กำเนิดของพระสรัสวดี

Socail Like & Share

พระแม่สุรัสวดี
กำเนิดของพระสรัสวดี  ในสมัยปุราณะเล่าว่า พระพรหมมีความประสงค์จะสร้างสัตว์ มนุษย์ เทวดา อสูร และสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารให้บังเกิดขึ้นในโลก แต่เห็นว่าพระองค์จะสร้างด้วยลำลังก็คงจะไม่ไหวและคงจะว้าเหว่แน่ พระพรหมจึงทรงสร้างนางอีกองค์หนึ่ง คือ ศตะรูปา บางทีก็เรียกว่า พรหมบุตรี ซึ่งที่จริงก็คือพระ สรัสวดี นี่แหละ แล้วก็เป็นชายาของพระพรหม ทีนี้ก็ช่วยกันสร้างสิ่งต่างๆ จนสำเร็จละครับ คิดแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ใครเล่าจะนั่งทำงานอยู่คนเดียวได้ ก็ต้องมีเลขานุการิณีหน้าแฉล้มเป็นกำลังใจบ้างละ

แต่ในลัทธิไวษณะวนิกาย (คือที่นับถือพระนารายณ์เป็นที่ ๑) ว่า เดิมทีน่ะพระนารายณ์มีชายาสามองค์ คือ พระลักษมี พระสรัสวดี และพระคงคา แต่แล้วทั้งสามก็ไม่ยอมลงให้แก่กัน พระนารายณ์ทรงรำคาญก็เลยยกพระสรัสวดีให้พระพรหม ยกพระคงคาให้พระอิศวร ซึ่งผมก็เล่าไว้ในเรื่องพระลักษมีแล้ว ก็เรื่องซ้ำๆ กันก็ต้องเท้าความถึงกันบ้างละ

เอาความได้ว่าพระสรัสวดีเป็นมเหสีพระพรหม ในคัมภีร์มหาภารตะยังเรียกอีกนามหนึ่งว่า วาจ หมายถึงมีวาจาอันไพเราะ โดยทั่วไปถือกันว่าพระสรัสวดีเป็นเจ้าแม่อุปภัมภ์การศึกษา เป็นเจ้าแห่งปัญญาและสรรพวิทยาทั้งหลาย เป็นมารดาแห่งพระเวท ทั้งยังพอพระทัยอุปถัมภ์ด้านอักษรศาสตร์ด้วย กล่าวกันว่าพระสรัสวดีเป็นผู้ริเริ่มคิดตัวอักษรเทวนาครี และภาษาสันสกฤตด้วย ก็ด้วยเหตุนี้แหละที่ตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีรูปปั้นพระสรัสวดีไงล่ะ

และก็ด้วยเหตุนี้อีกทีหนึ่ง กล่าวกันว่าที่อินเดียน่ะมีสำนวนคำพังเพยกล่าวว่า “สถานที่ใดที่พระลักษมีไปอยู่สถานที่นั้นพระสรัสวดีมักจะไม่อยู่” คำพังเพยนี้ไม่เกี่ยวกับเทวนารี ๒ องค์นั้น ชิงเด่นชิงสวยชิงงามกันและกันหรอก เป็นเทพธิดาชั้นผู้ใหญ่จะอิจฉากันได้รึ แต่คำพังเพยนี้มีความหมายลึกครับ คือหมายความว่า คนที่เป็นปราชญ์ มักจะขาดแคลนทรัพย์ คือความเป็นปราชญ์กับความมั่งคั่งจะไปด้วยกันได้ยาก เรื่องของเรื่องก็มีนัยยะนั่นแหละ พระสรัสวดีเป็นเจ้าแม่แห่งปัญญา ส่วนพระลักษมีเป็นเจ้าแม่แห่งโชคลาภ ผมเองก็ชักจะสงสัยว่าคำพังเพยนี้จะเหมาะสมกับสังคมไทยไหมหนอ แล้วในสังคมไทยนี่เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าหนอ

นอกจากนี้พระสรัสวดียังนับว่าเป็นเทพธิดาแห่งแม่น้ำอีกด้วยนะ ในประเทศอินเดียมีแม่น้ำหนึ่งชื่อว่า สรัสวดี แต่สำเนียงอินเดียเรียกว่า สูรสูติ อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำยมนา ในคัมภีร์พระเวทพรรณาถึงแม่น้ำสรัสวดีมากกว่าแม่น้ำคงคาเสียอีก แสดงว่าชาวอินเดียนับถือแม่น้ำสรัสวดีมากกว่าแม่น้ำคงคากระมัง

ส่วนรูปพระสรัสวดีเป็นหญิงสาว มีสีกายขาวนวลผ่อง มี ๔ กร กรทางเบื้องขวาที่มี ๒ หัตถ์น่ะ หัตถ์หนึ่งถือดอกไม้เพื่อบูชาพระพรหม และอีกหัตถ์หนึ่งถือคำภีร์ใบลาน ส่วนเบื้องซ้ายมี ๒ หัตถ์เหมือนกัน หัตถ์หนึ่งถือสายสร้อยไข่มุกเรียกว่า ศิวมาลาแทนประคำ อีกหัตถ์หนึ่งถือกลองเรียกว่า ทมรรวะ ไทยเรียกบัณเฑาะว์ แต่บางทีก็ทำเป็นรูปถือพิณ ประทับอยู่บนดอกบัวหลวง

ครับ เรื่องราวของพระสรัสวดีผมก็ค้นและเขียนยืดอย่าไงรก็ได้แค่นี้แหละ ไม่พอฉบับแน่ ก็ต้องทำอย่างคราวก่อนๆ คือ แทรกอะไรที่เป็นความรู้เกี่ยวพันกัน อย่าบ่นนะครับ

ผมขอคัดตัดตอนจากหนังสือประวัติวรรณคดีสันสกฤตยุคพระเวท ของ วิมลศิริ  ร่วมสุข  เพื่อนที่ทำงานเดียวกัน มาผนวกไว้ครับ
การแบ่งวรรณะ
ชาวอารยันได้แบ่งชนชั้นของตนเองเป็นวรรณะต่างๆ ดังนี้
๑. วรรณะพราหมณ์ ถือเป็นวรรณะสูงสุดในการทำหน้าที่ทางศาสนา คำว่าพราหมณ์” เป็นศัพท์ที่เนื่องมาจากคำว่า “พรหม” ชนวรรณะพราหมณ์ถือตนว่าสืบเชื้อสายมาจากพรหม สามารถติดต่อเกี่ยวข้องกับโองการต่างๆ จากพรหม ซึ่งเป็นพระผู้เป็นเจ้ามาแจ้งแก่ชาวมนุษยโลกได้ คำว่าพราหมณ์มีความหมายตรงกับคำว่า “ฟลาเมน” (Flamen) ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่าผู้กระทำกิจในลัทธิ สีประจำวรรณพราหมณ์ได้แก่ สีขาว ชนวรรณะนี้จึงนิยมใช้เครื่องนุ่งห่มด้วยสีขาวล้วนในความหมายที่ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม
๒. วรรณะกษัตริย์  เป็นวรรณะนักรบ เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมหมู่คณะและต่อสู้ศัตรูที่มารุกรานหมู่คณะของตน ตลอดจนทำหน้าที่แผ่ขยายอาณาเขตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ชนในวรรณนี้นิยมสีแดงเป็นสีประจำวรรณะ การถือเอาสีแดงเป็นสีประจำวรรณะนี้เข้าใจว่าคงมาจากสีแดงของเลือดที่บุคคลในวรรณะนี้จะต้องสัมผัสเสมอเมื่อเวลาออกศึก
๓. วรรณะแพศย์ หรือ เวศย์ เป็นวรรณะของพ่อค้า กสิกร เกษตรกร ซึ่งมีหน้าที่ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำการค้าและประกอบการต่างๆ เพื่อหาทรัพย์มาสู่รัฐ สีเครื่องนุ่งห่มประจำวรรณะนี้คือสีเหลือง

วรรณะทั้ง ๓ ดังกล่าวมาแล้วนี้ถือว่าเป็นวรรณะของชาวอารยัน ส่วนทัสยุหรือมิลักขะ ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนมัธยมประเทศนั้น ชาวอารยันจัดให้เป็นวรรณะที่ ๔ คือ
๔. วรรณะศูทร  เป็นวรรณกรรมกร หรือผู้เลี้ยงชีพด้วยแรงงาน เป็นวรรณะต่ำในสังคม ไม่มีสิทธิ์คบค้าสมาคมกับชนวรรณะอื่นๆ และเนื่องจากคนในวรรณะนี้ต้องทำงานหนักคลุกเคล้าอยู่กับสิ่งสกปรกและเหงื่อไคลอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับผิวพรรณดั้งเดิมแห่งร่างกายเป็นสีดำอยู่แล้ว สีแห่งเครื่องนุ่งห่มประจำวรรณะจึงถูกกำหนดให้เป็นสีดำ

การแบ่งชั้นวรรณะของคนนี้ ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า คนวรรณะตางๆ ล้วนมาจากส่วนต่างๆ ของพรหม ดังนี้คือ

พระพรหมทรงสร้างคนชั้นพราหมณ์ (นักบวช) จากพระโอษฐ์
ทรงสร้างคนชั้นกษัตริย์ (นักรบ) จากพระพาหา
ทรงสร้างคนชั้นแพศย์ (พ่อค้า) จากพระโสณี (สะโพก)
ทรงสร้างคนชั้นศูทร (กรรมกร) จากพระบาท
เรื่องการถือชั้นวรรณะ หลวงวิจิตรวาทการได้อธิบายไว้ในศาสนาสากล เล่ม ๑ ว่า

“พวกวรรณะสูงกับพวกวรรณะต่ำจะสมาคมกันไม่ได้ นอนห้องเดียวหรือรับประทานร่วมกันไม่ได้ ห้ามสมสู่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเด็ดขาด ถ้าคนวรรณะสูงกับวรรณะต่ำไปสมสู่อยู่ด้วยกัน มีลูกออกมาก็เป็นกรรมของลูก เพราะลูกที่เกิดมานั้นถูกเรียกว่าจัณฑาล ซึ่งต่ำช้าเลวทรามกว่าหินชาติเสียอีก”

คัมภีร์ศรีมัทภควัทคีตา (แสง มนวิทูร แปล) กล่าวถึงการกำเนิดวรรณะและการถือชั้นวรรณไว้ว่า

“วรรณะมี ๔ คือพราหมณ์ กษัตริย์ ไวศยะ ศูทร ถ้าชายพราหมณ์ได้ภรรยาเป็นกษัตริย์ ไวศยะหรือศูทร จักอนุโลมนัยไม่เสียธรรมเนียม แต่ถ้าเป็นหญิงพราหมณ์ไปได้สามีกษัตริย์ไวศยะหรือศูทร จัดเป็นปฏิโลมนัยถือเป็นการเสื่อมวรรณะ”

ชาวอารยันวรรณะต่างๆ จึงพยายามแต่งงานแต่ในหมู่ของตน หากจะแต่งงานกับคนนอกวรรณก็จะอยู่ในหมู่วรรณะที่เสมอกัน เช่น พราหมณ์กับกษัตริย์เป็นต้น โดยทั่วไปการแต่งงานของชาวอารยันจะจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. การแต่งงานในลักษณะที่สามีและภรรยาอยู่ในวรรณเดียวกัน
๒. การแต่งงานในลักษณะที่สามีอยู่ในวรรณะที่สูงกว่าภรรยา
๓.การแต่งงานในลักษณะที่สามีอยู่ในวรรณะที่ต่ำกว่าภรรยา

จำนงค์  ทองประเสริฐ ได้เขียนไว้ในเรื่องบ่อเกิดประเพณีอินเดียว่า การแต่งงานต่างวรรณะทำให้เกิดวรรณสังกรขึ้น ลูกที่เกิดจากบิดามารดาต่างวรรณะจะอยู่ในวรรณะสังกรดังนี้
๑. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหรณ์ มารดาเป็นกษัตริย์ เรียก มูรธาวสิกตะ
๒. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นไวศย เรียก อัมพัษฐะ
๓. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นศูทร เรียก นิษาท หรือปารศวะ
๔. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นแพศย์ หรือศูทร เรียกว่า มาหิษยะ หรืออุคระ
๕. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นแพศย์ มารดาเป็นศูทร เรียก กรณะ

ในกรณีที่บิดามีวรรณะต่ำกว่ามารดา
๑. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นกษัตริย์ เรียกว่า สูตะ
๒. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นแพศย์ เรียกว่า ไวเทหกะ
๓. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นศูทร เรียกว่า จัณฑาล ซึ่งจะเป็นผู้ถูกกันออกจากการพิจารณาธรรมทั้งปวง
๔. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นกษัตริย์ บิดาเป็นไวศย เรียกว่า มาคธะ
๕. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นกษัตริย์ บิดาเป็นศูทร เรียกว่า กษัตตฺฤ
๖. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นแพศย์ บิดาเป็นศูทร เรียกว่า อาโยควะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งชั้นวรรณะเป็นเครื่องกั้นการผสมสายเลือดระหว่างชาวอารยันและชาวทัสยุ แต่เครื่องกั้นนี้ก็ไม่สามารถทำให้เกิดผลสมความมุ่งหมายได้ เพราะยังมีการแต่งงานข้ามวรรณะเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างวรรณะของพวกอารยันเอง หรือระหว่างวรรณะอารยันและทัสยุ มิหนำซ้ำการแบ่งชั้นวรรณะดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียในการแบ่งชาติชั้นกันเองในหมู่ชาวอารยัน คือ ชาวอารยันในวรรณะกษัตริย์และวรรณะแพศย์ กลับตกอยู่ในฐานะและศักดิ์ศรีที่ต้องเป็นรองวรรณะพราหมณ์เพราะเชื่อกันว่า พราหมณ์สามารถติดต่อบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้าให้มาประสาทพรหรือบันดาลความเป็นไปต่างๆ ในโลกมนุษย์ได้ พวกพราหมณ์จึงเป็นที่เคารพและยำเกรงของคนทุกวรรณะ แม้แต่กษัตริย์ซึ่งเป็นใหญ่ในการปกครอง

เมื่อพวกพราหมณ์มีอำนาจมากมีคนยำเกรงมาก โอกาสที่จะแสวงหาลาภสักการะก็มีมากขึ้น ชาวอารยันทุกวรรณะเมื่อจะประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้งต้องอาศัยพราหมณ์ และพราหมณ์จะมีส่วนในการรับทักษิณาด้วยไม่น้อย เมื่อพราหมณ์ร่ำรวยขึ้นด้วยทักษิณาก็คิดแสวงหาอำนาจเพิ่มเติม พราหมณ์แต่ละพวกก็จะแข่งขันกันในการทำพิธี โดยถือว่าการจัดทำพิธีต่างๆ ให้ถูกต้องตามพิธีที่กำหนดไว้ในพระเวทเป็นสิ่งสำคัญ พราหมณ์แต่ละกลุ่มก็ได้เพิ่มเติมพิธีกรรมของตนให้ละเอียดพิสดารขึ้น เพื่อแข่งขันกันในทางรับทักษิณา รายละเอียดของพิธีกรรมต่างๆ ได้ถูกเพิ่มเติมขึ้นจนพราหมณ์เองไม่สามารถท่องจำได้ จึงต้องมีคัมภีร์คู่มือขึ้น เรียกว่าพราหมณะ และพราหมณ์ก็ยกย่องตนเองว่า “สกลจักรวาลย่อมอยู่ในอำนาจเทวดา แต่เทวดานั้นย่อมอยู่ในอำนาจมนตร์ ส่วนมนตร์นั้นอยู่ในอำนาจพราหมณ์ เพราะฉะนั้นพราหมณ์จึงเป็นเทวดาของเรา”

นอกจากนี้แล้วตำนานต่างๆ เกี่ยวกับเทพเจ้าก็มีมากขึ้น มีเทพเจ้าเกิดขึ้นอีกหลายองค์ เทพบางองค์เคยเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ก็กลับมีตำนานแสดงความประพฤติอันไม่สมควร เช่น เรื่องของพระอินทร์ทำชู้กับภรรยาของผู้อื่น เป็นต้น

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร