เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอัศวิน

Socail Like & Share

พระอัศวิน
ตามคัมภีร์มหากาพย์ภารตยุทธ ว่าพระอัศวินเป็นเทวดาแฝดติดกัน องค์หนึ่งมีนามว่า พระนาสัตยอัศวิน หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระนาสัตยะ แปลความว่าไม่อาจจะแบ่งแยกได้ หรือผู้ปราศจากความไม่จริง อีกองค์หนึ่งคือ พระทัสรอัศวิน เรียกสั้นๆ ว่า พระทัสระ แปลความได้ว่า ผู้ทรงความลึกลับ หรือสมบูรณ์ด้วยความมหัศจรรย์

โดยคุณลักษระ พระอัศวินแฝดได้ชื่อว่า เป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของมนุษย์เป็นผู้นำโภคทรัพย์มาให้แก่มนุษย์ และเทวดาแฝดนี้จัดเป็นแพทย์แห่งเมืองสวรรค์ จึงสามารถคุ้มภัยตลอดจนความเจ็บไข้ต่างๆ ให้แก่มนุษย์ได้ เทพแฝดนี้ยังถือว่างามเสมอ หนุ่มเสมอ สวยเสมอ แปลงกายได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นเทวดามีความปราดเปรียวดังพญาเหยี่ยว แต่บุคลิกอันเด่นชัดของเทพแฝดนี้คือมีเศียรเป็นม้า จึงเชี่ยวชาญในด้านบังคับรถเป็นพิเศษ (ที่ออกจะแปลกก็ตรงที่มีเศียรเป็นม้า แล้วจะว่าเทพองค์นี้หล่อเหลาได้อย่างไรกันหนอ)

เทวดาแฝดนี้จัดว่าเป็นหนุ่มอมตะ ถึงแม้ว่าจะดูเป็นหนุ่มแต่ก็อายุมากแล้ว ก่อนจะรุ่งสางเทพแฝดนี้จะปรากฎโฉมบนฟากฟ้าให้เห็นโดยที่ทรงรถทองซึ่งเทียมด้วยนก แต่บางทีก็ว่าเทียมด้วยม้าและบรรทุกน้ำผึ้ง ซึ่งโดยปรกติพระอัศวินจะออกเดินทางโดยขี่รถทองล่วงหน้าอุษาเทวีตอนเช้าตรู่ทุกวัน ชาวอารยันเชื่อว่าพระอัศวินเป็นพระผู้ริเริ่มนำแสงสว่างมาในฟากฟ้าเวลาเช้า เป็นผู้เร่งเมฆที่บังแสงอรุณให้เคลื่อนพ้นไป และเป็นผู้นำทางให้พระอาทิตย์เดิน ชาวอินเดียจะสวดต้อนรับพระอัศวินแต่มืด เมื่อแสงสีขาวอ่อนๆ เริ่มปรากฎขึ้นในท้องฟ้า ถือว่านั่นแหละคือพระอัศวินละ ต่อจากนั้นก็จะสวดต้อนรับพระอุษาเทวี ซึ่งเป็นแสงสีชมพูต่อจากแสงสีขาว ต่อจากนั้นพระอาทิตย์ก็จะเริ่มปรากฎขึ้นบนท้องฟ้า และก็ว่ากันว่าเทวดาฝาแฝดนี้เป็นตัวแทนดาวประกายพรึกบ้าง ดาวอัศวินคู่ (Gimini) บ้าง ส่วนสถานที่อยู่ของเทพแฝดนี้เอาแน่นอนไม่ได้หรอกครับ บางทีก็ว่าอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้ไพรพฤกษา บางทีก็ว่าอยู่บนยอดเขา หรือบางทีก็ว่าบนเกลียวคลื่นของสวรรค์ ที่อยู่หลังนี่ออกจะโรแมนติกเหมือนกันแฮะ

เทพอัศวินแฝดโปรดน้ำผึ้งครับ และนำน้ำผึ้งไปถวายทวยเทพที่ใหญ่ๆ อยู่เป็นนิจ แต่ที่นับว่าสำคัญอันยิ่งใหญ่อันสมควรที่จะรับรางวัลโนเบลก็คือเป็นผู้ค้นพบโสม ในสำนักของทวาสตฤ และซ้ำยังสอนมนุษย์รู้จักดื่มและเห็นคุณค่าของโสม (สุรา) เห็นไหมครับ น่าจะเป็นเทพประจำบ้าน บอ.กอ.ฮอล์ต่วยซะจริงๆ คุณต่วยอ่านเรื่องนี้เห็นท่าจะทำรูปไว้บูชาเป็นแน่นอน อ้อ ยังนับเป็นเทพที่เกี่ยวกับความรัก การผูกสัมพันธ์ความรัก การแต่งงาน ให้ความเป็นลูกผู้ชายและให้ทายาทด้วย นี่แหละจึงนับว่าเป็นเทพที่กำกับเจ้าสาวในยามไปสู่สำนักสามี ยังมีเพิ่มเติมอีกครับคือถือว่าเทพอัศวินเป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรกร คือให้มีสุขภาพดี แข็งแรง หนุ่มแน่น มีลูกหลาน มีความสมบูรณ์พูนสุขารมณ์

พระอัศวินนี้กล่าวกันว่าเป็นโอรสของพระสุริยาทิตย์กับนางอัศวินี เรื่องนี้ก็ต้องอ่านตอนที่ว่าด้วยพระอาทิตย์จึงจะได้เรื่อง ก็เห็นจะย่นย่อไว้ตรงนี้สักหน่อย ชายาของพระสุริยาทิตย์ที่มีนามว่าสัญญานั้น ทนความร้อนของพระสุริยาทิตย์ไม่ไหวเลยหนีไปอยู่ในป่าแปลงร่างเป็นม้า มีนามว่า อัศวินี พระสุริยาทิตย์ตามไปพบแปลงเป็นม้าตัวผู้สมสู่กันจนได้ลูกแฝดและไม่แฝด ที่แฝดคือ พระอัศวิน ที่ไม่แฝดคือ พระเวรันต์ ส่วนพระอัศวินแฝดก็มีลูกเหมือนกันครับ เป็นโอรสที่เกิดจากภาค พระนาสัตยะ กับนางมัทรี โอรสนี้มีนามกรว่า นกูล และโอรสอีกองค์หนึ่งเกิดจากภาคพระทัสระกับนางมัทรีเหมือนกัน โอรสนี้มีนามว่า สหเทพ และโอรสทั้งสองนี้ก็คงจะเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ก็เลยแฝดเหมือนบิดา  ส่วนในเรื่องรามเกียรติ์ลิงที่เป็นสมุนพระรามทีมีนามกรว่า ทววิท และ แมนทะ ก็เป็นบุตรของพระอัศวินนี่แหละ

ส่วนนางมัทรีซึ่งเป็นมารดาของนกูล และสหเทพนั้น ก็มิใช่ชายาที่ถูกต้องของพระอัศวินหรอก แท้ที่จริงเป็นชายาของท้าวปาณฑุ ซึ่งมีเนื้อเรื่องละเอียดในมหากาพย์ภารตยุทธ ซึ่งนับว่าเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุด ยาวกว่ารามายณะอีก จะเล่าเรื่องนี้ก็เห็นจะยาวมากความไป ทั้งๆ ที่ผมเห็นว่าสนุกสนานดีมาก แต่เกรงผู้อ่านไม่สนุกด้วยเท่านั้น ก็เอาความเฉพาะที่เกี่ยวข้องกันก็แล้วกันนะครับ

ท้าวปาณฑุเสด็จล่าสัตว์ทรงยิงเนื้อซึ่งกำลังสมพาสกัน แต่เผอิญเนื้อทั้งสองนั้นไม่ใช่เนื้อจริงๆ หรอก แต่เป็นฤาษีขี้เล่นนึกสนุกแปลงกายเป็นเนื้อมาหาความจรรดลงใจ เมื่อเนื้อตัวที่ถูกยิงก่อนจะตายได้สาปว่า ให้ท้าวปาณฑุต้องตายด้วยการเสพเมถุน ดูๆ ก็สาปพิเรนไปหน่อย เป็นการแกล้งกันชัดๆ เหมือนสาปให้ตายคาอกเมียงั้นแหละแต่คิดไปฤาษีก็ต้องสาปอย่างนั้น เพราะฤาษีกำลัมีความจรรดลงใจอยู่ก็ถูกยิงตายซะแล้ว ก็ต้องแก้เผ็ดกันบ้างละ เหตุนี้ทำให้ท้าวปาณฑุสยองขวัญ ไม่กล้าเกี่ยวข้องกับมเหสีทั้งสองคือ มัทรี กับ กุนตี แต่ถึงกระนั้นท้าวปาณฑุก็สปอร์ตครับ อนุญาติให้ชายามีเทวดาเป็นสามีได้ในบางครั้งบางหน ผลก็มีลูกดังนี้ครับ

๑. ยุธิษเฐียร (ยุธิษฐีระ) เป็นโอรสของนางกุนตีกับพระยม (ธรรมเทพ) เมื่อทำสงครามมีชัยแก่พวกโกรพแล้วได้เป็นราชาธิราชครองนครหัสดิน ทรงนามว่ามหาธรรมราชา
๒. ภีมเสน  เป็นโอรสของนางกุนตีกับพระพายุ เป็นผู้ที่มีกำลังเข้มแข็งใจคอดุร้าย กินจุ
๓. พระอรชุน  เป็นโอรสนางกุนตีกับพระอินทร์ เป็นนักรบ ตัวอรชุนต่อมาก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์ แต่มีลูกเป็นเจ้าเมือง คือท้าวรุวาหนราชาครองมณีปุระ กับมีนัดดาองค์หนึ่งคือท้าวปริกษิต ซึ่งได้ครองนครหัสดินปุระ
๔. พระนกูล  เป็นโอรสนางมัทรีกับพระสัตยอัศวิน
๕. พระสหเทพ เป็นโอรสนางมัทรีกับระทัสรอัศวิน พระนกูลกับสหเทพเป็นลูกแฝด

ทั้งๆ ที่ท้าวปาณฑุไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยนี่แหละ ก็ยอมรับว่าทั้ง ๕ นั้นเป็นโอรส จึงได้เรียกกษัตริย์ทั้งห้านั้นว่า ปาณฑพ และกษัตริย์ทั้ง ๕ นี้ ชาวอินเดียนับถือพระยุธิษเจียรธรรมราชว่าเป็นแบบแผนแห่งกษัตริย์ผู้ปกครองดี นับถืออรชุนเป็นมหาวีรบุรุษ คือเก่งกล้าในเชิงยุทธจักร ภีมเสนไม่มีใครชอบ เพราะเหี้ยมโหด ส่วนนกูลนั้นนับถือในทางฝึกม้า พระสหเทพเป็นโหร

ตอนต้นผมได้กล่าวถึงกษัตริย์ปาณฑพแล้วนะครับ ก็ควรรู้ถึงกษัตริย์โกรพด้วยกล่าวคือกษัตริย์แห่งหัสดินปุระนั้น มีโอรส ๒ องค์คือ ธฤตราษฎร์และปาณฑุ บรรดาโอรส ๑๐๐ องค์ของธฤตราษฎร์นั้นเรียกว่า เการพ ต่อมาเการพและปาณฑพทำสงครามกัน ซึ่งเรียกว่ามหาภารตยุทธ เป็นสงครามที่ขึ้นชื่อลือชามากครับ พระยาอุปกิตศิลปสารได้แต่งเรื่องสงครามภารตคำกลอน บรรยายสนามรบได้อย่างสยดสยองดีครับ คัดมาประกอบเอาอารมณ์หน่อยนะ

“สนามรบคราวนี้อึงมี่ก้อง        เสียงฆ้องกลองอื้ออึงคะนึงลั่น
เสียงกระบี่พลพบกระทบกัน        ลูกเกาทัณฑ์ว่อนหวืออื้ออึงไป
หอกกระทบโลรับเสียงฉับแด    เสียงขวานฟาดฟันกันสนั่นไหว
แลทุกทัพสับสนพลไกร    โลหิตไหลแดงฉาดดังชาดทา
แลดูพลโยธาน่าอนาถ        บ้างหัวขาดล้มอนเบนถลา
บ้างแขนขาดขาขาดดาษดา    คนและม้าล้มกลาดดาษดื่นไป
รพทะลายล้อพรากออกจากรถ    พลคชสู้กันอยู่หวั่นไหว

ร้องแปร๋แปร้นแล่นแทงงวงแกว่งไป     บ้างไส้ไหลล้มผางลงกลางคัน”

ทีนี้วกกลับมาเรื่องพระอัศวินอีกครับ รูปวาดเขียนเป็นเทวดาแฝดติดกัน มีหน้าเป็นม้า สีกายแดง มีสร้อยนวมและทองกร นั่งรถเทียมด้วยม้าหรือนกก็ได้

เพื่อความยิ่งใหญ่แห่งเทวดาแฝดนี้ ในหนังสือพระศุณหเศปพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้กล่าวถึงบทสรรเสริญพระอัศวินไว้ ขอคัดมาประกอบละครับ

“พระศุณหเศปจึงสรรเสริญพระอัศวินด้วยพระฤคเวททั้ง ๓ บท ความว่า
๑. ขอเชิญพระอัศวินเสด็จมา ณ ที่นี้พร้อมด้วยชัชโภชนาหารทั้งหลายบนหลังม้าหลายม้า พระทัสรเทพจงบันดาลให้ที่นี้เต็มไปด้วยโคและทอง
๒. ข้าแต่พระทัสรเทพอันรถแห่งพระองค์ซึ่งผูกแล้ว เพื่อพระองค์ทั้งสองไซร้ย่อมไม่มีเวลาสูญไป ข้าแต่พระอัศวินอันรถนั้นไซร้ย่อมแล่นไปในอวกาศ
๓. ล้ออันหนึ่งไซร้อยู่บนยอดเขา อีกล้อหนึ่งหมุนอยู่ในฟากฟ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎฯ ทรงอรรถาธิบายประกอบไว้ด้วยว่า

อัศวิน แปลว่า “ผู้มีม้า” ฤาผู้ขี่ม้า อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “สารถีทั้งสอง” เป็นนามเทวดาคู่ ซึ่งปรากฎในท้องฟ้าเวลาใกล้รุ่ง ทรงรถทองเทียมม้าฤานก เป็นผู้นำโภคทรัพย์มาให้ชน และเป็นผู้ปัดเป่าปวงภัยให้สูญไป นับถือเป็นแพทย์ของเทวดา

อนึ่ง อัศวินเป็นนามแห่งนักษัตร ซึ่งเป็นดาวสองดวงขึ้นเวลาเช้ามืด
ผมจบเรื่องพระอัศวินเพียงเท่านี้ ทีนี้จำเป็นอีกละครับที่จะต้องเอาเรื่องอื่นมาประกอบ ก็เห็นจะเป็นเรื่องโสมนี่แหละ ในพระราชนิพนธ์ศกุนตลาอธิบายเรื่องโสมไว้และผมเห็นว่าเกี่ยวข้องกับเทพองค์นี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำโสมมาเผยแพร่แก่มนุษย์ ผมก็ลอกมาประกอบท้ายเรื่องครบ
โสม ๑.) คือน้ำที่คั้นจากต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าต้นโสม เรียกชื่อตามภาลิตินว่า อัสเคลปิอัสอซิดะ (Asclepias acida) เถานี้เมื่อคั้นเป็นน้ำขาวหมักไว้ก่อนแล้วจึงใช้เป็นเครื่องสังเวยเทวดาและพราหมณ์ดื่มต่อไป เมื่อดื่มแล้วมีเมาและทำให้ใจร่าเริง พวกพราหมณ์ชอบกันมากถึงแก่กล่าวว่าใครดื่มโสมแล้วได้แลเห็นสวรรค์ ในพระฤคเวทมีกล่าวเรื่องน้ำโสมนี้เป็นอันมาก มีคำสรรเสริญและกล่อม กับในหนังสือพราหมณะมีอธิบายพิธีโสมพลี มีข้อความวิจิตรพิสดารมาก อาจจะบำบัดโรคได้ทุกอย่าง ให้ทรัพย์บังเกิดแก่ผู้นับถือ และเป็นผู้ใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง เพราะอาจจะบันดาลให้เทวดาทำอะไรๆ ได้อย่างใจ (คือดื่มเข้าไปแล้วเมานั่นเอง) พระอินทร์เป็นผู้ที่โปรดน้ำโสมมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะถวายสังเวยอะไรก็ไม่โปรดเท่าน้ำโสม
๒. คือพระจันทร์ ตั้งแต่ยุคไตรเพทแล้วได้นามว่าโสมเทพ ชรอยเป็นเพราะมีแสงขาวเหมือนน้ำโสมเมื่อแรกคั้น อภินิหารต่างๆ ของโสมนั้นก็มายกให้พระจันทร์เป็นอันมาก เช่นมีนามว่า โอสถบดี (เจ้าแห่งยา) เป็นผู้คุ้มครองรักษาพลีกรรมและการบำเพ็ญกุศล

อนึ่ง โสมนั้นนิยมกันว่าเป็นยาอันประเสริฐ เพราะเป็นยาเย็นระงับความโกรธอันปองร้ายได้ เพราะฉะนั้นเมื่อระงับโกรธแห่งผู้อื่นได้ด้วยความดี จึงเรียกว่า “ชนะได้ด้วยโสม” และคำที่ใช้เช่นนี้ก็ติดจนถึงในพุทธศาสนาของเรา จึงยังมีปรากฎอยู่ในคาถา “พาหุ” ว่าสมเด็จพระมหามุนินทร์ทรงชำนะนางจิญจได้ด้วยโอสถอันประเสริฐคือโสมดังนี้

หน้ากระดาษก็ยังเหลืออยู่อีกนั่นแหละครับ ขอเติมเรื่อง โลกบาล อีกนิดเถอะ เพราะได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว และที่กล่าวไปก็ไม่แจ่มชัดนัก ขอคัดจากอภิธานศกุนตลาครับ

โลกบาล  ตามความนิยมของพราหมณ์ว่ามีเทวดารักษาทั้ง ๘ ทิศ ดังต่อไปนี้
๑. บูรพา พระอินทร์ ฤาเรียกว่าท้าวธตรฐ ๒. อาคเนย์ พระอัคนี ทิศเรียกตามนามเทวดา ๓. ทักษิณ พระยม ๔. เนรดี พระสุริยะหรืออีกนัยหนึ่งว่าเนรดี (นิร์ฤติ) ๕. ปรัศจิม พระวรุณ ๖. พายัพ พระพายุ ทิศเรียกตามนามเทวดา ๗. อุดร ท้าวกุเวร ๘. อีสาน พระโสม หรืออีกนัยหนึ่งว่าพระอีศาน (ภาคหนึ่งแห่งพระศิวะ)

ส่วนในหนังสือข้างพุทธศาสนามีกล่าวไว้ ๒ อย่าง คือในท้ายอาฏานาฏิยปริตรใน ๑๒ ตำนานกล่าวว่า ปุริมทิศ ท้าวธตรฐ จอมภูต ทักษิณทิศ ท้าววิรุฬหก จอมเทวดาปัจจิมทิศ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค อุดรทิศ ท้าวกุเวร จอมยักษ์ และในมหาสมัยสูตรและภาณยักษ์กล่าวว่า ปุริมทิศ ท้าวธตรฐจอมคนธรรพ์ ทักษิณทิศ ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ปัจฉิมทิศ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค อุดรทิศ ท้าวกุเวร จอมยักษ์ดังนี้

เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกันเข้ากับข้างฝ่ายไสยศาสตร์ ดังกล่าวมาแล้วข้างบนนั้นจะเห็นได้ว่า บูรพาทิศท้าวธตรฐกับพระอินทร์ พอนับว่าตรงกันได้เพราะจะว่าไปพระอินทร์เป็นจอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ก็พอจะใช้ได้ และนาม “ธตรฐ” แปลว่า “รองเมือง” ก็พอควรเป็นชื่อพระอินทร์ได้ ทักษิณข้างไสยศาสตร์ว่าพระยม ในท้ายอาฏานาฏิยปริตรว่าวิรุฬหก “จอมเทวดา” ไม่ตรงพระยม แต่มหาสูตรว่า “จอมกุมภัณฑ์” แปลว่า “มีอัณฑะเท่าหม้อ” และได้ความว่า “เป็นอสูรจำพวกหนึ่งมีพระรุทระ (อิศวร) เป็นอธิบดี” ฉะนี้ดูไขว้เขวไปใหญ่ไม่ลงรอยกันเลยทีเดียว คราวนี้มาตรวจศัพท์ “วิรฬหก” ดูได้ความว่า “วิรุฬโห” หรือ “วิรุฬหโก” แปลว่างอก ก็ไม่เข้าเค้าพระยมอีก จึงเป็นอันลงเนื้อเห็นว่าโลกบาลทิศนี้ข้างพุทธศาสนาและพราหมณ์ไม่ลงกันได้เป็นแน่แท้ ปรัศจิมข้างไสยศาสตร์จำเป็นทิศของพระวิรุณ ข้างพุทธศาสนาว่าท้าววิรูปักษ์จอมนาค พระวรุณเป็นเทวดาผู้มีหน้าที่เกี่ยวแก่น้ำ เพราะฉะนั้นเอาเป็นลงรอยกันได้อีกทิศหนึ่ง อุดรเป็นทิศของท้าวกุเวร ตรงกันทั้งในพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ ส่วนทิศเฉียงข้างพุทธศาสนาไม่ได้ออกนามโลกบาล แต่สังเกตตามนามทิศก็ตรงกัน คือตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “อาคเนย” (ทิศของพระอัคนี) เรียก “เนรดี” (ทิศของพระนิรฤดี) ตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “อีสาน” (ทิศของพระอีศาน) ดังนี้

อนึ่ง ตามตำรับไสยศาสตร์ ทิศทุกทิศย่อมมีช้างสำคัญประจำอยู่ เพื่อเป็นพาหนะแห่งเทพเจ้าผู้อภิบาลทิศนั้น มีนามกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

๑. ทิศบูรพา ช้างสำคัญชื่อไอราพต (ไอราวต) หรือไอราวัณ นางช้างชื่ออะภรมู ๒. ทิศอาคเนย์ ช้างสำคัญชื่อบุณฑริก (ปุณฑริก) นางช้างชื่อกปิลา ๓. ทิศทักษิณ ช้างสำคัญชื่อวามน นางช้างชื่อปิงคลา ๔.ทิศเนรดี ช้างสำคัญชื่อกุมุท นางช้างชื่ออนูปมร ๕. ทิศปรัศจิม ช้างสำคัญชื่ออัญชัน นางช้างชื่ออัญชันวดี ๖. ทิศพายัพ ช้างสำคัญชื่อบุษปทันต์ นางช้างชือศุภทันตี ๗. ทิศอุดร ช้างสำคัญชื่อสรรพโภม ๘. ทิศอีสาน ช้างสำคัญชื่อสุประตีกะ ส่วนนางช้างสำหรับทิศอุดรและอีสานนั้นไม่แน่ยังมีเหลือพังอยู่อีก ๒ คือ อัญชนากับตามรกรรณี แต่พังใดจะอยู่ทิศใดไม่สู้จะแน่นัก ส่วนในหนังสือรามายณะนั้นระบุนามช้างประจำทิศไว้ แต่สำหรับทิศใหญ่ ๔ ทิศ คือ ๑. บูรพา ชื่อพลายวิรูปากษ์ ๒. ปรัศจิม ชื่อพลายโสมนัศ ๓. ทักษิณ ชื่อพลายมหาปทุม ๔. อุดร ชื่อพลายหิมปาณฑร”
ก็เป็นอันว่า ผมโปะเรื่องอื่นเป็นของแถมให้ครบบัญชรแต่เพียงเท่านี้นะครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร