เม่งจื๊อกับคำสอนเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

Socail Like & Share

ในฐานะที่เป็นผู้เผยแพร่คำสอนของขงจื๊อ เม่งจื๊อถือเอาคำสอนเรื่อง เหยิน (Yen) เป็นจุดศูนย์กลางของคำสอนของเขาทั้งหมด แต่เขาได้ขยายความคิดเรื่องนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมเพิ่มขึ้น เขามีความเห็นว่า เหยินนั้นควรจะประกอบด้วยหยี (Yi) หรือการยึดมั่นในศีลธรรม

สิ่งที่บุคคลเทิดทูนอยู่ในใจนั้น คือ มนุษยธรรม
สิ่งที่บุคคลเทิดทูนอยู่ด้วยการกระทำนั้น คือการยึดมั่นในศีลธรรม

ในความพยายามที่จะสร้างความคิดในเรื่องการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมนั้น เม่งจื๊อได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ปรัชญาจีนที่สำคัญมากคือ ความเชื่อในเรื่องความดีที่มีมาแต่กำเนิดว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ได้มีข้อโต้เถียงกันมากมายในหมู่บรรดาสานุศิษย์ของขงจื๊อเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในด้านที่เกี่ยวกับจริยธรรม เม่งจื๊อเป็นบุคคลแรกที่ประกาศอย่างชัดแจ้งซึ่งคำสอนว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มน้อมไปสู่ความดี และความเมตตากรุณา ในยุคสมัยของเม่งจื๊อ มีทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในด้านจริยธรรมอยู่สามทฤษฎี ทฤษฎีที่หนึ่งเป็นทฤษฎีของ เก้าจื๊อ (Kao Tzu) อันเป็นบุคคลผู้ซึ่ง เม่งจื๊อได้เคยโต้เถียงอยู่หลายครั้ง เก้าจื๊อ มีทรรศนะว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่โน้มน้อมไปในทางดีหรือทางชั่วแต่อย่างใด นักปรัชญาจีนอีกท่านหนึ่งถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีลักษณะโน้มน้อมไปในทางดี หรือทางชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง นักปรัชญาจีนท่านที่สามกล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์บางคนโน้มน้อมไปในทางดีและบางคนโน้มน้อมไปในทางชั่ว

มีข้อความบทหนึ่งซึ่งในบทนิพนธ์เรื่องเม่งจื๊อ ที่แสดงให้เห็นถึงทรรศนะที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มน้อมไปในทางดี ข้อความบทนั้นว่า

ความรู้สึกของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิดนั้นแสดงว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความดี ถ้ามนุษย์กระทำสิ่งที่ไม่ดี เราก็ไม่ควรจะตำหนิว่านั้นเป็นสันดานของมนุษย์

ความรู้สึกมีเมตตากรุณานั้นเป็นความรู้สึกของมนุษย์โดยทั่วไปทุกคน  ในทำนองเดียวกันกับความรู้สึกละอาย ความรู้สึกรังเกียจ ความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้สึกในสิ่งที่ถูกและในสิ่งที่ผิด ความรู้สึกเมตตากรุณานั้น หมายความถึงความมีมนุษยธรรม ความรู้สึกละอายและรังเกียจนั้นหมายความถึงความยึดมั่นในหลักศีลธรรม ความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น หมายความถึงการปฏิบัติตนอันเหมาะสม ความรู้สึกสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิดนั้นหมายความถึงปัญญา

ด้วยเหตุนี้ ความมีมนุษยธรรม ความยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม ความปฏิบัติตนโดยเหมาะสม และปัญญานั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ที่เรานำเข้ามาใส่ไว้ในตัวของเรา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเราตามธรรมชาติ บางครั้งเราลืมสิ่งเหล่านี้ไป เพราะว่าขาดความคิด เหมือนดังคำภาษิตที่ว่า “จงแสวงหาแล้วท่านจะพบ ถ้าท่านละเลยแล้วท่านจะสูญเสีย…” ซึ่งกล่าวเป็นบทกวีนิพนธ์ว่า

สวรรค์เป็นผู้สร้างมนุษย์จำนวนมากมายนี้ สรรพสิ่งทั้งปวงย่อมเป็นไปตามกฎอันเหมาะสมของมัน จงยึดมั่นอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ แล้วมนุษย์ทุกคนจะรักและยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมแห่งความดี

โดยสรุปแล้ว ข้อความบทนี้ แสดงให้เห็นถึงหลักแห่งความคิดอยู่สามประการ ประการที่หนึ่ง มนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นธรรมชาติของตนและย่อมกระทำสิ่งที่ดีงามตามธรรมชาติของตน ประการที่สองมนุษย์มีคุณธรรมอยู่สี่อย่างคือ มนุษย์ธรรม ความยึดมั่นในศีลธรรม การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมและปัญญา ประการที่สาม สวรรค์เป็นผู้สร้างมนุษย์และความรู้สึกทั้งหลายที่มนุษย์มีมาแต่กำเนิด

ครั้งหนึ่ง เม่งจื๊อและเก้าจื๊อได้อภิปรายกันถึงทรรศนะต่างๆ ที่กล่าวถึงดังนี้

เก้าจื๊อ กล่าวว่า “ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเหมือนต้นหลิว ความยึดมั่นในศีลธรรมนั้น เป็นเหมือนชามไม้ การปลูกฝังมนุษยธรรมและความยึดมั่นในศีลธรรมนั้น เป็นเหมือนกับการเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้”

เมื่อได้ยินคำกล่าวของเก้าจื๊อเช่นนั้น เม่งจื๊อจึงโต้ตอบว่า ถ้าท่านยึดเอาธรรมชาติของต้นหลิวเป็นหลักแล้ว ท่านจะเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้ได้อย่างไร? ถ้าท่านจะเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้แล้ว ท่านจะต้องทำลายธรรมชาติของต้นหลิวเสียก่อนฉันใด ท่านก็จะต้องทำลายธรรมชาติของมนุษย์เสียก่อน ถ้าท่านจะปลูกฝังมนุษยธรรมและความยึดมั่นในศีลธรรมให้แก่มนุษย์ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คำพูดของท่านจะชักจูงให้คนทั้งหลายถือเอาว่ามนุษยธรรมและความยึดมั่นในศีลธรรมนั้นเป็นความชั่ว”

กล่าวโดยย่อแล้ว คำกล่าวเปรียบเทียบของเก้าจื๊อนั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่า การที่จะเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้นั้น จะต้องทำลายธรรมชาติของต้นหลิวเสียก่อน แต่มนุษย์และความยึดมั่นในศีลธรรมนั้น เป็นผลิตผลของความเจริญงอกงามตามธรรมชาติของมนุษย์

อีกตอนหนึ่ง เก้าจื๊อ กล่าวว่า

“ธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือ กระแสน้ำที่รวนเร ถ้าเปิดทางทิศตะวันออกน้ำก็จะไหลไปทางทิศตะวันออก ถ้าเปิดทางทิศตะวันตกน้ำก็จะไหลไปทางทิศตะวันตก ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ดี และก็ไม่ชั่ว เหมือนกับน้ำที่ไม่รู้จักทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตกฉะนั้น”

เม่งจื๊อ โต้แย้งว่า “น้ำนั้นถูกแล้วอาจไหลไปทางทิศตะวันออกหรือทางทิศตะวันตกก็ได้ แต่น้ำจะไหลขึ้นหรือไหลลงเล่า? ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มน้อมไปในทางดี เหมือนกับน้ำที่จะต้องไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ น้ำจะต้องไหลไปสู่ที่ต่ำฉันใด มนุษย์จะต้องมีความโน้มน้าวไปสู่ความดีงามฉันนั้น แต่ท่านอาจจะเอาน้ำมาสาดให้ข้ามศีรษะท่านก็ได้ หรือทำเขื่อนทดน้ำให้น้ำไหลทวนขึ้นไปบนยอดเขาก็ได้ แต่นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของน้ำ พลังภายนอกต่างหากที่บังคับให้น้ำต้องเป็นไปเช่นนั้น ในทำนองเดียวกัน ถ้ามนุษย์ต้องการกระทำในสิ่งที่เลวทรามนั้น ธรรมชาติของเขาถูกบังคับให้หันเหออกไปจากสภาพอันแท้จริงของตน”

ยิ่งไปกว่านั้น เม่งจื๊อเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้น ถูกสิ่งที่อยู่ภายนอกกายของมนุษย์มาทำให้เสื่อมเสีย บทอุปมาเรื่องภูเขาวัว ต่อไปนี้เป็นเครื่องอธิบายอย่างดีของการที่โลกมาทำลายธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด

ครั้งหนึ่งภูเขาวัวมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างสวยงาม แต่เนื่องจากภูเขาวัวตั้งอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ ในไม่ช้าต้นไม้บนเขาวัวนั้น ก็ถูกคนมาตัดโค่นลงเสียเตียน…แม้กระนั้นเมื่อได้น้ำฝนและน้ำค้าง ต้นไม้ก็งอกงามขึ้นมาใหม่เป็นต้นอ่อนจากตอไม้เดิมที่ถูกตัดทิ้งไป ต่อมา ฝูงวัวควายและแกะมาและเล็มกินต้นอ่อนหมด ในที่สุดภูเขาวัวก็โล่งเตียนลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคนมาเห็นสภาพเช่นนี้ของภูเขาวัว ก็คิดไปว่า บนภูเขาวัวนี้ไม่เคยมีต้นไม้ขึ้นเป็นป่ามาก่อนเลย สภาพเช่นนี้เป็นสภาพตามธรรมชาติของภูเขาวัวลูกนี้ละหรือ?

ฉันใด ธรรมชาติของมนุษย์ก็เหมือนกัน เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า มนุษย์นั้นไม่มีมนุษยธรรม ไม่มีความยึดมั่นในศีลธรรม? มนุษย์ได้สูญเสียความรู้สึกอันดีงามของตนไปในทำนองเดียวกันกับที่ป่าไม้บนภูเขาถูกทำลายลงนั่นเอง  จิตใจของมนุษย์ถูกรบกวนทำลายวันแล้ววันเล่า ไฉนจึงจะดำรงความดีของตนไว้ได้เล่า? ถึงแม้กระนั้น เมื่อได้รับการเลี้ยงดูจากดินฟ้าอากาศอันสงบในเวลารุ่งอรุณ และพลังแห่งชีวิตที่ดิ้นรนงอกงามอยู่ทุกวันทุกคืน มนุษย์ได้สร้างความปรารถนาและความรังเกียจที่เหมาะสมกับธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์ขึ้นในหัวใจของตน แต่ในไม่ช้าความคิดที่ดีงามเหล่านี้กลับถูกพันธนาการและถูกทำลายลงด้วยการบุกรุกของกิจการงานต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงต้องเหี่ยวเฉาลง จนกระทั่งพลังหล่อเลี้ยงชีวิตในยามราตรีไม่สามารถจะทำให้ความรู้สึกอันดีเหล่านั้นมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ในวาระที่สุด มนุษย์จึงกลับกลายไปมีสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากสภาพของนกและสัตว์ เมื่อมีสภาพเช่นนี้ คนก็คิดไปว่ามนุษย์นั้นไม่เคยมีความรู้สึกอันดีงามมาก่อนเลย สภาพเช่นนี้เราจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์ได้อย่างไร?

ความหมายของบทอุปมาเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน มนุษย์เหมือนกับภูเขาโล้น ซึ่งสภาพเดิมนั้นมีแต่ความสวยงาม แต่ด้วยอิทธิพลจากพลังภายนอกกาย อาจจะเป็นขวาน สัตว์ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ก็เหมือนกับภูเขา ในที่สุดก็สูญสิ้นความงามอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตนไปหมดสิ้น สภาพเช่นนี้ไม่อาจทำให้เรากล่าวได้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่สวยงาม ไม่ดี หาได้ไม่ เม่งจื๊อ ขยายความคิดนี้ต่อไปโดยยืนยันว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้ว มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน ความแตกต่างของมนุษย์นั้นเนื่องมาแต่สิ่งแวดล้อม เขาเปรียบเทียบมนุษย์กับผลิตผลของข้าวฟ่าง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน ก็ต่อเมื่องอกงามอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเหมือนกันเท่านั้น

ข้อยกเว้นประการเดียวที่เม่งจื๊อยอมให้ในเรื่องความดีอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือ มนุษย์นั้นมีลักษณะอันหนึ่งอยู่ภายในตนเองอันเป็นลักษณะที่ไม่อาจกำหนดได้ อันเป็นลักษณะที่เม่งจื๊อเห็นว่าเป็นส่วนที่ไม่มีความโน้มน้อมไปในทางหลักจริยะรรมเลย และเป็นส่วนที่รับเอาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างให้เป็นไปในรูปใดก็ได้ ข้อยกเว้นอันนี้เองที่ทำให้เม่งจื๊อสามารถอธิบายได้ว่า ทำไม่มนุษย์ถึงแม้ว่าจะมีสภาพตามธรรมชาติของตนดี แต่ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางจริยธรรมได้เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกของมนุษย์มีสภาพที่เป็นอันตราย ส่วนที่เป็นกลางของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ขัดขวางมนุษย์ไม่ให้บรรลุถึงความดีงามอันเป็นสภาพที่แท้จริงของตน

แต่จากความคิดเห็นกว้างๆ ของเม่งจื๊อในเรื่องของธรรมชาติอันดีงามของมนุษย์นั้น เม่งจื๊อถือว่า มนุษย์มีความรู้สึกทางสัญชาตญาณบางประการที่เป็นคุณธรรมอันเป็นสิ่งที่สร้างมนุษย์ให้เป็นคนดี เราจำได้ว่าเม่งจื๊อสรุปความรู้สึกอันดีงามของมนุษย์ไว้ คือ ความเมตตากรุณา ความละอายและรังเกียจ ความสุภาพอ่อนโยน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เม่งจื๊อได้ให้ตัวอย่างดังนี้

ถ้าบุคคลใดเห็นเด็กคนหนึ่งกำลังจะตกลงในบ่อน้ำ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีความรู้สึกตกใจและไม่สบายใจเกิดขึ้นทันที โดยไม่มียกเว้นว่าจะเป็นผู้ใด เหตุที่บุคคลนั้นมีความรู้สึกเช่นนั้น หาใช่เพราะว่าเขามุ่งหวังที่จะได้ความขอบคุณจากบิดามารดาของเด็กคนนั้น หรือเพราะว่าต้องการให้ชาวบ้านยกย่องสรรเสริญ หรือเพราะว่าเสียงร้องของเด็กทำให้เขาเป็นทุกข์ไม่สบายใจ ก็หาไม่ จากกรณีนี้ เราจะเห็นได้ว่า บุคคลที่ปราศจากความเมตตากรุณา ความละอาย ความรังเกียจ ความสุภาพอ่อนโยน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น ไม่ใช่มนุษย์ ความเมตตากรุณาเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม ความละอาย และความรังเกียจเป็นจุดเริ่มต้นของความยึดมั่นในศีลธรรม ความสุภาพอ่อนโยนเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติตนอันเหมาะสม ความรู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา มนุษย์มีความรู้สึกสี่ประการนี้ เป็นจุดเริ่มต้น อุปมาดั่งแขนขาทั้งสี่ข้างของตน ฉะนั้นเม่งจื๊อ สรุปจากข้อความที่กล่าวนี้ว่า

เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกทั้งสี่ประการเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ตนเอง ขอให้มนุษย์ทุกคนจงรู้จักวิธีการส่งเสริมและพัฒนาให้ความรู้สึกทั้งสี่ประการนี้ เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ผลของการพัฒนานั้นจะเป็นเหมือนกับกองไฟที่เริ่มลุกโชน หรือน้ำพุที่เริ่มพลุพลุ่งขึ้นมา

เม่งจื๊อเห็นว่า เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะปลูกฝังคุณลักษณะมูลฐานทั้งสี่ประการนี้ให้เกิดขึ้นมีในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้บรรลุถึงการมีมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม

มนุษยธรรมคือ หัวใจของมนุษย์ การยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมคือหนทางของมนุษย์น่าเวทนา บุคคลผู้ละทิ้งหนทางของมนุษย์และไม่แสวงหาหนทางนั้นอีกต่อไป น่าสมเพชบุคคลผู้สูญสิ้นหัวใจของมนุษย์อีกต่อไป เมื่อมนุษย์สูญหายเป็ดไก่ และหมูหมาของตน มนุษย์ยังรู้จักตามหามัน แต่เมื่อมนุษย์สูญหายหัวใจของมนุษย์ที่เป็นของตน ทำไมมนุษย์จึงไม่รู้จักตามหาเล่า ความมุ่งหมายของการศึกษาเล่าเรียนนั้นไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการแสวงหาหัวใจของมนุษย์ที่สูญหายไปนั้นเอง

การแสวงหาหัวใจของมนุษย์ที่สูญหายไปนั้น หมายความถึง การพยายามที่จะกู้คุณงามความดีอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ให้ฟื้นคืนมา การกระทำเช่นนี้เม่งจื๊อมีความรู้สึกว่า เป็นหน้าที่อันสูงสุดของมนุษย์

ประการสุดท้าย สูงขึ้นไปอีกขึ้นเหนือหน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่อตนเองดังกล่าวนี้แล้ว เม่งจื๊อมีความคิดอย่างเดียวกันกับขงจื๊อในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นการมีแต่เพียงการฟื้นฟูความดีอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์เท่านั้น อาจจะเป็นการไม่เพียงพอ แต่เรายังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะพัฒนาความดีของมนุษย์และขยายความดีของมนุษย์ออกไป เพื่อให้เป็นคุณประโยชน์ของมนุษย์ชาติทั้งปวงอีกด้วย

จงปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสม และขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงผู้สูงอายุของครอบครัวอื่นด้วย
จงปฏิบัติต่อเด็กในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสมแล้วขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงเด็กๆ ของครอบครัวอื่นด้วย

เม่งจื๊อเรียกการกระทำอันนี้ว่า “การเผื่อแผ่ น้ำใจอันดีงามของตนไปถึงบุคคลอื่นๆ” และเขาถือว่าสิ่งนี้เป็นการพัฒนาขั้นสูงสุดของเหยิน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ