ชีวิตของขงจื๊อ

Socail Like & Share

ข้าพเจ้ามิได้มีความรู้มาแต่กำเนิด
แต่อาศัยที่สนใจในสิ่งดีงามที่มีมาแต่อดีต
จึงแสวงหาเอาด้วยความพากเพียร

ปกิณกะนิพนธ์ของ ขงจื๊อ
Analccts, VII-19

ในบรรดานักปรัชญาคนสำคัญของจีน ขงจื้อเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก ชื่อขงจื๊อนั้น ภาษาอังกฤษใช้ว่า confucius แปลจากคำในภาษาจีนว่า ขงจื๊อ (K’ung Tzu) ตามตัวอักษรแปลว่า อาจารย์ขง ขงนั้นเป็นชื่อสกุล ต่อมาจึงมีผู้เพิ่มคำ จื๊อ ซึ่งแปลว่า อาจารย์เพิ่มนำหน้าสกุลเข้าไปเป็นการแสดงความเคารพ

ขงจื๊อเป็นบุคคลคนแรกที่สร้างปรัชญาของจีนขึ้นเป็นระบบครอบคลุมเรื่องต่างๆ ของชีวิตไว้อย่างกว้างขวาง ปรัชญาของขงจื๊อมีผู้เคารพนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานถึงยี่สิบห้าศตวรรษ เป็นปรัชญาที่หล่อหลอมและสร้างสรรค์นิสัยใจคอและบุคลิกภาพของประชาชนชาวจีน

ก่อนสมัยของขงจื๊อ ประเทศจีนมีคลังแห่งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ของตนอยู่อย่างมากมาย แต่เป็นไปในลักษณะที่กระจัดกระจาย และไม่มีความสมพันธ์เกี่ยวข้องกัน งานที่ขงจื๊อกระทำนั้น คือ รวบรวมสิ่งที่เป็นเลิศของบรรดากษัตริย์และปราชญ์ของจีนในอดีต แล้วอาศัยพื้นฐานของมรดกทางวัฒนธรรมแต่อดีตนั้น สร้างระบบปรัชญาอันสำคัญของเขาขึ้น จากความสำเร็จของผลงานอันนี้ ขงจื๊อได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นนักปรัชญาที่สำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก

ชีวิตของขงจื๊อ
เมื่อข้าพเจ้าอายุสิบห้า      ข้าพเจ้าตั้งใจศึกษาเล่าเรียน
เมื่อข้าพเจ้าอายุสามสิบ      ข้าพเจ้ามีอุดมคติอันแน่วแน่มั่นคง
เมื่อข้าพเจ้าอายุสี่สิบ    ข้าพเจ้าปฏิบัติกิจต่างๆ ด้วยความรอบคอบ
เมื่อข้าพเจ้าอายุห้าสิบ    ข้าพเจ้ารู้จักหมิงโองการแห่งสวรรค์
เมื่อข้าพเจ้าอายุหกสิบ    ข้าพเจ้าเข้าใจในหลักสัจธรรม
และขณะนี้ข้าพเจ้าอายุเจ็ดสิบ    ข้าพเจ้าสามารถทำอะไรทุกอย่างได้
ตามใจตนเอง โดยไม่ฝ่าฝืนยุติธรรมสำนึกแต่ประการใดเลย

ปีเกิดของขงจื๊อ ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอน แต่ตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมานั้นกล่าวกันว่า ขงจื๊อเกิดในปี 551 ก่อน ค.ศ. คงจะไม่ผิดความจริงสักเท่าใดนัก ขงจื๊อเกิดในแคว้นหลู (Lu) ปัจจุบันเป็นจังหวัด ฉู่ ฝู (Ch’u Fu) ในมณฑลชานตุง (Shantung) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของอาณาจักรจีนในสมัยโบราณ มีเรื่องของเหตุการณ์ ความฝัน และนิมิตต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเกิดของขงจื๊อมากมาย ตัวอย่างเช่น

มีเรื่องเล่าว่า มารดาของขงจื๊อครั้งหนึ่งเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งเพื่ออธิษฐานขอบุตรชายสักคน ในคืนวันนั้น นางได้ฝันไปว่า พระเจ้าจักรพรรดิดำ ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่นาง และประทานพรให้ตามคำอธิษฐานของนาง เมื่อนางตั้งครรภ์ใกล้จะครบกำหนดคลอด นางจึงวิ่งไปที่ถ้ำนั้น แล้วก็ให้กำเนิดบุตรออกมาเป็นชาย ขณะที่บุตรชายของนางกำลังคลอดออกมานั้น ก็มีน้ำพุน้ำร้อนพลุพลุ่งขึ้นมา นางได้ใช้น้ำพุน้ำร้อนนั้นชำระร่างกายบุตรของนางเป็นการเจิม ในเรื่องเดียวกันนี้มีเรื่องเล่าต่อไปว่า ขงจื๊อขณะที่กำลังเกิดนั้น มีลักษณะเป็นที่น่าอัศจรรย์คือ “ปากกว้าง ริมฝีปากยื่นเหมือนวัว และมีหลังเหมือนมังกร” มังกรนั้นในธรรมเนียมของจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวงศ์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้เราจะถือว่า นิยายดังกล่าวนันเป็นแต่เพียงเรื่องในจินตนาการ แต่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดี ถึงความเคารพนับถือ ที่ประชาชนชาวจีนมีต่อขงจื๊อ

ขงจื๊อมีกำเนิดมาในครอบครัวอันเป็นที่เคารพนับถือ ที่สามารถสืบสาวสกุลขึ้นไปถึงราชวงศ์ชาง (Shang) ในสมัยอดีตกาล บรรพบุรุษของเขา เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางการเมืองและวรรณคดี บิดาของขงจื๊อ ขงซูเหลียง-เห (Koung Shu Liang-heh) มีชื่อเสียงว่าเป็นทหารที่มีความกล้าหาญ และมีความเก่งกาจมาก ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เมื่อขงจื๊ออายุเพียงสามขวบ

เรื่องราวของขงจื๊อเมื่ออยู่ในวัยเด็ก ในการดูแลและอบรมสั่งสอนของมารดานั้น มีรู้กันน้อยมาก ขงจื๊อคงจะเป็นเด็กที่เคร่งขรึม เพราะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อเขาอายุได้หกขวบนั้น เขาเริ่มเล่นกับพวกเด็กอื่นๆ ชอบแสดงตนเป็น กษัตริย์ผู้มีปัญญารอบรู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ จัดภาชนะในการพิธี และแสดงตนเป็นผู้รู้เรื่องจารีตประเพณีต่างๆ เป็นอย่างดี เมื่อเขาอายุได้สิบห้าปี เขาอุทิศตนให้กับการศึกษาและมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีความรู้ดี และมีความประพฤติดี ในเรื่องความรู้นั้น ขงจื๊อกล่าวถึงในตอนหลังว่า

บุคคลมีความรู้มาแต่กำเนิดนั้น  จัดว่าเป็นบุคคลชั้นเลิศ
บุคคลที่มีความรู้โดยการศึกษา นั้น จัดว่าเป็นบุคคลชั้นสอง
บุคคลที่มีความรู้โดยการพากเพียรอย่างอุตสาหะนั้น จัดว่าเป็นบุคคลชั้นสาม เป็นใหญ่มีโชคช่วยอำนวยให้ เขาก็ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามีเคราะห์กรรมมาขัดขวาง เขาก็จะดำเนินชีวิตไปด้วยคล้ายกับว่าเท้าทั้งสองของเขาถูกพันธนาการ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่าพ่อค้าที่เก็บทรัพย์สินของตนไว้ให้ดีแล้วนั้น ทำตนดุจประหนึ่งคนขอทานและบุคคลเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมล้ำเลิศนั้น กระทำตนประดุจคนโง่เขลา จงสลัดทิ้งท่าทางหยิ่งผยองของท่านและความทะเยอทะยานของท่านเสียจงขจัดกิริยามารยาทอันเสแสร้างและความอยากทางกามราคะของท่านให้หมด สิ่งเหล่านี้ไม่มีคุณประโยชน์อันใดแก่ท่านหรอก นี้คือคำแนะนำที่ข้าพเจ้าพอจะให้ท่านได้

หลังจากกลับมาจากการเยี่ยมเล่าจื๊อแล้ว แทนที่จะขัดเคืองหวั่นไหวในคำแนะนำอันสุจริตใจและตรงไปตรงมาของเล่าจื๊อ ขงจื๊อได้บอกแก่สานุศิษย์ของตนว่า

ข้าพเจ้ารู้ว่า นกบินได้ ปลาว่ายน้ำได้ สัตว์ทั้งหลายวิ่งไปมาบนบกได้ สัตว์บกอาจถูกแร้งจับ สัตว์น้ำอาจถูกเบ็ด สัตว์ในอากาศอาจถูกลูกธนูยิงตกลงมาตาย แต่มังกรนั้นมันเหิรอยู่บนฟ้า เหมือนเมฆและลม ไม่มีอะไรจะทำร้ายได้ วันนี้ข้าพเจ้าได้พบท่านเล่าจื๊อผู้เปรียบปานประหนึ่ง มังกรฉะนั้น

ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ขงจื๊อได้พบกับ เล่าจื๊อ จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การพบปะกันระหว่างบุคคลทั้งสองนี้จะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะในหนังสือคัมภีร์หลี่ จี่ (Li Chi) หรือคัมภีร์แห่งจารีตประเพณี เล่มที่ 29 นั้น ขงจื๊อได้เล่าให้ จี้ ขัง (Chi K’ang) ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาได้รับคำบอกเล่าจาก เล่าจื๊อ ถึงเรื่องกษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์ในสมัยบูรพกาล และในคัมภีร์นี้ เล่มที่ 5 ขงจื๊ออ้างถึงคำกล่าวของ
เล่าจื๊อถึงสี่ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องประเพณีในการฝังศพเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการเล่าเรื่องของขงจื๊อและของเล่าจื๊อไปในทำนองที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ในกาลเวลาต่อมาหลายยุคหลายสมัย สานุศิษย์ของนักปราชญ์ทั้งสองท่านนี้มีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ในทำนองเดียวกันกับปรมาจารย์ของตน  ซึ่งแต่ละท่านมีความยิ่งใหญ่ในทรรศนะของตน ซึ่งเป็นทรรศนะที่แตกต่างกันอย่างมากมาย

ขณะที่ขงจื๊อไปเยี่ยมเมืองโล้นั้น ขงจื๊อได้ไปเยี่ยมสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อความคิดและงานนิพนธ์ของขงจื๊อในตอนหลังเป็นอย่างมาก ขงจื๊อได้ไปเดินเล่นที่บริเวณที่เขาจัดไว้เป็นสถานที่บูชาสวรรค์และดิน เขาได้ไปเยี่ยมพระที่นั่งมหาวิหาร (The Hall of The Grand Temple) อันเป็นสถานที่จัดพิธีบวงสรวงพระวิญญาณของบรรพบุรุษของพระเจ้าแผ่นดิน ในพระที่นั่งมหาวิหารนี้ มีรูปหล่อโลหะเป็นรูปบุคคลคนหนึ่ง มีเข็มกลัดติดอยู่ที่ริมฝีปากของเขาสามเล่ม ที่หลังของรูปโลหะนั้น มีอักษรจารึกเป็นข้อความว่า

จงระมัดระวังคำพูดของท่าน
อย่าพูดมากเกินไป
เพราะการพูดมากจะนำไปสู่ความหายนะ

ขงจื๊อ มีความประทับใจในคำจารึกนี้เป็นอันมาก ถึงกับกล่าวกับสานุศิษย์ของท่านว่า

“คำจารึกนี้มีความจริงอยู่มาก เป็นคำกล่าวที่สะเทือนใจของเราจริงๆ”

หลังจากนั้น ขงจื๊อถูกพาไปชมพระที่นั่งแห่งแสงสว่าง (The Hall of Light) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินใช้ต้อนรับเจ้าปกครองนครของแว่นแคว้นต่างๆ บนฝาผนังของพระที่นั่งแห่งนี้มีภาพเขียนพระฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แต่โบราณ รวมทั้งพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าเย้า (Yao) พระเจ้าซุน (Shun) พระเจ้าเหวิน (Wen) และ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว ซึ่งทรงอุ้มพระราชกุมารพระเจ้าเจ็ง (Cheng) ไว้ในตัก ความสง่าราศีปรากฏบนพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ ความโอ่โถงของพระที่นั่งและความงดงามของพระวิหาร ประกอบด้วยความสง่าน่าเกรงขามของพระมหาอุปราช ทั้งหมดนี้ประทับใจของขงจื๊ออย่างลึกซึ้งมาก จนต้องหันไปกล่าวอุทานกับผู้ที่ร่วมทางไปด้วยว่า

บัดนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วถึงปรีชาญาณของพระมหาอุปราช และเหตุผลที่ว่าทำไมราชวงศ์โจว จึงบรรลุถึงความเป็นเลิศในด้านพระราชอำนาจ เราใช้กระจกเงาเพื่อฉายดูรูปแบบของสิ่งต่างๆ ฉันใด เราศึกษาโบราณคดีก็เพื่อจะได้เข้าใจสภาพการณ์ของปัจจุบันฉันนั้น

ถึงแม้ว่าขงจื๊อจะมิได้พำนักอยู่ที่เมืองโล้เป็นเวลานานแต่การเยี่ยมของเขาในครั้งนั้นทำให้เขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของจีน เป็นการเปิดทรรศนะวิสัยใหม่เพื่อเขาจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ขณะเดียวกันก็เป็นประจักษ์พยานพิสูจน์ให้เขาเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โจว

เมื่อขงจื๊อกลับมาสู่แคว้นหลู ขงจื๊อปฏิบัติงานสอนของตนต่อไป ชื่อเสียงของขงจื๊อระบือไปไกลอย่างกว้างขวาง คนหนุ่มจากทุกหนทุกแห่งและจากพื้นเพต่างๆ กัน ผู้มีความทะเยอทะยานต่างกระหายอยากจะศึกษาวิชาโบราณคดี การปกครอง และจารีตประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในสมัยโบราณ ต่างมารุมล้อมศึกษากับขงจื๊อ

จนกระทั่งเมื่อขงจื๊อล่วงเข้าวัยห้าสิบปีแล้ว ขงจื๊อจึงเข้าสู่วงการของบ้านเมืองเมื่อเขาอายุได้ห้าสิบสองปี เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษา ของเมือง จุงตู (Chung-Tu) ต่อมาไม่นานนักเขาได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ต่อมาเมื่อเขาจำเป็นต้องออกจากหน้าที่ราชการบ้านเมืองของแคว้นหลูแล้ว เขาใช้เวลาในต่างแคว้นพร้อมกับสานุศิษย์จำนวนหนึ่งเป็นเวลานานประมาณสิบสาม สิบสี่ปี ท่องเที่ยวไปสอนไปเยี่ยมคำนับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในสมัยนั้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดเขาได้รับคำสั่งให้กลับไปยังแคว้นหลู ขณะนั้นเขาเป็นคนสูงอายุวัยหกสิบแปดปีแล้ว แทบจะไม่มีอิทธิพลอันใดในบ้านเมือง เนื่องจากความคิดเป็นอันตรงไปตรงมาของเขามักจะถูกคนที่มีความอิจฉาริษยาคอยขัดขวางอยู่เสมอ ฉะนั้นเขาจึงหันไปใช้วิธีการทางอ้อม แต่ได้ผลแน่นอนกว่า เขาจึงอุทิศเวลาทั้งหมดที่เหลืออยู่เพื่อสอนคนหนุ่มและเพื่อการรวบรวมบันทึกเอกสารที่มีมาแต่โบราณต่างๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นคำสอนของเขา

ในปี 482 ก่อน ค.ศ. เขาสูญเสียบุตรชายคนเดียวของเขาและในปี 481 ก่อน ค.ศ. เขาสูญเสียศิษย์รักของเขา เยิน หุย (Yen Hui) ในปี 479 ก่อน ค.ศ. ขงจื๊อได้ถึงแก่กาลมรณะขณะที่เขาอายุได้เจ็ดสิบสามปี ศพของเขาถูกฝังไว้ที่เมือง ฉู่ ฝู (Chu-fu)

งานของท่านปรมาจารย์ขงจื๊อ มีความมุ่งหมายอยู่สามประการคือ เพื่อรับใช้บ้านเมือง เพื่อสั่งสอนวิทยาการแก่คนหนุ่ม และเพื่อบันทึกวัฒนธรรมของจีนไว้ เพื่อเป็นมรดกสำหรับคนรุ่นหลัง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ