เม่งจื๊อกับการเมืองหลักการและนโยบาย

Socail Like & Share

เม่งจื๊อ คล้ายกับขงจื๊อ คือมีความสนใจเป็นอย่างมากในเรื่องการสร้างระบบการปกครองที่ดี ซึ่งเขาเรียกว่า เป็นการปกครองโดยมนุษยธรรม ตามแบบฉบับของสำนักปรัชญาขงจื๊อ เม่งจื๊อถือว่า การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองที่อาศัยอำนาจอันป่าเถื่อน แต่เป็นการปกครองโดยผู้ปกครองบ้านเมือง ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง เม่งจื๊อมีความเห็นว่าการปกครองนั้น อาจกระทำได้เป็นสองรูปแบบ คือ

การปกครองที่อาศัยอำนาจ และไม่ยกย่องนับถือมนุษยธรรมนั้น เป็นการปกครองแบบทรราชย์ หรือ ป่า (pa)……..การปกครองที่อาศัยคุณธรรมเป็นหลักและยึดมั่นอยู่ ในมนุษยธรรมนั้น เป็นการปกครองแบบกษัตริย์ หรือหวั่ง (wang)…..แต่ในกรณีที่เป็นการปกครองที่ใช้อำนาจเป็นเครื่องมือควบคุมประชาชนนั้น ประชาชนหาได้ยอมจำนนต่อการปกครองด้วยจิตใจไม่ ประชาชนยอมจำนน เพราะพวกเขาไม่อาจขัดขืนได้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นการปกครองที่ใช้คุณธรรม เป็นเครื่องมือควบคุมประชาชนแล้ว ประชาชนมีความรู้สึกพอใจในการปกครอง ด้วยจิตใจอันแท้จริงของตน และเชื่อฟังบ้านเมืองด้วยความสมัครใจ

ความคิดเห็นของเม่งจื๊อในกรณีนี้ หาใช่เป็นความคิดเห็นที่เขาได้มาจากขงจื๊อในฐานะที่เป็นผู้รับช่วงความคิดของขงจื๊อเท่านั้นไม่ แต่เป็นความคิดที่ได้มาจากสถานการณ์อันยุ่งเหยิงของเหตุการณ์ของโลกที่เขารู้จักด้วย ปฏิกิริยาที่มีต่อสภาพสิ่งแวดล้อมของยุคสมัยนั้น ทำให้เขาเกิดความคิดทางทฤษฎีทางการปกครองที่อนุมานจากคำสอนอันเป็นหลักการใหญ่ของเขาที่ว่า มนุษย์นั้นมีความดีเป็นสภาพอันแท้จริงตามธรรมชาติของตน

มนุษย์ทุกคนมีจิตใจที่ไม่สามารถ จะทนเห็นความทุกข์ของบุคคลอื่นได้ พระมหากษัตริย์แต่โบราณนั้น ทรงมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์เหล่านั้นจึงมีการปกครองที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณา ด้วยเหตุนี้ การปกครองจึงง่ายเหมือนพลิกของเล่นไปมาอยู่ในอุ้งมือ

จากความคิดเรื่องการปกครองโดยมนุษยธรรมนี้ ทำให้เม่งจื๊อมีความเห็นว่าประชาชนนั้นมีบทบาทอันสำคัญ ในการปกครองบ้านเมือง

ในบ้านเมืองนั้น ประชาชนถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญสูงที่สุด เทวดาของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับที่สอง ส่วนนักการปกครอบนั้นมีความสำคัญน้อยที่สุด

การปกครองที่ดีควรจะเริ่มงานจากประชาชนขึ้นไป มิใช่เริ่มงานมาจากชนชั้นปกครองลงมา ประชาชนไม่ใช่เป็นแต่เพียงรากฐานของการปกครองเท่านั้น แต่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยคนสุดท้ายของการปกครองด้วย เม่งจื๊อยอมรับเรื่องทฤษฎีแห่ง “โองการแห่งสวรรค์” ที่มีปรากฏอยู่ในบทนิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ของขงจื๊อ หรืออธิบายว่า พระจักรพรรดิ์นั้นเป็นโอรสแห่งสวรรค์ และเป็นผู้รับใช้คนแรกที่สุดของรัฐ แต่เขาได้ยกข้อความอีกตอนหนึ่งในบทนิพนธืเรื่องประวัติศาสตร์นี้มาอ้างด้วยคือ ข้อความที่กล่าวว่า

“สวรรค์นั้นไม่ได้มีเจตน์จำนงอันแน่นอนคงที่ แต่สวรรค์มองดูสิ่งทั้งหลายโดยผ่านทางสายตาของประชาชน และสดับตรับฟังสิ่งทั้งหลายโดยผ่านทางหูของประชาชน”

ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ประชาชนนั้นมีสิทธิที่จะถอดพระมหากษัตริย์ที่เลวทรามออกจากบัลลังก์ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าทรรศนะของเม่งจื๊อในเรื่องนี้ เป็นทรรศนะที่เกิดขึ้นก่อนทฤษฎีการเมืองของจอห์น ล้อค (John Locke) ที่ว่าด้วย ความยินยอมของประชาชนผู้ถูกปกครองกับสิทธิของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติต่อต้านการปกครองถึง 2000 ปี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ และความรับผิดชอบของนักการปกครองแล้ว เม่งจื๊อได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้เป็นหลักกว้างๆ โดยยกอุทธาหรณ์ของพระเจ้าหุย แห่งแคว้นเหลียงมาอ้างว่า ถ้าหากพระองค์ จะทรงดำเนินการปกครองโดยถือหลักมนุษยธรรมแล้ว ขอจงได้ลดการลงโทษทัณฑ์ที่รุนแรงลง ลดการเก็บภาษีอากรลง  ดูแลเอาใจใส่ที่ดินทำกินด้วยความอุตสาหะ และระมัดระวัง จัดให้บุคคลที่มีกำลังร่างกายแข็งแรงใช้เวลาว่างไปในเรื่องการปลูกฝังความรักต่อบิดามารดาของตน ความรักในพี่น้อง ความจงรักภักดีในบ้านเมืองและความซื่อสัตย์สุจริต…..เช่นนี้แล้ว ประชาชนพลเมืองของพระองค์ก็จะสามารถสู้รบกับกองทัพศัตรู แม้จะมีเกราะอันแข็งแรงอาวุธแหลมคมให้พ่ายหนีไปได้ ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีแต่ไม้พลองเป็นอาวุธเท่านั้นก็ตาม

ถ้าจะกล่าวให้แน่ชัดลงไปแล้ว หน้าที่อันสำคัญของผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นอาจจำแนกได้เป็นสี่ประการคือ ประการที่หนึ่ง ทำให้ประชาชนมีความสมบูรณ์พูนสุขขึ้น โดยการปรับปรุงสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชน ประการที่สอง ให้การศึกษาแก่ประชาชน ในเรื่องของจารีตประเพณี และมารยาทของสังคม และความจงรักภักดีในชาติ หน้าที่เหล่านี้หรือนโยบายอันเป็นอุดมการณ์เหล่านี้ มีอธิบายต่อไปดังนี้

เม่งจื๊อกำหนดให้ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องแสวงหาหนทาง ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เป็นประการแรก เพราะว่าคุณธรรม และความสุขสงบนั้นจะมีขึ้นไม่ได้ตราบใดที่ความหิวและความหนาวยังเป็นภาวะครอบงำของสังคมอยู่ ประชาชนจะอยู่โดยปราศจากน้ำและไฟไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น ถ้าท่านเคาะประตูบ้านใครคนหนึ่ง ในเวลาเย็น เพื่อขอน้ำและไฟ ก็คงไม่มีใครจะปฏิเสธช่วยเหลือท่านได้ นี้คือสภาพของความอุดมสมบูรณ์ของไฟและน้ำ…..ในเมื่อข้าวปลาอาหารมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนน้ำและไฟแล้ว ประชาชนจะเป็นอื่นไปได้อย่างไร นอกจากจะเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมอันดีเท่านั้น?

วิธีการที่เม่งจื๊อมองเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้บรรลุถึง ซึ่งสภาพการณ์แห่งสังคม อุดมคตินี้นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่เราอาจคิดว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยในตอนแรกนั้น แต่เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ

ถ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว ข้าวกล้าก็จะได้ผลมากเกินกว่าที่จะบริโภค ถ้าไม่อนุญาตให้ใช้แหถี่ในหนองน้ำและทะเลสาบแล้ว ก็จะมีหอยปูปลากกว่าที่จะบริโภคให้หมด ถ้าอนุญาตให้ถือขวานและพร้าเข้าป่าไปตัดไม้ในสมัยเวลาที่เหมาะสมแล้ว เราก็จะมีไม้มากมายเหลือใช้ เมื่อประชาชนมีข้าวมีปลาจนบริโภคไม่หมด และมีไม้มากมายจนใช้ไม่หมดแล้ว ประชาชนก็จะสามารถเลี้ยงดูคนที่มีชีวิตอยู่ และฝังศพคนที่ตายไปแล้วได้โดยปราศจากความวิตกกังวลใดๆ การที่จะทำให้ประชาชนได้มีหลักประกันเช่นที่ว่านี้ เป็นหน้าที่อันดับแรกของการปกครองที่ดี

ในเรื่องการกสิกรรมนั้น เม่งจื๊อต้องการฟื้นฟู ระบบการทำกสิกรรมแบบ จิ่งเถียน (Ch’ing T’ien) หรือแบบ นา-บ่อ (well-field) ตามวิธีนี้ ที่ดินที่สามารถทำการเพาะปลูกได้จะถูกแบ่งออกเป็นผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเนื้อที่เก้าร้อยมู (mu) ขนาดของมูนั้นไม่ทราบว่าเท่าไร แต่ในปัจจุบันนี้ หนึ่งมูนั้นประมาณเท่ากับหนึ่งในสามของหนึ่งไร่ ที่ดินแต่ละผืนนี้จะกำหนดให้ครอบครัวแปดครอบครัวทำกิน ที่ดินแต่ละผืนจะแบ่งออกเป็นแปลงย่อยมีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรจีนว่า บ่อน้ำ หรือ จิ่ง (#) แปลงย่อยแปดแปลงข้างนอกครอบครัวทั้งแปดครอบครัว จะแบ่งกันทำกินครอบครัวละแปลง ส่วนแปลงในสุดตรงกลางนั้นเป็นแปลงที่ทั้งแปดครอบครัวจะทำร่วมกันผลิตผลของแปลงร่วมกันนี้ ครอบครัวทั้งแปดจะต้องมอบให้กับบ้านเมืองไปแทนภาษีอากร ระบบการทำกสิกรรมแบบนี้มายกเลิกไป ในปลายรัชสมัยของราชวงศ์โจว และถูกแทนที่ด้วยระบบการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นส่วนบุคคล อันเป็นระบบที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา เพิ่งจะมาถูกเลิกเมื่อประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมูนิสต์นี้เอง

ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนแต่ละคนมีความมั่งมีขึ้นอยู่ในใจเช่นนี้ เม่งจื๊อจึงได้ขัดขวางเรื่องการเก็บภาษีอย่างกดขี่ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ของสมัยนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเก็บภาษีที่เป็นภาระอันหนักมากของประชาชน ทั้งนี้ เพราะบ้านเมืองมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินเพื่อสงครามตลอดเวลา โดยไม่มีการหยุดเลย เม่งจื๊อมีความเห็นพ้องด้วยว่าต้องมีการเก็บภาษี แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการและปริมาณของการเก็บภาษี เขาได้ยกวิธีการเก็บภาษีที่ปฏิบัติกันในสมัยนั้นสามวิธีมาอ้างคือ การเก็บภาษีในสมัยราชวงศ์เสี่ยในสมัยโบราณนั้น ถือว่าเป็นเครื่องบรรณาการ การเก็บภาษีในสมัยราชวงศ์หยินนั้น ถือว่าเป็นการบริจาคเงินช่วยเหลือ เป็นลักษณะของการช่วยเหลือกันและกัน ระหว่างบ้านเมืองกับประชาชนและประชาชนกับบ้านเมือง และการเก็บภาษีในราชวงศ์โจวนั้น เป็นการประเมินค่าภาษีที่จะต้องเสียโดยบ้านเมือง ในวิธีการเก็บภาษีทั้งสามแบบนี้ เม่งจื๊อดูเหมือนจะพอใจในวิธีการของราชวงศ์หยินมากที่สุด ส่วนวิธีการของราชวงศ์โจวนั้น เม่งจื๊อไม่ชอบใจเลย เขากล่าวว่า

…….ไม่มีการเก็บภาษีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการอนุเคราะห์ช่วยเหลือกัน และไม่มีการเก็บภาษีวิธีใดที่จะเลวยิ่งไปกว่าการประเมินเรียกเก็บเอา โดยวิธีการหลังนี้ ค่าภาษีนั้นกำหนดจากรายได้ถัวเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ผลก็คือ ในปีที่ทำกิจการงานได้ผลดีมีข้าวกล้าเต็มยุ้งฉางอุดมสมบูรณ์ จะเก็บภาษีมากเท่าใดก็ไม่เป็นการกดขี่ ทำให้เดือดร้อน เพราะค่าภาษีที่จะต้องเสียตามปกตินั้นมีจำนวนไม่มาก แต่ในปีที่กิจการงานได้ผลไม่ดี เมื่อผลิตผลได้น้อยไม่พอเพียงแก่การบริโภค ซ้ำยังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปุ๋ยด้วย ระบบการเก็บภาษีแบบนี้ก็ยังบังคับเก็บเต็มจำนวนที่เคยเก็บอยู่ ด้วยเหตุนี้  นักการปกครองจึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนต้องทำงานหนักตลอดทั้งปี โดยไม่มีแม้แต่รางวัลเพียงเพื่อพอกับการบริโภคเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เม่งจื๊อได้ระบุว่า ผ้าแพรและผ้าที่ทำด้วยป่านข้าว และการที่บุคคลออกแรงรับใช้ก็เป็นสิ่งตอบแทนเพื่อการเก็บภาษีได้ด้วย แต่เขาย้ำความสำคัญว่า “ผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น ควรจะเรียกเก็บภาษีสิ่งเหล่านี้เพียงปีละอย่างเดียว ส่วนอีกสองอย่างนั้นควรจะผลัดเรียกเก็บในปีต่อๆ ไป”

ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น เม่งจื๊อเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า การอบรมสั่งสอนที่เหมาะสม และการปกครองที่ดีนั้นควรจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน

คำพูดที่ไพเราะ ไม่ได้สัมผัสบุคคลอย่างซาบซึ้งเท่ากับการกระทำที่เต็มไปด้วยความกรุณา ในทำนองเดียวกันการปกครองที่ดีจะไม่ผูกพันประชาชนไว้ได้อย่างมั่นคงเท่ากับการให้การศึกษาที่ดี เพราะว่าการปกครองที่ดีนั้น ก่อให้เกิดแต่ความยำเกรงขึ้นในจิตใจของประชาชนเท่านั้น ส่วนการศึกษาที่ดีนั้น ก่อให้เกิดความรักขึ้นในจิตใจของประชาชน การปกครองที่ดีทำให้ประชาชนมีโภคทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น แต่การศึกาที่ดีนั้นเป็นเครื่องทำให้ได้น้ำใจของประชาชน

เม่งจื๊อมีความเห็นว่า การศึกษานั้นคือ เป้าหมายของการปกครองที่ดี เช่นเดียวกับที่โภคทรัพย์เป็นบ่อเกิดของการปกครอง เขายอมรับว่าด้วยความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นเป็นการไม่เพียงพอ ประชาชนควรจะต้องมีความรู้เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดผลดีที่สุด

มนุษย์มีจริยธรรมเป็นธรรมชาติของตน ถ้ามนุษย์ได้รับการเลี้ยงดูดี มีเสื้อผ้าใส่อย่างอบอุ่น มีที่พักอาศัยอันสุขสบายแล้ว แต่ถ้าปราศจากการศึกษาอย่างเหมาะสม มนุษย์ก็จะมีสภาพเยี่ยงสัตว์เท่านั้นเอง

บทวิเคราะห์
ข้อสรุปทั้งหลายที่เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อนั้น อาจจะนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีกับผลงานของเม่งจื๊อโดยมีข้อยกเว้นที่เด่นๆ บางประการ ประการแรก ในขณะที่ปรมาจารย์ทั้งสองต่างมีความสนใจในเรื่องการปกครองที่ดีเหมือนกันนั้น เม่งจื๊อมีความเห็นยืนยันว่าการปกครองที่ดีนั้น นักการปกครองจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความยินยอมของประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน “ประชาชนนั้นมีฐานะอันสูงสุดในบ้านเมือง…..ส่วนักการปกครองนั้นมีความสำคัญอันน้อยที่สุด”

แต่ขงจื๊อนั้นถือว่านักการปกครองเป็นเจ้าเหนือหัวผู้มีอำนาจทุกประการ และยินยอมให้แต่เพียงว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเท่านั้นเอง แต่ในวาระที่สุดนั้น เม่งจื๊อถือเอาทรรศนะที่ตรงกันข้ามกับของขงจื๊ออย่างสิ้นเชิง เขากล่าวว่า

มีหนทางอยู่ประการเดียวเท่านั้น ที่จะคงอำนาจปกครองของพระจักรพรรดิไว้ได้ คือ การผูกมัดจิตใจของประชาชน หนทางเดียวที่จะผูกมัดจิตใจของประชาชนไว้ได้นั้น คือ จงให้สิ่งที่ประชาชนชอบ และอย่างบังคับฝืนใจสิ่งที่ประชาชนเกลียดชัง

ประการที่สอง  ซึ่งเป็นเหตุผลขั้นต่อไปนั้น เม่งจื๊อมอบหมายให้ประชาชน และรวมทั้งเสนาบดีทั้งหลาย มีสิทธิ์ที่จะขับไล่ผู้ปกครองบ้านเมืองที่เป็นคนเลวทราม ส่วนขงจื๊อนั้นเพียงแต่กำหนดความสัมพันธ์อันมั่นคงถาวรระหว่างผู้ปกครองบ้านเมืองกับประชาชนไว้เท่านั้น

ขอให้ผู้ปกครองบ้านเมือง จงเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง
เสนาบดี จงเป็นเสนาบดี บิดาจงเป็นบิดา
และบุตรจงเป็นบุตร (จาก ปกิณกะของขงจื๊อ)

ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีทรรศนะอันเป็นการปฏิรูปสังคมเช่นนี้ เม่งจื๊อนั้นอาจถือเอาได้ว่า เป็นนักประชาธิปไตยในความหมายของสังคมในปัจจุบัน

ประการที่สาม ถึงแม้ว่าทั้งขงจื๊อและเม่งจื๊อ ยอมรับเอาทรรศนะที่ว่าการปกครองที่ดีนั้น ต้องอาศัยสภาวะอันดีงามทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจเหมือนกันก็ตาม เราก็ได้เห็นแล้วว่า เม่งจื๊อนั้นมีทรรศนะที่มุ่งหมายเฉพาะเจาะจงมากกว่าขงจื๊อ ผู้เป็นอาจารย์ของเขา ด้วยเหตุนี้ สำหรับเม่งจื๊อนั้น การกล่าวแต่เพียงว่า ควรจะทำให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว จัดให้มีการศึกษานั้นเป็นการไม่เพียงพอ ถ้าจะให้ถูกแล้ว เขาเผยแพร่ทรรศนะของความคิดเห็นที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงลงไปเป็นเรื่องๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น เช่น เรื่องการจัดการกสิกรรมแบบนาบ่อ (well-field) การควบคุมภาษีอากร การสงวนทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เป็นต้น

ประการสุดท้าย เม่งจื๊อถือเอาหลักแห่งความดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นศูนย์กลางของระบบปรัชญาทั้งหมดของตน ส่วนขงจื๊อนั้น ถือเอาแต่เพียงว่ามนุษยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การเป็นผู้สืบต่อมรดกทางปรัชญาของมหาปรมาจารย์ขงจื๊อ ผู้อมตะต่อไป

ที่มา:สกล  นิลวรรณ