาย ใช้ความสำคัญของคำสอนของขงจื๊อเป็นข้ออ้าง เพื่อใช้อำนาจปกครองอย่างเผด็จการของตนต่อไป

ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องนานาประการตามที่กล่าวมานี้ก็ตาม แต่ปรัชญาของขงจื๊อก็เป็นปรัชญาที่มีความสำคัญอย่างที่สุดปรัชญาหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา ที่จริงแล้ว ความคิดอันสำคัญเรื่องเหยินอันเป็นยอดของความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้น เป็นทรรศนะที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงสำหรับปรัชญาการเมือง และปรัชญาจริยศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้ว่าเราจะปฏิเสธไม่ยอมเชื่อว่า ขงจื๊อจะเป็นผู้ช่วยโลกปัจจุบันให้พ้นจากความหายนะได้ก็ตาม แต่บทบาทของขงจื๊อในฐานะที่เป็นครูผู้ให้แรงบันดาลใจ ผู้อุทิศตนให้แก่การเผยแพร่ความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสูงยิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ และงานนิพนธ์ของขงจื๊อนั้น ถือกันว่าเป็นงานนิพนธ์ชั้นยอด ชั้นหนึ่งของโลกทีเดียว

ที่มา:สกล  นิลวรรณ