อุดมคติของชีวิตตามทรรศนะของเล่าจื๊อ

Socail Like & Share

อุดมคติของชีวิต ตามทรรศนะของเล่าจื๊อนั้น อาศัยหลักของคำสอนเรื่อง หวูเหว่ย เป็นประการสำคัญ เขาสอนไม่แต่เฉพาะแต่เรื่องคุณธรรมของการไม่กระทำสิ่งอันใดเท่านั้น แต่ยังสอนเรื่อง คุณธรรมของการไม่มีภาวะที่เป็นตัวตนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ช่องว่างระหว่างซี่ของล้อรถ และความกลวงของภาชนะดินเผา และความว่างเปล่าภายในตัวอาคารบ้านเรือน คุณค่าของสิ่งทั้งสามที่กล่าวถึงนี้ มาจากความว่างทั้งสิ้น  เขากล่าวเป็นทฤษฎีว่า

เราได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของสิ่งทั้งหลาย
เราใช้ประโยชน์จากความว่างของสิ่งทั้งหลาย

เล่าจื๊อ กล่าวยกย่อง “วิญญาณแห่งหุบเขา” ความอ้างว้างของหุบเขา เป็นสัญลักษณ์ของความว่างในปรัชญาเต๋า เล่าจื๊อ เรียกความอ้างว้างของหุบเขาว่าเป็น “อิตถีภาวะแห่งความลึกลับ” กล่าวคือ เป็นหลักอันสำคัญประการแรกที่สุดของชีวิต เพราะว่าสตรีนั้นเอาชนะโลกได้ด้วยความอ่อนนุ่มละมุนละไม และความอ่อนน้อมถ่อมตน เล่าจื๊อกล่าวว่า

มนุษย์ ขณะที่มีชีวิตอยู่นั้นกายมีลักษณะอ่อนนุ่ม แต่เมื่อตายไปแล้ว กายกลับแข็งกระด้าง ในทำนองเดียวกัน สรรพสิ่งทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น หญ้าและต้นไม้ เมื่อมันมีชีวิตอยู่ มันอ่อนนุ่มและโอนอ่อนไปมา

…..ปรับตนเองให้เข้ากับ เต๋า เป็นผู้มีสติปัญญาอันแหลมคมและลึกซึ้ง ….แต่เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย มีกิริยาอาการเรียบง่าย และบริสุทธิ์ใจ ประดุจดังท่อนไม้ที่ยังไม่ได้ขูดถาก (ผู่-P’u) เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางและลึกซึ้งประดุจหุบเขาอันเวิ้งว้าง เป็นผู้มีทรรศนะที่ปราศจากอคติและกว้างไกลประดุจท้องทะเลที่กำลังมีคลื่นอันปั่นป่วน

ด้วยทรรศนะปรัชญาแบบธรรมชาตินิยม และทรรศนะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจารีตประเพณี และการประดิษฐ์สร้างสรรค์ทั้งปวงของมนุษย์เช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เล่าจื๊อ จึงมีความรังเกียจคุณธรรมของขงจื๊อ ที่ว่าด้วยมนุษยธรรม และการยึดมั่นอยู่ในหลักจริยธรรม ที่จริงแล้ว เล่าจื๊อนั้นมีความเห็นว่าการที่มนุษย์ต้องตกต่ำลงไปจากเต๋า และเต้อนั้น ก็เป็นเพราะมนุษย์หันไปยึดถือคุณธรรมของขงจื๊อนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อเต๋าสูยหายไป ก็ยังมี เต้อ เหลืออยู่ เมื่อเต้อสูญหายไป ก็ยังมีมนุษยธรรมเหลืออยู่ เมื่อมนุษยธรรมหายไป ก็ยังมีการปฏิบัติตนอันเหมาะสมเหลืออยู่  …..การปฏิบัติตนอันเหมาะสมนั้นเกิดขึ้นมา เพราะคนขาดความจงรักภักดี และขาดศรัทธาอันดีงาม และเพราะว่าสภาพการณ์ของสังคม เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน

ในทำนองเดียวกัน เล่าจื๊อ ถือว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ การกระทำเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น ความอยากเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ความยกย่องสรรเสริญและโภคทรัพย์เป็นสิ่งที่ปราศจากคุณค่า สิ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง ไม่ใช่สิ่งที่มีขึ้นมาตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของการปรุงแต่งของมนุษย์ ไม่ใช่วิถีทางของธรรมชาติ มนุษย์อาจดำรงชีวิตของตนให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างแท้จริงได้ ธรรมชาติจะเป็นเครื่องนำมนุษย์ไปสู่ความสุข แต่ความรู้และความอยากของมนุษย์ที่เกิดจากการปรุงแต่งนั้น อาจมีอำนาจครอบงำเหนือมนุษย์ และชักนำมนุษย์ให้ออกนอกลู่นอกทาง

สีสัน ทั้งห้าทำให้ตาพร่ามัว
เสียงทั้งห้าทำให้หูอื้อ
รสทั้งห้าทำให้ประสาทลิ้นชินชา
การแสวงหาความสุข ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน
การมีความรักในโภคทรัพย์ ทำให้ประพฤตินอกลู่นอกทาง

เพราะฉะนั้น  บุคคลผู้มีปัญญา เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดที่บุคคลกระทำ จึงขจัดตนให้หมดสิ้นไปจากความอยาก ไม่โลภหาสิ่งที่หาได้ยาก ไม่เสาะแสวงหาความรู้ เขาย่อมปล่อยให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน

ลักษณะภาวะอันนิ่งเฉยของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ประทับใจเล่าจื๊อมากที่สุด มนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกจักรวาล ต่างมีลักษณะร่วมกันกับสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต ลักษณะร่วมกันอันนั้นคือความเป็นธรรมชาติ เหมือนกันกับที่สวรรค์และแผ่นดินมีความเป็นระเบียบและความประสานกลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์ยิ่งนั้น ก็เพราะว่าสวรรค์และแผ่นดินปฏิบัติตนคล้อยตาม เต๋า ฉะนั้นมนุษย์ก็จะสามารถบรรลุถึงภาวะที่เป็นความสุขอย่างยิ่งได้ ก็โดยปฏิบัติตนคล้อยตาม เต๋า ในทำนองเดียวกัน แต่มนุษย์เคยใช้พลังอำนาจที่ตนมีอยู่ไปในการเลือกวิถีทางแห่งชีวิตของตนเองตามลำพัง และสร้างนิสัยทางสังคมของตนขึ้นตามความสามารถอันไม่ยั่งยืนคงทน และไม่มีแก่นสารของตนมากกว่าที่จะใช้ไปเพื่อดำเนินชีวิตของตนไปตามหลักอันนิรันดรของเต๋า อันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงทำให้เกิดมีความทุกข์ยากและความเดือดร้อนนานาประการแก่มนุษย์ขึ้น ในท่ามกลางอารยธรรมจอมปลอมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นนั้นเอง เล่าจื๊อจึงมอบตนให้แก่ เต๋า จึงไม่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสดงตนเอง หรือเพื่อพยายามมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าในวิถีทางใดๆ ที่จริงแล้ว เล่าจื๊อมีความเห็นว่าภาวะทางจิตใจของเด็กทารกนั้นคือมาตรฐานของวิถีทางแห่งธรรมชาติของชีวิต เขามีความรู้สึกว่า ทารกนั้น มีความรู้ในขอบเขตจำกัด มีความปรารถนาในสิ่งต่างๆ น้อย และไม่แปดเปื้อนจากการสัมผัสกับโลก ฉะนั้นทารกจึงอยู่ใกล้ เต๋า มากกว่าบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่

ที่มา:สกล  นิลวรรณ