เทวประวัติของพระอทิติ

Socail Like & Share

เทพธิดาองค์นี้ เทวประวัติสับสนเหลือเกินละ จับต้นชนปลายไม่ถูกเลย ที่จริงเทวดาเกือบทุกองค์ละครับ มีเทวประวัติสับสน ก็เห็นจะเพราะท่านเกิดมานานเป็นพันๆ ปีแล้วก็อยู่ถึงเมืองสวรรค์ ประวัติก็ย่อมลางเลือนไปเป็นธรรมดา จะไปสัมภาษณ์ก็ไม่ไหว เพราะอยู่ไกลเหลือเกิน พระอทิตินี่ผมก็คงจะเขียได้นิดเดียว ก็ดีเหมือนกันผู้อ่านจะได้ไม่ต้องมาปวดหมองเหมือนผม

หนังสือเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็ดพระมงกุฎเกล้าฯ มีอยู่นิดหนึ่ง ผมขอคัดมาเลยง่ายดี

“อทิติ แปลว่า ไม่มีที่สุด มุ่งความว่าสวรรค์อันหาที่สุดมิได้ สมมุติตัวขึ้นนับว่าเป็นเทพมารดา บ้างก็ว่าเป็นมารดาพระทักษประชาบดี บ้างก็ว่าเป็นธิดาพระทักษา ตามไตเทพว่าพระอทิติมีโอรส ๘ องค์ แต่รับเพียง ๗ องค์ ซึ่งมีนามกรต่อมาว่าอาทิตย์ ในวิษณุปุราณะกล่าวว่าพระอทิติเป็นธิดาพระทักษะ และเป็นชายาพระกัศปะ และพระวิษณุได้อวตารเป็นคนค่อมเรียกว่าพระวามนาวตาร มาเข้าครรภ์พระอทิติ (พระวิษณุจึงมีนามว่าอาทิตย์ด้วยองค์หนึ่ง) พระกัศปะและพระอทิติทั้งสองนี้ ว่าเป็นชนากชนนีแห่งพระอินทร์ด้วย จึงได้นามว่าพระเทพมารดาบ้าง และโลกมารดาบ้าง อนึ่งนางเทวกีผู้เป็นชนนีแห่งพระกฤษณาวตารนั้น ก็กล่าวว่าคือพระอทิติแบ่งภาค”

ก็มีเพียงเท่านี้ครับ เห็นจะต้องพึ่งตำราเล่มอื่นอีก หนังสือศาสนาสากลของหลวงวิจิตรวาทการ มี ๕ เล่มด้วยกัน ท่านวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ไว้ดีนัก เลยถือโอกาสคัดมาประกอบสักนิดเหอะน่า

“พระเทพีอทิติเป็นชายาของพระกัศยปเทพบิดร และเป็นมารดาของเทพเจ้าหลายองค์ สร้างขึ้นพร้อมกับพระกัศยปเทพบิดร ในสมัยที่ยังไม่มีความคิดเรื่องการสร้างเทพเจ้าโดยเนรมิต คือต้องสร้างให้มีพ่อมีแม่อย่างคนธรรมดา แต่พอมาถึงพระทักษะผู้สร้างพระทักษะเกิดจะให้พระอทิติเป็นลูกของพระทักษะ เนื่องจากที่เขาสร้างพระทักษะให้มีพระธิดามากมาย พระเทพีอทิติซึ่งเป็นเทพีเด่นอยู่องค์เดียวก็ควรจะเป็นพระธิดาของพระทักษะเสียด้วย แต่พวกเจ้าตำรารุ่นเก่าไม่ยอม บอกว่าถ้าจะให้มีพระทักษะแล้วก็จะต้องให้เป็นลูกของพระเทพีอทิติ ซึ่งเป็นเทพมารดามามากแล้ว เป็นอันว่าไม่สามารถจะตกลงกันได้ จึงต้องมีตำราสองตำรา ตำราหนึ่งว่าพระเทพีอทิติเป็นลูกของพระทักษะ อีกตำราหนึ่งว่าพระทักษะเป็นลูกของพระเทพีอทิติ ต่างคนต่างก็ได้ยินมาจากพระพรหม พระอิศวร ไม่รู้ว่าเป็นความผิดของใคร เรื่องสร้างกันหลายมือก็เป็นอย่างนี้”

ทีนี้ผมก็ต้องฝอยเอง โดยเก็บความจากหนังสือต่างๆ ไปตามเรื่องและสำนวนลีลาของผมเองละ

พระวรกายของพระอทิติเทพมารดรนี้ เขียนเป็นรูปเทพนารีมีรัดเกล้าอันงดงามประดับด้วยอาภรณ์นิดๆ หน่อยๆ คือเพียงสร้อยรวมกับทองกร ทรงผ้าขาว ส่วนฉวีวรรณก็ขาวผุดผ่อง ประทับนั่งอยู่บนแท่นศิลา ซึ่งหมายถึงภูเขาเหมกูฏอันเป็นที่ประทับร่วมกับพระสวามีคือพระกัศยปเทพบิดร คำว่าเหมกูฏน่ะแปลว่าภูเขายอดทองครับ (เหม=ทอง  กูฏ=ยอด) ภูเขาลูกนี้อยู่เหนือภูเขาหิมาลัย เป็นภูเขาใหญ่กั้นแดนโดยให้ทางเหนือเป็นที่อยู่ของพวกกินนร กินรี

ในมัสยะปุราณะมีเรื่องกล่าวถึงพระอทิติเหมือนกันคือเมื่อครั้งเทวดาหลอกยักษ์ให้กวนน้ำอมฤต ดังที่ผมเล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว (เวลารวมเล่มอ่านสะดวกติดต่อกันดีครับ จดหมายไปโกหกคุณต่วยเหอะว่าสนใจเรื่องนี้ คุณต่วยจะได้รวมเล่มให้ เทวดาจะได้ดลใจให้คุณต่วยรวยอย่างกะอื้อจือเหลียงละ) ครั้งนั้นมีตุ้มหูเกิดขึ้นมาคู่หนึ่ง พระอินทร์ได้นำไปถวายพระอทิติ แล้วก็มีเรื่องพิสดารละเอียดลออแตกกอต่อไปในบรรดาตำรับปุราณะต่างๆ ว่า ตุ้มหูคู่นี้อสูรชื่อนรกะขโมยไปไว้ในนครปุราคชโยติษะ แต่ต่อมาพระกฤษณะได้นำมาคืนพระอทิติตามเดิม ซึ่งตอนนั้นน่ะพระอทิติอยู่ในภาคของนางเทวกีผู้เป็นมารดาของพระกฤษณะ

อ้อ ในหนังสือเทวดาพระเวท ของอุดม เรืองศรี มีเรื่องพระอทิติอยู่นิดหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในอินเดียเจ้าตำรับครับ เป็นหนังสือที่ขลังเลยอ่านเข้าใจยากอยู่สักหน่อย

ก็ได้ความว่า เทวีพระอทิตินี้ไม่ปรากฎชัดเจนในด้านรูปร่าง เพียงแต่รู้ว่าเป็นเทวีผู้ประกอบด้วยความสว่างรุ่งเรือง เป็นผู้ประคับประคองโลกและส่ำสัตว์ทั้งปวงในโลกมนุษย์นี้ อทิติถือว่าเป็นเทวีผู้คุ้มครองคนจากความทุกข์ให้ความปลอดภัยและช่วยให้คนพ้นจากบาปทั้งมวล คำอทิตินี้หมายถึงอิสระไร้ขอบเขต ดังนั้นจึงมีการขอให้เทวีนี้ ปลดปล่อยคนผู้ที่เคารพพ้นจากบาปด้วย กล่าวกันว่า เทพอทิติเป็นตัวแทนของธรรมชาติแห่งจักรวาล อทิติคือท้องฟ้า อทิติคืออากาศ อทิติคือมารดา บิดาและลูก อทิติคือเทพทั้งปวงและชนทั้งห้าเผ่า อทิติคือส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว อทิติคือสิ่งเกิดขึ้นในกาลอนาคต

ครับ ผมก็เขียนเรื่องเทพอทิติได้เพียงเท่านี้ละ ไม่ทราบว่าจะไปค้นที่ไหนได้มาอีกแล้ว ตามเคยครับ ผมแทรกความรู้เรื่องอื่นอีก เรื่องพระเวทหรือไตรเพทผมเห็นว่าน่าจะรู้ครับ เพราะเอ่ยถึงบ่อยมาก ในหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เช่นในอภิธานศกุนตลา แต่ผมขอคัดจากหนังสือชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลวงสารานุประพันธ์ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เพราะเห็นว่าหาอ่านยากครับ

“เมื่อพราหมณ์ได้รับการคารวะนับถือเป็นตระกูลสูงสุด เพราะมีความรู้ความสามารถในปรีชาญาณ ทั้งมีติดต่อกับพรหมโดยตรงแล้ว พราหมณ์จึงได้รวบรวมสรรพวิชาทั้งหลายอันตนค้นพบ หรือเข้าใจเรื่องขึ้นประมวลเข้าเป็นความรู้ เรียกว่า “ไสยศาสตร์” ซึ่งขึ้นต้นด้วยวิชาสำคัญที่สุดคือ “พระเวท” อันหมายถึงวิชาการเกี่ยวด้วยพรหมเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย บรรดาที่มนุษย์จะต้องเคารพบูชา โดยเหตุที่สมัยนั้นหนังสือยังหามีไม่ จึงต้องใช้วิธีท่องจำและสอนกันต่อๆ มา พระเวทประกอบด้วย “มนตร์” คือคาถาท่องจำ กับ “พราหมณะ” คือคำอธิบายลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ของพระเวทของพราหมณ์ แต่เดิมมี ๓ เรียกว่า “ไตรเพท” ได้แก่
๑. ฤคเวท  พระเวทนี้เป็นคัมภีร์เก่าที่สุด มีขึ้นเป็นครั้งแรกในตำราศาสนาพราหมณ์แห่งไสยศาสตร์ กล่าวกันว่าออกจากพระโอษฐ์ของพระพรหมซึ่งพวกมหาฤาษีได้สดับมาแล้ว นำมาอนุศาสน์นรชนอีกต่อหนึ่ง กล่าวด้วยเทวดาต่างๆ สรรเสริญและบนบานขอให้ช่วยกำกัดภัยทั้งมวล เช่น พระอินทร์ พระอัคนี พระสุริยะ ฯลฯ
๒. ยัชุรเวท  เป็นคัมภีร์ที่ – กล่าวด้วยลัทธิพิธีกรรมต่างๆ เช่น ยัญกรรมเป็นอาทิ พระเวทเล่มนี้เป็นตำราการทำพิธีของพราหมณ์โดยตรง
๓. สามเวท เป็นคัมภีร์ที่ ๓ กล่าวด้วยบทคาถาสังเวยสำหรับเห่กล่อมเทวดาบูชาน้ำโสมแก่เทวะทั้งหลาย (สาม แปลว่าสวด) ดังที่เราท่านได้ยินจากพราหมณ์ที่โบสถ์พราหมณ์ เห่กล่อมพระนเรศวร์ พระนารายณ์ หลังจากพิธีตรียัมปาวาย (โล้ชิงช้า) เสร็จสิ้นไปแล้ว

ต่อมามีเพิ่มอีกพระเวทหนึ่งเรียกว่า “อาถรรพณเวท” เป็นพระเวทเกี่ยวด้วยอาถรรพณ์ต่างๆ ในพระเวทนี้มีมนตร์สำหรับใช้ในกิจการทั้งปวง เช่น รักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือกำจัดผลร้าย อันจะมีมาแต่พยาธิภัยและมรณภัย และรวมทั้งสำหรับใช้ทำร้ายแก่ศัตรูหมู่อมิตร โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเข้าในตัว หรือฝังรูปฝังรอย หรือทำให้ชู้มีความรักใคร่ ที่เรียกว่าทำเสน่ห์ยาแฝดเป็นต้น

นอกจากพระเวทใหญ่ทั้ง ๔ นี้แล้ว พราหมณ์ยังได้สร้างพระเวทรองขึ้นอีก ๔ เรียกว่า อุปเวท เป็นวิชากล่าวด้วยวิทยาศาสตร์ต่างๆ อันเป็นวิทยาการโดยเฉพาะคือ
๑. อายุรเวท  ได้แก่ตำราแพทยศาสตร์ หรือวิชาหมอ กล่าวด้วยการใช้สมุนไพรและมนต์ต่างๆ ในการรักษาโรคทุกชนิด
๒. คานธรรพเวท  ได้แก่ตำราขับร้อง และดนตรีกับนาฏยศาสตร์หรือการฟ้อนรำ
๓.ธนุรเวท  ได้แก่วิชายิงธนูและการใช้อาวุธในการสงคราม ซึ่งบัดนี้เรียกยุทธศาสตร์

๔. สถาปัตยเวท  ได้แก่วิชาก่อสร้าง ซึ่งบัดนี้เรียกว่าสถาปัตยกรรม

อุปเวททั้ง ๔ นี้ มีเทวดาเป็นเจ้าของวิชาประจำสำหรับเป็นที่เคารพสักการะ ตลอดทุกสาขา ดังที่เราจะได้เห็นศิลปินของทุกวิชา ทำการเซ่นไหว้ตามวาระที่เรียกว่าไหว้ครูนั้น เช่น

อายุรเวท  มีเทวดาประจำเป็นเจ้าของ คือ ฤาษีทั้ง ๘ ซึ่งไม่ปรากฎนามแน่นอนในตำรา

คานธรรพเวท มีเทวดาประจำ คือพระนารทฤาษี ที่เรียกกันว่าพระนารอท หรือพระปรคนธรรพ
ธนุรเวท ในยุคหลังมีเทวดาประจำ ชื่อพระขันทกุมาร
สถาปัตยกรรม มีเทวดาประจำ คือพระวิศนุกรรม ซึ่งเป็นตราเครื่องหมายของนักสถาปัตยกรรมเวลานี้

อนึ่ง วิธีเรียนพระเวทให้เป็นผลนั้น เรียกว่า “เวทางค์” คือองค์ของพระเวทมี ๖ บท หมายความว่า ต้องถนัดจัดเจนในหลักของเวทางค์เสียก่อน แล้วจึงจะเข้าสู่การเรียนพระเวทได้โดยตรง
เวทางค์ทั้ง ๖ องค์ ได้แก่
๑. ศึกษา คือการเรียนออกสำเนียงให้ถูก ทั้งรู้จักครู ลหุและวิธีอ่าน
๒.ฉันท์  คือการรู้จักคณะฉันท์ และแต่งได้บ้างพอควร คำฉันท์มาจากตำราไสยศาสตร์ของพราหมณ์โดยตรง ซึ่งในลักษณะเดิมมีการจำกัดแต่ครุ ลหุของคำ แต่ตกมาถึงประเทศไทย นักวรรณคดีของเราได้บัญญัติสัมผัสเสียงและสัมผัสอักษรลงไปด้วย ดังที่เราได้เห็นในวรรณคดีไทยทั่วๆ ไปในเวลานี้
๓. ไวยากรณ์  คือวิธีการเรียบเรียงถ้อยคำให้เข้าภาษา
๔. นิรุกต์ คือการแปลศัพท์ให้ถูกต้องตามมูลธาตุเดิมของคำนั้นๆ
๕. โชยติษ  คือตำราโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นของนิยมกันตลอดมาจนทุกวันนี้ ในการทำนายพรหมลิขิตของนรชน เป็นวิชาหมอดู วิชาการพยากรณ์โชคชาตาทั้งหลาย
๖. กัลป คือตำรากระทำกิจพิธีต่างๆ ดังปรากฎในสูตรต่างๆ ที่พราหมณ์ร้อยกรองขึ้นไว้ในพระยัชุรเวทอันเป็นพระเวทที่ ๒ นั้น

ในเวทางค์ทั้ง ๖ นี้ กัลป ซึ่งกล่าวด้วยพิธีเป็นองค์สำคัญกว่าเพื่อนสำหรับการเรียนพระเวทตามหลักไสยศาสตร์เพื่อให้เข้าถึงพรหม กัลปแบ่งออกเป็น ๓ สูตร คือ
๑. เศราตสูตร ว่าด้วยพลีกรรม
๒. คฤหสูตร ว่าด้วยพิธีประจำบ้าน
๓. ธรรมสูตร ว่าด้วยกฎข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนทุกวรรณะ

และโดยปฏิบัติการดังนี้ โรงเรียนพราหมณ์จึงเกิดขึ้นและทวีขึ้นโดยลำดับแห่งยุค ต่างคณะหรือบริษัทมีหมวดคัมภีร์สูตรว่าด้วยเวทางค์ทั้งหกของตนมากมาย เช่น โรงเรียนในเมืองตักกะศิลา อันมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์เป็นอาจารย์ใหญ่อาทิ ประเพณีก็เลยมีมาตั้งแต่บรรพกาลนั้น ในการที่ลูกกษัตริย์หรือยุพราชทุกพระองค์ เมื่อประสงค์จะครอบครองราไชยไอศวรรย์ให้ถาวร จำต้องมีความรู้ความสามารถ และเพื่อที่จะให้ได้รับความรู้ความสามารถคู่ควรแก่การดำรงราชสมบัติต่อไป จึงจำต้องส่งเข้าโรงเรียนพราหมณ์ อันตั้งอยู่ในป่า เขา ลำเนาชัฎ เรียงรายกันไปสุดแต่หัวหน้าสถานศึกษาจะยึดสถานที่วิเวกแห่งใดเป็นอาศรม

ผมก็เติมเรื่องตอนนี้ยาวหน่อย แต่เห็นว่าเป็นเรื่องน่ารู้อยู่เหมือนกันครับ และในวรรณคดีไทยเรามีศัพท์คำเหล่านี้ด้วย อ่านแล้วคงแจ่มแจ้งได้บ้างดอกกระมัง ผมก็เห็นจะจบเพียงเท่านี้ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร