ขงจื๊อในฐานะนักปรัชญา

ในความคิดทั้งหมดของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามีความคิดที่เป็นหัวใจอันสำคัญอยู่อย่างเดียวเท่านั้นเอง

ในบรรดาความรู้ทั้งหลายทั้งปวงที่ขงจื๊อสอนนั้น หัวใจอันสำคัญของความคิดทั้งหมดของขงจื๊อ คือ ทฤษฎีแห่งเหยิน (Jen) หรือ ความมีจิตใจเป็นมนุษย์ ส่วนคติความคิดอื่นๆ ของเขานั้นต่างเป็นข้ออนุมานมาจากทฤษฎีแห่งความคิดนี้เท่านั้น หลักจริยธรรม หลักการเมือง อุดมคติของชีวิตทั้งหมดไหลหลั่งออกมาจากทฤษฎีแห่งเหยินนี้เท่านั้นเอง

เหยิน แสดงถึง อุดมคติของขงจื๊อเกี่ยวกับการปลูกฝังมนุษยธรรม การพัฒนาคุณสมบัติของมนุษย์ ยกระดับบุคลิกภาพของมนุษย์ และเทิดทูนยกย่องสิทธิของมนุษย์ จู ซี่ (Chu His) ค.ศ. 1130-1200 ซึ่งเป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในวิทยาการของขงจื๊อในสมัยราชวงศ์ซุง (Sung Dynasty) ได้นิยามความหมายของคำว่า เหยิน ว่าหมายถึง “คุณธรรมของวิญญาณ” หลักการแห่งความรัก” และ “ศูนย์กลางแห่งสวรรค์และแผ่นดิน” ตัวอักษรของคำว่า เหยินประกอบด้วยอักขระสองตัว คือ “คน” กับ “สอง” แสดงถึงว่า ความสำคัญนั้นมิใช่อยู่ที่คน แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ที่คนมีต่อเพื่อนมนุษย์ของตน ขงจื๊อถือว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นควรจะตั้งอยู่บนฐานของความรู้สึกทางจริยธรรมเรื่อง
เหยินอันเป็นตัวนำไปสู่ความพยายามทั้งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขงจื๊อกล่าวว่า “เหยิน ประกอบด้วยความรักที่มีต่อบุคคลอื่น” ที่จริงแล้วขงจื๊อถือว่า เหยิน นั้นไม่แต่เป็นคุณธรรมชนิดพิเศษเท่านั้น แต่เป็นคุณธรรมทั้งหมดผสมกัน ฉะนั้นเหยินอาจนิยามได้ว่าเป็น “คุณธรรมอันสมบูรณ์”

คติความคิดเรื่อง เหยิน นี้อาจแสดงออกใน ความคิดเรื่องเซี่ยว (Hsiao) หรือความรักในบิดามารดา และ ตี่ (ti) หรือความรักในความเป็นพี่น้องกัน ความคิดในเรื่องความรักทั้งสองแบบนี้แสดงถึงความรู้สึกของมนุษย์ที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน-ความรักที่มีต่อบิดามารดา แสดงถึงภาวะของสายสัมพันธ์ทางจิตใจในอนันตภาวะ แห่งกาลเวลาและความรักในความเป็นพี่น้องกัน  แสดงถึงภาวะของสายสัมพันธ์ทางจิตใจในอนันตภาวะแห่งเทศะมิติ

คนหนุ่ม เมื่ออยู่บ้านควรมั่นในความรักที่มีต่อบิดามารดาเมื่ออยู่ต่างแดน ควรยึดมั่นในความรักของความเป็นพี่น้องกัน เขาควรจะมีความสุจริตใจอย่างจริงจัง ให้ความรักแก่บุคคลทุกคนและยึดมั่นอยู่ใน เหยิน

ขงจื๊อ ด้วยสายตาอันแหลมคมในความรู้สึกด้านปฏิบัติ ได้ถือเอาคุณธรรมแห่งความรักที่มีต่อบิดามารดา และความรักฉันท์พี่น้องนี้เป็นหลักอันสำคัญของโครงสร้างของสังคม โดยการแผ่ขยายคุณธรรมทั้งสองประการนี้ในทางมิติของเวลาและของเทศะ และโดยการแผ่ขยายอิทธิพลของคุณธรรมทั้งสองประการนี้ไปสู่คุณธรรมทั้งสองประการนี้ไปสู่คุณธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด ขงจื๊อได้สร้างคุณธรรมทั้งสองนี้ให้เป็นพันธะที่สร้างความมั่นคงให้แก่สังคม และเป็นเครื่องเชื่อมโยงบุคคลรุ่นต่างๆ ที่เกิดสืบต่อกันมา ในขอบเขตที่กว้างขวางที่สุดแล้วความรักในบิดามารดา และความรักฉันท์พี่น้องนี้ คือ เหตุผลมูลฐานของความรักที่มนุษย์พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ในบทนิพนธ์ เรื่องปกิณกะนิพนธ์ของขงจื๊อ ได้มีการกล่าวถึงคติความคิดสองประการที่คล้ายคลึงกันนี้ คือ ความคิดเรื่อง จุง (Chung) หรือความซื่อตรงต่อกันและกัน และ ซู่ (shu) หรือการเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม คติความคิดเรื่องจุงนั้นหมายถึงภาวะของจิตใจเมื่อบุคคลมีความซื่อตรงต่อตนเองอย่างสมบูรณ์ ส่วนคติความคิดเรื่องซู่ นั้นหมายถึงภาวะของจิตใจเมื่อบุคคลมีความเข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจอันสมบูรณ์ต่อโลกภายนอก ตัวอักษรในภาษาจีนของคำว่า จุงประกอบด้วยคำว่า “กลาง” กับ “หัวใจ” ด้วนหัวใจของคนอยู่ในตรงกลาง บุคคลจะมีความซื่อตรงต่อตนเองก็โดยการมีความเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น ขงจื๊อกล่าวเป็นถ้อยคำว่า

บุคคลผู้มีเหยิน นั้น คือบุคคลที่ปรารถนาจะผดุงตนเองไว้โดยการผดุงบุคคลอื่น และปรารถนาจะพัฒนาตนให้เจริญโดยการพัฒนาบุคคลอื่นให้เจริญ

จุงเป็นการปฏิบัติธรรมของเหยิน ในวิถีทางที่สร้างสรรค์

อักษรจีนของคำว่า ซู่ มีความหมายว่า “ประดุจดังหัวใจของตน” กล่าวคือ ปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนดังที่หัวใจของตนปรารถนาจะให้ทำ สำหรับความสำคัญของ ซู่นี้ ขงจื๊อกล่าวว่า

อย่ากระทำต่อบุคคลอื่นในสิ่งที่ตนเองไม่พึงปรารถนา

นี้เป็นการปฏิบัติธรรมะของเหยินในวิถีทางที่ปฏิเสธ คติความคิดเรื่อง จุงและซู่ เป็นคติความคิดอันเดียวกันกับคติความคิดเรื่อง เซี่ยวและ ตี่ เพียงแต่ว่าคติความคิดเรื่องเซี่ยวและตี่นี้ อ้างถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นสำคัญ ในขณะที่คติความคิดเรื่อง จุง และ ซู่ นั้น อ้างถึงขอบเขตที่กว้างขวางกว่า และมีความหมายที่กว้างขวางกว่า ในคติความคิดทั้งสองแบบนี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่ภาวะของจิตใจที่มีความรักอันแท้จริงที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวเป็นหลักแห่งพลัง

หลักการเรื่อง เหยิน กลายเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในการสืบช่วงและถ่ายทอดวัฒนธรรมของจีน และเอกลักษณ์ของจีน หลักการเรื่องเหยินยังไม่เคยเผชิญกับระบบความคิดอันใดที่สามารถจะต่อต้านพลังแห่งคติธรรมของเหยินได้เลย บทเรียนของหลักการเรื่องเหยินในเรื่อง ความยุติธรรม ความเป็นธรรม การมีจิตใจประกอบด้วยทรรศนะอันกว้างขวาง และการมีความรักใคร่ในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น ยังคงเป็นปรัชญาที่ได้ประโยชน์จนกระทั่งทุกวันนี้ เหมือนดังที่ได้เคยมาแล้วแต่อดีต ไม่เฉพาะแต่ในดินแดนแห่งอาณาจักรจีนเท่านั้น แต่ทั่วทั้งโลกทั้งหมดด้วย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ขงจื๊อในฐานะนักการศึกษา

ในการศึกษา ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ
ความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของขงจื๊อนั้นอยู่ที่เรื่องการเมือง แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของขงจื๊อนั้นอยู่ที่เรื่องการศึกษา ขงจื๊อเป็นนักการศึกษาที่มีความชำนิชำนาญอย่างสูงและมีชื่อเสียงอย่างยิ่ง มีกลุ่มคนหนุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกันมากมายทุกชนิด ผู้กระหายความรู้ รุมล้อมเขาอยู่ตลอดเวลาพร้อมกับสิ่งที่มีจำนวนเล็กน้อยที่สุดเท่ากับเนื้อแห้งสักมัดหนึ่งเป็นค่าสอน คนหนุ่มเหล่านี้มาหาขงจื๊อเพื่อขอรับการศึกษาในเรื่องของ หลี (Li) หรือจารีตประเพณี รวมทั้งศิลปะต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับจารีตประเพณี การศึกษาแบบนี้เป็นของใหม่อันสำคัญอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งสมัยราชวงศ์โจวก่อนหน้าสมัยนี้ การศึกษาทุกสาขาวิชาอยู่ในการดูแลของพวกคนชั้นสูง ซึ่งถ่ายทอดกันมาตามสายสกุล ไม่มีบุคคลใดแต่ลำพังที่จะทำการสอนวิชาความรู้ แก่สามัญชนโดยทั่วไปแต่อย่างใดเลย ฉะนั้นขงจื๊อจึงเป็นครูคนแรกของจีนที่ทำให้การศึกษาแพร่หลายไปถึงบุคคลทั่วไป ขงจื๊อยืนยันว่าข้าพเจ้าไม่เคยปฏิเสธที่จะสอนวิชาความรู้ให้แก่บุคคลใดที่กระหายอยากจะศึกษาเลย ถึงแม้ว่าเขาจะมีแต่เนื้อแห้งมัดเดียวมาให้ข้าพเจ้าเป็นค่าสอนก็ตาม

เงื่อนไขของเขามีอย่างเดียวเท่านั้น คือจะไม่สอนบุคคลที่ไม่กระหายอยากรู้ หรือจะไม่สอนบุคคลที่ไม่สามารถสร้างความคิดเห็นของตนเองได้ เขากล่าวต่อไปว่า

ข้าพเจ้าจะไม่สอนอีกต่อไป ซึ่งบุคคลที่หลังจากข้าพเจ้าบอกแง่หนึ่งของเรื่องให้แล้ว ก็ยังไม่สามารถอนุมานเรื่องที่เหลืออีกสามแง่ได้

ความสำคัญของขงจื๊อนั้น พิสูจน์ได้จากข้อเท็จจริงที่ว่านับตั้งแต่สมัยขงจื๊อเป็นต้นมา การศึกษาได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนหนุ่มผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย ซึ่งโดยอาศัยการศึกษาและความมานะพยายามของตนสามารถจะเจริญเติบโตจากฐานะอันต่ำต้อยของตนไปสู่ความมียศศักดิ์สูงขึ้นได้

เมื่อขงจื๊อลาออกจากราชการไปสู่ชีวิตส่วนตัวตามลำพังนั้น ขงจื๊อได้ดึงดูดคนหนุ่มผู้มีหน่วยก้านดีจากแว่นแคว้นต่างๆ ของจีนให้มาศึกษากับเขา ในบรรดาคนหนุ่มเหล่านี้ มีหลายคนเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องคุณธรรม อักษรศาสตร์และการเมือง เมื่อขงจื๊อถูกเรียกให้กลับไปยังแคว้นมาตุภูมิของตน เขาได้ชักชวนพระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลู ให้รับเอาสานุศิษย์ของเขาเข้ามาทำราชการด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการกล่าวที่ค่อนข้างจะเกินความเป็นจริงไปบ้างก็ตาม กล่าวกันว่า สานุศิษย์ของขงจื๊อนั้นมีไม่น้อยไปกว่าสามพันคน อย่างไรก็ตาม สานุศิษย์ของขงจื๊อที่เราสามารถจะรู้จักชื่อได้อย่างแน่นอนนั้นมีอยู่เพียงเจ็ดสิบสองคนเท่านั้น และมีเพียงยี่สิบห้าคนเท่านั้นที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติจีน

สานุศิษย์ที่ติดตามเขาไปในการพเนจร และได้รับการศึกษาจากขงจื๊อด้วยตนเองนั้น แบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือ บุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านของคุณธรรม กลุ่มที่สองเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านศิลปะของการพูด กลุ่มที่สามเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านของการปกครองบ้านเมือง กลุ่มที่สี่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านวรรณคดี สานุศิษย์อาวุโสเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นนักปราชญ์และนักคิดที่มีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยความสามารถของตนหลายคน  โดยผ่านสานุศิษย์เหล่านี้เองที่ขงจื๊อมีอิทธิพลต่อการสร้างวัฒนธรรมของจีนขึ้น และทำให้ขงจื๊อได้รับฉายานามว่าเป็น “ซู่หวั่ง Su wang” หรือ “กษัตริย์ผู้ปราศจากคธา” ซึ่งมีผู้เคารพนับถือในสติปัญญาของท่านตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาที่ขงจื๊อให้แก่ประชาชนนั้น เป็นการศึกษาในด้านจริยธรรมและด้านศิลปะ ในด้านศิลปะนั้นมีจารีตประเพณี ดนตรี กวีนิพนธ์เป็นวิชาพื้นฐาน ตามทรรศนะของขงจื๊อนั้น จารีตประเพณีในฐานะที่เป็นสถาบัน มีส่วนควบคุมจิตใจและนำทางของความปรารถนาให้ไปในทางที่ดีงาม ดนตรีในฐานะที่เป็น “พลังจริยธรรม” เป็นสิ่งกล่อมเกลาธรรมชาติของคน และบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกด้านจริยธรรมขึ้น เพราะฉะนั้นศิลปะนั้นจึงมีความสำคัญในตนเองและเป็นพื้นฐานของการศึกษาด้านจริยธรรมด้วย ขงจื๊อกล่าวว่า

อุปนิสัยของเรานั้นปลูกฝังขึ้นได้โดยกวีนิพนธ์ สถาปนาให้มั่นคงได้ด้วยจารีตประเพณี และให้สมบูรณ์ได้ด้วยดนตรี

นอกจากกวีนิพนธ์ จารีตประเพณีและดนตรีแล้ว ซู่-Shu หรือประวัติศาสตร์หยี-Yi หรือการเปลี่ยนแปลง และ ซุนชิว หรือฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ก็มีส่วนด้วย ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้าเป็นวิทยาการชั้นสูงหกประการ (Six Classics) อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งอดีต และต่อมากลายเป็นถ้อยคำสามัญ หมายถึง เนื้อหาสาระของการศึกษาวิทยาการชั้นสูงดังกล่าว ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื้อ-Chuang Tzu ของปรัชญาเต๋า นี้ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของวิทยาการเหล่านี้แต่ละวิชา ดังนี้

กวีนิพนธ์ คือ เพื่อสอนอุดมคติ
ประวัติศาสตร์ คือ เพื่อสอนเหตุการณ์
จารีตประเพณี คือ เพื่อสอนความประพฤติ
ดนตรี คือ เพื่อสอนความประสานสัมพันธ์
การเปลี่ยนแปลง คือ เพื่อสอนพลังงานคู่ที่มีอยู่ในโลกจักรวาล
ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงนั้น เพื่อสอนหลักอันสำคัญแห่งเกียรติยศและหน้าที่

ตามที่ได้กล่าวแล้วเป็นข้อสังเกตในการใช้ศิลปะเพื่อประโยชน์ทางด้านปฏิบัติในชีวิตจริงนั้น การศึกษานั้นย้ำความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลมากกว่าการแสวงหาความรู้หรือประโยชน์ของความรู้แต่อย่างเดียว เกี่ยวกับวิธีการของการศึกษานั้น ขงจื๊อกล่าวว่า

ศึกษาโดยไม่มีความคิดเป็นของไร้ประโยชน์
มีความคิด แต่ไม่มีการศึกษาเป็นของอันตราย

ขงจื๊อ มีความคิดเห็นต่อไปว่า เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวงนั้น บุคคลควรจะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในสภาพของความจริงของข้อจำกัดของตนเอง ครั้งหนึ่งขงจื๊อกล่าวแก่ จื้อหลู ว่า

ขอให้ข้าพเจ้าสอนหนทางแห่งความรู้ให้แก่ท่าน
จงกล่าวว่า ท่านรู้ เมื่อท่านรู้จริงๆ และจงยอมรับว่าท่านไม่รู้ ในสิ่งที่ท่านไม่รู้ นี้คือหนทางไปสู่ความรู้

องค์ประกอบขั้นมูลฐาน ที่แฝงอยู่ภายใต้ความกระตือรือร้นของขงจื๊อที่จะให้การศึกษาแก่บุคคลทั่วไปนั้น คือ ความเห็นของเขาที่ว่า มนุษย์นั้นส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อกำเนิดแต่มาแตกต่างกันเพราะนิสัยและความแปลกปลอมต่างๆ ที่ได้ทีหลัง กล่าวคือ โดยความรู้นั้นเอง สิ่งที่ขงจื๊อสนใจเป็นอย่างยิ่งนั้นคือ ต้องการประกันว่าความรู้ที่บุคคลได้รับเอาภายหลังจากกำเนิดว่าจะเป็นเครื่องชักนำให้บุคคลเลือกสรรเอาแต่สิ่งที่ดีงามของชีวิต ด้วยเหตุนี้ ขงจื๊อจึงมองดูหน้าที่ของตนในฐานะนักการศึกษานั้น ว่าเป็นนักจริยธรรม และนักจริยศาสตร์ วัตถุประสงค์ของงานของเขาคือให้การศึกษาแก่บุคคลเพื่อว่าบุคคลจะได้เลือกสรรเอาแต่สิ่งที่ดีงาม โดยการที่บุคคลเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีงามนั้น จะเป็นการปรับปรุงชีวิตของตนและของมนุษย์ชาติโดยส่วนรวมไปด้วยในตัว

ประการสุดท้าย สำหรับตัวของเขาเองนั้น ขงจื๊อกล่าวว่า
มีบางคนกระทำโดยไม่รู้ว่าทำไมเขาจึงกระทำเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าไม่เหมือนบุคคลเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมามาก แล้วเลือกปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม ข้าพเจ้าได้เห็นได้รู้มามาก แล้วข้าพเจ้าศึกษาและจดจำไว้นี้ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าไปใกล้กับความรู้ที่แท้จริง

และอีกครั้งหนึ่ง เขาอธิบายลักษณะของเขาในฐานะที่เป็นครูผู้มีหน้าที่ คือ

…บันทึกสิ่งทั้งหลายด้วยอาการอันสงบ
เทิดทูนคุณค่าของความรู้แม้จะได้ศึกษารู้มากมายประการใดก็ตาม และไม่เคยเบื่อหน่ายในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่บุคคลอื่นเลย

นี้คือ บุคลิกลักษณะของบุคคลผู้เป็นครูคนสำคัญยิ่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ วันเกิดของท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น “วันครูของชาติ”

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ขงจื๊อในฐานะนักการปกครอง

ขอให้พระราชาจงเป็นพระราชา
ขอให้เสนาบดีจงเป็นเสนาบดี
ขอให้บิดาจงเป็นบิดา
ขอให้บุตรจงเป็นบุตร

ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่อำนาจของราชวงศ์โจวในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของแคว้นต่างๆ กำลังเสื่อมลง ทำให้แคว้นต่างๆ ที่มีเจ้าปกครองของตนเองแข็งตัวเป็นอิสระ นักประวัติศาสตร์จีนเรียกยุคนี้ว่า ยุคชุนชิว หรือยุคฤดูใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง (722-481 ก่อน ค.ศ.) ยุคหลังจากนั้นไปเรียกว่ายุคจันกว่อ (Chan Kuo) หรือยุคแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ (408-222 ก่อน ค.ศ.) เป็นยุคสมัยที่อำนาจจากส่วนกลางของราชวงศ์โจว เสื่อมโทรมจนถึงที่สุดเป็นจุดแห่งการพังทะลายของโครงสร้างทางสังคม และการเมืองก่อให้เกิดการสงครามอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันหยุด  ในฐานะที่เป็นผู้ประกาศความคิดเรื่องการมีระเบียบและการมีคุณธรรม ขงจื๊อจึงสอนให้ต่อต้านกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น  โดยย้ำความสำคัญของความรับผิดชอบที่มีแฝงอยู่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์-ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐและแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ขงจื๊อได้เคยเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นในโลก  ในเมื่อพระราชาไม่ได้ปฏิบัติตนเยี่ยงพระราชา เสนาบดีไม่ปฏิบัติตนเยี่ยงเสนาบดี เป็นต้นฉะนั้น ขงจื๊อจึงมีความคิดเห็นว่าก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกที่ปราศจากความสงบเรียบร้อยนั้น คือ การทำให้ทุกคนยอมรับและปฏิบัติตามหน้าที่ฐานะอันเหมาะสมของตน

อุดมคติอันสูงสุดของขงจื๊อคือ การมีรัฐปกครองโลกทั้งหมด ซึ่งขงจื๊อเรียกว่าเป็น “มหาอาณาจักร” (Grand Commonwealth) หรือ ต้าตุง (Ta Tung) ทฤษฎีความคิดของขงจื๊อเรื่อง มหาอาณาจักรนี้ มีอยู่ในบทความเรื่อง หลี หยุ่น (Lu Yuh) หรือวิวัฒนาการแห่งจารีตประเพณี ซึ่งเป็นบทความบทหนึ่งในคัมภีร์ หลี จี่ (Li Chi) (คัมภีร์แห่งจารีตประเพณี) ความเจริญก้าวหน้าของสัมคมในขั้นแรก คือ โลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ขั้นที่สองคือ โลกที่มีความสงบสุขบ้างเล็กน้อย หรือ มีสภาพที่จะนำไปสู่ความสงบ คือ แคว้นต่างๆ มีความสุข มีความสงบ ขึ้นที่สามคือ ขั้นของมหาอาณาจักรอันเป็นอุดมคติ ซึ่งมีอรรถาธิบายไว้ดังนี้

เมื่อมีการปฏิบัติตามหลักของเต๋า อันยิ่งใหญ่แล้ว วิญญาณของความสุข ของประชาชนจะครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก บุคคลผู้มีสติปัญญาและมีคุณธรรมจะได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบ จะมีการย้ำความสำคัญของความสุจริตใจต่อกันและกัน จะมีการปลูกฝังเรื่องความเป็นพี่น้องกัน เพราะฉะนั้น มนุษย์จะไม่มีความรัก เฉพาะแต่ในบิดามารดาของตนเท่านั้น หรือปฏิบัติดีต่อบุตรหลานของตนเองเท่านั้น บุคคลผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลจนกระทั่งตาย บุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติจะมีงานทำ คนหนุ่มจะมีทางทำมาหากินเลี้ยงดูตนเอง สตรีหม้าย เด็กกำพร้า และบุคคลที่ไม่มีลูกหลายคอยดูแลเอาใจใส่ ตลอดทั้งบุคคลผู้ที่ไม่ปกติเพราะโรคภัยไข้เจ็บจะได้รับความเมตตากรุณา บุรุษจะมีงานที่เหมาะสมทำสตรีจะมีบ้านและครอบครัวที่ดี มนุษย์จะรังเกียจแต่การที่ได้เห็นสิ่งของทั้งหลาย มีอยู่เกลื่อนกลาดโดยไร้ประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้สะสมเอาไว้เพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว เขาไม่ชอบที่พลังงานของตนไม่ได้นำไปใช้อย่างเต็มที่ แต่พวกเขาใช้พลังงานของเขาไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว เพทุบายที่เห็นแก่ตัวจะถูกกำจัดไม่ยอมให้เกิดขึ้นได้ ขโมย นักหยิบฉวย คนคดโกง ไม่มี ประตูหน้าบ้านของบุคคลทุกคนเปิดอยู่ตลอดเวลา โดยไม่หวาดเกรงว่าจะมีอันตรายอันใด นี้คือสภาพการณ์ของยุคแห่งมหาอาณาจักร

ในการวางโครงการของชีวิตของคนนั้น ขงจื๊อ ถือเอาพระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจวเป็นบุคคลในอุดมคติ  ฉะนั้นเพื่อที่จะสร้างมหาอาณาจักรที่ปกครองโลก ให้เป็นความจริงขึ้นมานั้น ประการแรก ขงจื๊อจะต้องรอคอยให้ “กษัตริย์ผู้มีความรู้แจ้ง” (enlightened sovereign) ปรากฏตนขึ้นมาก่อน อันเป็นบุคคลที่ขงจื๊อจะยอมรับใช้ เหมือนดังเช่นพระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว รับใช้ราชวงศ์โจวฉะนั้น

ถ้าหากชะตาชีวิตของเขากำหนดมาไม่ให้เขาได้รับใช้ “กษัตริย์ผู้รู้แจ้ง” แล้ว เขาก็ขอให้ได้มีนักปกครองที่มีความสนใจอย่างจริงจัง  ในการปกครองที่จะมอบให้เขาได้มีความรับผิดชอบในตำแหน่งสูง และเชื่อในคำแนะนำของเขาเหมือนดังที่ พระมหาอุปราช (Huan) แห่งแคว้น ฉี๋ (Ch’i) ได้มอบความไว้วางใจให้แก่ กวน จุง (Kuan Chung) รัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่เจ็ดก่อน ค.ศ. ฉะนั้น และถึงแม้ว่าโอกาสอย่างนี้ก็ไม่มี เขาปรารถนาจะแสวงหางานในแคว้นเล็กๆ เพื่อวางแบบอย่างของการปกครองที่ดี เหมือนดังที่ จื้อ ชัน (Tzu) (Ch’an) นักรัฐบุรุษที่มีชื่อในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. กระทำให้แคว้นเจ็ง (Cheng) ฉะนั้น

ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ขงจื๊อไม่ได้เป็นแต่เพียงนักอุดมคติ เขาไม่ได้ให้แต่เพียงภาพอันสมบูรณ์ของสังคมของมนุษย์ที่พึงประสงค์เท่านั้น แต่เขายังวางแผนการที่จะปฏิบัติให้ลุล่วงตามอุดมคตินั้นให้ได้ในชีวิตของเขา ยิ่งกว่านั้น เมื่อ จื้อ กุง (Tzu Kung) สานุศิษย์รักของเขาคนหนึ่ง ถามเขาถึงหลักสำคัญของการปกครองที่ดี ขงจื๊อได้กำหนดหลักสำคัญที่ตรงกับความเป็นจริงได้สามประการ คือ มีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ มีอาวุธอย่างเพียงพอ และประชาชนมีความไว้วางใจ (ซิน-Hsin) ในการปกครองของบ้านเมือง ในกลักสามประการนี้ ขงจื๊อถือว่า หลักอันสำคัญที่สุดนั้นคือ ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้ว รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ขงจื๊อได้กล่าวไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า

นักการปกครองนั้น จะไม่สนใจในเรื่องความขาดแคลนโภคทรัพย์ แต่จะสนใจในการกระจายโภคทรัพย์อย่างเป็นธรรมในหมู่ประชาชน นักปกครองนั้นจะไม่สนใจในความยากจน แต่จะสนใจในเรื่องสวัสดิภาพของประชาชนในเมื่อ บ้านเมืองมีการกระจายโภคทรัพย์อย่างเป็นธรรม ความยากจนก็ไม่มี ในเมื่อมีความสุขสงบ ประชาชนก็จะไม่บ่นเรื่องความขัดสน และเมื่อประชาชน มีความพอใจในสภาพของตนแล้ว การที่ประชาชนจะลุกขึ้นต่อสู้รัฐบาลก็ไม่มี

จุดอ่อนแอของแคว้นหลู คือ การไม่มีสวัสดิภาพในสังคม และการไม่มีความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขงจื๊อพยายามแก้ไข แต่ประสบความสำเร็จน้อยมาก ถึงแม้ว่าพระมหาอุปราชเจา จะครองแคว้นหลู แต่ท่านก็เป็นเพียงเจว็ดอยู่ในกำมือของสกุลที่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงอยู่สามสกุล คือ สกุล จี้ ซุน (Chi Sun) สกุล ซู่ ซุน (Shu Sun) และสกุล เม้งซุน (Meng Sun) หัวหน้าของสกุลทั้งสามสกุลนี้เป็นเสนาบดีที่สำคัญๆ สามกระทรวง คือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงกลาโหม ในปี 517 ก่อน ค.ศ. เมื่อขงจื๊อ กลับมาจากการไปเยี่ยมแคว้นหลวงของพระเจ้าจักรพรรดินั้น พระมหาอุปราชเจา ถูกขับไล่ออกไปจากแคว้นหลู เพราะการจลาจลภายในแคว้น จนต้องหนีไปอยู่แคว้น ฉี๋ (Ch’i) ซึ่งเป็นแคว้นที่มีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นหลูไปทางทิศเหนือ

เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์อันไม่มีระเบียบของสมัยนั้น ขงจื๊อจึงเร่งรีบเดินทางไปยังแคว้นฉี๋ ตามขบวนเสด็จของพระมหาอุปราชไปด้วย แต่ได้มุ่งตรงไปยังเมืองหลวงของแคว้นฉี๋ ชื่อ หลิน-จื๊อ (Lin-Tzu) ซึ่งอยู่ห่างจากแคว้นหลูไปทางทิศเหนือประมาณหลายร้อยไมล์ ความตั้งใจของเขาคือ เพื่อชักชวนพระมหาอุปราชจิง (Ching) ของแคว้นฉี๋ เพราะว่าแคว้นฉี๋เป็นแคว้นที่ใกล้เคียงแคว้นเดียวเท่านั้น ที่สามารถจะมีอิทธิพลเหนือเหตุการณ์ต่างๆ ของแคว้นหลูได้ แต่พระมหาอุปราชจิงแห่งแคว้นฉี๋นั้น แม้จะทึ่งในความมีสติปัญญาของขงจื๊อเป็นอย่างมาก แต่ก็ลังเลไม่ยอมรับขงจื๊อไว้ในราชการของแคว้นฉี๋ ขงจื๊อจึงต้องกลับมายังแคว้นหลู

การเดินทางของขงจื๊อไปยังแคว้นฉี๋ครั้งนั้น ไม่ได้เป็นการเปล่าประโยชน์ไปเสียงทั้งหมดทีเดียว เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่ขงจื๊อได้มีโอกาสได้ลิ้มรสของความไพเราะของดนตรีเซ่า (Shao) ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นโดยพระเจ้าซุ่น (Shun) ซึ่งเป็นพระจักรพรรดินักปราชญ์ในสมัย 2255-2205 ก่อน ค.ศ. เขารู้สึกจับใจในลีลาอันไพเราะอย่างยิ่งของดนตรีเซ่า จนไม่ยอมแตะต้องอาหารเป็นเวลานานถึงสามเดือน ขงจื๊อยืนยันว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยคิดเลยว่า ดนตรีนั้นจะมีความไพเราะซาบซึ้งถึงปานนี้”

ขงจื๊อยังคงอยู่ในแคว้นหลูเป็นระยะเวลานาน นอกวงการของราชการเพราะว่าเป็นยุคสมัยที่มีแต่ความโกลาหลวุ่นวาย หลังจากพระมหาอุปราชเจาผู้ถูกเนรเทศถึงแก่สวรรคตไปแล้ว พระมหาอุปราชติง (Ting) ผู้เป็นมหาอุปราชองค์ใหม่ก็กลายเป็นเจว็ดของสกุลผู้มีอิทธิพลทั้งสามต่อไป สิ่งที่เลวยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บรรดาเสนาบดีที่สำคัญๆ ถูกจับไปขังหรือไม่ก็ถูกขับไล่ออกไปจากอาณาจักรของตน โดย หยาง ฮู (Yang Hu) ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ของสกุลจี้ ซุน ซึ่งบัดนี้กลายเป็นสกุลที่มีอำนาจย่างแท้จริงในแคว้นหลู ต่อมา เม้ง อี จื้อ (Meng I Tzu) ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของขงจื๊อได้ต่อสู้และปราบอิทธิพลของอย่างฮูได้ จึงได้มีอำนาจในบ้านเมืองขึ้น และจากอิทธิพลของ เม้ง อี จื้อ นี้เองที่ทำให้ขงจื๊อได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของเมือง เจง-ตู (Cheng-Tu) ซึ่งเป็นเมืองตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงออกไปประมาณยี่สิบแปดไมล์ ต่อมาขงจื๊อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมที่มีความสำคัญเป็นรองจากกระทรวงการศึกษาธิการ กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงกลาโหม ที่มีหัวหน้าของสกุลอิทธิพลทั้งสามสกุลเป็นเสนาบดีอยู่เท่านั้น

ถึงแม้ว่าเวลาที่ขงจื๊อดำรงตำแหน่งสำคัญในบ้านเมืองนี้ จะเป็นเวลาถึงยี่สิบห้าปีหลังจากมรณกรรมของ จื้อ ชัน (Tzu Ch’an) ซึ่งเป็นรัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงของแคว้นเจ็ง (Cheng) ก็ตาม แต่บุคลิกลักษณะและความสามารถของ จื้อ ชัน ก็มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการปฏิรูปสังคมของขงจื๊อทั้งหมด ขงจื้อกล่าวว่า

จื้อ ชัน มีคุณธรรมสี่ประการของ จุน จื้อ (Chun Tzu) หรือมหาบุรุษ คือ มีความสุภาพในความประพฤติส่วนตัว มีความละเอียดถี่ถ้วนในการรับใช้เจ้านาย มีความเมตตา กรุณาในการปฏิบัติต่อประชาชน และมีความเที่ยงธรรมในการกำหนดหน้าที่การงานให้ประชาชน

ขงจื๊อได้ปฏิบัติตนตามแบบอย่างของจื้อชันเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการปรับปรุงในเรื่องกิริยามารยาท และศีลธรรมจรรยาของประชาชนในแคว้นหลูเป็นอย่างมาก จนเป็นที่อิจฉาของแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ปรับปรุงนั้น ขงจื๊อย้ำความสำคัญเรื่องการเลี้ยงดูประชาชนให้พอเพียง ได้มีการกำหนดอาหารสำหรับคนแก่และคนหนุ่มแตกต่างกัน มีการกำหนดงานให้ทำโดยเหมาะสมกับกำลังวังชาของบุคคล ในยุคนั้นบุรุษเป็นคนสัตย์ซื่อ สตรีเป็นหญิงบริสุทธิ์ ประชาชนถึงกับมีประเพณีแสดงความเป็นระเบียบ โดยการเดินตามถนนคนละซีก สิ่งของที่มีค่าวางไว้ตามถนนหนทางโดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญหาย คนเลี้ยงแกะเลิกธรรมเนียมให้แกะกินน้ำก่อนจะนำไปขาย คนต่างเมืองที่เดินทางมายังแคว้นหลูจะมีความสบายใจไม่ต้องเกรงภัยต่างๆ

ความสำเร็จของขงจื๊อนี้แสดงให้เห็นว่า ขงจื๊อเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงบุคลิกภาพของขงจื๊ออยู่เรื่องหนึ่งที่บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งขงจื๊อตามเสด็จพระมหาอุปราชของแคว้นหลูไปเจรจากับพระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ที่เมือง เจีย-กู้ (Chia-Ku) เพื่อตกลงข้อพิพาทเก่าๆ และเพื่อสร้างความเป็นมิตรแก่กัน หัวหน้าพนักงานของฝ่ายมหาอุปราชของแคว้นฉี๋ตั้งชื่อขงจื๊อว่า “บุรุษผู้มีแต่จารีตประเพณี แต่ปราศจากความกล้าหาญ” ได้แนะนำเจ้านายของตนให้ใช้อำนาจแห่งอาวุธบังคับพระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลู และผนึกแคว้นหลูเข้าไว้ในอาณาจักรเสีย แต่ขงจื๊อดำเนินการเจรจาด้วยความเชี่ยวชาญ ซึ่งไม่แต่เพียงได้ขจัดปัดเป่าอันตรายแก่บ้านเมืองที่จะบังเกิดขึ้นนั้นเท่านั้นไม่ แต่ยังชักจูงให้พระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ ได้ลงพระนามในสัญญามิตรภาพ พร้อมกับคืนดินแดนที่ได้ยึดเอาไปแต่ก่อนนั้นคืนให้แก่แคว้นหลูด้วย

ชัยชนะของขงจื๊อในการเจรจาในครั้งนี้ เพิ่มพูนความนิยมในตัวขงจื๊อมากขึ้น และทำให้ฐานะตำแหน่งของขงจื๊อมีอิทธิพลมากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ขงจื๊อได้เริ่มการปฏิรูปภายในแคว้นหลู เรียกว่า “การรณรงค์เพื่อทำลายนครอันมั่งคงสามแห่ง” (Destruction of Three Fortified Cities Campaign) มีเมืองใหญ่ในแคว้นหลูอยู่สามแห่ง คือ เมืองปี่ (Pi) เมืองหัว (Hou) และเมืองเจ็ง (Cheng) ซึ่งมีสกุลจี้ซุน ซู่ซุน และเม้งซุน มีอำนาจครอบครองอยู่ตามลำดับนั้น มักจะเป็นที่มั่นที่ทำให้เกิดการจลาจลวุ่นวายภายในแคว้นขึ้นอยู่เสมอ ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ครั้งนี้จึงมีเป็นสองประการ ประการแรกคือ เพื่อระมัดระวังมิให้เกิดการจลาจลภายในบ้านเมืองจากผู้มีอำนาจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ขึ้นอีก ประการที่สอง เพื่อป้องกันไม่ให้สกุลทั้งสามขยายอำนาจอิทธิพลมากขึ้น ขงจื๊ออุทิศตนให้แก่การงานอันนี้อย่างแข็งขัน และก็ประสบความสำเร็จในการทำลายอิทธิพลในเมืองปี่ และเมืองหัวลงได้ แต่สกุลเม้งซุนนั้นยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเมืองเจ็งต่อไป เพราะว่าเจ้าเมืองเจ็ง ซึ่งเคยเป็นสานุศิษย์เก่าคนหนึ่งของขงจื๊อ เพิกเฉยต่อคำสั่งของขงจื๊อที่ให้กวาดล้างสกุลอิทธิพลนั้น

ภายใต้สถานการณ์ปกติแล้ว เมืองเจ็งก็คงจะไม่ต่อต้านกับคำสั่งของขงจื๊อได้ แต่ในขณะที่ขงจื๊อกำลังปรับปรุงเหตุการณ์ทั้งหลายของแคว้นของตนอยู่นั้น บุคคลผู้มีเจตนาร้ายได้รวมตัวกัน เพื่อทำการแก้แค้นขงจื๊อ ผลจากการปฏิรูปเหตุการณ์ภายในแคว้นหลู ทำให้ขงจื๊อสร้างอิทธิพลของพระมหาอุปราชมากขึ้น และลดอำนาจของพวกเสนาบดีลง ฉะนั้นความไว้วางใจที่สกุลอิทธิพลทั้งสามเคยมีต่อขงจื๊อนั้น นับวันจะถึงเวลาที่สิ้นสุดลง ถ้าตราบใดที่ขงจื๊อยังมีตำแหน่งในบ้านเมืองอยู่ ตราบนั้นอำนาจในบ้านเมืองทั้งหลายจะมารวมอยู่ที่พระมหาอุปราช และอำนาจอิทธิพลของสกุลทั้งสามที่เคยมีมาแต่เดิมนับวันจะหมดลง ด้วยความหวาดเกรงในชื่อเสียงของขงจื๊อ และความริษยาในความนิยมที่ขงจื๊อได้รับ พวกสกุลทั้งสามจึงมีความเกลียดชังและไม่ไว้วางใจในขงจื๊อต่อไป และเลิกสนับสนุนขงจื๊อนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน พระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ หลังจากพ่ายแพ้แก่กลวิธีของขงจื๊อในการเจรจาที่เมืองเจียกู้แล้ว มีความปรารถนาที่จะต่อต้านอิทธิพลของ “บุรุษแห่งจารีรตประเพณี” โดยการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างขงจื๊อกับพระมหาอุปราช ผู้เป็นนายของขงจื๊อ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ จึงใช้ “ยุทธวิธีแห่งสตรีงาม” คือแทนที่จะส่งกองทหารที่กล้ารบและรัฐบุรุษผู้ฉลาดสุขุม แต่กลับส่งสาวงามจำนวนแปดสิบนาง มีความเชี่ยวชาญในการฟ้อนรำขับร้อง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอันสวยงาม พร้อมทั้งม้าดีสีขาวสลับดำจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบตัวมาเป็นบรรณาการ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลู ซึ่งยังหนุ่มแน่นและหลงใหลในกามคุณอยู่ก็ติดกับ และปล่อยตัวแสวงหาความสุขสำราญ ละทิ้งบทเรียนคำสอนเรื่องความวางตัวอันเหมาะสมทั้งปวงที่ขงจื๊อเคยสอนให้จนหมดสิ้น พระมหาอุปราชทรงหลงใหลอยู่ในกามสุขอยู่เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามวันสามคืน ไม่ออกว่าราชาการอันใด ไม่สนใจในขงจื๊อแต่ประการใด หลังจากนั้นไม่นาน ขงจื๊อก็ลาออกจากราชการไปดำรงชีวิตร่อนเร่พเนจรต่อไป

มีเหตุการณ์อันหนึ่ง โดยเฉพาะที่เป็นตัวเร่งให้ขงจื๊อลาออกจากราชการ คือ ในปีหนึ่งๆ นั้น จะต้องมีพระราชพิธีที่สำคัญสามครั้ง คือ ครั้งหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ และอีกสองครั้งในวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร ในราชพิธีฤดูใบไม้ผลินั้น พระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลูจะต้องเส้นสรวงบูชายัญด้วยสัตว์เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสวรรค์และดิน เนื่องจากเวลาพระราชพิธีกำลังใกล้เข้ามา ขงจื๊อหวังว่าความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชพิธีนี้ คงจะเป็นเครื่องยับยั้งความหลงใหลในการซ้องเสพกามสุขของพระมหาอุปราชลง แต่ปรากฏว่า พระราชพิธีนั้นดำเนินไปอย่างลวกๆ และบรรณาการที่เคยส่งให้ขงจื๊อเป็นประจำทุกปีนั้นก็ถูกงด ขงจื๊อรู้สึกผิดหวังและเบื่อหน่ายเป็นอย่างยิ่ง สิ่งเดียวที่เขาจะทำได้คือ การยื่นใบลาแล้วเดินทางออกจากแคว้นหลูไปพร้อมกับสานุศิษย์ จำนวนหยิบมือหนึ่ง นี้คือปี 497 ก่อน ค.ศ.

หลังจากเป็นเวลานานถึงสิบสี่ปี ที่ขงจื๊อเดินทางจากแคว้นหนึ่งไปสู่แคว้นหนึ่งเพื่อแสวงหาผู้อุปถัมภ์และแสวงหาโอกาสที่จะสร้างบ้านเมืองที่มีการปกครองในแบบอุดมคติของเขา ถึงแม้ว่าการเดินทางของเขาในระยะนี้จะไม่มีรายละเอียด แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าครั้งแรกขงจื๊อไปที่แคว้นเหว่ย (Wei) ซึ่งเป็นแคว้นที่มีพลเมืองมาก มีโอกาสดีที่จะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ เขาเกิดความคิดขึ้นมาทันทีทันใดว่า แคว้นเหว่ยนั้นต้องการความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ก่อนแล้วต้องการการศึกษาเป็นประการที่สอง ขงจื๊ออุทานต่อหน้าสานุศิษย์ของตนว่า

ถ้าข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้มีตำแหน่งรับผิดชอบแล้ว ข้าพเจ้าสามารถจะปรับปรุงบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาหนึ่งปี และสามารถทำให้สำเร็จตามความคิดได้ภายในเวลาสามปี

แต่พระมหาอุปราชแห่งแคว้นเหว่ยในขณะนั้น กำลังหมกมุ่นอยู่กับความสวยงามและความเย้ายวนของนางสนมผู้มีเสน่ห์คนหนึ่งอยู่ ฉะนั้นบุรุษผู้มีคุณธรรมอันสมถะดังเช่นขงจื๊อนั้นจึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในรสนิยมของท่าน ฉะนั้น ขงจื๊อจึงเห็นได้ชัดว่า ราชสำนักของแคว้นเหว่ยนั้น ไม่ใช่สถานที่อันเหมาะสมสำหรับตน ขงจื๊อจึงออกจากแคว้นเหว่ยไปสู่แคว้นอื่นต่อไป

หลังจากนั้น ชีวิตร่อนแร่ของขงจื๊อไม่มีผู้ใดล่วงรู้มากนัก แต่ก็คงจะไม่ผิดความจริงถ้าจะกล่าว่า ขงจื๊อได้ไปเยี่ยมแคว้นสุง (Sung) แคว้นเจ็น (Chen) และแคว้นฉู่ (Ch’u) หลังจากที่อยู่ในแคว้นแจ็นเป็นเวลาหลายปี ขงจื๊อได้กลับไปยังแคว้นเหว่ยในปี 483 ก่อน ค.ศ. ในปีนั้นเอง ขณะที่เขามีอายุประมาณหกสิบแปดปีนั้น เขาถูกเรียกตัวให้กลับไปยังแคว้นหลู ขณะที่เขาเดินทางเที่ยวไปนั้น เขาได้พบก็แต่คำบอกปัดปฏิเสธและความผิดหวัง ไม่มีเจ้าครองแคว้นใดปรารถนาจะฟังความคิดเห็นของเขาเลย มีหลายครั้งที่เขาจำต้องเผชิญกับความยากลำบากและอันตราย ขณะที่เขาเดินทางอยู่ในแคว้นสุงนั้น ขงจื๊อกับสานุศิษย์แทบจะเอาชีวิตไม่รอดจากกองทหารที่ ฮ้วนถุย (Huan T’ui) เสนาบดีของแคว้นสุงส่งมารบกวนครั้งหนึ่ง ประชาชนของเมืองก๋วง (Kuang) เข้าใจว่าขงจื๊อนั้นคือ หยางฮู (Yang Hu) ศัตรูเก่าผู้มีกำลัง จึงเข้าทำการล้อมจับขงจื๊อ ด้วยความอดทนและการวางท่าอย่างสง่าไม่เกรงของขงจื๊อเท่านั้น ที่ทำให้ขงจื๊อสงบอารมณ์ได้ไม่หวั่นไหว จนประชาชนชาวเมืองก๋วง จำได้ว่าเขาคือขงจื๊อ อีกคราวหนึ่ง ขณะที่ขงจื๊อและสานุศิษย์ เดินทางอยู่นอกเมือง ต้องขาดแคลนอาหารและเสบียง จนแทบจะอดอาหารตาย ความกล้าหาญและความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของขงจื๊อนั้น จะเห็นได้จากคำกล่าวของขงจื๊อเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อันลำบากดังนี้

อุดมบุรุษนั้น แม้จะเผชิญกับความทุกข์ยาก ก็หาแสดงการหวั่นไหวไม่ คนเล็กๆ เท่านั้นที่ยอมละเมิดศีลธรรม เมื่อถึงคราวอับจน

ขงจื๊อเป็นผู้ยึดมั่นอยู่ในคำสอนของตน และอดทนต่อความยากลำบากด้วยความกล้าหาญอย่างเยี่ยมยอด โดยไม่มีการบ่น ขณะที่เขาไม่เผชิญกับฐานะที่ลำบากนั้น เขาก็มักจะถูกวิจารณ์และเยาะเย้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกนิยมในปรัชญาเต๋า

มาถึงตอนนี้ ขงจื๊อและสานุศิษย์ได้พบกับผู้ใช้ชีวิตอยู่อย่างวิเวกสองคน คือบุคคลที่ถอนตนออกมาจากโลกด้วยความรังเกียจในความผันแปรไม่แน่นอนของเหตุการณ์ของยุคสมัย ท่านผู้อยู่อย่างวิเวกคนหนึ่งในสองคนนี้ กล่าวกับ จื้อหลู (Tsu Lu) สานุศิษย์คนหนึ่งของขงจื๊อว่า

“โลกทั้งโลกปั่นป่วนเหมือนทะเลที่กำลังบ้าคลั่ง แล้วขงจื๊อนั้นเป็นใครกันถึงจะมาเปลี่ยนแปลงโลกได้? เจ้านั้นกำลังติดตามบุคคลที่หลบลี้หนีจากคนนี้ จากคนนั้นไปเรื่อยๆ มันจะเป็นการไม่ดีไปกว่านั้นหรือ ถ้าเจ้าจะติดตามบุคคลที่ถอนตนออกจากโลกทั้งโลกเช่นข้านี้?”

เมื่อจื้อหลู นำเรื่องนี้มาเล่าให้ขงจื๊อฟัง ขงจื๊อได้ให้คำตอบที่ดีที่สุด ดังนี้

เรานั้นไม่อาจจะอยู่ร่วมกับนกและสัตว์ทั้งหลายได้ ถ้าเราไม่อยู่กับเพื่อนมนุษย์เหมือนกันแล้ว เราจะอยู่กับใครล์

ในโอกาสที่คล้ายกันนั้น จื๊อหลู กล่าวขึ้นอย่างตรงไปตรงมาแทนอาจารย์ของตน เป็นถ้อยคำที่สรุป เหตุผลที่ขงจื๊อต้องเดินทางต่อไปเรื่อยๆ แม้จะไม่สมหวัง แต่ก็ไม่ย่อท้อว่า

การปฏิเสธไม่ยอมรับใช้ราชการนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ระหว่างคนแก่กับคนหนุ่มนั้นจะต้องมีอยู่ฉันใด เราจะทิ้งความสัมพันธ์ของนักการปกครองกับประชาชนผู้ถูกปกครองได้อย่างไรกัน?  ถ้าบุคคลปรารถนาจะสร้างความบริสุทธิ์ของตนแล้ว บุคคลต้องละเลยความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ทั้งหมด บุคคลผู้ยิ่งใหญ่นั้น จะต้องรับใช้บ้านเมืองเพราะว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติเช่นนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะทราบดีว่าการรับใช้บ้านเมืองนั้น เขาจะต้องประสบกับความล้มเหลวก็ตาม

ข้อความประโยคสุดท้ายจากคัมภีร์ปกิณกะนิพนธ์ของขงจื้อที่ควรแก่การสังเกตคือ

เมื่อจื๊อหลู มาถึงเมืองซีเหมิน (Shi-men) เพื่อค้างคืนนั้น คนเฝ้าประตูเมืองถามว่า “ท่านมาจากไหน?”
“ข้าพเจ้ามาจากขงจื๊อ”
“อ๋อ คนที่ขันอาสาทำในสิ่งที่ตนรู้เป็นอย่างดีว่าถ้าทำไปก็เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ คนนั้นใช่ไหม?”

ประโยคสุดท้ายนั้นคือ ภาพอธิบายอันสมบูรณ์เกี่ยวกับขงจื๊อ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

วิวัฒนาการของปรัชญาจีน

อรรถาธิบายของวิวัฒนาการของปรัชญาจีน
1. ปรัชญาขงจื๊อ เสื่อมโทรมลงหลังจากสมัยของเม่งจื๊อ ระหว่าง รัชสมัยของราชวงศ์ฮั่น (206 ก ค.ศ.-ค.ศ. 220) ปรัชญาขงจื๊อ ฟื้นคืนชีพขึ้นมา และเจริญขึ้นเป็นวิทยาการคู่บ้านคู่เมือง

2. ปรัชญาเก่า ปรัชญาคู่แข่งอันสำคัญของปรัชญาขงจื๊อมีอิทธิพล อย่างสำคัญในหมู่วงการนักการปกครองของบ้านเมือง ในรัชสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนต้น คำสอนเรื่อง หวู เว่ย ของ ปรัชญาเต๋า ได้รับการนับถือเอาเป็นนโยบายของรัฐ ส่วนความลึกลับของปรัชญาเต๋านั้นถือเอาว่าเป็นเรื่องความเชื่อและศรัทธาของบุคคลแต่ละคน

3. ปรัชญาม่อจื๊อ ไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาเป็นปรัชญาที่สำคัญได้อีกต่อไปหลังจากการเผาของพระเจ้าจิ๋น ในปี 213 ก่อน ค.ศ.

4. ปรัชญานิติธรรม ต่อมาเสื่อมอิทธิพลลง เพราะว่ามีความเกี่ยวพันกับการปกครองแบบทรราชย์ของราชวงศ์ จิ๋น (221-207 ก่อน ค.ศ.)

5. พุทธศาสนา ถูกนำมาเผยแพร่จากประเทศอินเดียในศตวรรษที่หนึ่ง ของคริสตศักราช หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ได้ปะทะกับปรัชญาเต๋า กลายเป็นพุทธศาสนาแบบจีน วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นพุทธศาสนาแบบฌาน หรือ แบบเซ็น

6. มาถึงสมัยที่ปรัชญาขงจื๊อ ได้ตั้งมั่นคงดีแล้ว ระหว่างรัชสมัยราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์อื่นๆ ต่อมา ปรัชญาขงจื๊อได้ปะทะกับคำสอนของปรัชญาเต๋า และพุทธศาสนา ผลคือในรัชสมัยของราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ 960-1279) ได้เผยโฉมหน้าขึ้นมาเป็นปรัชญา หลี่ เสว เจีย Li Hsueh Chia หรือการศึกษาคัมภีร์หลี่ ซึ่งตะวันตกเรียกกันว่า Neo-Confucianism หรือ ปรัชญาขงจื๊อรูปแบบใหม่ เป็นการผสมของปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาเต๋า และพุทธศาสนานี้ เป็นปรัชญาขงจื๊อในแบบที่ใกล้ เคียงกับปรัชญาขงจื๊อ ที่ตกทอดมาถึงเวลาปัจจุบันนี้

7. ระหว่างรัชสมัยของราชวงศ์เช็ง หรือ แมนจู ได้มีปรัชญาเชิงวิจารณ์และสงสัย (criticism and Skepticism) เกิดขึ้นเป็นอิสระ โจมตีปรัชญาขงจื๊อใหม่ในสมัยต่อไป นักวิจารณ์พวกนี้ ซึ่งยังคงมีปรากฏอยู่ จนกระทั่งทุกวันนี้ อุทิศตนให้แก่การศึกษาด้านภาษาและวิจารณ์เนื้อหาของคำสอน โดยไม่สนใจเรื่องการแสวงหาความรู้ทางปรัชญาเลย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจกำหนดเอาว่าเป็น สำนักปรัชญาที่แท้จริงได้

8. แนวโน้มของความคิดในการเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมใหม่ (New Culture Movement) ซึ่งเจริญถึงขีดสูงสุดใน ค.ศ. 1919  มุ่งสู่การปรับตนเป็นแบบตะวันตก ดังที่แสดงออกในรูปของปรัชญาปฏิฐานนิยม (positivism) ปรัชญาปฏิบัตินิยม (pagmatism) และปรัชญาสสารนิยม (materialism) กระบวนการวัฒนธรรมใหม่นี้นำไปสู่การซักถามและการวิจารณ์สถาบันทางสังคมและทรรศนะต่างๆ ที่นับถือกันมาตามประเพณีอย่างกว้างขวาง ในรูปของทรรศนะของปรัชญาประโยชน์นิยม (utilitarianism) และปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism)

9. กระบวนการชาตินิยม (Nationalism) เริ่มกันใน ค.ศ. 1926 เป็นผลทำให้เกิดการสถาปนารัฐบาลคณะชาติขึ้น ภายใต้การเป็นผู้นำของเจียง ไค เช็ค และคณะพรรคกั๊กมินตั้งหลักสามประการของประชาชน (san Min Chu I-ซาน หมิน จู่ อี้) เป็นหลักมูลฐานของกระบวนการชาตินิยมในสมัยนี้ คำสอนของขงจื๊อได้รับการเผยแพร่ว่าเป็นหลักทางจิตใจของขบวนการคณะชาติเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมูนิสต์

10. กระบวนการวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ใน ค.ศ. 1919 เป็นเครื่องกรุยทางให้แก่ลัทธิคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่มีลักษณะหลายประการเหมือนปรัชญานิติธรรม (Legalism) ทั้งคอมมิวนิสต์และปรัชญานิติธรรม ปฏิเสธสิ่งทั้งหลายที่เคยมีมาตามประเพณี ปรัชญาทั้งสองตำหนิปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาทั้งสองสนับสนุนการปกครองแบบใช้อำนาจและแบบเผด็จการ ฉะนั้นในสายตาของประชาชนชาวจีนนั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น คือ การฟื้นตัวของปรัชญานิติธรรมนั้นเอง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ปฐมกำเนิดของปรัชญาจีน

กระแสธารแห่งคติความคิดทางปรัชญาของจีนที่สำคัญสองสายคือ ปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื๊อ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศักราช  โดยการสอนของเล่าจื๊อและขงจื๊อตามลำดับ  แต่ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสองจะมีความสำคัญและมีปฐมกำเนิดก่อนปรัชญาอื่น แต่ปรัชญาทั้งสองก็หาเป็นตัวแทนของปรัชญาดั้งเดิมของปรัชญาจีนไม่ เพราะเราทราบว่าทั้งขงจื๊อ และเล่าจื๊อได้ศึกษาและนำเอาปรัชญาที่มีมาก่อนหน้าสมัยของเขามาใช้ในคำสอนของปรัชญาของตน

ในบรรดางานทางปรัชญาของสมัยโบราณที่สำคัญนั้น สิ่งที่ถือกันว่าเป็นบ่อเกิดของปรัชญาจีนนั้นคือ ความคิดเรื่อง ปา กว้า (Pa Kua) หรือเส้นตรงสามเส้นแปดชนิด (Eight Trigrams) ประกอบด้วยเส้นตรงสามเส้น จัดเข้ากันเป็นกลุ่มมีจำนวนแปดกลุ่ม แล้ววางเรียงกันเป็นวงกลม  สันนิษฐานกันว่าคติความคิดเรื่อง ปา กว้า นี้ วิวัฒนาการขึ้นมาจากรอยแตกบนกระดองเต่า ซึ่งพระเจ้า ฝูซี (Fu His) ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์หนึ่ง ในสมัยปรัมปราเป็นผู้คิดขึ้น เส้นตรงสามเส้นนั้นมีลักษณะสองแบบ คือเป็นแบบเส้นตรงติดต่อกันไม่มีรอยแยก (——-) แบบหนึ่ง เรียกว่า หยัง เหย่า (Yang-Yao) เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายหรือฝ่ายบวก เส้นตรงอีกแบบหนึ่งเป็นเส้นตรงมีรอยแยกตรงกลางเส้น (- -) ยิน เหย่า (Yin-Yao) เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง หรือฝ่ายลบ ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้าเหวิน (King Wen) ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว (Chou) และพระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว (the Duke of Chou) เป็นผู้จัดรวบรวมเส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ให้เป็นระบบแห่งความคิดขึ้นมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความคิดเรื่องปา กว้า นี้จึงกลายเป็นพื้นฐานของวิชาอภิปรัชญาและวิชาไสยศาสตร์ ตามที่มีบันทึกอยู่ในหนังสือ ยิ จิง (Yi Ching) หรือบทนิพนธ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง (Book of changes)

เส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ เป็นสัญลักษณ์ของธาตุหลัก หรือองค์ประกอบอันสำคัญของโลกจักรวาลแปดอย่าง ได้แก่ สวรรค์ ดิน ฟ้าร้อง น้ำ ภูเขา ลม ไฟ และหนองบึง ซึ่งมีลักษณะด้านนามธรรมของธาตุทั้งแปดนั้นประกอบอยู่ด้วยธาตุแต่ละธาตุด้วย ต่อมา เส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ ถูกนำมาผสมกันเป็น เส้นตรงหกเส้นหกสิบสี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มสมมติว่าเป็นสัญลักษณ์ของปรากฏการณ์ของโลกจักรวาลอย่างหนึ่งๆ ทั้งที่เป็นปรากฎการณ์ของธรรมชาติและของมนุษย์ เส้นตรงหกเส้นหกสิบสี่กลุ่ม (Sixty-four Hexatrams) นี้สมมติกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นในโลกจักรวาลนี้ทั้งหมด

ความสำคัญของสัญลักษณ์ของเส้นตรงดังกล่าวนี้  ไม่ได้เป็นการกล่าวที่เกิดความเป็นจริงเลย ก่อนสมัยของขงจื๊อ มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์บันทึกเรื่องสัญลักษณ์นี้ไว้ คัมภีร์นี้มีชื่อว่า ยิ (Yi) ใช้สำหรับการพยากรณ์และอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ ตลอดทั้งความยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลายในกิจการต่างๆ ๆ ของมนุษย์ ต่อมาภายหลัง สานุศิษย์ของปรัชญาขงจื๊อและปรัชญาเต๋า ได้ใช้คัมภีร์ ยิ นี้ เป็นเครื่องมืออธิบายคติความคิดทางปรัชญาของตน คัมภีร์ ยิ จิง นี้ยังเป็นประดุจสะพานที่เชื่อมโยงคำสอนที่แตกต่างกันของปรัชญาเต๋า และปรัชญาขงจื๊อ

หนังสือหรือคัมภีร์เก่าแก่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากอีกเล่มหนึ่ง คือ คัมภีร์ ซู จิง (Shu Ching) หรือ คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ (Book of History) เอกสารต่างๆ ที่ประกอบเป็นคัมภีร์เล่มนี้ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นเอกสารทั้งหมดมีจำนวนหนึ่งร้อยเรื่อง ควบคุมระยะเวลานานถึงสิบหกศตวรรษ คือตั้งแต่ 2400 ถึง 800 ปีก่อน ค.ศ. คัมภีร์นี้นับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และคติความคิดต่างๆ ของจีนในสมัยโบราณ

ข้อสังเกตอันหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึงเกี่ยวกับปฐมกำเนิดของปรัชญาจีน นอกเหนือไปจากภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญดังกล่าวแล้ว ปรัชญาตะวันตกนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นผลผลิตของกรีกในศตวรรษที่หกก่อนคริสตศักราช ในสมัยก่อนหน้านั้นพวกกรีกที่อยู่บนทวีปใหญ่ ได้อพยพลงมาอยู่ในเกาะต่างๆ รอบบริเวณนั้น ที่อยู่ในทะเลอีเจียน (Aegian) ไปจนถึง ซิชิลี อิตาลีตอนใต้ เอเชียไมเนอร์ พูดให้สั้นก็คือ ไปอยู่ทั่วโลกที่รู้จักกันในสมัยนั้นทั้งหมด สภาพเช่นนี้เป็นธรรมดาอยู่เองย่อมก่อให้เกิดความอยากรู้เกี่ยวกับโลก และบทบาทของมนุษย์ผู้อยู่ในโลกจึงเกิดเป็นการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง  และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติขึ้น การเสาะแสวงหาความรู้แบบนี้นำไปสู่ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้นักปรัชญาของกรีกในสมัยนั้นต้องเป็นบุคคลที่สนใจในวิทยาศาสตร์ไปด้วยในขณะเดียวกัน เช่นไพทากอรัส เปลโต และอริสโตเติล เป็นต้น

แต่สภาพการณ์ในประเทศจีนในสมัยโบราณนั้นแตกต่างไปจากกรีก ประเทศจีนสมัยนั้นตั้งอยู่ในตอนกลางของดินแดนผืนใหญ่ของเอเซียตะวันออก ครอบครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้เกิดความจำเป็นอันใดที่จะต้องค้นหาผืนแผ่นดินนอกอาณาจักรของตน  ฉะนั้นจึงไม่เป็นการแปลกที่คนจีนจะเห็นว่า โลกของมนุษย์นั้นไม่มีความสำคัญสำหรับคนจีนสมัยนั้นยิ่งกว่าโลกของธรรมชาติ คติความคิดต่างๆ ของคนจีนจึงมุ่งไปที่ปัญหาของการเมือง แทนที่จะมุ่งไปสู่ปัญหาของวิทยาศาสตร์ ผลก็คือว่าในขณะที่นักปราชญ์ของกรีกเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญานั้น นักปราชญ์ของจีนเป็นนักทฤษฎีการเมืองและนักปรัชญา ความสนใจในเรื่องสถาบันทางสังคมและทางการเมือง ตามที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่กษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์ตั้งแต่สมัยบุรพกาลโน้น  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สร้างสรรค์เป็นระบบของปรัชญาที่เหมาะสม แต่ก็ได้ประกอบกันเป็นสาระสำคัญของคัมภีร์ ซู จิง (Shu Ching) หรือคัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ ความสนใจในแขนงการเมืองและสังคมนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นอันแท้จริงของปรัชญาจีน

ปรัชญาจีนในยุคสมัยมาตรฐาน (The Classical Age)
สมัยราชวงศ์ โจว (The Dhou Period) ระยะเวลาระหว่าง 1122-256 ก่อน ค.ศ. นั้น นักประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมจีนถือกันว่าเป็นยุคสมัยแห่งมาตรฐาน (Classical Age) ถ้าจะเปรียบเทียบกับกรีกก็คือ สมัยทองของกรีก เพราะว่ามีลักษณะคล้ายกับวัฒนธรรมของกรีก คือเป็นสมัยที่ได้สร้างมาตรฐานทางวัฒนธรรมขึ้นไว้ในสังคม ปรัชญาจีนในสมัยหลังจากนั้นเป็นต้นมา ต่างถือเอาคำสอนของนักปรัชญาในสมัยราชวงศ์โจวเป็นหลักทั้งสิ้น

ประมาณปี 900 ก่อน ค.ศ. อาณาจักรศักดินาของราชวงศ์โจว เริ่มแสดงอาการของความเสื่อมโทรม  เจ้าผู้ครองนครของแคว้นเล็กแคว้นน้อยทั้งหลายเริ่มมีอำนาจแข็งขึ้น และทำการรบพุ่งต่อสู้กันเอง ทำให้แคว้นที่มีกำลังอ่อนเสื่อมอำนาจสูญสิ้นไปเป็นจำนวนมาก แคว้นที่เหลือคือแคว้นที่มีกำลัง แคว้นเหล่านี้ก็เริ่มแสดงอำนาจแข็งกระด้างต่ออาณาจักรราชวงศ์โจว ด้วยการยุยงเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ที่มีอำนาจขึ้นมานี้ ถึงแม้จะไม่เป็นในลักษณะที่ช่วยเหลืออย่างเปิดเผยก็ตามทำให้เผ่าคนป่าจากทิศตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งมีวัฒนธรรมยังไม่เจริญ ยกพวกลงมาโจมตีแคว้นโจวบุกรุกเข้าอาณาจักรของราชวงศ์ โจว ซึ่งปัจจุบันนี้คือ มณฑลชานสี (Shansi) ใกล้กับเมืองซีอาน (Sian) ประมาณปี 771 ก่อน ค.ศ. ราชวงศ์โจวได้ย้ายเมืองหลวงไปทางทิศตะวันออกของเมืองโล้หยี (Loyi) ปัจจุบันคือเมืองโล้หยัง (Loyang) อยู่ในแคว้นโฮหนัน (Honan) นับตั้งแต่นั้นมาราชวงศ์นี้จึงมีชื่อเรียกว่า ราชวงศ์โจวตะวันออก หลังจากนั้นก็ถึง ยุคสมัยชุนชิว (Ch’un Ch’in) หรือสมัยฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ระหว่างปี 722-481 ก่อน ค.ศ. หลังจากนั้นก็เป็น ยุคสมัย จั้นกว๋อง (Chan-Kuo) หรือยุคแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ระหว่างปี 480-222 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นสมัยที่แคว้นต่างๆ มีบทบาทและอำนาจมากขึ้น ส่วนประเจ้าเหนือหัวของราชวงศ์โจวนั้นเสื่อมอำนาจลงมีฐานะเป็นแต่เพียงในนามเท่านั้นเอง

ในสมัยจั้นกว๋อนี้ เป็นสมัยที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงทั้งในด้านการเมืองการสังคม และสติปัญญา เป็นช่วงสมัยที่สถาบันเก่าๆ และขนบธรรมเนียมเก่าๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแหลกลาน สภาพการณ์ของยุคสมัยนี้เลวร้ายอย่างที่สุด จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การขัดแย้งขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดเป็นสำนักคิดทางปรัชญาขึ้นเป็นจำนวนมาก การอุบัติขึ้นของปรากฏการณ์ แห่งการวิพากษ์วิจารณ์อันนี้ของชาวจีนนั้น คือการตื่นตัวของสิ่งที่ทวีปยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดเรียกกันว่า วิญญาณแห่งสมัยใหม่ วิญญาณแห่งเสรีภาพนิยม วิญญาณแห่งการแสวงหาความจริง วิญญาณแห่งสมัยใหม่ของจีนเป็นตัวผลักดันให้เกิดความคิดความเห็นต่างๆ ขึ้น แพร่หลายไปอย่างมากมาย จิตใจของคนจีนซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยอยู่แต่ในกรอบของประเพณี ดูเหมือนจะระเบิดพลุ่งออกมาจากขอบเขตที่คุมขังขึ้นโดยฉับพลัน  ก่อให้เกิดเป็นความโกลาหลวุ่นวายในอิสรภาพใหม่ของตน คนจีนเริ่มมองสิ่งต่างๆ ใหม่ในแง่มุมใหม่ตามที่ตนต้องการ และแสวงหาความคิดใหม่ตามที่ตนชอบ ความอิสรภาพอันนี้แหละที่เป็นผลทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางสติปัญญาอย่างใหญ่หลวง ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของจีน

ยุคสมัยนับตั้งแต่ศตวรรษที่หก ตลอดไปจนถึงศตวรรษที่สามก่อนคริสตศักราชนั้น เป็นยุคสมัยที่ปรัชญาจีนในสมัยโบราณกำลังเบ่งบาน ก่อให้เกิดสำนักคิดทางปรัชญาขึ้นเป็นจำนวนมาก เรียกกันว่า สมัยปรัชญาร้อนสำนัก ในบรรดาปรัชญาร้อยสำนักนี้มีปรัชญาขงจื๊อ และปรัชญาเต๋าเป็นสำนักปรัชญาที่สำคัญยิ่ง ปรัชญาร้อยสำนัก (Hundred school) โดยทั่วไปแล้วจัดจำแนกออกเป็นสำนักปรัชญากลุ่มใหญ่ๆ ได้หกกลุ่ม คือ
1. เต้า เจีย (Tao Chia) หรือ ปรัชญาเต๋า
2. หยู เจีย (Ju Chia) หรือ ปรัชญาแห่งผู้มีความรู้ (School of Literati) หรือ ปรัชญาขงจื๊อ
3. ม่อ เจีย (Mo Chia) หรือ ปรัชญามอจื๊อ
4. ฝ่า เจีย (Fa Chia) หรือ ปรัชญานิติธรรม (Legalism)
5. ยิน-หยัง เจีย (Yin-Yang Chai) หรือ ปรัชญา ยิน-หยัง ปรัชญาไสยศาสตร์
6. หมิง เจีย (Ming Chia) หรือ ปรัชญาแห่งชื่อ (Names) หรือปรัชญาแห่งวาทศาสตร์ (Sophism)

ในบรรดาปรัชญาหกสำนักใหญ่นี้ เฉพาะสี่สำนักใหญ่แรกเท่านั้นที่มีผลงานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนปรัชญา ยิน-หยัง และปรัชญาหมิงเจีย นั้น ไม่อาจอ้างเอาว่ามีผลงานสืบมาถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสองนี้จะได้ทำประโยชน์แก่การค้นคว้าและการค้นพบความรู้ในทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากก็ตาม

ปรัชญา ยิน-หยัง นั้นแตกหน่อออกมาจากปรัชญาเต๋า มีความเชื่อในภาวะของ ยิน หรือ สตรีเพศ และภาวะของ หยัง หรือบุรุษเพทศ ว่าเป็นหลักสองประการของจักรวาล ปฏิกิริยาต่อกันและกันของหลัก ยินและหยัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงขึ้นในสากลจักรวาล ปรัชญานี้บางทีก็เรียกกันว่า ปรัชญาหวู่สิง (Wu Hsing) หรือ ปรัชญาแห่งธาตุทั้งห้า เพราะว่าปรัชญานี้มีทฤษฎีว่า ยุคหนึ่งๆ ของประวัติศาสตร์นั้นจะมีธาตุใดธาตุหนึ่งของธาตุทั้งห้านี้เป็นสิ่งที่ให้อิทธิพลครอบงำอยู่ ธาตุทั้งห้านี้คือ ดิน ไม้ โลหะ ไฟ และน้ำ งานนิพนธ์ทั้งหลายของปรัชญาสำนักนี้ศูนย์หายไปหมด ต่อมาภายหลังปรัชญานี้ได้มามีความสัมพันธ์กับไสยศาสตร์ เวทย์มนตร์ คาถา จึงไม่อาจพัฒนาขึ้นเป็นระบอบความคิดที่เป็นปรัชญาอันอิสระได้ ส่วนปรัชญาแห่งวาทศาสตร์นั้น วิวัฒนาการขึ้นมาจากปรัชญาม่อจื๊อ สมาชิกของปรัชญาสำนักนี้เป็นนักพูดและนักโต้วาที พวกนี้เป็นนักการเมือง มีความชำนาญในศิลปะของการพูด แต่ไม่อาจอ้างตนเองว่าเป็นนักปรัชญาได้

ฉะนั้น ในแง่ของความสำคัญที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวจีนแล้ว สำนักคิดที่สำคัญสี่สำนักนี้ ประกอบกันเป็นอาณาจักรของปรัชญาจีน คือ ปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาเต๋า ปรัชญาม่อจื๊อ และปรัชญานิติธรรมหรือฝ่าเจีย ปรัชญาทั้งสี่สำนักนี้มีนักปรัชญาแปดท่านของยุคสมัยแห่งราชวงศ์โจวเป็นตัวแทนที่สำคัญ หรือ เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิ นักปรัชญาแปดท่านนี้คือ เล่าจื๊อ ขงจื๊อ ม่อจื๊อ หยางจื๊อ เม่งจื๊อ จวงจื๊อ ซุ่นจื๊อ และ ฮั่นเฟยจื๊อ นักปรัชญาทั้งแปดนี้ แต่ละท่านนั้นเราอาจถือเอาได้ว่า คติความคิดต่างๆ ของท่านคือปฏิกริยาที่แสดงต่อปัญหาและความทุกข์ยากที่มีอยู่ในยุคสมัยของท่านนั้นเอง

เล่าจื๊อ  และสานุศิษย์ของเล่าจื๊อ มีความเห็นว่า ความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในยุคของเขานั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดจนถึงรากถึงแก่น อยู่ในเนื้อแท้ และโครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรมของยุคนั้น มนุษย์ได้เคยมีดินแดนสวรรค์มาแล้ว แต่บัดนี้เขาได้สูญสิ้นดินแดนสวรรค์นั้นไปสิ้น ทั้งนี้เพราะความผิดพลาดบกพร่องของมนุษย์เอง อันประกอบด้วยการที่มนุษย์พยายามจะสร้างอารยธรรมจอมปลอมขึ้นมาเป็นประการสำคัญ  ด้วยเหตุนี้หนทางแก้ไขทางเดียวที่มีอยู่ก็คือการถอนตนออกจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นอารยธรรมอยู่ในขณะนี้ แล้วกลับคืนไปสู่ยุคสมัยแห่งบุรพกาล-กล่าวคือ ถอนตัวออกจากสภาพแห่งวัฒนธรรมไปสู่สภาพแห่งธรรมชาติ ทรรศนะปรัชญาลักษณะธรรมชาตินิยมนี้คือ หัวใจของปรัชญาเต๋า

ถึงแม้ว่า สานุศิษย์ของปรัชญาเต๋าจะมีความเห็นในหลักการสำคัญว่า อุดมคตินั้นคือการถอนตนกลับเข้าไปสู่ธรรมชาติเหมือนกันก็ตาม แต่ในการแปลความหมายของความคิดอันเป็นหัวใจของปรัชญาคือ เต๋านั้น ได้แตกต่างกันออกไปเป็นสองทรรศนะ เต๋านั้น เล่าจื๊อถือว่าเป็นพลังสร้างสรรค์ของโลกจักรวาลทรรศนะที่หนึ่ง มี จวงจื๊อ เป็นเจ้าของทรรศนะ ท่านผู้นี้ถือว่า เต๋านั้น คือ ภาวะที่เป็นไปเองตามธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งของสรรพสิ่งทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพลังหรือความคิดที่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างพัฒนาไปด้วยตัวของมันเองตามธรรมชาติ ตามลักษณะอันแท้จริงของมัน ทรรศนะนี้อาจจัดว่าเป็นปรัชญาเต๋าในรูปแบบของจิตนิยม (idealism) หรือจินตนาการ อิสรนิยม (romanticism)

อีกทรรศนะหนึ่ง มี หยางจื๊อ เป็นเจ้าของทรรศนะ ท่านผู้นี้คิดว่า เต๋านั้นเป็นพลังทางธรรมชาติที่มืดบอดที่ก่อกำเนิดโลกขึ้นมาโดยไม่มีความมุ่งหมายหรือเจตน์จำนงอันใด แต่โลกเกิดขึ้นมาเพราะโดยธรรมชาติของมันหรือโดยเหตุบังเอิญเท่านั้น ทรรศนะนี้อาจจัดว่าเป็นปรัชญาเต๋าในรูปแบบของปรัชญาสสารนิยม (materialism) หรือ ปรัชญาสุขสำราญนิยม (hedonism)

ปฏิกิริยาทางความคิดอีกอันหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นปฏิกิริยาที่มีอิทธิพลอย่างที่สุด ที่มีต่อความปั่นป่วนระส่ำระสายของยุคสมัยนั้น คือ ปรัชญาของขงจื๊อ และสานุศิษย์ของขงจื๊อ ตรงกันข้ามกับทรรศนะของปรัชญาเต๋า ปรัชญาขงจื๊อไม่ได้สอนเรื่องการถอนตนออกจากวัฒนธรรมแล้วกลับไปสู่ธรรมชาติ แต่สอนให้กลับคืนไปสู่วัฒนธรรมขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่มีอยู่ในสมัยต้นของราชวงศ์โจว ความสำเร็จของขงจื๊อ อยู่ในแนวทางของทรรศนะนี้ ขงจื๊อเป็นบุคคลที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของจีนในสมัยโบราณมาสู่บุคคลร่วมยุคสมัยเดียวกับตน และคนชั้นรุ่นหลังสืบต่อมา เขาเปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีของศักดินามาเป็นระบบจริยธรรม ปรัชญามนุษยธรรมของขงจื๊อมีลักษณะขัดแย้งกันอย่างเด่นชัดกับปรัชญาธรรมชาตินิยมของเล่าจื๊อ ขงจื๊ออุทิศชีวิตของตนให้แก่การสร้างสังคมที่มีระเบียบที่มีอุดมคติ โดยมีการเน้นความสำคัญของความสัมพันธ์อันเหมาะสมของบุคคลผู้มีวัฒนธรรมอันดีงาม

อิทธิพลของปรัชญาขงจื๊อที่มีอยู่เหนือประชาชนชาวจีนมาตลอดเวลากว่ายี่สิบห้าศตวรรษนั้น สืบเนื่องมาแต่อัฉริยภาพ ส่วนบุคคลของนักปราชญ์อมตะ คือ ขงจื๊อเป็นประการสำคัญ ขงจื๊อได้วางพื้นฐานทางปรัชญาให้แก่ เม่งจื๊อ และ ซุ่นจื๊อ เพื่อสถาปนาวิหารอันมโหฬารที่ทำให้สติปัญญาและวัฒนธรรมของชาวจีน เจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่นับตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา เม่งจื๊อนั้นคือบุคคลสำคัญที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาปรัชญาขงจื๊อไว้ เพราะว่าในยุคสมัยที่มีแต่อนาธิปไตยทางสติปัญญา และความคิดเห็นที่นอกรีตนอกรอยนานาประการนั้น เม่งจื๊อเป็นผู้ที่ปกป้องปรัชญาขงจื๊อไว้ด้วยความเข้มแข็ง และกล้าหาญ ทำให้ปรัชญาขงจื๊อคงความเป็นเลิศของตนไว้ได้ ยิ่งกว่านั้น เม่งจื๊อยังเป็นผู้ที่ได้ขยายความคิดของปรัชญาขงจื๊อไปในทางที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกด้วย

ส่วน ซุ่นจื๊อ นั้น แม้จะยึดหลักปรัชญาขงจื๊ออย่างมั่นคงก็มีทรรศนะที่ขัดแย้งกันกับเม่งจื๊อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรรศนะที่เกี่ยวกับทฤษฎีของธรรมชาติของมนุษย์ เม่งจื๊อนั้นเป็นนักอุดมคติมีศรัทธาอย่างสูงส่งว่ามนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นธรรมชาติของตน ส่วนซุ่นจื๊อนั้นมีศรัทธาในธรรมชาติอันดีงามของมนุษย์น้อยมาก ผลของทรรศนะนี้ทำให้เขาหันไปยกย่องคุณค่าของหน้าที่และสิทธิพิเศษของรัฐ ทรรศนะของเขาเป็นทรรศนะที่นำทางทรรศนะของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในสำนัก ปรัชญานิติธรรม ของศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. สองท่านนักคิดสองท่านแห่งปรัชญานิติธรรมนั้นคือ ฮั่น เฟย จื๊อ และ หลี ซู่ (Li Ssu) บุคคลทั้งสองนี้ แม้ว่าจะเป็นนักปรัชญาในสำนักนิติธรรม แต่ในสาระสำคัญแล้ว ท่านก็เป็นสานุศิษย์ของบรมครูขงจื๊ออยู่ ซุ่นจื๊อนั้นอาจจะประเมินลักษณะได้อย่างดีว่าเป็นบุคคลที่สามารถสรุปปรับญาของขงจื๊อแล้วถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังต่อไป

ปฏิกิริยาทางความคิดอันที่สามของสมัยนั้น คือ ปรัชญาของม่อจื๊อ และสานุศิษย์ของม่อจื๊อ ม่อจื๊อเป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มชนชั้นต่ำของสังคม ม่อจื๊อสอนปรัชญาแห่งชีวิตที่ตรงตามความปรารถนาของสามัญชน ฉะนั้นทรรศนะของเขาจึงขัดแย้งกับทรรศนะของคนชั้นสูงของขงจื๊อและของเล่าจื๊อ ขณะที่เล่าจื๊อและขงจื๊อ มองย้อนหลังไปสู่อดีต-เล่าจื๊อเป็นผู้รื้อทิ้ง ซึ่งอารยธรรมที่มีมาแต่เดิม ขงจื๊อเป็นผู้พิทักษ์รักษาวัฒนธรรมราชวงค์โจวนั้น-ม่อจื๊อถือเอาทรรศนะปรัชญาที่มุ่งประโยชน์ โดยการแสวงหาความสุขจากอนาคตที่ให้ความหวังที่ดีงามแก่ชีวิต  โดยสร้างโลกนี้ให้ดีกว่าเดิมให้แตกต่างไปกว่าเดิม

นอกจากปฏิกิริยาทางความคิดที่สำคัญของสำนักปรัชญาทั้งสามนี้แล้ว ก็ยังมีนักปรัชญากลุ่มนิติธรรม ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ที่ได้สร้างอิทธิพลขึ้นในศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. อันเป็นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจากราชวงศ์โจว ไปสู่ราชวงศ์ จิ๋น (Ch’in) ฮั่น เฟย จื๊อ (มรณะในปี 223 ก่อน ค.ศ.) เป็นนักคิดคนสำคัญของปรัชญานี้ และท่านเป็นเชื้อสายของเจ้านายราชวงศ์ฮั่น (Han) คติปรัชญาของท่านเกิดขึ้นจากคำสอนต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น คือจากความคิดเรื่อง ซี่ (Shih) หรือ อำนาจของนักปรัชญาชื่อเชน เต๋า (Shen Tao) ความคิดเรื่องซู่ (shuh) หรือ รัฐศาสตร์ของนักปรัชญาชื่อ เซน ปู ไฮ (Shen Pu-hai) และความคิดเรื่องฝ่า (Fa) หรือกฎหมายของนักปรัชญาชื่อ ซ้อง หยาง (Shang Yang) ฮั่น เฟย จื๊อ ยังได้นำเอาทฤษฎีเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของซุ่นจื๊อ มาสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนว่า การมีกฎหมายนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผดุงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นักปรัชญากลุ่มนิติธรรมซึ่งมี ฮั่น เฟย จื๊อ เป็นเจ้าของทรรศนะนั้น สนับสนุนให้มีการปกครองที่มั่นคง แบบใช้อำนาจ แม้กระทั่งถึงอำนาจเผด็จการ และสนับสนุนให้มีการใช้กฎหมายอันเฉียบขาด เพื่อเป็นกรอบของการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ฉะนั้นปรัชญาของ ฮั่น เฟย จื๊อ จึงขัดแย้งกับปรัชญาของขงจื๊อโดยเฉพาะ และขัดแย้งกับปรัชญาอื่นๆ โดยทั่วไป ที่ย้ำความสำคัญของเกียรติศักดิ์ของปัจเจกชน และอัจฉริยภาพส่วนบุคคลของผู้ปกครองบ้านเมือง

ความขัดแย้งของปรัชญา ฮั่น เฟย จื๊อ กับปรัชญาอื่นๆ นั้น ได้นำไปสู่พระปกาศิตอันสำคัญแห่งปี 213 ก่อน ค.ศ.ของพระเจ้าจักรพรรดิ์จิ๋น ซี ฮ่องเต้ (Ch’in Shih Huang ti) อันสืบเนื่องมาจากคำปรึกษาที่เสนาบดียุติธรรมของพระองค์ คือ หลี ซู่ เป็นผู้ถวายให้พระองค์จึงมีพระปกาศิตให้ทำลายวรรณคดีโบราณทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทนิพนธ์ทั้งหลายของปรัชญาขงจื๊อ ผลของปกาศิตครั้งนี้ทำให้ความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาทั้งปวงในสมัยก่อนมาต้องประสบกับวาระอันเป็นจุดจบลงอย่างฉับพลัน

นี้คือ ความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ของปรัชญาที่สำคัญของจีนสี่สำนักด้วยกัน ในยุคสมัยของราชวงศ์โจว โดยมีนักปรัชญาแปดท่านด้วยกัน เป็นเจ้าของทรรศนะ คำสอนและคติความคิดต่างๆ ของนักปรัชญาทั้งแปดนี้มีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของประชาชนชาวจีน ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสี่สำนักนี้ จะแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง แต่ปรัชญาที่สี่สำนักนี้ก็มีบทบาทที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของปรัชญาจีนโดยส่วนรวมขึ้นมา เรื่องราวของวิวัฒนาการของคติความคิดของปรัชญาทั้งสี่นี้คือเรื่องราวของปรัชญาจีน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ