ความเป็นมาเกี่ยวกับพระอิศวร

Socail Like & Share

พระศิวะ
“โอมปรเมศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่างเพชรกล้า ฆ่าภิฆจนนรย”

ผมคัดบทสดุดีพระอิศวรจากโอการแช่งน้ำมาเจิม เพื่อให้เรื่องนี้ขลังสมกับเป็นเรื่องของเทพยิ่งใหญ่ ในรำพันพิลาปของสุนทรภู่ ท่านก็พรรณนาถึงพระอิศวรไว้เหมือนกัน คือ

“ขอเดชะพระสยมบรมนาถ                 เจ้าไกรลาสโลกามหาสถาน
ทรงวัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล    ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์
ประกาศิตอิทธิเวทวิเศษประเสริฐ        ให้ตายเกิดสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
ตรัสอย่างไรเป็นไปเหมือนอย่างนั้น     พระโปรดฉันเชิญช่วยอำนวยพร”

เรื่องพระอิศวรหรือพระศิวะนี้ ผมได้เล่าเคล้าๆ ไปในเรื่องเทพองค์อื่นๆ ไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องพระนารายณ์ และพระพรหมาครับ และได้วิสัชนาเสร็จว่าพระนารายณ์ พระพรหมา และพระอิศวร องค์ไหนจะใหญ่ยิ่งกว่ากัน ลองย้อนไปอ่านอีกทีนะครับ

เรื่องของพระอิศวรเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ครับ ผมจะต้องเขียนยาวแน่ ขนาดย่นย่อแล้วก็ตาม จะเขียนสั้นนิดเดียวจบไม่สมกับความยิ่งใหญ่ของเทพองค์นี้หรอก จบองค์นี้แล้ว ก็เหลืออีกองค์เดียวคือ พระอุมา ก็แปลว่าจบกันจริงๆ ละครับ ต่อจากนั้นผู้อ่านกับผมคงหาเวลาคุยกันได้ยากเต็มที

ที่จริงพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นเทพยุคหลังพระอินทร์ครับ ในสมัยไตรเพทไม่มีเทพพระอิศวรนี้หรอก แต่จะว่าไป ในสมัยพระเวทก็มีเทพองค์หนึ่งคือ พระรุทระ ต่อมาบรรดาพราหมณ์ก็ลงมติว่า คือพระอิศวรหรือพระศิวะนั่นเอง ฉะนั้นผมก็ต้องบรรยายถึง พระรุทระ กันก่อนละ ในสมัยไตรเพทเทพองค์นี้มีอำนาจพระเดชล้นพ้น มีริมฝีปากงาม ร่างกายแข็งแกร่ง ปราดเปรียด หนุ่มและครองโลกไม่รู้จักชรา กายเป็นสีทองแดง แต่ก็ปรากฎในร่างต่างๆ ได้เสมอ สามารถเปล่งประกายดังแสงตะวัน และว่ากันว่ามีดวงตานับพัน ท้องและคอเป็นสีน้ำเงิน มีหนังเสือเป็นอาภรณ์และอาศัยอยู่ในขุนเขาทางทิศเหนือ มีวชิระหรือสายฟ้าเป็นอาวุธ รวมทั้งธนูและศร พระรุทระนี้นัยว่าดุร้ายจนบางครั้งได้รับฉายาว่าผู้ฆ่าคน บรรดาทวยเทพก็เกรงกลัวอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นในยุคพราหมณะเลยกำหนดให้พระรุทระท่องอยู่ในเขตขุนเขาทางทิศเหนือ ไม่เหมือนเทพองค์อื่นๆ ที่สถิตอยู่ในสวรรค์ อ้อ มิใช่ว่าเทพองค์นี้จะทารุณโหดเหี้ยมไปหมดหรอก เพราะนัยว่าสามารถประทานพรและโชคลาภ โดยเฉพาะด้านการแพทย์แล้ว ท้าวเธอมีตัวยานับพันขนาน จึงกล่าวได้ว่าพระรุทระเป็นใหญ่เหนือการสรรเสริญยัญกรรม และบำบัดโรค

พระรุทระ มาจากมูลศัพท์ว่า “รุท” แปลว่าร้องไห้คร่ำครวญ เหตุไฉนเทพที่สำคัญถึงได้ฉายาอย่างนี้เล่า ก็มีมูลเหตุครับ คือพอเกิดออกมาก็คึกฤทธิ์ทันที คือร้องไห้จ้า พระประชาบดีผู้เป็นเทพบิดรถามเหตุผล ท้าวเธอก็บอกว่าอยากได้ชื่อ พระประชาบดีจึงให้ชื่อว่า พระรุทระ ถึงแม้ได้ชื่อแล้วก็ยังไม่พอใจร้องไห้อีก จนได้ชื่อถึง ๘ ชื่อ คือ ภพ สรรพ ปศุบดี อุครเทพ มหาเทพ รุทระ อีศาน และ อศนี ในชั้นหลังคือชั้นอุปนิษัท (ได้เล่าแทรกเรื่องอุปนิษัทในตอนอื่นแล้วละ) นัยว่าพระรุทระมีความสำคัญขึ้นอีก จึงได้นามอีกว่า มเหศวร

ก็พระรุทระนี้ละครับคือพระอิศวรหรือพระศิวะละ แต่นั่นแหละ บางตำนานก็ว่า พระรุทระนั้นเดิมทีเป็นเทพประจำพายุ ต่อมาเฟื่องฟูขึ้นแล้วแต่แยกออกเป็นสององค์ได้รับขนานนามขึ้นใหม่ องค์หนึ่งคือพระศิวะ เป็นเทพอยู่บนเขา อีกองค์หนึ่งมีนามว่าวิษณุ (นารายณ์) เป็นเทพอยู่ทะเล แต่ว่าเป็นที่ยอมรับกันส่วนมากว่าพระรุทระคือพระอิศวร

ตรงนี้แทรกนิด ที่ผมว่าพระรุทระแสดงความคึกฤทธิ์ขอชื่อนั้น ผมเทียบเล่นๆ กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ครับ เพราะตามประวัติท่านได้ชื่อคึกฤทธิ์ก็เพราะการร้องจ้าเหมือนกัน คือเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีพระพันปีหลวง ได้เสด็จประพาสมณฑลพิษณุโลกพร้อมด้วยเจ้านายในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ หลายพระองค์ ครั้งนั้นพระ
วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรพได้ปลูกพลับพลารับเสด็จ และได้ทรงอุ้ม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้บุตรเข้าเฝ้าด้วย สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรับมาอุ้ม เด็กน้อยคนนั้นได้แสดงฤทธิ์เต้นและร้อง สมเด็จพระพันปีหลวงจึงพระราชทานชื่อให้ว่า คึกฤทธิ์

ครับ  ขอเดินเรื่องต่อไป ตอนที่พระรุทระมาเป็นพระศิวะนี่ต้องชมบรรดาพราหมณ์ครับ เพราะเก่งชมัดสร้างนิยายได้ดีแท้    ได้กล่าวแล้วนะครับว่าในสมัยไตรเพทน่ะไม่มีพระศิวะมีแต่พระรุทระ ทีนี้เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้สร้างพรหมขึ้นเป็นใหญ่แล้ว ก็พยายามหาเหตุผลจูงใจให้เข้าหาพระพรหม งดสร้างเรื่องเทพต่างๆ ทั้งพยายามสร้างเรื่องชนิดที่เรียกว่า “ป้ายสี” เทพอื่นๆ ให้เสื่อมฤทธิ์ มีความประพฤติไม่เหมาะสมจรรยาบรรณเทวดาว่างั้นเถอะ  ซึ่งเป็นเรื่องของเทพที่ประชาชนสร้างขึ้น ไม่ใช่พวกพราหมณ์สร้าง เทพที่ประชาชนสร้างนั้นก็มีหลายเรื่อง เช่น พระวิษณุ พระศิวะ และเจ้าแม่กาลี เป็นต้น แต่พราหมณ์นั้นฉลาดครับเรื่องใดที่ประชาชนเขานับถืออยู่แล้ว ก็ไม่บอกว่าไม่จริงแต่ดึงเข้าไปสู่เทพของตน โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว ตัวอย่างเห็นง่ายๆ ก็คือว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ คือไม่ทำลาย กลับยกย่อง แต่ยกย่องเข้าหาเรื่องของตน ส่วนการป้ายสีนั้นพราหมณ์ก็ไม่กล้าแตะต้องเทพเจ้าดุๆ เหมือนกัน เช่นพระรุทระซึ่งขึ้นชื่อว่าดุร้าย พระวรุณซึ่งมีหน้าที่ตำรวจคอยจับผู้ผิดส่งให้พระยม ก็แปลว่าพราหมณ์กลัวตำรวจ กลัวความตายเหมือนกันละครับ จึงไม่กล้าสร้างนิยายให้เสื่อมโทรมลงหรอก ในสมัยยุคต้นพุทธกาลน่ะประชาชนในอินเดียเขานับถือพระนารายณ์และพระศิวะ พราหมณ์ก็จำเป็นต้องดึงเข้าหาพรหมให้ได้ละครับ ทีนี้ก็พิจารณาว่าพระศิวะและวิษณุอวตารจากเทพองค์ไหนดีถึงจะเหมาะสมกับแคแรกเตอร์ จึงตกลงว่าต้องเป็นพระรุทระเป็นเหมาะที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องปรับปรุงพระรุทระใหม่ให้เกิดจากพรหม แล้วก็สร้างนิยายว่า ครั้งหนึ่งพระพรหมกำลังบำเพ็ญตบะภาวนาอยู่ใกล้กองไฟ ความร้อนทำให้เหงื่อไหล จึงเอาไม้ปาดที่หน้าผาก เผอิญไม้ทิ่มเอาจนโลหิตไหลหยดลงบนกองไฟ เกิดเป็นพระรุทระขึ้น เมื่อปรับปรุงว่าพระรุทระเกิดจากพรหมแล้วก็เลยประกาศว่าได้ยินจากพระพรหมว่า พระศิวะพระวิษณุไม่ใช่ใครหรอก พระรุทระแบ่งภาคออกไปเอง ภาคหนึ่งเป็นพระศิวะรักษาภูเขา อีกภาคหนึ่งเป็นพระวิษณุรักษาทะเล ประชาชนก็ชอบครับ เพราะไม่ได้ทำลายของที่เขานับถือ กลับยกย่องให้สูงขึ้นอีก เหตุนี้แหละที่ถือว่าพระศิวะและพระวิษณุเป็นองค์เดียวกับพระรุทระ แต่ส่วนมากก็หมายถึงพระศิวะองค์เดียวเท่านั้น และเรื่องกำเนิดพระรุทระนี้ก็สับสนเต็มที บ้างก็ว่าพระรุทระเป็นโอรสของพระกัศยปะกับนางสุรภี ถึงอย่างไรก็ตามก็ทำให้เรื่องพระศิวะ พระนารายณ์แตกกอไปมากละครับ

ก็เดินเรื่องพระอิศวรต่อนะครับ คำว่า “อิศวร” แปลว่าพระเป็นเจ้า ตามศาสนาพราหมณ์ถือว่เป็นผู้ทำลาย ผู้ทำให้สูญ แต่ตามหลักศาสนานี้ บรรดาสรรพสัตว์ไม่ตายสูญไปเลย ถือว่าท่องเที่ยวในวัฏสงสาร หมายความว่าตายแล้วเกิดใหม่นั่นแหละ ฉะนั้นการทำลายล้างถือว่าเป็นของดีครับ เหมือนทำให้สะอาดปราศจากมลทินโทษแล้วจึงได้เกิดใหม่ และโดยลักษณะที่ว่านี้ละครับจึงได้เรียกพระผู้เป็นเจ้าผู้บันดาลให้เกิดความสะอาดนี้ว่า พระศิวะ และ พระสังกร นับว่าเป็นมงคลนาม และโดยเหตุที่ล้างแล้วทำให้เกิดขึ้นใหม่เสมอ จึงเรียกว่า พระอิศวร หรือ พระมหาเทพ ส่วนเครื่องหมายแห่งพระอิศวรในหน้าที่ผู้สร้างขึ้นใหม่นั้น คือ พระศิวลึงค์ อันเป็นเครื่องหมายของการเกิด (ผมได้เคยเขียนเรื่องศิวลึงค์เป็นเรื่องต่างหากไปแล้วคุณต่วยรวมเล่มอยู่ในหนังสือประสาพาสำราญครับ)

ขอสรุปคอนเส็บต์ตรงนี้สักนิดเถอะ คือ ถือว่า
๑. พระพรหมา มีหน้าที่สร้างโลก
๒. พระวิษณุ มีหน้าที่บริหารโลก
๓. พระศิวะ มีหน้าที่ทำลายโลกตามกาละที่หมดยุคหนึ่งๆ เพื่อปรับปรุงให้โลกสะอาดปราศจากมลทิน

ตรงนี้มีนักปราชญ์ทางศาสนาให้แง่คิดว่าพอจะเข้ากับพุทธศาสนาได้เหมือนกันแหละ เป็นในแง่ธรรมาธิษฐานคือโลกเรานี้มีอาการปรากฎอยู่เป็นสามขณะด้วยกัน คือ อุปปาทขณะ คือระยะกาลที่เกิดขึ้น ซึ่งเทียบกับพราหมณ์ก็คือพรหมาผู้สร้างโลก  ฐิตขณะ คือระยะกาลที่โลกดำรงอยู่ ก็เทียบได้กับพระวิษณุผู้บริหารโลก ภังคขณะ คือระยะกาลที่สลายของโลก เทียบเป็นรูปธรรมก็คือ พระศิวะผู้ทำลายโลก เห็นไหมล่ะครับ พุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ก็มีอะไรที่พอจะเทียบๆ กันได้มากเชียวแหละ

จะว่าไปพระอิศวรหรือศิวะไม่ใช่จะทำลายทีเดียวหรอก  ท้าวเธอประสาทพรให้ใครต่อใครได้ง่ายชะมัด จนเทวดาหรือยักษ์ที่ได้พรจากพระอิศวรพากันเหลิงอำนาจ ประพฤติตนไม่ดี (ซึ่งก็เหมือนมนุษย์เรายามใส่หัวโขนละ) เมื่อเป็นเช่นนี้พระอิศวรก็ต้องเชิญพระนารายณ์ไปปราบ พระนารายณ์ก็ต้องอวตารไปปราบไม่รู้ว่ากี่หนกี่ครา เช่น ปราบหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน ไปปราบนนทุกที่ได้พรนิ้วเพชร พระนารายณ์อวตารเป็นอัปสรหลอกให้นนทุกรำตาม นนทุกรำเพลินหลงเอานิ้วชี้ตัวเองก็เลยตาย และที่ปราบยากนักหนาก็คือปางนรสิงหาวตาร คือ อรันตอสุ ได้พรว่าไม่ให้ตายด้วยมือเทวดา มนุษย์ นาค ครุฑ ฤาษี อสูร ปิศาจ ไม่ให้ตายทั้งนอกเมืองในเมือง ไม่ให้ตายในเวลากลางวันกลางคืน พระนารายณ์อวตารเป็นนรสิงห์ไปปราบ ฆ่าด้วยกรงเล็บที่ประตูเมืองในเวลาสนธยา และก็มีผู้ได้รับพรจนพระนารายณ์ปราบไม่ได้ก็มี เช่น ตรีบูรัมในเรื่องรามเกียรติ์ พระอิศวรต้องปราบด้วยดวงตาที่สาม ในรามเกียรติ์มีว่า

“อันตรีบูรัมขุนมาร               สังหารด้วยศรแล้วไม่ได้
จำจะฆ่าเสียด้วยตาไฟ         ให้ม้วยไหม้เป็นภัศมธุลีกัลป์
ตรัสแล้วจับกล้องมณี           กวัดแกว่งรัศมีฉายฉัน
ส่องเนตรจำเพาะกุมภัณฑ์    ด้วยฤทธิ์อันชัยชาญ
บัดนี้                                  ……………………………
ทั้งตรีบูรัมขุนมาร                 ก็วายปราณด้วยพระศุลี”

บางเรื่องพระอิศวรให้พรแล้ว ต้องทำให้พระองค์เองวิ่งหนี คือครั้งหนึ่งพระอิศวรประทานพรให้แก่พฤกาสูรอันเป็นลูกของพระกัศยปะ โดยให้พฤกาสูรมีมือหนึ่งที่มีฤทธิ์เดชดุจเพลิงกรด เมื่อแตะบนหัวใครผู้นั้นจะไหม้เป็นจุล พฤกาสูรสงสัยว่าพรนั้นจะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ อยากลองของดู แต่พิเรนจำเพาะจะลองของกับผู้ให้พร พระอิศวรก็เลยต้องเผ่น พฤกาสูรก็วิ่งไล่ตาม ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องแปลงเป็นมาณพแล้วก็บอกว่า พฤกาสูรนี่โง่จริงๆ พรนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร อยากลองก็ลองกับตนเองได้นี่นา พฤกาสูรเพื่อนก็งี่เง่าจริงๆ เหมือนกัน ก็ทดลองกับตนเองเอามือแตะบนหัวของตน ได้ผลครับ คือตายสนิท

ส่วนกำเนิดพระอิศวรที่แตกกอไปนั้น ก็ทำนองเดียวกันกับเรื่องพระพรหม พระนารายณ์นั่นแหละ สุดแล้วแต่ใครจะนับถือใครเป็นใหญ่ก็สร้างนิยายขึ้น อย่างเรื่องพระอิศวรนี้กล่าวว่า เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ไหม้โลกแล้ว อากาสยังว่างเปล่าอยู่ สารพัดมาประชุมกันเข้าบังเกิดเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งมีนามว่า “พระปรเมศวร” จากนั้นพระปรเมศวร ก็สร้างพระพรหมา พระวิษณุช่วยกันสร้างโลก พระปรเมศวรองค์นี้ก็คือพระอิศวรนั่นเอง ตอนนี้แหละพระอิศวรได้นามอีกว่า พระสวยัมภู พระสยมภู สามภู แปลว่าเกิดขึ้นเอง นี่เป็นเรื่องของพวกที่นับถือพระศิวะนะครับ เรียกว่า ไศวนิกาย หรือไศพยนิกาย ยิ่งไปกว่านั้นบ้างก็ว่าสร้างพระอุมาตอนนี้ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างโลก สร้างมนุษย์

เรื่องความสับสนในเรื่องบรรเทวดาทั้งหลายที่ผมเล่าๆ มาจนเกือบจะจบครบองค์นี่นะ เป็นธรรมเนียมของศาสนาพราหมณ์เขาละ ทั้งนี้เพราะศาสนาพราหรมณ์เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดก็ว่าได้และมีความสุขุมคัมภีรภาพและเปลี่ยนแปลงมาหลายทอด ศาสดาของศาสนาพราหมณ์ก็ไม่ใช่มีองค์เดียวเหมือนศาสนาอื่นๆ และไม่มีหัวหน้าเป็นมนุษย์ แต่เป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ การควบคุมให้เป็นองค์คณะรักษาความถูกต้องจึงทำได้ยาก คัมภีร์พระเวทอันถือเป็นหลัก และเป็นคัมภีร์เก่าแก่ก่อนพุทธศาสนาถึงพันปีขึ้นไป ก็ไม่มีการสังคายนา แม้จะมีการรวบรวมก็เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๕๐ นับว่าห่างจากของเดิมมาก ความคลาดเคลื่อนก็ย่อมจะมี และคัมภีร์นี้ก็ถือเป็นสมบัติของพราหมณ์ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ปิดบัง จะมอบให้แก่ครอบครัวผู้สืบสายเท่านั้น ผิดกับศาสนาพุทธซึ่งมีพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ ไม่ปกปิด มีคณะสงฆ์คอยควบคุมและถ้ามีการขัดแย้งกันก็มีการวินิจฉัยด้วยวิธีการสังคายนา ด้วยเหตุนี้ละครับ เรื่องเทวดาทั้งหลายจึงเกิดความสับสน มีนักปราชญ์ทางศาสนาคือหลวงวิจิตรวาทการ ได้ให้ข้อสังเกตพอจะย่นย่อได้ดังนี้

๑. ในสมัยอริยกะแท้ เทพเจ้าทั้งหลายมีขึ้นเอง หรืออย่างน้อยก็ไม่มีใครตั้งปัญหาถามว่า เทพเจ้าองค์นั้นเป็นลูกใคร หรือใครสร้างเพราะถือว่าเป็นเทพเจ้าแล้ว ก็พอจะมีสมรรถภาพเกิดขึ้นเองได้ แม้ความเชื่อของชนเจ้าของถิ่นเดิมของอินเดียก็ไม่ปรากฎว่า ต้องมีใครสร้างเทพเจ้า ไม่มีความจำเป็นต้องรู้ว่าเทพเจ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ถือว่ามีอยู่แล้ว ก็ควรเคารพบูชาต่อไป

๒. มาถึงสมัยพระเวท การคิดค้นหาเหตุผลได้มีขึ้น ก็เริ่มคิดกันว่าสิ่งนั้นมาจากอะไร หรือเกิดขึ้นได้อย่างไร พวกพราหมณ์ก็ต้องทำความพอใจให้แก่ความอยากรู้เรื่องที่ใครเป็นลูกใคร หรือใครเกิดจากอะไร จึงได้มีขึ้นในสมัยพระเวท แต่ก็เป็นความพยายามในขั้นต้น ซึ่งเป็นไปในลักษณะนามธรรม เช่นพระอินทร์เป็นลูกพระสัจจะคือเกิดจากความจริง

๓. วิธีการในสมัยพระเวท ที่เป็นไปในลักษณะนามธรรมนั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจของคนนัก ในสมัยพระเวทนี้เองจึงต้องอธิบายให้กระจ่างเข้าไปอีก คือเกิดพระปชาบดีหรือพระเทพบิดรเป็นผู้ให้กำเนิด และให้กำเนิดอย่างมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่เนรมิต คือมีชายา แล้วให้ลูก

๔. ต่อมาก็เลยเกิดตำนานมากมาย ตำนานเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเทพเจ้าองค์นี้เป็นลูกขององค์นั้น และตำนานตางๆ นี้ไม่มีใครจะควบคุมให้ลงรอยกันได้ จึงเกิดความสับสนมาก บางตำนานก็ว่าเทพองค์นั้นเป็นลูกขององค์นั้น อีกตำนานหนึ่งก็แย้งกันเช่น เรื่องพระทักษะเป็นลูกพระอทิติ อีกตำนานหนึ่งว่า พระอทิติเป็นลูกพระทักษะ เป็นต้น

๕. เมื่อเกิดความขัดแย้งกันมากเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่พราหมณ์เองก็จำไม่ได้ เมื่อลัทธิศาสนาพราหมณ์ได้กลายมาเป็นศาสนาฮินดูและเกิดพระอิศวรในลัทธิฮินดู ก็เลยเหมาเทวดาหลายองค์ เช่น ดาวนพเคราะห์ต่างๆ ซึ่งเป็นเทพในสมัยพระเวทมาแล้วก็ให้พระอิศวรเป็นผู้สร้างเสียเลย

นี่แหละครับเป็นเหตุผลของความยุ่งยาก และเป็นเรื่องของความสุขุมคัมภีรภาพละ
ตอนนี้จะว่าถึงนามพระอิศวรละครับพระอิศวรน่ะมีนามนับพันเชียวนะ และส่วนมากก็มีเรื่องนิยายประกอบด้วย อย่างที่เล่าข้างต้นว่าพระอิศวรเป็นผู้ทำลายน่ะ ก็ได้นามว่า “พระหระ” แปลว่าพระผู้ทำลาย

ตอนที่เชิญพระแม่คงคาจากสวรรค์ อย่างที่ผมได้เล่าไว้ในเรื่อง คงคาเทวี แล้ว พระคงคามีน้ำโหเสด็จจากสวรรค์อย่างเชียวโกรก พระอิศวรเกรงว่าน้ำจะท่วมโลก ก็ทรงคลีมวยพระเกศารับพระแม่คงคาไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำลงมา ตอนนี้พระอิศวรได้นามอีกว่า คงคาธร แปลว่า ทรงไว้ซึ่งพระคงคา และนัยว่าพระอิศวรได้พระคงคาเป็นชายา จึงได้นามอีกว่า คงคาสิริ แปลว่าสามีพระคงคา

ตอนพระจันทร์ไปลักนางดาราชายาพระพฤหัสบดี จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามเทวดา อย่างที่ผมเล่าไว้ในเรื่อง พระจันทร์ แล้ว พระจันทร์ถูกเทวดามติไม่ให้เข้าเทวสมาคม พระอิศวรสงสารพระจันทร์เพราะพระอุมาขอร้อง (พระอิศวรเกรงใจมเหสีหลายเรื่องครับ) จึงเอาพระจันทร์ติดไว้เหนือพระนลาฏ(หน้าผาก) เข้าเทวสมาคม ตอนนี้พระอิศวรได้นามอีกว่า “จันทรเศขร, ศศิเศขร และ จันทรจุฑา” แปลเอาความว่า มีพระจันทร์เป็นปิ่น บางตำนานก็ว่าพระอิศวรเอาพระจันทร์ติดไว้ที่พระเมาลี (ยอด,ผมจุก) จึงได้นามว่า “จันทรเมาลี” มีพระจันทร์ที่มวยผม บางตนานว่าเอาพระจันทร์ติดไว้ที่พระนลาฏ ล้อมตาที่สามของพระองค์จึงได้นามว่า “จันทรเษกระ” แปลว่าผู้มีพระจันทร์อยู่บนนลาฏ แต่เรื่องกำเนิดพระจันทร์นั้นบางตำนานก็ว่าพระจันทร์เกิดจากกวนน้ำอมฤต แล้วพระอิศวรก็เอาเป็นปิ่นทันทีเป็นของที่ระลึกว่างั้นเถอะ ในลิลิตนารายณ์สิบปาง มีว่า

ที่ห้าขึ้นจากน้ำ        คือจันทร์
รังสิสกาวเย็น          เนตรไซร้
องค์พระศิวะพลัน     ฉวยฉับ
ทรงทัดแทนปิ่นไว้    แทบศีร์

บางเรื่องก็เนื่องจากพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะที่เรียกว่าไศวนิกายน่ะ ได้พยายามสร้างนิยายให้พระอิศวรใหญ่ยิ่งสุดยอด คือมีเรื่องว่าครั้งหนึ่งพระนารายณ์พระพรหมาเหาะไปเฝ้าพระอิศวร แต่เข้าไม่ได้ เพราะมีศิวลึงค์ตั้งขวางอยู่ พระพรหมาและพระนารายณ์ก็ทำพิธีบำเพ็ญตบะ พระอิศวรก็ทรงปรากฎกายให้เห็น ซ้ำยังมีพระทัยดีให้พรตามที่ขออีก พระพรหมาขอพรให้พระศิวะเป็นบุตร พระอิศวรเห็นว่าขอมากเกิดไปซะแล้ว เลยสาปให้พระพรหมาไม่ให้มีใครนับถืออีก คือเสื่อมจากความศรัทธาของประชาชน นี่แหละครับเป็นผลให้ประชาชนในอินเดียนับถือพระพรหมาน้อยมาก ส่วนพระนารายณ์ขอพรดีหน่อย คือขอให้ตนเองเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระอิศวรเสมอไปเป็นนิจนิรันดร พระอิศวรก็ชอบซิครับ เลยให้พรว่าพระนารายณ์สามารถอวตารแบ่งภาคเป็นพระอุมา เรื่องนี้ดูจะสร้างนิยายเพลินไปจริงๆ

อีกเรื่องหนึ่ง นัยว่าพระอิศวรเล่าให้พระอุมาฟังว่า เมื่อโลกไหม้ด้วยไฟบรรลัยกัลป์หมดแล้ว ก็มีแต่น้ำทั่วไป พระอิศวรได้กรีดพระเพลาให้โลหิตหยดลงในน้ำเพียงหยดหนึ่ง หยดเดียวจริงๆ หยดโลหิตนั้นก็กลายเป็นไข่ ไข่แตกเป็น ๒ ซีก ซีกหนึ่งเป็นสวรรค์ อีกซีกเป็นโลก ในไข่นั้นมีพระปิตามหะ (แปลว่าพ่อใหญ่เป็นนามหนึ่งของพระพรหมา) เกิดขึ้น พระปิตามหะนี้แหละสร้างมนุษย์สร้างโลก ภายหลังพระพรหมามีปมโด่งมากไป ถือว่าตนเองเป็นผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ พระอิศวรก็เลยตัดเศียรเสีย ตัดไปแล้วก็เสียใจครับ เลยออกบำเพ็ญพรตเป็นโยคีอยู่ตามป่าช้าจนได้นามต่างๆ บางตำนานก็ว่าไม่ใช่หรอก เป็นเรื่องของพระอิศวรเป็นมหาโยคี มุ่งจิตเป็นพราหมณ์ที่ใฝ่ทางสมถะภาวนาและญาณสมาธิ อันเป็นยอดแห่งธรรมปัญญา ก็ในเรื่องที่พระอิศวรเป็นโยคีนี่แหละ จึงมีนามต่างๆ เช่น ทิคัมพร (มีท้องฟ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม คือนุ่งลมห่มฟ้า คือเปลือยกาย) ธุรชฏี (มุ่นผมอันรุงรัง) และเหตุที่พระอิศวรชอบอยู่ตามป่าช้า และมีภูติผีเป็นบริวารจึงได้นามว่า “ภูเตศวร” (เป็นใหญ่ในหมู่ภูต) ทรงประคำทำด้วยหัวกะโหลกคน พระอิศวรจึงได้นามว่า  กปาลมาลิน (มีกะโหลกคนเป็นเครื่องประดับ) และ มุณฑมาลา (มีประคำเป็นหัวกะโหลก)

ตอนเทวดาร่วมือกับยักษ์กวนน้ำอมฤต ซึ่งได้เล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว พระยานาคคายพิษ พระอิศวรมีพระทัยกรุณา เลยดื่มน้ำพิษนั้นก่อนเลยทำให้คอไหม้เป็นสีเขียว จึงได้นามตอนนี้ว่า “นิลกัณฐ์” (คอเขียว) และ ศยามกัณฐ์ (คอดำ) ก็อย่างในเรื่องกามนิตวาสิฏฐีกล่าวเป็นคติดีว่า “ท่านดสมทัตต์ ท่านเข้าใจผิดถนัด ความรักของฉันจะเปรียบด้วยสีดอกไม้ไรๆ ไม่ได้ เพราะฉันได้ยินกล่าวกันว่า ความรักที่แท้จริงไม่ใช่สีแดง ย่อมมีสีดำดั่งสีนิลเหมือนดั่งสีศอพระศิวะเมื่อทรงดื่มพิษร้ายเพื่อรักษาโลกไว้ให้พ้นภัย ความรักแท้จริงต้องสามารถต้านทานพิษแห่งชีวิต และต้องเต็มใจยอมลิ้มรสที่ขมขื่นที่สุด เพื่อเสียสละให้ผู้ที่เรารักคงชีพอยู่ และเพราะด้วยความขมขื่นที่สุดนี้ ความรักย่อมเต็มใจเลือกเอาสีนิล คือความขื่นขมไว้ ดีกว่าจะเลือกเอาสีอื่น คือมุ่งแต่จะหาความบันเทิงสุขอย่างเดียว”

ฮั่นนั่นแน่ ถึงแม้จะเขียนเรื่องเทวดาอันเป็นเรื่องขลัง ผมก็ยังแทรกเรื่องรักหวานอารมณ์ได้เหมือนกัน

บางนามก็น่ารู้ เพราะเกี่ยวข้องกับประเพณีของไทยที่รับจากพราหมร์ครับ นามนี้คือพระนเรศวร์ (เป็นใหญ่ในหมู่คน) คือพิธีโล้ชิงช้าน่ะพราหมณ์เขาถือว่า เป็นการเปิดประตูสวรรค์ให้พระอิศวรเสด็จลงมาเยียมโลกปีละครั้ง ท้าวโลกบาลมาโล้ชิงช้าถวาย จึงได้มีพระยายืนชิงช้า สมมุติเป็นพระอิศวรเสด็จมาทอดพระเนตรทุกข์สุขของประชากรละ หลังจากนี้ก็มี พิธี ตรียัมปวาย (แห่พระอิศวร) เป็นการส่งเสด็จกลับแล้วก็มีพิธี ตรีปวาย (แห่พระนารายณ์) ซึ่งถือเป็นของคู่กันครับ พระอิศวรกระทำตอนเดือนหงาย พระนารายณ์กระทำในตอนเดือนมืด จึงมีคำกล่าวว่า “แห่พระนเรศวร์ เดือนหงาย แห่นารายณ์เดือนมืด” พระนเรศวร์นี้ก็เป็นอีกนามหนึ่งของพระอิศวร

ลักษณะพระอิศวรนั้น ในตอนแรกผมก็เจิมด้วยคำประพันธ์ไว้แล้วนะ จะขอเสริมอีก ในวรรณคดีเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชน่ะ ผมได้คัดมาไว้ในตอนอื่นแล้ว ตอนนี้ก็จะคัดจากลิลิตศรีวิชัยชาดก ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งดูๆ ก็เลียนของเก่าอยู่เหมือนกัน ที่คัดมาจะได้เห็นลีลาความไพเราะอันแตกต่างกันไปนะ มีดังนี้ครับ เป็นตอนชมโฉมพระศรีวิชัย เป็นร่ายครับ

“พิศภูธรงามถงาด เหนือรถราชเรียบพล ดูดำกลแก่เนตร เหตุใดหนอมาสรวงสรรพปักปวงสมโภช เสียงคฤโฆสเนียรนาท ฤาจอมไกรลาสอิศโร ไยบมีโคระวินทรง มหาภุชงค์สังวาลเวศ ฤาท้าวกัมเลศคัลไลย ไยบมีราชวิหคหงษ์ ฤาพระหริวงษ์วรสังข์ บมีบัลลังก์ภุชเคนท์ ฤาจอมสุเรนทรอำมเรศ ไยมิประเวศไอยรา ฯลฯ”

หนังสือจำพวก ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย มีอยู่หลายสำนวนที่สดุดีเทพเจ้าเช่นสำนวนหนึ่งเป็นกาพย์ฉบัง ว่า

“ไหว้องค์มหากาลเทวินทร์          สามเนตรอนิล
สกนธรัตทัดจันทร์
สังวาลวาสุกรีสร้อยกัณฐ์             เศียรภูตกรบัณ-
เฑาะว์ตรีและบ่วงบาศผจง
อาจมล้างสร้างสาปสรรพงศ์        ครองพรตพระทรง
อุศุภอาสน์อวยพร”
นี่บ่งลักษณะพระอิศวรได้ดีแท้      ส่วนคำฉันท์ดุษฎี

กล่อมช้าง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมจะต้องสดุดีเทพอิศวร ผมขอคัดสำนวนของกรมศรีสุเรนทร์

“อัญขยมบังคมเทวา          อาทิไทธาดา
สถิตย์บัลลังก์หลังหงษ์
พระพิศณุศักดิ์สุรทรง         ครุธราชยรรยง
ด้วยนิลวัตถ์รัศมี
ทัดจันทรจุธามาศมณี         สังวาลวาสุกรี
แลขี่อุศุภถึกเถลิง
ข้าขอเคารพพระเพลิง        ทรงแรดแรงเริง

รเห็จเวหาผาดผัง
ทั้งสี่เทวราชผู้รัง-               สฤษดิช้างพลายพัง
พิเศษประเภทหลายพรรค์”

ที่ผมคัดคำฉันท์ดุษฎีกล่อมช้างนี้ ไม่ใช่คัดมาเล่นๆ หรอกครับ เกี่ยวข้องกับพระอิศวรอยู่เหมือนกัน ไม่งั้นผมจะยอมรื้อหนังสือเก่าๆ อย่างนี้หรือ แล้วเจตนาของผมก็ต้องการแทรกเกร็ดวรรณคดีด้วยครับ

เทพข้างต้นนั้น หมายถึงพระพรหม พระวิษณุ พระอิศวร และพระเพลิง(อัคนี) ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดช้างในโลก ฉะนั้น เวลาแต่งคำฉันท์ดุษฎีกล่อมช้างก็ต้องสดุดีเทพนี้ก่อน เป็นธรรมเนียมครับ ตำนานการกำเนิดช้างนั้นตามตำราคชลักษณ์กล่าวไว้ซึ่งขอย่นย่อว่า พระนารายณ์เสด็จบรรทมในเกษียรสมุทร แล้วกระทำอธิษฐานด้วยเทวฤทธิ์เกิดดอกบัวผุดขึ้นในอุทร มีกลีบ ๘ กลีบ มีเกสร ๑๗๓ เกสร พระนารายณ์ได้นำดอกบัวนั้นไปถวายพระอิศวร พระอิศวรก็แบ่งดอกบัวนั้นเป็น ๔ ส่วน ส่วนหนึ่ง ๘ เกสรเป็นของพระองค์ ส่วนหนึ่ง ๒๔ เกสรให้แก่พระพรหม ส่วนหนึ่ง ๘ เกสรให้พระนารายณ์ ส่วนหนึ่ง ๑๓๓ เกสรให้แก่พระอัคนีหรือพระเพลิง พระเป็นเจ้าต่างก็สร้างช้างขึ้นเป็น ๔ ตระกูล มีดังนี้
๑. อิศวรพงศ์  เป็นช้างที่พระอิศวรสร้างขึ้น เป็นช้างที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ สีดำสนิท ผิวพรรณเกลี้ยงละเอียด หน้าใหญ่ โขมดสูง น้ำเต้ากลม งวงเรียว งาทั้งสองใหญ่ งอนขึ้นเสมอกัน ปากรีแหลมรูปเป็นหอยสังข์ คอกลมทรวงอกผึ่งผาย เท้าใหญ่ หลังราวกับธนูศร หูใหญ่และอ่อนนุ่ม ยามเดินเป็นสง่า
๒. พรหมพงศ์  เป็นช้างที่พระพรหมสร้างขึ้น จัดอยู่ในวรรณะพราหมณ์ หนังอ่อน ขนละเอียด หน้าใหญ่ ท้ายต่ำ โขมดคิ้วสูง งวงเรียวรัดสมส่วน ตัวมีสีดังดอกจำปา
๓. วิษณุพงศ์  เป็นช้างที่พระนารายณ์สร้าง อยู่ในวรรณะแพศย์ หนังหนา ขนเกรียน อกใหญ่ หาง งวง และหน้ายาวใหญ่ ตาขุ่น ขนตาใหญ่ หลังราบ
๔. อัคนิพงศ์  เป็นช้างที่พระอัคนีสร้างขึ้น อยู่ในวรรณศูทร ผิวเนื้อแข็งกระด้าง ขนหยาบ หน้าเป็นกระ แดงดังแววมยุรา งาและหลังแดง สีกายไม่ดำสนิท ตาสีน้ำเงิน

จากช้างตระกูลเหล่านี้ยังแย่งออกเป็นช้างอีกหลายชนิดละครับ เช่นช้างโคบุตร สังขทันต์ คันทรง อำนวยพงศ์ สุประดิษฐ์ ฯลฯ อย่างในเสภาขุนช้างขุนแผน มีว่า
“นำโขลงช้างคลาเคลื่อนมากล้ำกราย
ทั้งพังพลายเนียมนิลดูระหง
โคบุตรสังขทันต์คันทรง
อำนวนพงศ์สุประดิษฐ์ตระหว่านงาม”

ว่าเฉพาะชนิดเศียรนะครับ คือช้าง สุประดิษฐ์ ซึ่งตำราช้างของกรมขุนศิริคชสังกาศแต่งไว้ดังนี้
“สุประดิษฐ์พิศภาคพื้น          สนธยา
ปัทมราชบัวแดงปรา-            กฎแท้
ขนดุจอุรพานา-                   คาราช
งาซื่อบริสุทธิ์แล้                   เล่ห์ผ้าขาวผจง”

นี่ละครับ เมื่อได้ช้างเผือกมา ก็ต้องมีพิธีกล่อมช้างซึ่งก็แต่งฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง และต้องสดุดีพระเป็นเจ้าทั้ง ๔ อย่างที่ว่าไง ผมก็ต้องแทรกเกร็ดอีกนั่นแหละ คำฉันท์กล่อมช้างนั้น โดยทั่วไปความหนึ่งๆ แบ่งเป็นหลายตอน ตอนหนึ่งๆ เรียกว่า “ลา” โดยทั่วไปก็มี ๔ ลา คือลาที่ ๑ ขอพร ลาที่ ๒ ลาไพร ลาที่ ๓ ชมเมือง ลาที่ ๔ สอนช้าง มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีกาพย์ขับไม้เพิ่มขึ้นอีก แบ่งเป็น ๕ ตอน เรียกว่า “แผด” (อ่านว่า ผะแด เป็นภาษาเขมรแปลว่าคำ) แผดที่ ๑ ขอพร แผดที่ ๒ ลาไพร แผดที่ ๓ ชมเมือง แผดที่ ๔ สอนช้าง และแผดที่ ๕ ชมคชาภรณ์ คำฉันท์ลาที่ ๑ บางทีก็เรียกว่า ดุษฎีอวยสังเวย เป็นคำนมัสการเทพเจ้าผู้สร้างช้าง บางทีก็มีคำพรรณนาขอช้างจากเทพเจ้าเหล่านั้นแทรกมาอีกลาหนึ่งเรียกว่า สดุดีขอช้าง แต่โดยมากก็พรรณนารวมอยู่ในตอนเดียวกันนั่นแหละ ลาที่ ๒ ที่เรียกว่าลาไพรนั้นมักจะขึ้นต้นว่า “อ้าพ่ออย่า” หรือ “อ้าแม่อย่า” แล้วแต่จะเป็นช้างพลายหรือช้างพัง ความก็ทำนองว่าอย่ามัวคิดคำนึงถึงความเป็นอยู่ในป่าเลย ลาที่สามที่เรียกว่า ชมเมือง ก็มีความทำนองชมว่าเมืองเป็นสถานที่น่าอยู่และสบายกว่าในป่า ลาที่ ๔ สอนช้างนั้นก็มีความว่า อย่าดุร้าย ส่วนลาที่ ๕ คชาภรณ์นั้น ก็มีความพรรณาชมเครื่องประดับช้าง

ท่านผู้อ่านครับ หรือแฟนานุแฟขอรับ ผมจบเรื่องพระอิศวรใน ๒ ตอน ไม่ได้จริงๆ พระเดชพระคุณโปรดเห็นใจเถอะ พระอิศวรเป็นเทพยิ่งใหญ่นะครับ จึงมีเกร็ดฝอยมากมาย ผมต้องอ่านจากหนังสือต่างๆ กว่า ๒๐ เล่ม แล้วก็ปะติดปะต่อกันจนสมองจะเละแล้ว ใช้เวลาเขียนเรื่องนี้เป็นเดือนครับ อยากแทรกเกร็ดให้ผู้อ่านสนุกอย่าว่าอะไรเลย ทนอ่านและอ่านทนเอานิดเหอะ แลขอรับรองว่าบับซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องพระอิศวรจะมีเกร็ดเต็มไปหมด เหอะน่าไหนๆ ก็ถึงพระอิศวรแล้ว เหลือพระอุมาเดียวเท่านั้นก็จบแล้ว ที่จริงในตอนที่แล้ว ผมแทรก พระรุทระ เข้าไปด้วยก็เหมือนกับผมเล่า ๒ องค์นั่นแหละ

ว่าโดยลักษณะพระอิศวรนั้น มีสีกายขาว (ในยัชรุเวชว่าสีกายแดง อาถรรพณเวทว่าสีกายดำ) มี ๓ ตา ตาที่ ๓ อยู่ที่หน้าผาก ทำเป็นพระจันทร์เสี้ยว นี่แหละพระอิศวรจึงมีนามอีกว่า พระตรีโลจนะ (มีตา ๓ ตา) บางตำนานก็ว่ามีตาถึงพันตา (อ้อ ตาที่ ๓ ของพระอิศวรนี้นับว่าสำคัญมากนะครับ นักปราชญ์สันนิษฐานกันว่า ทางพุทธศาสนานำมาเป็น อุณาโลม แปลว่าขนระหว่างคิ้ว ดังที่เห็นปรากฎในพระนลาฏของพระพุทธรูป และลักษณะเช่นนี้ท่านจัดว่าเป็นลักษณะหนึ่งของมหาบุรุษซึ่งมีด้วยกัน ๓๒ ประการ ดังความที่ว่า “กมุ กนตเร ชาตา อุณณาโลมา” แปลว่ามีอุณาโลมเกิดขึ้นระหว่างคิ้ว ที่หมวกทหารบกก็มีอุณาโลมแสดงว่าทหารบกเป็นมหาบุรุษน่ะซีเล่า ส่วนผู้หญิงอินเดียแต้มสีแดงที่หน้าผาก ก็คงมีนัยมาจากตาที่สามของพระอิศวรนี้เหมือนกัน) บางทีก็ทำเป็นพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่เหนือตาที่ ๓ เกสามุ่นเป็นชฎารุงรัง มีประคำกะโหลกคนคล้องคอ มีสังวาลเป็นงู ศอสีนิล นุ่งหนังเสือ หนังช้างหรือหนังกวาง มี ๓ กร บางทีก็ว่ามี ๔ กร หรือ ๘ ก็มี มีพักตร์เดียว แต่บางทีก็ว่ามี ๕ พักตร์ จึงได้นามอีกว่า “ปัญจานนะ” (มี ๕ พักตร์ป มีอาวุธคือ ตรีศูล ชื่อ ปินาก ธนู ชื่อ อชคพ คทา ยอดหัวกะโหลก ชือ ชัฎวางค์ บางทีก็ถือบาศบ้างบัณเฑาะว์บ้าง สังข์บ้าง ปกติประทับอยู่บนเขาไกรลาส ที่เรียกกันว่า ผาเผือก ต่างทีชอบอยู่ตามสุสานป่าช้า เมื่อจะไปไหนก็ทรงโคเผือกชื่อ อุสุภราช บางทีเขียนอุศุภราช โคนี้ในรามเกียรติ์พรรณาลักษณะไว้ว่า

“โคอุศุภราช                       ร้ายกาจรณรงค์สูงใหญ่
สี่เท้าด่างผ่องยองใย           หางขาวอำไพโสภา
หน้าเด่นดังใบโพธิ์ทอง       ขับคล่องว่องไวใจกล้า”

ว่าถึงโคอุศุภราชนี้ บางทีก็เรียกว่า นนทิราช บ้าง พระนนทิน บ้าง นนทิการ บ้าง โคนี้ โดยปรกติก็เป็นเทวดาองค์หนึ่ง บ้างก็ว่าเป็นยักษ์ ถือว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์จตุบาท โดยปรกติก็มีรูปเป็นภูต มีวิมาน ณ เขาไกรลาส เมื่อพระอิศวรจะเสด็จไปไหน พระนนทิราชก็จะแปลงเป็นโค มีบางตำนานว่า เดิมทีเป็นยักษ์มีชื่อว่า พาณ จะถูกพระนารายณ์ฆ่า พระอิศวรขอไว้ให้เป็นผู้เฝ้าประตูเขาไกรลาส มีหน้าที่คล้ายกรมวังของพระอิศวร ก็เติมเกร็ดอีกละ เรื่องโคเผือกนี้เกี่ยวข้องกับตราใหญ่ประจำกระทรวงวัง แต่เดิมเรียกว่า “พระมหาเทพทรงพระนนทิการ” (มหาเทพคือพระอิศวร) ทำเป็นรูปพระศิวะประทับบนหลังโคเผือก ส่วนตราน้อยประจำกระทรวงวัง เรียกว่า “ตราพระนนทิการ” ก็ทำเป็นรูปโคเผือกคือโคพระอิศวรนั่นเอง

ลักษณะพระอิศวรในบางปางก็ต่างไปเอาแน่ยากครับ อย่างตอนที่ปราบพระทักษะ (ก็เล่าไว้แล้วในเรื่องพระทักษะ) ได้นามว่า “วีภัทร” ตอนนี้รูปร่างพระอิศวรประหลาดมาก มีหัว มีตา มีเท้าอย่างละพัน ท้องโต ปากแสยะ มีเขี้ยวงอก นุ่งหนังเสือที่ชุ่มไปด้วยเลือด อาวุธก็มีกระบอง หอกอย่างละพัน ทั้งยังมีจักร สังข์ ธนู ขวานและโล่อีก และปางที่มีนามว่า พระไกรพ ปางนี้ก็ดุเอาการ ซ้ำบางทีไม่ทรงโคกลับไปทรงสุนัขหรือม้า แขนขาดำ (อิสิตางค์) ผิวดำ (กาฬ) ปิ่นปักสีแดง(ตามรจุฑา)

บางครั้งบางหน พระอิศวรก็นึกสนุก คือทำเป็น ๒ เพศ เพศหญิงครึ่งชายครึ่ง เลยได้นามว่า อรรถนารี (ครึ่งหญิง) และ อรรถริศวร (ครึ่งชาย) คือเป็นทั้งพระอิศวรและพระอุมา ซีกข้างซ้ายซึ่งเป็นซีกพระอุมามีเสือหมอบอยู่ ซีกขวาเป็นพระอิศวรมีโคนนทิหมอบอยู่ และมี ๔ กร ซีกขวามีพระคงคาไหลจากพระเศียร บางทีนึกสนุกๆ ก็แปลงเพศเป็นหญิงล้อพระอุมาเล่นเลยทำให้บรรดาสัตว์กลายเพศเป็นหญิงหมด ท้าวอิลราชก็กลายเป็นนางอิลา ดังที่เล่าไว้ในเรื่องพระพุธแล้ว เรื่องนี้แหละเป็นที่มาของวรรณคดีเรื่อง อิลราชคำฉันท์ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) ละ

ตำราฟ้อนรำมีเรื่องเกี่ยวกับพระอิศวรอยู่ด้วย และเป็นที่มาของเทวรูปพระอิศวร ปางนาฏราช ผมก็ขอเล่าเรื่องนี้หน่อย

ในโกบิลปุราณะกล่าวว่าพระอิศวรเป็นครูฟ้อนรำมีเรื่องนิยายว่า สมัยกาลครั้งหนึ่ง มีฤาษีพวกหนึ่งตั้งอาศรมอยู่กับเมียที่ในป่าตารก อยู่มาฤาษีพวกนี้ประพฤติตนไม่เหมาะสมจรรยาบรรณของฤาษี ทำอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญญัติ พระอิศวรกับพระนารายณ์ก็เลยต้องเสด็จลงมาปราบ พระอิศวรทรงแปลงพระองค์เป็นโยคีหนุ่ม พระนารายณ์ก็แปลงเป็นภรรยาสาว มีรูปร่างน่าพิศวาสทั้งสองพระองค์ (อ้อ รูปร่างน่าพิศวาสนี้ ภาษาอังกฤษเขาว่าเซ็กซ์แอบพีล ศัพท์บัญญัติเขาว่าวัยวอนเพศรส ส่วนวัยสะรุ่น ศัพท์บัญญัติเขาว่าวัยเจริญพันธุ์ บัญญัติได้ดีแท้ครับ) แล้วก็ไปในป่าตารกะนั้น เล่นเอาพวกฤาษีพากันหัวหมุนไปตามๆ กัน ฤาษีหนุ่มก็หลงรูปนารายณ์สาว ฤาษีสาวก็หลงรูปอิศวรหนุ่ม เกิดวิวาทกันด้วยอำนาจราคจริต ฤาษีชายกับฤาษีสาวก็เกี้ยวนารายณ์และอิศวรแปลง แต่ก็อย่างว่าไม่สำเร็จหรอก ฤาษีเปลี่ยนจากรักเป็นโกรธ สาปทันที ไม่ได้ผลครับ ฤาษีจึงเนรมิตเป็นเสือหวังจะกินโยคีกับเมีย โยคีหรือพระอิศวรก็ฆ่าเสียเลย พวกฤาษีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พระอิศวรเห็นว่าพวกฤาษีไม่มีน้ำยาแล้ว จึงทรงฟ้อนรำทำปาฏิหาริย์ ขณะนั้นมียักษ์ค่อมตนหนึ่งชื่อมูยะละกะ (ไทยเราเรียกว่าอสูรมูลาคนี) เข้าชวยฤาษี พระอิศวรก็เอาพระบาทข้างหนึ่งเหยียบยักษ์ค่อมไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไปจนหมดกระบวน ฤาษีนั้นขอขมา พระอิศวรก็มิได้เอาโทษ เสร็จกลับเขาไกรลาส พระนารายณ์เสด็จกลับเกษียรสมุทร ครั้งนั้นพระอนันตนาคราชได้เห็นพระอิศวรทรงฟ้อนรำด้วย ยังติดใจอยากดูอีก พระนารายณ์แนะนำให้บำเพ็ญตบะที่เชิงเขาไกรลาส ก็ทำตาม จนในที่สุดพระอิศวรก็ประทานพรให้ พระอนันตนาคราชขอพรว่าขอดูการฟ้อนรำอีก พระอิศวรรับคำและว่าจะลงไปรำให้ดูในเมืองมนุษย์ ณ ตำบลจิทัมพรัม อันเป็นท่ามกลางของโลก ครั้นถึงวันที่กำหนดพระอิศวรก็ทรงไปฟ้อนรำ ณ ที่ดังกล่าว

ในสมัยกาลต่อมา พระอิศวรมีพระประสงค์จะทรงแสดงการฟ้อนรำให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมาให้ประทับเป็นประธานเหนือสุวรรณบัลลังก์ ให้พระสุรัสวดีดีดพิณให้พระอินทร์เป่าขลุ่ย ให้พระพรหมตีฉิ่ง ให้พระลักษมีขับร้อง และให้พระนารายณ์ตีโทน ส่วนพระอิศวรทรงฟ้อนรำให้เทวดา ฤาษี คนธรรพ์ ยักษ์ นาคทั้งหลายได้ชมเป็นขวัญตา และพระฤาษีนารทได้รับเทวบัญชาให้มาแต่งตำราสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์ จากตำนานนี้แหละ ชาวอินเดียถือว่า ที่เมืองจิทัมพรัมซึ่งอยู่ในประเทศอินเดียตอนใต้ ซึ่งบัดนี้อยู่ในมณฑลมัทราฐ เป็นที่พระอิศวรเสด็จลงมาฟ้อนรำในมนุษยโลก ต่อมาก็มีการสร้างเทวรูปพระอิศวรปางการฟ้อนรำ เรียกว่า “นาฏราช” (เราเรียกว่าปางปราบอสูรมูลาคนี) และราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ชาวอินเดียได้สร้างเทวรูปพระอิศวรทรงฟ้อนรำท่าต่างๆ ครบ ๑๐๘ ท่า นับว่าเยอะพอดูนะครับ

ทีนี้จะว่าถึงนามพระอิศวรต่อละครับ บอกแล้วนะว่านามพระอิศวรน่ะมีนับพันนามต่างๆ ก็ได้กล่าวไว้ในเรื่องบ้างแล้วจะไม่กล่าวซ้ำอีกละ จะว่าเฉพาะที่ต่างออกไป เพราะถ้าจะรวมมาอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกันให้ค้นง่ายก็เห็นจะยืดยาวต่อไปอีกละครับ นามต่างๆ มีดังนี้ครับ
อโฆระ แปลว่า น่าสะพรึงกลัว
คิรีษะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในขุนเขา
กาละ แปลว่า เวลา
มฤตยุนชะ แปลว่า ผู้ปราบความตาย
มฤตุญชัย แปลว่า ผู้ชนะความตาย
อุคระ แปลว่า ดุ
วิศวนาถ แปลว่า ดุ
วิศวนาถ แปลว่า เป็นที่พึ่งแห่งโลก
มเหศวร, ปรเมศวร แปลว่า พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
ศรีกัณฐะ แปลว่า คองาม
สมรหร แปลว่า ผู้สังหารกามเทพ
สถานุ แปลว่า ตั้งมั่น
ภาควัต แปลว่า ผู้เป็นเจ้า
อิสาน แปลว่า ผู้ปกครอง
พระไภรพ แปลว่า ผู้ทำลายอย่างดุ
ปศุบดี แปลว่า เจ้าแห่งสัตว์
ปถานุ แปลว่า มั่น
วิศเวศวร แปลว่า เป็นใหญ่ครองทั่วไป
ศุลี, ศุลิน แปลว่า พระผู้ทรงศูล

ขอเติมเครื่องหมาย ฯลฯ หน่อยเถอะ อ้อนึกออกอีก เป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษา ในตำราร้อยกรอง ตอนที่ว่าด้วยเรื่องฉันท์ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่เรารับจากอินเดียน่ะเขาแบ่งเป็นคณะ และคณะฉันท์นี้มี ๘ คณะครับ มีบัญญัติชื่อเป็นอักษรย่อไว้ว่า มะคณะ นะคณะ ฯลฯ อักษรย่อนี้มีชื่อเต็ม ชื่อเต็มก็ล้วนเป็นนามพระอิศวรอีกละครับ ในตำรา จินดามณี ของพระโหราธิบดีแต่งในสมัยพระนารายณ์ ผูกเป็นคาถาให้จำง่ายดังนี้

สพฺพญฺญูโม สุมุนิโน สุคโตโส มุนินฺทโช
มารริโต มารชิโก นายโกโร มเหสีโย

ตัวโม โน ฯลฯ ที่อยู่ข้างท้ายน่ะ เป็นตัวแทนของคณะฉันท์ที่ว่า มะคณะ นะคณะ ซึ่งก็มี ๘ คณะ และคำเต็มก็เป็นเนมิตกนาม (นามที่ปรากฎตามรูปร่างหรือลักษณะ) ของพระอิศวรครับ มีดังนี้
ม. มาจาก มารุต แปลว่า ลม
น. มาจาก นภา แปลว่า ฟ้า
ส. มาจาก โสม แปลว่า เดือน
ช. มาจาก ชวลน แปลว่า ไฟ
ต. มาจาก โตย แปลว่า น้ำ
ภ. มาจาก ภูมิ แปลว่า ดิน
ร. มาจาก รวิ แปลว่า ตะวัน
ย. มาจาก ยัญมาน แปลว่า บูชายัญ

ส่วนคำที่เป็นคาถา ก็มีความอีกครับคือ สพฺพญฺญู แปลว่า รู้ทั่ว สุมุนิ แปลว่า ผู้รู้ดี สุคโต แปลว่า ไปดี มุนินฺท แปลว่า จอมปราชญ์ มาราริ แปลว่า เป็นอริกับมาร มารชิ แปลว่า ชนะมาร นายโก แปลว่าผู้นำ มเหสี แปลว่า ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ (มหา+อิสิ) แต่คราวนี้เป็นเนมิตกนามของพระพุทธเจ้าแล้วนะครับ ไม่ใช่ของพระอิศวรหรอก เห็นไหมล่ะครับโบราณเขาเข้าใจสอนดีออกทั้งพราหมณ์ ทั้งพุทธสัมพันธ์กันจนได้ซิน่า

เดินเรื่องต่ออีกนิดครับ พระอิศวรมีมเหสีคือ พระอุมา มีโอรสกับมเหสีเอก ๒ องค์ คือ พระคเณศ และ พระขันทกุมาร และมีชายาอีก ๒ คือ คงคาเทวี และ นางสนธยา

รูปเขียนพระอิศวรทำเป้นคนขาว มีสามตา ตามี่ ๓ อยู่ที่หน้าผาก เกศามุ่นเป็นชฎา มีประคำหัวกะโหลกคนคล้องคอที่เหนือพระนลาฎ (หน้าผาก) ขึ้นไป มีรูปพระจันทร์เสี้ยวติดอยู่ ทรงอาภรณ์หนังเสือ (บางทีก็เป็นหนังช้างหรือหนังกวาง) มีอาสนะเป็นหนังเสือ ทรงโคเป็นพาหนะทำเป็นรูป ๔ กร ถือตรีศูล บ่วงบาศ สังข์ คทา ยอดหัวกะโหลก แต่เรื่องอาวุธเอาแน่ไม่ได้อาจถือบัณเฑาะว์ ธนู ก็มีเหมือนกัน

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร