ชีวิตและงานนิพนธ์ของเม่งจื๊อ

Socail Like & Share

เม่งจื๊อ
จงปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสม แล้วขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงผู้สูงอายุของครอบครัวอื่นด้วย จงปฏิบัติต่อเด็กในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสม แล้วขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงเด็กๆ ของครอบครัวอื่นด้วย
Meng Tsu เล่ม 1 ตอน 1 บทที่ VII

ก่อนสิ้นสมัยราชวงศ์โจว ได้เกิดมีสำนักสอนปรัชญาของขงจื๊อขึ้นหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่มีบุคคลใดที่มีสติปัญญาเลิศถึงขนาดที่จะเป็นหลักประกันความคงอยู่ของปรัชญาขงจื๊อได้ จนกระทั่งสมัยของเม่งจื๊อ เม่งจื๊อเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการพูดที่จับใจ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และมีสติปัญญาอันลึกซึ้ง เม่งจื๊อเป็นบุคคลที่เผยแพร่คำสอนของขงจื๊อออกไปอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันเม่งจื๊อก็โจมตีคำสอนที่บิดเบือนไปจากปรัชญาของขงจื๊อด้วย ผลงานที่เขาทำให้ปรัชญาขงจื๊อแพร่หลายออกไปประกอบด้วยการต่อสู้เพื่อป้องกันคำสอนอันบริสุทธิ์ของขงจื๊อนั้น ทำให้เม่งจื๊อได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลทั่วไปว่า เป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่สุดรองลงไปจากขงจื๊อ เป็น “ปรมาจารย์คนที่สอง”

ชีวิตและงานนิพนธ์
เม่งจื๊อหรืออาจารย์เม้ง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า เม่ง โข (Meng K’o) เขาเกิดเมื่อประมาณร้อยปีเศษหลังจากมาณกรรมของขงจื๊อ ชีวิตของเขาประมาณว่าอยู่ระหว่างปี 372-289 ก่อน ค.ศ. ทำนองเดียวกันกับขงจื๊อ เม่งจื๊อมีนิยายที่เกี่ยวกันกับการกำเนิดของเขามากมาย กล่าวกันว่า มีทูตสวรรค์มาปรากฏแก่มารดาของเขาขณะที่เขากำลังเกิดนั้นมีแสงสว่างเป็นสีรุ้งปรากฏสว่างไปทั่วบริเวณ นิยายเหล่านี้ก็มีลักษณะคล้ายกันกับนิยายที่เกี่ยวกับขงจื๊อ คือ เป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพและศรัทธาที่ประชาชนชาวจีนมีต่อเม่งจื๊อ มากกว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นจริง

เม่งจื๊อเป็นคนชาวเมืองโซ่ว (Tsou) ปัจจุบันเป็นอำเภอ โซ่วเซียน (Tsou Hsien) อยู่ในแคว้นชานตุง (Shantung) เล่ากันว่าเม่งจื๊อมีเชื้อสายมาจากสกุลเม่งซุน ซึ่งเป็นสกุลผู้ดีมีอิทธิพลของแคว้นหลู เมื่อราชวงศ์โจวกำลังเสื่อมจะศูนย์สิ้นอำนาจลงนั้น ครอบครัวของสกุลเม่ง ได้อพยพจากแคว้นหลูไปพำนักอยู่ที่แคว้นโซ่ว เม่งจื๊อเหมือนกับขงจื๊อคือ ต้องกำพร้าบิดาตั้งแต่เมื่อยังอายุยังน้อย บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุได้สามขวบ เขาจึงรับการเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอนจากมารดาเม้ง (Meng) ของเขาเป็นอย่างดี ชื่อของมารดาเม้งของเขานั้น เป็นชื่อที่กล่าวขวัญด้วยความยกย่องกันภายในครอบครัวของชาวจีนมาจวบกระทั่งทุกวันนี้

เรื่องเกี่ยวกับมารดาเม้งของเขานั้น คือ นางต้องย้ายบ้านถึงสามครั้ง เพื่อแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่ดีงามเพื่อเลี้ยงลูกชายของนาง ครั้งแรกครอบครัวของนางอาศัยอยู่ใกล้กับฌาปนสถาน ต่อมานางพบว่าลูกชายของนางชอบเล่นแต่เรื่องการฝังศพและการไว้ทุกข์ให้แก่คนตาย นางจึงย้ายบ้านเป็นครั้งที่สองไปอยู่ใกล้ตลาด ซึ่งทำให้ลูกชายของนางไปสนใจในเรื่องการเล่นซื้อเล่นขาย นางก็ไม่พอใจ นางจึงต้องย้ายบ้านเป็นครั้งที่สาม คราวนี้นางไปอยู่ใกล้กับโรงเรียน ณ ที่บ้านแห่งนี้ บุตรชายของนางมีโอกาสที่จะเลียนแบบของครู ของนักเรียน ของโรงเรียนนั้นได้อย่างอิสระ ทำให้มารดาของเม่งจื๊อมีความพอใจมาก เรื่องของมารดาเม้งในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่เอาใจใส่ในการเลี้ยงดูลูกนั้น จึงกลายเป็นเรื่องที่บันดาลใจบรรดาผู้เป็นมารดาทั้งหลายในครอบครัวของชาวจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เม่งจื๊อ มีความเคารพนับถือขงจื๊อว่าเป็นปรมาจารย์ ที่เป็นแบบอย่างของชีวิตของเขา ตั้งแต่เขายังเยาว์วัยอยู่ ครั้งหนึ่งเขากล่าว่า

นับตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีชีวิตของมนุษย์ปรากฏขึ้นในโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ยังไม่มีบุคคลใดที่อาจถือเอาได้ว่าเป็นขงจื๊อคนที่สองได้เลย….ความปรารถนาของข้าพเจ้า คือ เรียนรู้เพื่อจะได้เป็นเหมือนท่านขงจื๊อ…ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่สามารถเป็นสานุศิษย์ของท่านขงจื๊อเองได้ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็จะพยายามศึกษาและเจริญคุณธรรมของท่านขงจื๊อเอาจากบุคคลผู้เคยเป็นสานุศิษย์ของท่านมา

แต่ปรมาจารย์ทั้งสองท่านนี้ มีอุปนิสัยใจคอแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทีเดียว ขงจื๊อเป็นคนเก็บความรู้สึก เป็นสุภาพบุรุษผู้ประณีตรอบคอบและระมัดระวังในการพูด ส่วนเม่งจื๊อนั้นเป็นคนเปิดเผย เป็นนักพูดคนสำคัญของยุค มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องปฏิภาณไหวพริบ เมื่อมีผู้ถามปัญหายากๆ หรือเมื่อถูกกล่าวถากถางโจมตี ขงจื๊อมักจะนิ่งเฉยและอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากสวรรค์ให้ลงมาเป็นพยาน แต่เม่งจื๊อไม่ใช่บุคคลเช่นนั้น ลักษณะของเม่งจื๊อนั้น จะต้องตอบโต้ห้ำหั่นกับคู่ต่อสู้และต้อนคู่ต่อสู้ให้เป็นฝ่ายจนมุมทุกครั้งไป

ชีวิตงานของเม่งจื๊อ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่สี่ก่อน ค.ศ. เป็นสมัยที่จีนเก่ากำลังจะสูญสิ้นไป และการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น สมัยนี้เป็นสมัยที่มีความปั่นป่วนทางสังคม ขาดเสถียรภาพในทางการเมือง ขาดหลักการทางสติปัญญา ผลก็คือ ความพยายามของเม่งจื๊อในทางด้านการเมืองไม่ประสบความสำเร็จมากไปกว่าความพยายามของขงจื๊อแต่อย่างใดเลย ในบทนิพนธ์เรื่องบันทึกประวัติหรือ ซี่ จี่ (Shih Chi) ของ สุมาเฉี๋ยน (Ssu-ma Ch’ien) นั้นเราอ่านพบข้อความว่า

หลังจากที่ได้ศึกษาคำสอนของขงจื๊อเป็นอย่างดีแล้ว เม่งจื๊อไปทำราชการอยู่กับพระเจ้าซ่วน แห่งแคว้นฉี๋ (King Hsuan of Ch’i) แต่พระเจ้าซ่วนไม่ยอมปฏิบัติตามหลักการของเม่งจื๊อ ดังนั้นเม่งจื๊อจึงเดินทางต่อไปยังแคว้นเหลียง (Liang) แต่พระเจ้าหุยของแคว้นเหลียง (King Hui) ก็ไม่ยอมรับฟังคำแนะนำของเขา สำหรับบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายแล้ว คำพูดของเม่งจื๊อ เป็นเหมือนคำสวดมนต์ของพวกหมอผี ไม่มีพื้นฐานของความเป็นจริงรองรับแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกับลำดับเหตุการณ์ที่ปรากฏในบทอ้างที่ยกมาข้างบนนี้ ในปัจจุบันนี้เป็นที่เชื่อกันว่า เม่งจื๊อได้พักอยู่ที่แคว้นเหลียงก่อนแล้วจึงเดินทางไปแคว้นฉี๋ เขาได้ไปที่แคว้นเหลียง ในปี 320 ก่อน ค.ศ. แล้วเดินทางไปสู่แคว้นฉี๋ ในปี 318 ก่อน ค.ศ.

บันทึกเกี่ยวกับการพำนักอยู่ของเม่งจื๊อที่แคว้นเหลียงนั้น แสดงถึงความยุ่งยากต่างๆ ที่เขาได้ประสบอย่างชนิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เหตุที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นเป็นเพราะว่า การพบปะระหว่างเม่งจื๊อกับเจ้าผู้ครองแคว้นนั้นที่จริงแล้ว คือการขัดแย้งกันระหว่างโลกของวัตถุ กับโลกของจิตใจ ในสมัยที่บ้านเมืองมีแต่การจลาจลวุ่นวาย พระเจ้าหุยของแคว้นเหลียงพยายามแก้ไขจุดอ่อนของพระองค์ โดยการแสวงหาบุคคลผู้มีสติปัญญาเท่าที่จะหาได้มาร่วมงาน ฉะนั้นเม่งจื๊อซึ่งมีความสนใจในเรื่องการเมืองอยู่แล้ว จึงไปสู่ราชสำนักของแคว้นเหลียง ชื่อเสียงของเม่งจื๊อทำให้ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหุยเป็นอย่างดี แต่เมื่อพระเจ้าหุยขอคำแนะนำเรื่องการแสวงหาประโยชน์เพื่อราชอาณาจักรของพระองค์ พระเจ้าหุยจึงเห็นว่าคำแนะนำของเม่งจื๊อนั้น มีประโยชน์แก่การแสวงหาอำนาจของพระองค์น้อยมาก ความคิดที่จะแสวงหาผลประโยชน์นั้นเป็นความคิดที่ขัดแย้งกับทรรศนะของเม่งจื๊อ เม่งจื๊อ กล่าวถวายคำแนะนำว่า

เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คำแนะนำของเม่งจื๊อนั้นเป็นคำแนะนำที่ทวนกระแสลม ไม่มีใครรับฟัง เม่งจื๊อพบว่าตนเองนั้นมีโอกาสที่จะรับใช้ราชการบ้านเมืองน้อยเหลือเกิน ในยุคสมัยที่สุขสงบแล้ว เม่งจื๊ออาจมีหวังที่จะพบกับความสำเร็จได้มากกว่านี้ แต่สภาพการณ์อันฉุกเฉินของยุค ทำให้ความพยายามของเขาต้องล้มเหลว เม่งจื๊อพำนักอยู่ในแคว้นเหลียง จนถึงปลายปี 319 ก่อน ค.ศ. เมื่อพระเจ้าหุยสวรรคตลง และพระเจ้าเซียง (King Hsiang) ราชบุตรของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อไป ภายหลังจากที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเซียง กษัตริญืหนุ่มเป็นครั้งแรกแล้ว

เม่งจื๊อกล่าวว่า

เมื่อข้าพเจ้ามองดูพระองค์แต่ไกล พระองค์ดูไม่มีท่าทางเหมือนกษัตริย์เลย เมื่อข้าพเจ้าไปใกล้พระองค์ ข้าพเจ้าไม่เกิดความรู้สึกเคารพนับถือในตัวพระองค์เลย

ที่จริงแล้ว เม่งจื๊อมีความรู้สึกรังเกียจและสะอิดสะเอียนอย่างยิ่ง ในไม่ช้าเขาก็จากแคว้นเหลียงไปสู่แคว้นฉี๋

แคว้นฉี๋ เป็นแคว้นที่สงบนิ่งมาเป็นเวลานานถึงสองศตวรรษ แต่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าซ่วน แคว้นฉี๋ได้เจริญรุ่งเรืองเด่นขึ้นมา พระองค์ทรงเปิดประตูต้อนรับบุคคลผู้มีสติปัญญาทุกคนที่กระหายในเรื่องของการเมือง ฉะนั้นจึงมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงเด่นๆ และผู้มีความรู้และสติปัญญาหลั่งไหลมาสู่ราชสำนักของพระองค์เป็นจำนวนมาก พระองค์จัดสถานที่อยู่อันสง่างามให้ ให้รางวับและรายได้ตอบแทนอย่างงดงาม รวมทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ที่มีเกียรติ พระองค์ทรงให้ทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นแต่ตำแหน่งในราชการบ้านเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมีเวลาว่างเป็นอิสระพอที่จะศึกษาหาความรู้ทางวิชาการแต่อย่างเดียว และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการปกครองบ้านเมืองและบรรยายวิชาความรู้ต่างๆ ให้แก่พระองค์เท่านั้น

เมื่อพระเจ้าซ่วนได้ทราบว่าเม่งจื๊อ กำลังเดินทางมาสู่แคว้นฉี๋ พระองค์จึงส่งพระราชบุตรของพระองค์ไปต้อนรับถึงที่ชายเมือง และเมื่อพระเจ้าซ่วนมอบตำแหน่งสูงในราชสำนักให้แก่เขา เม่งจื๊อ รู้สึกว่าแคว้นนี้คือตลาด ที่มีลู่ทางดีพอที่เขาจะขายสินค้าของตนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามปัญหายุ่งยากเก่าๆ  ก็ยังคงมีอยู่ เพราะว่าพระเจ้าซ่วนนั้นก็เหมือนกับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ทั้งหลายคือ มีความสนใจอยู่ที่การเพิ่มพูนกำลังทางทหารเพื่อที่จะได้มาซึ่งบัลลังก์แห่งพระจักรพรรดิ และมีความอ่อนแอที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องสตรีและทรัพย์สมบัติ เม่งจื๊อ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องวรรณคดี และความรู้ทั้งหลายได้พยายามปรับตนให้เข้ากับอัธยาศัยของพระเจ้าซ่วน เขาถวายคำแนะนำว่า การที่จะเป็นพระจักรพรรดินั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย ถึงแม้พระองค์จะมีความอ่อนแอบางประการ ถ้าหากว่าพระองค์มีความยินยอมที่จะแบ่งปันความสุขส่วนตัวของพระองค์ให้แก่ประชาชนพลเมือง แต่ในที่สุด เม่งจื๊อก็ไม่อาจต้านทานกับการเป็นตัวของตนเองที่แท้จริงได้  ฉะนั้นความเปิดเผยตรงไปตรงมาของเขาจึงทำให้เขาต้องปลีกตัวออกจากพระเจ้าซ่วน ดังปรากฏในบทสนทนาต่อไปนี้ เม่งจื๊อ ได้ทูลถามพระเจ้าซ่วนว่า

“สมมติว่า เสนาบดีคนหนึ่งของพระองค์ จำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างเมือง จึงได้มอบให้เพื่อนคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลบุตรและภรรยาของตน แต่เมื่อเขากลับจากการเดินทางมาแล้ว พบว่า บุตรและภรรยาของเขาต้องอดอยากและทนหนาวอยู่ เสนาบดีคนนั้นควรจะทำอย่างไรดี กับเพื่อนของเขา?
“ไล่เพื่อนคนนั้นไป” พระองค์ทรงตอบ
“สมมติว่า หัวหน้าผู้พิพากษาของพระองค์ไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของตนได้ พระองค์จะทรงจัดการกับหัวหน้าผู้พิพากษาคนนั้นอย่างไร?”
“ไล่ออกไป” คือคำตอบอันฉับพลันของพระองค์
“ทีนี้ สมมติว่า ภายในอาณาจักรของพระองค์นี้ มีแต่การปกครองที่เลว พระองค์จะทรงทำอย่างไร?”
พระเจ้าซ่วน ทรงเบือนพระพักตร์หนีแล้วเปลี่ยนเรื่องอื่นทันที

พระเจ้าซ่วนทรงสุภาพและรับฟังคำแนะนำปรึกษาของเม่งจื๊อด้วยไมตรีอันดี แต่พระองค์ไม่เคยสนใจมากมายถึงขนาดที่จะนำทฤษฎีของ
เม่งจื๊อไปทดลองปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองของพระองค์ เมื่อกาลเวลาล่วงไป เม่งจื๊อจึงรู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้นก็เป็นแต่เพียงการรับฟังอันสงบอย่างตั้งใจ และอย่างสุภาพเท่านั้นเอง ซึ่งไม่บังเกิดผลดีแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เขาจึงเดินทางออกจากแคว้นฉี๋ไป

เหมือนกับขงจื๊อ เม่งจื๊อไม่เคยหมดหวังอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าเขาจะยอมรับในที่สุดว่า ความพยายามของเขานั้นไร้ผล เขามีอายุหกสิบเจ็ดปีแล้ว ในตอนที่เขาออกจากแคว้นฉี๋ใน ปี 312 ก่อน ค.ศ. เพื่อแสวงหากษัตริย์ผู้มีความรู้แจ้งต่อไป

เม่งจื๊อมามีโอกาสอีกครั้งหนึ่งในราชสำนักแห่งแคว้นเถิง (T’eng) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ อยู่ระหว่างแคว้นที่มีกำลังอำนาจสองแคว้นคือ แคว้นฉู่และแคว้นฉี๋ พระมหาอุปราชเหวินแห่งแคว้นเถิง มีความลำบากใจในการป้องกันตนให้พ้นจากการรุกรานของแคว้นใกล้เคียงที่มีอำนาจ พระองค์จึงไปขอความช่วยเหลือจากเม่งจื๊อ เม่งจื๊อปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งอันสูงที่พระเจ้าเหวินทรงมอบให้ เพราะเม่งจื๊อรู้สึกว่าการมอบตำแหน่งให้นั้นปราศจากความบริสุทธิ์ใจ แต่เขาได้ให้คำแนะนำแก่พระมหาอุปราชเหวินหลายประการด้วยกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่อง การปฏิรูปที่ดิน ที่เรียกกันว่า จิ้งเถียน (Ching-T’ien) หรือระบบการทำนาบ่อ แต่เม่งจื๊อพำนักอยู่ในแคว้นเถิงชั่วระยะเวลาอันสั้น ในปี 307 ก่อน ค.ศ. เขาเดินทางไปสู่แคว้นหลู แล้วก็ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างสงบ อุทิศตนให้กับการเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนหนุ่ม และการเขียนบทนิพนธ์ทางปรัชญาของเขาที่เรียกชื่อว่า เม่งจื๊อ เหมือนขงจื๊อ คือ เม่งจื๊อ เป็นนักการศึกษาที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นที่รักใคร่ของสานุศิษย์ บทนิพนธ์เรื่องเม่งจื๊อของเขาถือว่าเป็นบทนิพนธ์ที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของสำนักปรัชญาขงจื๊อในปี 289 ก่อน ค.ศ. เมื่ออายุได้แปดสิบสี่ปี เม่งจื๊อได้ถึงกาลมาณะในแคว้นอันเป็นมาตุภูมิของเขานั้นเอง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ