วิวัฒนาการของโลกจักรวาลแบบเล่าจื๊อ

Socail Like & Share

มีหลักอยู่สามประการที่จะต้องระลึกถึงที่เกี่ยวข้องกับเต๋า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของโลกจักรวาล

หลักอันที่หนึ่ง กล่าวได้ดังนี้

สรรพสิ่งทั้งปวงในโลกเกิดขึ้นมาจาก หยู (Yu) (ความมีความเป็นหรือ ภาวะ-being)
หยู เกิดขึ้นมาจาก หวู (Wu) (ความไม่มีความไม่เป็นหรือภาวะ-nonbeing)

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง หวูแสดงถึงภาวะที่มีอยู่ก่อนการเกิดของสวรรค์และแผ่นดิน หยู แสดงถึงภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเริ่มแยกตัวออกเป็นอิสระแก่กันและกัน การเปลี่ยนแปลงจาก หวู มาเป็น หยู นั้น เกิดขึ้นได้โดยอาศัยพลังแห่งจักรวาล คือ เต๋า เต๋าถูกหุ้มห่ออยู่ด้วยความลึกลับของจักรวาล แต่เต๋าเป็นบ่อเกิดอันเดียวของชีวิต ของรูป ของเนื้อ และของแก่น

เต้อ ที่ครอบงำสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นเป็นเสียงสะท้อนของเต๋า
เต๋า นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ทราบแน่ว่าเป็นอะไร เป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ทราบแน่ว่าเป็นอะไร เป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ก็ตาม แต่เต๋าก็เป็นแบบ (Form) ของสิ่งทั้งหลาย ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้และไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไรก็ตาม แต่ เต๋าก็เป็นเนื้อ (Substance) ของสิ่งทั้งหลาย ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและลึกลับ แต่ เต๋าก็เป็นแก่น (Essence) ของสิ่งทั้งหลาย แก่นของสิ่งทั้งหลายนั้นคือ ภาวะอันแท้จริงเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสัจจภาวะ

เล่าจื๊ออธิบายถึงกระบวนการของความเป็นมาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า เต๋า ก่อให้เกิด หนึ่ง หรือ มหาปรมภาวะ (The Great Ultimate) จากหนึ่ง ก่อให้เกิดเป็นสอง หรือ ยินและหยัง เป็นพลังปฐมของโลกจักรวาล ประกอบเป็นลักษณะแห่งความเป็นคู่หรือทวิภาวะ ยิน เป็นพลังฝ่ายลบหรือฝ่ายนิ่งเฉย หยัง เป็นพลังฝ่ายบวกหรือฝ่ายเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาระหว่างกันและกันของ ยินและหยัง ทำให้เกิดมี ชีวิต ซึ่งเรียกว่าเป็น สามและจากสามทำให้เกิดเป็นสรรพสิ่งทั้งปวง

หลักประการที่สองคือ  ในกระบวนการของความเป็นมาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ปรากฏการณ์แต่ละอย่างมีความเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามของมัน หรือลักษณะที่ขัดแย้งหรือเป็นฝ่ายลบของมัน โดยเหตุนี้ชีวิตจึงต้องมีความตายตามมา แสงสว่างจึงต้องมีความมืดและความดีจึงต้องมีความชั่ว

ที่ใดที่โลกมองเห็นความงาม ที่นั้นมีความน่าเกลียด
ที่ใดที่โลกมองเห็นความดี ที่นั้นมีความชั่ว
เพราะฉะนั้น ภาวะและอภาวะ จึงเกี่ยวข้องกันและกัน
ความยากและความง่าย จึงเกี่ยวข้องกันและกัน
ความยาว มีความสั้นเป็นความสัมพันธ์
ความสูงก็มีความต่ำเป็นความสัมพันธ์กัน ในทำนองเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ โลกจักรวาลจึงประกอบด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเป็นคู่ ซึ่งมีลักษณะมูลฐานของมัน คือ ภาวะและอภาวะ ความเป็นไปทั้งหลายของโลกจักรวาล การเปลี่ยนแปลงทั้งปวง การเคลื่อนไหวทั้งปวง นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงของอภาวะไปสู่ภาวะ การเปลี่ยนแปลงของความว่างหรือความไม่เป็นตัวเป็นตนไปสู่ความเป็นสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน แต่ถึงแม้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลากฎเกณฑ์ที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง

ในบรรดากฎเกณฑ์ที่ว่านี้ กฎเกณฑ์ที่เป็นหลักเบื้องต้นที่สุดนั้นคือ กฎแห่ง “การทวนวิถีของการเคลื่อนไหวของเต๋า” กล่าวคือ ถ้ามีการเคลื่อนไหวดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวนั้นจะทวนกลับมายังที่เดิม ตัวอย่างเช่น

ความทุกข์ยากเป็นสิ่งส่งเสริมความสุข
ความสุข ก็เหมือนกับเป็นเครื่องแสดงถึงความทุกข์ยาก….
สิ่งที่ถูกต้องอาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ผิด….
สิ่งที่ดี อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ชั่ว

กฎนี้ไม่ได้เป็นความจริงเฉพาะแต่เรื่องของมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นภาวะอันแท้จริงของความเป็นไปทั้งหลายในโลกจักรวาลด้วย
วิถีทางของสวรรค์เป็นเหมือนคันธนูที่น้าว
ถ้าน้าวปลายธนูด้านบนลง ปลายธนูด้านล่างก็จะงอขึ้น

เมื่อลดความเกินพอดีลง ความขาดแคลนก็สมบูรณ์ขึ้น

เล่าจื๊อ เรียกกฎอันถาวรนี้ว่า กฎแห่งธรรมชาติของฉาง (Ch’ang) หรือ ปกติภาวะ

ถ้าหากโลกจักรวาลไม่เจริญรอยตามภาวะปกติของธรรมชาติแล้ว โลกจักรวาลก็คงจะหมดสภาพของมัน เพราะว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก และจะลงทางทิศตะวันออกนั้น คงจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างแน่นอน แต่ธรรมชาติไม่เคยทดลองในสิ่งที่ผิดปกติเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเต๋า ด้วยเหตุนี้ เล่าจื๊อ จึงกล่าวว่า

เมื่อรู้จัก ภาวะปกติของธรรมชาติแล้ว
มนุษย์ก็สามารถรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
เมื่อมนุษย์รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มนุษย์ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว
เมื่อมนุษย์ไม่มีความเห็นแก่ตัว มนุษย์ก็เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
เมื่อมนุษย์มีอำนาจสูงสุด มนุษย์ก็เป็นเทพเจ้า
เมื่อมนุษย์เป็นเทพเจ้า มนุษย์ก็จะอยู่กับเต๋า
เมื่อมนุษย์อยู่กับเต๋า มนุษย์ก็จะเป็นสิ่งนิรันดร

หลักประการที่สาม  ซึ่งเป็นผลของคำสอนเรื่อง วูเว่ย คือ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกจักรวาลนั้นดำเนินไปตามวิถีทางธรรมชาติของมัน ดวงอาทิตย์ส่องแสง น้ำไหล เพราะว่าธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้น พืชและต้นไม้ทั้งหลายเจริญเติบโต แล้วก็ตายไป  เพราะว่าธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้น เล่าจื๊อปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่มีตัวตนผู้มีอำนาจสูงสุด ที่เป็นผู้ควบคุมความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาล เขามีความเห็นว่าสวรรค์และแผ่นดินที่เป็นเครื่องแสดงถึงที่มีตัวตนผู้มีอำนาจสูงสุดนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับความเจริญ และวิวัฒนาการของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นตามวิถีทางธรรมชาติของมันเอง ด้วยเหตุนี้ เล่าจื๊อ จึงกล่าวว่า

โลกจักรวาลนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกหลักจริยธรรม

คุณลักษณะที่มีแฝงอยู่ในสิ่งทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นนั้น เป็นสภาพที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ เหมือนดังแสงรัศมีของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ความเหลวของน้ำ ความเจริญงอกงามของต้นไม้ โลกจักรวาลโดยส่วนรวม คือ สภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนเอง มันไม่มีความปรารถนาหรือความประสงค์อันใดที่ต้องอาศัยหลักจริยธรรม มันเป็นแต่เพียงปล่อยให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามวิถีทางตามธรรมชาติของมันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เล่าจื๊อมิได้ปฏิเสธว่าในโลกจักรวาลนั้นมีพลังอำนาจอย่างหนึ่งอยู่ ซึ่งเป็นพลังอำนาจที่เราไม่สามารถจะรู้จักลักษณะความเป็นไปของมันได้ พลังอำนาจอันนั้นที่จริงแล้วก็คือ เต๋า ซึ่งอาจอธิบายลักษณะได้โดยภาวะอันสงบนิ่งของมัน การที่มันเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ แต่ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสิ่งที่มันสร้างขึ้น การกระทำของมันโดยไม่อ้างว่าตนเป็นผู้กระทำ การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเจริญเติบโตขึ้นโดยที่มันไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปครอบงำแต่อย่างใด เต๋า มีลักษณะไม่เป็นบุคคลและไม่เคยมีความรู้สึกถึงภาวะความเป็นอยู่ของมันเองเลย ถึงแม้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะต้องพึ่งภาวะความเป็นอยู่ของเต๋า เต๋าเป็นความว่าง เป็นสิ่งที่ปราศจากรูป ตามความเป็นจริงแล้ว เต๋าไม่ได้สร้างโลกจักรวาลและก็ไม่สามารถสร้างโลกจักรวาลขึ้นได้ด้วย เมื่อเรากล่าว่า เต๋า เป็นผู้สร้างโลกจักรวาล เราหมายถึงแต่เพียงว่า โลกจักรวาลนั้นเป็นผู้สร้างตัวของมันเองตามวิถีทางอันเป็นธรรมชาติของมัน โดยไม่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากโลกจักรวาลเป็นผู้สร้างตัวของมันเอง ฉะนั้นโลกจักรวาลต้องดำเนินไปตามวิถีทางตามธรรมชาติของมันโดยไม่มีการปรุงแต่งแต่อย่างใด นี้คือหลักขั้นมูลฐานของคำสอนของเล่าจื๊อ เรื่อง หวูเหว่ย

จริงอยู่ ความคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เนื่องจากว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องอาศัยความเข้าใจความหมายของเต๋า เป็นหลัก ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เล่าจื๊อเข้าใจถึงความยุ่งยากอันนี้ จึงกล่าวว่า

บุคคลผู้มีสติปัญญาอันสูงสุดนั้น เมื่อได้ยินเรื่อง เต๋า
ก็ปฏิบัติตามด้วยความเอาจริงเอาจัง
บุคคลผู้มีสติปัญญาธรรมดา เมื่อได้ยินเรื่อง เต๋า
ก็ไม่มีความสนใจแต่อย่างใด
บุคคลผู้มีสติปัญญาต่ำนั้น เมื่อได้ยินเรื่อง เต๋า
ก็ส่งเสียงหัวเราะดัง
ถูกแล้ว ถ้าบุคคลผู้มีสติปัญญาต่ำ ไม่หัวเราะแล้ว
เต๋า ก็ไม่ใช่ เต๋า

ที่มา:สกล  นิลวรรณ