เม่งจื๊อกับยุคสมัยของเขา

Socail Like & Share

ยุคสมัยที่เม่งจื๊อมีชีวิตอยู่นั้น จำเป็นจะต้องมีอรรถาธิบายเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย ยุคสมัยนั้นนักประวัติศาสตร์เรียกว่าเป็นศักราชแห่งสมัยจั้นกว๋อ (Ch’an Kuo) หรือ สมัยสงครามของแคว้นต่างๆ ดังที่เราได้ทราบมาแล้ว สมัยนี้เป็นสมัยของความระส่ำระสาย รัฐบาลกลางของราชวงศ์โจว สูญสิ้นอำนาจในการปกครอง เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันในหมู่เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ตามมา ยุคสมัยแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ นี้อาจอธิบายสภาพได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง การสงครามเป็นลักษณะเด่นของยุค ในหลายระดับด้วยกัน ด้านหนึ่งแคว้นที่มีอำนาจโดยประมาณมีอยู่แล้วเจ็ดแคว้น ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจและตำแหน่งเพื่อครองบัลลังก์ของพระจักรพรรดิ อีกด้านหนึ่งอันเป็นผลที่เกิดจากสภาพของการแก่งแย่งชิงอำนาจกันของแคว้นใหญ่เหล่านี้ คือ แคว้นเล็กแคว้นน้อยทั้งหลายที่มีอำนาจอ่อนแอ ถูกบังคับให้ต้องป้องกันตนเอง และต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอดของแคว้นของตน พระมหาอุปราชเหวินของแคว้นเถิง  ได้ร้องขอคำแนะนำจากเม่งจื๊อ โดยสรุปสถานการณ์ว่าดังนี้

แคว้นเถิงเป็นแคว้นเล็ก ถึงแม้ข้าพเจ้าจะรับใช้แคว้นใหญ่ทั้งหลายอย่างสุดกำลังแล้ว เราก็ยังไม่สามารถจะรอดพ้นจากความทุกข์ยากที่ได้รับจากพวกแคว้นเหล่านี้ได้ ข้าพเจ้าควรจะกระทำอย่างไรดี จึงจะพ้นจากสถานการณ์อันลำบากนี้ได้?

ประการที่สอง การสงครามนำมาซึ่งภาวะอันหนักเรื่องการบำรุงรักษาทหาร ไม่แต่เท่านั้น ยังต้องมีการเก็บภาษีอย่างสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลที่บังเกิดแก่ประชาชนก็คือ ความยากจนอย่างน่าเวทนาในปีที่การเก็บเกี่ยวได้ผลดี และต้องอดอยากจนถึงสิ้นชีวิตในปีที่ขาดแคลนแห้งแล้ง

ประการที่สาม  สมัยนี้เป็นสมัยที่มีนักการเมืองและผู้มีสติปัญญาเดินทางไปมาบ่อยๆ ที่จริงแล้วไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไรเลย นอกจากการฉกฉวยเอาโอกาสนี้ เพื่อทำการค้าขายในระดับสูงเท่านั้นเอง  พระเจ้าหุยของแคว้นเหลียงนั้นไม่ใช่เจ้าครองแคว้นคนเดียวที่ห้อมล้อมตนด้วยพวกที่มีสติปัญญาเป็นเลิศเท่าที่จะหาได้เท่านั้น ในสมัยที่ต้องกะเสือกกะสนดิ้นรนแสวงหาความสำเร็จเช่นยุคนี้นั้น เจ้าครองแคว้นศักดินาที่ยังไม่มีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอต่างแสวงหาผู้มีสติปัญญามา เป็นที่ปรึกษาจากทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะหาได้ทั้งนั้น ส่วนบุคคลผู้มีสติปัญญาเล่า ก็ฉวยเอาโอกาสนี้เพื่อแสวงหาอำนาจและอิทธิพลใส่ตนเองบ่อยครั้ง ที่ปรากฏว่านายของแคว้นต่างๆ กลายเป็นตัวหมากรุกที่อยู่ในกำมือของที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของตนไป

เมื่อที่ปรึกษาโกรธ เจ้านายทั้งหลายเกิดตัวสั่นงันงกด้วยความหวาดกลัว เมื่อที่ปรึกษาลาออกจากราชการไปใช้ชีวิตอย่างสงบ โลกก็เต็มไปด้วยความสงบ

ประการที่สี่ ซึ่งเป็นความจริงสำหรับสมัยที่มีความขัดแย้งกันเช่นนี้เสมอในประวัติศาสตร์ของโลก คือ เป็นยุคที่มีความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้มีสำนักคิดต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย อันเป็นความคิดที่นอกรีตที่แตกต่างไปจากประเพณีเดิม ซึ่งมีผลเป็นการบั่นทอนปรัชญาขงจื๊อตามที่เคยนับถือกันมา ลักษณะอันนี้ของยุคเป็นลักษณะที่สำคัญยิ่งสำหรับการศึกษาของเรา เพราะว่า ลักษณะนี้เองที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้เม่งจื๊ออุทิศชีวิตของตนเพื่อพิทักษ์รักษาปรัชญาของขงจื๊อไว้ได้อย่างดี ลักษณะอันนี้จะสังเกตเห็นได้อย่างดีจากคำตอบที่สานุศิษย์คนหนึ่ง ถามเม่งจื๊อว่า ทำไมเม่งจื๊อจึงชอบการอภิปรายโต้เถียงมากนัก

ถูกต้อง ทำไมข้าพเจ้าจึงชอบการอภิปรายโต้เถียงเสียจริง?

แต่มันเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าช่วยไม่ได้……ในสมัยโบราณ พระจักรพรรดิยู้ (Yu) ผู้ยิ่งใหญ่ ได้สร้างทำนบทดน้ำไม่ให้ท่วมบ้านเมือง บ้านเมืองก็กลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อย พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว กลืนเอาพวกหยี (Yi) และพวกตี่ (Ti) ซึ่งเป็นคนป่าเถื่อนและขับไล่สัตว์ร้ายทั้งหลายออกไปจากบ้านเมืองประชาชนทั้งหลายก็อยู่เย็นเป็นสุข ท่านขงจื๊อได้นิพนธ์คัมภีร์ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง พวกเสนาบดีเลวทรามทั้งหลาย ต่างหนาวๆ ร้อนๆ ด้วยความเกรงกลัว…ข้าพเจ้าเองก็จะเจริญรอยตามปรมาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อปรับจิตใจของมนุษย์ให้ซื่อตรง กวาดล้างคติความคิดนอกรีตนอกรอย จำกัดขอบเขตการกระทำที่ไม่เหมาะสมและห้ามปรามคำพูดที่เหลวไหล ถ้าการกระทำของข้าพเจ้าเช่นนั้นเกิดขึ้นเพราะข้าพเจ้าชอบโต้เถียงอภิปรายแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เม่งจื๊อโจมตีหยางจื๊อ ม่อจื๊อ ด้วยคำพูดที่ชัดเจนแจ่มแจ้งดังนี้

คำพูดของหยางจื๊อ และของ ม่อจื๊อ แพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลก ถ้าประชาชนไม่ถือเอาความคิดเห็นของหยางจื๊อแล้ว พวกเขาก็จะต้องรับเอาความคิดเห็นของม่อจื๊อ แต่คำสอนของหยางจื๊อเรื่อง “บุคคลแต่ละคนเพื่อตัวเอง” นั้นเป็นเครื่องทำลายการที่จะต้องมีกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง และหลักคำสอนของม่อจื๊อที่ว่ามีบิดามารดาไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การไม่มีบิดามารดา การไม่มีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองนั้น เป็นการลดค่าของมนุษย์ลงมาสู่ระดับของสัตว์ที่ป่าเถื่อนถ้าไม่มีการยับยั้งคำสอนของหยางจื๊อและคำสอนของม่อจื๊อ และไม่มีการส่งเสริมคำสอนของขงจื๊อแล้ว คำสอนอันนอกลู่นอกทางจะชักจูงประชาชนให้หลงผิด และเปิดหนทางของการมีมนุษยธรรมและการดำรงชีวิตตามทำนองคลองธรรม ถ้าไม่มีมนุษยธรรมและการดำรงชีวิตตามธรรมนองคลองธรรมแล้ว สัตว์ป่าจะเข้ามาห้ำหั่นกันและกัน

ยิ่งไปกว่านั้นเม่งจื๊อไม่ได้แสดงความปราณีอันใดแก่นักปรัชญาจากแคว้นทางใต้ ซึ่งรับนับถือเอาคำสอนของ เซนหนุง (Shen Nung) หรือ เทพเจ้าแห่งชาวนาเลย พวกแคว้นทางใต้มีความเชื่อในเรื่องการดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ถึงขนาดที่ต้องให้กษัตริย์ลงมาทำงานปลูกข้าวในนาเพื่อเป็นอาหารของตนด้วยตนเอง เม่งจื๊อเห็นว่าทรรศนะเช่นนนี้เป็นทรรศนะที่นาขบขัน และชี้ให้เห็นว่า การงานปกครองบ้านเมืองกับการใช้แรงงานในการทำนานั้น เป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันไม่ได้

เหตุผลคือว่า งานบางชนิดนั้นเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับคนใหญ่โต งานบางชนิดนั้นเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับคนเล็กน้อยสามัญ บุคคลทุกคนจะต้องอาศัยผลผลิตจากแรงงานของบุคคลอื่นทั้งนั้น สิ่งทั้งหลายในโลกจะต้องปั่นป่วนยุ่งเหยิงไปหมด ถ้ากษัตริย์ต้องมาทำสิ่งของเครื่องใช้ของตนด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำกล่าวว่า “บุคคลบางคนทำงานด้วยสมอง บุคคลบางคนทำงานด้วยแรงกาย บุคคลที่ทำงานด้วยสมองเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง บุคคลที่ทำงานด้วยแรงกายเป็นผู้ผลิตอาหาร บุคคลที่เป็นผู้ปกครองเป็นผู้ได้รับอาหารมาบริโภค” นี้เป็นหลักที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปทั้งโลก

ด้วยการมีภาพของโลกที่ปั่นป่วนยุ่งเหยิงอย่างนี้อยู่ในใจ ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายสำหรับเราที่จะเข้าใจ การที่เม่งจื๊อพยายามแสวงหาอย่างแข็งขัน ซึ่งกษัตริย์ผู้รู้แจ้ง ผู้สามารถจัดบ้านเมืองให้มีความสงบสุขและมีเสถียรภาพอันเป็นยอดปรารถนาของยุคสมัยแห่งสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ แต่ในที่สุดเม่งจื๊อจำต้อง สรุปความคิดเห็นของตนไว้ว่า

โดยปกติแล้ว ในทุกช่วงระยะเวลาของห้าร้อยปี จะต้องมีกษัตริย์ที่ดีเกิดขึ้นพระองค์หนึ่งเสมอ…ตามจำนวนปีที่กล่าวนี้แล้ว บัดนี้เวลาที่ว่านั้นก็ล่วงเลยไปนานแล้ว ถ้าว่าตามสภาพการณ์ของยุคสมัยแล้ว เราอาจจะคาดหวังได้ว่า กษัตริย์ที่ว่านี้ควรจะอุบัติขึ้นมาแล้ว แต่สวรรค์คงจะไม่ปรารถนาที่จะให้มีสันติสุขและการปกครองที่ดีเกิดขึ้นในโลกกระมัง เราจึงยังไม่พบบุคคลดังกล่าว ถ้าหากว่านี้เป็นความประสงค์ของสวรรค์แล้วจะมีใครอีกเล่า ที่จะเป็นผู้สร้างบุคคลเช่นนี้ขึ้นมาให้นอกจากข้าพเจ้า?

ที่มา:สกล  นิลวรรณ